คาถาธรรม ๓

ลดละ ขยัน กล้าจน ฯ

พวกเรา ผู้ที่ได้มา ลดละ ขยัน กล้าจน ทนเสียดสี หนีสะสม นิยมสร้างสรร ซึ่งได้กระทำ กันมา พยายามที่สุด ที่จะให้ครบถ้วน การเลิกละ เรารู้อยู่ และการขยัน เราก็กระทำกัน โดยเพียร โดยพยายามกันอยู่ ที่จะเป็นคนที่เลิกขี้เกียจให้ได้ อ่านจิต อ่านทุกสิ่งทุกอย่าง ที่เราเอง เราสามารถ จะอ่านตนเองได้ พยายามลด ละ จุดที่มันไม่ดี จุดที่มันบกพร่อง และ เราก็จะพยายามกระทำ แม้จนกระทั่ง ในสภาพ กล้าจน ซึ่งเป็นสภาพที่เดินทางไปสู่ จุดพิสูจน์ ถึงความเป็นมนุษย์
ผู้อยู่ได้ในโลกนี้ การอยู่ได้ อย่างร่ำรวย ไม่มีใครสงสัย แต่การอยู่ได้อย่างคนจน จนตลอด ชีวิต เป็นผู้ที่ ไม่สะสม ทนเสียดสี แก่คนที่เขาว่า เขากล่าว ซึ่งไม่เหมือนกับ คนทั่วไปในโลก ที่เขามีค่านิยม เพราะฉะนั้น เราไม่ได้เป็นคน เหมือนเขา ค่านิยมของเรา เป็นคนสร้างสรร แต่ว่า เราก็จะเป็นคนจน เป็นคนให้ เป็นคนไม่เอาเปรียบ เป็นคนที่ มอซอ แต่เป็นคนขยัน สร้างสรร สภาพทั้งมวลนี้ จะต้องทำความเข้าใจให้จริง และ ปรับตนเอง อย่างจริง อยู่ได้ อย่างที่มีความจริงต่างๆ ที่เราได้พยายาม บอกกันไว้นี้ และเป็นผู้ที่ยินดีพอใจ เห็นความจริง ได้ว่า เรามีความลดละ กิเลสเบาบาง จิตของเราสะอาดขึ้น เราสว่างจริง ชัดเจนจริง และ ความสงบ อันที่แสวงหากัน เราก็ปรากฏได้ เราปรับตัวเราเอง อยู่กับสังคม เกิดความสุภาพ เข้ากันได้ สมานกันได้ เรียบร้อย ในความเป็นอยู่ เรามีสมรรถนะ สามารถสร้างสรร สามารถที่จะอยู่อย่าง คนมีคุณค่าประโยชน์ และ เราเป็นผู้ก่อความสามัคคี อยู่ในโลก

๒๑ มกราคม ๒๕๒๗


 

๗ ก้าวสู่ความเป็นพุทธะ

ผู้มีสติ รู้ตัวทั่วพร้อมอยู่เสมอ รู้กาย ซึ่งเป็นกายกรรม ที่เราจะกระทำออกไป รู้วาจา ที่เรากำลังพูด พิจารณา มีธัมมวิจัย พยายาม ระมัดระวังให้สำคัญ เราได้ปรับกายกรรม ปรับวจีกรรมจริงๆ อยู่เสมอ นั่นแหละคือ เรากำลังหัด มีอำนาจทางจิต และมีปัญญา เราธัมมวิจัย อยู่ตราบใด พยายามรู้ความจริง ตามความเป็นจริงว่า กายกรรมเช่นนี้ ยังไม่งาม ยังไม่เป็นกุศล ที่ดีพร้อม เราก็ปรับเสีย วิจัยให้รู้ว่า อย่างไรจะดีกว่า แล้วเราก็ทำ ให้ดีขึ้น อยู่เสมอๆๆ นั่นคือ การกระทำ สติปัฏฐาน ๔ การกระทำ โดยแท้จริง ได้ฝึกใจด้วย แม้เราจะปรับกาย ปรับวจีนั่นเอง เราได้ปัญญา และ เราก็ได้ สร้างกำลังใจ เพราะการปรับ ในขณะที่ เรามีผัสสะ มีการเป็นอยู่ ประจำวัน เรารู้ตัวทั่วพร้อม แล้วก็รู้กาย รู้วจีของเรา อยู่เสมอจริงๆ ธัมมวิจัยจริงๆ วิริยะพากเพียรให้รู้ แล้วเราก็ปรับไปจริงๆ ให้ดีขี้น ดีขึ้น อยู่เสมอๆๆ อย่าเหนื่อยหน่าย มีวิริยะ อุตสาหะจริงๆ นั่นคือ เราได้เดิน โพชฌงค์ ๓ เมื่อมันมี ผลดี ก็เป็น โพชฌงค์ ๔ เมื่อมีการกระทำ ได้โดยง่ายขึ้น ไม่ฝืด ไม่ฝืน คล่องแคล่ว ขึ้นเรื่อยๆ ก็มี โพชฌงค์ ๕ ทำได้อย่างแข็งแรง มั่นคง ก็มี โพชฌงค์ ๖ ทำได้อย่างดีวิเศษ ก็เป็น โพชฌงค์ ๗
นี้คือ ทางก้าวสู่นิพพาน โดยหลักของ โพชฌงค์ ๗ ที่ ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้าอุบัติ โพชฌงค์ ๗ ก็ไม่เกิด เพราะมี พระพุทธเจ้าอุบัติ โพชฌงค์ ๗ หรือ การเดิน ๗ ก้าว สู่ความเป็นพุทธะ จึงเกิด

๒๒ มกราคม ๒๕๒๗


 

หลักในการปฏิบัติธรรม

ผู้มีหลักในการปฏิบัติ คือ มีสติอยู่ รู้ตัว การมีสติ ได้เตือนเสมอ ว่าการรู้ตัวนั้น เรารู้ตัวอยู่ ๒ แง่ รู้ตัว เป็นไปตามโลกย์ นั่นเรียกว่า โมหะ คือ รู้เหมือนกัน ว่า ไอ้นี่อร่อย แล้วก็พยายาม เสพย์ความอร่อย ตามอำนาจของกิเลส เราก็รู้ ไม่อร่อยเราก็ยังรู้ และเราก็ไม่ชอบด้วย แล้วเราก็จะเอาตาม ใจที่อร่อย ดังนี้ เป็นต้น นั่น เหมือนกับ เรามีสติ เรารู้อะไรทุกอย่าง เหมือนกัน แต่ว่า ไม่ใช่รู้ตัวทั่วพร้อม มีธัมมวิจัย มีวิริยะ มีความเป็น นักปฏิบัติธรรม

ถ้าผู้ใด มีความเป็น นักปฏิบัติธรรมแล้ว จะมีสติรู้ตัว ทั่วพร้อม และ มีธัมมวิจัย อย่างพากเพียร ที่จะแบ่ง กุศล-อกุศล แยกกุศล-อกุศล ออกจริงๆ วิจัย วิจารณ์ อยู่เสมอ แล้วก็พยายาม วิริยะ อุตสาหะ ที่จะละจากอกุศล มีให้เราได้กระทำ มีให้เราได้ประพฤติ สู่กุศล ที่ดีขึ้นๆ ยิ่งๆขึ้น เสมอๆ ดังนั้น การมีสติ จึงจะต้องมี ธัมมวิจัย มีวิริยะ จึงเรียกว่า เป็นสติสัมโพชฌงค์ และ มีธัมมวิจัย เป็นตัวตาม มีวิริยะ เป็นตัวเพียร ที่จะต้อง กำหนดรอบ เป็นวงจักร ที่ทำงาน ปฏิบัติ เป็นเดินอยู่ ๆ เรียกว่า โพชฌงค์ เราจึงจะก้าว ไปสู่ความดี เมื่อได้ความดี ละล้างได้ ลดได้ ก็เดินไปสู่ ความสงบ ซึ่งเรียกว่า ปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ เมื่อเราทำได้ ตามที่เรามีหลัก มีศีล มีกรรมฐาน อันเป็นของตนๆ เราก็จะได้ปฏิบัติ สะสม ภูมิธรรม ขึ้นไปเรื่อยๆ ตั้งมั่น เรียกว่า สมาธิ ทำได้ยิ่งขึ้นๆ แข็งแรง จนมีกำลังตั้งมั่น เรียกว่า สมาธิ และ ที่สุดก็ บริสุทธิ์ บริบูรณ์ หรือ ดีเป็นเยี่ยม จึงเรียกว่า อุเบกขา

ผู้ที่ได้ใส่ใจ เข้าใจตนเอง มีองค์แห่ง การตรัสรู้ หรือ องค์แห่งการเดิน ก้าวสู่ความเป็น พุทธะ ๗ ก้าว ๗ หลัก ด้วยประการ ฉะนี้ ผู้นั้นชื่อว่า มีหลักในการ ปฏิบัติธรรม เมื่อขยายออก อย่างกว้าง ก็จะเป็น โพธิปักขิยธรรม ๓๗ นี้คือ หลักปฏิบัติ หรือ ทางก้าวเดิน หรือ มรรคแท้ๆ เต็มองค์ ของศาสนาพุทธ

๒๓ มกราคม ๒๕๒๗


 

การติเตียน คือการขัดเกลา

คำว่า การมีมิตรดี สหายดี ผู้สนับสนุนดี นั้น เป็นหลักการ ที่เป็นการปฏิบัติ เพื่อสู่ ความตรัสรู้ คือเป็น สัมโพธิ อย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น เราควรจะได้ระลึก ได้เห็น ความสำคัญ ของการมีหมู่มวล ที่เป็นมิตร ห้อมล้อม เป็นผู้ที่ช่วยเหลือ เฟือฟายกัน เป็นตัวอย่าง แก่กัน และกัน และเป็นตัวงาน ที่ช่วยกันขัดเกลา แก่กันและกัน จิตของคน ที่มีมานะ อัตตานั้น จะรู้สึกว่า ตัวเองได้รับประโยชน์ จากผู้อื่น เมื่อขัดเกลา นั้นน้อย จนกว่า เราจะได้ ฝึกหัด เล่าเรียน ศึกษา อบรม ปลดปล่อย วางตัวตน วางอัตตา มานะลงเรื่อยๆ และเห็นจริง จากประโยชน์ ที่เพื่อนฝูง ช่วยขัดเกลา ช่วยติงเตือน นำพา โดยเฉพาะ ติงเตือน หรือ ว่าติเตียน ท้วง โต้ต้าน ห้าม ในสิ่งที่เราชอบ ในสิ่งที่เราถนัด และ เราจะเคยตัวทำ อยู่เสมอ นั่น เป็นการขัดเกลา เป็นการช่วยเหลือ เฟือฟายกัน โดยธรรม อยู่ในความหมายว่า เรามี มิตรดี สหายดี ผู้สนับสนุนดี หรือ ช่วยกันขัดเกลา ช่วยกันส่งเสริมให้ดี เพราะผู้ที่เรียน ด้วยกัน จะรู้ว่าสิ่งใดดี ไม่ดี ผู้ที่ศึกษาร่วมกัน จะเข้าใจว่า เราควรติ ควรติงกัน แม้จะด้วย ความไม่ชอบใจ ที่ผู้นั้น ผู้นี้ ทำไม่ดี

ในขณะที่ได้ติเตียนผู้อื่น ก็ติเตียนด้วย ความไม่ชอบใจ ก็ตาม ที่ไม่ชอบใจ เพราะเห็นว่า มันเป็นความไม่ดี แต่แม้จะติเตียน ด้วยความไม่ชอบใจ ก็ยังเป็นประโยชน์ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ได้รับ การติเตียน จึงควรรู้ตัว เข้าใจอยู่เสมอๆ ว่าผู้ติเตียนเรานั้น เรากำลังได้รับ ขุมทรัพย์ เมื่อผู้ใดได้รับ การติเตียน ก็จะต้องพยายาม ตั้งรับ อย่างมีสติ และ พยายามตั้งใจ ลดมานะ และอัตตา แม้จะด้วยเจตนา ไม่ดีก็ตาม เราจะไม่ ขาดทุนเลย สักทางเดียว นี้เป็น ประโยชน์ อันยิ่งใหญ่ ของการมีมิตรดี มีมวลมิตรดี สหายดี ผู้สนับสนุนดี เมื่ออยู่รวมกัน ร่วมกัน จะขัดเกลากัน โดยธรรมชาติที่หาไม่ได้ จากที่อื่นใดๆเลย

๓๐ มกราคม ๒๕๒๗


 

เรียนรู้ชีวิต จิตวิญญาณ

ผู้เรียนรู้ชีวะ ภูตะ ปาณะ เรียนรู้ชีวิต เรียนรู้จิตวิญญาณ เรียนรู้ความลึกซึ้ง ของเยื่อใย ของจิตวิญญาณ และ เราก็จะเข้าใจ ความจริง จะเป็นผู้เห็น ชัดเจนว่า สัตวโลกเกิดมา มีกิเลส เป็นตัวบงการ เมื่อเข้าใจกิเลสแล้ว ก็จะเห็นใจสัตว์ ที่ยังมีกิเลส ผู้ปฏิบัติศีลข้อ ๑ จะเป็นผู้ที่ รู้จักตัวตน จะรู้จักมานะ แล้วที่สุด ก็จะลดละตัวตน ลดละมานะ เป็นผู้เอื้อเอ็นดู เป็นผู้ปรารถนาดี ต่อสรรพสัตว์ ผู้ที่ปฏิบัติศีลข้อ ๑ เป็นอธิศีล ได้อย่างดี ยิ่งๆขึ้น จะเป็น คนที่เห็นใจผู้อื่น เห็นแก่ชีวิต เห็นแก่วิญญาณผู้อื่น เพราะมีความลึกซึ้ง ในปาณะ และ เยื่อใยของชีวิต ละเอียด แยบคาย ถ่องแท้ เข้าใจ ความละเอียดของจิต และกิเลส เข้าใจตัวกิเลส ที่มันอาศัยจิต บงการชีวิตมนุษย์ ชีวิตสัตว์โลก ทั้งที่เป็น สัตว์นรก และ สูงขึ้นมา เป็นเทวดา ที่หลงตัว หลงตน หลงยิ่ง หลงใหญ่ ตั้งแต่ชั้น เทวดาธรรมดา จนถึงชั้นพรหม จนถึงชั้น อรูปพรหม จะเข้าใจความจริง ในความหมาย เหล่านี้ อย่างแท้จริง

ผู้ที่เป็นพรหม มีมานะใหญ่ นี้ยังหลงตัว หลงตน ผู้ถอดถอน ละล้าง ความมี มานะใหญ่ได้ ก็จะเห็นว่า นั่นคือกิเลส ที่มันไม่ได้ทำให้ ตัวผู้มีกิเลสนั้น ดีแต่อย่างใด เมื่อถอดถอนตัว รู้ชัดรู้เจนได้ จึงจะเข้าใจว่า ชีวิตผู้อื่น ที่มีมานะ ที่มีความยึดตัว ยึดตน ยึดดีก็ตาม ก็เพราะ ตัวยังตกเป็นทาส ของกิเลสตัวนั้น ผู้ที่ละล้างออก ได้แล้ว เมื่อปรับตน ไม่ให้มีกิเลสซ้อน ในตัวถือดี ที่เป็นอติมานะ ได้จริง จึงจะเป็นผู้ที่ เห็นใจเขา เพราะเขายังไม่รู้ อำนาจของ กิเลสตัวนั้น เขายังอยากเป็นทาส เหมือนเด็กๆ ที่ยังไม่รู้ ยังไม่เดียงสา น่าสงสาร น่าช่วยเหลือ น่าเอ็นดู ที่เราจะอุ้มชู พยายาม ช่วยเขาให้รู้ ได้ช่วยเขาให้ละ ปานฉะนั้น

เพราะเหตุนี้เอง ผู้ที่ยังไม่รู้กิเลส สิ้นเกลี้ยง จนถึงขั้นมานะ ดังกล่าวนี้ จึงยังมีตัวตน จึงยังมีความแรง จึงยังมีความ ไม่เกื้อกูล หรือ ไม่ช่วยเหลือ ไม่สามารถ ที่จะโอบอุ้ม กอบกู้ ทำให้ผู้อื่น มีชีวิต จิตวิญญาณ อันสะอาด บริสุทธิ์ได้ ผู้ที่มีจริง เป็นจริง ในสิ่งใด ก็จะทำสิ่งนั้น อยู่อย่างนั้น ผู้ที่สะอาด บริสุทธิ์จริง ในจิตวิญญาณจริง ก็จะช่วยคน ให้หมดกิเลส มีจิตวิญญาณ สะอาดจริง ได้เช่นนั้นบ้าง

ขอให้ทุกคน ตรวจจิต ตรวจใจ ตนเอง ตัวมานะนี้ เป็นตัวร้าย ตัวแรง ตัวยืนนานมาก แม้แต่ ศาสนา หลายศาสนา ถอดถอนมานะ อันยิ่งใหญ่นี้ ออกไม่ได้ ยกเว้น ศาสนาพุทธ ที่มีความรู้รอบ ในจิตวิญญาณ อันถ้วนถึง จึงสามารถ ทำให้เกิด สุญญภาพ เป็นอนัตตาธรรม ได้ แต่เพียงศาสนา ที่มีทฤษฎี ของมรรค องค์ ๘ หรือ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ แต่เพียง ศาสนาเดียว

๓๑ มกราคม ๒๕๒๗


 

ทำตนให้เบิกบาน แจ่มใส สดชื่น

ในการอ่าน การรู้จิตใจจริงๆ ชีวิตจะได้กำไร ก่อนอื่น ความหม่นหมอง ความไม่ชอบใจ ความขัดเคือง เราต้องขจัด ขจัดออก อย่างไม่มีข้อแม้

เมื่อเรามี ความแจ่มใส เบิกบาน สดชื่นอยู่ และ เราก็มีสติ รู้ตัวทั่วพร้อม ทุกขณะ ต่อสัมผัส หรือต่อการเป็นอยู่ ของ จิต วิญญาณ

เราอย่าห่างใจ อย่าห่างจิต อย่าเผลอใจ อย่าเผลอจิต ทำความเข้าใจ ให้ตนเอง อยู่เสมอว่า เรามีสติสัมโพชฌงค์ เรามีธัมมวิจัย สัมโพชฌงค์ เรามีวิริย สัมโพชฌงค์ นั้น คืออย่างไร

เคยย้ำให้ฟังเสมอ ว่ามีสติรู้ สักแต่ว่ารู้ แล้วก็ระเริงไปตาม อารมณ์กิเลส ถ้ามี สติสัมโพชฌงค์นั้น จะเป็นการรู้ ระลึกรู้ตัว อยู่เสมอ ต่ออิริยาบถ ต่ออารมณ์จิต ต่อกายกรรม วจีกรรม และ เราก็รู้ต่อผัสสะ และ จะมีธัมมวิจัย สัมโพชฌงค์ เข้าควบ เข้าผสม อยู่เสมอๆ ด้วยความเพียร ให้เป็น ให้รู้ และให้วิจัย อยู่เสมอๆ แยกกุศล อกุศล ให้ออก ต่อสภาพ กระทบสัมผัส สัมพันธ์อยู่นั้นๆ

เมื่อวิจัยออก และเลือกเฟ้นออกแล้ว เราก็เลือกกระทำ ตามความสามารถ ตามศีล ตามกรรมฐาน ที่เราได้สมาทาน แก่ตนๆ

เมื่อทำได้ดี ลดละลงไปได้สงบ ปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิ สัมโพชฌงค์ ย่อมเกิด ย่อมได้ ตามจริง เป็นจริง ที่เราได้พากเพียร ปฏิบัติตน อยู่เสมอๆ และเราก็จะถึง สมาธิ สัมโพชฌงค์ เกิดความตั้งมั่น ยั่งยืน คงทนขึ้น ได้เรื่อยๆ ในศีล ในจิต ในปัญญา ที่เราสามารถ เจริญ พัฒนาขึ้นไปได้ จนถึง อุเบกขาฐาน หรือเป็น อุเบกขา สัมโพชฌงค์ ตามคุณธรรม องค์ธรรม ที่เราได้ศึกษามาแล้ว การก้าวเดิน เช่นนี้ ๆ ทวนอยู่เสมอ เช่นนี้ ทวนอยู่เสมอ ย้ำอยู่เสมอ และ เราต้องมีจริง เป็นจริง

ผู้ไม่รู้จัก โพชฌงค์ ๗ ไม่รู้จัก โพธิปักขิยธรรม ๓๗ อยู่ในตน โดยการปฏิบัติ ให้เต็มครบให้ได้ เมื่อเราไล่เอา รายละเอียด ผู้ที่ทำขาด ทำตก ทำหล่น ก็ย่อมช้า ก็ย่อมไม่ได้ผล ผู้ที่ทำได้ครบ ได้เต็มที่เสมอ โดยคล่องแคล่ว ขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่เคร่งเครียด แต่ทำอย่าง เคร่งครัด เราก็จะได้อย่าง แคล่วคล่อง และ เจริญไพบูลย์ เดินทางไปได้มาก และเร็ว วันหนึ่ง เราก็ก้าว ถึงจุดหมาย ปลายทางนั้นได้

๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๗


 

ผู้ที่เข้าใจ และ เห็นจริง

ในชีวิตที่ดำเนินไปอยู่ อย่างได้ฝึกฝนแล้ว จะเห็นชัดเจนว่า ชีวิตนั้น จะต้องมีสติ มีธัมมวิจัย มีวิริยะ อย่างมั่นคง จึงจะมีผล ในการปฏิบัติ ประพฤติ หรือ ดำเนินไป อย่างมีกำไร ผู้ที่ยัง ไม่เคยฝึกตน หรือ ยังไม่ได้เรียนรู้ ธรรมะเลย ก็จะอยู่อย่างหลง เป็นไปกับโลกีย์ มีความตื่น เหมือนกัน มีสติเหมือนกัน แต่ก็เป็นไปกับโลก ที่พาเป็น สังคมที่พาเป็น ซึ่งเราเรียกว่า หลงไปตามโลก จะไม่รู้จักกำไรที่แท้จริง จะไม่รู้จักขาดทุน ที่แท้จริง จะเห็นกำไร อย่างโลกๆ และ จะเห็นว่า ขาดทุนอย่างโลกๆ ซึ่งเป็นการสั่งสม ความเห็นแก่ตัว สั่งสมความโลภ สั่งสมความโกรธ ไปอย่างไม่รู้แล้ว ไม่รู้จบ เห็นแก่ตัว มีอัตตาหนักหน้า

ยิ่งมีมานทิฏฐิ ถือดี ถือตัว ยิ่งอายุมาก ยิ่งมีความสามารถ ยิ่งมียศศักดิ์ ยิ่งมีเงินทองมาก ในขณะที่ อายุมากแล้ว จึงเป็นผู้ที่ถือตัว ยิ่งสร้างสมกิเลส ให้แก่ตน มากยิ่งขึ้น เป็นชีวิต ที่น่ากลัว เป็นชีวิตที่ขาดทุน มหาศาล

เมื่อเรามาศึกษา ธรรมะแล้ว เราจะเห็นโทษอันนี้ได้ เด่นชัด ว่าเราจะต้อง เป็นผู้ที่ สังวรระวัง เรายิ่งอายุมาก ยิ่งมีคุณความดี มากขึ้นเท่าใด อันเป็นสัจธรรม ที่แท้จริง เรายิ่งจะเป็นผู้ที่ อ่อนน้อม ถ่อมตน ยิ่งจะเกรงใจโลก ยิ่งจะเกรงใจ มิตรสหาย ว่าเราจะต้อง เป็นผู้ที่มีคุณค่า มีประโยชน์

เมื่ออายุมากขึ้น คุณค่า และ ประโยชน์ของเรา ที่จะสร้างสรร ให้แก่โลก ยิ่งจะน้อยลง เรายิ่งเกรงใจ ผู้ที่จะต้องช่วยเหลือ เกื้อกูลเรา มากขึ้น เพราะเรารู้ กำไร และขาดทุน ที่ถูกต้อง ยิ่งขึ้น

การฝึกตน มีสติสัมโพชฌงค์ มีธัมมวิจัย สัมโพชฌงค์ มีวิริย สัมโพชฌงค์ จะสั่งสม ให้เราเกิดดี ปีติสัมโพชฌงค์ เกิดสงบ ปัสสัทธ ิสัมโพชฌงค์ สามารถตั้งมั่น แข็งแรง และยิ่งขึ้น สมาธิ สัมโพชฌงค์ ขึ้นไปสู่จุดสูงสุด เป็นฐานอาศัย เรียกว่า "อุเบกขา สัมโพชฌงค์" ถ้าเป็นจริงแล้ว ถ้าได้จริงแล้ว ผู้นั้น จะเป็นผู้ที่ น่าเอ็นดู น่านับถือ บูชายิ่งๆขึ้น ยิ่งแก่ ยิ่งมีเวลาฝึกตน อย่างถูกทางยิ่งขึ้น อายุมากยิ่งขึ้น จึงยิ่งจะเป็นผู้ที่ ละตัว ละตนยิ่งขึ้น จึงเป็นผู้ที่น่านับถือ บูชา

คนแก่ที่มีธรรมะ จะเป็นผู้ที่ได้รับ การเคารพบูชา แม้จะมีเรี่ยวแรง ทำงาน ให้แก่สังคม ได้น้อยก็ตาม แต่จะเป็นผู้ที่ได้รับ ความเคารพ นับถือบูชา ด้วยประการ ฉะนี้

๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๗


 

พากเพียรให้สู่ดี

บัดนั้น ปัจจุบันนั้น เรากำลังอยู่ในอาการ อยู่ในอารมณ์ ดีหรือชั่ว เมื่อเรารู้ว่า เราอยู่ใน อารมณ์ที่ชั่ว หรือ ไม่ดี เราก็จะปรับเปลี่ยน เริ่มริ ดำริ ตั้งแต่ดำริ มาทีเดียว เริ่ม ริเริ่มมา ทีเดียว ให้สู่ดี ตั้งใจให้สู่ดี พากเพียรให้สู่ดี พยายามบากบั่น อุตสาหะ ตั้งให้จริงๆ ให้สู่ดี จริงๆ เราจึงจะดำเนิน สภาพขึ้น เจริญขึ้น

นี่เป็น จุดสำคัญที่สุด ที่เราจะแก้ไข ความสู่ ถีนมิทธะ หรือ ความไม่กระปรี้กระเปร่า ไม่ร่าเริงเบิกบาน ไม่แคล่วคล่อง จะกลายเป็น ความหรี่ ความหลบ เป็นความซึม ความเซื่อง ซึ่งเป็นสภาพ ตรงกันข้ามกับ พุทธะ ที่ชื่อว่า รู้ ตื่น เบิกบาน แจ่มใส

หากเราไม่แก้ และเราไม่สังวร ระวัง ไม่สำเหนียก กระทำให้แก่ตน สม่ำเสมอ เราก็จะกลาย เป็นผู้ที่ ตกไปในสภาพ หลีกหลบ ลี้ หรือซึมเซื่อง จะกลายเป็นคน มีถีนมิทธะใหญ่ และ แก้ยาก ยิ่งอยู่ในหมู่กลุ่มที่เป็น ศิษย์ตถาคต เป็นหมู่กลุ่มที่มี ปฏิปทา อย่างพุทธศาสนา แท้แล้ว มันยิ่งจะค้านแย้งกัน นับวัน ยิ่งจะรู้สึก ปลีกแยก รู้สึกแตกต่าง และ ไม่ลงรอยกัน เพราะฉะนั้น ต้องสังวรให้ดี ฝึกหัด กระทำอาการ ที่จะแก้ สภาพนี้

ตามที่พระพุทธเจ้า ท่านให้สูตร ว่าเราต้องริเริ่ม เราจะต้องพากเพียร พยายาม แล้วเรา จะต้องบากบั่น ดังที่ กล่าวแล้วเสมอ เพื่อเข้าสู่ความเป็นพุทธะ เจริญยิ่งๆๆๆขึ้นไป

๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๗


 

อินทรีย์พละ

อินทรีย์ ๕ พละ ๕ ซึ่งหมายถึงความเกิด ความเป็นจริง ของผู้ปฏิบัติธรรมแท้ๆ เรียกว่า ภูมิธรรม มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา ซึ่งเป็นเนื้อหาสาระ ของการอบรม เมื่ออบรมได้ เราจึงจะเกิด เราจึงจะเป็น เราจึงจะมีที่แท้ ศรัทธานั้น เป็นความเชื่อ เชื่อถือ เชื่อมั่น เมื่อเราปฏิบัติ เริ่มแรก เราจะเชื่อถือ เมื่อเราได้เชื่อถือแล้ว เราก็ได้ บำเพ็ญเพียร ตั้งใจอบรมตน เราจะมีวิริยะ วิริยะใส่ใจ พากเพียร ถ้าความเพียรผู้ใดดี ความเชื่อถือนั้น ก็ยังดี เราก็จะเพิ่มสติ ตัวสตินี้ เป็นตัวที่จริง เคยย้ำให้ฟังเสมอว่า สติของปุถุชนนั้น มันเป็น สติเมา ส่วนสติของ พระอริยะนั้น เป็นสติตื่น เป็นสติ รู้อริยสัจ รู้กุศล และอกุศล มีธัมมวิจัย ประกอบอยู่ทุกเมื่อ มีวิริยะอยู่ก็คือ พยายามกระทำ ตามที่เราวิจัย รู้ดี และชั่ว และ พยายาม มีวิริยะ ให้ตนสู่กุศล เสมอๆ สติจึงจะเป็นตัวนำพา ให้เราเกิดอินทรีย์ เกิดพละ สั่งสมขึ้น อินทรีย์คือ เริ่มมีอำนาจ เริ่มมีฤทธิ์

พละ คือสภาพกำลัง ที่มีจริง โดยไม่ต้องเร่ง ไม่ต้องเสริมแรง แต่เป็นแรงเสียเอง เป็นกำลัง ในตัวเอง เมื่อเริ่มปฏิบัติ เราก็จะต้องพยายาม อุตสาหะ วิริยะ แต่เมื่อมีอินทรีย์ และเริ่มถึง คำว่า พละแล้ว เราก็จะไม่ต้องขับดัน ไม่ต้องโหมแรง แต่จะเป็นแรง ในเนื้อในตัวเสียเอง นั่นคือ ภูมิธรรม เมื่อได้มากขึ้น ก็เป็นสมาธิ เป็นความ เป็นอธินั่นเอง อธิศีล อธิจิต และ เริ่มเป็น อธิปัญญา จากสมาธินทรีย์ ก็จะเป็น ปัญญินทรีย์ เป็นปัญญา มองเห็นสิ่งจริง ที่เราเกิด ที่เราเป็น ที่เรามี

ปัญญาก็คือ ตัวรู้ที่เป็น ภาวนามยปัญญา เป็นยถาภูตญาณทัสสนะ ของจริง ตาม ความเป็นจริง ที่เราเห็นผล ที่เราได้ และ เราก็จะมั่นใจ เป็นความเชื่อมั่น เป็นศรัทธินทรีย์ เป็นศรัทธาพละ ที่เป็นความเชื่อมั่น ไม่ใช่ความเชื่อถือ เท่านั้น มันจะหมุนเวียน เป็นวงกลม สอดร้อยกัน เป็นอินทรีย์ เป็นพละ ยิ่งๆขึ้น เมื่อเต็ม ศรัทธาพละ ก็คือ ความเชื่อมั่น วิริยะ ก็เป็นตัวแรง ที่เป็นคนขยันเพียร อยู่ในตัว สติ ก็เป็นตัวตื่น ที่ตื่นแท้ เป็นอัตโนมัติ รู้ตัว ว่าตัว ยังทรงอยู่ ในสภาพดีเสมอๆ และ ยิ่งสมบูรณ์ เต็มที่แล้ว เราจะมีสติรู้ว่า เรายืนอยู่ ในฝ่ายกุศล จะทำอกุศลนั้น ไม่ได้ง่ายๆ เป็นคนดี ที่จะทำชั่วได้ยาก อย่างเด็ดขาด และ เราก็มี ความแข็งแรง เป็นสมาธิ เป็นสมาธินทรีย์ เป็นสมาธิพละ อย่างเต็มภาคภูมิ ปัญญา ปัญญินทรีย์ ก็จะเป็นวิชา เป็นความจริง ที่รู้ยิ่ง ตรัสรู้ สภาพของอินทรีย์พละ จึงเป็นตัว ภูมิธรรมแท้ ที่เนื่องหนุน เพราะเราอบรม เพราะเราได้ พากเพียรปฏิบัติ และ สุดท้าย ก็เป็นความสมบูรณ์ ครบครัน มีฤทธิ์ มีอำนาจ เป็นคนมีเรี่ยวแรง กำลัง อย่างแท้จริง

๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๗


 

เมื่อปฏิบัติธรรม

ผู้มาปฏิบัติธรรมนั้น เมื่อปฏิบัติธรรม ไปเรื่อยๆแล้ว จะรู้สึกตนเองได้ว่า ตนเอง เป็นผู้ หมดปัญหา ลงเรื่อยๆ แม้ปัญหาที่เป็นอยู่ ประจำวัน ปัญหาชีวิต ทั้งที่สุด ปัญหาอื่นๆใดๆ กระทั่ง ปัญหาโลกแตก ที่เราเคยข้องใจ สงสัย ในเรื่องถึงขั้น วิญญาณ ขั้นโลกต่างๆ นานา เราจะเข้าใจหรือไม่ ก็จะไม่ข้องใจ จะบรรเทา เบาบาง จะเป็นคนโปร่ง ว่าง สบาย จิตใจไม่ห่วงหา ไม่กังวล จะมีชีวิต อยู่เช่นนั้นเอง ที่เราเรียกว่า สงบ ความเป็นอยู่ จะรู้สึกว่า เป็นไป เพียงวัน เพียงวัน แต่มิใช่ว่า จะซังกะตายอยู่

กลับกัน เมื่อปฏิบัติ ถูกทางของ พระสัมมา สัมพุทธเจ้าแล้ว ผู้นั้น ปราศจากปัญหา ปราศจากความกังวล ปราศจาก ความข้องใจ และ จะเป็นคน กระปรี้กระเปร่า เบิกบาน แจ่มใส เป็นผู้สร้างสรร อยู่อย่างสดชื่น และ เป็นคนขยัน ขวนขวาย ถ้าผู้ปฏิบัติตรง ปฏิบัติถูก ปฏิบัติดีแล้ว ถึงจริง จะเป็น ผู้ที่เจริญ สุขทั้งตน สบายทั้งตน และ ช่วยทั้งสังคม ประเทศชาติ

๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๗


 

ความตั้งใจ

เมื่อเราตั้งใจเช่นไร สังวร สำรวม หรือฝึกใจเช่นไร ใจเราก็จะได้ถูกฝึกอยู่ เช่นนั้นๆ ในสิ่งแวดล้อม ที่เฉื่อยเนือย สิ่งแวดล้อม ที่มันพาให้ สงบอยู่แล้ว เราจะสงบง่าย พร้อมกันนั้น เราก็จะเฉื่อยง่าย จึงต้องพยายามตั้งใจ ทำความรู้สึกในใจ ให้เป็นผู้สดชื่น กระปรี้ กระเปร่า เป็นผู้ตื่น เป็นผู้พร้อมที่จะรู้ แววไว ไม่ใช่เป็นผู้ที่ จะปล่อยไป ตามบรรยากาศ ที่ห้อมล้อมเรา ในสถานที่ ที่มีสิ่งแวดล้อม ปลุกเราอยู่เสมอ เราจะต้อง ตั้งใจ อีกชนิดหนึ่ง เป็นผู้ที่จะต้อง หยุดอยู่ สงบอยู่ ตั้งรับ พร้อมที่จะรู้ พร้อมที่ จะไม่สับสน วุ่นวาย จึงอยู่ ในสภาพสงบ อยู่ที่ตัวเอง ได้ง่ายๆ เพื่อที่จะรับ สิ่งที่แวดล้อม หรือมีห้อมล้อม ที่มากหลาย ซึ่งตรงกันข้ามกันกับ อยู่กับสิ่งแวดล้อม สงบ

เราก็จะต้องเป็น ผู้ที่ทำให้ตื่น ทำให้รู้รอบ รู้เร็ว อยู่เสมอๆ เรามีความรู้ ที่ถูกต้อง กระทำ ให้ถูกต้อง เราก็จะเป็นผู้ที่ ไม่ขาดทุน

ดังนั้น การฝึกใจ ฝึกอย่างรู้ ฝึกอย่าง ผู้ที่เข้าใจ ผู้นั้นก็จะได้ สิ่งที่เจริญไพบูลย์

๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๗


 

ประคองจิต-ประคองใจ

แม้แต่เราจะประคองใจ ฝึกหัดตน ทำให้เป็นผู้มี จิตใจสดชื่น เบิกบาน ร่าเริง อยู่เสมอๆ เพียงเท่านั้น ก็ยังเป็นความมีกำไร ให้แก่ตนเอง
หนึ่ง
เราเป็นผู้ที่ อยู่ในอารมณ์ ที่สบาย เป็นความสดชื่น ของตนเอง
สอง เราได้ฝึกหัด ให้แก่ตนเอง อย่างจริงจัง

ถ้าผู้ปฏิบัติธรรม มีสติ รู้ตัวทั่วพร้อม อยู่กับ การประคองจิต การทำในใจ ของตนเอง เมื่อมีอะไร กระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เราก็พยายาม ที่จะเป็นคน สดชื่น เบิกบาน แจ่มใส ทำจิต ไม่ให้หม่นหมอง ไม่ให้หวั่นไหว ไปกับอารมณ์ ที่เป็นโทสโคตร ทุกๆกระแส เป็นเบื้องต้น หรือ เป็นแกนใหญ่ แกนหนึ่ง ของการปฏิบัติธรรม เพราะในสาย โทสโคตร ทุกๆ อารมณ์

แม้แต่ความไม่ยินดี เราสามารถ ขจัด ออกจากจิตได้ อย่างไม่มีข้อแม้ ไม่ต้องธัมมวิจัย ไม่ต้องพิจารณา เป็นอื่นเลย หากเพียรรู้ว่า เป็นสายโทสโคตร ความหม่นหมอง ไม่สบายใจ อึดอัด ขัดเคือง

ป่วยการ กล่าวไปไยถึง ความโกรธ แค้นเคือง อาฆาต มาดร้าย ที่เป็นความหยาบ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ได้ประคองจิต ประคองใจ รู้สึกตัว ทั่วพร้อม และได้ขจัดอาการ ในสาย โทสโคตร ออกเสมอ หรือ ทำตนให้มี อารมณ์จิต เบิกบาน สดชื่น แจ่มใส อยู่เสมอๆ นั่นคือ ผู้ได้ทั้ง ความสบายใจ เป็นสุข และ ทั้งได้ลดกิเลส ให้แก่ตนเองๆอยู่ เป็นอานิสงส์ อย่างยิ่ง แล

๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๗


 

มีจิตอันแยบคาย

ความมีญาณ มีปัญญา หรือ มีจิตอันแยบคาย ละเอียด ที่ลึกซึ้ง ซับซ้อน เป็นชั้นอธิ เป็น อธิจิต อธิปัญญาสูงขึ้น สูงขึ้นนั้น ถ้าเผื่อว่า เราได้สามารถปฏิบัต ิพากเพียรขึ้นจริง เราได้ผล ของการปฏิบัติขึ้นจริง จิตของเรา จะลึกแหลม จะมีทั้งกำลัง มีทั้งปัญญา ขึ้นแท้จริง เป็นอินทรีย์ เป็นพละ ปัญญาจะเป็น ปัญญินทรีย์ จะเป็น ปัญญาผล ที่สูงขึ้น หรือ เป็นปัญญาพละ ที่สูงขึ้น และ ความมั่นคง เป็นศรัทธินทรีย์ เป็นศรัทธาพละ เป็นความแน่นอน มั่นใจ ก็จะสูงขึ้นๆ

เราจึงจะเป็นผู้ที่ สามารถเห็นกิเลส ที่ละเอียด ลึกซึ้ง สูงขึ้น มีหิริ มีโอตตัปปะ มีความละอาย มีความเกรงกลัว ต่อสิ่งที่แม้น้อย แม้ละเอียด เราก็เห็นเป็น น้ำหนักของบาป ที่หยาบ ที่ใหญ่ เป็นสิ่งที่ น่าจะเลิกละ หลุดพ้น ของเราเอง เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นผู้มีภูมิ สูงขึ้นไปแล้ว เรื่อยๆ จะเป็นผู้ที่กำหนด เห็นบาป เห็นนรก หรือ เห็นสิ่งที่ ควรละเลิก ของตนเอง ด้วยตนเอง ตามมโนธรรมสำนึก ของตนเอง

แม้ผู้อื่น จะเห็นว่า เป็นสวรรค์ของเขา เป็นบุญของเขา เป็นกุศลของเขา แล้วก็ตาม แต่ผู้ที่มีภูมิ มีมโนธรรม สำนึก มีความรู้ยิ่ง รู้จริง ของตนเอง ตนเองนั้น จะเป็นผู้สำนึก และเป็น ผู้สังวร เป็นผู้ลด งดเว้น ละ เลิกออกไปเอง ตามความเป็นจริง

ถ้ามีมานะ มีความยึด ในตัวในตน มีความประมาท ในการที่จะเป็นเทวดา องค์ใด องค์หนึ่ง ที่จะติดอยู่ แต่เพียงเท่านั้น ผู้นั้นรู้ แม้รู้ และไม่ทำออกเอง ก็จะเป็น ผู้ที่ติดชั้น ไม่สูงขึ้น ไม่มีอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา ก็ไม่มี อธิวิมุติ ของตนเองขึ้น เพราะฉะนั้น ผู้จะกระทำ การเพิ่มภูมิ ก็จะต้องกระทำ ให้แก่ตนเอง อย่างยิ่ง เอาจริง ไม่ประมาท

จึงจะเป็นผู้ที่ สุขุม ประณีต ละเอียด และ สามารถที่จะถอน ตัวตน ในระดับอัตตา และ อาสวะ จนถึงที่สุดเองได้

๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๗


 

เพียรให้หนัก-พักให้พอ

เพียรให้หนัก พักให้พอ ประมาณให้จริง พยายาม ให้รู้สึกตัว ทั่วพร้อม แล้วก็พิจารณา พยายาม ระลึกเสมอ ทุกขณะ ทุกเวลา ว่า เราเองบัดนี้ กำลังสบายๆ อยู่อย่างเสพย์ หรือ กำลังสบายๆอยู่ แล้ว เราก็กำลัง ได้มีความเพียร ได้มีสิ่งที่ ได้อุตสาหะ วิริยะอยู่ ให้เป็น ประโยชน์คุณค่า ทั้งประโยชน์ตน และ ประโยชน์ท่านในโลก

๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๗


คาถาธรรม ๔ / คาถาธรรม ๕ / คาถาธรรม ๖