รายงานพิเศษ กองทัพธรรมกับสถานการณ์ฉุกเฉิน

มติชนสุดสัปดาห์ หน้า 9 ฉบับประจำวันที่ 12-18 กันยายน 2551 ปีที่ 28 ฉบับที่ 1465 กองทัพธรรมฯ_pdf

สมณะโพธิรักษ์ ได้ชูธงเสนอแนวคิด และหักล้างข้อโจมตีที่ว่า “พระ” ไม่ควร มายุ่งเกี่ยวกับการเมือง เป็นปฐมว่า เพราะการเมือง คือ การทำเพื่อผู้อื่น เพื่อประชาชนทั้งมวล และ พระพุทธเจ้านั่นแหละ คือ สุดยอดของการทำงาน เพื่อคนอื่น

นั่นคือมาช่วยคนอื่นให้หลุดพ้น ช่วยสัตว์อื่นให้พ้นทุกข์

ดังนั้นเมื่อการเมืองคือการทำเพื่อคนอื่น

จึงไม่แปลกที่สันติอโศก จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง

โดยเฉพาะการเมืองนั้น คือ ประชาธิปไตย ที่ให้อิสรภาพ ให้ประชาชน เพื่อประชาชน

ซึ่งพระพุทธเจ้าทำแล้ว

ในสมัยพระพุทธองค์ ท่านปลดแอก เรื่องไม่มีอิสระ ปลดความเป็นทาส

ปลดปล่อยคนจากยศ ชั้นวรรณะ ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันในสังคมของท่าน

หนึ่งคน หนึ่งเสียง อยู่ในที่ประชุมของท่าน

การเมืองที่ปลดแอกความเป็นทาส ปลดแอกชั้นวรรณะ นี่คือประชาธิปไตย นี่คือ การเมืองชั้นยอดชัดๆ

และสันติอโศก ก็กำลังเดินตามแนวทาง “ชั้นยอด” ของ “พระพุทธเจ้า” นั้น!

สมณะโพธิรักษ์ ยืนยันว่าไม่เห็นด้วยอย่างสิ้นเชิง กับคำกล่าวที่ว่า “คนเขาจะตีกัน พระมายุ่งเกี่ยวทำไม”

ทั้งนี้เนื่องจากสมณะแปลว่าผู้สงบ

ถ้าพาซื่อเข้าใจว่า เป็นสมณะคือผู้สงบ เป็นนักนั่งสงบ ไปอยู่ที่ไหนๆ ก็ไปเอาแต่สงบ ชนิดตื้นๆ พาซื่อ อะไรก็ ไม่รู้ไม่ชี้ กะใคร ใครจะเป็น จะตายอย่างไร ก็ว่ากันไป ฉันเป็นสมณะ ฉันสงบ ฉันไม่รู้เรื่อง

ถ้าสมณะไม่รู้เรื่องไม่รู้ราวอะไรกับสังคมเขาเลย อย่างนี้ก็เป็นสมณะ ที่เหมือน สัตว์ทั้งหลาย เช่น ช้าง ม้า วัว ควายทั่วไป ที่ไม่เอาถ่าน

เมื่อเขาจะตีกันตาย แล้วไม่ยอมเข้าไปเกี่ยวโดยอ้างว่า สงบแล้ว ไม่ยุ่ง สมณะโพธิรักษ์ ยืนกรานว่า “นี่คือความเข้าใจผิด ของสังคมมนุษยชาติ” และ “ใช้ไม่ได้”

ยิ่งรู้ว่า อะไรผิดอะไรถูก และรู้ว่ามันถึงขั้นที่ต้องออกมาช่วยกันทำให้มันสงบ ยุติการตีกัน ขัดแย้งกัน สมณะยิ่ง ต้องออกมา

เมื่อสันติอโศก เห็นด้วยกับฝ่ายพันธมิตรฯ ว่าอยู่ในฝ่ายที่ถูกต้อง ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งผิด

จึงต้องออกมา

“อาตมาออกมานี่ ต้องเสียรังวัดนะ เขาเห็นว่า อาตมาเสียผู้เสียคน ไปตามที่ เขาเข้าใจว่า นี้ไม่ใช่กิจสงฆ์ เขาเข้าใจไม่ได้ เขาก็ว่าเอา ก็ไม่เป็นไร แต่อาตมาได้ช่วย ทำให้ลดความร้อน อาตมามาทำหน้าที่ พยายามรักษาให้เกิด ความสงบเรียบร้อย ให้เย็น ไม่ใช่ให้มันร้อน ...แต่แน่นอน มีการเข้าใจผิด อยู่จริง ห้ามกันไม่ได้”

เพราะนี่คือสิ่งที่ สมณะโพธิรักษ์ ย้ำว่า “มันไม่ใช่เรื่องตื้นๆ สามัญๆ”

ดังนั้น การจะมาโจมตีตื้นๆ ว่า การออกมาเคลื่อนไหว ทางการเมือง คราวนี้ เพื่อต้องการ เผยแพร่ “ลัทธิสันติอโศก” นั้น สมณะโพธิรักษ์ ไม่เห็นด้วย อย่างยิ่ง

และบอกว่าการจะพิจารณาอะไรเป็นสิ่งที่แปลกปลอม (ลัทธิ) หรือของจริง (ศาสนา) ก็ต้องมาพิจารณา กันก่อนว่า พุทธศาสนานั้น มีทิศทาง และ เป้าหมาย อย่างไร?

จากหลักฐานในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑ ข้อที่ ๒๕ พระพุทธเจ้า ได้ทรงระบุเป้าหมาย ของการประพฤติพรหมจรรย์ว่า

“พรหมจรรย์ที่เราประพฤติ มิใช่เพื่อหลอกลวงใครให้มานับถือ หรือเพื่อเรียกคน ให้มาเป็นบริวาร หรือ เพื่อลาภ สักการะ และ เสียงสรรเสริญ เยินยอ เพื่อที่จะได้เป็นเจ้าลัทธิ หรือคัดค้านลัทธิอื่นให้ล้มไป หรือ เพื่อให้มหาชน เข้าใจว่า เราเป็นผู้วิเศษ ก็หามิได้ แต่ที่แท้ พรหมจรรย์นี้ เราประพฤติเพื่อสำรวม เพื่อสังวร เพื่อละหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับกิเลส เพื่อดับทุกข์สนิท เพื่อจะหมดกิเลสสนิท ตายอย่างไม่ฟื้น เรียกว่า ไม่กลับกำเริบ...”

เป้าหมายนี้ย่อมเป็นเป้าหมาย ของสันติอโศก ด้วยเช่นกัน สมณะโพธิรักษ์ บอกว่า ความเข้าใจผิด ของคนส่วนใหญ่ ในสายพุทธ แบบเถรวาทนั้น แยกศาสนา และการเมือง ออกจากกัน โดยสิ้นเชิง

จึงมีคำถามตามมามากมายว่า พระเข้ามายุ่งอะไร กับเขาด้วย

“เราก็เลยต้องเจอก้อนอิฐ มากกว่าดอกไม้ เจอคำติฉิน นินทาว่าร้าย มากกว่า เสียงสรรเสริญ เยินยอ แน่นอน ไม่ใช่เราไม่รู้ แต่เราไม่ได้บวช เพื่อจะต้อง กลัวนินทาว่าร้าย หรือ บวชมาหา สรรเสริญ เยินยอ เราต้องทำ สิ่งที่เป็นประโยชน์ แก่มวลมนุษยชาติ ตามที่พระพุทธเจ้า ตรัสไว้ คือ พหุชนหิตายะ ความสุขแก่มหาชน เป็นอันมาก”

“ดังนั้น การอยู่สบายๆ ในวัด กับการออกมา ร่วมทุกข์ยากกับ พี่น้อง ประชาชน อะไรน่าจะเป็นไป เพื่อเสียสละ ตามหลักการ ของศาสนา หรือ เห็นแก่ตัว มากกว่ากัน ประชาชน ย่อมพิจารณากันได้”

ใน “สารอโศก” มีการตั้งคำถาม กับสมณะโพธิรักษ์ ว่าเราจะชนะไหม?

สมณะโพธิรักษ์บอกว่า ขณะนี้เรากำลังต่อสู้ เป็นการต่อสู้เพื่อ ที่จะให้รัฐบาล เลิกซะ หยุดซะ ปล่อยให้รัฐบาลอื่น ให้คนอื่น เขามาทำ รัฐบาลนี้ ไม่ควรจะอยู่แล้ว และประเด็นหลัก อีกอย่าง ก็คือ ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้เข้าสู่ศาล พิสูจน์ความจริง และ ต้องการให้ ระบอบทักษิณ หยุดไปเลย

ถามว่าจะชนะไหม

ก็ชนะมาตามลำดับ

แต่ที่สำคัญ มันเป็นวิวัฒนาการของสังคม ประเทศชาติ เป็นจุดเปลี่ยน ทางด้านการเมือง ของไทย

เกิดกองทัพประชาชน ที่ต่อสู้ทางประชาธิปไตย อันมีความงดงาม

สังคมเกิดการเรียนรู้ เกิดวิวัฒนาการ มีพฤติกรรมแบบใหม่ เกิดขึ้นในสังคม

เป็นสังคมใหม่ที่หันมาอุดหนุน จุนเจือ เกื้อกูลกัน เป็นห่วงเป็นใย ซึ่งกันและกัน

เข้าใจความเป็นกลาง ว่า ต้องเข้าข้างคนถูก คนดี กล้าเลือกข้าง

สมณะโพธิรักษ์ บอกว่า สถานการณ์ จะเป็นอย่างไรต่อไป ตอบไม่ได้

ตอบได้แต่ว่า มันจะเกิดวิวัฒนาการ ทางปัญญา และความดีงาม ของสังคม ประชาชน ที่ได้ศึกษา จากเหตุการณ์จริง และ เกิดการพัฒนา ประชาธิปไตย ขึ้นไปตามลำดับ

“อาริยประชาธิปไตย ที่ประกอบด้วย ธรรมาธิปไตย ได้ก้าวเข้าไปสู่ โลกุตรสัจจะ ก้าวหนึ่งแล้ว... นี่คือ สงครามการต่อสู้ ครั้งที่ งดงามที่สุด”

นั่นคือ ความรู้สึกสูงสุด “รวบยอด” จากสมณะโพธิรักษ์.