3/5

หน้าแรก >[01] ศาสนา > พุทธสถาน > สันติอโศก > ที่ตั้งสำนักงาน-ประวัติ บุคลากร ระเบียบ กิจกรรม องค์ความรู้ ผลิตภัณฑ์

ข. ร่วมฉลองกาญจนาภิเษก

ปี ๒๕๓๙ เป็นปีที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงครองสิริราชสมบัติ เป็นปีที่ ๕๐ สมณะโพธิรักษ์ และชาวอโศก จึงได้ถือเอาพระวิหารฯ อันเป็นที่เคารพสักการบูชาสูงสุดนี้ เป็นราชสักการะ แด่องค์พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว โดยเมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๓๙ ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชา สมณะโพธิรักษ์ ได้นำพาหมู่สงฆ์ และญาติธรรม กระทำพิธีอัญเชิญ พระบรมสารีริกธาตุ พร้อมทั้งพระพุทธรูป ปางต่างๆ หลายสมัยรวม ๑๐ องค์ ขึ้นประดิษฐานไว้ ในพระเจดีย์ทองคำ แล้วอัญเชิญเจดีย์ทองคำ ขึ้นสู่ยอดโดมสูงสุด ของพระวิหารฯ เพื่อเตรียมเฉลิมฉลอง

และในวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๓๙ อันเป็น “วันกาญจนาภิเษก” พ่อท่านฯ ก็พาหมู่กลุ่ม ประกอบพิธี มีการสวดมนต์ ทำวัตรเช้า การแสดงธรรมก่อนฉัน และกิจกรรมภาคบ่าย ส่วนญาติธรรม ก็ได้ร่วมใจกันเปิด ‘โรงบุญมังสวิรัติ’ หลายร้าน ตลอดแนวถนน เพื่อเฉลิมฉลอง วาระอันเป็นมิ่งมหามงคล ครั้งนี้ด้วย

“พุทธสถานสันติอโศก” จึงเป็นที่ประดิษฐานของ สิ่งสักการะบูชาอันสูงสุด เป็นส่วนน้อมนำ ให้เกิดจิตศรัทธาเลื่อมใส ในพระพุทธศาสนา อันเป็นเส้นทางแห่งโลกุตระ ทั้งแก่ชาวอโศก และผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ตลอดจน ผู้เข้ามาเยี่ยมเยือน ดังที่ผู้ถวายที่ดินแปลงนี้ ซึ่งได้จากไป เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๐ ได้เกิดจิตศรัทธาเลื่อมใส อย่างมั่นคง ตราบชีวิตหาไม่.

กาลเวลาผ่านไป ผู้ที่สนใจใฝ่ธรรมก็มากขึ้นตามลำดับ ทั้งได้ลาออกจากงานทางโลก มาเป็นคนวัด และคนในชุมชน ต่างช่วยกันทำงาน ที่เป็นสัมมาอาชีพ ตามหลักอริยมรรค มีองค์ ๘ จนเกิดหน่วยงานต่างๆ ขึ้นหลายหน่วยงาน ภายในชุมชน ซึ่งดำเนินงานโดยใช้หลัก ‘บุญนิยม’ ตามที่สมณะโพธิรักษ์ ได้อบรมและพาทำ

ค. หลักการแห่ง “ระบบบุญนิยม

ขอบข่ายของระบบบุญนิยม:
::
ธุรกิจการค้า   :: การศึกษา   :: กสิกรรม   :: อุตสาหกรรม   :: การเงินการธนาคาร   
::
สาธารณสุข   :: การบริโภค   :: การสื่อสาร   :: การเมือง   :: ศิลปะ

อุดมการณ์

๑. แรงงานฟรี ๒. ปลอดหนี้ ๓. ไม่มีดอกเบี้ย ๔. เฉลี่ยทรัพย์เข้ากองบุญ

หลักการตลาด

๑. ขายของที่ดี ๒. ราคาถูก ๓. ซื่อสัตย์ ๔. มีน้ำใจ

นโยบายการค้า

๑. ขายถูก ๒. ไม่ฉวยโอกาส ๓. ขยัน อุตสาหะ ๔. ประณีต ประหยัด

โดยมี อุดมคติในการขายราคาถูกเป็น ๔ ระดับ คือ

ขั้นที่ ๑ ขายให้ต่ำกว่าราคาท้องตลาด มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพียงแต่พอเป็นเครื่องอาศัย ตามความจำเป็น ของชีวิต ซึ่งมีระดับความสันโดษไม่เท่ากัน ไม่เหมือนกัน ซึ่งยังไม่ถือว่า เป็นบุญนิยมทีเดียว

ขั้นที่ ๒ ขายเท่าทุน ยังไม่มีบุญ แต่ก็ไม่มีบาป ให้พออาศัยต่อทุนทำงานต่อไป ถือว่าเป็นการ เริ่มต้นบุญนิยม ขั้นแรก

ขั้นที่ ๓ ขายต่ำกว่าทุน ที่ลงไป โดยอาจไม่รวมค่าแรง ค่าโสหุ้ยต่างๆ ค่าวัตถุดิบ ซึ่งผลิตเอง หรือ เก็บจากธรรมชาติ ขายต่ำลงได้มากเท่าไร ก็เป็นบุญมากเท่านั้น

ขั้นที่ ๔ แจกฟรี เป็นการสังเคราะห์เกื้อกูลกันไป

เป้าหมายของการทำงานใน “ระบบบุญนิยม” จึงไม่ได้มุ่งค่าตอบแทนที่เม็ดเงิน ยิ่งไปกว่าการได้รู้จักตนเอง ด้วยอาวุธแห่งไตรสิกขา และตรวจตน มองตน มีสัญชาติแห่งคนตรง ไม่ย่อท้อต่อกิเลสตัวใด เพราะถ้าเราไม่เห็นกิเลส ไม่รู้จักตัวเอง เราจะถูกกิเลสทำลาย ไม่สามารถพัฒนาตัวเอง ให้พ้นกิเลสได้ และนี่คือ ค่าตอบแทนที่สูงค่า ที่มอบแด่ ผู้ทำงานทุกคน

“ระบบบุญนิยม” จึงเริ่มต้นจากการ “สร้างคนดีมีศีล” ให้ได้ก่อน คนดีที่ว่านี้ คือบุคคลที่จะต้องฝึกฝนตน สู่ทิศทางเหนือโลก (โลกุตระ) ลดละการบำเรอตน เข้าถึงอริยสัจธรรม ไปตามลำดับขั้น จนเกิด “โลกุตรจิต” เป็นผลการปฏิบัติได้จริง อยู่กับโลก อย่างรู้เท่าทันโลก (โลกวิทู) รู้เท่าทันความทุกข์ รู้เท่ากันความเป็นไปของโลก อันเห็นชัดในกิเลสของคน ที่ยังมัวเมา ลุ่มหลงกับลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข อันเป็นเหตุแห่งการแก่งแย่ง เอารัดเอาเปรียบ เบียดเบียนกัน

หน่วยงานที่ดำเนินการโดยใช้หลัก “บุญนิยม” ดังกล่าว มีดังนี้

ธุรกิจการค้าบุญนิยม
การศึกษาบุญนิยม
กสิกรรมบุญนิยม
อุตสาหกรรมบุญนิยม
การเงินบุญนิยม
สาธารณสุขบุญนิยม
การบริโภคบุญนิยม
สื่อสารบุญนิยม
การเมืองบุญนิยม
ศิลปะบุญนิยม

๑. ธุรกิจการค้าบุญนิยม  ได้แก่

กิจการ ๕ พาณิชย์ คือ

๑.๑ บริษัท พลังบุญ จำกัด จำหน่ายสินค้าชุมชน พืชผักไร้สารพิษ ธัญพืช อาหาร และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ยาสมุนไพร สินค้าพื้นเมือง เช่น ผ้าฝ้าย เครื่องปั้นดินเผา เป็นต้น โดยขายปลีก ไม่ขายส่ง

๑.๒ บริษัท แด่ชีวิต จำกัด จำหน่ายสินค้าชุมชน ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ยาสมุนไพร เป็นต้น โดยขายส่ง ไม่ขายปลีก

๑.๓ บริษัท ขอบคุณ จำกัด จำหน่าย ผัก ผลไม้ พืชไร่ ไร้สารพิษ จากเครือข่าย กสิกรรมไร้สารพิษ แห่งประเทศไทย และผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชนชาวอโศก โดยขายส่ง ไม่ขายปลีก

๑.๔ ร้านของชมรมมังสวิรัติแห่งประเทศไทย มี ๒ สาขา คือ
ศูนย์มังสวิรัติ จำหน่ายอาหารมังสวิรัติ ซึ่งปรุงโดยใช้ พืชผักไร้สารพิษ สาขาหน้าสันติอโศก และ
ร้านชมรมมังสวิรัติฯ สาขาจตุจักร

๑.๕ ร้านกู้ดินฟ้า จำหน่ายพืช ผัก ผลไม้ ไร้สารพิษ จากเครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษชาวอโศก

๒. การศึกษาบุญนิยม  ประกอบด้วย

๒.๑ นักเรียนพุทธธรรมวันอาทิตย์
๒.๒ โรงเรียนสัมมาสิกขาสันติอโศก
๒.๓ โครงการสัมมาสิกขาลัยวังชีวิต วิทยาเขตสันติอโศก

โรงเรียนสัมมาสิกขาสันติอโศก เป็นโรงเรียนเอกชน ประเภทการศึกษาสงเคราะห์ ตามมาตรา ๑๕(๓) ของพระราชบัญญัติ โรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๒๕ ภายใต้การดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการ การศึกษาเอกชน (สช.) รับนักเรียนอยู่ประจำ ตั้งแต่ระดับ มัธยมศึกษาปีที่ ๑-๖ โดยถือปรัชญาการศึกษาว่า “ศีลเด่น เป็นงาน ชาญวิชา” เปิดโอกาสให้แก่เด็ก ในสังคมพุทธ ได้ศึกษา และให้ผู้ใหญ่ที่เป็นครูทุกคน ได้มีโอกาส ทำงานเสียสละร่วมกัน เป็นการศึกษาเพื่อชีวิต เพื่อพัฒนาคน (ทั้งผู้สอนและผู้เรียน) พัฒนาสังคม ให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้งทางร่างกาย และจิตวิญญาณ พร้อมกับสร้าง สังคมแบบพุทธ ซึ่งจะเป็นความร่วมมือกัน ระหว่างพุทธสถาน ชุมชน และโรงเรียน

โรงเรียนสัมมาสิกขาสันติอโศก มิได้ก่อตั้งขึ้นเพื่อการแสวงหากำไร แต่เกิดจาก ความศรัทธา ของผู้ปฏิบัติธรรม ที่ได้ปฏิบัติธรรม จนถือศีล ๕ ได้เป็นอย่างต่ำ เว้นขาดจากอบายมุข และรับประทาน อาหารมังสวิรัติ ครูบางคนอาจจะถือศีล ๘ หรือมากกว่านั้น ในกรณีที่เป็นสมณะ ที่บวชตามพระธรรมวินัย และสิกขมาตุ

จากความเชื่อมั่นในวิถีชีวิตแบบบุญนิยม ทำให้เกิดระบบการดำเนินชีวิต และวัฒนธรรม จนสามารถ ขยายไปสู่เยาวชน ที่เต็มใจจะปฏิบัติธรรม รับการอบรมจาก โรงเรียนสัมมาสิกขา แห่งนี้ ตามปรัชญาที่เรียงลำดับ ความสำคัญว่า ศีลเด่น เป็นงาน ชาญวิชา

ลักษณะเด่นของโรงเรียนสัมมาสิกขาสันติอโศก ที่ต่างจากโรงเรียนเอกชนทั่วไป

:: ไม่เก็บค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมใดๆ
:: ครูทุกคนมีความสมัครใจ ที่จะไม่รับเงินเดือน
:: นักเรียนต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบพื้นฐาน ที่โรงเรียนกำหนด ได้แก่ ถือศีล ๕ ละอบายมุข รับประทาน อาหารมังสวิรัติ ตลอดจนระเบียบอื่นๆ และต้องพักค้างในโรงเรียน หรือบริเวณพุทธสถาน

แนวทางการจัดการศึกษา การบริหารงาน ภายในโรงเรียน และการอบรมดูแลนักเรียน พยายามปรับ ให้สอดคล้องกับ การศึกษาในระบบบุญนิยม กล่าวคือ

นโยบายและแผนการศึกษา ซึ่งคณะสงฆ์ชาวอโศกเป็นผู้กำหนด ตามแนวทางของ ระบบบุญนิยมนั้น มีวัตถุประสงค์ ดังนี้

::อบรมและฝึกฝนผู้สอน ให้เป็นผู้เสียสละ เป็นแบบอย่างที่ดี ให้แก่ผู้เรียน ในด้านคุณธรรม และความประพฤติ ตั้งแต่ระดับพื้นฐาน ไปจนถึงระดับสูง

::ให้เป็นผู้นำทางวิชาการ สามารถบูรณาการวิชาความรู้ต่างๆ ไปพัฒนาผู้เรียน ให้เป็นบุคคลที่ อุดมด้วยคุณธรรม มีสัมมาอาชีพ เพื่อนำไปสู่ การแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ และสังคม ในระดับจุลภาค

::จัดการศึกษาแบบพึ่งตนเอง ให้สอดคล้องกับชีวิตจริงตามสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน

::ผลิตนักเรียนออกไปรับใช้ชุมชน สังคม ประเทศ และมวลมนุษยชาติ

การวัดผลและการประเมินผล ประเมินผลจากคุณธรรม ๘ ประการ คือ

::สะอาด ::: ขยัน ::: ประหยัด ::: ซื่อสัตย์ :: เสียสละ ::กตัญญู ::ตรงต่อเวลา

สัมมาสิกขาลัยวังชีวิต วิทยาเขตสันติอโศก

นักเรียนส่วนหนึ่ง เมื่อเรียนจบจากเราแล้ว ก็อยากจะอยู่กับเราต่อ และมีความจำเป็น ต้องไปใช้ชีวิต ในระบบสังคมภายนอก ที่ต่างจากสังคมชาวอโศก โดยสิ้นเชิง เราจึงได้จัดการศึกษา ระดับอุดมศึกษา เพื่อต่อเนื่องจากระดับ มัธยมศึกษาขึ้น ที่ราชธานีอโศก จ.อุบลราชธานี โดยมี พลตรีจำลอง ศรีเมือง เป็นประธานโครงการ เราไม่เข้าสังกัด ทบวงมหาวิทยาลัย และยังคงเน้น ศีลเด่น เป็นงาน ชาญวิชา ต่อเนื่องจากโรงเรียน สัมมาสิกขาฯ

สัมมาสิกขาลัยวังชีวิต มีเพียงคณะเดียว คือ “คณะพุทธชีวศิลป” หมายถึง การศึกษาศิลปะ ของการมีชีวิตอยู่ ตามแนวพุทธ ซึ่งเป็นวิชาที่จำเป็นที่สุด

การคัดเลือก เพื่อเป็นนักเรียนทุนของ สัมมาสิกขาลัยวังชีวิต วิทยาเขตสันติอโศก ใช้วิธีการสัมภาษณ์โดย พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ สมณะ และคณะครู ใน ๒ กรณี คือ

กรณีที่ ๑ ผู้สมัครเป็นบุคคลภายนอก ต้องเข้ามาอยู่ในพื้นที่ เป็นนิสิตดูตัว อย่างน้อย ๑ ปี ก่อน

กรณีที่ ๒ ผู้สมัคร จบการศึกษาจากโรงเรียนสัมมาสิกขา หรือเป็นคนวัด ที่เคยอยู่วัดประจำ ต่อเนื่องมาแล้ว ไม่ต่ำกว่า ๑ ปี หรือหากไม่ต่อเนื่อง คืออยู่บ้างไม่อยู่บ้าง แต่ได้ติดตาม ศึกษาปฏิบัติธรรม กับชาวอโศกมา ไม่น้อยกว่า ๓ ปี ให้มีใบรับรองจากคุรุ และสมณะ ทั้งนี้ต้องเข้ามา อยู่ในพื้นที่ เพื่อดูตัว อย่างน้อย ๑ เดือน ก่อนการคัดเลือก

การวัดผลการศึกษา ประเมินตามปรัชญาการศึกษา คือ

ด้าน “ศีลเด่น” ๔๐%
ด้าน “เป็นงาน” ๓๕%
ด้าน “ชาญวิชา” ๒๕%

๓. กสิกรรมบุญนิยม  เน้นกสิกรรมธรรมชาติไร้สารพิษ มีกิจกรรมดังนี้

๓.๑ สามอาชีพกู้ชาติ

พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ ให้ความสำคัญในเรื่อง “กสิกรรม” มาก ท่านได้กล่าวไว้ว่า มีแต่ ๓ อาชีพ นี้เท่านั้น ที่จะกู้ชาติได้ คือ

:: กสิกรรมธรรมชาติ / :: ขยะวิทยา / :: ปุ๋ยสะอาด

โดยเฉพาะประเทศไทย เป็นประเทศที่มีภูมิอากาศ เหมาะอย่างยิ่ง ในการทำกสิกรรม ท่านจึงเน้นย้ำ ให้ชาวอโศก ต้องเป็นหลัก ในเรื่องของกสิกรรม เพราะ ‘อาหารเป็นหนึ่งในโลก’ ทุกคนต้องกินอาหาร

ส่วนในการทำ “กสิกรรมธรรมชาติ” นั้น มีหลักอยู่ ๓ ประการ ไม่ไถพรวนดิน ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง

“หัวใจ” ของการทำกสิกรรมธรรมชาติ คือ การบำรุงดิน ให้อุดมสมบูรณ์ก่อน เพราะดินที่ไม่ดีนั้น คือ ดินป่วย ผลผลิตที่ได้มา ก็ไม่สมบูรณ์ ผู้บริโภคก็จะป่วยด้วย เรียกว่า sick soil – sick plant – sick people ดินป่วย- ผักป่วย – คนก็ป่วย ดังนั้น ความอุดมสมบูรณ์ของดิน ก็คือความอุดมสมบูรณ์ ของธรรมชาติ

เมื่อคนกินอาหาร ก็จะเกิดกากเกิดเศษอาหาร ซึ่งเราสามารถนำขยะเหล่านั้น มาแปร มาสังเคราะห์ ตามหลักวิชา เรียกว่า “ขยะวิทยา” แล้วนำขยะที่สังเคราะห์แล้ว มาจัดการให้ได้สัดส่วนที่ดี ก็จะเกิดเป็นปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพ ซึ่งเป็น “ปุ๋ยสะอาด” หรือปุ๋ยที่ดี เมื่อนำไปใช้ ก็จะได้ผลผลิตที่ดี คนกินอาหาร ก็ได้อาหารที่ดีด้วย และนั่นคือ การหมุนเวียน เป็นวงจรที่สมบูรณ์ของท่าน ได้ชี้ให้เข้าใจถึง “ปรัชญาธรรมชาติ” ว่า พึ่งตนเอง ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม สร้างสิ่งแวดล้อม เอื้อเฟื้อพี่น้อง

๓.๒  โครงการกู้ดินฟ้า

มีนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกร หันมาปลูกข้าว พืชผัก ผลไม้ แบบไร้สารพิษ โดย บริษัท ขอบคุณ จำกัด เป็นผู้ประสานงาน จัดหาตลาดรองรับผลผลิต มีการออกไปลงพื้นที่ดูงาน และเยี่ยมเกษตรกร ทั้งที่เป็นเครือข่ายของ ชุมชนชาวอโศก และสมาชิกเครือข่ายฯ เพื่อให้กำลังใจ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ตลอดจนให้ความช่วยเหลือ เกษตรกรทุกด้าน เท่าที่สามารถทำได้

ตลาดที่รองรับผลผลิตเหล่านี้ ได้แก่ บจก.ขอบคุณ บจก.พลังบุญ บจก.แด่ชีวิต ร้านกู้ดินฟ้า ตลาดนัดพลังบุญ และร้านมังสวิรัติ สาขาต่างๆ เป็นต้น

๓.๓  ตลาดนัดพลังบุญ

ชาวชุมชนสันติอโศก ได้เปิดตลาดนัดพลังบุญขึ้น ที่บริเวณลานจอดรถ หลังบริษัทพลังบุญ ช่วงเวลาเปิดตลาด คือ ๐๕.๓๐ น.-๐๘.๓๐ น. โดยเน้นให้ญาติธรรม นำพืชผักผลไม้ ไร้สารพิษ น้ำหมักจุลินทรีย์ และของกินของใช้ที่จำเป็น มาขายในราคาบุญนิยม ซึ่งพ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ ได้ให้นโยบาย เน้นขายเพื่อช่วยผู้ผลิตจริงๆ ดังนี้

เปิดโอกาสให้ญาติธรรมมาขายของในตลาด เป็นพืชผักผลไม้ ที่ไร้สารพิษ ขายถูกกว่าท้องตลาด เป็นผลผลิตจาก ผู้ผลิตถึงผู้บริโภคโดยตรง และไม่เป็นสินค้าฟุ่มเฟือย หรือมอมเมา

๓.๔ กลุ่มพึ่งตนเอง เป็นกลุ่มศิษย์เก่าของ โรงเรียนสัมมาสิกขาสันติอโศก ที่รวมตัวกัน ทำกสิกรรมธรรมชาติ ไร้สารเคมี และผลิตภัณฑ์ที่ใช้ ในการรักษาความสะอาด

๔. อุตสาหกรรมบุญนิยม  ประกอบด้วย

๔.๑ กลุ่มพุทธรักษา เป็นฐานงานที่ผลิตแชมพูสมุนไพร น้ำยาซักผ้า น้ำยาล้างจาน สบู่เหลว จากสมุนไพร ฯ

๔.๒ กลุ่มชราภิบาล เป็นกลุ่มของผู้สูงอายุ ที่มารวมกลุ่มทำกิจกรรม ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร เช่น เทียนหอมกลิ่นตะไคร้ น้ำมันตะไคร้ไล่ยุง ยาหม่อง กาแฟถั่วเหลือง เป็นต้น

๔.๓ ฐานเต้าหู้ เพื่อรับประทานกันในชุมชน และจำหน่ายที่ร้านของชุมชน

๔.๔ ฐานแปรรูปอาหาร เช่น เค้กกล้วยหอม, งาตัด, ซุปฟักทอง, ซุปแครอทฯ โดยทีมนักเรียนสัมมาสิกขาฯ

๔.๕ ฐานผลิตน้ำสมุนไพร เช่น น้ำเสาวรส น้ำแครอท น้ำใบเตย ฯ ที่สะอาด ถูกสุขอนามัย

๕. การเงินบุญนิยม  ประกอบด้วย

๕.๑  กองสาธารณโภคี รายได้ทั้งหมดจากธุรกิจการค้าบุญนิยมต่างๆ จะนำมารวมกัน เป็นส่วนกลาง และเบิกจ่ายจากส่วนกลาง เป็น “สาธารณโภคี” คือ ใช้ของส่วนกลางร่วมกัน

๕.๒  กองบุญสวัสดิการ มีลักษณะเป็นกองบุญ “บุญนิยม” อย่างหนึ่ง คือเป็นที่รวม เงินกองกลางชนิดหนึ่ง ที่จะให้ชาวอโศก ที่มีเงินทอง นำเงินมารวมกันไว้ที่นี่ หรือมาฝากไว้ คล้ายๆ กับธนาคาร เพราะไม่มีดอกเบี้ยให้ และ คนที่จะมายืมเงินจาก กองบุญสวัสดิการนี้ ไปทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ ก็จะไม่มีการคิดดอกเบี้ยด้วย โดยสรุปแล้ว จะไม่มีการคิด “ดอกเบี้ย” ทั้งในการฝาก และการให้ยืม มีแต่ “ดอกบุญ” หรือ “บุญ-กุศล” ที่จะได้รับ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุกวันนี้ ชาวอโศกทำงานกับสังคม วงกว้างขึ้น แม้เราจะมีประสิทธิภาพ ในการทำงาน แต่ถ้าขาดทุนรอนหมุนเวียน ก็จะทำงานไม่ได้ผล จึงมีความจำเป็น จะต้องระดมเงินออกมา เพื่อสะพัดเงินทุนเหล่านั้นออกไป ให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคล ที่มีสมรรถภาพ ที่จะทำงานใหญ่ ได้ใช้เป็นทุนรอน ในการทำงาน

มีเป้าหมายคือ

๕.๒.๑ เป็นกองทุนกลางที่จะช่วยสนับสนุนการทำงานด้านต่างๆ ในสังคมชาวบุญนิยม ที่ต้องใช้ทุนรอนมาก

๕.๒.๒ เป็นแหล่งในการช่วยรักษาทรัพย์สินและเงินออม ที่แต่ละคนสะสมไว้ เหมือนกับธนาคารทั่วไป

๕.๒.๓ ทำหน้าที่เป็นเสมือนนาบุญ ที่ใครได้หว่านเมล็ดลงไป ก็จะงอกเงยเป็น “ดอกบุญ” หรือเป็นบุญกุศล ตามสัจธรรม

๕.๒.๔ เป็นดรรชนีเครื่องชี้วัดถึงวัฒนธรรมในการเสียสละ ของผู้คนในสังคม และเป็นเครื่องวัดความเจริญงอกงามในสัจธรรม ของชาวบุญนิยมว่า เจริญงอกงาม เป็นปึกแผ่น แน่นหนาแค่ไหน

๕.๒.๕ เป็นเครื่องพิสูจน์สัจธรรมของพระพุทธเจ้า และ “สื่อแสดง” ให้ชาว ได้เกิดศรัทธา เชื่อถือ เชื่อฟังและเชื่อมั่น ในหลักธรรม ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน ให้คนลดละ ความโลภได้จริง มีความเสียสละ ไม่เห็นแก่ลาภ ยศ อามิส หรือเสียงสรรเสริญต่างๆ ได้จริง

๕.๒.๖ เป็นเครื่องขัดเกลาความโลภ ความเห็นแก่ตัว ตลอดจนเป็นเครื่องพิสูจน์ คุณธรรมของชาวสังคมบุญนิยม ว่าสามารถลดละความโลภได้จริง จนเกิดเป็นประโยชน์ตน มากน้อยแค่ไหน

๕.๒.๗ เป็นการช่วยแก้ปัญหาของสังคมที่ตรงจุด จนเกิดเป็นประโยชน์ท่าน เพราะเป็นระบบที่ มุ่งช่วยเหลือสังคมอย่างแท้จริง โดยไม่แฝงไว้ด้วยความฉ้อฉล หรือมีกลวิธี ที่อาศัยอามิสต่างๆ เป็นเครื่องหลอกล่อ โดยตลอดสาย ผิดกับระบบ ทุนนิยม ที่เป็นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของสังคม อย่างพรางลวง ตลอดจนแฝงไว้ด้วย ความฉ้อฉลซับซ้อน ที่ดูดเอาผลประโยชน์ จากคนยากจน ไปเลี้ยงดูคนมั่งมี อย่างทารุณ ตลอดสาย ตั้งแต่ต้นทาง จนถึงปลายทาง

๕.๓ กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ สันตินาครบุญนิธิ ก่อตั้งเมื่อปี ๒๕๔๑ สำนักงานตั้งอยู่ที่ ๖๗/๓๒ ซ.ทาวน์เฮ้าส์ สันติอโศก ถ.นวมินทร์ ๔๖ แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กทม. ๑๐๒๔๐

รับสมาชิกในเขต กทม. และจังหวัดใกล้เคียงอีก ๑๓ จังหวัด คือ สมุทรปราการ, ฉะเชิงเทรา, นครนายก, ปทุมธานี, อยุธยา, นนทบุรี, นครปฐม, สมุทรปราการ, สระบุรี, สุพรรณบุรี, ราชบุรี, ชลบุรี, สมุทรสงคราม

มีวัตถุประสงค์ คือ

:: สร้างนิสัยออมทรัพย์
:: ช่วยเหลือสมาชิกที่ขาดแคลนทุนทรัพย์
:: มีสวัสดิการให้แก่สมาชิก
:: ชุมชนมีเงินทุนมาพัฒนาชุมชนและสังคม (สาธารณโภคี)
:: ส่งเสริมการเกื้อกูลในแนวทางบุญนิยม
:: เพื่อความเป็นปึกแผ่นและเสถียรภาพทางการเงิน

๖. สาธารณสุขบุญนิยม  ประกอบด้วย

ศาลาสุขภาพ
คลีนิกทันตกรรม
ศูนย์สุขภาพชุมชน

๗. การบริโภคบุญนิยม  ประกอบด้วย

โรงครัวกลาง
ห้องจักร (ตัดเย็บเสื้อผ้า)
หน่วยตรวจสอบและพัฒนาคุณภาพ สิ่งผลิตของชาวอโศก (ต.อ.)

๘. สื่อสารบุญนิยม  ประกอบด้วย

บริษัท ฟ้าอภัย จำกัด
สำนักพิมพ์กลั่นแก่น
ธรรมทัศน์สมาคม
ห้องสมุดสมาคมผู้ปฏิบัติธรรม
กลุ่มสุดฝั่งฝัน
กลุ่มสะพานดาว
ห้องเผยแพร่เท็ป
คลังเสียงและธรรมโสต
แผนกธรรมปฏิสันถาร
แผนกธรรมปฏิกรรม
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
สถานีวิทยุชุมชน “ฝนปรอยร้อยแปด”

๙. การเมืองบุญนิยม 

พรรคเพื่อฟ้าดิน
มีนโยบายพัฒนาประชาธิปไตย ด้วยการเมืองอาริยะ หรือการเมืองบุญนิยม มุ่งสร้างคนให้มีคุณธรรม เป็นรากฐานประชาธิปไตย พัฒนาชุมชนไทยให้มีศีล ปลอดอบายมุข พึ่งตนเองได้ ไม่แก่งแย่งแสวงอำนาจ และประโยชน์โดยมิชอบ

ผู้ทำงานการเมืองอาริยะ หรือการเมืองบุญนิยม ต้องเป็นอาริยะบุคคล มีความซื่อสัตย์ มีสมรรถภาพ มีความรู้ความสามารถ ไม่ติดในลาภ ยศ สรรเสริญและโลกียสุข ปลอดภาระส่วนตัว อุทิศตน ทำงานรับใช้ประชาชน ได้อย่างอิสระ โดยไม่รับค่าตอบแทนเป็นของตน ทำให้ประชาชน มีความเป็นอยู่ อย่างเป็นสุขที่สันติ ปลอดภัย ดีงาม สงบ ร่าเริง เบิกบาน สร้างวัฒนธรรม การดำเนินชีวิต เป็นสังคมพึ่งพา เกื้อกูลกันสูงที่สุด เป็น “สาธารณโภคี” กินอยู่ใช้สอยรวมกัน เป็นกองกลาง เกื้อกูลกันตามมีตามได้ สร้างสังคมประเทศชาติ ด้วยคุณภาพของ ชุมชนบุญนิยม ซึ่งมีคติความเชื่อที่มุ่ง “บุญ” เป็นที่ตั้ง ภายใต้คำขวัญว่า

“เศรษฐกิจพึ่งตน ชุมชนเข้มแข็ง ประชามีธรรม ประเทศมีไท”

๑๐. ศิลปะบุญนิยม 

ส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจศิลปะว่าคือมงคลอันอุดม คือเหตุที่ก่อให้เกิด ความประเสริฐแก่มนุษย์ นำพาไปสู่ความเจริญ อันสูงสุด มีทั้งสุนทรียศิลป์ มีทั้งแก่นศิลป์ และใช้ศิลปะในการสร้างสรร

สุนทรียศิลป์ก็คือ สิ่งที่สร้างที่ประกอบ ชี้ชวนให้คนเกิดสนใจ เพื่อไปเอาแก่นศิลป์ หรือเอาสาระ ไม่ว่าจะเป็นการวาด การเขียน การปั้น วรรณกรรม ท่าทาง ลีลา หรืออะไรอื่นอีกก็ตาม จะชี้ชวนนำไปสู่ สาระประโยชน์ อันเป็นคุณค่าที่แท้จริงแก่มนุษย์ ไม่ใช่เป็นมหรสพมอมเมา หรือเป็นอนาจาร เช่น ถ้าเขียนภาพโป๊เปลือย เมื่อคนดูภาพ แล้วเกิดการลดราคะได้ ก็เป็น ศิ ล ป ะ แต่ถ้าดูแล้วราคะก็ขึ้น อย่างนี้เป็น อ น า จ า ร

งานศิลปะดังกล่าว สามารถมองเห็นเป็นรูปธรรมได้ จากพระวิหารพันปี เจดีย์บรมสารีริกธาตุ
การก่อสร้างพระวิหารฯ นี้ พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ ได้กำหนดประเด็น อันเป็นเป้าหมายสำคัญ ในการก่อสร้างไว้ ๓ ประการ คือ

๑. ให้เกิดความสัมพันธ์กับธรรมชาติและศิลปะ
๒. เป็นอาคารใช้สอยที่เนื่องเกี่ยวกับทางด้านศาสนาให้มาก
๓. ให้มีผลกระทบทางจิตวิญญาณ

อ่านต่อ ง. ขั้นตอนของการบวชของนักบวชชาวอโศก