หน้าแรก > ชุมชนบุญนิยม >

รักไทยแบบบุญนิยม
ปรัชญาของศูนย์ฝึกอบรม

ศูนย์ฝึกอบรมแห่งนี้ สร้างขึ้นมา เพื่อเป็นสถานที่ ให้การศึกษา และพัฒนา "คน" โดยตั้งใจไว้ว่า มีทั้ง "ห้องสมุด" ที่พยายามจะรวบรวม สะสมสรรพตำรา หนังสือหนังหาสารพัด และ เครื่องมือโสตทัศนะต่างๆ อีกทั้งวัตถุปกรณ์ นานาที่เป็นเครื่องเสริมสร้างการศึกษา อันจะเป็น ประโยชน์แก่ความเป็น"คนผู้เจริญ" ให้ได้ มากที่สุด เท่าที่จะสามารถทำได้ เพราะ การศึกษาปัจจุบันนี้ สามารถค้นคว้าแสวงหาความรู้ เอาได้จากสิ่งบันทึก และ เครื่องมือช่วยเสริมสร้าง การศึกษาต่างๆ เหล่านี้ โดยเฉพาะ เครื่องมือเทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นการช่วยทุ่นแรง ในการศึกษาพัฒนา เป็นบ่อแห่งความรู้ ที่คนสามารถ ตักตวงเอาได้ อย่างมีประสิทธิภาพ ในระดับ "ปริยัติ" หรือระดับ "เรียนรู้เพื่อรู้" อย่างดียิ่ง

ซึ่งขณะนี้ ความเป็น "ห้องสมุด" ดังว่า ก็กำลังเริ่มต้นสะสม คงอีกนาน กว่าจะมีได้ตามที่ตั้งใจไว้ เพราะ ขณะนี้ มีเพียงหนังสือไม่กี่ร้อยกี่พันเล่ม ส่วนเครื่องมือโสตทัศนะต่างๆ วัตถุปกรณ์นานา และเครื่องมือเทคโนโลยี สมัยใหม่ ที่เป็นเครื่องเสริมสร้าง การศึกษาทั้งหลาย นั้น เรียกได้ว่า ยังไม่มี มีก็เพียงอาคารหรือ โรงเรือนโล่งๆที่เป็น ห้องโถงกว้าง ๑,๒๐๐ ตารางเมตร กับหนังสือ จำนวนดังกล่าวแล้วเท่านั้น ก็ตั้งใจแน่วแน่ และใช้ความพยายาม อยู่อย่างยิ่ง ที่จะให้มีให้ได้ตามประสงค์

อีกความตั้งใจหนึ่ง ให้เป็น "สถานที่จัดสาธิต" ผลงาน และสื่อความรู้ต่างๆ อันพึงเปิดเผย หรือเผยแพร่ ออกสู่ปวงประชา ใครมีอะไรจะสาธิตก็เสนอมา เมื่อเห็นเหมาะสม ว่าน่าจะสาธิตกัน ก็อาศัยศูนย์นี้ เปิดการสาธิตกันไป เป็นการส่งเสริมผลงาน และความรู้อันควรพัฒนานั้นๆ ให้กระจายกว้างขวาง ออกไปยิ่งๆ และอีกความตั้งใจหนึ่ง ก็ให้เป็นทั้ง "สถานที่ฝึกอบรม" ผู้คนทั่วไป เพื่อ "สร้างคน" ให้เจริญพัฒนาขึ้นมา ให้ได้จริงๆ โดยมี "คน" ในหมู่บ้าน (ราชธานีอโศก) เองเป็นหลัก ที่จะต้องได้รับ การอบรมประจำ อยู่เสมอๆ ทั้ง "ปริยัติ" หรือการเรียนรู้ เพื่อรู้ และทั้ง "ปฏิบัติ" หรือพาลงมือกระทำ เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จ สู่ความเป็น "คนเจริญ" ให้ได้ อย่างแท้จริง กระทั่งถึงที่สุด ขั้น "ปฏิเวธ" หรือรู้แจ้งแทงทะลุผลจบ เป็นดีสุด เพราะ ในโลกมนุษย์นั้น เกี่ยวกับความเป็น "สังคม" แล้ว ไม่มีอะไร จะสำคัญยิ่งยวดไปกว่า "คน" หาก "คนเจริญ" อย่างแท้จริง เจริญอย่างเป็นสัจธรรมแล้ว รัฐศาสตร์และรัฐกิจก็เจริญ เศรษฐศาสตร์และเศรษฐกิจก็เจริญ สังคมศาสตร์ และสังคมกิจ ก็เจริญ ศาสตร์อื่นๆ และกิจอื่นๆ ที่สำคัญสำหรับสังคม สำคัญสำหรับโลกก็เจริญด้วยทั้งสิ้น

ดังนั้น การแก้ปัญหาหรือแก้วิกฤติ คำตอบจึงอยู่ที่"คน" ไม่ว่าปัญหา"เศรษฐกิจ" ปัญหา"รัฐกิจ" ปัญหา"สังคมกิจ" หรือสารพัดปัญหาของมนุษย์ของโลกที่แก้ไม่ได้ทุกวันนี้ ก็เพราะไม่แก้ "คน" ให้เป็น "คนเจริญ" อย่างเป็นสัจธรรมกัน ให้สำคัญและจริงจัง แต่ไปมัวหลงแก้กัน ที่ระบบบ้าง แก้กันแต่แนวความคิดบ้าง แก้กันที่การก่อสร้างต่างๆ บ้าง แก้กันที่การเงินบ้าง แก้กันที่การช่วยเหลือกันทางวัตถุที่ ขาดแคลนต่างๆบ้าง ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นความหลงมัวเมากันอยู่ที่ "ปลายเหตุ" ทั้งสิ้น อันเป็นการแก้ไม่ถูก "สมุทัยอาริยสัจ" จึงกลายเป็น "วนอยู่ในอ่าง" และ "วนเป็นงูกินหาง" กระทั่งทำลายตัวเอง เพราะกินหางตัวเองมาถึงตัวถึงคอถึงหัว จนจะกินหัวตัวเองหมดเกลี้ยงอยู่แล้ว

การพัฒนาสังคมพัฒนาประเทศชาตินั้น หากไปมัวมุ่นแก้ปัญหากันแต่ทางวัตถุ หรือมัวแต่แก้แต่ปัญหาภายนอก ไม่เน้นเข้ามาแก้ที่ "คน" จริงๆ โดยเฉพาะไม่แก้ให้ "คน" มี "จิตใจ" พัฒนาขึ้นเป็นคนดีตรงมีสัจธรรม เป็นคนมีความ เฉลียวฉลาดเพราะ "กิเลส" หรือ "ความเห็นแก่ตัว" ลดลงอย่างแท้จริงแล้วละก็ ขอยืนยันว่า ไม่มีทางแก้ปัญหาให้สังคม ให้ประเทศชาติเจริญเป็นอยู่สุขแท้ ชนิด "มีอิสรเสรีภาพ-มีภราดรภาพ-มีสันติภาพ-มีสมรรถภาพ-มีบูรณภาพ" สำเร็จได้อย่างมั่นคงยาวยืนนานกาลเป็นอันขาด

เพราะการแก้วิกฤติความทุกข์ร้อนด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านการเมือง หรือด้านใดๆก็ตาม ต่อให้แก้ เก่งปานใด ต่อให้เศรษฐกิจดีขึ้น สังคมรุ่งเรืองด้วยวัตถุอร่ามเรืองเฟื่องฟูขึ้น หากไม่แก้ที่ใจคนให้ลด "ราคะหรือ
โลภ-โกรธแก้แค้น-หลงเสพหลงติด" กันอย่างจริงจัง ไม่เน้นตรงเข้าไปแก้ที่ "การสร้างคนให้เจริญเป็นคนดีมีศีลธรรม มีสัจธรรม" ขอยืนยันว่า เศรษฐกิจแม้ดีได้ก็ไม่นานเลย ถึงสังคมจะรุ่งเรืองด้วยวัตถุมากมายใหญ่โตหลากล้น ปานใด ก็มีแต่จะฟุ้งเฟ้อ เลอะเทอะด้วยกาม และอาชญากรรม ซึ่งจะมีทั้งกาม และอาชกรรม ทุกขนาดจนถึงขั้นรุนแรงจะวิตถาร และอำพรางซับซ้อนมากขึ้นๆ เรื่อง "กามโกงกิน" ก็จะยิ่งเป็นทุกข์ทับทวี ซ่อนเชิงสาหัส ทั้งเรื่อง"เคียดแค้นอาฆาตพยาบาท ทำร้าย"ก็จะยิ่งซับซ้อนซ่อนเงื่อน ไปทั้งนั้น

เพราะ "คน" จะฉลาดมากขึ้นๆ ยิ่งมีการศึกษาอย่างที่ เป็น กันอยู่ในปัจจุบันนี้ก็จะยิ่งฉลาดยิ่งๆ ขึ้น แต่ "กิเลส" ไม่ได้ลดลง กลับจะเพิ่มขึ้น เป็น ความเห็นแก่ได้เห็นแก่ตัวจัดจ้านขึ้น กล้าที่จะเอาเปรียบยิ่งๆ ขึ้น โดยไม่รู้ตนว่า ตนยิ่ง เอาเปรียบยิ่งได้เปรียบคือยิ่งเลว จึงไม่อายที่จะเอาเปรียบ เพียงแต่จะใช้ความฉลาด พรางตนเอง ให้คนอื่นหลงเห็นว่า ตนดี ทว่า ซ่อนลึกลงไปในจิตนั้น ตัวเองก็ไม่รู้ตัวตนว่า ตนเองอำมหิตเลือดเย็นฉกาจฉกรรจ์อย่างไร จึงยิ่ง "อวิชชา" หรือ "ไม่รู้ตัวตน "ว่า ตนเองหลงผิดซับซ้อนมากล้นแค่ไหน

ดังนั้น การขับเคี่ยวแย่งชิงกันด้วย "อวิชชา" ก็ยิ่งร้ายขึ้น หรือ ยิ่ง เป็น "คนต่ำ" ยิ่งๆ ขึ้น ก็จัดจ้านรุนแรงหนักหน้า ขึ้นไป ไม่มีที่สิ้นสุด และ ไม่มีลด หรือ เบาลงเลย มีแต่จะสาหัสสากรรจ์ทับทวี ผู้ชนะก็ยิ่งเด่น สังคมก็ยิ่งพากันหลงไหล นับถือคนเด่น ผิดทิศทางแห่งสัจธรรมมากขึ้น ปุถุชนก็ยิ่งงมงายเห็นดีตามซับซ้อนยิ่งๆ ๆ เหตุก็เพราะความฉลาด หรือ ความรู้อย่างโลกีย์ทำให้กิเลสโลภโกรธหลงในตัวคนลดลงไม่ได้นั่นเอง

ดังนั้น ต่อให้คนฉลาดยิ่งๆ ขึ้นเท่าใดก็ตาม หรือ สามารถแก้ปัญหา ทำให้สังคมเจริญทางเศรษฐกิจ เจริญทาง วัตถุแบบโลกีย์ได้มากเท่าใดก็เถอะ ก็ไม่ใช่ผลสำเร็จที่สะอาดบริสุทธิ์ และ สุขสันติมั่นคงยืนนานไปได้เด็ดขาด
เว้นแต่จะทำให้ "คนเจริญ" ทั้ง "จิตใจลดกิเลสจริง" และ เจริญทั้ง "สมรรถนะ ความรู้ความสามารถ" ด้วยเหตุดังนี้ ความเจริญในยุคปัจจุบัน ยิ่งเจริญ ปลาใหญ่ก็ยิ่งกินปลาเล็ก แล้วก็ถือกันว่า นี่แหละคือ ความสุจริตยุติธรรม ปลาใหญ่ทั้งเอาเปรียบทั้งใช้อำนาจ แถมได้ เป็นเจ้าบุญนายคุณอีกต่างหาก เหตุที่สังคมตกอยู่ในสภาพดังกล่าว ก็เพราะรัฐสร้างคนให้ฉลาดให้มีสมรรถนะยิ่งๆ ขึ้นนั้น รัฐทำได้สำเร็จ แต่รัฐสร้างคนให้ฉลาดให้มีสมรรถนะด้วย และ กิเลสก็ลดลงด้วย หรือ หมดไป..นี้ทำไม่ได้

ทำอย่างไร "คน" จึงจะลด "โลภ-โกรธ-หลง" เป็น ความเจริญอย่างตรงสัจธรรม และ มีสมรรถนะ?

หลักการพัฒนาสังคมในระบบบุญนิยม
ซึ่งเชื่อว่า จะทำให้ "คนเจริญ" อย่าง เป็น สัจธรรม มี ๑๐ ประการ
๑. มีคนที่สัมมาทิฏฐิ
๒. มีศาสนา เป็น หลัก
๓. มีงาน หรือ กิจการที่พึ่งตนเองได้
๔. มีระบบการดำเนินชีวิต
๕. มีวัฒนธรรมที่แข็งแรงยั่งยืน
๖. มีภราดรภาพ
๗. มีการศึกษาสืบทอด
๘. มีการเผยแพร่
๙. มีการตลาด
๑๐. มีบูรณาการในอิสระเสรีภาพ ภราดร สุขสันติ และ สมรรถนะ จนเกิด เป็น บูรณภาพ

ข้อที่ ๑ "มีคนที่สัมมาทิฏฐิ" นี้ เป็น หัวใจสำคัญทีเดียว เป็นประธานของการพัฒนาทั้งหมด หาก "ทิฏฐิ" หรือ ความเห็นความเข้าใจไม่ถูกต้อง ไม่ "สัมมา" ตามสัจธรรมแล้ว คนจะปฏิบัติ หรือ เรียนรู้ให้ลึกซึ้ง ต่อไปก็จะเขว หรือ เพี้ยนผิดไป จะมากจะน้อยก็ตาม "ดีกรีของมิจฉาทิฏฐิ" นั้น ๆ จึงชื่อว่า พัฒนาไม่ได้
เช่น หากใครไม่เข้าใจว่า เกิดมา เป็น "คน" นั้น มี "กรรม" เป็น สมบัติ เป็น ทรัพย์ที่แท้ยิ่งกว่า เงินทอง, ยศศักดิ์, สรรเสริญ หรือ โลกียสุขอันจะติดตัวติดตนข้ามภพข้ามชาติไปนานับกัปป์กาล "กรรมนี่แหละ เป็น ของตน" (กัมมัสสกะ) ไปจนกว่า จะปรินิพพาน "กรรม" นี่แหละ เป็น "ที่พึ่ง" ยิ่งกว่า อะไรทั้งหมด (กัมมปฏิสรณะ ; อัตตา หิ อัตตโน นาโถ ; ตถัตตะ หรือ ตถตา) และ "กรรมวิบาก" นี้แหละ เป็น อำนาจสำคัญ ที่จะดลบันดาลเจ้าของกรรมจริงยิ่งกว่า "พระเจ้า " หรือ จริง ยิ่งกว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ หากผู้ใดไม่เข้าใจดังว่า นี้ คนผู้นั้น ก็จะไม่เห็นว่า "กรรม" สำคัญกว่า "สิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือ พระเจ้า " ก็จะไม่เชิดชูบูชา "กรรม" ไม่เอาใจใส่เรื่อง "กรรม" ไม่เคารพ "กรรม" ไม่แม้แต่จะสำนึกสังวรระมัดระวัง "กรรม" ดังนั้น จึงทำ "กรรมชั่ว หรือ บาป " ก็ไม่กลัวไม่เกรงเท่ากับกลัวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนแท้ๆ สมมุติขึ้น เพราะดังนี้ คนผู้นี้ก็จะ
ไม่ศึกษา "กรรม" ไม่ยกย่อง "กรรม" ไม่พิสูจน์ให้รู้แจ้งเห็นจริงในความ เป็น "กรรม" ว่า สำคัญยิ่งใหญ่จริงที่สุดขนาดไหน จึงไม่คิดจะพัฒนา "กรรม" เพราะไม่เห็น "กรรม" ว่า สำคัญ ก็ย่อมไม่ได้ศึกษา "กรรม ๓" อันได้แก่ กายกรรม, วจีกรรม โดยเฉพาะ "มโนกรรม" หากศึกษา และ ปฏิบัติไม่ "สัมมาทิฏฐิ" จริง "จิตใจคน" จะไม่พัฒนาก้าวถึงขั้นบรรลุธรรมได้เลย

การพัฒนาที่แก้ไม่ตรงจุด คือ ไม่ศึกษา และ ปฏิบัติจนสามารถแก้ "กรรม" ให้ดีขึ้นทั้งกาย และ วาจา โดยเฉพาะ "จิตใจ" ก็จะไม่เจริญจริงถึงขั้นแก้ให้ "จิตใจคน" อันมี " สมุทัยแห่งความโง่ความเลวความทุกข์ " ตัวแท้ พัฒนาขึ้นได้แน่ หากไม่แก้กันให้ถูกจุดแห่ง "ประธานสิ่งทั้งปวงอันคือจิตใจ" (มโนปุพพังคมา ธัมมา) ก็จะไม่ เป็น การแก้ที่สำเร็จ "แท้" ได้จริงกระทั่งเจริญแข็งแรงมั่นคงยั่งยืนตลอดไป เป็น อันขาด เพราะจะแก้ได้ก็ไม่ถึงขั้นบรรลุธรรม "แท้" ซึ่ง เป็น ความ "แท้" ที่รวมเอาทั้ง "พระเจ้า และ สิ่งศักดิ์สิทธิ์" ก็อยู่ในนั้น ทั้งสิ้น

ข้อที่ ๒ "มีศาสนาเป็นหลัก" ข้อนี้ก็สำคัญมากสำหรับคน และ สังคม คำว่า "มีศาสนา" คำนี้ต้องหมายถึงว่า "ใส่ใจสนใจทั้งเรียนทั้งปฏิบัติได้มรรคผล " หรือ ได้"ประโยชน์ที่ เป็น กุศล "พัฒนาตนเองแม้จะไม่ถึงกับบรรลุ มรรคผลก็ต้องมี "กรรม ๓"เจริญ เป็น กุศลขึ้นในปัจจุบันนี้ถึง ๕๐ เปอร์เซนต์ " (สอบได้) จึงจะนับว่า "มีศาสนา" ไม่ว่า ศาสนาใดๆ ก็ตาม หากไม่ถึงขั้น "สอบได้" (คือ มีผลถึง ๕๐ % ขึ้นไป) ยังไม่นับว่า "มีศาสนา"แท้
มิใช่ว่า "มีศาสนา" นั้น หมายเอาแค่ มีตามบรรพบุรุษนับถือกันมาก็เลยเพียงมีชื่อว่า เป็น ศาสนิกไป ตามแกน หรือ ดีหน่อยก็เรียนบ้างปฏิบัติบ้างแต่ไม่สามารถได้รับมรรคผลทางศาสนาจริง แม้จะ เป็น โลกียกุศล หรือ ไม่มีการ พัฒนาทางศาสนาจนได้กุศลใส่ตนถึง ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ดังกล่าวแล้ว ก็ยังไม่ชื่อว่า "มีศาสนา" เพราะ "สอบตก" อันธรรมดาของคนนั้น แค่คนที่ "ไม่มีศาสนา" คนที่มีสามัญสำนึกที่ดี เขาก็จะพยายามปฏิบัติเพื่อความดีอยู่บ้างแล้ว บางคนพัฒนาตนได้มากกว่า ๕๐ % ในชีวิตของเขาก็มีได้ ดังนั้น ผู้ชื่อว่า "มีศาสนา" จะต้อง "สอบได้" จึงจะนับว่า "มีศาสนา" แต่ที่หนักกว่า นั้น ก็คือ คนผู้เรียนรู้ศาสนาท่องจำได้มาก แล้วเอา "ความรู้ทางศาสนา" ไปเอาเปรียบกอบโกยแลกลาภ, ยศ, สรรเสริญ, โลกียสุขจากคนจากสังคมมาบำเรอตนให้กิเลสตนหนาขึ้นๆ ส่วนตนไม่ได้ปฏิบัติให้ตนมีกุศลถึง ๕๐ เปอร์เซนต์ (สอบตก) นั่นยิ่ง เป็น "หนี้วิบาก" ซึ่ง เป็น อกุศลที่ เป็น จริงตามสัจธรรมซับซ้อนอยู่อย่างไม่รู้ตัวถ
คนที่ "ไม่มีศาสนา"ถึงขั้นดังกล่าวมานั้น เขาย่อมทำอกุศล หรือ บาป หรือ ชั่วใน "กรรม ๓" มากกว่า กุศลอยู่ในสังคมแน่นอน เพราะ "กรรมกุศล " ของเขามีน้อยกว่า ๕๐ เปอร์เซนต์ เพราะฉะนั้น คนผู้ "ไม่มีศาสนา" ตามนัยที่ว่า นี้ เมื่อทำงานอยู่ในสังคม ก็จะทำ "อกุศลกรรม" มากกว่า "กุศลกรรม" ตามสัจจะ ยิ่งมีหน้าที่สูง ก็ยิ่ง เป็น "อกุศล-เป็นหนี้วิบากเพราะได้เปรียบ" โดยตนก็ไม่รู้ตัว ซึ่งหนักหนาสาหัสกว่า ผู้ไม่มีโอกาส ก็คิดดูเถิดว่า คนที่มี "กรรม ๓" อัน เป็น "อกุศล" เกินกว่า ๕๐ เปอร์เซนต์ และ เป็น พฤติกรรมจริง มันจะทำให้สังคมไปรอดได้อย่างไร ผู้มี "วิชชา" หรือ มี "ความฉลาดชนิดรู้แจ้ง เป็น โลกุตระ" เท่านั้น จึงจะรู้ชัดเจนในสัจจะเช่นนี้

คนที่มี "กรรม ๓ "เป็น "อกุศล" เช่น ฆ่าสัตว์, ไม่สุจริตในการได้ทรัพย์มา, ผิดในกาม, โกหก, มัวเมามอมเมา ตนเองอย่างอวิชชา หรือ ละเมิดศีล ๕ นั่นเอง ซึ่งประพฤติจริงรวมความผิดแล้วมากกว่า ๕๐% เป็นต้น จริงๆ นั้น มี "อกุศล" อื่นนอกจาก "ผิดศีล ๕" นี้อีกนักกว่า นักที่ เป็น พฤติกรรมจริงของคน ซึ่งต้องนับรวมไว้ด้วย หากคน ได้ศึกษา และ ใส่ใจปฏิบัติ ศาสนาย่อม "มีหลักดีๆ สำคัญๆ" ที่ เป็นคำสอนศาสดาแท้จริง แม้ศาสนาปัจจุบันจะมีการสอน เพี้ยนไปจากศาสดาเดิม ก็ควรจะศึกษาค้นคว้าเอาของจริงให้ได้ จะได้มี "หลักที่ดีที่สำคัญๆ "ให้แก่ชีวิต ไม่มากก็น้อย กันจริงๆ บ้าง หากไม่มีศาสนา เป็น "หลัก " คนก็ดี สังคมนั้น ๆ ก็ดี ก็ไป ยึดเอา "หลัก " ที่คนสมัยนี้ส่วนใหญ่นิยม หรือ ที่สังคมหลงนิยมกัน ซึ่งไม่ใช่ "หลักธรรม" ที่ศาสดาบัญญัติไว้ มา เป็น "หลัก" นับถือ และ ปฏิบัติใช้ในชีวิต สังคม จึงเสื่อมลงๆ ตาม "ค่านิยมของสังคม" อย่างเห็นๆ

NEXT อ่านต่อ ข้อ 3-9


 
3/5