-๑๕-

เม็ดทราย ๑๕

ช้ำแค่ไหนก็จะเดิน
มนุษย์กำลังใฝ่คว้าแสวงหาอะไรกันขวักไขว่
ฉันก็กำลังคิดวิถีทางไปสู่ขอบฟ้าอันไกลลิบ
ยิ่งเดินขอบฟ้าก็ยิ่งหนี ไกลออกไปทุกที
เหนื่อยและเมื่อยล้า หมดแรงแล้วที่จะคว้าเอา
หยุดพักก่อน นั่งนึกตรึกตรองดูการกระทำในอดีต
จุดหมายปลายทางของเราคืออะไรนะ ?
ชีวิตนี้ต้องการอะไร ? เราจะเอาอะไรจากโลก ?
ชีวิตครอบครัวเล็กๆ มีลูกน้อยที่น่ารักหรือ ?
ชีวิตต่อสู้ด้วยความรุนแรงกับอำนาจรัฐหรือ ?
ชีวิตที่สุขุม สงบ อ่อนโยน จนๆ ซื่อๆ แต่เป็นประโยชน์
ฉันได้ตัดสินใจแล้วว่าเอาชีวิต สุขุม สงบดีกว่า
หัวเลี้ยวนี้เลือกได้แล้วด้วยความพิจารณาอยู่
หัวต่อที่จะเดินเล่า เราพร้อมเพียงใด
แปลกจริงหนอ ! ทางสายนี้มีด่านเก็บค่าผ่านด้วย
มองทางเดินร่มรื่น เงียบเหงา สงบวังเวงจัง
เอาละ ตัดสินใจแล้วก็ลองดูสักชาติหนึ่ง
ฉันคิดไว้ว่า ถ้าไม่ดีจริง ชาติหน้าค่อยเปลี่ยนใหม่
เดินไปถึงด่าน มีประตูแคบๆ นายด่านยิ้มอย่างใจดี
ถามว่า : จะไปไหน ทางนี้แน่ละหรือ?
ฉันยิ้มตอบ : จะไป...ด้วยเสียงนิ่มนวล
นายด่าน : หนทางไกล ผู้เดินทางต้องวางสัมภาระไว้ข้างนอก
ฉัน : ห้ามเอาอะไรเข้าไปบ้างละ ?
นายด่าน : ยิ้มอย่างเยือกเย็น ก็ สมบัติและญาติ
ฉัน : นิ่งสักครู่ ตรึกตรองอีกครั้ง
ฉันตอบว่า : ไม่มีปัญหา
นั่นใครวิ่งตามมา เรียกฉันให้หยุดด้วย

เพื่อน : เธอกำลังเห็นแก่ตัวที่สุด ทอดทิ้งอุดมการณ์
: เด็กน้อยตาดำๆ กำลังคอยเธออยู่
: พ่อ แม่ พี่น้องเรียกร้องหาเธอ 
: แม่เธอกำลังป่วย เธอคนอกตัญญู
: หัวใจสะท้านเสียววูบ สำนึกความรับผิดชอบครบบริบูรณ์
ได้แต่รำพึงว่า เธอไม่เข้าใจฉัน
ทำอย่างไรได้ ฉันดำเนินชีวิตขบถเสียแล้ว

ฉัน : เพื่อนเอ๋ย ชีวิตเดิมๆ นั้น ไม่มีปัญหาหรอก
ฉันอยู่ได้อย่างสบาย ท่ามกลางไออุ่นและดอกไม้
ดูซิ ! แม้แต่ฟ้ายังร้องไห้ น้ำตาไหลคร่ำครวญ
โลกไร้คุณธรรม คนในโลกจึงโหดร้าย
ฉันจะติดอาวุธแห่งความรัก
เพื่อยิงกระสุนแห่งความเมตตาไปยังสรรพสัตว์
ภารกิจทางโลกมิได้ขาดแคลนนักหรอก
ผู้สืบสานต่อก็หาได้โดยไม่ยาก
ฉันไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ใครมาเข้าใจ
มาเห็นใจ มาสรรเสริญ ชื่นชม

แล้วก็วางภาระเดินผ่านด่านเข้าไป
อะไรกันนั่น ! ทางเดินเกลื่อนไปด้วยเศษแก้ว เศษกระเบื้อง
และหนามแหลมจากต้นไม้เลื้อย
ดูเท้า ! ฉันก็ได้ทิ้งรองเท้าเสียแล้ว
คนที่เขาเดินไปก่อนลิบๆ หลายคน
บางคนเดินอย่างสบาย สดชื่นเบิกบาน
แต่ดูคนโน้นซิ เขาหกล้มแล้ว
กระเบื้องบาดเลือดออกแดง
นั่งลงร้องไห้ไม่ยอมเดินต่อ

อีกคนหนึ่ง เดินขากระเผลก ย่องๆ แบบเสียวเท้า
แต่ก็อดทนเดินต่อไป ด้วยความระทม
มีคนเดินสวนออกมา บอกฉันว่า...
กลับไปเถิดนะ ! ด้วยความหวังดี, แล้วจะเสียใจ
ฉันยืนครุ่นคิดอยู่ว่า เอ ! เราจะเดินแบบไหน
ทำไมจึงมีคนเดินอย่างสบาย มีคนบาดเจ็บ ร้องไห้
และมีบางคนหันหลังกลับ
อะไรเป็นเหตุให้แต่ละคนมีพฤติกรรมต่างๆ กัน ?
ไม่เอาละ ขาเป๋ ร้องไห้ ! เอาอย่างคนเบิกบานดีกว่า
แล้วจะทำอย่างไรดีละ เราก็ไม่ใช่ผู้ชำนาญเสียด้วยซิ
จะกลับหลังหันก็ใช่ที่ เพราะมิใช่วิสัย
ยังไม่ได้ทดลองเลย...เอาละนะ
เตรียมอกเตรียมใจ ... ฉันยอมทุกอย่างแล้ว
สติตั้งมั่น ระมัดระวังให้ดี
ค่อยๆ ก้าวอย่างมั่นคง แผ่วเบา ช้าๆ แต่แน่นอน
จิตแน่วแน่ เด็ดเดี่ยว เร่งกำลังต่อสู้ขึ้นมา
ก้าวได้สอง-สามก้าวแล้ว ยังปลอดภัย
มีอะไร เกิดขึ้นแล้วฉันจะบอกท่านต่อไป

ใบบัวบก



อตฺตทตฺถํ ปรตํเถน
พหุนาปิ น หาปเย
อตฺตทตฺถมภิญญาย
สทตฺถปสุโต สิยา

ถึงจะทำประโยชน์แก่คนอื่นมากมาย
ก็ไม่ควรละทิ้งจุดหมายปลายทางของตน
เมื่อรู้ว่าอะไรคือจุดหมายปลายทางของตนแล้ว
ก็ควรใฝ่ใจขวนขวาย
พระพุทธวจนะ



เป็น ครูควรรอบรู้ สอนคน
ครู หมั่นแก้ไขตน ค่าล้ำ
ต้อง มองเพื่อมุ่งผล ส่วนร่วม รวมนา
ยึด แต่สิ่งช่วยค้ำ เทิดไว้ คุณธรรม
คุณ ค่าใดเล่าล้ำ คุณครู
ธรรม จักรแผ่เฟื่องฟู ฟ่องหล้า
ของ ดีที่ควรชู ควรเชิด
ครู อื่นใดทั่วฟ้า ค่าน้อยพุทธคุณ

กรองทอง



สิ่งประเสริฐที่สุดสำหรับมนุษย์
ไม่มีอะไรจะมีค่าเกินไปกว่าการเสียสละ
เพื่อสร้างสรรสังคม
สร้างสรรเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง
ให้ดำรงชีวิตอยู่บนโลกนี้ด้วยความสุข
การแสวงหาแนวทางใหม่
เพื่อชี้นำให้เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
เดินไปสู่จุดหมายปลายทางแห่งความสงบสุข
บางครั้ง อาจเจ็บปวด
แต่ความดีนั้นจะเป็นนิรันดร์...

อารมณ์ พงศ์พงัน


ที่พระพุทธองค์ทรงตั้งสังคมสงฆ์ขึ้น
ก็เพื่อจะให้เป็นแบบอย่าง แห่งการสร้างสรร สังคมมนุษย์ขึ้นใหม่
ให้เป็นสังคมที่มุ่งถือ ความเป็นพระอริยเจ้า
แม้จะยังเข้าไม่ถึงขั้นนั้น
ก็ยังเป็นสังคมที่เป็นแบบ อย่างทางคุณค่า
ให้แก่สังคมภายนอกได้
ให้สังคมภายนอกเห็น และซาบซึ้ง
ถึงการไม่ติดยึด การไม่เห็นแก่ตัว
การไม่มัวเมาในกาม และในโลกธรรมต่างๆ
ทั้งยังเป็นสังคมแห่งความเมตตากรุณา
ที่มีการให้ยิ่งกว่าการรับอีกด้วย

ส.ศิวรักษ์



อำนาจเงิน
ก็เป็นอุปสรรคสำคัญ ต่อชีวิตสมณะ
เพราะสำหรับพระภิกษุ
ความยากจน คือคุณธรรมที่ยากที่สุดที่จะปฏิบัติ
ยากกว่าการมีชีวิตโสดเสียอีก
แต่ก็เป็นเรื่องที่แปลก
ที่เกิดกับพระภิกษุ ที่ถือความยากจนจริงๆ
ยิ่งท่านศักดิ์สิทธิ์เท่าใด
ประชาชนก็ยิ่งช่วยเหลือท่านเท่านั้น
ยิ่งท่านยากจน ท่านก็ยิ่งได้รับมาก
ยิ่งท่านหนีความรวย ท่านก็ยิ่งรวย
แปลจาก... A.PEIRISS S.J.
โดย ดร.เสรี พงศ์พิศ


 

โลกนี้ พร่องอยู่เนืองนิจ
ไม่เคยเห็น และไม่เคยพอ...
ชีวิตก็เช่นกัน...
ไม่เคยอิ่มในความอยาก
ไม่เคยหยุดการแสวงหา "เหยื่อ"
ชีวิตนี้... จึงเร่าร้อน... กระหาย...
กระวนกระวาย... ต่อสู้...
และดิ้นรน... มิรู้สิ้นสุด
เมื่อไรหนอ... โลกและชีวิตนี้...
จะพบกับคำว่า "หยุด" กันเสียที

อุทัย



กับความมืดที่เยือนมาเมื่อคราพลบ
และซากศพในโลงดูโหวงเหวง
คนเกิดมาก็เป็นเช่นนี้เอง
กอบโกยเก่งก็ยังตายวายชีวา
เสียงพระสวดชวนเศร้าให้เราคิด
ถึงชีวิตกับความตายในภายหน้า
อนิจจัง วัฏฏะ สังขารา
เราเกิดมากอบโกยไปทำไมกัน

ละม่อม รัตนดิลก


 

คนที่ติดหลับติดนอน ก็จะง่วงนั้น เป็นกิเลสธรรมดา
ส่วนพระโยคาวจร ที่รู้รสของความสงบ ความหยุดว่าสบายดี
ก็จะ "หลง" ติดจิตหยุด จิตสงบ ก็มักจะหรี่เก่ง
มักจะหลบผล็อย เข้าสู่จุดสงบ จุดพักหนักขึ้นไปอีก
เรียกว่า ยิ่งมีกิเลส "ถีนมิทธะ" หนักจัดกว่าถีนมิทธะ
ของคนธรรมดา หนายิ่งเสียอีก จะเป็นได้ดั่งนี้จริงๆ
ถ้าพระโยคาวจรนั้นๆ ไม่เรียนรู้เหตุผล หรือทฤษฎีแท้ๆ มาก่อน
และไม่ได้สังวร ฝึกฆ่า "ถีนมิทธะ" นี้ให้ดีๆ มาก่อน
หนักเข้าๆ ก็จะเป็นเดียรถีย์ ติดสงบ เฉื่อยชา เซื่องซึม
เกียจคร้าน ไม่ทำงาน โง่เงื่อง กลายเป็นคนคร่ำครึ
ศาสนาพุทธทุกวันนี้ กำลังถูกผลักดัน ให้เป็นไปสู่จุดนี้ !

สมณะโพธิรักษ์


ความเอ๋ย ความเจ็บไข้
มันมีไว้ ทุกข์กันเล่น เช่นนั้นหรือ ?
อ๋อ ! มิใช่ มีไว้ เพื่อฝึกปรือ
ให้รีบรื้อ ความรู้ ขึ้นสู่ตน
คืออย่างง่าย นานนาน ผ่านมาครั้ง
คิดดูมั่ง วันสบาย มากหลายหน
ถ้ามิชอบ แก่เจ็บตาย และว่ายวน
จงรีบค้น พระนิพพาน อย่าคร้านเอย

สิริวยาส



ผู้มีน้อยแต่กินมากนั้นคือ
ผู้ยังเบียดเบียนตน ทั้งเบียดเบียนผู้อื่น
ผู้มีมากและกินมากนั้นคือ
ผู้ยังเบียดเบียนตน
ผู้มีน้อยและกินน้อยได้นั้น คือ
ผู้ไม่เบียดเบียนตน ทั้งไม่เบียดเบียนผู้อื่น
ผู้จะมีมากก็ได้และกินน้อยก็สบายนั้น คือ
ผู้ไม่เบียดเบียนตน ทั้งไม่เบียดเบียนผู้อื่น
และเป็นประโยชน์ เกื้อกูลผู้อื่นด้วย

อโศก



การเพ่งยึดต่อสิ่งที่ได้นั้นๆ จนเกินไปนั้น
ไม่ว่าจะได้อะไร ? แล้ว "หลง" สิ่งที่ได้นั้น จน "ยึด"
ว่า เราจะต้องได้ เราจะต้องมี เราจะต้องเป็นสิ่งนั้น
จะต้องคงได้คงมีคงเป็น อยู่เสมอๆ อยู่เยี่ยงนั้น
หรือ จะต้อง "เกิด" อย่างนั้นๆ ให้ได้
จะต้อง "ทรงไว้" อย่างนั้นเสมอๆ ลดไม่ได้ แปรไม่ได้
เพราะอย่างนี้ดีเหลือเกิน ถูกต้องเหลือเกิน
ผู้ยึดเช่นนี้ ผู้มีความรู้สึกเช่นนี้
ผู้ยังมีตัวนี้เกิดอย่างไม่รู้ตัว
จะยังมีทุกข์ จะยังไม่จบกิจ

สมณะโพธิรักษ์


 

เมื่อสิ่งนั้นดีจริง ถูกจริง
ก็จงยืนหยัดเถิด
เพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่โลก
เพื่อเป็นหลักยึด
เพื่อเป็น "ที่พึ่ง" อันยิ่งยอด
เพื่อเป็น "โพธิสัตว์"
เพื่อความเป็น "อรหันต์"
ที่แท้ของพุทธศาสนา
ที่มีภูมิ มีอธิปัญญา
เข้าใจใน "อนันตัง"
เข้าใจใน "ปฏิจจสมุปบาท"
เข้าใจใน "สันตติ"
เข้าใจ "อิทัปปัจจยตา"
อย่างสุขุมละเอียดแท้
อันจะต้องควรมี ควรเป็น อยู่เป็น "ที่สุด" ให้ได้

สมณะโพธิรักษ์



ธารน้ำส่งเสียงกึกก้องกัมปนาท
จากหยดน้ำบนใบไม้ ยอดหญ้า
กระโดดลงสู่กระแสธาร ทีละหยด
จากหยดน้ำบนฟากฟ้า
หลั่งลงสู่เบื้องล่าง อย่างอาจหาญ
ไหลรวมร่วมกัน
ก่อกำเนิดกระแสธาร อันเชี่ยวกราก
ที่ยากแก่ภูผาใดจะขวางกั้น
คะครื้น ! ...คะครื้น !
กองทัพธรรมยาตราแล้ว
นักรบจากทุกสารทิศ
ท่านฝึกกระบวนยุทธ อย่างแกล้วกล้า
กระโดดจับมือประสาน
พลิกเปลี่ยนหยาดหยด เป็นสายธาร
อันกราดเกรี้ยวแต่จริงใจ
มาร...หนีเถอะ !

 

ปัญหาสำคัญของมนุษย์ในสังคม คือ
ค่านิยมที่เลวนั้น ทำได้ง่ายดายกว่า
ค่านิยมดีไม่ค่อยทำกัน
เราขาดการกระตุ้น ถึงคุณค่าที่แท้จริง ของค่านิยมที่ดี
รวมทั้งผู้นำ ที่จะต้องปฏิบัติตาม ในสิ่งที่พูดด้วย
อันเป็นปัญหาสำคัญ
คำว่าผู้นำในที่นี้ มิใช่ต้องเป็นใหญ่ เป็นโต มาจากไหน
เราทุกคนมีสิทธิ์ ที่จะเป็นผู้นำ
ที่จะสร้างสรร ค่านิยมที่ดี ให้แก่สังคม
เป็นการจรรโลงสังคม ให้ผาสุกและสดใส
เราจะปัดความรับผิดชอบ ให้แก่สังคมไม่ได้
ในเมื่อเราทุกคนเป็นส่วนหนึ่ง ของสังคม ที่จะต้องรับผิดชอบ
เราคือสังคม และสังคมก็คือเรา
สังคมเดือดร้อน เรานี้แหละ จะเดือดร้อนตามไปด้วย
หากเราสร้างค่านิยม ที่ดีงามได้ จงรีบสร้าง
แม้จะเป็นน้ำใสบริสุทธิ์ หนึ่งหยดในน้ำโคลน ก็ขอให้เป็น
ยังดีกว่า ที่จะมีแต่ น้ำโคลนทั้งหมด...ฯ

อโศก



สละทรัพย ์เพื่อรักษาอวัยวะ ผู้มีทรัพย์ก็จะทำ
สละอวัยวะ เพื่อรักษาชีวิต ทุกคนก็จะทำ เพราะเป็นทางถูกต้อง
สละทั้งทรัพย์ อวัยวะ และชีวิต เพื่อรักษาธรรม
เราก็จะต้องทำ เพราะไม่มีอะไร จะเหนือไปกว่า "ธรรม"
แม้ชีวิตเลือดเนื้อ มันก็เป็นเพียงความประชุม ของธาตุ
ที่ควรจะก่อประโยชน์ อันสูงและดีงาม เท่านั้น
เมื่อมันจะรักษาธรรม ปกป้องธรรม ให้คงอยู่ และเจริญไป
มันก็คุ้มค่า และควรแลกที่สุด...ฯ
(สารอโศก ฉบับ กองทัพธรรม ปีที่ 3 ฉบับที่ 11 มิถุนายน 2523)


 

บทเพลงแห่งความซ้ำซาก
ความซ้ำซาก ไม่ใช่ความน่าเบื่อหน่าย (เซ็ง) แต่แท้จริง เป็นการสร้าง ความปกติ และเป็นการสร้าง ความถาวร มั่นคง ต่างหาก
ดังนั้น... ผู้ไม่ทำความซ้ำซาก ในสิ่งที่ควร กระทำ อย่างยิ่ง จึงคือ ผู้จะไม่ถึง ความสำเร็จกิจนั้นๆ ได้เลย

ความซ้ำซาก ไม่ใช่ความน่าเบื่อหน่าย (สุดเซ็ง) ไม่เช่นนั้น เราจะยิ่งนอน ก็ยิ่งจะเบื่อ การนอน เป็นแน่แท้ ซึ่งความจริง หาเป็น เช่นนั้นไม่ แต่ "ความมีอารมณ์ เบื่อหน่าย" ในสิ่งที่ จริงๆ แล้ว ยิ่งซ้ำซาก ก็ยิ่งทำให้เรา ได้ดีนั้น มันคือ ตัว "หน้าโง่" ร้อยเปอร์เซ็นต์ ของเราต่างหาก หรือที่แท้ก็คือ กิเลสสดๆ ที่มันกำลัง จะมีชัยชนะ อย่างกระหยิ่ม นั่นเอง

ความซ้ำซาก ไม่ใช่ความน่าเบื่อหน่าย (แสนเซ็ง) แต่แท้จริงแล้ว ยิ่งซ้ำซาก เรายิ่งจะกลายเป็น เคยในกิจนั้น ง่ายในกิจนั้น เป็นที่สุด นั่นต่างหาก

รู้เถิดว่า... ถ้าเจ้ากิเลส ตัวที่ชื่อว่า "ความเบื่อหน่าย" นี้
มันเข้ามา เยี่ยมกราย ในอารมณ์คุณ เมื่อไร เมื่อนั้นแหละ คือ คุณกำลัง ประจัญ ต่ออุปสรรค ตัวเลวร้าย และฤทธิ์มาก แต่เยียบเย็น และแสนแสบที่สุด ที่จะทำให้ คุณล้มเหลว ในกิจนั้นๆ เอาง่ายๆ กว่าอุปสรรค ร้อยแปด อื่นใดทีเดียว !

แท้จริง มันคือ มารลวง หรือความหน้าโง่ ชั่วแวบของเรา ร้อยเปอร์เซ็นต์ แท้ๆ จริงๆ ซึ่งคุณอย่าเผลอ ให้มันอยู่กับเรา หลายแวบ เป็นอันขาด มิฉะนั้น มันจะเกิดเป็น ความหน้าโง่ ตัวถาวร อยู่กับเรา พร้อมกับ ความล้มเหลว อย่างสมบูรณ์

ถ้าคุณแน่ใจว่า กิจนั้นดีแน่แล้ว เป็นกิจที่น่าได้ น่ามี น่าเป็น อย่างยิ่งแล้ว อย่าโง่เสียเวลา มีอารมณ์เบื่อหน่ายเลย แม้แต่เสี้ยว วินาที เป็นเด็ดขาด

ความซ้ำซาก ไม่ใช่ ความน่าเบื่อหน่าย เลยจริงๆ ไม่เช่นนั้น กลางวัน แล้วก็กลางคืน ที่ซ้ำซากนี่ จะมีอยู่ แล้วๆ เล่าๆ ไม่ได้เป็นอันขาด

ดังนั้น ถ้าคุณแน่ใจว่า กิจนี้ดีแน่แล้ว เป็นกิจที่ น่าได้ น่ามี น่าเป็น อย่างที่สุดแล้ว คุณจงรู้เถิดว่า อารมณ์เบื่อหน่าย ที่เกิดขึ้น กับคุณ เมื่อใด นั่นคือ ความล้มเหลว ในกิจนั้น ของคุณ กำลังโผล่หน้า มาเยี่ยมกรายคุณ อย่างถึงหน้าบ้าน แล้วทีเดียว

หากคุณไม่ไล่ เจ้าตัวอารมณ์นี้ ออกไปจาก หน้าบ้าน อย่างเร็วด่วน ให้ได้แล้วละก็... ไม่นานเลย คุณก็จะอยู่กับ ความล้มเหลว และแต่งงานกับ เจ้าความเบื่อหน่าย ในกิจนั้น อย่างสุดรัก สุดบูชา

ความซ้ำซาก ไม่ใช่ ความน่าเบื่อหน่าย (บรมเซ็ง) เลยจริงๆ ไม่เช่นนั้น คุณจะต้องเป็นทุกข์ และทรมานมากเลย ที่คุณจะต้อง เดิน-ยืน-นั่ง-นอน หรือต้องกิน ต้องอุจจาระ อยู่อย่างซ้ำซาก แท้ๆ เหมือนกัน คุณจะหัดซ้ำซาก ในอะไรก็จะได้ คุณจะเลิก ไม่ซ้ำซาก ในอะไร ก็จะได้เป็นที่สุด

ดังนั้น ถ้ากิจใดคุณแน่ใจว่า กิจนั้น ดีแน่แล้ว เป็นกิจที่น่าได้ น่ามี น่าเป็น อย่างที่สุดแล้ว คุณอย่าให้มี "ความเบื่อหน่าย" เกิดมา แทรกคั่น ในกิจนั้นๆ เลยเป็นอันขาด

แต่จงมีความร่าเริง "ฉันทะ" กับกิจนั้นเสียเลย "วิริยะ" เพียรเต็มที่
"จิตตะ" คือ เปิดใจ ปล่อยใจ วางใจ ยกหัวใจ ให้กับกิจนั้นๆ ไปเลย แล้วก็"วิมังสา" คือ ลงมือฝึกปรือ ใช้ปัญญา ทำกับกิจนั้น ให้ดีที่สุด ขึ้นเรื่อยๆ ให้ได้เสมอ ฉะนี้แล คือ ทฤษฎีแห่ง ความสำเร็จ ที่จะพ้นทุกข์แท้ และจะสร้างสรร ความประเสริฐสุดได้จริง

ความซ้ำซาก ไม่ใช่ความน่าเบื่อหน่าย เลยจริงๆ แต่ตัว "ความเบื่อหน่าย" นั้นแหละ คือ ตัว "ทุกข์" แท้ๆ และคือ ตัวที่จะทำให้ ผลักเบน จาก "ความดี" หรือ "ความไม่ดี" กันอย่างสำคัญ เลยทีเดียว

ดังนั้น ถ้าใครใช้ปัญญาวิเคราะห์ จนรู้แน่ใจแล้ว ว่านี้คือ "ความไม่ดี" ก็จงตัดขาด หลีกเร้นอย่า "ซ้ำซาก" อยู่ว่านี้คือ "ความดี" ก็จงตัดขาด "ความเบื่อหน่าย" ออกไป ให้เด็ดขาด แล้วจง ซ้ำซากอยู่เถิด จนกว่า เราจะหมดสิ้น เหตุปัจจัย

ความซ้าซาก ไม่ใช่ความน่าเบื่อหน่ายเลย แท้จริงนั้น "ความซ้ำซาก" คือ ความอมตะ คือ ความนิรันดร ข้อสำคัญ คือ เราจะซ้ำซาก กิจนี้อยู่ เพราะมันยังชื่อว่าดี ว่าสมควรแล้วอยู่จริง หรือ จะไม่ซ้ำซากกิจนี้ ต่อไปแล้ว เพราะมันชื่อว่าไม่ดี ว่าไม่สมควรแล้ว โดยใช้ปัญญา อันยิ่งแท้ อย่างปราศจาก ความลำเอียง และหรือ อย่างไม่มี ความเห็นแก่ตัวเลย ด้วยสัปปุริสธรรม ๗ กันจริงเท่านั้น

ดังนั้น ผู้ถึงธรรมแล้ว จึงไม่มี "ความเบื่อหน่าย" ในอะไรเลย และจะไม่ติด แม้ในสิ่งส่วนที่ชื่อว่า ดียิ่งยอดใดๆ ด้วย แต่ท่าน รู้เป็น-รู้ตาย รู้เกิด-รู้ดับ รู้พัก-รู้เพียร และ ท่านตัด-ท่านต่อ ของท่าน ได้แน่แท้ เด็ดขาดถึงที่สุด แล้วจริงๆ

ความซ้ำซาก ไม่ใช่ความน่าเบื่อหน่าย (มหาเซ็ง) หรอก
ถ้าการซ้ำซากนั้น เป็นไปเพื่อ ทำให้เกิด ความละหน่าย
เกิดความเลิก ความพราก ความละคลาย แล้วละก็... ยิ่งจะต้อง ซ้ำซาก ให้ยิ่งๆ เสียด้วยซ้ำ ต่างหาก เพื่อความหน่าย ความเลิก ฯลฯ นั้นๆ จะได้เต็ม จะได้เป็นจริง จะได้สำเร็จจบครบ

และแล้วที่สุด แห่งที่สุดอีก เรายังจะต้อง มาทำใจ ไม่ให้หน่ายชัง
ไม่ให้รังเกียจ สิ่งที่เราละหน่าย เราหยุด เลิกมาได้นั้นๆ อย่างอยู่ด้วยกัน ได้สัมผัส สัมพันธ์กันอยู่ก็ได้ โดยไม่ทุกข์ ไม่ผลัก-ไม่ดูด ไม่ชอบ-ไม่ชัง เป็นสุดท้ายจริงๆ ด้วยซ้ำไป-เห็นไหม

ความซ้ำซาก ไม่ใช่ความน่าเบื่อหน่าย (บรมเซ็งหรอก) ถ้าความซ้ำซากนั้น คือการสร้างสรร คือ ความดี คือ ความเจริญ แท้จริงแล้ว ความซ้ำซากนั้นๆ ยิ่งจะทำให้เราง่าย เราเคย เราสบาย ในกิจนั้นๆ ต่างหาก

และ ถ้าแม้เราโมหะ หรืออวิชชา ก็จะทำให้ติด ให้หลง เอาเสียด้วยซ้ำ จึงต้องรู้ ให้แน่แท้ว่า อะไรในโลกนี้ ก็ไม่น่าติด น่าหลง เป็นอันขาด แล้วเราก็ ไม่ต้องมี ความน่าเบื่อหน่ายใดๆ เลย หรือ ถ้าจะมีเป็นสุดท้ายจริงๆ ก็ความเป็น ผู้เด็ดไม่ขาด ในความซ้ำซากนั้นๆ เท่านั้นแหละ คือ "ทุกข์" ที่เหลือ

ความซ้ำซาก ไม่ใช่ความน่าเบื่อหน่ายหรอก แต่ถ้าความซ้ำซากนั้น ยิ่งทำให้ติด ทำให้หลงเสพย์ อยู่ละก็... จงหยุดซ้ำซาก สิ่งนั้นมาก่อน แล้วค่อยตั้งหลัก เข้าไปฝึกเคย ฝึกชิน จนซ้ำซาก สัมผัส สัมพันธ์กันได้ เป็นที่สุดเถิด
หากสิ่งนั้น กิจนั้น เป็นกุศล เป็นการสร้างสรร ถูกธรรมแท้ๆ

แต่ถ้าสิ่งนั้น กิจนั้น เป็นอกุศล เป็นความไม่เจริญ ไม่สร้างสรรอะไร ก็จงหยุดซ้ำซาก ให้ได้เด็ดขาดเถิด หรือ ยิ่งติดสิ่งนั้น กิจนั้น อยู่เก่า อยู่เดิม แล้วละก็... ยิ่งจะต้อง หัดเลิก หัดห่าง การซ้ำซากนั้นๆ มาให้ได้
จนเลิกขาดได้ เป็นที่สุดเทอญ

แล้วจะใช้ภาษา เรียกว่า "เบื่อหน่ายสิ่งนั้น" ก็ได้ และก็จง เข้าใจเถอะว่า แม้อย่างนั้น จิตเราต้อง ไม่ชอบ-ไม่ชัง ในอะไร เป็นที่สุด

สมณะโพธิรักษ์



ชีวิตยัง ไม่สิ้น ต้องดิ้นไป
เกิดเป็นคน อย่าประมาท ขาดสติ
ต้องเข้มแข็ง มีตบะ สมาธิ
ละทิฐิ ความเมามัว ตัวเลวทราม
ชั่วเจ็ดที ดีเจ็ดครั้ง ตั้งใจสู้
พึงรอบรู้ พึงสังเกต อย่าเข็ดขาม
ถูกติฉิน นินทา ด่าประณาม
ใช่เป็นตาม คำคนแช่ง แกล้ง...ทำลาย
ชุมพล โฆวาสินธุ์



จอมโจรบัณฑิต
ใช่สิ...ฉันมันยอด นักเสแสร้ง
เสแสร้งได้อย่าง เนียนสุขุม
ยิ่งฉันต้องการ สิ่งไหน มากเพียงใด
ฉันก็จะดิ้น ทำมารยา ได้มากเพียงนั้น
ฉันรู้...รู้ของฉัน อยู่คนเดียว
ไม่มีใครหรอก ที่จะทันเล่ห์เหลี่ยม ของฉัน

ใช่สิ...ฉันมัน นักเสแสร้งชั้นฟ้า
แม้คนจะมีทั้งโลก แต่ฉันก็ทำทุกอย่าง
เพียงเพื่อตัวเอง ทุกสิ่งที่ฉันแสดงออก
เกิดล้วน มิใช่ความจริง แต่ฉันก็กลบเกลื่อน อำพราง ฝันฝันเอา ว่าใสบริสุทธิ์ อยู่คนเดียว เพราะมัน จริงเกินไป ที่ฉันจะกล้ายอมรับ จริงเกินไป ที่จะกล้ารู้ กล้าเห็น ว่าหัวใจกำลัง ทำแอบแฝง

ใช่สิ...ฉันมันยอด จอมมายา แสร้งทำเป็น ยิ้ม หัวเราะ ย่างสดใส แสร้งทำเป็น รื่นเริง ยิ้มหวัว อย่างซื่อเด๋อ ชวนหวัว อย่างเซ่อ บริสุทธิ์ แต่ก็ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครเห็น ธาตุแท้ ของฉัน...

ฉันชอบทำเป็น นักบุญ ทำเป็นคนดี ทำเป็นคนสูง ประเสริฐ เสแสร้ง หลอกคนชาวโลก ราวกับว่า เจ้าความดี เหล่านั้น อยู่กับฉันจริงๆ

ใช่สิ...ฉันนี่แหละ "จอมโจรบัณฑิต !"

ปีศาจ คาบคัมภีร์



มนุษย์เราใช่จะดี ตรงมีทรัพย์
มิได้นับว่าดีนัก ศักดิ์สูงส่ง
ไม่กำหนดว่าดี ที่ต่ำพงศ์
ไม่ถือตรงว่าดี ที่สำนวน
แท้ที่จริงมนุษย์เรา ทุกเผ่าผู้
จะเลิศหรูสมสง่า มีค่าถ้วน
ใช่จะอยู่สิ่งที่ว่า มาทั้งมวล
เรานับล้วน "ค่าของคน" ที่ผลงาน
อุดร แสงพิงค์



"คนพาล" เป็นคนปฏิบัติวินัย ด้วยความลำบาก ยากเย็น
พูดตรงๆ คือ ไม่ชอบระเบียบวินัย เกลียดวินัย เกลียดคน ที่ชอบพูดถึงวินัย เกลียดคน ที่คอยจับผิด ทางวินัย
เพราะฉะนั้น ใครก็ตาม ที่ชอบประพฤติ เหยียบย่ำ ระเบียบวินัย
จะเป็น วินัยทางโลก หรือ วินัยทางศาสนา ก็ตาม ชอบวางตัว เป็นอริ กับผู้คอยกวดขัน ทางวินัย รู้สึกตีบตันใจ เมื่อจะต้องอยู่ ในกรอบ แห่งวินัย พึงสันนิษฐานว่า ผู้นั้นจิตใจ อ่อนแอ กำลังทางใจน้อย และนั่นก็ตรงกับ บุคคลที่ ทางศาสนา เรียกว่า "คนพาล" นั่นเอง

ปิ่น มุทุกัณฑ์


 

ปสฺส จิตฺตกตํ พิมฺพํ
อรุกายํ สมุสฺสิตํ
อาตุรํ พหุสงฺกปฺปํ
ยสฺส นตฺถิ ธุวํ ฐิติ

จงดูร่างกายที่ว่าสวยงามนี้เถิด
เต็มไปด้วยแผล สร้างขึ้นด้วยกระดูก
เต็มด้วยโรค มากด้วยความครุ่นคิด ปรารถนา
หาความยั่งยืน ถาวรมิได้
พระพุทธวจนะ



ช้ำแค่ไหนก็จะเดิน
ก้าวที่สี่ กำลังเริ่มขยับ อย่างไม่เต็มเท้านัก
เอ ! นั่นคนสร้างถนน เขาจับกลุ่ม คุยอะไรกันอยู่ มีทั้งผู้เฒ่า และ คนหนุ่มสาวด้วยละ นั่งอยู่ริมถนน นั่นผู้เฒ่าสตรี ลุกยืนขึ้น ชี้มือ สั่งงาน พร้อมทั้ง บอกบทอยู่ พอเหนื่อย ก็เดินไปพัก ใต้ร่มไม้

สาวน้อยทั้งหลาย ก็ลุกขึ้นไป ทำงานการ เก็บเศษกระเบื้อง จากถนน กองไว้ข้างทาง แต่มีคนหนึ่ง กลับเอาหิน ทุบกระเบื้อง ให้แตก แล้วแอบโยน มาที่กลางถนนอีก น่าแปลกจัง ทำอย่างนี้ ไม่ถูกนี่นา ! ใจร้ายจังเลยละ เดี๋ยวฉัน ก็เหยียบถูก เท่านั้นเอง ไม่ถูกต้องเลย

ทำไมเพื่อน เขาไม่ตักเตือน ห้ามปราม หรือว่าผู้นี้ มีสิทธิพิเศษ อะไร ? ให้เหตุผลไม่ได้ ฉันเอง ต้องระวังตัวเอง ให้มากที่สุด

อุ๊ย ! เสียวแปลบที่ใต้เท้า เลือดไหลซึม ออกมา เหยียบเศษ กระเบื้อง เข้าไปแล้วซิเรา ปวดไม่น้อย ฉันอดทน เดินทางไปหา คนกลุ่มนั้น เขาคงจะช่วยเหลือฉันได้แน่

นั่นคนที่ทุบ เศษกระเบื้อง ให้แตกนั้น ถามฉัน อย่างเมตตาว่า.. กระเบื้องตำหรือจ๊ะ คงปวดมาก น่าสงสารจัง

เป็นไปได้หรือนี่ ที่คำพูด กับพฤติกรรม ของเขา ไม่ตรงกัน
มายาวี หรือเปล่าหนอ ?

คนเก็บเศษกระเบื้อง พูดว่า เซ่อเซอะ ซุ่มซ่าม อย่างนี้ ก็สมควรแล้ว ที่จะเจ็บตัว โธ่ ! ทำไม เขาต้องมา ซ้ำเติม ว่าฉันด้วยล่ะ

ผู้มีเมตตาท่านหนึ่ง มาดูแผลให้ฉัน ท่านจับเท้าฉัน บ่งเศษ วัสดุออก ใส่ยาให้ อย่างไม่รังเกียจ

โอ ! คนใจดีก็มีอยู่ ท่านช่างเอื้ออารี จริงหนอ ! ท่านไม่พูดมาก แต่มีคน ว่าท่านอยู่มาก ท่านยิ้มน้อยๆ ให้ฉัน แล้วกล่าว อย่างสุภาพว่า "อดทน สังวร ระวัง ให้ดี อย่าเพิ่ง เข็ดขยาด
จงเดินช้าๆ ด้วยความสุขุม รู้จักประมาณ กำลังของตน

การเดิน ตามแฟชั่น นั่นไม่ใช่เรื่องจริง ผู้มีปัญญาแล้ว ย่อมรู้ และเข้าใจตัวเอง เดินต่อไปเถอะ เพื่อให้ถึงที่หมาย
ไม่เดินเวลานี้ วันนี้ ชาตินี้ ก็ต้องเดิน เวลาหน้า วันหน้า ชาติหน้า"

ฉันกราบขอบพระคุณท่าน ทำท่าจะเดินต่อไป
ท่านถาม.. หายเจ็บแล้วหรือ ?
ฉัน... พอทนได้
ผู้มีเมตตา... นั่งพักผ่อนก็ได้ กายใจพร้อม แล้วค่อยเดิน
ฉันถาม... "ทำไมคนที่นี่ ตัวใหญ่จังเลย ? ..ทำไม เขาแกล้งโยน กระเบื้อง ไปกลางถนน ทำไม ผู้เฒ่าบางคน จึงใช้อำนาจ บาตรใหญ่ ข่มขู่เด็ก ในเมื่อ ทางประตูเข้า เขียนไว้ว่า
ช้า สุขุม อ่อนโยน เบิกบาน หยุด ไม่เห็นเป็นจริงเลยนี่นา..."

ผู้ทรงปัญญาท่านหนึ่ง นั่งฟังอยู่ใกล้ๆ ยิ้มน้อยๆ ที่มุมปาก
ผู้ทรงปัญญา.. ที่นี่ไม่ใช่ที่มาเสพย์สุข หรือหลบลมร้อน ..ที่นี่ เป็นแหล่ง สำรอกพิษร้าย (กิเลส) ..ผู้มีมรรคผล เท่านั้น ที่ทนอยู่ได้ ..จงฉลาด ในการนำ เอาพิษร้าย มาทำเซรุ่ม เพื่อสร้าง ภูมิต้านทาน ให้แก่ตนเอง ยิ่งขึ้น

พฤติกรรมต่างๆ ที่ได้พบเห็นนี้ ผู้ฉลาด ก็เรียนรู้ ได้รับประโยชน์ จากกิเลส ของคน ผู้โง่เขลา เท่านั้นแหละ ที่ถือสา ไม่ปล่อยวาง
จงเลิกถามว่า ทำไมเขา จึงเป็น อย่างนั้น อย่างนี้ ? ถามตัวเอง ซิว่า ทำอย่างไร เราจึงจะอยู่กับเขา เหล่านั้นได้

เอ้า ! ให้คาถากันหอกปากคมดาบ จงได้ยินสักแต่ว่า ได้ยิน เสียงเป็นเพียง พลังงานรูปหนึ่ง จงอ่อนน้อม ถ่อมตน ให้มาก ที่สุด เพื่อสลายอัตตา เขาทิ่ม แทงหอกมา จะได้ไม่โดน แล้วท่าน ผู้ทรงปัญญา ก็ลุกเดินออกไป

ฉันนั่งใคร่ครวญ คำพูดของท่าน อยู่ครู่หนึ่ง พอจับต้น ชนปลาย เข้าใจด้วยเหตุปัจจัย ว่าเพราะสิ่งนั้น เป็นเหตุ สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น

เอาละ ! ลุกเดินต่อไปดีกว่า นั่งแป้นอยู่นานแล้ว

ใบบัวบก



สงครามความโหดร้าย ทารุณ
เพราะขาดศีลธรรมคุณ ข่มไว้
โลภหลง โกรธเกลียดบุญ บาปส่ง
จึงฆ่าฟันกัน ให้โหดเหี้ยมหิวโหย
เสียงโอดโอยอดกลั้น อดอยาก
ความทุกข์ความลำบาก บดซ้อน
ถึงสิ้นชื่อสิ้นซาก สิ้นชาติ ชนฮา
นี่แหละสงครามร้อน โลกล้วนแหลกสลาย

ส.เชื้อหอม



คนผู้ผิวเผิน หรือผู้ประมาท อวดดี เท่านั้น ที่จะ "รีบลัด" ไปเอาแต่ปลาย ตัดต้นทิ้งเรื่อยไป หรือไม่เห็น ความสำคัญของ "เบื้องต้น" และแล้วก็หลง ถึงขนาด "ดูถูก-เหยียด" เบื้องต้น
เขาก็ทำได้ เป็นได้ ด้วยอำนาจของ "มานะกิเลส" นั้นๆ จริงๆ
เช่น ศีล-สมาธิ-ปัญญา ดังนี้ ผู้หลง "ปัญญา" ก็ดี หรือ ผู้หลง "สมาธิ" ก็ดี ถึงกับดูถูก "ศีล" เหยียดหยาม "ศีล" เลย ก็จะเห็นได้ว่า คนเช่นนี้ มีอยู่จริง

สมณะโพธิรักษ์



"ตนอันยังชีวิตไปแต่พอดี" อย่างไม่มากไป
นี่แหละ มนุษย์รู้ตน รู้ตัว ได้ยากที่สุด
ส่วนมาก มีแต่จะประคบประหงมตน และตามใจตนเอง มากเกินไป อยู่เสียทั้งนั้น "ตนอันยังมีชีวิตไป แต่สร้างสรร คุณงามความดี" อย่างไม่น้อยไป
นี่แหละ มนุษย์รู้ตน รู้ตัว ได้ยากที่สุด ส่วนมาก มีแต่จะประคบ ประหงมตน
และตามใจตนเอง มากเกินไป อยู่เสียทั้งนั้น

สมณะโพธิรักษ์



เราไม่อยากให้คนมาวัด
แล้วก็คิดแต่จะให้เงินทำบุญ
จนกลายเป็นประเพณี
ผู้ที่ขัดสนทางด้านนี้
ก็พลอยอึดอัด กลัดกลุ้มไปด้วย
การมารับศีล รับธรรมไปปฏิบัติ
นั่นแหละคือ เป้าหมาย ที่แท้จริง ของการมาวัด

ชาวอโศก


 

นักปฏิบัติธรรม
ที่ทำความเข้าใจได้ดีๆ แล้ว
จึงจะต้องหัดมั่นใจ
หัดกำหนดรู้สภาพ "จิต"
ตัวที่ใสที่สุด สว่างที่สุด
มีสภาพบริบูรณ์ที่สุด ของเรานี้ให้ได้
อ่านจิตตัวเองให้ออก
แล้วมี "จิตสภาพเก่งสุด" ตัวนี้
อยู่กับตัวให้ได้เสมอ ๆ
อย่าพราก อย่าห่างมันทีเดียว
ถ้าทำได้ ก็นั่นแหละคือ...
ผู้เที่ยงแล้ว ต่อการจะได้ ตรัสรู้สูงสุด

พระโพธิรักษ์



หั ว ใ จ ห ยุ ด จ ร
หัวใจได้ที่พัก ใจก็จักไม่ร่อนไป
ชีวิตจะเป็นไฉน ไม่สงสัยในอนิจจัง
เหมือนนกตัวน้อยๆ บินล่องลอยรู้ทำรัง
บ่ต้องถูกคุมขัง ดูดุจดังไร้เสรี
กินอยู่อย่างง่ายง่าย บ่วุ่นวายให้หมองศรี
สรรสร้างทางที่ดี บ่ได้มีรังเกียจใคร
เห็นบัวในทุ่งรก เห็นวิหคนกร่อนไป
นกน้อยดูอ่อนใจ มาเกาะใบเพื่อพึ่งบัว
ใจเอยใจที่ดิ้น ยังบ่สิ้นความเมามัว
เออหนอดูน่ากลัว พอรู้ตัวหยุดจรใจ

อธิวาส



คนผู้รวยทรัพย์สิน เงินทอง แล้วได้รับการเคารพ นับถือบูชา
คนผู้สูงด้วยยศถา บรรดาศักดิ์ แล้วได้รับการเคารพ นับถือบูชา
คนผู้มากด้วยสรรเสริญ เยินยอ แล้วได้รับการเคารพ นับถือบูชา
คนผู้โอ่อ่าไปด้วย โลกียสุข สมบูรณ์พูนล้น แล้วได้รับการเคารพ นับถือบูชา จะประเสริฐอะไร...?

คนที่แม้จะจน ก็ได้รับการเคารพบูชา
คนแม้ไม่มียศเลย แล้วได้รับการเคารพบูชา
คนผู้ได้รับแต่คำนินทา เสียด้วยซ้ำ แต่ก็มีคน เคารพ นับถือบูชา

คนผู้ไม่ไยดี โลกียสุขเลย
ทว่าได้รับ การเคารพ นับถือบูชา
นั่นต่างหาก ประเสริฐกว่า...!

สมณะโพธิรักษ์
๓๐ ก.ค. ๒๕๒๓

(สารอโศก ปีที่ 3 ฉบับที่ 12 ประจำเดือน กรกฎาคม 2523)

(หน้า ๑๕)

เม็ดทราย หน้า 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 | 18