ตอน ไม่รอ ไม่หวัง แต่เราทำด้วยวิชชา

พฤศจิกายน ๒๕๔๖

มหาปวารณา ครั้งที่ ๒๒ ระหว่างวันที่ ๕-๖ พ.ย. ๔๖ ที่ปฐมอโศก ช่วงพ่อท่านให้โอวาท เปิดการประชุม มีสิ่งใดที่น่าสนใจ พ่อท่านย้ำนักย้ำหนา เรื่องความเป็นเอกภาพเป็นอย่างไร? การทำงานแล้วจะมีผลเสียเพราะเหตุใด? มาตรการควบคุม การใช้โทรศัพท์มือถือเป็นอย่างไร? ที่มาของโศลกธรรมเป็นอย่างไร?

วิจัย....ความสัมพันธ์ของสถาบันพุทธศาสนา สถาบันรัฐและสังคมไทย ๑๔ พ.ย. ๔๖ ที่สันติอโศก คุณ Julian Kusa นักศึกษาปริญญาเอก ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ได้มาขอสัมภาษณ์ มีประเด็นหลักๆคือ...การปกครองคณะสงฆ์? ...สตรีกับพุทธศาสนา? ...วิกฤติพุทธศาสนา? แต่มีประเด็นย่อยที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เช่นท่านแยกออกจากคณะสงฆ์ ท่านทำนิกายใหม่ใช่ไหม? ....ภิกษุณีมีได้หรือไม่ได้ ขาดสายหรือไม่ขาดสาย?

ศาสนธรรมกับธุรกิจ Spirit in Business เป็นชื่อหัวข้อในการสัมมนาที่จุฬาฯ ๑๐ พ.ย. ๔๖ พ่อท่าน ได้รับ นิมนต์ ให้ไปร่วมแสดงความคิดเห็น บรรยากาศวันนั้น เป็นอย่างไร? พ่อท่านพูดอะไร ท่ามกลางนักธุรกิจต่างชาติ ที่สนใจพุทธศาสนา

ธรรมะเพื่อสุขภาพ ๑๑ พ.ย.๔๖ พ่อท่านได้รับนิมนต์ให้ไปแสดงธรรมที่ ร.ร.ผู้นำ ในหัวข้อ.. "ธรรมะเพื่อสุขภาพ" โดยใช้เวลา ๒ ชั่วโมงเศษ อธิบายหลักการ ดูแลสุขภาพ ๗ อ. และได้อ่าน ข้อเขียนคำไว้อาลัย ที่พ่อท่านเขียนให้ในงาน พระราชทานเพลิงศพน้องสาว คุณอาภาวดี พรหมพิทักษ์ มีข้อคิดที่น่าสนใจ เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ

โพธิสัตว์เสพด้วยหรือ พ่อท่านตอบข้อซักถามของหมู่สมณะปฐมอโศก ๒๐ พ.ย.๔๖ มีประเด็น ที่เกินคิดหลายเรื่อง เช่นเรื่องที่เกี่ยวกับ พระโพธิสัตว์ และพระอรหันต์ แถมด้วยการคุยกัน อย่างเปิดใจ มีอะไรที่น่าสนใจ พ่อท่านให้ข้อคิดทิ้งท้าย ....ในโลกแห่งจิตวิญญาณ อะไรมันก็ ไม่จริงทั้งนั้น ...รายละเอียดเป็นอย่างไร เชิญพลิกไปอ่านได้

ปิดท้ายบันทึกฉบับนี้ด้วยการให้อนุสติก่อนฌาปนกิจศพคุณสุนันท์ ๒๒ พ.ย. ๔๖ ที่ปฐมอโศก พ่อท่าน ให้ข้อคิดอะไร ก่อนปิดท้าย ด้วยข้อเตือนใจ.... อย่าปล่อยให้เสียชาติเกิด???


มหาปวารณา ครั้งที่ ๒๒

การประชุมมหาปวารณา ครั้งที่ ๒๒ ที่ปฐมอโศก ระหว่างวันที่ ๕-๖ พ.ย. ๒๕๔๖ ที่ผ่านมา ช่วงพ่อท่าน ให้โอวาท เปิดการประชุม มีประเด็นที่น่าถ่ายทอดดังนี้....

"...การประชุมนี้ขอให้ถือเป็นสำคัญในการแสดงความเป็นเอกภาพ เป็นหนึ่งเดียวของสงฆ์อโศก ในขณะนี้ เรายังมารวมอยู่ที่เดียว ครั้งเดียวใน ๑ ปีก็ทำได้ ต่อไปถ้ามีเป็นพันๆรูป ก็อาจต้องแบ่ง จัดเป็นสองที่ แต่ว่าปฐมอโศกที่เดียวนี่แหละ สมณะมารวมกันทั้งหมด แต่ประชุมแบ่งกัน เป็นสองที่ หรือจะแยกไป คนละพุทธสถานเลย แต่วันเวลาเดียวกัน หรือถ้ามันมากจะต้องแบ่งเป็น ๓-๔-๕ ที่ ในอนาคตไกลโพ้น มันจะเป็นเช่นนั้นได้ หรือจะมีอะไร ที่ดีกว่าที่ผมพูด เทคโนโลยี มันทำได้ มีแหล่งกลางแหล่งเดียวแล้วต่อสายถึงกันหมด พร้อมกันทุกแห่ง เห็นทั้งภาพ ได้ยินทั้งเสียง เหมือนกับอิทธิปาฏิหาริย์เลยก็ได้ อีก ๑๐๐-๒๐๐ ปีขึ้นไป เป็น เช่นนั้นแน่ๆ....

ผมบวชมา ๓๓ ปีแล้ว อายุก็ย่าง ๗๐ ปี สังขารร่างกายมันก็ดำเนินไปเรื่อย เพราะเวลา มันไม่หยุดยั้ง ผมก็ได้ทำหน้าที่ของผม มาถึงอายุขนาดนี้ ก็ยังเต็มใจ พอใจที่จะทำงานนี้อยู่ แม้จะหนักหนาสาหัส ถือว่าหนักเพราะมันรอบด้าน มันไม่ได้ใช้ปืน ใช้ระเบิด เหมือนที่เขาทำกัน แต่ก็เป็นสงครามของชีวิต ที่จะต้องอาศัย ถ้าการสงครามนี้เราทำเป็นสงครามที่ บรรลุผลได้ เป็นอย่างดี ทั้งจิตใจ กาย วาจาของเรา ทั้งองค์ประกอบของหมู่ พฤติกรรมกาย วาจา ใจ ของหมู่ จนกระทั่งเกิดหลักเกณฑ์ เกิดจารีตประเพณี เกิดวัฒนธรรม อยู่กันอย่างเป็นสังคมหมู่ชน มีระบบที่ดี เป็นพุทธบริษัทที่ดี เป็นเรื่องของมนุษย์ที่จะต้องทำ.....

ข้อสำคัญที่สุดก็คือ จะต้องมีเอกภาพเป็นหนึ่งเดียว สัมพันธ์กันให้ดี ผมพยายามเตือนเสมอ ถึงเรื่องอยู่ส่วนตัว ไม่เกี่ยวข้องกับใคร เป็นเรื่องที่ผิด พอๆกันกับออกไปทำงาน แล้วเด่นคนเดียว ไม่มีหมู่ดูแล ตรวจสอบ วินัยก็ขาด หลุดไปแล้ว คุณจะเก่งอย่างไร คุณก็ตายได้ สิ่งที่คุณสามารถ ทำได้อยู่คนเดียว คนอื่นไม่รู้ด้วย รับช่วงไม่ได้ สิ่งนั้นก็ขาดหายไปตามเราตาย ผู้ใดมีนิสัย ไม่อยากยุ่งกับใคร มีอัตตามานะ อยากใหญ่คนเดียว ไม่อยากจะไปเผื่อแผ่ให้ใคร ไม่อยาก จะให้คนอื่น มาร่วมรู้ร่วมทำ หรือจะเหมือนพวก ฤาษีชีไพร ไม่อยากดังอยากเด่น ไม่รับผิดชอบ ไม่อะไรทั้งนั้น เดี่ยวๆไปแล้ว คนอื่นก็ไม่รับรู้ด้วย ขอบอกว่าอย่างนั้นมันผิด นั่นแหละ ตกออกไป จากสงฆ์ ขาดแม้แต่สมมุติสงฆ์ ก็ไม่ร่วมด้วย

อีกเรื่องที่อยากจะเตือนก็คือ เราต้องเจริญขึ้นในการปฏิบัติธรรม และเราต้องรู้ว่า การปฏิบัติธรรม คืออะไร อย่ามาพูดว่า ทำงานมากแล้ว ไม่มีเวลาปฏิบัติธรรม ถ้าใครยังพูดอย่างนี้ นั่นแสดงว่า คนผู้นั้น ยังเข้าใจการปฏิบัติธรรมของพุทธยังไม่ได้ ยังมิจฉาทิฏฐิ ยังเป็นความเข้าใจผิด การปฏิบัติธรรมของพุทธ ต้องอยู่กับ "กรรม" อยู่กับ "การกระทำ" อยู่กับ "การงาน" สังกัปปะ วาจา กัมมันตะ อาชีวะ คือ "กรรม" ทั้งสิ้น ทำกับงานนี่แหละ ปฏิบัติธรรม แต่ต้องประมาณ ให้พอเหมาะ คุณอย่าไป ขยายเกินขอบเขต

การทำงานที่จะเป็นผลเสียก็เพราะ หนึ่ง ทำงานแล้วปฏิบัติธรรมไม่เป็น ต้องอ่านจิตให้เป็น มีสัมผัส เป็นปัจจัย แล้วพยายาม อ่านให้ทัน ต้องฝึก แล้วก็ปฏิบัติ โพธิปักขิยธรรมนั่นแหละ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปทาน ๔ อิทธิบาท ๔ จนเกิดอินทรีย์ ๕ พละ ๕ แล้วก็เดินในหลัก โพชฌงค์ ๗ และมรรค ๘ นั่นแหละ มันไม่มากไปกว่านี้หรอก สอง ขยายงานเกิน ประมาณไม่ถูก สาม ทำงาน แล้วสร้างศัตรู...."

ประเด็นแรกที่มีการพูดถึงหลังการอ่านรายงานการประชุมครั้งที่แล้วคือ .... เรื่องโทรศัพท์มือถือ ซึ่งในยุคนี้ จัดเป็น ศาสนวัตถุอย่างหนึ่ง ที่ประโยชน์มีมาก และโทษก็มากด้วย มีเสียงเปรียบเปรยว่า โทรศัพท์มือถือมีโทษร้ายแรงกว่านิโคติน และแอลกอฮอล์ ที่ประชุม จึงได้กำหนดมาตรการว่า สมณะที่จะมีใช้ ต้องผ่านเงื่อนไขดังนี้

) ต้องมีอายุพรรษาตั้งแต่ ๑๕ ขึ้นไป
) มีหน้าที่การงานที่เหมาะสม โดยได้รับความเห็นชอบจากหมู่สมณะของแต่ละแห่ง
) และผ่านการเห็นชอบจากพ่อท่านเป็นสุดท้าย ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายให้ส่วนกลาง รับเป็นภาระ หากจะมี ญาติโยมปวารณา ออกค่าโทรศัพท์ ให้ผ่านฝ่ายการเงิน ของแต่ละแห่งดูแลจ่ายแทน

โศลกธรรมมหาปวารณาครั้งนี้มีถึง ๓ โศลกดังนี้
๑. ไม่รอ ไม่หวัง แต่เราทำ
๒. ระวัง! ทำงาน...อย่าสร้างศัตรู
๓. ใจเจ็บไม่มี ใครเจ็บใจคืออัตตาบ้า

โดยโศลกแรกนั้นพ่อท่านตั้งใจไว้แล้วว่าจะให้ใช้เป็นโศลกของมหาปวารณานี้ รวมไปถึง ปีใหม่ด้วย ส่วนโศลกที่สอง และสามนั้น เกิดจากเหตุการณ์ปัจจุบัน ในขณะประชุม เมื่อมีสมณะรูปหนึ่ง ทำงานแล้ว มีพฤติกรรมหยาบกระด้าง ไม่เป็นที่เลื่อมใส มักกล่าวถ้อยคำ ผรุสวาท ชาวชุมชน ติเตียนถือสา ร้องเรียนมา การถูกว่ากล่าวในท่ามกลางหมู่สมณะ อีกทั้งพ่อท่านเปรย จะให้ย้าย สถานที่ ในการลงอาราม ทำให้สมณะรูปดังกล่าว ถึงกับสะอึกสะอื้น และออกอาการ ประชดว่า จะไม่ทำงาน อื่นๆอีกแล้ว ขอทำงานที่ตนรับผิดชอบ ทำมานานเท่านั้น ส่วนงานต่างๆ ในชุมชน จะไม่ขอ ไปยุ่งอะไรอีกเลย

พ่อท่านจึงต้องส่งเสียงดุว่าอย่างแรงๆ "...ผมเสียใจมากเหมือนกัน ที่ผมสอนคุณไม่ได้..."

สมณะ(?) : ผมขอโทษครับพ่อท่านครับ ผมอยากให้พ่อท่านช่วยผมครับ

พ่อท่าน : นี่แหละกำลังช่วย คือไม่ได้สำนึกตัวเองเลย ดิ่งอยู่ในจิตติดภพติดอัตตา.... ผมทุ่มให้ สุดชีวิต ผมเอาชีวิตร่างกาย ให้กับชุมชนนี้เลยนะ แต่แทนที่ว่า ทุ่มไปแล้ว ก็ดี การศึกษานี่คือ จะต้องรู้กิเลสตัวเอง ตัวตนคือตัวเอง เรายึดตัวเรา ติไม่ได้ ต้องไม่ได้ แตะไม่ได้ ถ้าการลดอัตตาได้แล้ว เขาเหยียบ เขาเอาขี้ทาหน้า เขาจะด่าร้อยด่า ไม่มีปัญหา แต่นี่นิดหน่อย เขาด่าจริงๆ ทด..แล้ว สอบ..แล้ว เจ็บจริงๆ ตัวตนเจ็บ ใจเจ็บมันไม่มีหรอกในโลก ความเจ็บของใจ ไม่มีในโลก เจ็บใจไม่มี มีแต่เจ็บกาย พระพุทธเจ้าก็ยังเจ็บกายได้ เจ็บกายคือปฏิกิริยาทางฟิสิกส์ ที่ไม่สมดุล มันต้องเกิดการขัดยอก เกิดความร้อน ปฏิกริยาทางฟิสิกส์ความร้อนแสงเสียง แม่เหล็ก ไฟฟ้าเกิด อันนั้นไม่มีใครเลี่ยงได้ พระพุทธเจ้าก็ต้อง....โอย แต่ความเจ็บใจ ขอยืนยันว่า โดยอรหันต์ไม่มี ใจไม่มีเจ็บ เจ็บนั้นยังคือคนบ้า คนโง่ คนหลง คนตกต่ำ ยังเป็นคนโลกย์ๆ ยังเป็นคน ไม่หมดอัตตา เพราะฉะนั้น เจ็บมากเท่าใด อัตตาก็ยังโตเท่านั้น ท่าน(?)... กำลังแสดง ความมีอัตตาโต...ก็เจ็บมาก! ฟังคำสอนนี้ให้ดีๆ ชัดๆ นี้คือความจริง เอาความจริงมาเป็น ตัวอย่าง ชัดๆ มาสอน ไม่ใช่ไปพูดลอยลม มีตัวอย่างแต่ตัวหนังสือ มีแต่ภาษา นี่คือความจริง ผมก็เหนื่อย เหมือนกัน ผมก็เสียใจเหมือนกัน ทำไมนะท่าน(?)... ไม่พัฒนา มาถึงวันนี้ ก็ยังไม่พัฒนา อัตตา ไม่ลด แล้วก็ยังหยิ่งผยอง ยึดๆอยู่.... ผมเสียสละตรงนี้ จะเอาอะไรคืน เสียสละ คุณก็เสียไปซิ จะเอาคืนทำไม ใครแตะต้องไม่ได้ คุณจะทำเพื่อแลก ให้เขามาศรัทธา เคารพนับถือ นี่คือ อัตตา ทั้งนั้น หมู่ปรารถนาดี...ช่วย แต่กลับพูดว่า ผมไม่เชื่อหมู่ นี่คืออะไร? คือความหยิ่งผยอง "ผมทำดีขนาดนี้ ทำไมหมู่ไม่ให้ผมเลย" คุณจะเอาอะไร คำพูดของคุณมันส่ออะไร

สมณะ(?) : ขอโทษครับ พอพ่อท่านพูดมาถึงตรงนี้นะครับ ผมก็วางใจได้แล้วนะครับ

พ่อท่าน : ต้องสอน ต้องแรง ต้องชัด ถึงขนาดนี้จึงจะทะลวงไปถึงจิต แต่ยังไม่รู้เลยว่า คราวหน้า ทุติ ตติ จะยังไง นี่ร้องไห้มา หลายทีแล้วนะ คราวหน้า จะร้องไห้อีกหรือเปล่าก็ยังไม่รู้เลย ถ้าถูกติแล้ว ยังอดร้องไห้ไม่ได้นี่ ยังไม่เจริญ

สมณะ(?) : ไม่ใช่ว่าผมไม่ไว้ใจหมู่ คือผมกลัวว่าผมทำไปแล้ว ผมกลัวว่ามันจะเป็นภัย มาทำร้ายผม ผมก็เลยไม่กล้าทำ ผมกลัวว่า มันจะเป็นหอกข้างแคร่ มาทำร้ายผม ส่วนเรื่องอัตตามานะ ฟังมาถึงตรงนี้ ผมเข้าใจแล้วครับ

พ่อท่าน : นี่แหละ นี่ก็เป็นการศึกษา เป็นตัวจริง เนี่ยแหละก็ชี้ขึ้นมา ผมก็รู้แล้วหละว่า เข้าใจขึ้น ผมอยาก ให้คุณปรับ กระบวนท่า ปรับลีลา อะไรที่เป็น ข้อบกพร่อง... ความหยาบ... ความแรง... ความเอาแต่ใจตน คุณต้องอ่านตนเองจริงๆ มันวืดๆ วาดๆ หวือหวา แรงๆเนี่ย โอ้โฮ.... พวกเรา เป็นผู้ดีนะ ความหยาบนี่มันทนยาก คุณยอมรับไหมว่าคุณหยาบ (ครับ) เพราะฉะนั้น ให้คุณปรับพวกนี้ คุณพยายาม สังวรตนเองแล้วปรับ คนอื่นเขายกให้คุณอยู่นะว่า เป็นวาสนา มันติดน่ะ มันไม่ง่ายที่จะเปลี่ยนแปลง เขาก็ให้อยู่ แต่คุณพยายามเถอะ ถึงอย่างไรๆ เขาก็รักคุณ เขาจึงติคุณ การติกันนี่แหละ ศาสนาพระพุทธเจ้าให้มีการติเตียนกัน การชี้ขุมทรัพย์กัน จงคบหา แต่ผู้ที่ติเตียนเราเถิด จะดีแต่ถ่ายเดียว ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่ขัดเกลาเรื่องไม่ดี ไม่ใช่ไปเหลิง ชื่นชมแต่เรื่องดีๆๆๆ แล้วเพ้อไปกับเรื่องดี เรื่องไม่ดีลืมไปเลย ไม่ดีอะไร แล้วก็กลบฝังไม่รู้ตัว เมินๆ เผินๆ อันนี้มันเหลวไหลใช้ไม่ได้ ศาสนาพุทธนั้น เป็นศาสนาที่มองความบกพร่องของตนเอง ของหมู่ฝูง มองความเลวของโลก เพราะฉะนั้น จึงเป็นศาสนาที่ไม่ค่อยจะแพร่หลาย เหมือนศาสนา อื่นๆ เพราะเป็นศาสนาติเตียน เป็นศาสนามองทุกข์ มองเหตุแห่งทุกข์ มองจุดด้อย... จุดเสื่อม... จุดเสีย... จุดเลว... จุดชั่ว ตีแตกแยกละเอียดจุดเสีย จุดเลวให้สิ้นซาก เป็นศาสนาที่รู้จัก ซาตานดี เพ่งซาตาน ไม่ไปหลงพระเจ้า จะรู้จักพระเจ้าหรือไม่ ไม่ว่า แต่ต้องรู้จักซาตาน แล้วกำราบ หรือปราบซาตาน ให้ตายเกลี้ยง ศาสนาพุทธ จะเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น เราจะต้องรู้จุดบกพร่อง ของเราให้ได้มาก น้อย ละเอียด หยาบอย่างไร ก็ต้องรู้ให้จริง รู้ให้หมดธุลีละออง

สมณะ(?) : ผมได้พูดให้หมู่ฟังผมก็โล่งแล้วครับ

การประชุมครั้งนี้ใช้เวลาน้อยที่สุดกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เพียงแค่ประมาณ ๑๕ ชั่วโมงครึ่ง หรือ แค่ช่วงเช้า ของวันที่สอง ก่อนฉันอาหาร ก็เสร็จแล้ว แต่ก่อนนี้ ต้องไปถึงเย็นค่ำ อย่างเก่งก็แค่บ่าย ครั้งนี้ช่วงเช้าก็เสร็จ


 

วิจัย...ความสัมพันธ์ของสถาบันพุทธศาสนา สถาบันรัฐและสังคมไทย

๑๔ พ.ย. ๔๖ ที่สันติอโศก นายจูเลียน คูซา Julian Kusa นักศึกษาปริญญาเอก คณะแปซิฟิก และ ประวัติศาสตร์เอเซีย มหาวิทยาลัยแห่งชาติ ออสเตรเลีย [Division of Pacific & Asian History, The Australian National University] ได้มาขอสัมภาษณ์พ่อท่าน โดยมีแบบฟอร์ม แสดงการยินยอม ให้ข้อมูล ในการวิจัย มาให้พ่อท่านเซ็นชื่อรับรอง อนุญาต จากบางส่วนของแบบฟอร์ม..

....ผู้วิจัยจะต้องปกปิดข้อมูลทั้งหมดที่ได้รับจากข้าพเจ้าภายในขอบเขตตามที่กฎหมาย ออสเตรเลีย ได้ระบุไว้ ในจดหมาย แสดงความยินยอม ฉบับนี้ และข้าพเจ้าได้ทราบว่า โครงการนี้ได้ผ่าน การตรวจสอบ ทางด้านจริยธรรม จากคณะกรรมการพิจารณาจริยธรรม ในการวิจัยเกี่ยวกับ มนุษย์ [Human Research Ethics Committee] ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ซึ่งได้รับความเห็นชอบ จากสภาวิจัย แห่งชาติ ของประเทศไทย เป็นที่เรียบร้อยแล้ว...

ในการอ้างอิงข้อมูลเพื่อทำโครงการวิจัยและวิทยานิพนธ์นี้

.......ข้าพเจ้าอนุญาตให้เปิดเผยชื่อ-นามสกุลของข้าพเจ้า

.......ข้าพเจ้าไม่อนุญาตให้เปิดเผยชื่อ-นามสกุลของข้าพเจ้า

นับเป็นครั้งแรกที่ผู้มาขอสัมภาษณ์มีแบบฟอร์มมาให้เซ็นรับรองอนุญาต ตามกฎหมายของ ออสเตรเลีย คุณจูเลียน บอกเล่าว่า ได้ไปสัมภาษณ์ พระของเถรสมาคม หลายท่านแล้ว ซึ่งบางท่าน ก็ไม่อนุญาตให้เปิดเผยชื่อ ส่วนของพ่อท่านนั้น อนุญาตให้เปิดเผยชื่อได้ จากบางส่วน ของการสัมภาษณ์ดังนี้....

Julian : อยากให้ท่านอธิบายการปกครองคณะสงฆ์คืออะไร มีปัญหาหรืออ่อนแอหรือไม่

พ่อท่าน : อาตมาว่าอ่อนแอ เพราะว่าในผู้บริหารเอง พระสังฆาธิการส่วนใหญ่อ่อนแอ ท่านทั้งหลายแหล่นั้น ปฏิบัติธรรมของพระพุทธเจ้า ไม่ถูกต้อง ก็เลยเกิดความอ่อนแอ นั้นหนึ่ง สองมีคนรู้ความถูกต้องอยู่ แต่ไม่ปฏิบัติจริงจัง จนบรรลุมรรคผล ของธรรมะ ก็เลยไม่มี ความแกล้วกล้า อาจหาญ ไม่มีความบริสุทธิ์สะอาด ไม่มีปัญญาที่เข้าใจความเป็นจริง เมื่อทำ ไม่ถูกต้องสัจธรรมที่แท้จริง มันก็ล้มเหลว ผิดพลาด ไม่ดีเท่าที่ควร จึงไม่มีความกล้าหาญ ที่จะทำอะไร ให้เด็ดขาดเข้มแข็ง ผู้ที่ทำผิดหรือทำไม่ถูกต้อง ก็เลยมีอยู่ในสังคมสงฆ์ การบริหาร ปกครอง จึงเป็นอยู่เช่นนั้น

Julian : การปกครองบริหารพระสงฆ์นี้ รัฐกับสงฆ์ใกล้ชิดกันมากเกินไปหรือเปล่า

พ่อท่าน : จริงๆไม่ใช่ รัฐกับสงฆ์ถ้าใกล้ชิดกันจริงๆ โดยสงฆ์มีความเข้าใจในรัฐ และรัฐ ก็เข้าใจ ในสงฆ์ ว่าเป็นที่น่าเคารพ นับถือจริงๆ จะดีมากเลย แต่ความเข้าใจผิดว่า ศาสนากับการเมือง ไม่ควร จะมาเกี่ยวข้องกัน นี่เป็นความเข้าใจผิด มานานแล้ว รัฐศาสตร์หรือว่าการเมือง จะต้องดูแล สังคมมนุษยชาติ ศาสนาก็ต้องดูแลสังคมมนุษยชาติเหมือนกัน เพราะฉะนั้น จะต้องร่วมมือกัน ใช่ไหม (ใช่ครับ) การเข้าใจผิด ไปแยกรัฐศาสตร์ หรือการเมืองกับศาสนา ออกจากกัน สังคมจึง ล้มเหลวหมดทั้งโลก

Julian : ผมคิดว่าอยากจะให้พระสงฆ์นี่บริสุทธิ์

พ่อท่าน : บริสุทธิ์สิ โดยเฉพาะศาสนาพุทธนี่บริสุทธิ์ เพราะศาสนาพุทธปฏิบัติอยู่กับสังคม อยู่กับ มนุษยชาติ แล้วก็รู้จักกิเลส ของตนเอง ล้างกิเลส ของตนเองออกได้ ก็จะอยู่เหนือสิ่งเหล่านั้น ได้ด้วยบริสุทธิ์ใจ ไม่แย่ง ไม่ทำลาย มีแต่จะสร้างสรร ช่วยเหลือ แล้วก็จะช่วยกำจัด สิ่งที่ไม่ดี ของสังคม ให้อย่างบริสุทธิ์ใจ ไม่ได้ทำเพื่ออำนาจ เพื่อลาภยศ ทุกอย่างจะทำซื่อตรง ซื่อสัตย์ นี่คือ ผู้ที่ปฏิบัติธรรม ของพระพุทธเจ้า หากล้างกิเลส เป็นคนบรรลุธรรมจริงๆ ก็จะเป็นอย่างนี้ แต่เพราะ ไม่รู้ธรรม จึงไม่ถูกต้อง

Julian : ผมคิดว่าระบบของรัฐนี่เป็นระบบของอำนาจ แต่ระบบของพุทธศาสนานี้ ไม่ใช่ระบบ ของอำนาจ เมื่อเอาแบบการปกครอง ของทางโลก มาปกครองพระสงฆ์ จะทำให้พระสงฆ์หลง

พ่อท่าน : ไม่ผิด ความจริงแล้วการปกครองของทางโลกไม่ควรไปครอบงำทางศาสนา ศาสนา จะต้อง เป็นที่เคารพ เป็นที่เกรงใจ เป็นที่นับถือ แล้วก็จะเป็น ที่ปรึกษา ของทางโลกอย่างแท้จริง แต่นี่ มันไม่แท้จริง ก็เลยไม่ถูกต้อง

Julian : ผมเห็นปัญหาเกิดขึ้น เพราะว่าเอาของโลกนี่มาหุ้มของพระสงฆ์ เมื่อเอากฎของ บ้านเมือง มาใส่ ในพระสงฆ์ ก็ทำให้เรื่องวุ่นวายเกิดขึ้น เสมือนเป็นแบบ มหาเถรสมาคม ระบบสมณศักดิ์ ผมคิดว่ามันเหมือนของราชการเลย ทางโลกมีทุจริตอย่างไร พระสงฆ์ก็มี ทุจริตเหมือนกัน ผมคิดว่า ทางออกนี้ เราต้องเลิกสมณศักดิ์ เลิกมหาเถรสมาคม

พ่อท่าน : ใช่ ถ้าจะทำให้ถูกต้อง ต้องเลิกหมด แต่ทีนี้เขาเลิกไม่ได้

Julian : เพราะอะไรครับ

พ่อท่าน : เพราะว่ามันตกผลึกแล้ว แข็งตัว เหนียวแน่น เปลี่ยนไม่ได้ อาตมาจึงอยู่ร่วม ทำอันนั้น ไม่ได้ จึงออกมาทำอันใหม่ อันนั้นเหมือนกับ ภาษาฝ่ายซ้ายว่า เป็นไดโนเสาร์ เต่าล้านปี จะต้องปล่อย ให้ตายไปเอง ไม่มีใครจะสามารถไปล้มล้างได้ อาตมาจึงจำนน จำเป็นที่จะต้อง ทำอย่างนี้ จึงต้องขอเป็น นานาสังวาส ขอแยกออกมาทำ ถ้าทำอย่างนั้นมันทำไม่ได้จริงๆ ทำอย่างไร ก็ทำไม่ได้ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แถมถูกกดขี่ ให้อยู่ในกรอบ ในอำนาจอีกด้วย

Julian : ในหนังสือปฏิรูปการปกครองพระสงฆ์ มีข้อเสนอมีคำแนะนำเยอะ แต่ไม่เห็นเขาปฏิรูปจริงๆ ทำไม เขาทำไม่ได้

พ่อท่าน : ทำไม่ได้เพราะเหนียวแน่นเกินไป แล้วก็ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตัวเอง

Julian : องค์กรสงฆ์หรือรัฐบาลไม่ให้

พ่อท่าน : สงฆ์นั่นแหละ ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตนเอง รัฐบาลไปเปลี่ยนแปลงสงฆ์ไม่ได้หรอก เพราะว่า สงฆ์ ก็มีธรรมวินัย ฉะนั้น รัฐบาล ไม่กล้าจะไปแก้ไข ธรรมวินัยได้ ธรรมวินัยถือว่า เป็นของพระพุทธเจ้า กฎหมายจะต้อง ยอมธรรมวินัย เพราะประเทศไทย มีศาสนิก ที่เป็นพุทธมาก

Julian : พระราชบัญญัติคณะสงฆ์นี่จำเป็นต้องมีไหม

พ่อท่าน : โดยธรรมจริงไม่จำเป็นเลย แต่มันเป็นความจำเป็นของคณะที่ล้มเหลว อาตมาเอง ก็เห็นใจ เพราะคณะสงฆ์ล้มเหลว จึงจำเป็นต้องมีกฎหมาย คณะสงฆ์นี่ออกมาช่วย ถ้าไม่เช่นนั้น เขาก็บริหารควบคุมไม่ได้ ขอใช้อำนาจรัฐมาช่วย มันเป็นความจำเป็น แต่ถ้าเผื่อว่า คณะสงฆ์ ไม่ล้มเหลวอย่างนี้ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้อง ออกกฎหมายมาช่วย เพราะธรรมวินัยของ พระพุทธเจ้า ใช้ได้อย่างสมบูรณ์อยู่แล้ว

Julian : องค์กรสงฆ์อยู่ส่วนกลาง แต่มีกลุ่มที่อยู่ข้างนอกปฏิบัติแล้ว เมื่อเป็นแบบรัฐจะฟังใคร ฟังคณะสงฆ์ ส่วนกลาง แล้วข้างนอกเป็นแบบนี้ มีคนไปคุมแบบ NGO ช่วยพัฒนาใจ ถ้าจะทำ ได้ผลประโยชน์ ก็อยู่ในองค์กรสงฆ์ส่วนกลาง ถ้าพวกข้างนอก เอาความคิดเห็น สู่ข้างใน ทำไมสะเทือนข้างในไม่ได้

พ่อท่าน : บอกแล้ว เหนียวแน่น แข็งมากเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะฉะนั้น NGO หรือกลุ่มเล็กๆ นี่ต้องสร้าง ขึ้นมาให้โตเอง อาศัยเวลา อีกยาวนาน เป็นร้อยๆปี ถ้ากลุ่มไหนที่ดีจริง กลุ่มนั้นก็อยู่ได้ จะมั่นคง ยั่งยืน แล้วอันนี้ก็จะล้มละลาย หายไปเอง อันไหนที่ดีที่สุด อันนั้นก็จะเกิด อันไหนที่ไม่ดี ก็จะล้มไป แม้แต่ที่สุดใหญ่ก็จะหมดไปด้วย ดีที่สุดที่ถูกต้องที่สุดคือสัจธรรม จึงต้องอาศัยเวลา ทำรุนแรงไม่ได้เกิดสงคราม ศาสนาพุทธ ไม่เคยเกิดสงคราม ไม่เคยทะเลาะกันเอง ฆ่าแกงเข่นฆ่า อะไรกันในนิกาย ไม่เคยมีนิกายที่ทำร้ายกัน

Julian : แล้วท่านแยกออกจากคณะสงฆ์นี่ บางคนเห็นท่านทำนิกายใหม่ใช่ไหมครับ

พ่อท่าน : อาตมาไม่ได้ทำ ในธรรมวินัยของพระพุทธเจ้านี่ สามารถที่จะประกาศ ขอแยกออกมา ทำได้ โดยไม่ได้เป็นนิกาย ท่านเรียกว่าเป็น นานาสังวาส พระพุทธเจ้าท่านบัญญัติไว้ นานาสังวาส หมายความว่า เมื่อเราทำร่วมกันไม่ได้แล้ว ความเห็นไม่ตรงกัน ปฏิบัติไม่ตรงกัน ตีความไม่ตรงกัน ก็ทำด้วยกันไม่ได้ ต่างคนต่างทำก็แล้วกัน แล้วประชาชนจะทำอย่างไร ประชาชนก็ต้องเรียนรู้ ทั้งสองฝ่าย แล้วก็อิสรเสรีภาพ เลือกเอา เห็นอันไหนดีก็เอาอันนั้น นี่เป็นประชาธิปไตยอย่างมาก ของพระพุทธเจ้า ของอันไหนดีก็ทำได้ป ระกาศเป็นทางการเลย คือมี ๒ ฝ่าย สมมุติว่า หมู่ใหญ่ เห็นว่า....เอ หมู่น้อยนี้ใช้ไม่ได้ ก็ประกาศเลยว่า อันนี้เป็นอีกอันหนึ่งนะ ก็เป็นนานาสังวาสกัน หรือ หมู่น้อยเองบอกว่า.... แหม หมู่ใหญ่นี่ ทำอย่างนี้ไม่ไหวหรอก ก็บอกว่าหมู่ใหญ่นี่ ก็ของหมู่ใหญ่นะ คือฝ่ายไหน จะประกาศตัวเองว่า ขอต่างคนต่างทำได้ ทั้งสองฝ่าย แต่ต้องประกาศกัน ให้รู้เรื่อง ไม่ใช่นิกาย

นานาสังวาสแปลว่าร่วมกันอยู่ แต่แตกต่างกัน นานาแปลว่าแตกต่าง สังวาสแปลว่า อยู่ร่วมกัน ไม่ถึงนิกาย พุทธร่วมกัน แต่แตกต่างกัน อาจสามารถ กลับคืนไปเป็น สมานสังวาสอีกได้ ส่วนนิกายนั้น ต้องทะเลาะกันเลย แยกกันไปหมด ไม่มีสิทธิ์ที่จะเข้ามา ร่วมกันอีกแล้ว แต่ นานาสังวาส นี่ยังสามารถ ที่จะมาร่วมกันอีกได้ เมื่อความเห็นหรือว่า อะไรเข้ากันได้ อีกฝ่ายหนึ่ง เห็นว่า อ๋อ ทางนี้ถูกต้องนี่ ก็มายอมกันได้ พระพุทธเจ้า ไม่เคยให้มีนิกาย ถือว่าใครทำนิกายนี่ เป็นความผิดร้ายมาก เป็นอนันตริยกรรม เป็นกรรมที่มีบาปมาก แต่ไม่ได้ตราโทษ ใครทำก็เป็นกรรม เป็นบาป ที่แท้จริง เป็นวิบากของผู้ทำจริงเอง

Julian : มีหลายเรื่องวุ่นวายเกิดขึ้นในคณะสงฆ์ เช่นเรื่องอื้อฉาวในหนังสือพิมพ์ เรื่องการจัดการ ทรัพย์สิน ของสงฆ์ เรื่องพระผิดวินัย ก็เกิดขึ้นเรื่อยๆ ผมสงสัย จะจัดการอย่างไร

พ่อท่าน : จัดการไม่ได้ อาตมาบอกแล้วว่ามันล้มเหลวแล้ว มันไม่ถูกต้อง มันจัดการไม่ได้ เป็นคณะใหญ่ กว้าง ฟ่าม มันมาก เพราะฉะนั้น คนที่ทำผิดก็มาก แล้วก็ช่องทางที่เขาจะ หลีกเลี่ยง หรือว่าละเมิดธรรมวินัยก็มีมากขึ้นๆ คณะบริหารเอง ก็ไม่แข็งแรง ไม่กล้าหาญที่จะชี้ เพราะตนเอง ไม่บริสุทธิ์พอด้วย แล้วก็ไม่มีปัญญา ไม่มีความรู้ความสามารถอะไร ที่จะทำได้เลย ก็ต้องอยู่กัน อย่างนี้แหละ

Julian : ประเด็นที่สองคือ สตรี กับ พุทธศาสนา

พ่อท่าน : นี่สำคัญมาก ศาสนาพุทธนี่เรื่องสตรี เรื่องกาม เรื่องราคะ เรื่องเกี่ยวกับเพศ เป็นเรื่องที่ ท่านแยกอย่างชัดเจน แล้วก็ต้องลดกิเลสอันนี้ จนกระทั่ง อยู่เหนือธรรมชาติ คือไม่มีกิเลส ในเรื่องเพศ อันนี้ศาสนาพุทธพิสูจน์แล้ว ว่าหมดเรื่องกามราคะ เรื่องเพศสัมพันธ์นี่ จะหมดได้ อย่างแท้จริง ถือว่าเป็นความประเสริฐ ถ้ามีความรักมีคู่นี่มันลำเอียงแก่คู่นะ เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้านี่ ท่านต้องให้บริสุทธิ์ แล้วจะไม่ลำเอียงต่อใครเลย แม้แต่คนที่เรารักที่สุด ก็ไม่มี ภิกษุหรือสมณะปฏิบัติธรรม ต้องทำให้ตัวเองลดกิเลส จนกระทั่ง อยู่เหนือสตรี เรื่องที่จะไม่ดีไม่งาม จะไม่มี ถ้าปฏิบัติถูกต้องตามทฤษฎีของพระพุทธเจ้า ถึงขั้นอนาคามีนี่ ไม่มีแล้วกามราคะ ยิ่งพระอรหันต์เลย ก็ไม่มี โสดาบันก็ลดลง สกิทาคามีก็ลดลงไปอีก

เรื่องสตรีกับพุทธศาสนานี้ ถ้าปฏิบัติได้มรรคผล ลดกิเลสได้จริงๆแล้วก็อยู่ได้ จะมีความเกี่ยวข้อง อะไรกัน ก็เป็นไปได้ เหมือนอย่าง ชาวอโศกเรานี้ มีผู้หญิงก็เยอะ ทำงานร่วมกัน แต่เพราะจริงจัง กับการปฏิบัติธรรม ผู้หญิงก็ต้องลด ผู้ชายก็ต้องลด โดยเฉพาะสมณะ ที่มาบวชนี่ ก็ต้องเอาจริง เอาจัง ถ้าไม่สมควรก็ต้องสึกออกไป ถ้ายังมีเรื่องอย่างนี้อยู่มาก ก็อย่าอยู่เลย ถ้าไม่เช่นนั้น จะทำให้ ค่าของ ความเป็นสมณะ เป็นภิกษุนี่ เสียมากเลย ที่เราดูแลระมัดระวังเรื่องนี้มาก เรื่องสตรี สตางค์ แล้วก็เรื่องสังฆเภท ที่จะแยกเป็นนิกายนี่ ต้องระวัง

Julian : แล้วทำไมพระสงฆ์บางรูปมีเงิน ท่านไม่จับเงิน แต่ในบัญชีท่านก็มีเงิน

พ่อท่าน : นั่นแหละผิด วินัยก็มีบอกไว้ สะสมไว้เป็นของเรา ยินดีในเงินของเรา ยึดเป็นของเรา ผิดวินัย อาบัติ ท่านทำกัน ไม่ได้แล้ว มันก็เลย ล้มเหลวไง แต่สมณะชาวอโศกยังทำได้อยู่ แต่พระภิกษุ ในเถรสมาคมหลายองค์ ท่านก็ไม่มีเงินไม่มีทอง เป็นส่วนตัว ท่านทำได้ แต่ส่วนใหญ่ ทำไม่ได้ มันจึงล้มเหลว หรือผู้บริหารเอง ก็ทำไม่ได้ แล้วจะไปให้คนอื่นทำได้อย่างไร

Julian : เรื่องที่กำลังร้อนแรงเกี่ยวกับสถานภาพของภิกษุณีมีได้หรือมีไม่ได้ ขาดสายแล้วหรือไม่

พ่อท่าน : เรื่องภิกษุณีนี่เป็นเรื่องน่าคิด ประเทศไทยนี้ยังไม่เคยมีภิกษุณีเลย ตั้งแต่เริ่มต้น มีศาสนาพุทธในไทย จึงเป็นเรื่อง ฝังรากมาตั้งแต่ต้น ก็เลยลำบาก ที่จะให้มาฟื้น จะให้มีเดี๋ยวนี้ มันเป็นไปไม่ได้ เลยกลายเป็นศาสนาพุทธ ที่ไม่ครบพุทธบริษัท ๔ ไม่มีภิกษุณี ก็อยู่มาได้ จนถึงทุกวันนี้ เขาก็เลยเชื่อมั่นว่า ไม่จำเป็นจะต้องมี ภิกษุณีนั้นหนึ่ง สองเขาก็ไม่มีความรู้ว่า จะทำอย่างไร กับภิกษุณี ถ้าจะมีภิกษุณี ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะมันไม่เคยมีมาเลย สาม ถ้าจะให้มีภิกษุณี มันมีความยึดถือในใจ เออ..ภิกษุณีมันขาดไปแล้ว จะผิดหรือถูก ไม่รู้หรอก จะจริงหรือไม่ เราไม่พูดถึง อาตมาไม่ขอวิจารณ์เรื่องที่ว่านี้ ทางสายมหายาน หรือทางสายนอกอื่น ที่ไม่ใช่ประเทศไทย เขาก็บอกว่า มันไม่ขาด ศรีลังกาเขาก็ยังมี แม้เถรวาทด้วยกันนี่ เขาก็รับได้ แต่ที่เมืองไทยนี่ ไม่ยอมรับเลย สี่หวงแหน ถ้าภิกษุณีมานี่จะมาแย่งอำนาจไปหรือไม่ อันนี้อาตมา วิจัยลึกๆนะ อาจจะไม่ยอมรับ แต่เขาไม่รู้ตัวเองหรอก เอ....ถ้ามีภิกษุณี แล้วมีบทบาท เหนือกว่าขึ้นมา จะทำอย่างไร? คือมันเป็นกิเลสชนิดหนึ่ง กิเลสอัตตามานะ กิเลสถือดีของตัวเอง ไม่ต้องการ ให้ใครมาได้ดี อันนี้เป็นกิเลสที่แท้จริงแฝงอยู่ จึงไม่ต้องการ ให้ภิกษุณีเกิดขึ้นมา อาตมาไม่มีปัญหา เรื่องภิกษุณี อาตมาจึงมามีสิกขมาตุ ปฏิบัติธรรมมีศีล ๑๐ เท่านั้น

Julian : สิกขมาตุนี่ก็เหมือนแม่ชีใช่ไหมครับ

พ่อท่าน : ต่างกัน สิกขมาตุเรานี่ถือศีล ๑๐ แม่ชีเขาถือศีล ๘ ศีล ๑๐ นี่มีศีลข้อเด่นคือไม่มี เงินทอง บิณฑบาต เลี้ยงตนเอง อยู่อย่างอนาคาริกชน สิกขมาตุมีศีล ๑๐ จริง ไม่ใช่มีศีล ๑๐ เล่นๆ ไม่มีเงินทอง บ้านช่องเรือนชานแล้ว มีบ้านมีที่ดินที่นา ก็ต้องโอนออก ให้คนอื่นให้หมด มาบวช ต้องเซ็นใบหย่า ให้เรียบร้อย มาเลี้ยงตนด้วยธรรมะ พิสูจน์ตนเองให้อยู่ได้ โดยไม่มีเงิน ไม่ใช้เงินเลย สามารถที่จะทำให้ อิสระเสรีบริสุทธิ์ จนกระทั่ง ไม่ยึดติดในทรัพย์ศฤงคาร ไม่ติดยึดอะไร แล้วก็มีชีวิต อยู่ตามธรรมของพระพุทธเจ้า ช่วยสังคมได้ หรือทำตนเอง ให้บริสุทธิ์ ให้เป็น พระอาริยะ เป็นโสดา สกิทา อนาคา อรหันต์ได้ ศีล ๑๐ นี่คือเท่ากันกับสามเณร

Julian : สิกขมาตุนี่ก็เหมือนสามเณรี

พ่อท่าน : เหมือนสามเณรี แต่ว่าโดยวินัยไม่ตรงกับสามเณรีทีเดียว สามเณรีถือศีล ๖ เพื่อที่จะขึ้นไป เป็นภิกษุณี คือวินัย มันต่างกัน เราประยุกต์ เอาศีลของเณร มาให้ผู้หญิงถือ แล้วก็ตั้งชื่อใหม่ว่า สิกขมาตุ เพื่อเปิดทางให้ผู้หญิงได้ปฏิบัติธรรม อาตมารับผิดชอบเอง เพื่อพิสูจน์ว่า ปฏิบัติตาม ศีลสมาธิปัญญา ของพระพุทธเจ้า ให้สัมมาทิฏฐิแล้วเป็นไปได้ และ เป็นทางออกของผู้หญิง ที่อยากจะบวช ต้องการจะมา ปฏิบัติธรรม เพื่อตัวเองบรรลุผล ที่ดีอย่างนี้ อาตมาก็ทำได้แค่นี้ ใครมาถามอาตมาว่า แล้วที่นี่จะไม่ดิ้นรน เป็นภิกษุณีหรือ อาตมาบอกว่า ไม่ดิ้นรน อาตมาไม่มีเวลา ไม่มีแรงพอที่จะไปต่อสู้ เพื่อที่จะรณรงค์เอาภิกษุณีมา อาตมาคิดว่า ไม่มีความสามารถด้วย แล้วก็ไม่เสียเวลา ที่จะไปทำ มีสิกขาตุแค่นี้ พอแล้ว ในอนาคตถ้าเผื่อว่า ใครจะดิ้นรน ใครจะทำให้เกิดภิกษุณีขึ้นมา ในประเทศไทย ก็แล้วแต่ ในอนาคต หากพวกเรา อยากได้ความเป็นภิกษุณี ก็เป็นเรื่องที่ทำนายไม่ได้ อาตมาไม่มีปัญหา

Julian : เกี่ยวกับวิกฤติพุทธศาสนา เพราะว่ามีนักวิชาการ พระเองก็พูด พุทธศาสนานี่ มีวิกฤติ จริงๆ นี่วิกฤติคืออะไร มีบางกลุ่มของพระ เรียกร้องให้มีกระทรวง พุทธศาสนาและวัฒนธรรมไทย รัฐบาล ไม่ยอมให้ ก็ถือว่าอันนี้วิกฤติ ว่าภายนอกอยากทำลายศาสนา ของคนไทย บางคนก็เห็นว่า ไม่ใช่เรื่อง ภิกษุณี เรื่องภิษุณีนี่ไม่ผิด แล้วบางคนก็เห็นว่า นั่นไม่ใช่ นี่ไม่ใช่ เรื่องพระทำผิดวินัย มีเยอะ บางคนก็บอก ไม่ใช่วิกฤติ แต่ในศรัทธา ของคนลดลง ผมก็งงๆ ในความคิดเห็นของท่าน วิกฤติคืออะไร

พ่อท่าน : วิกฤติก็คือการไม่สมบูรณ์ แล้วเกิดความเดือดร้อน ไม่สงบ ไม่เจริญ โดยทฤษฎีวิชาการ ของศาสนาพุทธ ยังสมบูรณ์ ไม่วิกฤติ แต่คนไปศึกษาผิด ปฏิบัติผิด ไม่ตรงตามธรรมวินัย ผิดเพี้ยน ออกไปๆ จึงเกิดวิกฤติ เพราะไม่ถูกต้อง ตามทฤษฎีของพุทธ สรุป จริงๆ อะไรคือสาเหตุวิกฤติ ก็ที่คน โดยเฉพาะผู้ดูแล หรือคณะสงฆ์ที่บริหาร ผู้ที่จะต้องดูแลทุกเรื่องของศาสนาพุทธ แต่เมื่อ ท่านเอง ไม่สมบูรณ์ ทำไม่ถูก ดูแลไม่เป็น แล้วท่านเอง ก็ไม่ได้บรรลุผลที่ดีที่วิเศษ จากศาสนา ก็เลยมีแต่เสื่อมลงๆ วิกฤติจึงเกิด

วิธีที่จะป้องกันแก้ไขก็คือผู้ที่รักศาสนาจริง ก็ต้องเป็นผู้มีศาสนาให้ได้ก่อน ปฏิบัติให้บรรลุรู้แจ้ง เห็นจริงให้ได้ แล้วมาทำงาน เผยแพร่ เพื่อกอบกู้ เมื่อทำงานกับ หมู่ใหญ่ไม่ได้ ก็ต้องมาทำ อย่างอาตมาทำ คนคิดอย่างนี้ มีอยู่เหมือนกัน จึงเกิดกลุ่มต่างๆขึ้นมา จึงเหมือน NGO เพราะว่า กลุ่มใหญ่นี่ หมดแรงแล้ว คือเขาแก้ไขไม่ได้ ด้วยเหตุที่เขาเองอ่อนแอ เพราะฉะนั้น จะแก้ไข ก็ต้องมีผู้ที่รู้จริง มีผู้ที่แข็งแรงจริง มีผู้ที่มีมรรคผลจริง ของศาสนาพุทธขึ้นมาทำ จับมือกัน หรือช่วยเหลือกัน ผู้ที่ถูกต้องด้วยกัน ก็มารวมกัน เพื่อที่จะทำขึ้นมาใหม่ ของเก่าเหมือน ไดโนเสาร์ ต้องปล่อยให้ สูญพันธุ์ไปเอง ช่วยไม่ได้

Julian : วิกฤตินี่ ถ้าจะดูในการศึกษาของพระสงฆ์ ไปกระทรวงศึกษาไปหาข้อมูลเกี่ยวกับ พระธรรมฑูต มีกี่รูปในไทย แต่เขาไม่มีให้ เขาไม่เก็บ เข้าพรรษา มีกี่รูป กี่รูปสึก แต่เขาไม่เก็บ ๓๐ กว่าปีแล้วมีสามแสนรูป ถึงเวลานี้ ก็สามแสนรูป ก็งงๆ พระเก่งๆ ทำไมไม่อยู่ พระหนุ่มๆ เข้ามาบวช เพื่ออะไร ถ้าระบบการศึกษาให้พระหนุ่มๆ มีการช่วยเหลือพระสงฆ์ได้ มันจะทำให้ สถาบัน พระสงฆ์ ดีขึ้น แต่ผมเห็นว่า พระส่วนใหญ่ บวชเพราะได้การศึกษา เมื่อจบปริญญา ที่มหาจุฬาฯ หรือมหามกุฏ อายุไม่ถึง ๓๐ ก็สึกแล้ว

พ่อท่าน : การศึกษาที่ไม่ถูกต้อง เขาเข้าใจผิด มันไม่ใช่การศึกษาของพระพุทธเจ้า มันผิดไป เขาก็ไปทำ อยู่ระดับที่ ผสมผเส ปฏิรูปไปแล้ว เพราะฉะนั้น มันจึงไม่มีฤทธิ์ ไม่มีอำนาจ ไม่มีพลังพอ ที่จะช่วยศาสนาอะไรได้ ไม่ใช่เป็นการศึกษา ที่จะไปบรรลุธรรม มหาวิทยาลัยสงฆ์ ก็ไม่ได้สอน เพื่อที่จะไปบรรลุธรรม แต่เรียนไปเพื่อทำงาน โดยเอาความรู้อย่างโลกๆ มีวิชาเศรษฐศาสตร์.... การศึกษา.... จิตวิทยา.... ปรัชญาอะไร ที่มหาวิทยาลัยอย่างโลกๆ เขาเรียนนั่นน่ะ แล้วก็จะเอา ความรู้เหล่านั้น เป็นปริญญาตรี โท เอก เอาไปสอนคน อยู่อย่างนี้ ซึ่งไม่ได้เน้น เข้าไปหาแก่น ของศาสนาเลย จึงไม่ได้เรื่อง เพราะฉะนั้น การศึกษาอันนี้จึงไม่ใช่การศึกษาที่แท้จริง ที่จะมาช่วยกอบกู้ศาสนา

Julian : การศึกษาที่แท้จริงของพระสงฆ์นี่ต้องปริยัติธรรม

พ่อท่าน : ศึกษาธรรมวินัย ปริยัติธรรม แล้วก็พาประพฤติศีล สมาธิ ปัญญา อย่างบรรลุผล สอบก็คือสอบว่า จะบรรลุเป็นโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี อรหันต์ กันจริงหรือไม่ อย่างนั้นคือ การศึกษา ที่แท้จริงของศาสนา นี่ไม่พูดถึงเลย ไม่เน้นเลย ในหลักสูตร ทั้งหลายแหล่ จบปริญญาเอก ก็ไม่เน้นสิ่งเหล่านี้ มีแต่ความรู้ที่ มหาวิทยาลัยในโลกเขามี เอามาใส่ๆๆ จะต้องเก่งภาษา จะต้องเก่งวิชาการ ทางเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ อะไรต่างๆนานา เหมือนกับทางโลกเขา ไม่ได้เข้ามาหาเนื้อแท้ของศาสนา เท่ากับไปแข่งกับทาง มหาวิทยาลัย โลกีย์เขา เพื่อที่จะให้ ผู้ที่มาเรียนได้ความรู้อันนี้ แล้วก็ไปเทียบกับทางโลกเขา แล้วก็ออกไปทำมาหากินธรรมดา โดยอาศัยทางนี้เรียนฟรี หรือว่าเรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เอาเปรียบประชาชนส่วนอื่นอีกเยอะแยะ

Julian : ผมก็คิดอย่างนี้ แต่ไม่อยากพูด เพราะเรียนเสร็จแล้วก็สึกออกไปทำมาหากิน ไม่มี Intensive ไม่เน้น หรือเร่งรัด ที่จะให้พระอยู่ในวง พระสงฆ์

พ่อท่าน : ไม่เน้นกันเลยจริงๆ มันไม่ได้รับเนื้อแท้ของศาสนา ไม่มีมรรคผล ผู้ที่เรียนจบปริญญาตรี โท เอก แล้วก็มาใช้ เป็นเครื่องประกอบของชีวิต เป็นเครื่องชูช่วยชีวิต แล้วตัวเองก็อยู่ในสภาพสงฆ์ ได้รับลาภยศ มันก็เหมือนโลกๆน่ะ ท่านก็อยู่ได้ เป็นแต่เพียง ไม่แต่งงานอย่างเดียว แม้ไม่แต่งงาน บางทีก็แฝงๆ ทำผิดโดยที่ไม่ให้คนจับได้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่ลดกิเลสไม่จริง มันก็เลยไม่สมบูรณ์

วิธีป้องกัน ป้องกันยาก แก้ไขยาก ต้องเปลี่ยนวิธี อย่างที่อาตมาออกมาทำ อย่างที่อาตมา ทำมาแล้ว อาตมาเชื่อว่า อาตมาไม่ได้ไปทำลาย ล้มล้างศาสนา แต่กลับจะชูช่วยศาสนา ทำให้ศาสนา เป็นศาสนาพุทธ ที่มีเนื้อแท้ ทำมา ๓๐ กว่าปีแล้ว จนขณะนี้ ก็เห็นความจริง ขึ้นมาได้ มีสมณะ มีสิกขมาตุ แม้แต่ ฆราวาส มาปฏิบัติจนกระทั่ง เขาลดความโลภ โกรธ หลง แล้วมาเป็น คนที่ไม่ติดยึด แบบโลกๆ ไม่ไปแย่งลาภ แย่งยศ แย่งสรรเสริญ แย่งโลกียสุขอะไร แล้วเขาก็มา ทำงาน สร้างสรรเสียสละ เป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยเนื้อหาของธรรมะ ที่เกื้อกูล ช่วยสังคมอยู่ได้ ทุกวันนี้ อาตมาเห็นผลจริง ว่ามันเป็นไปได้จริง ช่วยสังคมทั้งทาง เศรษฐศาสตร์ ทั้งทาง สังคมศาสตร์ ทางจิตวิทยา หรือปรัชญาอะไร ทางคณะใหญ่ เขาก็ทำ แต่ทำชนิดไม่มีวิมุติเป็นกำลัง การแก้ไขจึงแก้ไขไม่ได้ แม้กลุ่มอื่นๆที่พยายามทำอยู่ ก็ยังมีดีๆเหมือนกัน แม้ทำไม่ได้แน่น เหมือนอย่างอโศก ก็ยังทำดีๆเสริมกันอยู่พอสมควร ผลกระทบต่อพุทธศาสนาก็มีสูงมาก ถ้ากลุ่มใหญ่ ไม่เข้าใจความจริง และไม่แก้ไข ไม่เปลี่ยนแปลงตนเอง ไม่ยอมรับว่า มันผิดพลาด ตรงไหน แล้วเร่งรัดพัฒนาให้ถูกจุด ก็คงเป็นไปตามธรรม

Julian : ท่านทำงานมา ๓๐ ปีแล้ว ผมได้อ่านมีหลายเรื่องที่ทำให้คนคิดว่าสันติอโศกนี่ เป็นแบบ แปลกๆ เป็นแบบลัทธิอื่นๆ แล้วความคิดเห็นแบบนี้ มันมีอยู่เสมอ มันไม่เปลี่ยน โอ..สันติอโศกนี่ ตอนแรกเป็นอย่างไร ตอนกลางเป็นอย่างไร ตอนนี้เป็นอย่างไร หลายคน มองไม่เห็นได้ แล้วก็คิดว่า เป็นลัทธิแปลก

พ่อท่าน : คนเข้าใจว่าเป็นลัทธิแปลกๆ เพราะไม่เหมือนกับสังคมของรัฐของเถรสมาคม อย่างนี้ ถือว่าดื้อด้าน คนเข้าใจ อย่างนั้นมี แต่คนที่ สามารถเข้าใจได้ว่า โอ....ดี แม้ยังไม่เข้าใจ ศาสนา ทีเดียว แต่ก็ยังเห็นว่า ยังมีประโยชน์ต่อสังคมดี ก็มี คนที่เข้าใจลึกเลยว่า โอ....อย่างนี้สิถูกต้อง อย่างที่อโศกทำนี่ ถูกต้อง ใช่แล้ว พุทธศาสนาแท้ๆต้องเป็นอย่างนี้ ในระดับที่เข้าใจว่าถูกต้องนี่ มีมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้เห็นประโยชน์ต่อสังคม ก็มีเพิ่มขึ้น ส่วนคนที่เห็นว่า แปลกๆนั้น ลดลงๆ กระแสของ สังคมที่เรารับข้อมูล หรือผลสะท้อน คนเข้าใจได้มากขึ้น เพราะการต่อต้าน มีแต่ลดลงๆๆ

มีต่อหน้าถัดไป