4/5

หน้าแรก >[01] ศาสนา > พุทธสถาน > สันติอโศก >

ง. ขั้นตอนการบวชของนักบวชชาวอโศก

การบวชหรือการเข้าสู่สถานะนักบวชอโศกนั้น มีขั้นตอนและระยะเวลา ทดสอบความพร้อม คือต้องมีการกลั่นกรองว่า ผู้บวชมีความตั้งใจจริง มีศักยภาพของความเป็น ผู้สละบ้านเรือน เข้าสู่ชีวิตนักบวชได้ มีความพร้อมทางร่างกายและจิตใจ และมิได้อาศัยความเป็นนักบวช เพื่อหลบหนี ปัญหาส่วนตัวบางประการ ผู้บวชจึงต้องเป็นผู้ที่ตั้งใจจริง ที่จะใช้ชีวิตนักบวช ตามพระธรรมวินัย และปฏิบัติตน ได้เหมาะสมกับฐานะ พุทธทายาท และพุทธสาวก

ผู้ที่จะบวชเป็นนักบวชชาวอโศกได้ ต้องเป็นชาวอโศก ได้เรียนรู้ชีวิต ในชุมชนชาวอโศกมาแล้ว มิใช่คนทั่วไป ที่นึกจะบวช ก็เข้าไปขอสมัครบวช

นักบวชชาวอโศก มีความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย โดยพยายามรักษาสภาพ และข้อกำหนดต่างๆ ให้ถูกต้อง ตามพุทธบัญญัติ เช่น ลักษณะของกุฏิแต่ละหลัง ก็สร้างอย่างเรียบง่าย มีหลังคามุงจาก ขนาด ๗ x ๑๒ คืบพระสุคต (ประมาณ ๑.๕ x ๒.๕ เมตร)

ผู้ที่จะสมัครเข้าเป็นนักบวชชาวอโศก ต้องปฏิบัติดังนี้

๑. สมาทานรักษาศีล ๘ เป็น อารามิก (ชาย) หรือ อารามิกา (หญิง) อยู่ภายในขอบเขตการดูแลของ พุทธสถาน ๑ ปีก่อน แล้วจึงขอเลื่อนฐานะเป็น “ปะ” (ย่อมาจาก “ปฏิบัติ”) คือผู้ปฏิบัติธรรม โดยมีสมณะ ๕ ท่าน เซ็นรับรอง และคอยรับผิดชอบดูแล

๒. “ปะ” ไม่ต้องโกนศีรษะ นุ่งห่มด้วยกางเกง หรือผ้านุ่งสีน้ำตาล และสวมเสื้อสีน้ำตาล แบบสุภาพ ตามที่มีอยู่แล้ว และต้องอยู่ปฏิบัติธรรม อย่างน้อย ๔ เดือน สำหรับชาย และ ๖ เดือน สำหรับหญิง

๓. เมื่อครบกำหนดเป็น “ปะ” แล้ว ก็มีสิทธิ์เตรียมตัวบวช โดยแจ้งความจำนง ต่ออุปัชฌาย์ เพื่อให้อุปัชฌาย์ นำเรื่องเข้าพิจารณา ในหมู่สมณะ เมื่อที่ประชุมมีมติเห็นชอบ เป็นเอกฉันท์แล้ว จึงเลื่อนฐานะเป็น “นาค”(สำหรับชาย) และเป็น “กรัก” (สำหรับหญิง) หากพิจารณาแล้ว ยังไม่เห็นชอบ ก็ต้องอยู่ในฐานะเดิมต่อไป ตามระยะเวลา ที่มติในที่ประชุม เห็นสมควร

เมื่อเลื่อนฐานะเป็น “นาค” หรือ “กรัก” ได้แล้ว ก็ให้โกนศีรษะ และสวมเสื้อคอกลม สีน้ำตาล มีขลิบสีน้ำตาลอ่อน ที่คอเสื้อ (สำหรับชาย) ส่วนผู้หญิง มีสไบสีกรัก และถือศีลของชาวอโศก ให้เคร่งครัดยิ่งขึ้น

๔. เมื่อฝ่ายชายอยู่ในฐานะ “นาค” มาได้อย่างน้อย ๔ เดือน ก็จะมีสิทธิ์ขอเลื่อนฐานะ เป็นสามเณร และต้องอยู่ในฐานะสามเณร อย่างน้อยอีก ๔ เดือน จึงมีสิทธิ์เลื่อนฐานะ เป็นพระภิกษุที่สมบูรณ์ได้ (ปัจจุบันเรียกว่า “สมณะ” อันเนื่องมาจาก กรณีสันติอโศก ซึ่งมหาเถรสมาคม และกฎหมายบ้านเมือง ไม่ยอมให้ ผู้ที่ไม่ได้เป็นพระสงฆ์ตามกฎหมายใช้ศัพท์ เครื่องนุ่งห่ม และการบิณฑบาตแบบพระสงฆ์) ส่วนฝ่ายหญิง ต้องอยู่ในฐานะ “กรัก” เป็นเวลาอย่างน้อย ๑ ปี ๖ เดือน จึงมีสิทธิ์ขอบวช เลื่อนฐานะเป็น “สิกขมาตุ” ได้

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันการเลื่อนฐานะ ตั้งแต่ “ปะ” เป็นต้นไป ทั้งชายและหญิง ต้องอยู่ในฐานะเดิมของตน ไม่ต่ำกว่า ๔ เดือน แต่การลงมติเลื่อนฐานะ ยังเหมือนเดิม คือต้องอาศัย คะแนนเสียง เป็นเอกฉันท์ ของที่ประชุม

นอกจากนี้ยังมีระเบียบผู้บวชใหม่ คือ สมณะที่บวชใหม่ จะต้องศึกษาพระวินัย จากพระไตรปิฎก โดยจะต้องอ่าน พระไตรปิฎก เล่ม ๑ และเล่ม ๒ ให้จบเป็นอย่างน้อย ภายใน ๕ ปี ส่วนสามเณรที่บวชใหม่ จะต้องอ่านหนังสือ ศาสตร์และศิลป์ของการบิณฑบาต ให้จบเล่ม เพื่อศึกษาเป้าหมายของ การบิณฑบาต ให้ชัดเจนก่อน มิฉะนั้น จะไม่มีสิทธิ์ออกบิณฑบาต

 การเกิด “ชุมชนสันติอโศก” 

เมื่อวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๔๐ ได้มีการประชุมภายในชุมชน เป็นครั้งแรก ร่วมประชุมกัน ทั้งคนวัด ฐานะต่างๆ คือ อาคันตุกะจร (ผู้มาปฏิบัติพักค้าง เป็นครั้งคราว) อาคันตุกะประจำ (ผู้มาปฏิบัติพักค้าง อยู่เป็นประจำ) อารามิก (ผู้สมัครอยู่วัดฝ่ายชาย) อารามิกา (ผู้สมัครอยู่วัดฝ่ายหญิง) และผู้ปฏิบัติธรรม ที่อยู่ใกล้พุทธสถาน รวม ๕๘ คน โดยมีนักบวช ๕ รูป เป็นประธาน นับเป็นการเริ่มต้น ของการรวมกลุ่มกัน เพื่อความสมานสามัคคี สร้างความเข้าใจอันดีต่อกัน ได้ทราบทุกข์-สุข-ปัญหา ความเป็นไป ของการทำงาน ในหน่วยงานต่างๆ เช่น ศูนย์มังสวิรัติ, บริษัทร้านค้า, โรงเรียนสัมมาสิกขาฯ, โรงพิมพ์, แผนกต่างๆ และผู้ที่พักอยู่ใกล้พุทธสถานฯ จากนั้นก็มีการประชุมกันเช่นนี้ ทุกเดือน โดยมีพ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์ สมณะ และสิกขมาตุ ร่วมประชุม ให้คำแนะนำ ปรึกษาด้วยทุกครั้ง

ต่อมาในปี ๒๕๔๔ จึงได้จัดตั้งเป็น ชุมชนสันติอโศก ขึ้นเต็มรูป โดยมีทันตแพทย์หญิง สีใบตอง บุญประดับ (คุณหมออัปสร) เป็นประธาน ชุมชนสันติอโศก คนแรก

ชุมชนสันติอโศกไม่ได้จำกัดขอบเขตเฉพาะ ผู้ปฏิบัติธรรม อยู่ใกล้เคียง พุทธสถานเท่านั้น ญาติธรรม ที่อยู่ในกรุงเทพฯ ที่มาฟังธรรม และร่วมกิจวัตร กิจกรรมกัน ซึ่งไปๆ มาๆ และพักค้างบ้าง ที่มีความตั้งใจจริง ในการวิรัติตน ด้วยการถือศีล ๕ ละอบายมุข รับประทาน อาหารมังสวิรัติ ร่วมกันทำการงาน เพื่อรับใช้ประชาชน ตามแนวคำสอนของ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า (หลักอริยมรรค มีองค์ ๘) ก็ถือเป็นสมาชิก ชุมชนสันติอโศก ด้วยเช่นกัน

ก. สาธารณโภคี  เป้าหมายและนโยบาย ของชุมชนสันติอโศก
ชาวชุมชนจะอยู่กัน อย่างเอื้อเฟื้อเกื้อกูล โดยมีระบบ ‘ส่วนกลาง’ เรียกว่า
‘สาธารณโภคี’ อันเป็นธรรมข้อหนึ่ง ในหมวดธรรม ที่มีชื่อว่า สาราณียธรรม ๖ คือ เมตตากายกรรม, เมตตาวจีกรรม, เมตตามโนกรรม, สาธารณโภคี, ศีลสามัญญตา, ทิฏฐิสามัญญตา

ทำให้สมาชิกชุมชนรักกันอย่างจริงใจ ทำงานโดยรักความเมตตา เอื้ออาทร ให้อภัย สร้างความเป็น พ่อ-แม่-พี่-น้อง-ลูกหลาน ที่พึ่งเกิด พึ่งแก่ พึ่งเจ็บ พึ่งตายได้ โดยใช้หลักคุณธรรมของ “สาราณียธรรม ๖” กล่าวคือ

๑. เมตตากายกรรม ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ทำ สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น
๒. เมตตาวจีกรรม ทั้งต่อหน้าและลับหลัง พูด สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น
๓. เมตตามโนกรรม ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คิด สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น
๔. สาธารณโภคี เฉลี่ยลาภ แบ่งปัน
๕. ศีลสามัญญตา มีศีลเสมอกัน เหมือนกัน ผู้ที่มีคุณธรรมสูงกว่า มีความเข้าใจและเมตตา ต่อผู้ที่มีคุณธรรมต่ำกว่า ผู้ที่มีคุณธรรมต่ำกว่า พึงเคารพรัก ผู้ที่มีคุณธรรมสูงกว่า
๖. ทิฏฐิสามัญญตา มีความเห็นสอดคล้องกัน เสมอกัน เป็นหนึ่งเดียวกัน จึงมีทิศทาง การทำงาน ไปทางเดียวกัน ชาวอโศกจึงเป็นคนที่มีลักษณะ
พึ่งตนเองได้ สร้างสรร ขยัน อดทน ไม่เอาเปรียบใคร ตั้งใจเสียสละ ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้ จึงทำให้เกิดอานิสงส์ หรือเกิดผล ตามพุทธพจน์ ๗ คือ
มีความระลึกถึงกัน
มีความรักกัน
มีความเคารพกัน
มีความสงเคราะห์กัน
มีความไม่วิวาทกัน
มีความสมานสามัคคีกัน
มีความเป็นเอกีภาวะ คือความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

(พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อ ๒๘๒-๒๘๓)

เราจึงอยู่ร่วมกันอย่างอบอุ่น เสมือนครอบครัวใหญ่ พึ่งพาอาศัยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทั้งทางวัตถุ และดูแลกัน ยามเจ็บป่วยได้ไข้ แม้จะไม่มีทรัพย์สมบัติ หรือเงินเดือน ที่เป็นรายได้ส่วนตัวเลย

ธุรกิจการค้า ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารมังสวิรัติ หรือบริษัทร้านค้า ภายในชุมชนชาวอโศก ตั้งขึ้นเพื่อ บริการสมาชิกในชุมชน เป็นสำคัญ ซึ่งเป็นธุรกิจการค้าในระบบบุญนิยม ดังกล่าวมาแล้ว จึงมีนโยบายสำคัญ คือ ขายถูก ไม่ฉวยโอกาส ขยัน อุตสาหะ ประณีต ประหยัด ซื่อสัตย์ เสียสละ และมีอุดมการณ์ ร่วมกันว่า แรงงานฟรี ปลอดหนี้ ไม่มีดอกเบี้ย เฉลี่ยทรัพย์เข้ากองบุญ เหล่านี้นั้น ก็ได้รับความนิยม จากประชาชนในสังคมเพิ่มขึ้น กิจการค้าของเรา จึงเจริญขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งต่างจาก บริษัทร้านค้าทั่วไป ที่หลายแห่ง ต้องปิดกิจการลง เพราะมุ่งหมายเอากำไรสูงสุด เป็นเป้าหมาย เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค จึงขาดความไว้เนื้อเชื่อใจ

ชาวอโศกจึงมีเศรษฐกิจสัมพันธ์กับสังคมอย่างเจริญดี มีคุณภาพ เนื่องจากชุมชนชาวอโศก มีหน่วยตรวจสอบ มาตรฐานสินค้า ของชาวอโศก (ต.อ.) เพื่อให้สินค้าที่ผลิตออกมา มีคุณภาพดี ไม่เป็นพิษ ไม่เป็นภัย ทำให้ประชาชน เชื่อถือไว้วางใจ

ข. สภาวะ ๕ ประการ ของชุมชนชาวอโศก 

จากวัฒนธรรมในการดำเนินชีวิตดังกล่าว ชาวชุมชนสันติอโศก จึงประกอบไปด้วย ๕ ภาพ คือ

อิสรเสรีภาพ (independence)
ภราดรภาพ (fraternnity)
สันติภาพ (peace)
สมรรถภาพ (efficiency)
บูรณภาพ (integrity)

ซึ่งทั้งหมดนี้ หมายถึงความไม่ติดยึด ความเป็นอิสระ เหนือวัตถุทรัพย์ศฤงคาร ไม่หอบหวง เรียกว่า ทุกคนต่างมี อิสรเสรีภาพ (independence) ในการแบ่งปันกัน จนเกิดความเป็นพี่เป็นน้อง นั่นคือเป็น ภราดรภาพ (fraternnity) ไม่แย่งชิงทรัพยากร เมื่ออยู่กันอย่างพี่น้อง จึงเกิดความสงบสุขเป็น สันติภาพ (peace) ซึ่งความสงบสุขนี้ ทำให้เรามีเวลาเพียงพอ ที่จะมาสร้างสมรรถภาพ ให้กับตนเอง ด้วยความขยันขันแข็ง โดยชาวอโศก จะเป็นผู้ที่ กินน้อยใช้น้อย ที่เหลือจุนเจือสังคมอยู่แล้ว ชาวชุมชน จึงเป็นผู้มี สมรรถภาพ (efficiency) ที่ดี สามารถสร้างสรรค์กิจการงาน โดยไม่ต้องเข้าพกเข้าห่อ ของตนเอง แต่นำไปสู่ส่วนรวม คือชุมชน ออกไปสู่สังคมประเทศชาติ และมวลมนุษยชาติ เป็น สมรรถภาพ (efficiency)

กิจวัตรประจำวันของชาวชุมชนสันติอโศก

เริ่มตั้งแต่เวลา ๐๓.๓๐ น. จะมีการเคาะระฆัง เพื่อมาร่วมกันสวดมนต์ ทำวัตรเช้า ไปจนถึงเวลา ๒๑.๐๐ น. เป็นอย่างน้อย ซึ่งทุกคนควรพักผ่อนได้ โดยมีรายละเอียดดังนี้

๐๓.๓๐ น. – ๐๕.๓๐ น. เสียงระฆังดังขึ้น ทุกคนมารวมกันที่ศาลาส่วนกลาง เพื่อสวดมนต์ และฟังธรรมะ จากสมณะและสิกขมาตุ เป็นการทำวัตรเช้า
๐๕.๓๐ น. – ๐๗.๓๐ น สมณะ สามเณร และสิกขมาตุ ออกบิณฑบาต
๐๕.๓๐ น. – ๐๘.๐๐ น. แยกย้ายกันไปทำงานในหน้าที่ของตน
๐๘.๐๐ น. – ๑๑.๐๐ น. เสียงระฆังดังขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ทุกคนเตรียมตัว มาที่ศาลาส่วนกลาง เพื่อฟังธรรมก่อนฉัน หรือฟังข่าวคราว ที่ต้องรับรู้ร่วมกัน แล้วรับประทาน อาหารร่วมกัน ขณะรับประทานอาหาร จะมีรายการที่น่าสนใจ หรือสารคดี จากโทรทัศน์ให้ชม
๑๑.๐๐ น. – ๑๖.๓๐ น. แยกย้ายกันไปทำงานในหน้าที่ของตน
๑๖.๓๐ น. – ๑๗.๓๐ น. ฝึกเจโตสมถะ (นั่งสมาธิ)
๑๗.๓๐ น. – ๑๘.๐๐ น. พักผ่อน ทำกิจส่วนตัว
๑๘.๐๐ น. – ๑๙.๓๐ น. ชมวิดีทัศน์ที่ผ่านการตรวจสอบ จากพ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์แล้ว โดยมีหลัก การดูวิดีทัศน์ ๔ ประการ คือ เกิดอริยญาณ, ทำการปฏิบัติ, อัดพลังกุศล และ ฝึกฝนโลกวิทู เพิ่มพหูสูตร
๑๙.๓๐ น. – ๒๐.๓๐ น. เรียนพระธรรมก่อนนอน
๒๐.๓๐ น. – ๒๑.๐๐ น. ทำกิจส่วนตัว และเข้านอนไม่เกิน ๓ ทุ่ม