(ต่อจากฉบับที่แล้ว) กรณีข่าวร่างทรงพระอินทร์ + สุริยะเทพ ฆ่าลูกและหลาน ๑๒ ต.ค. ๒๕๔๗ กรณีที่มีข่าวร่างทรงแม่และป้าฆ่าลูกและหลานของตน เพื่ออุทิศให้พระอินทร์ และสุริยะเทพ ทำให้พ่อท่านเห็นว่า จะต้องออกมาอธิบาย ให้สังคมเข้าใจ เพราะได้ฟังการวิเคราะห์ วิจารณ์ของหลายๆท่านทางสื่อต่างๆ ก็ยังเห็นว่ามีสิ่งที่หลายท่านพูดไปไม่ถึง ในฐานะที่พ่อท่าน มีประสบการณ์ในเรื่องเข้าทรง ที่สำคัญเรื่องศาสนาพุทธ-จิตวิญญาณ-อุปาทานจิต พ่อท่านรู้ อย่างลึกซึ้ง จึงเห็นว่า สมควรที่จะบอกอธิบายเรื่องนี้ให้สังคมได้รู้ ถึงขั้นพ่อท่านให้ติดต่อ ผู้ที่สามารถ ประสานสื่อ โทรทัศน์ รายการที่คนนิยม เพื่อไปออกรายการอธิบายเรื่องนี้โดยตรง ทั้งๆที่ แต่ไหนแต่ไร พ่อท่านปฏิเสธหรือไม่พยายามใช้สื่อโทรทัศน์ ด้วยเห็นว่าองค์กรชาวอโศก ยังไม่แข็งแรง พอที่จะรับคน ที่จะหลั่งไหลมาเพราะกระแสสื่อนี้ แต่กรณีนี้ พ่อท่าน กระตือรือร้นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็น รายการโทรทัศน์ หรือวิทยุใด ที่สนใจประเด็นนี้ ก็เต็มใจที่จะไปออกรายการให้ แต่ปรากฏว่ารายการ ที่คนนิยม เขาไม่สนใจ ทำให้เหลือเพียงสื่อที่ สมณะเพาะพุทธ จันทเสฏโฐ รับผิดชอบอยู่ เมื่อติดต่อสมณะเพาะพุทธ จันทเสฏโฐ ก็ตอบรับยินดีที่จะให้รายการที่มีอยู่ กับการอธิบาย ให้สังคม ได้เข้าใจในเรื่องนี้ ทำให้พ่อท่านรีบสัตตาหะ เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ในค่ำนี้ทันที เพื่อวันพรุ่งนี้ จะได้ถ่ายทำ รายการกับท่านจันทร์ทันที ๑๓ ต.ค. ๒๕๔๗ ที่สันติอโศก เช้านี้มีการถ่ายทำรายการทุกข์ปัญหาชีวิต แต่เป็นประเด็นเรื่อง ทรงเจ้า ที่มีกรณีแม่ฆ่าลูกป้าฆ่าหลาน ตามที่เป็นข่าว เป็นประเด็น ในการนำเสนอ แต่น่าเสียดายว่าระบบเสียง ใช้ไม่ได้เลย ถ่ายทำรายการไป เกือบจะหมดหนึ่งชั่วโมงอยู่แล้ว จึงต้องยุติรายการทันที แล้วนัดหมาย ไปออกรายการสด คืนนี้ที่ ไททีวี(TTV) และในวันต่อๆมา(๑๔-๑๕ ต.ค.)ก็ไปออกรายการที่ไททีวีนี้อีก โดยท่านจันทร์ได้ติดต่อให้หนุ่ม แทนคุณ จิตต์อิสระ มาเป็นพิธีกรในวันแรก เพื่อจะได้เป็นตัวแทน ชาวบ้านซักถาม ส่วนวันต่อมาได้เชิญ คุณโสภณ สุภาพงษ์ มาร่วมรายการด้วย นอกจากนี้ยังมี คุณจักรกฤษณ์ พลชัย นักจัดรายการเพลงเพื่อชีวิต ที่มีชื่อเสียง ก็ได้มาร่วมในการสนทนาซักถามด้วย คุณไกรวัฒน์ ศรีวุฒิวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของสถานีวิทยุโทรทัศน์ ไททีวี ก็ได้มาต้อนรับด้วยดี ในที่นี้ข้าพเจ้าขอข้ามผ่านการสนทนาและการบันทึกรายการที่ไททีวีนี้ทั้งหมด ท่านผู้ที่สนใจติดต่อได้ที่ มูลนิธิ เพื่อนช่วยเพื่อน ๑๙ ต.ค. ๒๕๔๗ ที่อุทยานบุญนิยม มีการถ่ายทำรายการเวทีชาวบ้าน ช่อง ๑๑ ซึ่งเป็นช่วงเทศกาล กินเจ ใช้เฮือน "ถ่าหมู่แน" เป็นที่บันทึกการถ่ายทำรายการ ผู้ร่วมรายการมี สมณะโพธิรักษ์ ดร.สุริยา สมุทรคุปต์ ผู้ทำวิจัยค้นคว้าเรื่องเทพเจ้า-การเข้าทรง ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง และคุณประพจน์ ภู่ทองคำ ผู้ดำเนินรายการ จากช่วงต้นของรายการดังนี้ คุณประพจน์ : คุณผู้ชมครับ จากข่าวที่เราเห็นตามหน้าหนังสือพิมพ์โดยทั่วไป ในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวที่สร้างความระทึก แล้วก็ความน่ากลัว ให้กับสังคมไทย ข่าวหนึ่งครับ ที่อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี มีข่าวว่ามีแม่และป้า ได้ฆ่าลูกและหลานของตัวเองครับ โดยที่แม่นั้นมีความเชื่อว่าตัวนั้น มีร่างทรงของ พระอินทร์อยู่ แล้วก็ป้านั้นเชื่อว่าตัวเองมีร่างทรงของพระอาทิตย์อยู่ ทำให้ปรากฏการณ์ หรือข่าวที่เกิดขึ้นในสังคมนี้ เป็นข่าวที่เราจะต้องมาคุยและสนทนาถึงเรื่องราวต่างๆ ว่าเกิดขึ้น ได้อย่างไร รวมทั้งกรณีของการทรงเจ้าเข้าผี ซึ่งในปัจจุบันนั้น มีอยู่แพร่หลาย ในสังคมไทย วันนี้เราได้ รับเกียรติ จากพ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ มาร่วมสนทนาในรายการ แล้วก็มีนักวิชาการ แล้วก็ ส.ว.ที่สนใจ เรื่องทางด้านสังคมศาสตร์มาร่วมรายการด้วยครับ ถามพ่อท่านก่อนได้ไหมครับ จากข่าว ที่พ่อท่าน ได้อ่านข่าว แล้วก็ได้ฟังมานี่ พ่อท่านคิดอย่างไรกับกรณีที่แม่และป้าฆ่าลูกและหลาน พ่อท่าน : โอ้โฮ แต่ไหนแต่ไรมาอาตมาไม่อยากออกทีวีนา พอข่าวนี้ออกมาแล้ว ทำให้อาตมาขวนขวาย อยากออกทีวีเลย เพราะว่ามันไปกันใหญ่แล้ว สังคมมันบรรลัยแล้ว ป้าเป็นคนเชือดใช้มีดบางนะ แล้วหั่นคอหลานตัวเอง ค่อยๆ หั่นๆๆ แล้วหลานก็ร้อง ทำไมถึงทำกับหนูอย่างนี้ จนรอบคอ เหลือแต่ กระดูก มันเฉือนกระดูกไม่เข้า แล้วเด็กก็ต้องตาย เพราะว่าเฉือนหลอดลมขาดหมด ตาย แล้วไม่รู้สึก รู้สาอะไรเลย แม่ก็ตามดู ส่งเสริมให้ป้าเชือดคอลูก ป้าสองคนยายด้วยอะไรอย่างนี้ อาตมาว่า จิตวิญญาณ มันเป็นอย่างไรกันแล้วล่ะมนุษย์น่ะ แหม...มันไม่ไหว ถ้าเขาปล้ำข่มขืน แล้วเขาก็ฆ่า ไอ้คนนั้น ปิดปากซะ เพื่อที่จะหนีความผิดมันก็แล้วไปเถอะ มันก็อำมหิตขนาดนั้น แต่นี่มันหลงผิด หนักหนาสาหัส มันงมงายถึงขนาดเลย อาตมาว่า ทนไม่ไหวแล้ว อาตมาต้องออกไปพูดบ้างแล้ว ต้องขวนขวาย ไปออกทีวี ว่าอย่างนั้นเถอะ ดร.เจิมศักดิ์ : พ่อท่านเป็นห่วงที่ไหน เป็นห่วงที่เด็ก สงสารเด็ก หรือเป็นห่วง ที่ความงมงาย ของผู้เป็นแม่ ผู้เป็นป้า หรือว่าเป็นห่วงสังคมว่าจะเอาเป็นแบบอย่าง พ่อท่าน : เป็นห่วงสังคม เป็นห่วงมนุษยชาติ นั่นเป็นเพียงเหยื่อตัวอย่าง ลูก แม่ ป้า ที่เขาฆ่ากันน่ะ เป็นตัวอย่างของพฤติกรรมของมนุษย์ พฤติกรรมของสังคม มันเกิด อย่างนี้แล้ว ถึงขั้นนี้แล้ว มันสุดๆ แล้ว อาตมาว่ามันสุดจะงมงายกันแล้ว ดร.เจิมศักดิ์ : พ่อท่านไม่ได้บอกกรณีนี้ เป็นเฉพาะกรณีนี้ แต่กรณีนี้สะท้อนสังคม พ่อท่าน : สะท้อนสังคมที่แท้จริง เพราะว่าเราไม่ได้ว่าเรามีข้อมูลกรณีนี้โดดๆ เดี่ยวๆ เรารับกระแส ของสังคมที่มีมาอยู่ตลอดเวลา ก็มี Case(คดี เรื่อง)ต่างๆ แต่มันไม่ถึงขั้นนี้ อาตมาว่าขั้นนี้มันสุดยอด ดร.สุริยา : แต่ในอดีตก็มีครอบครัวครอบครัวหนึ่ง แต่งชุดขาวล้วน แล้วก็ผูกคอตาย ทั้งบ้านเหมือนกัน แล้วมีความเชื่อว่า ถ้าได้ทำลายชีวิตของตัว เพื่อไปอยู่ในภพหน้า ชาติหน้า ก็จะทำให้พ้นทุกข์ ล่วงทุกข์ได้ นะครับพ่อท่าน พ่อท่าน : นี่แหละเป็นความงมงายที่ไม่เข้าใจจิตวิญญาณ คำว่าไม่เข้าใจจิตวิญญาณนี่ เป็นภาษา ที่ใหญ่มาก ศาสนาพุทธเรานี่ พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้จิตวิญญาณ อย่างสมบูรณ์ที่สุด จนมีคำตอบ ออกมาว่า จิตวิญญาณอนัตตา จิตวิญญาณไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สิ่งนิรันดร ไม่ใช่สิ่งที่จะจับกลุ่มก้อน นิรันดร์ สลายได้ ทุกอย่างสูญได้ ซึ่งพระพุทธเจ้านี่ เป็นผู้ตรัสรู้เรื่องนี้ เป็นอเทวนิยม ซึ่งท่านอุบัติขึ้นมา เป็นพระพุทธเจ้า แล้วประกาศ จะเรียกว่าลัทธิหรือศาสนาก็ตาม ก็คือประกาศความรอบรู้ของพระองค์ ท่ามกลางศาสนาเทวนิยม ในยุคนั้นนับถือพระเจ้า นับถือพระพรหม พระศิวะ กันเต็มบ้าน เต็มเมือง เทวนิยมทั้งนั้น แต่พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมาประกาศบอก ไม่พึ่งพระเจ้า อัตตา หิ อัตตโน นาโถ พึ่งตนเอง ไม่พึ่งพระเจ้า พึ่งกรรม กัมมปฏิสรโณ หรือพึ่งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่พึ่งพระเจ้า ซึ่งบังอาจมากนะ ท้าทายยิ่งในยุคนั้น ดร.เจิมศักดิ์ : ผมคิดว่าท่านจะลงลึกประเด็นนี้นะครับ ขอถามเพื่อย้ำอีกครั้ง พ่อท่าน บอกว่า เป็นห่วง สังคม แต่ขณะเดียวกันพ่อท่านก็ลงไปที่จิต ลงไปที่ตัวบุคคล อยากจะกราบถาม เรียนถามว่า มันสำคัญ อย่างไร แล้วทำไมต้องเป็นห่วงสังคมสมัยนี้ สังคมมันเริ่มผิดเพี้ยนตรงไหน พ่อท่าน : มันเพี้ยนมาเรื่อย เพี้ยนมามาก เพี้ยนมาจนถึงทุกวันนี้ เพี้ยนจนถึงขั้น รุนแรง วิกฤติจริงๆ ที่มันรุนแรงเท่าที่เห็นนี่ อาตมาว่า มันผิดเพี้ยนที่ไม่เข้าใจจิตวิญญาณ ซึ่งอาตมาสงสารชาวไทย โดยเฉพาะชาวไทย เพราะอะไร เพราะชาวไทยเป็น พุทธศาสนิกชน เกือบทั้งประเทศ แต่ไม่รู้ความรู้ ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ ไม่รู้ ขอยืนยันว่าไม่รู้ ถ้ารู้แล้วจะแพร่ความรู้นี้ต่อพุทธศาสนิก กันได้มากกว่านี้ ดร.เจิมศักดิ์ : ขอประทานโทษพ่อท่าน พ่อท่านเองก็เคยเป็นร่างทรง ที่เข้าทรง ทางด้านไสยศาสตร์ มาแล้วไม่ใช่หรือครับ พ่อท่าน : ใช่ อาตมาทำมาแล้วจริง เคยเป็นร่างทรง เคยศึกษาไสยศาสตร์ ซึ่งก็เข้าใจจิตวิญญาณ อย่างผิดๆ ในยุคก่อนที่อาตมาเล่นไสยศาสตร์ สมัยเป็นฆราวาส อยู่นั่นน่ะ อาตมาเล่นมาแล้ว แล้วก็ศึกษา ทางไสยศาสตร์ แล้วอาตมาก็ยังมีโอกาส ไปศึกษา ทางวิทยาศาสตร์ กับสมาคมค้นคว้า ทางจิต ทางวิทยาศาสตร์เรานี่ ก็ศึกษา ทั้งสองด้าน ทั้งไสยศาสตร์ทั้งวิทยาศาสตร์ อาตมาก็ได้ข้อสรุป จากการศึกษา สองสายนี้ว่า ไสยศาสตร์นี่ มันไปอะไรลึกๆ ในทางจิตวิญญาณได้ แต่ไม่รู้ งมงาย ไสยศาสตร์นี่ไปได้ลึกๆ คือทำอะไรพิสดารทำอะไรประหลาด ทำอะไรที่เกินธรรมชาติ เกินสามัญ ไปได้เยอะ ไสยศาสตร์ทำได้ แล้วก็ไม่รู้ ส่วนวิทยาศาสตร์นั้น รู้กระจ่าง แต่ไม่ลึกเท่าไสยศาสตร์ ไม่พิสดารแต่กระจ่าง ชี้ชัด อันโน้นอย่างโน้นๆ อันนี้อย่างนี้ๆ ดร.เจิมศักดิ์ : แล้วตอนสมัยที่พ่อท่านเข้าทรง รู้ตัวเองไหมว่าเพี้ยน พ่อท่านบอกไอ้พวกนี้มัน ทำแล้ว มันเพี้ยน ตอนนั้นรู้ตัวเองบ้างไหม พ่อท่าน : ไม่ๆๆ อาตมาทำอยู่ตอนนั้น อาตมาก็เข้าใจว่าเป็นจริง ไม่ได้มีความสงสัย ลังเลเลยว่า สิ่งนี้ไม่จริง ดร.เจิมศักดิ์ : หมายความว่าที่เข้าทรงนี่ก็เชื่อว่าตัวเองเข้าทรงจริงๆ พ่อท่าน : จริง ดร.เจิมศักดิ์ : ไม่ได้หลอกคนอื่น พ่อท่าน : ใช่ ไม่ได้หลอกคนอื่น ดร.เจิมศักดิ์ : คิดว่ามีเทพ มีอะไร พ่อท่าน : มีเทพ มีพรหม อาตมาเชิญหมด ขนาดระดับ อรูปพรหม อปรพรหม เชิญหมด ข้าพเจ้าต้องขออภัยอย่างยิ่งที่ไม่สามารถนำการสนทนาทั้งหมดมาลงในบันทึกนี้ได้ ผู้ที่สนใจ ติดต่อได้ที่ ฝ่ายเผยแพร่ มีทั้งเท็ปและซีดี
เทศกาลเจ - มังฯ มหกรรมของการสร้างคน ๑๒-๒๒ ต.ค. ๒๕๔๗ เป็นช่วงเทศกาลกินเจ พ่อท่านเปรยมาตั้งแต่ปีที่แล้ว อยากจะให้พวกเรา ใช้คำว่า มังฯ ร่วมไปกับคำว่าเจด้วย เพื่อให้ติดปากเป็นที่นิยม เนื่องด้วยพวกเราเป็นกลุ่มคนที่กินมังสวิรัติ ตลอดชีวิตอยู่แล้ว ไม่ใช่งดเว้นเนื้อสัตว์ เพียงแค่ช่วง ๑๐ วันในเทศกาลกินเจเท่านั้น ถ้าเราใช้ต่อเนื่อง ไปเรื่อยๆ คำว่ามังฯ ก็อาจจะเป็นที่นิยมติดปาก เช่นเดียวกับคำว่าเจก็ได้ ที่ศูนย์มังสวิรัติหน้าสันติอโศกนั้น ที่ประชุมมีมติให้ทดลองใช้การคิดค่าอาหาร เป็นอิ่มละ ๒๐ บาท เฉพาะในช่วงเทศกาลเจนี้ดูก่อน ผลปรากฏว่ายอดผู้มากินอาหารไม่ได้น้อยลง แต่รายได้ที่เป็น ตัวเงิน ลดลงจากปีที่แล้วมาก ทำให้หลังเทศกาลเจแล้ว ที่ประชุม มีมติให้คิด ราคาอาหารเป็นจาน เหมือนเดิม แต่ยังคงเป็นแบบบุฟเฟ่ต์ให้ลูกค้าตัก บริการเอง มีเกร็ดเล็กๆเล่ากันมาว่า พวกเราที่ไป ช่วยขาย เห็นลูกค้า บางราย ตักอาหารมากินมากๆ แบบไม่สมดุลกับราคาและไม่เกรงใจผู้ขาย ที่ยังทำใจไม่ได้ มีรายหนึ่งที่มากันสองคนสามีภรรยา ภรรยาไปตักมากินแล้วสามีก็ร่วมกินด้วย เมื่อถูกท้วง ฝ่ายสามี ก็ให้เหตุผลว่าตอนแรกไม่คิดจะกิน เพียงแค่มานั่งเป็นเพื่อน แต่เห็นอาหาร แล้วน่ากิน จึงร่วมกินด้วย ยังมีเกร็ดอื่นๆอีกที่คนในสังคมเขาก็เป็นกันอย่างนี้อยู่แล้ว ไม่ได้สนใจ หรือคิดอะไรว่ากิจกรรม สถานที่ บุคคลแวดล้อมที่เป็นอยู่เป็นอย่างไร คิดแต่เรื่องของตนเอง อะไรที่ได้เปรียบ เป็นฉวยเอาไว้ก่อน พ่อท่านได้แต่ยิ้มขำ กับเรื่องราวอย่างนี้ และก็เห็นใจที่พวกเรา หลายคน ยังวางใจไม่ได้ ที่นับว่าได้ผล เป็นที่พอใจมาก ก็คือลูกค้าร่วม ๙๙ % ได้ล้างภาชนะที่ใช้กินเอง สำหรับร้านอุทยานบุญนิยมที่อุบลฯ ดูจะเป็นร้านอาหารของชาวอโศก ที่คึกคักที่สุด ในช่วงเทศกาลเจ สรรพกำลังของหมู่บ้านร่วม ๙๕ % ทุ่มมาอยู่ที่นี่ มีส่วนหนึ่ง แยกไปช่วย ที่ร้านสหกรบุญนิยมที่ตลาด ฝั่งวารินฯ ทั้งสองแห่งในปีนี้ ขายได้มากกว่าปีที่ผ่านมา และยังคงเป็นการขายแบบบุฟเฟ่ต์ คือให้ ตักบริการตนเอง แต่ไม่ได้คิดราคาอิ่มละ ๒๐ บาทอย่างที่ทางศูนย์มังสวิรัติทดลอง ยังคงคิดอาหาร เป็นจาน เป็นอย่างๆ ส่วนพฤติกรรมของลูกค้าบางรายที่ตักมาก แบบไม่สมดุลกับราคาก็มีเช่นกัน มีเรื่องเล่าว่าอาหารบางอย่าง พวกเราได้จัดภาชนะใส่อาหารแบบถ้วยขนมเล็กๆ แต่ลูกค้าไปหยิบเอา ชามก๋วยเตี๋ยว มาตักแทนถ้วยเล็กหน้าตาเฉย นี่ถ้าไม่ใช่เพราะพ่อท่านบอกสอนย้ำอยู่บ่อยๆ ให้พวกเราได้ลดละ เสียสละ เอื้อเฟื้อแบ่งปัน ไม่หวงแหน ไม่ขี้โลภกอบโกย พวกเราก็คงไม่อดใจ ไม่อดทน ที่จะปล่อยวางกับการเห็นคนอื่นขี้โลภ เอาเปรียบ อยู่ต่อหน้าต่อตาได้ คงจะแสดงกิริยา ไม่พอใจ ทั้งสายตาและวาจาออกมามากกว่านี้แล้ว พวกเรา หลายคน ที่อดไม่ได้ ก็แสดงออกมาบ้าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้น พ่อท่านบอกพวกเราว่า ถือเป็นโจทย์แบบฝึกหัดให้เราได้ละกิเลสของเราเอง ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น เราก็ไม่รู้ว่าเรายังขี้โลภ ขี้โกรธ ขี้หวงอยู่มากน้อยเท่าไร ถ้าเอาแต่นั่งหลับตา ก็ไม่เห็นกิเลสตนเอง อย่างนี้ หรือไปอยู่ป่าเขา ถ้ำไหนๆ ก็ไม่รู้หรอกว่า เรายังมีกิเลส ขี้เหนียว หวงแหนอยู่เท่าไร เพียงแค่อยู่กินใช้ลำพังตนเอง และ ครอบครัวนั้นไม่ยากแล้ว แต่การอยู่ร่วมกับคนอื่นที่ขี้โลภ ขี้โกรธ แล้วเราไม่ได้โลภ ไม่ได้โกรธด้วยนี่สิยาก ๒๔ ต.ค. ๒๕๔๗ ที่บ้านราชฯ มีการสรุปงานเทศกาลเจ ไม่ใช่แค่บอกรายรับ รายจ่าย เท่านั้น แต่มีการสรุป แบบให้ทุกหน่วยงาน ระดมสมอง ของผู้ร่วมงาน ในแผนกนั้นๆ (workshop) เป็นต้นว่า แม่ครัว, กสิกรรมและการบริหาร ขยะสด-แห้ง, หน้าร้าน (ข้าวแกง หุงข้าว นึ่งข้าว น้ำสมุนไพร น้ำเสาวรส ของทอด ส้มตำ ขนมจีน ราดหน้า ก๋วยเตี๋ยว สลัดผัก อาหารพิเศษ การเงิน), ประสานงาน ประชาสัมพันธ์ ยานยนต์ ล้างภาชนะ-บริการหน้าร้าน, เต้าหู้, ขนมปัง โดยมีประเด็นให้ร่วมกันคิด ๗ หัวข้อดังนี้ เมื่อแต่ละแผนกร่วมกันคิด ได้ข้อสรุปให้คะแนนคณะทำงานของตนเป็นอย่างไร แล้วก็นำมาบอกเล่า ให้ที่ประชุมทั้งหมู่บ้านได้ทราบ โดยมีพ่อท่าน และสมณะ สิกขมาตุ ร่วมรับฟังด้วย จากตัวอย่างบางส่วนของการสรุปประเมินผลดังนี้ เช่น แม่ครัว ทำแกงหม้อเบอร์ ๔๐ วันละ ๑๘ หม้อรวมตลอดงาน ๒๑๖ หม้อ ผัด-ยำวันละ ๘๕ ถาด รวมตลอดงาน ๙๓๕ ถาด จุดบกพร่องคือ หั่นเตรียมไม่ทัน ไม่มีคนยกอาหาร ไปหน้าร้าน ขาดการ ออกกำลังกาย กสิกรรมและการบริหารขยะสด-แห้ง ขยะสดวันละ ๑ ตันรวมตลอดงาน ๑๐ ตัน ผสมทำปุ๋ย ได้ ๑๕ ตัน เก็บผักบุ้งที่บ้านราชฯส่ง ๒๘๕ กก. ผักอื่นๆ ๔๓๕ กก. เหลือทำ น้ำหวานหมัก ๕๐ กก. รวมผัก ที่เก็บส่งทั้งหมดตลอดงาน ๒,๙๙๕ กก. จุดประทับใจ คือ มีเวลาไปช่วยงานฐานอื่น หน้าร้าน ผู้รับงานไม่ตรงต่อเวลา ไม่เต็มใจบริการ ไม่ค่อยเอาใจใส่ ให้บริการช้า จุดบกพร่อง การเงิน คิดเงินผิดบ้าง เพราะไม่ได้ใช้เครื่องคิดเลข ของทอดลูกค้าเรื่องมาก ลูกฐานหลบบ่อย น้ำธัญพืช ภาชนะไม่พอใช้ น้ำเสาวรสลูกฐานกินจุบจิบ ไม่กระตือรือร้น ประสานงาน ประชาสัมพันธ์ และยานยนต์ จุดประทับใจคือควบคุมอารมณ์ได้ดี รับฟังข้อมูล ด้วยความสงบ พร้อมที่จะปรับเปลี่ยน จุดบกพร่องคือ ขาดผู้ดูแล ทำความสะอาดรถ รถ"ห้ายหวาน" สกปรกที่สุด สาราณียธรรม ๖ อบอุ่นเป็นพี่เป็นน้อง มีความเป็นพ่อลูกกันดี ของนายท่ากับคนขับรถ ล้างภาชนะ-บริการหน้าร้าน จุดประทับใจคือเอาภาระ ไม่เรียกร้อง ก้มหน้าก้มตา ทำงานอย่างเดียว เต้าหู้ ใช้ถั่วเหลือง ๔,๑๐๐ กก. ทำน้ำเต้าหู้ได้ ๔,๐๓๒ ลิตร ได้เต้าหู้ก้อนวันละ ๑,๕๐๐ ชิ้น ตลอดงาน รวม ๑๘,๐๐๐ ชิ้น ไม่มีจำหน่ายหน้าร้าน เพราะผลิตไม่พอกับการทำอาหาร เริ่มทำงาน ๐๒.๐๐ น. จุดบกพร่อง เล่นกันส่งเสียงดัง ขนมปัง โฮลวีท+ฟักทอง ๗๕๒ ก้อน/วัน ตลอดเทศกาล ๙,๐๒๔ ก้อน ขนมปังไส้ต่างๆ ๕๔๘ ก้อน/วัน รวมตลอดเทศกาล ๔,๓๘๔ ก้อน พ่อท่านให้โอวาทปิดการสรุปประเมินผลจากบางส่วนดังนี้ "พวกเราก็จะสร้าง ทั้งวัฒนธรรม จารีตประเพณี วิธีการดำเนินชีวิตของเรา ยิ่งภาคภูมิใจในระบบวิธีของ พระพุทธเจ้า คนพวกเราทำงานไม่ได้เอาเงินมาเป็นค่าจ้าง ต่างคนต่างมาทำด้วยใจ แล้วอบอุ่นด้วย คนมากมายขนาดนี้ ถ้าจะว่าจริงๆแล้วพวกเราเสียสละให้สังคมไม่ใช่น้อย คิดดูซิตักกินจานหนึ่งโจ้โก้ (กองพูนพะเนิน) ๑๕ บาทนี่คนขายโอ้โฮใจแว๋มๆๆ โอ๊ย ทำไมตะกละ ตะกลามนัก พวกเราก็ทำใจ ไม่เป็นไรเราอยู่รอด ถึงอย่างนั้น เรายังเหลือ ยังมีส่วนเกินพอ ให้เราทำอะไรต่อไปได้ ให้มันรู้กันไปว่าคนในโลกนี้เขาเอาๆๆๆๆ เราให้ๆๆๆๆ มันอยู่ด้วยกันได้ เขายังไม่ทันรู้ เท่าไรหรอก แต่มันเป็นแล้ว พวกเราก็ทำได้ หลายคนก็วางใจได้ หลายคนก็ค่อยยังชั่วขึ้น แต่ก่อนนี้โอ้โฮไม่ยอมแล้ว มีพวกเราเล่าว่ามีถ้วยเล็กให้สำหรับตักประมาณ ๑๕ บาท เวลาเขาจะตักเขาไม่เอา เขาไปเอาชาม ก๋วยเตี๋ยวมา ไม่เอาถ้วยที่เตรียมนี้หรอก แล้วตักมาเฉยเลยนะไปจ่ายตังส์ ๑๐ บาท พวกเราก็บอก ทำไมตักมาอย่างนี้ล่ะ มันต้อง ๑๕ บาทนะ เขาก็โยนสตางค์เหรียญ ๑๐ บาทให้ แล้วก็ไปเฉยเลย พวกเราก็ทำใจ วางใจ พวกนี้มันเป็นโจทย์ให้พวกเราได้ฝึกทั้งนั้น ขี้โลภ ขี้หวงขี้แหน รวมแล้วจริงๆ พวกเรา ก็ไม่ได้สิ้นไร้ ไม้ตอกอะไร ยังมีส่วนเกินอยู่เลย ปีๆหนึ่งเราก็ทำไป ถึงปีใหม่เรายังแจกด้วยซ้ำไป เราจ่ายไปตั้งเท่าไรในการจัดงานปีใหม่ปีๆหนึ่ง เรายังทำได้เลย เพราะฉะนั้น งานเจก็ว่ากันไป แล้วทำแบบฝึกหัดกันไปเรื่อยๆ ลองดูซิว่า มันจะไปได้แค่ไหน หลายคน ก็คิดว่า เอแล้วกลับมาจะมาทำแบบบุฟเฟ่ต์อีกดีหรือไม่เนี่ย ใจคอจะทนไม่ได้อยู่แล้ว บุฟเฟ่ต์นี่ เขากินกัน โอ้โฮ คนอีสานนี่กินไม่บันยะบันยังเลย ไม่เห็นใจคนทำเลย ที่กรุงเทพฯ(ศูนย์มังสวิรัติหน้าสันติอโศก)นี่เขาก้าวหน้า อิ่มละ ๒๐ บาท แต่ก็มีคนหนึ่งให้อิ่มละ ๑๐,๐๐๐ บาท เมื่อพวกเราทักเขาก็บอกว่าเขาจะทำบุญ พวกเราก็เลยต้องรับ เสร็จแล้วเขาสำรวจ ดูอาหารเศษทิ้งน้อย ไม่เหมือนอุบลฯ ที่อาหารเศษทิ้งมาก อีกอันหนึ่งก็คือ ๙๙ % เขาล้างจานเอง สิ่งเหล่านี้มันไม่ใช่แค่เราประสานกับสังคม มันได้พัฒนาตัวพวกเราด้วย อาตมาเห็นแล้ว ก็ชื่นใจนะ ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ช่วยกันทำ แม้เด็กๆจะซนเล่นบ้าง ทำบ้าง ก็ยังดูดี อุทยานบุญนิยมนี่ก้าวหน้ามากเลย มันเป็นมหกรรมของการสร้างคน ไม่มีที่ไหนเทียบเท่า ทั้งยอดตัวเลข ทั้งผู้คนที่มาทำงาน มันกลายเป็น ร้านอาหารมังสวิรัติที่ใหญ่ สมบูรณ์แบบกว่าเขาหมดแล้ว แต่ก็ให้มันก้าวหน้าขึ้นกว่านี้ ทำแล้วก็มา สรุปงานหาข้อบกพร่อง จุดดีจุดด้อยอย่างนี้แหละ มันก็จะเกิดการก้าวหน้า พัฒนาได้แน่นอน อาตมาต้องขอบคุณด้วยความจริงใจจริงๆ ที่พวกเราช่วยทำงานสร้างสรร ปลูกฝัง วัฒนธรรม ปลูกฝัง วิถีการดำเนินชีวิตที่ดี การสร้างคนเป็นการยาก เราทำได้ขนาดนี้ อาตมาก็ชื่นใจนะ ปีนี้ไปถึงปี'๔๘ ก็คงมีอะไร ก้าวหน้าพัฒนาไปได้อีก" ประชาสังคมกับการพัฒนาประชาธิปไตยในท้องถิ่น ๒๘ ต.ค. ๒๕๔๗ ที่ราชธานีอโศก คุณลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ นักศึกษาปริญญาเอก โครงการ สหวิทยาการ คณะบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มาศึกษา พักค้าง ใช้ชีวิตร่วมกับ ชาวชุมชนหลายวันแล้ว วันนี้ได้ขอสนทนา สัมภาษณ์พ่อท่าน เพื่อประกอบการทำวิทยานิพนธ์ เรื่อง "ประชาสังคมกับ การพัฒนา ประชาธิปไตย ในท้องถิ่น" จากบางส่วนของการสนทนาดังนี้ คุณลัดดาวัลย์ : ดิฉันชื่อลัดดาวัลย์ฯ ค่ะ ก็เป็นน้องสาวของคุณวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ซึ่งเป็น ที่ปรึกษาของสมัชชาคนจน ที่ต่อสู้เรื่องเขื่อนปากมูล เขาก็สนใจเรื่องราชธานีอโศก เหมือนกัน ดิฉัน เคยไปกราบนมัสการพ่อท่านที่สันติอโศก นานมาแล้วนี่ พอดีตอนนั้น ไปสัมมนาเกี่ยวกับเรื่อง สันติวิธี นานมาแล้ว ตอนนี้ดิฉันกำลังเรียน ปริญญาเอก ทำเรื่อง การเมืองท้องถิ่นแล้วก็ชุมชนเข้มแข็ง ตอนนี้ จะมากราบ ขอความเห็น ของพ่อท่าน คงจะเป็นเกี่ยวกับเรื่องประชาธิปไตยกับทุนนิยม พ่อท่าน : โอ้โฮ....ต้องเอาเล่มนี้ไปอ่าน อีกเล่มหนึ่งกำลังรวมอยู่ โอ้สารอโศกคงข้นกว่า จะมีลงใน เราคิดอะไร ที่ไม่มีลงในร่วมด้วยช่วยกัน(น.ส.พ.) ซึ่งเป็นการสัมภาษณ์ เกี่ยวกับประเด็นของ การเมืองบุญนิยม เยอะ คุณลัดดาวัลย์ : ได้อ่านของคุณสุนัย เศรษฐ์บุญสร้าง ที่พิมพ์เป็นหนังสือเล่มน้อยๆนี่ค่ะ แต่ดูเหมือนว่า ตรงนั้นจะเน้นเกี่ยวกับความต้องการส่วนเกิน แล้วก็สิทธิเสรีภาพ ทีนี้มาลองศึกษา วิถีชีวิตใน ชุมชนราชธานีอโศกนี่ก็รู้ว่า ถ้ามองในมิติของการเมืองแล้ว ในแง่ของประชาธิปไตยนี่ค่ะ ก็อาจจะมองได้ว่า ถ้าเราจะใช้มิติประชาธิปไตย ในเรื่องอำนาจอธิปไตย ของปวงชน ก็คือ การที่ประชาชน มีสิทธิ์มีเสียง มีส่วนร่วม ในการตัดสินใจ วิถีชีวิตของตนเอง ตรงนี้ก็จะเป็นจุดแข็ง ของบุญนิยมที่ทางอโศกได้ เป็นอุดมการณ์ที่ทางอโศกได้พยายามทำ แต่ก็ยังมีข้อที่ยังไม่เข้าใจ กระจ่างชัดว่า ในลักษณะที่เราเน้น ในเรื่องของธรรมเรื่องของศีล แล้วก็การให้ทุกคนมีส่วนร่วม ในการตัดสินใจ แต่ถ้าในบริบทที่กว้างขวาง ออกไป ถ้าในระดับหมู่บ้านนี่ก็ชุมชนที่เห็นนี่ ก็อาจจะ พอเป็นตัวอย่างได้ แต่ถ้าในบริบทที่กว้างออกไป เช่นในระดับตำบล อำเภอ หรือประเทศ จะมีกลไก หรือว่ามีโครงสร้างอย่างไร ดิฉันก็ยังนึกไม่กระจ่างชัด พ่อท่าน : อ้า....ยังไม่มีโครงสร้างอะไรหรอก เป็นไปตามธรรมชาติ ในความเป็นมนุษย์ที่มี จิตวิญญาณ มีสมอง มีความนึกคิด มีปัญญา มีการตัดสิน มีการวิจัยอะไรพวกนี้ อยู่ในตัวจิตวิญญาณ จิตวิญญาณ มันเป็นบทบาทของมันเอง แล้วมันก็จะเกิด เกิดวินิจฉัย เกิดการตัดสิน เกิดการสังเคราะห์ วิจัยวิจารณ์ ขึ้นในตัวของมันเอง เพราะฉะนั้น คนส่วนภายนอก ที่เขายังมี concept (ข้อคิดเห็น)อย่างนั้น มี vision (วิสัยทัศน์) อย่างนั้น เขามีของเขาน่ะ แน่นอนเลย concept ของเขา vision ของเขา ก็เป็นอย่างของเขา vision ของอโศกก็เป็นอย่างนี้ มันก็จะเดินไปกันคนละทิศ แต่ข้างนอกแม้จะขยายขอบเขตออกไป สัมพันธ์กับข้างนอก มันก็สัมพันธ์อยู่แล้ว โดยธรรมชาติ เราก็มีประชาธิปไตยอย่างเดิม อิสรเสรีภาพ ใครต้องการศึกษา ใครต้องการพิสูจน์ ว่าเออนี่มีแง่ดี มีผลดีอะไร เขาก็จะมาศึกษาเอง คนมีปฏิภาณดี ก็รับได้เร็ว คนมีปฏิภาณไม่ดีก็รับได้ช้า ก็เป็นเรื่องธรรมดา มันก็จะขยายผลออกไปเรื่อยๆ เหมือนอย่าง ที่มันเป็นอยู่ อย่างทุกวันนี้นี่ ชาวอโศกก็ขยายตัวเพิ่มขึ้น จากกลุ่มเล็ก มากลุ่มโต ก็ขยายเป็นจุลภาค ไปตามเครือข่าย มันจะไม่เกิดเป็นมหภาค ชนิดที่เรียกว่า กลุ่มเดียวแล้วโตใหญ่ขึ้นไปเอง มันก็จะเป็น มหภาคประเภทเหมือนลูกโซ่หรือเครือข่าย ร่างแห ซึ่งมันจะเกิดจุลภาคต่างๆ สานกัน ก่ายกันไปอย่างนี้ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติที่ดี ถ้าอะไรก็แล้วแต่ ถ้ามันรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนโตใหญ่แล้ว เทอะทะแล้วนี่ เป็นความลำบาก ไม่ว่าอะไรต่ออะไรต่างๆ แม้แต่ธรรมชาติของวัตถุก็ตาม ธรรมชาติ ของฟิสิกส์ ทางวัตถุ ก็ตาม หนักเข้ามันก็มีจักรวาล เป็น Nebula (กลุ่มแก๊ส หรือ ฝุ่นที่คล้ายก้อนเมฆ ดาวตรงกลาง ที่ล้อมรอบด้วยก๊าซ กาแล็กซี่นอก) ที่ใหญ่ที่สุด แล้วก็เกิด Big bang เกิดการแตกตัว แล้วก็เกิด การขยาย มันก็เป็นธรรมชาติทั้งหมด มันจะทนอยู่ไม่ได้หรอก เพราะฉะนั้นเรารู้แล้วว่า ไม่จำเป็นที่เรา จะต้องไปรวมตัว ให้มันใหญ่ เป็นก้อนใหญ่ จนกระทั่งมันเหมือนจีนที่ไม่ยอมปล่อยไต้หวัน ไม่ยอมปล่อย ธิเบต จะรวมเขาให้หมด ที่ไหนก็ไม่ยอมปล่อย มีแต่จะรวบรวมเข้ามาเป็นอาณาจักร อย่างนั้น เราไม่มี concept อันนี้เลย vision อันนี้เราก็ไม่มี เพราะฉะนั้น เราก็ไม่ล่าอาณาจักร โดยเราเองก็จะไม่ดึง กันเอาไว้ เราก็จะปล่อยให้มันเกิดการแยกตัว เกิดการเปลี่ยนแปลง เกิดการขยายตัวออกไป แต่เราก็ ประสานกันอยู่ ในความเห็น ที่ตรงกัน มี concept เดียวกัน มี vision เดียวกัน มันก็ไปด้วยกันได้ คุณลัดดาวัลย์ : ดูเหมือนว่าท่านจะเชื่อในความหลากหลายของชุมชน พ่อท่าน : ใช่ๆ ทุกอย่างไม่เหมือนกัน มันคล้ายกันแต่มันไม่เหมือนกันทีเดียวนา เราทำให้ คล้ายกันที่สุด ได้นั่นแหละถูกต้อง อาตมามี Motto (ภาษิตคำขวัญ) อันหนึ่งที่ว่า ความสามัคคี คือความขัดแย้ง อันพอเหมาะ ความสามัคคีที่ไม่มีขัดแย้งกันเลย ไม่มีในโลก ไม่มี ความสามัคคี คือความขัดแย้ง อันพอเหมาะ ถ้าเข้าใจตรงนี้แล้ว ก็จะเข้าใจ ลักษณะความหลากหลาย ความแตกต่าง มันเป็นสีสัน เป็นความไม่น่าเบื่อ ไม่ใช่น้ำเน่า ถ้าเป็นสิ่งเดียวกัน เป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่มีอะไรแปลกเปลี่ยน ออกมาเลยแล้วนี่ แม้แต่เรื่องของชีววิทยา สิ่งเดียวกัน เซลเดียวกัน ตระกูลเดียวกัน ผสมพันธุ์กัน เดี๋ยวก็เน่าตาย สูญ บอด ไม่มีเหลือ เป็นธรรมชาติ นี่เราต้องเข้าใจส่วนความจริงอันนี้แล้ว มันก็จะเป็น ของมันไปเอง คุณลัดดาวัลย์ : ถ้าในแง่นี้ ท่านมองถึง การให้แต่ละจุดๆ เติบโตขยายออกไป แต่ถ้ามองในแง่ของรัฐ ถ้ารัฐในลักษณะเช่นนี้ อาจจะต้องหาความเป็นอัตลักษณ์ หรือเอกลักษณ์ พ่อท่าน : มันเป็นอยู่แล้ว อัตลักษณ์ของเรามี แล้วอัตลักษณ์นี้มันจะขยายตัวออกไป ค่อยๆแพร่ ค่อยๆ ประกาศตัวเองออกไป คนเห็นดีก็มารับทำเอาไป ก็จะสามารถ ไปก่อตั้งเป็นกลุ่มเป็นก้อน เป็นเครือข่าย อีก สืบต่อ สานขยายออกไปๆ มันเป็นไปเรื่อยๆๆ มันก็จะแทรกตัวเข้าไปทุกจุดของโลก ทุกจุดของ จักรวาล เราไม่รีบร้อน เพราะมันไม่ง่าย ถ้ารีบร้อนสุกเอาเผากิน ไปไม่ไกล แล้วก็ไม่เกิด การปราโมทย์ ไม่ได้คุณภาพที่ดี และไม่ถาวรยั่งยืน เพราะฉะนั้นเราไม่รีบร้อน เราไปตามธรรมชาติ ที่แม้มันจะช้า แต่มันก็สั่งสมความควบแน่นของมันไปเรื่อยๆๆๆ มันเป็นของดีอยู่แล้ว มันก็จะดำเนินไป ตามกาละ ของมันไป เพียงแต่มุ่งมั่นขยันอุตสาหะเต็มที่เท่านั้น คุณลัดดาวัลย์ : มันก็มีการต่อต้านกับกระแสโลกภายนอก พ่อท่าน : เอ้า....ไม่ต่อต้านอะไรกับใคร ต้องเข้าใจอุดมการณ์นี้ เป็นสิ่งที่สำคัญ คือเราไม่ต่อสู้ ไม่รบ ไม่ต้าน เราอยู่กับสังคม ไม่มีประโยชน์กับการที่จะไปต้านกัน ทะเลาะกัน ทำลายกัน เพราะทุกอย่าง มันทำลายในตัวมันเองอยู่แล้วโดยสัจธรรม อย่าไปเหน็ดไปเหนื่อย ไม่ต้องไปทำให้มันสลายหรอก เพราะฉะนั้นเราไม่มีประโยชน์อะไร ที่จะไปก่อเวรก่อภัย โดยเฉพาะกับมนุษยชาติ สัตวโลก ชีววิทยา ที่มีจิตวิญญาณ อาฆาตมาดร้ายต่อกัน ผูกพยาบาทอะไรกัน ไม่ต้องไปสร้างวิบากพวกนี้เลย เพราะฉะนั้น เราจะไม่ไปก่อการต่อต้าน ตีรันฟันยิง เป็นศัตรูทำร้ายคนอื่น เราไม่ทำ เพราะเข้าใจ อย่างชัดเจนแล้วว่า เรามีชีวิตแล้ว เราไม่จำเป็นต้องไปทำร้ายอะไรใครเลยในโลก ใครทำร้ายเรา เราก็หลบเลี่ยงเอา หลบเลี่ยงไม่ได้ สุดวิสัยก็ยอมตาย ตายก็ตาย ดีกว่าเราไปทำร้ายคนอื่น ถ้าไม่ตาย เราก็อยู่ของเรา หลบเลี่ยงได้เราก็อยู่ไป ใครเขาจะทำร้ายมันเรื่องของเขา เราเชื่อกรรมเชื่อวิบากด้วย เพราะฉะนั้น เราจะไม่ไปทำร้ายทำลายใคร มุ่งจะเกื้อกูลกันไปเท่านั้น เราจะอยู่กันอย่างเกื้อกูล อย่างเดียว ต้องชัดเจนในความเป็นจริงอันนี้ พฤติกรรมอันนี้ของมนุษย์ของสัตว์โลกนี่ สุดยอดแล้ว อหิงสา อโหสิ นอกจากนั้นแม้จะมีกิเลสที่เราจะต้องมี ไม่ชอบใจบ้าง โกรธแค้นโกรธเคืองบ้าง อะไรก็ตาม เราจะต้อง ล้างกิเลสตัวนั้นออกให้ได้ เมื่อเอากิเลสตัวนั้นออกให้ได้แล้วจริง มันก็จะเป็นจริง มันไม่ต้องไป ทำร้ายใคร ไม่ต้องไปเบียดเบียนใคร ไม่ต้องไปหาเรื่อง ตีรันฟันแทงกัน มีแต่ช่วยเขาไปก็แล้วกัน เพราะในโลกนี้ถ้าเราจะช่วยเขา แล้วเราไม่ทำร้ายเขานี่ สากลทุกแห่งทุกหน ใครในโลก ไม่มีใครขัดแย้ง หรือไม่ชื่นชอบ ในเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นเราเป็นจริงอันนี้ให้ได้ก็แล้วกัน คุณลัดดาวัลย์ : แต่ดูเหมือนว่า ทุนนิยมคงไม่ล่มสลายไปได้อย่างง่ายดาย พ่อท่าน : อา....มันเป็นอย่างนี้ จุดจบของมันก็คือ ทุนนิยมนี่ เขาจะแข่งกันเอง ฆ่ากันเอง เขาแย่งชิงกัน ส่วนเราสร้างสรร นี่ขณะนี้มีสงครามอยู่ทั่วโลกนี่ มันก็คือทุนนิยม นี่เขาแย่งกันเอง ฆ่ากันเอง ไม่มีจบ อยู่อย่างนี้ เพราะฉะนั้นทุนนิยมเขาก็จะฆ่ากันเอง ฆ่ากันและกันไม่มีหยุด ทีนี้เราเองเราไม่ได้เป็นตัวที่ จะฆ่าเขา ไม่ทำร้ายใคร เราจะไม่ไป ทะเลาะตบตีกับใคร เขาตีกันแต่เราเข้าทั้งสองข้างนั่นแหละ คุณต้องการ ความช่วยเหลือ เราช่วยเขาทั้งสองข้างนั่นแหละ เราไม่เข้าข้างใดข้างหนึ่ง เราช่วย เขาเจ็บ ป่วยมา เราก็รักษาให้ ทะเลาะกันตีกันมาบาดเจ็บ เราก็รักษาให้ ไม่มีเวลาไปสร้างอะไร มากินมาอยู่ ไม่มีอาหารกิน เราก็ตักแบ่งไปให้ ไปเลี้ยงเขา ทั้งสองฝ่าย เราไม่ได้ลำเอียง คนไหนขาดแคลน คนไหน ต้องการ ช่วยได้เท่าที่เราช่วยได้ เราช่วยเขา มีลักษณะ ช่วยเขาอย่างเดียว เพราะฉะนั้น คุณจะฆ่า จะแกงกัน คุณก็ฆ่าก็แกงกันไป เราเอง เราไม่ฆ่าเขา ถ้าเขาจะมาฆ่าเรา เราก็หลบไม่ให้เขาฆ่าเท่านั้นเอง ถ้าเราช่วยเขา ช่วยเขา ช่วยเขาๆๆ เขาก็ไม่ฆ่าเราน่ะ คุณลัดดาวัลย์ : เราจะไปช่วยเขาหรือให้สติเขา พ่อท่าน : ทำทั้ง ๒ อย่างแหละ ถ้าเราสามารถเราก็ให้สติเขาบ้าง ถ้าเขาเชื่อ ถ้าเขาเชื่อแล้ว ก็เปลี่ยนแปลง อันนั้นได้ก็ดี แต่เราไม่ควรหวัง จริงๆเราไม่ได้ดูดาย ก็ช่วยบ้าง ให้สติบ้าง เท่าที่เรา สามารถ แต่เรื่องนี้เขาจะมาเชื่อเราง่ายๆที่ไหนเล่า เขาไม่เชื่อก็เรื่องของเขา เราก็ไม่ช่วย เขาเชื่อก็ทำ เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นสุดท้ายแล้วจริงๆนี่ ผลจบของมันก็คือ ทุนนิยมนี่เขาจะแก่งแย่ง ฆ่าแกงกัน ไม่หยุดหย่อน รุนแรงขึ้นเรื่อยจนถึงกลียุค ฝ่ายแดง ฝ่ายน้ำเงินนี่ เขาจะฆ่ากันเอง อยู่ในทุนนิยม แล้วที่สุดก็ตายหมด แต่ทั้งแดงทั้งน้ำเงินเขาไม่ได้ฆ่าเรา เพราะเรา ไม่ได้รบกับใคร แถมเราช่วยเหลือเกื้อกูลทั้ง ๒ ฝ่ายอีกด้วย ดังนั้น แม้เราจะค่อยๆ เป็นไปก็ตามแต่ เราก็ถูกละเว้น แล้วสุดท้ายแห่งจุดจบ พวกนั้นเขาฆ่ากัน ตายเกลี้ยง เราก็เลยเหลืออยู่ การที่เราเหลืออยู่นี้ก็ไม่ใช่ความชนะของเรา แต่มันเป็นเรื่องของ ธรรมชาติ เรื่องของวงจรวัฏจักรของสัตวโลก มันจะต้องเป็นแบบนี้ จะอีกกี่ปีกี่เดือนก็ตาม มันจะเป็นไปดังว่านี้ นี่คือที่สุดจุดจบของเกมชีวิตสังคมมนุษยชาติ ถ้าเข้าใจอย่างนี้ ก็สืบทอดความคิดนี้ ไปอีกกี่รุ่นๆ ก็ปฏิบัติอย่างนี้ กี่ generation (ยุค สมัย ชั้นอายุ รุ่น) ก็ช่างปะไร อาตมาประเมินไปอย่างนั้นเองว่าอีก ๕๐๐ ปี กว่าจะถึงหรือจะปรากฏ จุดจบดังว่านี้ ไม่แน่หรอก ถ้ามันร้อนแรงหนักขึ้นยิ่งกว่ามากกว่านี้ อาจจะเร็วกว่านี้ ไม่ถึงห้าร้อยปีก็ได้ คุณลัดดาวัลย์ : โอ้โฮ....จะนานมาก พ่อท่าน : ไม่นานหรอก ห้าร้อยปี จะนานอะไร สองพันสามร้อย สองพันสี่ร้อย สองพันห้าร้อย นี่ศาสนาพุทธก็ปาเข้าไปสองพันห้าร้อยปีแล้ว ยังไม่ทันไรเลย ไม่นานหรอก อาตมายังพูดอยู่เลยว่า ใครก็ไม่รู้เมื่อกี้นี้ ทักอาตมาว่า อะไรกัน เห็นอาตมาอยู่แป๊บๆ เพิ่งสิบเจ็ดขวบอยู่หลัดๆ เดี๋ยวเดียว เผลอแป๊บ เจ็ดสิบขวบแล้ว โฮ....ไม่น่าเชื่อ คุณลัดดาวัลย์ : ก็ยังดูเหมือนว่า สิ่งที่พ่อท่านสอน ก็ยังไม่สามารถจะเป็นสติ ให้หลายท่านเหล่านั้น พ่อท่าน : คนที่เขาไปเป็นใหญ่เป็นโต คนที่ว่าเฉลียวฉลาด มีปัญญา แล้วเขาเอาทางโลกีย์ เขาก็มุ่ง เขาก็เข้าใจตามภูมิของเขา เขายังชอบโลกีย์ ชอบลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข ชอบอย่างนั้น แล้วยัง โลดแล่นอย่างนั้นอยู่ เพราะฉะนั้นเขาก็จะ เอาแรงงาน เอาเวลา เอาทุนรอน เข้าไปทุ่มโถม ให้แก่โลกีย์ นั้นแหละมากกว่า มันเป็นธรรมดาเลย ความชอบ ที่จะทำของเขา เออ....ต้องทำอย่างนั้น ให้สติอย่างไร ก็ยากที่จะรู้ทัน จะหันมาเอา ทางโลกุตระ ส่วนคนที่มีภูมิอีกชนิดหนึ่งที่เห็นว่า โอ้ย.. ป่วยการ เขาไม่เห็น คุณค่า ที่จะเสียเวลา เสียแรงงาน เสียทุนรอนกับโลกีย์ เขาไม่เห็นประโยชน์อะไร ที่จะไปมัวทำอยู่ ทางโน้น เขาก็ เอาแรงงาน เอาเวลา เอาทุนรอน เข้ามาทำแบบโลกุตระ ต่างคน ก็ต่างมุ่ง ต่างแสวงหา ตามภูมิ เราไปบังคับใครเขาไม่ได้หรอก ใครเขาอยากจะมา เขาจะอยู่ เขาจะมี หน้าที่ เขาจะมีตำแหน่ง เขาจะมีฐานะอะไรอย่างไร แค่ไหน สูงต่ำขนาดไหน ก็เรื่องของแต่ละคนเขา บังคับไม่ได้ แล้วอาตมา ก็ไปหยิบไปจับของใครเขาไม่ได้ เขาก็เป็นของเขาเอง เราก็ได้แต่เผยแพร่ รายงานความรู้ความจริงนี้ ออกไป ประกาศออกไป คนสนใจศึกษา เขาก็เป็นไปเองทั้งนั้นแหละ คนระดับต่ำระดับสูงก็ศึกษา ได้ทั้งนั้น คนระดับต่ำเขาเห็นดีเห็นชอบเขามา คนระดับสูง เขาเห็นดี เห็นชอบ เขาอยากมาเขาก็มา เราไปบังคับอะไรเขาไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็เป็นไปตามภูมิ บางคน ที่เขาเออ.... เข้าใจว่าโลกุตระนี้ดีแน่ แต่เขาก็ยังอยู่ข้างนอก ไปติดลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุขอะไร อยู่ข้างนอก ไม่ได้มาร่วมไม้ร่วมมือ ไม่ได้มาทุ่มโถมอะไรกับกลุ่มนี้คณะนี้ ก็ยังอยู่กลุ่มโน้น มันก็เป็น ความเห็นของเขา เป็นความชอบ ของเขา เราไปบังคับใครไม่ได้ แต่ใครเห็นชัดเจนว่า โอ้.... ฉันไม่เสียเวลา เรามาทุ่มโถมทางนี้ดีกว่า ไม่ต้องไปเอาแรงงาน ไม่ต้องเอาเวลา ไม่ต้องไปเสียทางโน้น เอามาทางนี้ แม้แต่เงินทองก็เอามาช่วย ทางนี้ดีกว่า เขาก็มากันเยอะแยะไป คืออันนี้เรามีคน เสริมเข้ามาๆ อยู่เรื่อยๆ มีอัตราการก้าวหน้า อยู่เรื่อยๆ คุณลัดดาวัลย์ : เห็นพ่อท่านตั้งพรรคการเมือง พรรคเพื่อฟ้าดิน อันนี้ก็เป็นความหวังด้วย หรือเปล่าคะ ที่จะให้เป็นเครื่องมือ พ่อท่าน : อ้า....อาตมาไม่คิดเป็นความหวังเลยนา พรรคเพื่อฟ้าดิน แต่ที่มันต้องตั้ง เพราะว่ามีเหตุ ไม่รู้อุกาบาตมันพลัดหลงเหวี่ยงเข้ามาอย่างไง มันตกลงมาปุ๊กที่นี่ ก็เท่านั้นเอง ก็รับมันไปก็เท่านั้นเอง โดยไม่ได้มีความกระสัน ไม่ได้มีความปรารถนา ไม่ได้มีความตั้งใจที่จะให้มาเกิดอันนี้ ทีนี้มันตกปุ๊ก แล้วก็ เอ๊....จะโยนทิ้งไป ก็เอ้า.... ก็ทำประโยชน์อะไรได้ก็ทำมันไป ก็รับมันไว้อยู่ในนี้เท่านั้นเอง เราก็ทำของเราไป อย่างที่เราเข้าใจว่าเราจะทำพรรคการเมืองเป็นอย่างไร หรือว่า จะเป็นนักการเมือง อย่างไร การเมือง จะเป็นรูปลักษณะแบบไหน หรือว่าการเมืองมันจะก่อหวอดขึ้น ในคนอย่างพวกเรา ก็ให้มันก่อไปเลย แล้วก็ทำไป โดยเราไม่ได้มีความเข้าใจ เหมือนอย่าง ที่เขาเข้าใจ เราไม่ได้มีความรู้ ความนึกคิดความเห็น หรือว่า concept ของเรา ไม่ได้เหนือกว่าการเมืองที่เขาเป็น เราก็ทำของเราไป อย่างนี้ เพราะว่ามันจะ ไม่เหมือนของเขา ก็ไม่เป็นไร เราก็ทำกับประชาชน เราก็รู้ว่า เราไม่อาจเอื้อม ที่จะไปถึง ระดับบริหารได้ มีระบบสภาก็เหมือนกัน เราก็คิดว่า เราก็คงก้าวเข้าไปถึงขนาดนั้น ไม่ใช่ง่ายๆ ตามความเป็นของเรา เราก็จะต้องเป็นแบบของเราอย่างนี้ เช่นว่า ถ้าเราจะได้เป็น ตัวแทนของประชาชน กลุ่มหนึ่ง เข้าไป เราจะได้รับเลือก เขาจะเลือกเรา เข้าไปเป็นตัวแทน เราก็จะไปเป็นตัวแทนที่จริง ถ้าประชาชน จะเลือกเราเข้าไปจริงก็เลือก แต่เราจะไม่หาเสียง ไม่เสนอตัว ประชาชนจะต้อง เรียกร้องเรา จริงๆ เราจะให้ประชาชน มาเลือกเราจริงๆ และถ้าต้องลงสมัครแข่ง ก็ไม่หาเสียง ยัง หาเสียงถือว่า ยังไม่ใช่ ประชาธิปไตย มันยังไม่ใช่อำนาจประชาชนจริงๆ มันไปขอร้องเขา ไปอวดอ้างตน ถึงขั้นไปเที่ยว ได้พูดหลอกพูดล่อ พูดจริงไม่จริง ก็ไม่รู้ คุยโม้โอ้อวดตัวเอง อย่างนี้ไม่เอา ประชาชนต้องรู้ด้วยตนเอง อย่างซับซาบสัมผัสสัมพันธ์คนผู้นั้นมาตลอดเวลาจริง ว่าคนนี้เป็นอย่างไร ฉันจะเลือกคนนี้ เพราะคนนี้ มีความจริงตามจริงที่ฉันรู้ ฉันตัดสินแล้วเอาคนนี้ คนอื่นมาอย่างไง ฉันก็ไม่เอา นี่คือ คนจริง ความจริง ในความเป็นประชาธิปไตย ดังนั้น ถ้าเราไม่ใช่คนจริงที่คุณรู้จัก และเลือกจริง เขาไม่เลือก เราก็ไม่ไป คุณลัดดาวัลย์ : ถ้าไม่หาเสียงแล้ว ประชาชนจะรู้จักได้อย่างไรคะ พ่อท่าน : ประชาชนต้องรู้จักก่อนสิ ผู้ที่จะเข้าไปรับเลือกนี่ ประชาชนต้องรู้จริงๆ ไม่ใช่หมาหลง มาจากไหน ก็ไม่รู้ ถือกระเป๋าเงินเข้ามาแล้วก็แจกเลย แล้วก็ได้รับเลือกเลย ได้เป็นเลย ต้องไม่ใช่อย่างนี้ ต้องเป็นคนที่ประชาชนเขาจะเลือกไปเป็นตัวแทน เพราะเขารู้จักดีจริงๆ เด็กก็รู้ ผู้ใหญ่ก็รู้คือคนต้อง Popular (เป็นที่นิยมกัน เป็นที่ยอมรับกัน)จริงๆ ต้องเป็นคน favourite (ซึ่งได้รับการสนับสนุน) เราต้องเป็นคนจริง อย่างนั้น หากมี favourite หลายคน ก็เป็นหน้าที่ของประชาชน จะคัดเลือกเอาใคร อีกที คุณลัดดาวัลย์ : ต้องเป็นที่รู้จัก พ่อท่าน : แน่นอน นั่นคือของจริง อย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นจะเกิดเมื่อไหร่เราไม่รู้ เราก็ทำไป สร้างไป มันก็จะก่อเกิดมีอัตราการก้าวหน้าไปตามที่เราสร้างจริงๆ เราก็คิดว่า แม้จะมีระบบสภา เราก็คงไม่ได้ มีโอกาสไปร่วมสภาอะไรกับเขาหรอก แต่เราก็ทำการเมืองกับประชาชนได้ เพราะงานการเมือง มันไม่ได้หมายความว่า จะต้องเข้าไปทำงานแต่ในสภา หรือต้องมีตำแหน่งเป็นข้าราชการการเมืองให้ได้ จึงจะทำงานการเมืองได้ ไม่ใช่จะมีแต่การบริหารในสภาเท่านั้น เราทำงาน การเมืองนอกสภาได้ ทำกับประชาชนเราโดยตรงเลยก็ทำได้ ทำส่วนตัว ทำกลุ่มหนึ่ง หมู่หนึ่ง สองคน ห้าคน แปดคน สิบคน ร้อยคน พันคน หมื่นคน เราก็ทำได้ ไม่มีอะไรมาขีดกั้น ที่จะบังคับเรา เราทำได้ เราทำงานกับประชาชน การมีส่วนร่วม ในกระบวนการทางการเมืองของประชาชน เราช่วยกันกระจายความรู้เกี่ยวกับการเมือง ให้กับประชาชน หรือให้การศึกษาปรากฏการณ์ทางการเมืองทั้งรูปธรรมและนามธรรม โดยไม่ต้อง มีตำแหน่งเป็นทางการ เราก็รับผิดชอบแบ่งหน้าที่กันทำ เรารู้แต่ว่า ทำงานการเมืองคือการช่วยเหลือ เฟือฟายกัน เสียสละช่วยกัน ใครมีความรู้ ความสามารถอะไรจะเกื้อกูลกันได้ ก็ช่วยกันไปให้ประชาชน เป็นอยู่สุขให้ดี ให้ประชาชนรู้สิทธิและหน้าที่อันพึงมีต่อรัฐต่อสังคม เราก็ทำเท่านั้นเอง ทุกวันนี้ เราก็ทำกันอยู่อย่างนี้ ไม่ต้องไปอยากได้ อยากเด่น อยากดี ไม่ต้องไปหาเสียง คนเขารู้ความจริงเอง เขารู้ว่า หากจะมีการเลือกผู้แทนของเขา เข้าไปในสภาเล็ก สภาใหญ่อย่างไร หรือทำหน้าที่เป็นผู้แทน นอกสภาก็ตาม ก็ไม่ต้องหาเสียงหรอก คนนี้....คนนี้แหละแน่นอน คนนี้ถนัดเรื่องการเงิน คนนี้ถนัด เรื่องมหาดไทย คนนี้ถนัดเรื่องสาธารณสุข คนนี้ถนัดเรื่องนั้นเรื่องนี้ เขาก็เลือกคนเหล่านี้เข้าไปเอง คุณลัดดาวัลย์ : นี่ ถ้าสมมุติว่าเรามองในแง่ของการเมืองท้องถิ่น ซึ่งเป็นบริบทที่แคบลงนี่ พ่อท่าน จะเห็นว่า ตัวอย่างของราชธานีอโศกนี่จะมีอิทธิพลกับ อบต. บุ่งไหม พ่อท่าน : เป็น ศีรษะอโศกนี่นา ก็เป็นหมู่บ้าน หมู่ที่ ๑๕ ต.กระแชง คุณขวัญดิน เขาเป็นผู้ใหญ่บ้าน แล้ว อบต.ของที่นั่นน่ะ เขาก็จะเอาคุณขวัญดินนี่เป็นประธาน อบต. แต่ว่าคุณขวัญดินไม่ยอมเป็น อบต. ในสภาตำบลเขาเห็นดีเห็นชอบอยากได้จริงๆ จะเอาขึ้นไปเป็นประธาน อบต. แต่คุณขวัญดิน เขายังไม่เอา บอกยังไม่เป็นๆ ทางนี้เขาก็เกรงใจ อบต.เรา คือมันมีความจริงน่ะ เพราะว่าเราไม่ได้เข้าไป ทำงาน เพื่อที่จะเข้าไปเบ่ง เข้าไปเอาเปรียบ เข้าไปโกงไปกิน เราทำดีอย่างนี้ เขาจะเกรงใจ แล้วเขา จะรู้เลย ลึกๆ ยังไงคนมันไม่โง่หรอก มันต้องรู้ จริงๆเราไม่ได้ไปแย่งงบประมาณ เราไม่ได้ไปบังเบียด อะไรเขาเลยอะไรอย่างนี้เป็นต้น เราช่วยเขาด้วยซ้ำไป อย่างงบประมาณ ส่วนกลางมา เขาก็แบ่งกัน แต่ของเราไม่ต้อง สมมุติเขามี อบต.อยู่ ๑๐ คนบอกว่า เอาเถอะ ได้งบนี้มาแล้วก็จะแบ่งเท่านั้น เอา.... คุณเอาไป ๙ แล้วที่เหลืออีกหนึ่งก็เอาไปแบ่งกัน เราสละออกไม่เอา เขาจะเข้าใจ แล้วเราก็ทำอยู่ทุกวันนี้ เราไม่ได้ไปแย่งเขาเลย เขาก็รู้ คุณลัดดาวัลย์ : แถมกลับไปช่วยเขาอีก พ่อท่าน : ต้องช่วยเขาด้วย เพราะฉะนั้นนี่มันเป็นเรื่องจริง จะบอกว่ามีอิทธิพลต่อวงกว้าง ออกต่อไปไหม แน่นอน ต้องเขยิบไปตามธรรมชาติของมัน คุณลัดดาวัลย์ : ก็สามารถแผ่ขยายออกไปได้อีก พ่อท่าน : ใช่ มันแผ่ขยายโดยสัจจะ ไม่ต้องไปหาเสียง ไม่ต้องไปคุยโม้โอ่อวด พฤติกรรม ของเรา ทำเข้าไปเถอะ จริงๆๆๆๆๆๆ มันจะเป็นได้เป็นจริง คุณลัดดาวัลย์ : อย่างนั้นถ้าสมมุติว่าพรรคการเมือง เพื่อฟ้าดินมีความเข้มแข็ง เกิดประชาชน ให้ความเลื่อมใส ศรัทธา แล้วมีโอกาสเข้าไปในสภาจำนวนหนึ่ง ที่สามารถจะมีอิทธิพล กับการกำหนด นโยบาย กำหนดกฎหมาย ในรัฐสภาได้ พ่อท่าน : ก็ได้แน่นอน เมื่อนั้นก็คือเมื่อนั้น เมื่อมีความพร้อมพอเพียงครบเหตุปัจจัย ทั้งเราและ ทั้งประชาชนต่างก็เข้าใจ เป็นประชาธิปไตยของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชนจริง ซึ่งคุณ จะลองคาดคะเนดูก็ได้ โอย..ถ้าเผื่อถึงเวลานั้น มันจะเป็นอย่างไร มันจะสะดวก มันจะสงบ มันก็จะ จริงจัง จริงใจ จะดี แต่เมื่อไหร่ เมื่อไหร่ก็แล้วแต่ เราก็ทำไปอย่างนี้แหละ คุณลัดดาวัลย์ : ยังไม่มีนโยบายที่จะ หรือมี vision ว่าจะทำการใด เช่นไปแก้กฎหมาย พ่อท่าน : เราไม่กล้าไปอ้าขาผวาปีกขนาดนั้นหรอก ของเรานี่ vision ของเรานี่ เรารู้ไกล แต่เราไม่ทำไกล vision ของเรา เรารู้ไกลรู้ลึก อาตมาว่าพอรู้ ระยะตาออกไปไกลๆ ที่จะไปถึงตรงจุดนั้นจุดนี้ อาจจะแปลกใจ ว่าแล้วทำไมไม่ทำให้ไกลให้กว้าง การหลงไกล หลงกว้างนี่แหละ แต่ไม่เหมาะสมกับ สถานะ ของความจริง ทั้งตัวเราเอง ทั้งภาวะสังคม และองค์ประกอบต่างๆ คือคนมักมากมักใหญ่ มักไกลมักกว้าง ก้าวหน้าตะพึด พังมามากแล้ว คุณลัดดาวัลย์ : จะไม่เป็นการเร่งให้เร็วขึ้นหรือคะ พ่อท่าน : ไม่หรอก ถ้าเราทำโดยที่เรียกว่าเราเหลือ มันดีกว่าเราทำเพราะเราไม่ค่อยพอ คุณลัดดาวัลย์ : ไปทุ่ม พ่อท่าน : ใช่ ไปทุ่มโดยที่ไม่ค่อยพอ แล้วก็แหม....กระเบียดกระเสียรอย่างนี้ นานๆ ไปก็ไม่พอ ถ้าเราทำ เพราะเราเหลือ มันไม่มีปัญหาหรอก เพราะเราเหลือ เราทำไปนี่ แต่เราก็ไม่ขี้เกียจ เราพึ่งตนเองให้ดีที่สุด ทำให้สมดุล เท่าที่เรามีสมรรถนะ ทำเต็มที่เท่านั้น ไม่ต้องอยากใหญ่ อยากไปไกลไปกว้าง ทำเต็ม ความสามารถ และเราก็เห็นอยู่ว่า มันมีอัตราการก้าวหน้า เท่านั้นก็พอแล้ว เราไม่เห็นจะต้องไปคิดอะไร จะต้องไปแข่งขัน ให้ทัน ให้เก่งกว่าเขา เราแข่งกับตัวเราเองนี่ เราก้าวหน้าได้มากเท่าไร พัฒนาขึ้น กว่าเดิม ได้เป็นดีที่สุด สำหรับคนอื่นก็ดูความก้าวหน้าของเขา ที่เราจะเลือกเอาบางสิ่งบางส่วน คุณลัดดาวัลย์ : แนวคิดลักษณะของบุญนิยม เท่าที่ดิฉันศึกษานี่นะคะ ก็เห็นว่า มันก็เป็นแนวคิด ที่มีอยู่หลายกลุ่ม หลายหมู่ คิดในลักษณะเดียวกันนี่ อย่างของ สมัชชาคนจนเองก็ดี หรือเสมสิกขาลัย หรือเครือข่ายต่างๆ ที่คิดแบบ คืออย่างพอเพียง นี่นะฮะ หรือวิสาหกิจชุมชน เหล่านี้ ไม่ทราบทางอโศก ได้มีนโยบายที่จะไปเยี่ยมเครือข่าย เพื่อที่จะทำให้แนวความคิดในการแลกเปลี่ยน ปฏิสัมพันธ์ ในวงกว้างออกไปนี่ พ่อท่าน : ลักษณะของศาสนาพุทธอันหนึ่งนี่นา ถ้าใครไม่ศรัทธาอย่าไปสอนเขา ลักษณะของ ศาสนาพุทธ อย่าไปหยิบยื่นใคร ถ้าเขาไม่ยินดี ไม่นิยม ก็อย่าไปยัดเยียด เรายินดีที่จะประสาน เรายินดี ที่จะไปร่วมในส่วนที่ร่วมกันได้ ยินดีทุกเจ้าแหละ แต่อย่าให้เราไปยัดเยียดตัวเองเลย ของแต่ละกลุ่ม ก็คงเห็นดีของตนๆอยู่แล้ว ใครจะเอาเรื่องที่ดีอะไรมาแจกเราก็ยินดีอย่างยิ่ง แต่จะให้เราไปทำงาน กับวงกว้างนี่ เรายังทำไม่ได้มากเลย อันนี้ต้องขอความเห็นใจจริงๆ งานที่เราทำอยู่นี่ก็โอ้โฮ.... แย่งตัว แย่งคนทำงานกัน พยายามกระเบียดกระเสียร ดึงไม่ให้ขยายงานออกไปอีก แค่งานเติบโต ขยายตัว ก็ทำไม่ทันอยู่แล้ว เรามันอยู่ในระยะของการสร้างตัว เพราะฉะนั้น มันจึงไม่มีเวลาที่จะไปทำอะไร กับอันอื่น ร่วมกับกลุ่มอื่นได้กว้างไกลมากนัก ถ้าเราจะไปทำอะไรกับอันอื่น เราจะต้องอนุโลมอะไร อีกมาก เมื่ออนุโลมนี่ก็ต้องลดแล้ว ถ้าเราไม่อนุโลมเราก็ทำให้มันอยู่ในระดับชุมชนของเราไป คุณลัดดาวัลย์ : ถ้าในระดับของศีลห้าอย่างนี้ ดิฉันยังคิดว่า อยู่ในระดับพื้นต้น ก็น่าจะร่วมกันได้ พ่อท่าน : จริงๆ ศีลห้าของเรานี่ มีนัยไม่เหมือนกับศีลห้าข้างนอกเขาสักเท่าไหร่ ศีลห้าของเรา นี่มัน จะเข้ม จะเอาจริง มันจะมีแนวลึกด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา นี่มันจะเป็นองค์รวม มันจะไม่แยกกัน มันจะทำงานร่วมกัน เป็นปฏิสัมพัทธ์กัน มันมี interaction กันและกัน มันจะอยู่ด้วยกัน ศีลทำแล้ว มันจะขัดเกลากาย วาจา ใจ เป็นอธิศีล อธิจิต อธิปัญญานี่ร่วมตลอดสาย ทุกอย่างไม่มีปัญญาร่วมด้วย ผิดหมด ปัญญานี่จะเข้าไปรับรู้ รับเรื่อง วิจัย วิจารณ์ ตรวจสอบ ตรวจให้คะแนน ตัดสิน วินิจฉัย ทุกอย่างปัญญาจะต้องทำงานร่วมอยู่ทุกอันทุกอย่าง ทั้งในศีล ในกาย วาจา ใจ เพราะฉะนั้นศีล สมาธิ ปัญญา ไม่ได้แยกกันเป็นหน่วยๆๆๆ ถ้าแยกส่วน ไม่เกี่ยวข้องกัน นั้นผิด คุณลัดดาวัลย์ : ถ้าชาวอโศกที่มีความเข้มแข็งกว่า แล้วไปเชื่อมเครือข่าย ที่มีลักษณะ คล้ายคลึงกันนี่ นะฮะ อาจจะในระดับที่มีความเข้มข้นน้อยกว่านี่น่ะ ก็อาจจะเป็นส่วน ที่จะช่วยทำให้เครือข่ายนั้นนี่ มีความเข้มข้นเพิ่มขึ้น ด้วยหรือเปล่าคะ พ่อท่าน : โอ....เรายังเล็กนัก เป็นความคาดคะเนหรือเป็นความคิดที่ดี เห็นว่าควรจะเป็น มันก็ดี แต่ว่าเวลา กับคุณภาพ กับมวลประชากรของเรานี่ยังไม่พอ ไม่พอที่เราจะออกไปทำอย่างนี้ จะว่าไปแล้ว แม้แต่ในประชากรของชาวอโศกกันเองนี่นะ ไม่ค่อยพอ เพราะฉะนั้น เราจะเอาแรงงานประชากร คือ บุคคลนี่เข้าไปสาน เข้าไปทำ ขยายงาน ขยายกรอบ ขยายขอบเขตออกไปอีกนี่ คงจะแย่ เพราะในที่นี้นี่ มันขาดแคลนอยู่ คงต้องรออีกสักพักใหญ่กระมัง อาตมาเองนี่ไปที่ต่างๆ โอ้โฮ....องค์กรหลักๆ ของเราเองแท้ๆ เก้าแห่ง สิบแห่ง องค์กรใหญ่ ชุมชนใหญ่ๆ ปีๆหนึ่งไปไม่ครบ ไม่ทั่ว กลุ่มย่อยนี่ มีอีกเป็นเกือบร้อย เพราะฉะนั้น ก็อาศัยกลุ่มอื่น จะเข้ามาร่วมกับเราข้างในนี่ก็ยินดี มีงาน มีโน่น มีนี่ ชุมนุมสัมมนาก็เข้ามา จะได้พบกันในเวลาอย่างนี้ คุณลัดดาวัลย์ : แล้วมีกลุ่มเครือข่ายต่างๆ เข้ามาเที่ยว พ่อท่าน : เรายินดี อันนี้นี่ จะว่าไปแล้วนา เรายินดี กลุ่มอื่นๆนี่ ศรัทธาเลื่อมใสเข้าใจ มาร่วมแล้วก็ เสียสละตัวเองออกมา มาประสานกับเรา มาอยู่ที่นี่ เราก็มีหลักอยู่ที่นี่ ถึงแม้จะเข้ามาๆ มาศึกษา เอาอะไรต่ออะไรไป อยากให้คุย ให้ร่วมมือ อะไรต่ออะไรมันก็จะทุ่น มันก็จะทำพอได้ แต่ก็กรุณา อย่ามองเป็นว่า เราถือดี ถือตัว หรือเบ่ง เดี๋ยวจะกลายเป็นว่า เอ็งแน่มากหรือไง คนโน้นจะต้องมา คนนี้จะต้องมา แต่ถ้าคนคิดอย่างที่คุณว่านี่ ก็จะดี....ดี มันเป็นไปได้ แต่เราไม่มีสิทธิ์ที่จะไปแนะ อย่างนี้เลย เพราะว่ามันมีอะไรที่....อาจจะมองว่า เอ็งมาหาข้าซี่ ข้าจะช่วยเอ็งเอง อะไรอย่างนี้ มันมากไป คุณลัดดาวัลย์ : แต่คิดว่าการเชื่อมเครือข่ายก็น่าจะมีความเป็นไปได้ อย่างที่ดิฉัน สัมพันธ์อยู่หลาย เครือข่าย สมัชชาคนจนก็ดี ของชาสมุนไพร ของสายอาจารย์สุลักษณ์ เขาก็ทำเรื่องสมุนไพรเยอะ หรือของทางวิสาหกิจชุมชน ซึ่งอันนี้เขาก็เป็นเครือข่าย ที่มาทาง ธ.ก.ส.เขาทำทั่วประเทศ ก็เป็น เครือข่าย ที่แนวคิดคล้ายกันก็น่าจะได้ ถ้าเอามาแลกเปลี่ยนกัน เอามาเชื่อมสัมพันธ์กัน ก็อาจจะทำให้ การขยายเครือข่าย ให้เกิดความเข้มแข็ง ในเรื่องของธรรมนี่จะขยายไปได้ พ่อท่าน : ใช่ๆ ความเข้าใจอันนี้ตรงกันหมดทุกคนแหละ อาตมาก็เข้าใจ แต่อัตตา มันไม่ไว้หน้ากัน การถือดีถือชั่วคนมันมีจริง มันก็เลยไม่เกิดการสัมพันธ์กัน ตามที่คุณคิดว่า ควรจะเป็น จริงๆแล้ว คิดได้กันทุกคน แต่อัตตามันมีจริง กิเลสมันมีจริง เพราะฉะนั้น มันจึงเกิดมานะ คุณลัดดาวัลย์ : มันเป็นอุปสรรค พ่อท่าน : กิเลสนี่มันเป็นอุปสรรค จริงๆแล้วนี่นา ชาวอโศกดูเหมือนจะเป็นอย่างที่ว่านี่ ไม่ค่อยจะไป เชื่อมกับใคร แต่ก่อนนี่โดนข้อหานี้เต็มๆเลย มันเอาแต่พวกมัน มันอยู่แต่พวกมัน มันไม่ ยุ่งเกี่ยวกับใคร มันมีแต่เก็บตัวมันเอง อัตตามันจัด จะโดนข้อหานี้ ความจริงแล้วนี่เราเกรงใจ เพราะว่าอะไร เพราะว่า ประเพณีเราค่อนข้างจะเอากันเคร่ง ซึ่งเขาก็ว่าสุดโต่งอยู่แล้ว แค่เขาบอกว่าสุดโต่งเท่านั้นเอง เราก็ไม่บังอาจ เราก็ไม่กล้า ที่จะไปสัมพันธ์กับใครแล้ว อีกอันหนึ่งก็คือ พวกเราเองก็ยังไม่เข้มแข็ง ไม่มีฤทธิ์แรง ที่เหลือเฟือพอด้วย ก็เลยต้องอยู่ในอีกสภาพหนึ่ง แต่ยินดีจริงๆ ถ้าใครเขาจะเข้ามาเชื่อม ก็มาเลย เข้ามามากๆ ก็มาเลย จะมาเอาวิธีไหนล่ะ จะมาคลุกคลี จะมาเกี่ยวข้อง เรายินดีต้อนรับนะ เราไม่ว่าเลย ฝรั่ง แขก จีน ไทย ลาวอะไรมา เรายินดีต้อนรับทั้งนั้น คุณลัดดาวัลย์ : คนข้างนอกอาจจะยังรู้สึกเกร็งๆ พ่อท่าน : เขาเกรงใจ อาตมาก็รู้อยู่นา นั่นก็ใช่ แต่จริงๆน่ะจัดเข้ามาเรายินดี เราไม่มีปัญหาหรอก แต่ท่านทั้งหลายไม่มาเอง แต่จะให้เราไป ก็อย่างที่กล่าวแล้วว่า เราไปไม่ได้ เราก็สัมพันธ์โน่นๆ นี่ๆ อย่าว่าแต่ขนาดนั้นเลย เขาเชิญมา เราก็ต้องปฏิเสธ บางทีเราไปไม่ไหว อยากให้เราไปช่วย อยากให้เรา ไปร่วม อยากให้ไป แหม.... ประชุมแล้วประชุมอีก โน่นๆ นี่ๆ อะไรอีก โอ้โฮ....เราประชุมของเราเองนี่ ก็จะตายอยู่แล้ว บางทีก็ไม่ทัน เราก็ไปไม่ได้ คุณลัดดาวัลย์ : วันก่อนฟังพ่อท่านพูดเกี่ยวกับเรื่องวิบากกรรมนะคะ แต่ก็มีข้อสงสัย อยู่ในใจว่า ในโลกสมัยใหม่นี้บางครั้ง วิบากกรรมนี่ คงจะเกิดจากความรู้สึก ผิดชอบชั่วดี ใช่ไหมฮะ ที่ทำให้ คนกระทำกัน ที่เกิดความรู้สึกผิดอยู่ในใจ แล้วถ้าโลกสมัยใหม่ บางทีเราก็ไม่รู้น่ะ เขาก็ไม่รู้ว่ามันผิดน่ะ บางทีเรื่องผิดกลายเป็นเรื่องถูก ถูกก็กลายเป็น เรื่องผิด มันจะเป็นวิบากกรรมได้ไหมคะ พ่อท่าน : เป็น กรรมเป็นของจริง ผิดกับถูกก็เป็นตามสัจจะที่มันตัดสินของมันเอง สัจจะมันตัดสิน สัจจะ เราไม่มีสิทธิ์ไปตัดสินในเรื่องสัจจะ สัจจะมันก็ต้องจริง ไม่ได้เบี้ยว มันจะลึกซึ้งขนาดไหน มันก็เป็นความลึกซึ้งของสัจจะของมันเอง เพราะฉะนั้น กรรมที่เราทำลงไปนี่ ถ้ามันผิด มันก็เป็น กรรมวิบาก ที่ผิดของคนนั้นจริง จะบอกว่าคุณไม่รู้ ไม่ได้ แม้แต่กฎหมายโลก กฎหมายประเทศ อยู่ในประเทศไทย คุณทำผิด แล้วคุณบอกว่า คุณไม่รู้กฎหมาย เขายอมคุณที่ไหนล่ะ แค่นี้ก็.... ถ้ายิ่ง วิบากแล้ว มันสัจจะเลย คุณทำแล้ว คุณบอกว่าไม่ใช่ของคุณ คุณไม่ผิด คุณไม่รับ ไม่ได้หรอก คุณลัดดาวัลย์ : โดยเฉพาะในโลกของธุรกิจนี่ พ่อท่าน : จะโลกของอะไรก็แล้วแต่ ถ้าเป็นกรรม เป็นการกระทำ ก็เป็นวิบากทันที คุณลัดดาวัลย์ : เขาก็จะเป็นกำไรโดยปกติ พ่อท่าน : กำไรในแนวคิดของทุนนิยมนั่นแหละ มันเป็นกรรม ที่ผิด คุณลัดดาวัลย์ : อย่างยกตัวอย่างเรื่องการคอรัปชั่นนี่ คอรัปชั่นกันจนกลายเป็นเรื่องปกติ พ่อท่าน : นั่นยิ่งผิดใหญ่ อย่าว่าแต่คอรัปชั่นเลย วิธีคิดของทุนนิยมนี่มันก็ผิดแล้ว มันเชิงเอาเปรียบ การได้เปรียบก็บาปแล้ว คุณลัดดาวัลย์ : เขาก็ไม่รู้สึกว่ามันผิด พ่อท่าน : นั่นแหละ เขาไม่รู้สึกว่ามันผิด เพราะเขาสอนกันมา บรรจุโปรแกรมนี้ไว้ตลอดเลย ไม่มีการแก้ เราถึงจะมาแก้โปรแกรมนี้กันอยู่ตอนนี้ เขาเชื่อว่าการเอาเกินทุนไปนี่ คือสามัญ ปกติ ไม่มีอะไรผิดเลย ที่จริงมันผิด ก็คิดง่ายๆว่า ถ้าเท่าทุนนี่ ไม่มีใครกำไร ไม่มีใครขาดทุน ใช่ไหม ไม่มีใครได้ ไม่มีใครเสีย ใช่ไหม นี่คือไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ ก็ไม่มีบาปไม่มีบุญ ทีนี้สมมุติว่าคุณไปเอาเกินทุนแล้ว คุณก็ได้เปรียบ คุณไม่ได้เปรียบ คุณไม่เอาเปรียบได้อย่างไร แต่ถ้าคุณไม่เอาเกินทุน คุณขายขาดทุน คุณเอาต่ำกว่าทุน คุณก็เสียเปรียบ คุณก็ได้เสียสละใช่ไหม นี่มันก็ชัดๆอย่างนี้ คุณลัดดาวัลย์ : ก็เขาคิดว่าเขาฉลาด พ่อท่าน : เออ....นั่นแหละ ฉลาดเอาเปรียบ คือตัว ตัวอำนาจหรือว่าตัวอยู่เบื้องหลังสำคัญ ตัวที่ชักนำ อยู่เบื้องหลังนี่ ก็คือตัวกิเลส ตัวเอาเปรียบเห็นแก่ตัว ตัวขี้โลภเห็นแก่ได้ เห็นแก่ตัวนั่นเอง มันเป็นตัว ทำให้คิดว่า มันเป็นปกติ มันไม่ได้ผิด นั้นเป็นตัวบงการ ข้างหลัง คุณลัดดาวัลย์ : ก็เลยไม่มีวิบาก พ่อท่าน : ไม่มี....ไม่ได้ วิบากทำแล้ว ไม่มีได้ไง ทำการเอาเปรียบแล้ว กรรมวิบาก คือตัวสัจจะ อันนี้ต้อง เข้าใจให้ดี เพราะฉะนั้นคนที่เชื่อกรรมเชื่อวิบาก กรรมที่ทำแล้ว มันเป็นของจริง แล้วเป็นของเราผู้ทำ เราบอกเราไม่รับ ตายข้ามชาติ มันก็จะต้องเป็น สมบัติของเราอยู่ ที่อาตมาพูดซ้ำพูดซากไม่รู้กี่ที คุณทำอะไร คุณทำชั่วก็เป็นชั่วของคุณ คุณทำดีก็เป็นดีของคุณ ไม่ใช่อาตมาพูดนะ พระพุทธเจ้า ตรัสรู้มา แล้วก็มาสอน ความจริงอันนี้ เพราะฉะนั้นคนที่เชื่อกรรมเชื่อวิบากแล้ว เขาก็ไม่ทำชั่ว ชีวิต เขารอด เขาเองเขาเสียสละได้อย่างนี้เขาก็รอดอยู่แล้ว เรื่องอะไรเขาจะต้องไปทำกรรมวิบาก ให้ไป เอาเปรียบ ให้มันเป็นบาป เป็นหนี้ให้แก่ตัวเขาเองไปอีกกี่ชาติต่อกี่ชาติ เขาก็เห็นจริง แล้วเขาก็เชื่อแล้ว แล้วเขาก็อยู่รอดแล้ว เขาเสียสละนี่เขาก็อยู่รอด เรื่องอะไร จะไปเอาเปรียบทำไมล่ะ ให้มันเป็น กรรมวิบาก เป็นทรัพย์แท้ของอัตภาพ ที่คุณจะต้อง ต่อไปอีกกี่ชาติก็ไม่รู้ แล้วเรื่องอะไร จะต้องไปทำ ให้ตนเอง คุณลัดดาวัลย์ : เรื่องสมณะหรือนักบวชหญิง ดูเหมือนว่าในความเห็นของพ่อท่าน ก็เห็นว่าผู้หญิง ควรจะบวช ในระดับสมณะหรือเปล่าคะ พ่อท่าน : ก็ไม่ถึงขั้นนั้น อาตมาเองอาตมาจำนนต่อสังคม เพราะสังคมประเทศไทย คุณคิดดูก็ได้ เรื่องผู้หญิงบวชเป็นพระเป็นสมณะ มันเป็นไม่ได้ อาตมาจะเสียเวลา ให้มันทำไมเล่า อาตมาก็เลี่ยง ทางออกว่า อาตมาให้เขามาได้แค่สิกขมาตุนี่ เขาจะปฏิบัติให้ถึงอรหันต์เขาก็เป็นได้ แค่นี้ก็เป็นได้ อยู่แล้ว อรหันต์ คุณจะต้องไป ตะกละ ตะกลามมาทำไม แล้วก็จะต้องเอาเวลาไปต่อสู้ ว่าจะต้อง เอาตรงนี้ให้ได้ ต้องเป็นภิกษุณีให้ได้ อาตมาทำอย่างนี้ เขาไม่เอาเรื่อง จนกระทั่งสุดท้ายนี่ แม้กระทั่ง ขึ้นศาลแล้ว เขาก็ยังปล่อยออกมาเลย อาตมาสบายใจ ก็สบายแล้ว สิกขมาตุของเรา ก็ลอยลำแล้ว ทุกวันนี้ แค่นี้ก็พอแล้ว แต่ถ้าใครจะมารณรงค์นี่ อาจารย์ฉัตรสุมาล จะต้องมาดิ้นรน เพื่อที่จะให้เกิด ภิกษุณี ก็เชิญเถอะ ดิ้นรนไป ทำไปเถอะ เป็นความต้องการ หรือว่าเป็นความปรารถนา อันยิ่งใหญ่ ของเขา ก็ทำไปสิ ถ้าได้ไปแล้ว ไม่เป็นปัญหาหรอก ถ้าเมืองไทยนี่มีภิกษุณีได้ ไม่แน่หรอก พวกเรา ก็ขอร่วมด้วย จะเอาเราไปบวชภิกษุณีเข้าอีกบ้างก็ได้ ไม่เห็นแปลกประหลาดอะไร แต่อาตมา ไม่มีเวลาพอ ที่จะมานั่งรณรงค์เพื่อต่อสู้เพียงแค่นี้ เพราะว่าถ้าจะให้โอกาสของผู้หญิง อาตมาก็ทำแล้ว ได้แล้ว อาตมาไม่มีเวลาพอที่จะทำมากกว่านี้ ก็ขอแค่นี้ก่อน คุณลัดดาวัลย์ : คือสิกขมาตุสามารถจะถือศีล พ่อท่าน : เป็นอรหันต์ได้ บรรลุได้ อย่างที่เป็นนี่ ทุกวันนี้นี่อาตมาทำให้สิกขมาตุเรานี่ มาปฏิบัติธรรม จนกระทั่งผู้ชายก็กราบก็ไหว้ได้ อย่างนี้แล้วนี่ คือเขาเองเขาก็รู้ตัวดี สิกขมาตุเขาก็รู้ตัวดี ทุกวันนี้ มันไม่มีปัญหาเลย สิกขมาตุทุกวันนี้อยู่ในฐานะที่ เอาเถอะ คุณทำให้มีคุณธรรมของคุณเอง แล้วเขา ก็ยอมรับของคุณเอง เราไม่ได้ไปบังคับใครเขา ใครไม่อยากกราบไม่อยากไหว้ เราก็ไม่มีปัญหาอะไร ถ้าใครจะยอมรับ เออ..เขายอมรับ ก็รับไป ทางปฏิบัติของตัวสิกขมาตุเอง ก็สามารถที่จะเดินทางบรรลุ ถึงสุดยอดได้ ก็พอแล้ว คุณลัดดาวัลย์ : มันก็เป็นเพียงการสมมุติ พ่อท่าน : ใช่ๆ ก็เขาอยู่ในศีลในธรรมนี่ ก็ปฏิบัติ ไม่ต้องมาสะสม ไม่ต้องมาโลภโมโทสัน ไม่ต้องมีเงิน มีทองเลย สิกขมาตุเราศีล ๑๐ แท้ๆ ว่าก็ว่าเถอะแม้แต่พระทางข้างนอก สิกขมาตุเรายังเป็นได้ สิกขมาตุเราก็อยู่ของเราไป ก็เคร่งในศีล ลดละไป อัตตา กิเลสกาม กิเลสอัตตา อะไรก็ว่าไป ก็เดินทาง เข้าไปเอง อุปาทาน ตัณหา วิภวตัณหา ให้จบ ก็เป็นอรหันต์ไป คุณลัดดาวัลย์ : เพียงแต่ว่าพอเรามองว่า ถ้าได้มี คือบางทีรูปแบบมันก็สำคัญ ก็จะช่วย พ่อท่าน : ใช่ แต่อาตมาบอกแล้วว่าอาตมาไม่มีเวลาพอ ไม่คิดว่าอาตมาจะทำสำเร็จ ในชาตินี้ เพราะฉะนั้น อาตมาจึงขอบายเรื่องนี้ อาตมาหาทางเลี่ยงมาแล้วก็ทำแค่นี้ อาตมามี พุทธบริษัทสี่แล้ว ทุกวันนี้ อาตมารู้ อาตมารู้ว่าเราเองนี่ อโศกนี่มีพุทธบริษัทสี่แล้ว เรื่องชาวบ้าน เขาจะอธิบายอย่างไร เรื่องของเขา อาตมาไม่มีปัญหาเลย คุณลัดดาวัลย์ : ขอบพระคุณที่ให้ความกระจ่าง ปิดท้ายบันทึกฯฉบับนี้ขอจบด้วยโอวาทปิดประชุมพาณิชย์บุญนิยม ๑ พ.ย. ๒๕๔๗ ที่โบสถ์สันติอโศก ถ้อยคำที่พ่อท่านกล่าวดังนี้ "พาณิชย์บุญนิยมที่เราทำกันอยู่ทุกวันนี้ขึ้นอยู่ที่จิต เป็นสิ่งที่เราต้องศึกษา ทำอย่างไร ที่จะทำให้เรา อยู่รอด เราต้องละเอียดรอบคอบมากกว่าเขา คิดมากกว่าเขา บุญนิยมกับทุนนิยมแตกต่างกันแน่นอน ตลาดหุ้น คือวิธีคิดของนักคิดที่จะเอาเปรียบกัน ของผู้ที่มีอำนาจ ทางการเงิน ผู้ยึดอำนาจทางการเงิน ในตลาดหุ้นได้ คนนั้นได้เปรียบ อยู่ตลอดเวลา กลายเป็นนายทุนใหญ่ ทางโลกไม่มีความจริงใจ ของเรา ต้องจริงใจ อย่ามาทะเลาะวิวาทกันในเรื่องแนวคิดเท่านั้น มันเป็นทิฏฐุปาทาน เป็นอรูปอัตตา เท่านั้นเอง ทำให้ชัดแล้วก็จบ แล้วก็ช่วยกันทำ อยู่รอดแล้วก็จบ สังคมบุญนิยมจะไปไกลเพราะเป็นเรื่องของคุณธรรมและมีความเป็นจริง แต่ภาคปฏิบัติ ต้องลด ความเห็นแก่ตัว ลดละกิเลสให้ได้ เราจะไปกำหนดให้คนเป็นพระอรหันต์หมด เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ความไม่เที่ยงความไม่แน่นอนก็ยังเกิดอยู่ ถามพวกเราว่าคุณจริงไหม ถ้าเราทำใจได้ว่า นี่คือการเสียสละก็จบ แต่ทางโลก ไม่คิดเสียสละ คิดแต่ทางได้ เอาเปรียบ กักตุน เราไม่สอนให้กักตุน เป้าหมายของเรา สุดยอดก็คือสูญ ใครไปถึงสูญได้สนิทแล้วคืออรหันต์ ทุนนิยมทุกข์ทรมาน โลกทั้งโลก ถูกผลาญพร่า ทำลาย มีผลกระทบถึงโลกทั้งโลกเลย ทรัพยากรในโลก มีมากพอ ที่จะให้ทุกคนกินใช้ แต่ไม่มากพอเลยที่จะให้คนคนเดียวที่โลภไปเป็นของตัวเอง สรุป ชีวิตเกิดมาจะเอาอะไร อะไรคือคุณค่า ถ้าคุณไม่เอาอะไรเป็นของตัวเอง แต่เป็นคนมักน้อย มีพลังงานสร้างสรร ไม่กักตุน ถ้าทำได้เท่านี้โลกไปรอดแน่ โลกทั้งโลก ก็จะอุดมสมบูรณ์ เป็นสุดยอด ของแนวคิดมนุษย์โลกแล้ว เราต้องพยายามทำให้ได้ เข้าใจสิ่งที่ดีที่สุด บุญนิยมไม่ทำลายโลก ไม่ทำลายสังคม ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน เมื่อเห็นจริง เข้าใจจริง มาช่วยกันสร้าง เพื่อพิสูจน์ความจริง ให้กับสังคม การพาณิชย์ ธุรกิจ จะเป็นตัวบ่งชี้ ที่เป็นรูปธรรมให้เห็นได้ดีกว่า เราจำเป็นจะต้องเข้ม-แข็ง เคี่ยวข้น ขึ้นมา จริงๆ จังๆ ให้ได้" - รักข์ราม. - |