ต่อจากฉบับที่แล้ว


วิจัยสุขภาวะทางจิตวิญญาณ (ต่อ)

ผศ : แล้วอย่างที่บอกว่าคนนี้มีจิตบริสุทธิ์นี่นะครับ แล้วเขาจะมีลักษณะอะไร พฤติกรรมอะไร ที่แสดงให้เห็น

พ่อท่าน : อ๋อ....ถ้าจิตบริสุทธิ์ก็คือจิตที่ไม่แสดงอาการโลภ โกรธ หลง ไง เอาภาษาง่ายๆ ถ้าแสดง เราก็พอรู้นี่ว่า นี้มันโลภ นี้มันโกรธ นี้มันหลง แต่บางทีก็ยากเหมือนกันนา เพราะว่าบางที ลักษณะอย่างนี้แสดงออกนี่เหมือนโกรธ แต่ความจริงไม่โกรธ เสียงดุว่าอย่างนี้ แต่ไม่ได้โกรธหรอก แต่ต้องดุต้องทำกรรมอย่างนี้เพื่อกำราบ เพื่อที่จะให้คนๆนี้นี่เขาเปลี่ยนแปลงเพื่อประโยชน์ของเขา ที่ทำเป็นดุอย่างนี้ แล้วจะบอกว่าท่านโกรธ ก็อย่าเพิ่งไปถือเอาอย่างนั้น เพราะยังตัดสินไม่ได้ หรือว่าท่านทำอย่างนี้ ท่านบอก เออ....เอา-เอา เอาอันนี้ ดูตามกิริยาตื้นๆว่า เหมือนแสดงความอยากได้ สิ่งนั้นสิ่งนี้ เพียงแค่เห็นกิริยาภายนอก แล้วจะบอกว่าไอ้นี่โลภ....นี่ยังมีความโลภ มันก็ตีความง่ายๆ อย่างนั้นไม่ได้ จะไปตัดสินว่านี่คือคนโลภ อาจจะไม่ใช่ก็ได้ ที่ท่านทำอย่างนั้นท่านไม่ได้โลภ แต่ต้องทำงาน ต้องพูดอย่างนั้น ต้องทำอย่างนั้น เพื่องานส่วนรวม เพื่ออาศัยเหตุปัจจัยที่จะต้องทำงาน ที่จะต้องใช้ อะไรต่ออะไร เพราะฉะนั้นการที่จะไปอ่านว่าคนโลภ คนโกรธ แต่จริงๆแล้ว ท่านต้องทำ อย่างนั้นเพียงทำงานเพื่อหมู่ ไม่ใช่โลภ ไม่ได้เห็นแก่ตัว ความจริงในใจเป็นเรื่องรู้ยาก ถ้าคนสะอาดแล้ว เขาไม่ทำ พฤติกรรมแบบนี้เขาไม่ทำ เอามาก็เพื่อประโยชน์ส่วนรวม เพื่อประโยชน์ที่จะเป็นประโยชน์ อะไรที่ควรทำ โดยเฉพาะกับตัวกับตน กับตัวเราเอง ไม่ทำ เพื่อบำเรอตัวเองนี่ไม่ทำ ถ้าคบคุ้นกัน อยู่ด้วยกันไป อะไรนี่ จะดูได้ จะดูได้ว่า มันจะไม่เป็น ถ้าคนที่ไม่มีแล้ว สะอาดแล้วก็จะไม่เป็น แม้กิริยากายวาจา เหมือนโลภเหมือนโกรธก็ตาม

ผศ : พฤติกรรมของคนที่มีจิตสะอาดนี่ กับคนที่มีปัญญานี่ ต่างกันอย่างไง

พ่อท่าน : คนจิตสะอาดกับคนมีปัญญาก็ต้องเป็นคนคนเดียวกัน พฤติกรรมของจิตสะอาดก็อันหนึ่ง ปัญญาก็อีกอันหนึ่ง แต่ถ้าเราบอกว่าจิตสะอาดก็คือจิตปราศจากกิเลส บอกว่าปัญญาก็คือธาตุรู้ ที่รู้ว่าจิตปราศจากกิเลส คนจิตสะอาดก็ต้องมีปัญญา เพราะต้องรู้จิตที่สะอาดของตน แต่ถ้าจะ หมายความว่า ปัญญาคือความเฉลียวฉลาดโดยทั่วๆไป คนมีจิตสะอาดกับคนเฉลียวฉลาด ก็ต่างกันแน่ เพราะความเฉลียวฉลาดแบบโลกไม่เกี่ยวกับความเป็นจิตสะอาดเลย แถมคนฉลาด แบบโลกนั้นจะเป็นคนมีกิเลสที่มีพฤติกรรมขี้โลภขี้โกรธขี้หลงเอาด้วยน่ะนา

ผศ : แต่ว่าคนที่จะใช้ปัญญามาควบคุมจิตนี่ แล้วนำไปสู่การแสดงพฤติกรรมของคนคนนั้นนี่ มันน่าจะเป็นพฤติกรรมที่เหมือนกันใช่ไหม

พ่อท่าน : ใช่ ถ้าเข้าใจคำว่าปัญญา มันจะไปด้วยกัน มันทูอินวัน จิต ปัญญา พอจิตสะอาด ปัญญาก็มี ปัญญาที่ชาญฉลาดแบบสะอาด ดี เป็นกุศล เป็นประโยชน์ เป็นคุณค่า ไม่ได้เห็นแก่ตัว แม้แต่เพื่อตัว เพื่อตน เพราะจิตที่สะอาดแล้วนี่ ของตนเองมันไม่มีความดื้อด้าน มันจะอ่อนโยน มันไม่ต่างกัน จิตวิญญาณนี่เหมือนกันกับต้นกล ส่วนปัญญานั่นเหมือนกับต้นหน เหมือนกับกัปตัน ส่วนจิต เหมือนกับ ต้นกล อยู่ข้างใต้ห้องเครื่อง ไม่รู้เรื่องอะไรเท่าไหร่หรอก กัปตันจะสั่งว่าอย่างไงก็ว่ากันไป ต้นกลมีหน้าที่สนอง ต้นกลก็สนองต้นหน ซึ่งไปด้วยกัน จะขาดอันหนึ่งอันใดก็ไม่ได้ มีแต่ต้นหน ไม่มีพลังเลย ไม่มีต้นกลเลย ก็ทำงานไปไหนไม่ถูก แต่ถ้าเป็นปัญญาที่หมายถึง ความเฉลียวฉลาด ทั่วๆไป ก็ไม่เกี่ยวกับจิตสะอาด ดังนั้นปัญญาที่เฉลียวฉลาดแบบนั้น จึงควบคุมจิตไม่ได้ กิเลสต่างหาก ที่มันเก่งควบคุมจิตคนยิ่งกว่าความเฉลียวฉลาด คนฉลาดถึงได้ทำชั่วกันเต็มบ้านเต็มเมือง โกงอย่าง ไม่มีใครรู้ทัน ไม่มีใครจับได้ บ้านเมืองเลวร้ายก็เพราะความฉลาดของคนที่มีกิเลสนั่นแหละ ความฉลาด ของคนที่จิตไม่สะอาดจะทำหน้าที่ช่วยกิเลสของตนอย่างเป็นปี่เป็นขลุ่ย เพิ่มความเลวร้าย ยิ่งขึ้นด้วยซ้ำ

ผศ : มีอยู่ท่านหนึ่งที่ผมไปพูดคุยด้วยนี่ ท่านจะบอกว่า เวลานอนนี่อย่าไปหลงกับจิตที่สะอาด พอเข้าไปเจอจิตที่สะอาดก็จะรู้สึกลุ่มหลง อิ่มเอิบ

พ่อท่าน : จิตสะอาดที่ว่านั้น คือจิตที่ทำฌานละมัง ทำฌานทำสมาธิแบบฤๅษี อาฬารดาบส อุทกดาบส พอเป็นฌานเป็นสมาธิจิตก็ว่างก็สะอาด แล้วก็อิ่มเอิบ ก็ติด ใช่ อันนั้นก็ถูก แล้วถ้าติด มันก็จะขี้เกียจ มันก็จะเสพ สบาย เบา ว่าง อย่างนั้นแหละ เป็นคนที่ไร้ค่า เป็นคนไร้ประโยชน์ไปเลย เป็นคนติด ติดภพ ติดรูปฌาน อรูปฌาน ติดรูปภพ อรูปภพ นั่นแหละ ติดฌาน ๔ ฌาน ๗ ฌาน ๘ อะไรนั่นแหละ ก็ติดอย่างนั้นแหละ ว่างเบา แล้วหลงว่าจิตสะอาด ที่จริงยังไม่ใช่จิตสะอาด นั่นเรียกว่า จิตที่มีอาการว่าง อาการอุเบกขานี่ของฌาน ๔ คือจิตสงบด้วยฤทธิ์ของการสะกดจิต ชนิดทำฌาน แบบฤาษี ถ้าสูงขึ้นไปของฌาน ๔ ก็เป็นอากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ หรือ อากิญจัญญายตนะ หรือว่าเนวสัญญานาสัญญายตนะ ก็ตาม ก็เป็นความว่างที่มันว่างยิ่งขึ้น เท่านั้นเอง อธิบายง่ายๆ จะอธิบายลักษณะละเอียดอาตมาก็อธิบายได้ แต่ว่าเอาละ..มันจะเสียเวลา มันก็ว่าง มันก็ว่างจริงๆ ใครที่ปฏิบัติแล้ว ได้พิสูจน์แล้ว ก็จะเห็นจริงว่าโอ....มันก็เท่านั้นเอง มันก็อย่างนั้นแหละ แล้วมันก็จะเสีย ตามที่เขาคนนั้นพูด ก็ดีแล้วล่ะ ถ้าใครไปหลงพวกนี้ ซึ่งมีเยอะ พวกฤๅษีชีไพร พวกอะไร พวกที่นั่งสมาธิ ติดอยู่ตรงนั้นแหละ แต่ไร้ค่า แล้วมันก็ไม่ได้ฆ่ากิเลส ไอ้นี่ไม่ใช่วิธีฆ่ากิเลส พระพุทธเจ้าแรกๆไปพบอาฬารดาบส-อุทกดาบส ก็ไปนั่งสมาธินี่แหละ ฌาน ๗ ฌาน ๘ ไม่ใช่ฌาน ๔ นะ ฌาน ๗ ฌาน ๘ ทีเดียว พระพุทธเจ้าก็บอกไอ้นี่ไม่ใช่ทาง ท่านเรียนกับ อุทกดาบส-อาฬารดาบส จนทำได้แล้ว แล้วท่านก็บอกว่า นี่ไม่ใช่ทางบรรลุธรรม ไม่ใช่ทาง ที่จะล้างกิเลส มันเป็นฐานสุขวิหารธรรม มันเป็นฐานพัก พักผ่อนสบายๆ เบา แล้วติด ติดเอาหนัก เอาหนาด้วยนา ก็มันสบาย มันไม่วุ่นวาย มันสบาย เพราะฉะนั้นพวกสายนั่งหลับตาสมาธิพวกนี้เป็นไง จะไม่ขวนขวาย จะไม่ขยัน จะไม่ค่อยทำประโยชน์อะไร ทำประโยชน์กับสังคมอย่างมีประสิทธิภาพไม่ได้ ทำได้นิดๆหน่อยๆ ทำได้ไปอย่างนั้นแหละ ถ้าตัวเองยังติดสรรเสริญอยู่บ้าง ก็จะทำเพื่อสรรเสริญบ้าง เท่านั้นเอง

ผศ : ตอนนี้วิกฤติของทางจิตวิญญาณนี่ พ่อท่านไม่ทราบคิดอย่างไงครับ มันเป็นวิกฤติขนาดไหน

พ่อท่าน : วิกฤติมาก ตอนนี้เข้าใจผิดเข้าใจเพี้ยนไปเยอะในศาสนาพุทธ อาตมาพูดไปแล้ว คนเขา ก็จะหาว่าอาตมานี่ยกตัวยกตน อวดตัวอวดตน ไปเที่ยวได้บอกคนอื่นผิดหมด ตัวเองถูกอยู่คนเดียว อะไรอย่างนี้ เขาก็จะว่าอย่างนั้น ซึ่งอาตมาก็เข้าใจแหละ อาตมาก็ไม่มีปัญหาอะไรหรอก เขาจะว่า เขาจะเข้าใจอย่างไงก็ได้ แต่มันน่าสงสารที่เขาเข้าใจผิดเพี้ยน เข้าใจธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่สมบูรณ์ ไม่เป็นสัมมาทิฐิ ไม่ถูกถ้วน ไม่สัมมาไม่ถูกถ้วน ถูกบ้างบางส่วน ดีไม่ดีก็ขัดแย้งกันเอง ขัดแย้งในตัวเอง อะไรต่างๆนานา อย่างนี้มันก็เลยไปไม่รอด ไปไม่ได้ ไปไม่ไกล ไม่ต้องเอาอะไรหรอก แต่แค่คำว่า "สมาธิ" นี่คำเดียว ในศาสนาพุทธเมืองไทยนี่ก็ไม่สัมมาทิฏฐิแล้ว ยังเข้าใจสมาธิว่า สมาธิแบบพุทธก็เป็น อย่างเดียวกันกับ สมาธิทั่วไปแบบฤาษีดาบสเก่าแก่กันทั้งนั้น ไม่ได้เข้าใจว่าแบบ "สัมมาสมาธิ" ของพระพุทธเจ้า "สัมมาสมาธิ"ของพระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ชัดเจนในพระไตรปิฎก เล่ม ๑๔ มหาจัตตารีสกสูตร ข้อ ๒๕๒ ถึงข้อ ๒๘๑ นี่ ท่านตรัสยืนยันว่าสัมมาสมาธินั้นเป็น อริโย สัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิของพระอาริยะ หรือสัมมาสมาธิอันประเสริฐ ซึ่งต่างกันกับสมาธิฤๅษี ที่มีมาเก่าก่อน พระพุทธเจ้า เกิดมาก็มีแล้วสมาธิแบบนั้น เดี๋ยวนี้มันก็ยังมีอยู่ แต่"สัมมาสมาธิ" ของพระพุทธเจ้านี้ ผู้ปฏิบัติต้องเข้าใจเป็นสัมมาทิฏฐิ เพราะเป็นสมาธิที่ปฏิบัติขณะมีชีวิตปกติลืมตา ทำงานทำการ อยู่อย่างสามัญ เป็นสมาธิที่ทำได้แล้วยั่งยืน ไม่ต้องไปทำเอาอีก ได้แล้วได้เลย ถ้าทำได้แล้ว ก็เป็นตถตา เป็นได้เองอัตโนมัติ เป็นอย่างนั้นเอง ไม่ต้องไปตั้งท่าหรือตั้งใจปฏิบัติอีกแล้ว เป็นแล้วเป็นเช่นนั้นเอง เลยเรียกว่าตถตา คำว่า"ตถตา"นี่อาตมาก็ไม่แปลเหมือนคนอื่นๆแปล เหมือนอย่างกับท่านพุทธทาส ท่านแปล ท่านพุทธทาสแปลตถตาว่า เป็นเช่นนั้นเอง แต่ท่านอธิบายความหมายไปอีกอย่างหนึ่ง ไม่เหมือนที่อาตมาอธิบาย เป็นเช่นนั้นเองของอาตมานั้น มันคือสภาพของจิตที่ได้ฝึกอย่างสมบูรณ์แล้ว เป็นความจริงได้สมบูรณ์แล้ว จบแล้ว จนเป็นได้เองแล้ว ไม่ต้องทำเอาอีกแล้ว เป็นได้อย่างอัตโนมัติแล้ว เป็นเช่นนั้นเองได้เองแล้ว ตถ ตถตานี่ คือ ความจริง อย่างพระพุทธเจ้านี่ สมบูรณ์เป็น"ตถาคต"เลย โอ่โฮ....อย่างไงก็เป็นไปอย่างงั้น ของพระพุทธเจ้าไม่มีที่ติเลย สมบูรณ์ที่สุด ตถตานี่ก็คืออันเดียวกัน นี่แหละ แต่ว่ามันยังสมบูรณ์ไม่เท่าตถาคต ตถาคโตของพระพุทธเจ้านั้นเป็นไปอย่างนั้นตลอดทุกอย่าง ใครไปปฏิบัติจนสภาพของจิตมันเป็นอย่างนั้นได้ จริงเองอย่างนั้นแล้วนี่ มันก็สมบูรณ์ มันไม่เปลี่ยนแปลง แล้วมันก็ไม่มีใครมาลบล้างหรอก มันก็ไม่มีใครทำอะไรได้ แล้วเราก็ไม่ยาก ไม่หนัก มันเป็นของมันเองง่ายๆ มันเป็นอย่างนั้นแหละ ไม่ทำมันก็เป็นน่ะ นี่คือ สัมมาสมาธิ ที่มีความตั้งมั่น ชนิดที่เรียกว่า ตถตา ซึ่งมีคุณภาพเที่ยงแท้หรือนิจจัง มั่นคงหรือธุวัง ยั่งยืนหรือสัสสตัง ไม่แปรเปลี่ยน เป็นอื่นหรืออวิปริณามธัมมัง ไม่มีอะไรมาหักล้างได้หรืออสังหิรัง ไม่กลับกำเริบแล้ว ได้แล้วได้เลย หรือ อสังกุปปัง ถ้าไม่ใช่สัมมาสมาธิ ก็จะไม่มีคุณภาพอย่างว่านี้ ทุกวันนี้ไม่เข้าใจ"สัมมาสมาธิ" กันแล้ว เข้าใจสมาธิของพระพุทธเจ้าผิด มิจฉาทิฏฐิซึ่งก็เพราะเข้าใจมิติทางกายทางจิตทางสังคม หรือ ทางจิตวิญญาณ ผิดนั่นเอง

ผศ : แล้วมันจะรุนแรงมากขึ้นไหมครับ ไอ้ความเข้าใจผิดเรื่องจิตวิญญาณของเรานี่

พ่อท่าน : มันรุนแรงขึ้นทุกวัน ออกนอกรีตไปเรื่อย แม้แต่คำว่าสมาธินี่ก็เข้าใจผิดกันอย่างที่ว่านี่ ไม่ปฏิบัติสมาธิที่เป็นสัมมาสมาธิอันเกิดจากการปฏิบัติ"มรรค ๗ องค์"ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน แต่ไปปฏิบัติสมาธิที่นั่งสะกดจิตแบบฤาษีดาบสแล้วหลงผิดว่าเป็นสมาธิแบบพุทธ แล้วก็มีวิธีปฏิบัติ แปลกๆต่างๆออกไป อาจารย์ต่างๆงัดวิธีการขึ้นมา โอ้โฮ....มากมายเลย วิธีที่จะทำให้เกิดสมาธิในยุคนี้

ผศ : จะแก้อย่างไงครับ

พ่อท่าน : แก้ไม่ได้หรอก ถ้าเผื่อว่าเขาเองเขาไม่ใส่ใจ พวกเขาเขาไม่ใส่ใจศึกษา จะแก้ได้ก็คือ ต้องมีคนเอาของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติพิสูจน์ อาตมาก็พยายามจะพิสูจน์ พิสูจน์ว่าอันนี้น่ะถูกต้อง ส่วนอันนี้ไม่จริง ไม่ตรงตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ใครเข้าใจอย่างไรเชื่อมั่นแบบไหน ต่างก็ปฏิบัติ พิสูจน์กันไป ตอนนี้เรายังดีที่มีพระไตรปิฎก พระไตรปิฎกเถรวาทนี่ยังสมบูรณ์มาก แต่ผู้ศึกษาตีความ กันไปต่างกัน

ผศ.: พระไตรปิฎกนี่ แบบว่าแต่ละประเทศนี่ ก็แตกต่างกันไหมฮะ อินเดีย ญี่ปุ่น

พ่อท่าน : แตกต่างกันก็ไม่เป็นไร แต่มันมีความสอดคล้องกันในเนื้อหาหลัก เนื้อธรรมเนื้อแท้เป็น อเทวนิยม เป็นโลกุตระ ที่ลังกาจะมีรายละเอียดผิดแผกแตกต่างกันไปบ้าง ถึงอย่างนั้นก็ตาม พระไตรปิฎก ๔๕ เล่มของไทยที่ใช้อยู่นี่ ก็ไม่ได้หมายความว่าบันทึกคำสอนมาครบทั้งหมด ของเขา มีมากกว่านี้ มุมอื่นที่ถูกต้องกว่านี้ก็มี ของมหายานเขามีอีกเยอะมาก แต่ว่าเขามีทั้งของอาจารย์รุ่นหลัง ผสมด้วยเลยเป็นอาจริยวาท มันมีของอาจารย์ต่างๆผสมผเสเข้าไปเยอะ เพราะฉะนั้นเราจึงต้อง พยายามเลือกเอามาให้มันเป็นคำตรัสคำสอนของพระพุทธเจ้าแท้ๆ อย่างมากก็ของพระเถระรุ่นต้น จึงเรียกว่าเถรวาท ถึงขนาดนั้นก็ยังมีคำสอนของอาจารย์อื่นๆผสมเข้ามาอยู่บ้างเลย แต่มันก็ยังดีอยู่ มันเป็นของระดับต้น ระดับที่หนึ่ง มันก็ยังไม่เลอะเทอะนัก แต่มันก็หนักไปในทางป่าหน่อยหนึ่ง เพราะว่าผู้สังคายนาพระไตรปิฎกของเถรวาท ๔๕ เล่มนี่ ประธานคือ พระมหากัสสปะ และ พระมหากัสสปะ นี่จะชอบป่า เอียงไปข้างป่า ทั้งๆที่ศาสนาพุทธนี่ไม่ใช่ศาสนาป่า ศาสนาพุทธ เป็นศาสนาเมือง เป็นศาสนาสังคม แต่พระมหากัสสปะผู้เป็นประธาน และบริวารของท่าน ที่มาช่วยกัน รวบรวมพระไตรปิฎกนี่ มีจริตไปข้างพระป่า พระไตรปิฎกเถรวาทนี้จึงหนักไปด้วยภาษาที่ยินดีป่า และเรื่องราวของคำสอนที่เอียงมาเชิงพระป่ามากหน่อย อันนี้อาตมาก็กำลังวิเคราะห์สู่กันฟังอยู่ เพราะฉะนั้นเมื่อเอียงไปข้างป่าตั้งแต่เริ่มต้น มาถึงวันนี้จึงเฉไฉออกไปเป็นพระป่าซะหนัก ทุกวันนี้ ถ้าบอกว่าพระปฏิบัติต้องออกป่า ชาวพุทธในเมืองไทยนี่เขาถือว่าอย่างนั้น ถ้าพระปฏิบัติอยู่ในเมืองนี่ ไม่ใช่พระปฏิบัติหรอก พระในเมืองไม่ถือว่าเป็นพระปฏิบัติ แม้แต่พระในเมืองเองก็ยังสมยอมว่า ใช่ พระปฏิบัติต้องไปเป็นพระป่า เป็นพระกรรมฐาน ต้องเป็นพระธุดงค์ จึงจะเรียกว่าพระปฏิบัติ จนปฏิบัติ มรรคองค์ ๘ ไม่เป็นกันแล้ว เพราะฉะนั้นสมาธิก็เลยเป็นสมาธิต้องหนีไปนั่งหลับตา ไม่ใช่สมาธิ อันเกิดจาก การปฏิบัติในการดำรินึกคิด ในขณะมีวาจา ในขณะมีกัมมันตะ ในขณะมีอาชีวะ จึงจะก่อเกิดเป็นสัมมาสมาธิ หรือแม้แต่คำว่านิพพาน คำว่าวิปัสสนา ความหมายมันแตกต่างกัน ไปหมด คำว่าวิปัสสนาก็อู้ฮู....หลายอาจารย์บรรยายไปคนละแคว หรือแม้แต่วิชชา ๘ วิชชาจรณะสัมปันโน วิชชา ๘ ประการนี่ในเมืองไทยก็ไปเรียนตามพระพุทธโฆษาจารย์ บอกว่าวิชชา ๘ เป็นวิชาพิเศษ พระอรหันต์จะมีก็ได้ ไม่มีก็ได้ ซึ่งผิดเลย ผิดถนัด เพราะพระอรหันต์ต้องมีวิชชา ๘ เป็นอนุสาสนีปาฏิหาริย์ เป็นสัมมาญาณ-สัมมาวิมุติ หากใครไม่มีวิชชา ๘ เป็นพระอรหันต์ไม่ได้ ไม่สามารถรู้แจ้งเห็นจริง ไม่เป็นปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ เพราะวิชชา ๘ นั้นคือ วิชชาที่มันล้าง อวิชชา ถ้าไม่มีวิชชาแล้ว อวิชชามันจะหมดได้อย่างไร นี่เอาง่ายๆ เอาเหตุผลตรรกะธรรมดา ก็พิสูจน์ ยืนยันได้แล้ว มันต้องมีวิชชา มีวิปัสสนาญาณ เป็นวิชชาที่มีครบ วิปัสสนาญาณคือวิชชาที่รู้แจ้ง เห็นจริง ปัสสะนี่แปลว่าเห็นจริง ต้องเห็นความจริง เห็นกิเลส รู้จักกิเลส พอลดกิเลสได้ก็เป็นมโนมยิทธิ นี่เป็นวิชชาข้อที่สอง มโนมยิทธินี่ จิตที่สำเร็จด้วยฤทธิ์ ฤทธิ์อะไร ฤทธิ์ที่ฆ่ากิเลสให้หมดไปได้ ลด ละ จาง คลาย หรือดับได้ แล้วก็มีอิทธิวิธี ก็คือมีฤทธิ์ที่เป็นวิธีต่างๆเสริมช่วยอีกจนครบวิชชา ๘ หลากหลายนัย สามารถมากมายเพิ่มขึ้น มีโสตทิพย์หรือทิพยโสต เป็นความรู้ที่เก่งเชี่ยวชาญขึ้น รู้จักกิเลสได้ละเอียดขึ้น แม้สัมผัสเล็กน้อย เป็นความรู้ที่ละเอียดลออขึ้นไปอีก แม้แต่นิดๆหน่อยๆ ก็รู้ได้เร็ว รู้ได้มาก รู้ได้ลึก เหมือนได้ยินเสียงจากทางไกล ก็จะรู้ได้ว่า อ๋อ....นี่คือเสียงอะไร ก็สามารถ แยกแยะได้เก่ง ว่าอย่างไหนคือเสียงสามัญ อย่างไหนคือเสียงที่ผิดแผกแตกต่าง ท่านเปรียบเหมือน คนได้ยินเสียงแม้ไกลก็แยกได้ว่า อย่างนี้เป็นเสียงเปิงมาง นี้เป็นเสียงตะโพน นี้เป็นเสียงกลอง สามารถรู้ละเอียดได้ มีความเฉลียวฉลาดเก่งในธาตุรู้ หรือมีธาตุวิปัสสนาญาณสูงส่งขึ้นไปเรื่อยๆ มีเจโตปริยญาณสามารถที่จะรู้ความจริงของจิตเลยว่า อันนี้ประกอบด้วยโลภะ อันนี้ประกอบด้วยโทสะ นี้โมหะ เมื่อปฏิบัติได้ผลก็จะมีวีตราคะ วีตะโทสะ วีตะโมหะอย่างนี้เป็นต้น ไล่เรียงไปเรื่อยๆ จนกระทั่ง เจโตปริยญาณนี่มันมีตั้ง ๑๖ นัยะ เหมือนกับมาตรวัด มาตรวัดว่าเรานี่ภูมิขั้นไหน จิตของเรานี่สามารถ เป็น วิมุติหรือยัง เป็นอนุตตรังจิตตังหรือยัง เป็นจิตที่เหนือจิตอื่นแล้ว สุดยอดแล้ว สมบูรณ์แล้วหรือยัง สมบูรณ์เสร็จจบหรือยัง เป็นกตญาณ มีญาณรู้ มีวิปัสสนาญาณนี่แหละคือญาณรู้ รู้ว่าเสร็จกิจแล้ว เราก็ต้องมีวิชชาหรือญาณรู้ของตน สูงสุดเป็นอนุตตรจิต เพราะว่าแข็งแรงไปด้วยวิมุติ แข็งแรงไปด้วย สมาธิ สมาหิตะ นี่คือเจโตปริญญาณ ๑๖ อย่างนี้เป็นต้น เราก็ทบทวน ปุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ ต้องทบทวนด้วยเตวิชโช วิชชาอีก ๓ นี่ต้องมีเสมอ ทบทวน ตรวจสอบ เสมอเป็นการลงบัญชี เป็นการทำบัญชีของคุณธรรมหรือคุณภาพของธรรมะที่ตัวเองปฏิบัติได้ ต้องตรวจสอบ วันนี้ได้เท่าไร เดือนที่แล้วได้เท่าไร ปีที่แล้วได้เท่าไร สามปีห้าปีที่แล้วได้เท่าไร ตอนนี้เป็น โสดาฯ ตอนนี้เป็นสกิทาฯ ตอนนี้เป็นอนาคาฯ ต้องตรวจความจริง จุตูปปาตญาณ ต้องรู้ว่าอะไรเกิด อะไรดับ กิเลสมันเกิด ตอนนี้กิเลสมันจางคลาย แต่ก่อนมันร้อยนึง เดี๋ยวนี้มันเหลือห้าสิบ ตอนนี้ มันเหลือยี่สิบ ตอนนี้มันดับแล้ว ตอนนี้ดับ ดับสนิทเลย ไม่มีโผล่ ตายสนิท แน่แล้วมั่นคงแล้วเป็น กตญาณ งบดุลปิดตาย ต้องอย่างนี้

จุตูปปาตญาณ นั้นคือปัญญาหยั่งรู้จิตที่เกิดที่ดับอย่างรู้แจ้งเห็นจริง จริงๆก็คือรู้เห็นกิเลส ดับ เห็นจิต อาริยะเกิด ความเกิดดับก็ต้องอ่านตรงนี้เกิด-ดับ คือกิเลสเกิดอยู่ หรือกิเลสดับ กิเลสตาย อันนี้สำคัญ เพราะฉะนั้นดับแม้กระทั่งอาสวะ....ก็ต้องเห็นว่าอาสวะคืออะไร ต้องแยกออก กิเลสหยาบ กิเลสกลาง กิเลสละเอียด อาสวะหรืออนุสัย วีติกกมกิเลส ปริยุฏฐานกิเลส อนุสัยกิเลส ต้องรู้ชัดเจน ไม่ใช่เดา เริ่มต้นเป็นพระโสดาบันก็ต้องมีญาณ ๗ ตรวจตนเอง เมื่อทำให้กิเลสตัวเองลดลง กระทั่งดับสนิท ก็ต้องรู้ชัดเจน จึงจะเป็นรู้แจ้งเห็นจริง ไม่ใช่โมเม ศาสนาพุทธไม่ใช่โมเม ไม่ใช่งมงาย ต้องรู้แจ้งเห็นจริง ชัดเจน รู้จักรู้แจ้งเห็นจริง ต้องคม ต้องชัด ต้องลึก ต้องแน่น ทั้งคม ทั้งชัด ทั้งลึก ทั้งแน่น ทั้ง....ถูกต้อง และ ถูกถ้วน มันต้องมีสภาพที่รองรับความจริง ถึงจะเรียกว่าวิทยาศาสตร์ ไม่เช่นนั้นศาสนาพุทธ จะบอกว่า เป็นวิทยาศาสตร์ได้อย่างไร เป็นวิทยาศาสตร์เพราะมีของที่พิสูจน์ได้ ยืนยันได้ด้วยตน ผู้ใดมาปฏิบัติเอง ก็จะรู้แจ้งเอง เรียกว่าสันทิฏฐิโก เป็นนักวิทยาศาสตร์ด้วยกัน รู้ตรงกัน โอ้โฮ.... ยิ่งพูด ภาษากัน.... เหมือนกับ คนที่เรียนมาด้วยกัน ยิ่งรู้จักภาษาวิชาการ ก็ยิ่งจะชัดแจ้งภาษาอะไรก็รู้กันได้ เป็นTechnical Term (ศัพท์เฉพาะด้าน) เป็นภาษาลูกทุ่งก็ได้ เมื่อรู้แจ้งสัจจะตรงกัน อธิบายสภาวะ มันก็รู้กัน

เอาละ ถ้าจะเอารายละเอียดอะไรก็บอกมา นี่ก็พูดเท่าที่มีเวลา ถ้าอยากจะรู้อะไร อาตมาก็จะอธิบาย ให้ฟัง

ผศ.: ครับก็ ผมก็คงจะเอาสิ่งที่พ่อท่านพูดนี่ ไปรวบรวมดูนะครับ แล้วก็บางทีอาจจะมาเรียนสัมภาษณ์ หรือ โทรศัพท์มาอีกครั้งหนึ่ง

พ่อท่าน : ได้ๆ เป็นประโยชน์ อุตสาหะทำเถอะ ทำให้มันดีๆ ทำให้มันสุดถูกสุดต้องด้วย

ผศ : แต่ก็พอมาทำเรื่องนี้นี่ก็เปลี่ยนไปนะครับ วิถีชีวิต จากเดิมที่ไม่เคย ไม่ค่อยสนใจ อยู่ในแวดวง ของทำมาหากินเสียเยอะ

พ่อท่าน : ใช่ โลกมันไม่มีอะไรหรอก ชีวิตของคนน่ะ มันไม่เข้าใจชีวิตหรอก ถ้าไม่เรียนรู้ ถึงสัจจะแท้ ไม่เรียนรู้โลกุตระนี่ไม่เข้าใจชีวิต จะบอกไม่ได้ว่า ชีวิตนี่เกิดมาเอาอะไร แล้วเราจะได้อะไร จะไม่มี คำตอบ แต่ถ้ารู้โลกุตระ เข้าถึงโลกุตระแล้วก็จะรู้ โลกุตระก็คือสิ่งที่ไม่ใช่โลกียะ ไม่ใช่โลกธรรมน่ะ ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข ผู้เห็นแจ้งในโลกุตรธรรมแล้วจะไม่เอาอันนี้ อันนี้ไม่ใช่สาระ ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข ไม่ใช่สาระ โลกุตระก็คือ ไม่เอาแล้วอันนี้ ไม่สะสมแล้วโลกธรรม นั่นล่ะคือโลกุตระ นี่พูดง่ายๆ สรุปความหมายง่ายๆ เพราะฉะนั้นเมื่อผู้ใดไม่เรียนรู้จริงๆ แล้วก็จะไม่รู้ว่าชีวิตจะเอาอะไร เขาก็จะยังคง แสวงหาเอาลาภ เอายศ เอาสรรเสริญ เอาโลกียสุขที่เป็นกามเป็นอัตตาอยู่ตลอดกาลนาน จมอยู่กับ อัตตทัตถสุขและกามสุขนั่นแหละ เป็นชีวิตชีวา เท่านั้นเอง ไม่ได้อื่นอะไรเลย แล้วมันก็วนเวียนอยู่ใน วัฏฏสงสารอยู่นั่นเอง เพราะฉะนั้นถ้าอาตมาจะอธิบายตอนนี้ เป็นภาษาที่จะอธิบายให้ฟังง่ายๆก็คือ อย่างคนเราเกิดมานี่ ถ้าไม่เรียนโลกุตระนี่นะ คุณก็ไปหลงสะสมลาภ สะสมทรัพย์สิน แล้วก็ได้ ทรัพย์สิน มาเยอะแยะ ไอ้อันนี้แหละที่มันเต็มไปด้วยทุจริต เอาเปรียบนี่ทุจริตไหม อย่าไปเห็นว่า เอาเปรียบ นี่สุจริตนะ ถ้าคุณไม่เอาเปรียบมันก็ไม่ได้มากหรอก เอาเถอะจะได้มากได้น้อยก็ตาม สมมุติว่าคุณได้เยอะแยะแล้ว ตั้งเป็นแสนล้าน ทรัพย์ศฤงคารหลักทรัพย์ของคุณเป็นแสนล้าน แล้วคุณก็ตาย แล้วคุณเกิดอีกชาติหน้า ต่อให้คุณไปเกิดเป็นคนอีก และระลึกชาติได้อีกด้วย แถมรู้ด้วยว่า ทรัพย์แสนล้านนั้นของคุณอยู่ไหนบ้าง ถามว่าไอ้แสนล้านอันนี้คุณจะมาตู่เอาคืนได้ไหม

ผศ.: ไม่ได้

พ่อท่าน : เอ้า....ก็ของฉันน่ะ คุณก็พิสูจน์ยืนยันกันเลยซี เห็นไหม แม้คุณจะยืนยันอย่างไร มันก็ไม่ใช่ ของคุณแล้ว ลาภไหนๆมันก็ไม่ใช่ของเราแท้หรอก ยศก็เหมือนกัน ยิ่งเปลี่ยนแปรง่าย ทั้งลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข ชาตินี้คุณได้เป"นของคุณ ตายไป ชาติหน้าก็บอก เฮ้ย เอาลาภของฉันคืนมา เอาตำแหน่ง ยศของฉันคืนมา เอาสรรเสริญ เอาโลกียสุขของฉันคืนมา มันก็ไม่ได้ทั้งนั้น

ผศ.: แต่คนเหล่านี้เขาไม่เชื่อหรอกฮะว่าเขาจะมีโลกหน้า

พ่อท่าน : ถ้าคนไม่เชื่อโลกหน้า ไม่เชื่อว่าตายแล้วยังวนเวียนอยู่ในวัฏฏสงสารก็พูดกันไม่รู้เรื่องหรอก อันนี้ศาสนาศริสต์หรือว่าศาสนาบางศาสนานี่ยังเข้าใจยากตรงนี้ เพราะเขาไม่มีพื้นอันนี้เลย เขาไม่รู้ว่า เอ....มันมีต่อไปอย่างไร ตายแล้วมันจะมีเกิด มันจะไปเชื่อมโยง มันจะไปมีวิบากกรรมต่อไปอีก เป็นกุศลกรรม อกุศลกรรม เป็นอกุศลวิบาก กุศลวิบาก เป็นสัมภาระวิบาก ที่จะต้องไปทำปฏิกิริยากัน จะต้องมีขึ้นลง ต้องตกต่ำ ต้องได้ดี ต้องตกยากไปอีกตั้งเท่าไรๆ เขาไม่เข้าใจ ไม่ทะลุทะลวงอันนี้ เพราะฉะนั้นเขาจะไม่เชื่อ แต่ในพุทธนี่เชื่อการเวียนว่ายตายเกิดพอสมควร เพราะฉะนั้นเราพูดกัน แต่ในพุทธ สรุปแล้วนี่ ไอ้โลกธรรมหรือโลกียะนี่ ชาตินี้คุณมาหอบหวงเท่านั้น คุณเอาเปรียบเขา คุณยิ่งจะได้บาปนะ คนเราไม่มีใครคิดเกรงที่จะต้องหาวิธีเชิงชั้นเอาเปรียบ ตัวเองต้องฉลาด ต้องได้เปรียบ ได้เชิงชั้นชนะ ฉันต้องได้ลาภยิ่งกว่า ได้ตำแหน่งได้ยศศักดิ์อะไรก็แล้วแต่ วัตถุทรัพย์ ใดๆก็ไม่ตามไปเป็นของเราเลย มีแต่จิตสะสมกรรมเท่านั้นที่ไปกับเรา เป็นของเราแท้ เช่น คุณทำ กรรมชั่ว โกงเขา หรือเอาเปรียบเขาจนชนะ ได้เงินมา คุณตายไป เงินมันก็กองอยู่ในโลกนี้ มันไม่ตาม คุณไปแน่ เพราะมันไม่ใช่ของคุณจริง แต่กรรมที่คุณทำการโกงเป็นบาป คุณเอาเปรียบก็เป็นบาป นั่นต่างหาก ที่มันตามไปกับคุณจริง แม้คุณจะตายไปชาติหน้าชาติไหนอีกก็ตาม คุณตายไปแล้วนี่ คุณบอกไม่เอาก็ไม่ได้ ชาตินี้คุณสะสมกามให้อ้วนพี ก็เหมือนกัน พอชาติหน้ากามมันจะลดลง มันไม่ลดหรอก มันจะอ้วนอย่างที่คุณทำ อันนี้แหละเป็นสมบัติของคุณแท้จริง แม้ข้ามชาติไป คุณก็ต้องได้มันแน่ๆ ลาภ ยศ สรรเสริญ นั้นพิสูจน์ให้ฟังแล้ว ยืนยันให้ฟังแล้ว มันไม่ข้ามชาติไป ให้คุณได้หรอก ไปชาติหน้าคุณก็ไม่ได้มัน แต่ชาติหน้าคุณไปเกิดเป็นนายเป็นนางสาวอะไร ก็ตามแต่ กามที่คุณสั่งสมแต่ชาตินี้มันจะตามไปเป็นสมบัติของคุณแน่ อันเป็นสมบัติทางกรรมทางวิบาก เป็นกรรมพันธุ์แท้ๆ ยิ่งกว่าสรีรพันธุ์ เพราะกรรมทุกกรรมเป็นกัมมัสสกะ (กรรมเป็นสมบัติแท้ของตน ติดตามตนไป) หรือว่าคุณทำกรรมขโมย-ทำกรรมโกง-ทำกรรมแก้แค้นอาฆาต หรือเรื่องคู่ผู้หญิง-ผู้ชาย ชาติหน้าก็ยังมีเวรานุเวรกันอีก อันนี้คือสมบัติที่คุณได้ ถ้าคุณมาเรียนรู้โลกุตระ แล้วละล้างกิเลสเหล่านี้ ก็เป็นการลดเลิกกรรมวิบาก ที่มันจะได้นั้นๆลงไป ซึ่งดีกว่าไปได้กาม ได้อัตตา ได้เวรภัยอะไรต่ออะไร พวกนี้ มาเป็นเวรานุเวรไม่รู้จักจบสิ้น ดีกว่าแน่ๆไหม

โลกุตรธรรมคือ โลกอาริยะ คือสภาพที่คนควรจะได้อย่างยิ่ง คนควรสร้างโลกุตรธรรมให้แก่ตนเอง สร้างโลกุตระแล้วได้อะไร ได้อาริยธรรม คือสิ่งที่ทรงไว้เป็นความประเสริฐ ซึ่งจะได้จะมีก็ด้วยกรรม ด้วยการกระทำ คนผู้ใดทำจริงก็เป็นก็มีจริง ถ้าได้ศึกษาโลกุตรสัจจะ แล้วปฏิบัติจนบรรลุมรรคผล ในชาตินี้ ก็เป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคามี สูงขึ้นไปเรื่อยๆ เป็นต้น คุณธรรมที่ได้นี้ได้แล้ว แม้ข้ามไป ชาติหน้า คุณก็ยังได้ยังเป็นของเราอยู่ แต่ถ้าคุณไปได้ ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุขนี่ นี่เป็นสมบัติ โลกียะ แล้วคุณก็ไม่สละออก คุณยังยึดไว้เป็นของตัวของตนไปจนตาย มันก็ไม่ตามคุณไป ชาติหน้าหรอก แต่ถ้าคุณทำกรรมสละ หรือกรรมที่เป็นการเอาออกไปจากตน ก็ให้ออกไป หรือทาน หรือบริจาคนั่นแหละ นี่ต่างหากที่จะได้เป็นสมบัติของคุณ ที่จะข้ามชาติไปถึงชาติหน้า ยิ่งให้ไป ยิ่งเป็นของเรา ยิ่งเอามาให้ตนยิ่งเป็นหนี้ การสละ การเอาจากตนออกไป เป็นกุศล เป็นบุญ เป็นการชำระกิเลส

ถ้าคุณเรียนรู้โลกุตระ สามารถลดกิเลสให้แก่ตนได้จริง การทำประโยชน์หรือทำคุณค่าของคนโลกุตระ ก็จะเป็นประโยชน์ ๒ ส่วน เรียกว่า อุภยัตถะ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องวิเศษที่ลึกซึ้ง เป็นปรมัตถธรรม ของอาริยภูมิ สัจธรรมหรือความจริงนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้โดยพระองค์เองโดยเฉพาะ เช่น คนที่สร้างกุศลทำทาน คนที่ทำทานนี่เป็นโลกียกุศล คนโลกียะหรือคนโลกุตระ ทำทานก็ได้โลกียกุศล ด้วยกันทั้งนั้น คนที่ไม่ได้เรียนโลกุตระไม่รู้ใจตัวเองว่าทานคือการล้างกิเลสความโลภออกจากจิต ดีไม่ดี.... ทานวัตถุเงินทองออกไป แต่ใจกลับขี้โลภกลับคืนมาหนักกว่าเก่า กว่าค่าของที่ตนทานออกไป ด้วยซ้ำ เป็นต้นว่า ทำทานข้าวทัพพีหนึ่งใส่บาตร ก็ตั้งจิตสาธุ ขอให้ได้เงินแสน เขาคิดจริงๆ จิตเขามี มโนกรรมจริงๆนะ ตั้งจิตเอาจริงๆเลยว่า ขอให้ถูกหวยเป็นแสนเป็นล้าน หรือไม่ก็ขอให้ทำกิจการงาน ที่ตนทำจงประสบผลสำเร็จร่ำรวยเป็นแสนเป็นล้าน อย่างนี้คือความโลภที่โลภมากกว่าที่ตนทำทาน ออกไปจริงๆ และการตั้งจิตก็เป็นมโนกรรมซึ่งเป็นกรรมแท้ๆ ซึ่งกายกรรมที่ทำทานข้าวที่ตักบาตร ทัพพีหนึ่ง ก็คือกรรม มโนกรรมที่เกิดในจิตจริงก็เป็นกรรมจริงๆ เมื่อการทานนั้นสละออกแค่ข้าว ทัพพีเดียว ราคาไม่กี่บาท แต่กรรมขี้โลภที่มโนกรรมตั้งจิตเอาแสนเอาล้าน ก็เป็นกรรมที่โลภ เกินกว่า ที่ตนทำทานออกไปจริงๆ มันก็เห็นได้ชัดๆว่า ไม่ได้สละจริงเลย จิตที่ตั้งจิตเอานั้นเป็นความโลภแท้ๆ เป็นการเอาเปรียบด้วยความโลภอยู่โต้งๆ ข้าวทัพพีเดียวขอแลกคืนมาเป็นแสนเป็นล้าน อย่างนี้เป็น สัจธรรมของ"กรรม" ผู้ใดกระทำจริงก็เป็นการกระทำที่ขาดทุนมหาศาล เพราะเอาเปรียบมากเกินไป อย่างนี้ได้กุศลโลกียะแค่ไม่กี่บาทตามราคาข้าวหนึ่งทัพพี แต่อกุศลโลกุตระ ซึ่งเป็นทางปรมัตถ์ ได้บาป หรือได้กิเลสขี้โลภเป็นแสนเป็นล้าน ดังนั้น ผู้ที่มีความรู้โลกุตระและสามารถปฏิบัติปรมัตถธรรม ได้สำเร็จจริง แม้ทำทานข้าวหนึ่งทัพพี ซึ่งเป็นกุศลโลกียะผู้มีความรู้โลกุตระก็ได้แล้วมีส่วนหนึ่ง แถมมีญาณ หยั่งรู้จิต....เจตสิก และสามารถปฏิบัติจิตของตนให้ลดกิเลสในจิตได้อีก ไม่ให้มีความโลภ กลับคืนมาให้แก่ตนเกินกว่าที่ได้ทำทานข้าวทัพพีหนึ่งออกไป การละกิเลสได้นี้เป็นกุศลโลกุตระ ก็เป็นได้กุศลทางโลกุตระอีกส่วนหนึ่ง รวมคนโลกุตระก็จะเป็นประโยชน์หรือคุณค่า ๒ ส่วน (อุภยัตถะ) ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว อย่างนี้เป็นต้น

หรือเรื่องของระบบทุนนิยมที่เฟื่องฟูกันอยู่ในโลกขณะนี้ ซึ่งเป็นโลกียะอย่างยิ่ง ก็เป็นการกระทำ ที่ไม่มีกุศลกันเลย แม้แต่กุศลโลกียะก็ไม่มี เช่น ซื้อมาแสนเดียว แต่ขายแสนกว่าหรือสองแสน หรือขายได้เกินกว่านั้นขึ้นไปมากเท่าใดได้ก็จะทำ แล้วภาคภูมิใจที่ได้เปรียบ นี่คือ การเอาเปรียบแท้ๆ เป็นอกุศลอย่างยิ่ง ไม่มีบุญไม่มีกุศลเลย เรื่องนี้อาตมาอธิบายมาเสมอ การค้าขายตามระบบทุนนิยม นี่เลวร้าย เพราะเป็นวิธีคิดที่ไม่มีประโยชน์ต่อสังคมต่อผู้อื่นเลย เป็นแนวคิดที่เอาเปรียบ เป็นบาป ตลอดกาล เป็นต้นว่า วิธีคิดธุรกิจหรือการค้าขาย ถ้าทุนของสินค้าสมมุติ ๑,๐๐๐ บาท เวลาขาย หรือให้คนอื่นไปจะต้องขายเกิน ๑,๐๐๐ บาทกันทั้งนั้น ใครสามารถขายให้เกิน ๑,๐๐๐ บาท ได้มาก เท่าใด ไม่เกี่ยงเลย ยิ่งได้มากยิ่งชอบใจ ยิ่งนับว่าเป็นความสามารถที่สุจริต เป็นผลสำเร็จในการทำธุรกิจ ทุนนิยมโดยชอบธรรม แต่โดยสัจจะนั้น มันเป็นการได้เปรียบหรือเอาเปรียบอยู่ชัดๆ ถ้าทุนของสินค้า สมมุติ ๑,๐๐๐ บาท หากขายไป ๑,๐๐๐ บาทเท่าทุน ก็คือ เสมอกัน ไม่มีใครขาดทุน ไม่มีใครกำไร ไม่มีใครได้ใครเสีย นั่นคือไม่มีใครได้กุศล ไม่มีใครได้อกุศล เจ๊ากัน แต่เมื่อเอาเกินทุน ผู้เอาก็คือ ผู้เอาเปรียบ หรือได้เปรียบเห็นอยู่แท้ๆ คือจิตคุณโลภแล้ว ยิ่งสมใจในโลภขึ้นมาแล้วก็ดีใจ ที่ได้เปรียบ มามาก นี่คือการหลงผิดแท้ๆ สร้างอุปาทานผิดๆให้แก่ตนเอง เป็นการเข้าใจสัจธรรมผิดๆ นี่เป็น เรื่องจริง มันเป็นอุปาทานที่เข้าใจผิดๆ เพราะการดีใจที่ตนเอาเปรียบได้เปรียบอันเป็นบาปเป็นความเลว นั้นเป็นการดีใจในความเลวความบาป แล้วก็ยึดติดในความหลงผิดนี้ปฏิบัติกันอย่าง ไม่เกรงกลัว ต่อบาปต่อไป เพราะความไม่รู้อวิชชา คุณไม่เข้าใจ กลไกหรือพฤติกรรมของจิตวิญญาณ หรือ กิเลสตัณหา คุณไม่รู้ คุณก็เชื่อมัน คุณก็เห็นว่าโอ....อันนี้ดี อย่างโน้นอย่างนี้อะไรอย่างนี้ คุณก็หลงใหล ได้ปลื้มอยู่กับสิ่งเหล่านี้ นี่คือลีลาของชีวิตของมนุษย์ทุนนิยม

เพราะฉะนั้น ในเรื่องวิธีคิดของโลกียะ โดยเฉพาะแนวคิดแบบทุนนิยมนี้ ถ้าคนที่รู้จักจิตวิญญาณ ทานคือให้ แต่ถ้าให้อย่างมีจิตโลภอยู่ ก็ยากที่จะเป็นบุญเป็นกุศล เพราะจิตคนโลภ มันยังมีอยากได้ อยู่แน่ มันจะมีอาการของความโลภทำงานอยู่ในจิตมากมายหลายลีลาไม่มากก็น้อย แม้แค่คุณ ยังจำบุญคุณที่ตนได้ทำไป แล้วก็ยังทวงบุญทวงคุณเขาอยู่ในใจเท่านั้น ก็ยังเป็นการทำลายบุญ ที่ตนทำไปแล้วอยู่แท้ สูงสุดของโลกุตรธรรมนั้น จะไม่เอา ล้างละกิเลสในจิต วางปล่อย ไม่ยึดไม่ติด ให้คือให้ ให้คือสละออกไป ให้..ใจก็ต้องให้ แต่ถ้าใจยังยึดเอา ยังไม่วาง คุณก็ต้องทำใจในใจ มนสิการ ทำใจในใจ ให้ถูกต้องถึงที่เกิด เรียกว่าโยนิโส ให้ถ่องแท้ ให้แยบคาย ให้ถูกถ้วนตรงจุดที่เกิดกิเลสเลย ต้องกำจัดกิเลสให้ได้ นี่คือ การปฏิบัติของโลกุตระ เมื่อทำได้สำเร็จ ผู้ที่ให้ไปนั้นก็มีประโยชน์ หรือ มีคุณค่า ๒ ส่วนทันที(อุภยัตถะ) โลกียกุศลคุณก็ได้ให้วัตถุหรือให้แรงงาน ถ้าคุณทำงานอย่างเสียสละ หรือทำงานไม่เอาค่าแรงคืนมาจนเต็มค่าแรงงานนั้นหรือทำงานฟรี นั่นก็คือการสละแรงงาน โลกุตรกุศล คือคุณได้ปฏิบัติจิตไม่ให้เกิดกิเลสอย่างเป็นมรรคผล โลกุตระคุณก็ได้ล้างกิเลสขี้โลภ ไม่เอาเป็นของเรา ละตัวกูของกู ประโยชน์ที่เป็นโลกียะคุณก็ได้ให้ได้สละได้ทำทาน มันเป็นจริง ประโยชน์ ๒ ส่วนทั้งกุศลโลกียะและกุศลโลกุตระ หรือคนที่ได้รับส่วนที่เราสละวัตถุหรือสละแรงงานให้ เขาได้รับวัตถุหรือแรงงานนั้น เขาก็ได้ประโยชน์ นี่เรียกว่า "ปรัตถะ"(ประโยชน์แก่คนอื่น) และประโยชน์ ที่เราได้ก็คือ เราได้เสียสละไง เราได้ทำประโยชน์ให้แก่คนอื่น นี่เป็นคุณค่าของความเป็นคน เพราะเรา ได้ให้เขาจริงๆ เราเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นจริงๆ อย่างนี้เรียกว่า "อัตตัตถะ" คือตนได้ทำประโยชน์ ไม่มีการแลกกลับคืนมาทั้งทางวัตถุ ทั้งทางนามธรรมในจิต ถ้าจะเรียกในภาษาธรรมะก็คือ ได้บุญ ได้กุศล นี่คือว่า "อัตตัตถะ" เป็นประโยชน์ตน คนที่ได้รับเงินทานของเราไป เขาก็ได้ประโยชน์ เราก็ได้ ประโยชน์ตรงที่ได้ปฏิบัติล้างกิเลส ล้างความโลภ พิสูจน์ความหวงแหนของกู ล้างตัวกูของกู ผู้ปฏิบัติ ต้องมีวิชชามีญาณรู้จักรู้แจ้งเห็นจริงทั้งกิเลสทั้งการปฏิบัติของตนด้วย ประโยชน์ที่ล้างกิเลสส่วนตน สำเร็จนี้ เป็นมรรคผล เรียกอีกภาษาหนึ่งว่า "ปรมัตถะ" ซึ่งเป็นประโยชน์ขั้นละกิเลสสำเร็จ อย่างสัมมาทิฏฐิ ประโยชน์ขั้นนี้เป็นอาริยผล ซึ่งประโยชน์ ๒ ส่วนที่เรียกว่า "อุภยัตถะ" นี้ มีนัยสำคัญ หลายนัย ดังนี้เป็นต้น

ผศ : ชัดเจนเลยครับ

พ่อท่าน : เพราะฉะนั้นคนที่ปฏิบัติโลกุตระล้างกิเลสได้นี่ ได้ประโยชน์สองส่วน โลกีย์ก็ได้ด้วย โลกุตระ ก็ได้ด้วย มันเป็นทูอินวัน แต่โลกีย์นี่ทำแล้วไม่ได้ประโยชน์สองส่วนหรอก ทำทานแล้วก็จะเอา มากกว่าเก่า อะไรอย่างนี้ กิเลสไม่ได้ลดเลย กิเลสยิ่งหนาขึ้นกว่าเก่า ก็ซวย แม้แต่ทำทานแท้ๆ นอกจาก จะให้เขาแล้วเขาก็ได้ แต่ตัวเองไม่ได้อะไรเลย นอกจากไม่ได้แล้ว ยังเป็นหนี้อีกซ้ำ ก็ให้เขาเท่านี้ๆ แต่ตัวเอง จะเอามากกว่านี้ ออกโทรทัศน์ทำบุญทำทานตรงนี้แหม อวดอ้าง โฆษณา ทำทาน แต่เอา ประโยชน์จากการทาน อีกไม่รู้กี่เล่ห์กี่ทาง แล้วเขาก็ได้รับประโยชน์จากการโฆษณา ประโยชน์จาก วิธีแวดล้อม ประโยชน์ข้างเคียง ได้ประโยชน์เสริม เขาได้ประโยชน์ทางจิตวิทยา ล้วนหาวิธีให้เกิด ประโยชน์ อย่างเห็นแก่ตัว ให้ได้เปรียบอีกๆๆมากๆเท่าไรไม่รู้ พวกนี้ก็เป็นวิธีการที่ชาวโลกีย์ โดยเฉพาะ วิธีของทุนนิยมมีมาก พระพุทธเจ้าทรงให้ล้างความไม่สะอาดเหล่านี้ มันเป็นพิษเป็นภัยต่อตนต่อสังคม


ปิดท้ายบันทึกฉบับนี้จากโอวาทปิดประชุมหมู่บ้านราชธานีอโศก ๑๗ พ.ย. ดังนี้ "โลกทุกวันนี้ร้อนแรงขึ้น ทุกวัน ฉะนั้นเราต้องอยู่ให้รอด เราต้องทำที่พึ่งให้กับตัวเองให้ได้ ทำคุณธรรมให้กิเลสลด และไปช่วย ผู้อื่นให้ได้ ถ้าเราไม่แข็งแรงก็จะไม่เป็นที่พึ่งของเขาได้ ทุกวันนี้พวกเรามาทำงานเสียสละ แล้วก็มี ส่วนเหลือ คือไม่เป็นหนี้ ส่วน"เงินหนุน" นั้นเราต้องมีต้องใช้กันไป เพราะเราไม่มีส่วนเกินกันมาก ไม่ได้ให้สะสมกักตุน แล้วก็พยายามผ่อนใช้เขาไปเรื่อยๆ พวกเราที่ลาออกจากราชการ นี่ก็เป็นการ คืนเงิน ให้กับสังคม และมาทำงานมีส่วนเหลือส่วนเกินให้กับเขาไป นี่ก็เป็นการช่วยสังคมแล้ว เหลือแต่ความประณีตประหยัด เราต้องสังวร สำนึก ฝึกฝน เราขยันทำ แต่ถ้าไม่รักษาก็ไม่มีอะไรเหลือ ถ้าต่อไปเราแข็งแรงกว่านี้ และฟุ่มเฟือยน้อยลง สร้างสรรได้มากกว่านี้ นั่นแหละเราเจริญ ฉะนั้น ให้เราฝึกฝน สะสมน้อยลง สมรรถนะเพิ่มขึ้น ลดกิเลสให้มากขึ้น ระวัง อย่าไปหลงเงิน หลงงาน ต้องพัฒนาคน ดูจิตวิญญาณ ดูหมู่กลุ่ม"

* รักข์ราม.
๖ ม.ค. ๒๕๔๘

มีต่อหน้าถัดไป

- สารอโศก อันดับที่ ๒๘๐ เดือน กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ -