คาถาธรรม ๘

ความรู้รอบ

ความแยบคาย ถ่องแท้ จะเกิดได้ ก็ต่อเมื่อ เราต้องเดิน โพชฌงค์ ๗ อย่างละเอียดเสมอๆ ความมีสติ รู้ตัวทั่วพร้อม ไม่ใช่การมีสติรู้เฉยๆ จะต้องมีความรู้ อย่างรอบ มีธัมมวิจัย อยู่เสมอ มีความเข้าใจต่อกรรม มีความเข้าใจต่อผัสสะ มีจิตละเอียด ที่ตามรู้เข้าไปถึง เวทนา ต้องเพียรวิจัย ต้องเพียรระลึกรู้ ต้องเพียรรู้เท่าทัน แล้วก็วิจัยชั่ว วิจัยดี วิจัยมิจฉา วิจัยสัมมา วิจัยอารมณ์ ที่เป็นสุขเวทนา ทุกขเวทนา และมีวิธีปรับ และ ต้องเพียรปรับ เพียรทำซ้ำซาก รู้เร็ว รู้ไว ทำได้เร็ว ทำได้ชัด รู้อารมณ์ รู้อาการของเวทนาในจิต ของอารมณ์ ในจิต รู้กรรมข้างนอก ที่มันยังไม่ดี ทำให้ดี ยังไม่เหมาะ ทำให้เหมาะ ปรับเช่นนั้นจริงๆ จึงจะเข้าสู่ การละ รูปราคะ อรูปราคะ สูงลึก และชอนไชเข้าไป ความถี่แห่ง ภาคปฏิบัติ จึงจะเป็นผล ที่ลึกซึ้ง และมั่นคง แข็งแรง

หากผู้ใด ปละปล่อยขณะ ทำขณะให้ล่วงไป โดยตกหล่นมาก ก็ช้า ถ้าขณะใด ที่ได้ทำ ถี่ขึ้นเท่าใด ความได้ ความเป็นก็เร็ว และ ยิ่งสามารถ ที่จะปฏิบัติ ได้สูงยิ่งๆ สู่ความเป็น ผู้เดินทาง ไปยังที่หมาย ได้ดีที่สุด

๑ พฤศจิกายน ๒๕๒๗


 

จิตลึกซึ้ง

ความลึกซึ้ง หรือ โยนิโสมนสิการ ซึ่งจะลึกซึ้ง ทั้งปัญญา ลึกซึ้งถึงจิต กระทำได้ที่จิต และจิตก็จะลึกซึ้ง เข้าไปสู่ระดับ รูปจิต อรูปจิต ความลึกซึ้ง จะเกิดขึ้น ไปเป็นผลของ การปฏิบัติได้ ก็เพราะว่า ผู้ที่ได้ปฏิบัติ โพชฌงค์ ๗ ปฏิบัติ สติปัฏฐาน ๔ พิจารณาแล้ว มีความรู้ตัว ทั่วพร้อม ทำขณะไม่ให้หยุด พยายาม พากเพียร แม้จะอยู่ในผัสสะ ที่เป็น เหตุเกิด อย่างหนัก แรง หรือเบาก็ตาม บางอย่าง เหตุปัจจัย ที่ผัสสะ หรือกระทบ ต้องแรง เราจึงจะเกิด และแม้เกิด ก็อาจจะเกิด เป็นอรูปจิต เบา ๆ ถ้าเผื่อสติไม่ดี โยนิโสมนสิการ ไม่พอ ธัมมวิจัยไม่ลึก เราจะไม่รู้จัก อรูปจิต ที่มันเกิด มีกิเลสเกิด มีเศษกิเลสแฝงนั้น ได้เป็นอันขาด แม้จะกระทบเบา เบา หรือสัมผัสเบา เบา ถ้าเผื่อ ผู้ยังไม่หมดกิเลส ยังไม่หมด อนุสัย ในอรูปจิต ก็ยังจะมี พลิ้วแผ่ว ยังจะมีกิเลส เกิดอาการนั้นๆ อยู่ได้ แต่ถ้า ผู้ที่ขาดการพิจารณา การติดตาม เรียนรู้ตน ไม่มี โยนิโสมนสิการ ไม่มีธัมมวิจัย ไม่พากเพียร เพ่งตน พยายามกระทำ อย่างติดตาม ลึกซึ้ง หยั่งกาย หยั่งเวทนา หยั่งจิต หยั่งธรรมารมณ์ ของตน ๆ ให้สม่ำเสมอ ละก็ เราจะเป็น ผู้ลึกซึ้ง จะมีโยนิโสมนสิการ สมบูรณ์ ธัมมานุธัมม ปฏิปัตติ ก็จะไม่เจริญ แต่ถ้าได้กระทำ อย่างเป็นผู้ที่ ทำขณะ ไม่ให้ล่วง และ เป็นผู้ที่เดิน โพชฌงค์ ๗ อย่างเต็มที่ มีสติปัฏฐาน ๔ อย่างแท้ ผู้นั้นย่อมมี จิตลึกซึ้ง และ เจริญ

๒ พฤศจิกายน ๒๕๒๗


 

การพัฒนาทางวัตถุ นำมาซึ่งความทุกข์

เดิมแรก มนุษย์ที่ยังไม่ได้พัฒนา ย่อมซื่ออยู่กับ ความเป็นปกติ ของกิเลส แม้จะมี สังขารธรรม ยังไม่มาก ก็ยังมีกิเลส ทำให้คนผู้ที่ยังซื่อ และยังไม่รู้ เป็นไปตามกิเลส ที่มีอยู่ เท่านั้น ยังน้อย ยังไม่มีอะไร หวือหวา ยังไม่มีอะไรฟู่ฟ่า ก็เป็นกิเลสที่อยู่กัน อย่างสั่งสม ด้วยความไม่รู้ จนมีผู้ฉลาด มีผู้ที่เข้าใจ การปรุง การแต่ง เพิ่มขึ้นๆ ความหวือหวา ความฟู่ฟ่า จึงเกิดขึ้นมากขึ้น คนก็พัฒนา ตามความหมาย ที่เขาเห็นว่า คือการพัฒนา ทางวัตถุ ทางสังขาร ทางความปรุง ที่หวือหวา ฟู่ฟ่ามากยิ่งขึ้น คนจึง พลอยเข้าใจผิด หลงผิด เห็นผิด ว่าสังขารธรรม และความหวือหวา ฟู่ฟ่าที่เกิดตามนั้น คือ การพัฒนา คือ ความเจริญ คือ สิ่งที่มนุษย์ เพิ่มความฉลาด

ดังนั้น เมื่อปราชญ์มาชี้ ย้อนกลับไป ให้เห็นความจริง ว่าสังขารทั้งหลาย เป็นทุกข์ สังขาร ที่ปรุงมาหวือหวา ฟู่ฟ่า ยิ่งคือทุกข์ ที่ชัดเจน ผู้เกิดญาณปัญญา ผู้เกิดเห็น ความจริงแล้ว จึงจะเห็นได้ว่า การปรุง สังขาร หรือ การตกแต่ง ให้หวือหวา ฟู่ฟ่า เพิ่มเติมขึ้นมา ยิ่งขึ้นนั้น ไม่ใช่ความฉลาดที่แท้ แต่เป็นความฉลาดเฉโก เป็นความฉลาด ที่บวกความหลงผิด และ สร้างเหตุ แห่งทุกข์ ให้ทับถมโลกลงไป ดังนั้น ผู้ที่ได้ซาบซึ้ง ตามปราชญ์เอก หรือ พระบรมศาสดา ผู้ที่รู้สัจจะ ความจริง จึงถอดถอน ความหวือหวา ฟู่ฟ่า หรือ สังขารที่ปรุง มาด้วยกิเลส แล้วก็ล้างกิเลส ลดความเข้าใจผิด ล้างความติด ความเคยชิน จนสะอาดออก ๆ จิตวิญญาณ ที่ซื่อสัตย์จริง และ ฉลาดที่แท้ ไม่ใช่ฉลาดเฉโก จึงจะปรากฏ

ผู้นั้น ๆ จึงจะพบความจริง ของความเจริญแท้ ของความพัฒนาจริง แห่งมนุษย์

๓ พฤศจิกายน ๒๕๒๗


 

เพลงตะวันทอฟ้า

มืดมนหม่นฟ้าหล้าแดน แม้นเพลิงแผดเผา
แย่งชิงโฉดเฉา เร่าแรง ร้อนฟอน ไฟบ้า
คนใดใครดล ข้นใจไร้จนระอา
เดือดร้อนแรงกล้า ด้วยอวิชชาพาต่ำ
ทั่วเมืองเฟื่องเฟ้อ อย่าพลอยเผลอใจให้ผี
กระหน่ำย่ำยี ยี่เยินหลงเพลินคำพร่ำ
ลวงกันลั่นไก ใช่คนพ้นใคร ใจดำ
ต้องเน้นเข็นธรรม เข้านำค้ำชูผู้ชน
ฟ้ามืดจืดจางห่างแสงแห่งธรรม
จึ่งซ้ำต่ำแสน ไม่แม้นเมืองคน
มาเถิดเทิดธรรมนำผล
กระตือรือล้น ไม่พ้นคนเพียร
มืดใดไม่แคล้ว แน่วแรงแสงธรรมเถอะหนา
ตะวันทอฟ้า หล้าเรืองเหลืองพลัน ผันเปลี่ยน
แดนทอง แดนธรรม ด่ำดอมน้อมนำจำเนียร
สาดแสงแรงเพียร แผ้วพาฟ้าธรรมฉ่ำเมือง

๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๒๗


 

แม้ชั่วนาตาปี ...

แม้ชั่วนาตาปี ถ้ามนุษย์ มีการแสดงธรรมเทศนา
แม้ชั่วนาตาปี ถ้ามนุษย์ มีการฟังธรรม
แม้ชั่วนาตาปี ถ้ามนุษย์ ยังยินดีปรีดา ในผู้ได้รับ ส่วนแห่งบุญ
แม้ชั่วนาตาปี ถ้าเปรต ได้รับการโปรด
แม้ชั่วนาตาปี ถ้ามนุษย์ ยังมีความขวนขวาย อุตสาหะ พากเพียร
แม้ชั่วนา ตาปี ถ้ามนุษย์ เป็นผู้อ่อนน้อม ถ่อมตน
แม้ชั่วนาตาปี ถ้ามนุษย์ ยังได้ทำตนให้เกิดผล ภาวนา
แม้ชั่วนาตาปี ถ้ามนุษย์ ได้ทำตนให้มีศีล เป็นคนถึงพร้อม ด้วยศีล
แม้ชั่วนาตาปี ถ้ามนุษย์ เป็นคนมีทาน ถึงพร้อมด้วยทาน
แม้ชั่วนาตาปี ถ้ามนุษย์ ได้มีความเห็น ที่ถูกต้อง ดังนี้ ได้มีการกระทำ ที่ถูกต้อง ดังนี้

เมื่อนั้น
โลกเป็นอิสรเสรีภาพ
โลกเป็นภราดรภาพ
โลกเป็นสันติภาพ
โลกเป็นสมรรถภาพ
สะอาด สว่าง สงบ สุภาพ และ สามัคคี
(บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ที่พรั่งพร้อม)

๑ ธันวาคม ๒๕๒๗


 

ความเพียรซึ่งเกิดได้ยาก

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ในโลกนี้ มีความเพียร ซึ่งเกิดได้ยาก ๒ อย่าง สองอย่างเป็นไฉน คือ ความเพียร เพื่อทำให้เกิด จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และ คิลาน ปัจจัย เภสัช บริขาร ของคฤหัสถ์ ผู้อยู่ครองเรือนหนึ่ง ความเพียร เพื่อสลัดคืน อุปาทิ ทั้งปวง ของผู้ที่ออกบวช เป็นบรรพชิตหนึ่ง

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ในโลก มีความเพียร ซึ่งเกิดได้ยาก ๒ อย่างนี้แล ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บรรดาความเพียร ๒ อย่างนี้ ความเพียร เพื่อสลัดคืน อุปาทิ ทั้งปวง เป็นเลิศ

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลาย พึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเริ่มตั้ง ความเพียร เพื่อสละคืน อุปาทิทั้งปวง

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย พึงศึกษาอย่างนี้ แล

๒ ธันวาคม ๒๕๒๗


 

ความซ้ำซาก

ในสังคมใด ถ้าแม้นว่า
มีความซ้ำซาก คือ มีผู้เทศนาได้อยู่
มีความซ้ำซาก ที่มีผู้ฟังธรรมอยู่
มีความซ้ำซาก ที่มีผู้ยินดี ในส่วนแห่งบุญ ในส่วนแห่งธรรมอยู่
มีความซ้ำซาก ที่มีการ ให้ธรรม หรือ ให้บุญแก่กัน และกันอยู่
มีความซ้ำซาก ที่มีผู้ขวนขวาย อุตสาหะ บากบั่นอยู่
มีความซ้ำซาก ที่มีความอ่อนน้อม ถ่อมตนของคนอยู่
มีความซ้ำซาก ที่เกิดผลแห่งมรรค แห่งผลทางธรรมอยู่
มีความซ้ำซาก แห่งการประกอบศีล ถึงศีล พร้อมด้วยศีลอยู่
มีความซ้ำซาก แห่งการมีทาน ถึงพร้อมด้วยทานอยู่
มีความซ้ำซาก ที่มีผู้เห็นที่ถูกต้อง มีผู้กระทำ ในสิ่งที่ถูกต้อง ดังกล่าวมาแล้วนี้

สังคมนั้นๆ มนุษยชนนั้นๆ ล้วนเป็นผู้อยู่สุข และ ประกอบด้วย ประโยชน์ สิ้นกาลนาน

๓ ธันวาคม ๒๕๒๗


 

ตรวจสอบตนเอง

ผู้ปฏิบัติธรรมมาแล้ว ย่อมรู้ในกุศล รู้ในอกุศล ตามภูมิ ตามปัญญา เมื่อได้ไตร่ตรอง พิจารณา ทบทวน ด้วยปัญญาของตน อันเป็นทิฏฐิ ซึ่งสัมมาทิฏฐิ เท่าที่ภูมิตนเองเป็น ตนเองมี แล้วพึงคัดเลือก พึงตรวจสอบ ตนเองอยู่เสมอ ว่าเราควรได้เพิ่ม อธิศีลให้แก่ตน ได้หรือไม่ เมื่อใด หรือว่ายัง ไม่ควรเพิ่ม ควรจะกระทำให้ยิ่ง เพื่อจะได้เจริญ สู่จุดที่เจริญ ยิ่งขึ้น ผู้ที่ตรวจตรา อยู่เช่นนั้น ชื่อว่า เกิดอธิปัญญา เกิดอธิศีล เพราะเรามี อธิจิตจริง ถ้าตรวจ อย่างหลง ก็เป็นผู้ที่ หลงตน อาจผิดพลาด จึงควรระวัง อย่างยิ่ง

เมื่อผู้ใด ตรวจตรงแท้ ถึงอธิจิต ของตนจริงๆแล้ว ว่าเรามีจิต ที่สามารถจางคลาย หรือ วิมุติได้ อันสมควรแก่ตน พอที่จะเพิ่มอธิศีล ให้แก่ตนได้ ด้วยอธิปัญญา ของตน ที่ตรวจตรา จริงๆ นั้น ผู้นั้นชื่อว่า ได้ปฏิบัติตน ด้วยไตรสิกขา อันเป็นแบบปฏิบัติ ของพุทธ อยู่อย่าง มีผลยิ่ง

๔ ธันวาคม ๒๕๒๗


 

อยู่เหนือโลก

ผู้ปฏิบัติใด ได้รับรู้ด้วยตน มีปัญญา เห็นแจ้งว่า ตนได้ปลดปล่อย ได้ละลดอยู่ ในความ ไม่ปรุง ไม่แต่ง แม้อย่างใด อย่างหนึ่ง ที่เป็นเหตุ ปัจจัย ให้เรารู้ เช่น เราไม่ปรุงแต่ง ในการแต่งตัว เราก็อยู่ได้ เราไม่ต้อง ไปหลง ความสวย ความงาม ของเสื้อผ้า เราก็สงบได้ เราไม่ต้องไปหมุนเวียน เปลี่ยนแปรไปกับ แฟชั่นของเสื้อผ้า เราก็เป็นสุขได้ เราไม่ต้อง มีอะไร ที่ไปเป็น ตามอย่างของโลก ที่หมุนอยู่ ไม่รู้จักหยุด ด้วยแค่แง่ของเสื้อผ้า เราก็เป็น ผู้เบิกบาน ร่าเริงได้ เราไม่ต้องไปหลง ตามที่โลก เขาสมมุติ ในเรื่อง ของเสื้อผ้า ที่เขาตกแต่ง ตัวตน เรามีอะไร ก็มักน้อยอยู่ เรามีอะไร ก็สันโดษ พอใช้ของเราอยู่ ซ้ำซากแล้ว ซ้ำซากเล่า แต่เรารู้สารัตถะ ของเสื้อผ้า ว่าเป็นเครื่อง กันร้อน กันหนาว กันแมลง สัตว์กัดต่อย กันอุจาด รักษาให้สะอาด และ พอใช้พอสอย เพียงพอ เราก็เป็น ผู้หยุดคิด หยุดหลงตามโลก ไม่น้อยใจ ไม่เสียใจ ไม่ดีใจ ลิงโลดเกินไป แต่ภูมิใจอยู่ พอใจอยู่ สบายใจอยู่ ซ้ำซาก เช่นนั้นอยู่ได้ ผู้นั้นเข้าใจ ด้วยปัญญา เห็นด้วยปัญญา ว่านี่คือ ความหยุดแล้ว โลกซิ ยังไม่หยุด แต่เรานั้น ได้หยุดแล้ว เราสงบแล้ว เราสบายแล้ว

ผู้เช่นนี้ ชื่อว่า เป็นผู้มีอำนาจ เหนือโลก เป็นผู้เหนือ สังขารโลก ที่เขาหมุนไป ไม่หยุดหย่อน เป็นความปรุง ความแต่ง ความหลงสร้าง ผู้เป็นได้ จึงชื่อว่า ผู้สงบ ผู้เป็นได้ จึงชื่อว่า ผู้หยุดโลก แม้ในตัวอย่าง หรือเหตุปัจจัยหนึ่ง เพียงเท่านี้ ผู้ปฏิบัติใด ที่สามารถศึกษา พิสูจน์ เป็นจริงได้ ผู้นั้น จักรู้ความสงบ ความหลุดพ้น และ ความถึงที่สุด แห่งจิต ที่หมดกังวล ที่หมดอยาก หมดตัณหา หมดอุปาทาน ความยึดมั่น ถือมั่น ในเรื่องของ เสื้อผ้าต่อไป ผู้นั้น จึงจะชื่อว่า เป็นผู้มีวิมุติ และ มีวิมุติญาณทัศนะ ถึงที่สุด ของตน ๆ รู้ได้ด้วยตน เป็นยถาภูตญาณทัศนะ ผู้ที่บรรลุ ด้วยจิต ก็สะอาด สงบ ผู้รู้เอง ของตนเองด้วยจิต เป็นความสว่าง และ เราก็เป็น ผู้สุภาพอยู่ มีความสามารถ ที่จะอยู่กับ สังคมโลก ได้อย่าง มีคุณค่าประโยชน์ และ ไม่ทะเลาะ กับโลก เป็นสามัคคี อยู่ในโลก ได้อย่างสมบูรณ์

จึงจะชื่อว่า ผู้ถึงที่สุด ด้วยความสะอาด สว่าง สงบ สุภาพ สมรรถนะ สามัคคี นี่คือ ผู้อยู่เหนือโลก

๗ ธันวาคม ๒๕๒๗


 

เดินทางไปสู่พุทธะ

พุทธะ แปลว่า ความตื่น ตื่นที่มีความรู้ และ เป็นผู้เบิกบาน แจ่มใส ทุกขณะ ที่เรามีสติ ทุกขณะ ที่เรารู้ตัว เราจะต้องทำทุกขณะ ให้เป็นผู้เบิกบาน แจ่มใส เป็นผู้ทำตน ให้รู้รอบ เป็นผู้ตื่นอยู่ มีสติ มีธัมมวิจัย มีวิริยะ ตื่นรู้ รู้เท่าทัน กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม รู้เท่าทัน รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และจิตของเรา เราต้องพยายาม ต้องอุตสาหะ วิริยะ ที่จะทำตน ให้มี ความรู้ตัวอยู่ ดังเช่นนี้ เป็นปฐม รากฐานแห่ง การประพฤติตน สู่พุทธะ จะต้องเป็นผู้ ตื่นรู้ ตื่นรู้ และ เบิกบาน

ความเศร้าหมอง ความไม่สบายใจใด ๆ ขจัดออกจากจิต อย่างไม่มีข้อแม้ เพราะ ไม่มี ประโยชน์อันใด ทำตน ให้เบิกบาน แจ่มใส ตื่นเต็ม อย่าหดหู่ อย่าง่วงเหงา หาวนอน ผู้ที่กำหนดจิต ปรับปรุงจิต ให้เป็น ผู้ตื่นรู้ ขจัดความหม่นหมอง ไม่สบายที่เกี่ยวข้อง กับจิตออก จนจิตเบิกบาน แจ่มใสดี อยู่ทุกเมื่อ เป็นกำไรเบื้องต้น แล้วเป็นผู้ที่สังวรระวัง รู้เท่าทัน ทุกทวาร และ กรรม ทางกาย วจี มโน วิจัยสิ่งที่ดี ที่ชั่ว ปรับสิ่งที่ดี ที่ชั่ว ให้ได้ มากขณะที่สุด

ผู้นั้นแล ชื่อว่า ผู้เดินทาง ไปสู่พุทธะ ซึ่งมีหวัง จะถึงปลายทาง แห่งที่หมาย ของพุทธะ คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นที่สุดได้

๘ ธันวาคม ๒๕๒๗


 

หลักในการอธิษฐาน

อธิษฐาน แปลว่า ความตั้งใจ หมายความว่า สภาพที่ได้หยั่งลง ตั้งลงที่ใจ ของผู้นั้น ผู้นั้น เพราะฉะนั้น ผู้ใด เข้าใจคำว่า อธิษฐาน ก็จะพยายาม ที่จะอบรมใจ ให้ใจนั้น ตั้งมั่น ให้ใจนั้น มีสิ่งที่ตั้งลง หยั่งลง อย่างดี อย่างเจริญ เพราะใจ หรือจิตวิญญาณนั้น เป็นประธาน ของสิ่งทั้งปวง เราจะดี หรือเราจะชั่ว อยู่ที่ใจ หรือ อยู่ที่ จิตวิญญาณ เป็นตัวหลัก การทำให้ตั้งลง หยั่งลงนั้น เป็นการยาก เพราะต้องอบรม ต้องฝึกฝน ต้องศึกษา ให้รู้ ให้เข้าใจ และ ปฏิบัติ ให้เห็นจริง มีของจริง

หลักในการอธิษฐาน หรือ หลักในการตั้งใจ หรือหยั่งลง ที่ใจนั้น มีอยู่ ๔ คือ ปัญญา สัจจะ จาคะ อุปสมะ หลักปัญญานั้น ที่เรียกเต็มว่า ปัญญาธิษฐาน ก็คือ ทำความเข้าใจ ให้ชัดแจ้ง ให้มีเหตุ มีผล ให้รู้รอบอย่างดี ตัดสินว่า ถูกต้อง ว่าดีจริง เหมาะสม

แล้วเราก็จะพบ ความหยั่งลง เป็นขั้นที่สอง คือ สัจจาธิษฐาน หรือความจริง ปัญญา จะเป็น ตัวกลั่นกรอง ถึงความจริง หรือไม่จริง จะตัดสิน เห็นความเหมาะสม หรือไม่เหมาะสม เห็นความดียิ่ง หรือ ไม่ดียิ่ง ด้วยปัญญา ของตน ๆ

การศึกษาที่เพียงฟัง เพียงรู้ เพียงคิด แล้วเรา ก็จะได้พิสูจน์ พิสูจน์ลงไป ถึงความจริง ปฏิบัติ ลงไป ถึงความจริง เราก็จะยิ่งเกิดปัญญา เห็นจริง หรือเห็นไม่จริง เห็นว่าดี หรือ ว่าไม่ดี ก็จะเกิดสัจจะ หรือ ความจริง ที่ยิ่งหยั่งลง ตั้งลงที่ใจ ที่มีทั้งปัญญา และมีทั้ง ความจริง และ ถ้าเป็นว่า คนเราจะเจริญได้ เพราะต้อง ละกิเลส ต้องสละ ความเห็นแก่ตัว สละความโลภ ความโกรธ ความหลง ถ้าความจริง มีจริง ปฏิบัติ ถูกทฤษฎี ถูกทาง การสละนั้น ก็จะเกิดได้จริง มีได้จริง ละได้จริง ลดได้จริง

อธิษฐาน ข้อที่สาม ก็จะตามมา คือ จาคาธิษฐาน หมายถึง ความสละ ความลด ความละ ความหมดเห็นแก่ตัว หรือ ลดเห็นแก่ตัว ลงไป อย่างจริงจริง ปัญญาก็จะรู้ ก็จะเห็นความจริง ของตน ๆ สัจจะ ก็จะเกิด ความจริง ก็จะเกิดในตน ๆ การสละ หยั่งลง ตั้งลง จนกระทั่ง ถึงจิตใจ คนที่ได้สละ หยั่งลงถึงจิตใจ และ เห็นความประเสริฐ แห่งการสละ ก็จะเกิดเอง เป็นจริง ของบุคคล นั้นเอง

เมื่ออธิษฐานทั้งสาม เกิดจริง เป็นจริง ลึกซึ้ง หลายรอบ ตั้งแต่รอบย่อย จนถึง รอบใหญ่ขึ้น มากขึ้น ก็เดินทาง สู่ความสงบ เป็นอธิษฐาน ข้อที่สี่ คือ อุปสมาธิษฐาน หรือ เข้าหานิพพาน เป็นสถานที่ สงบจากกิเลส แต่มีความขยัน หมั่นเพียร มีความสร้างสรร ในบุคคลนั้น มีความเมตตา เกื้อกูล เอื้อเฟื้อ ก่อประโยชน์ อยู่ในโลก แต่จิตนั้น สงบจากโลภ โกรธ หลง สงบจากกิเลส ยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้น ตามความจริง ที่เราได้ทำเอง ให้หยั่งลง ให้ตั้งลง ที่จิตวิญญาณ

จิตวิญญาณ ที่ได้ตั้ง โดยเรา เป็นผู้ที่สร้าง หรือ ตั้งลง หยั่งลงให้ได้ เป็นอธิษฐาน ดังกล่าวนี้ นำพาให้บุคคล ผู้ศึกษา ปฏิบัติ ประพฤติเจริญ เป็นคนประเสริฐ ในโลก

๙ ธันวาคม ๒๕๒๗


 

มิตรดี สังคมดี

มิตรดี สหายดี สังคม สิ่งแวดล้อมดี เป็นทั้งสิ้นของ ศาสนา หรือ ทั้งหมด ทั้งสิ้น ของพรหมจรรย์ มีความหมาย ทั้งในที่กว้าง และ ทั้งในที่ลึก ความมีผู้คน ที่มีทิฏฐิ เสมอกัน สมานกัน ความเป็นผู้คน ที่มีศีล เสมอกัน สมานกัน คือ ผู้คนที่มี ความเห็นตรงกัน ไปในแนว เดียวกัน แม้จะมี ความมีอินทรีย์ มีพละ มีจริต และ มีฐานะอันสูงต่ำ ต่างกันก็ตาม

ผู้ที่ต่ำ ย่อมรู้ตนว่าต่ำ และ ยอมรับผู้ที่สูง เอื้อ เอ็นดู และ เมตตา ขัดเกลา ช่วยอุ้มชูแก่กัน และกันอยู่ ผู้คนที่ช่วยเหลือ เฟือฟาย เอื้อเฟื้อ อันเป็น เครื่องขัดเกลา ร่วมกัน เอื้อประโยชน์ แก่กัน แม้จะมีการลงโทษ แก่กัน และกันอยู่ ก็ย่อมเป็นวิธีการ เป็นยิฏฐัง เป็นสภาพ ที่ช่วยเหลือ เฟือฟาย ซึ่งกันและกัน ตามปัญญา ของมนุษย์ มิตรดี สหายดี สังคม สิ่งแวดล้อมที่ดี มีความหมายมาก รวมตั้งแต่ บุคคล กลุ่มที่มีความดี จริงๆ อยู่ในชนหมู่นั้น เป็นส่วนมาก และ เจตนา มีความเห็น ที่ชัดเจน มีจิตมุ่งที่จะนำพา กันไปสู่ทิศทาง ที่เห็น ตรงกัน และ มีความรู้ ที่ถูกต้องมาก ตรงกัน จึงเป็นทั้งสิ้น ของพรหมจรรย์ คือ เมืองพระศรีอาริย์ หรือ แดนของมนุษย์ ที่เป็นอยู่เจริญ เป็นอยู่ประเสริฐ

ผู้ที่มีความรู้แจ้งชัด ย่อมไม่ออกจากกลุ่ม ที่เป็นหมู่มวล มิตรดี สหายดี สังคม สิ่งแวดล้อมดี นอกจาก ผู้ที่มีจิต ต่ำกว่าทิฏฐินี้ และ ผู้ที่มีศีล ต่ำกว่าทิฏฐินี้ จึงจะเป็น ผู้ออกจาก กลุ่มนี้ ด้วยความจริง ทั้งที่ผู้ออกไปนั้น รู้ตน หรือ ไม่รู้ตน ก็ย่อมได้

ความเป็นมิตรดี สหายดี สังคม สิ่งแวดล้อมดี ไม่ใช่ของ หาได้ง่าย เป็นของหายาก และ ผู้จะเข้าใจ ความเป็น มิตรดี สหายดี สังคม สิ่งแวดล้อมดีนั้น ก็เข้าใจได้ยาก คำว่า เข้าใจได้ยากนี้ ย่อมเกิดจาก ญาณปัญญา มีศรัทธินทรีย์ มีปัญญินทรีย์ มีศรัทธาพละ มีปัญญาพละ อันเพียงพอ แม้เพียงผู้นั้นๆ มีศรัทธาอ่อน ยิ่งมีปัญญา อ่อนด้วย ก็ย่อม อยู่ร่วมไม่ได้

ถ้ามีศรัทธาดี มีปัญญาน้อย แต่ไม่ใช่ ปัญญาอ่อน ก็ยังพออยู่ได้

ถ้ามีศรัทธามาก มีปัญญา มากด้วย ย่อมไม่ออกไป เป็นแน่นอน

แม้มีปัญญามาก แต่ศรัทธาอ่อน ก็ยังสามารถ ออกไปได้

ยิ่งมีทั้ง ศรัทธาอ่อน และ ปัญญาอ่อน แน่นอน ผู้นั้น ย่อมออกจากหมู่ มิตรดี สหายดี สังคม สิ่งแวดล้อมดี นั่นเทียว

๑๐ ธันวาคม ๒๕๒๗


สังคมที่อนุเคราะห์โลก

คราใด ที่เราไม่มีอารมณ์ขุ่นมัว หม่นหมอง แต่ มีอารมณ์ ผ่องใส ปลอดโปร่ง คราเช่นนั้น เราย่อม เป็นสุขสบาย เพราะฉะนั้น ในความสำนึก ในความรู้ เพียงเบื้องต้น ดั่งนี้ ผู้ฉลาด ย่อมจะต้อง ขจัดความหม่นหมอง ขจัดความขัดข้อง ซึ่งมีอยู่ เพื่อที่จะปลงวาง ออกไป ให้จิตใจ ของเรา โปร่งใส ผ่องแผ้ว และแล้ว เราจึงเป็น ผู้ค่อยๆ หยิบปัญหาขึ้นมา ค่อยๆ ไตร่ตรอง พิจารณา หาเพื่อนฝูง ที่เป็นมิตรดี สหายดี สังคม สิ่งแวดล้อมดี ช่วยคิด ช่วยปลดปล่อย ถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว เราจะกลายเป็น คนยิ่งโดดเดี่ยว ยิ่งอ้างว้าง ยิ่งว้าเหว่ หรือ ยิ่งถูกอัด ลงไปในที่มืด นั้นไม่ใช่ทางปฏิบัติ ของพระศาสนา ที่เรียกว่า พุทธ

พุทธ มีมิตรดี สหายดี สังคม สิ่งแวดล้อมดี โดยเฉพาะ มีครูบาอาจารย์ มีสัตบุรุษ มีผู้ เกื้อกูล อุดหนุน สร้างหิตประโยชน์ สร้างความสุข แก่ผู้อื่น อยู่รวมกัน สังคมศาสนาพุทธ จึงเป็น สังคมแห่ง พหุชนะหิตายะ เป็นสังคมที่มี ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อคนอื่นๆ คนส่วนรวม คนหมู่มาก เป็นสังคมที่สร้างความสุข ให้แก่คนส่วนรวม คนหมู่มาก เป็นสังคมที่มี โลกานุกัมปายะ เป็นสังคมที่ อนุเคราะห์โลก อนุเคราะห์ทุกๆอย่าง ที่รวมกันอยู่ หมุนเวียน อยู่เป็นสังสารวัฏ จึงเป็นสังคมที่ จะต้องศึกษา มีบารมี มีความสามารถ ในบุคคล เป็นระดับชั้น รวมกันอยู่ จึงเรียกว่า สังคมสิ่งแวดล้อม มีร่วมกันอยู่ จึงเรียกว่ามิตร มีประโยชน์ร่วมกัน จึงเรียกว่า สหาย เพราะฉะนั้น ผู้ที่ปฏิบัติตน ทำตน ไปในทิศทาง ที่ขาดมิตร ขาดสหาย ไม่มีสหาย และ อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี เราก็ทำตน ให้ยิ่งปลีกออก จากสิ่งแวดล้อม อย่างโง่ จึงเป็นคน ปฏิบัติธรรม ที่ไม่เข้าทาง ของศาสนาพุทธ และ จะหม่นหมอง อับเฉา อึดอัด ทุกข์ และ ก็โดดเดี่ยว อ้างว้าง

ขอให้ศึกษา และ ไตร่ตรอง รายละเอียด เหล่านี้ให้ดี เราจึงจะสามารถ สร้างศาสนา หรือ สร้างตนเอง ให้เป็นคนตรง กับศาสนาที่หมาย เราจะสามารถทำตน ให้เป็นผู้มี อิสรเสรีภาพ ที่มีภราดรภาพ เป็นความอิสร เสรีภาพ ไม่ใช่โดดเดี่ยว แต่เป็นอิสรเสรีภาพ ที่มีพี่ มีน้อง อย่างลึกซึ้ง มีสันติภาพ มีความสงบ มีความเรียบร้อย มีความสามัคคี มีสมรรถภาพ มีประสิทธิภาพ ในการสร้างสรร มีฝีมือ มีความสามารถ เกื้อกูลกัน เอื้อเฟื้อกัน ช่วยเหลือกัน แบ่งเบากัน เป็นเหมือน มัดแห่งเรียวไผ่ ที่มีพลัง สังคมที่จะเป็น สังคมมนุษย์ บูรณภาพได้ จะต้อง ประกอบไปด้วย ลักษณะที่ลึกซึ้ง ละเอียด ในอิสรภาพ ภราดรภาพ สันติภาพ และ สมรรถภาพ ด้วยประการคร่าวๆ เช่นนี้

๑๑ ธันวาคม ๒๕๒๗


 

รสชาติ แห่งวิมุติรส

เพราะว่า เราได้รู้ ได้เห็น ว่าเหตุแห่งทุกข์ คืออะไรในใจ ในจิตวิญญาณ ซึ่งภาษา ก็กล่าว ระบุไว้ เป็นภาษา ที่เรารู้ดี ว่ามีกิเลส ตัณหา อุปาทาน เป็นต้น ซึ่งมีความจริง มีสภาวะจริง ที่เป็นสภาพ หยาบบ้าง กลางบ้าง ละเอียดบ้าง หลายชั้น หลายเชิง ที่เป็นเหตุ แห่งทุกข์ เมื่อเรา ได้มาอบรม ได้ศึกษาบำเพ็ญ จับได้ ไล่ทัน รู้ตัว และรู้วิธี ขจัดออก ปลดปล่อยออก ผู้ได้ทำจริง ได้ฝึกหัดจริง มีผลต่อ ตนเองจริง จึงจะเป็น ผู้ได้รู้รส ถึงสภาพ ที่กิเลสก็ดี ตัณหาก็ดี อุปาทานก็ดี เมื่อมันจาง คลาย จากจิต หรือ ว่าดับสูญ ไปจากจิต แล้วสภาพที่ ไม่มีเหตุ แห่งทุกข์นั้น เรามีอารมณ์ มีความรู้สึก เป็นเช่นใด ผู้ปฏิบัติถึง ผู้ปฏิบัติได้เอง ย่อมรู้แจ้งเอง เป็นปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ ว่ารสชาติ แห่งวิมุติรส หรือ ธรรมรส ที่เราสามารถ ดับเหตุแห่งทุกข์ จาง คลาย เหตุแห่งทุกข์ ได้นั้น เป็นวูปสโมสุข เท่าใดๆ ความสุข ที่เหนือชั้น ยิ่งกว่าการเสพย์ หรือ สุขัลลิกะ ไม่ใช่สุข เสพย์สม แต่เป็นสุข ที่ปราศจาก เป็นสุข ชนิดพิเศษ เป็นสุข ที่สงบระงับ

ดังนั้น จึงไม่ใช่ เรื่องเดา ไม่ใช่เรื่อง คาดคะเน เป็นเรื่องที่ จะประสพผล เมื่อถึงผล ผู้ฉลาด ย่อมพยายาม เสมอ ที่จะรู้ตน ให้ได้ทุกขณะ ว่าขณะใด เรามีเหตุแห่งทุกข์ แม้น้อย แม้มาก โทษภัย อันมีประมาณน้อย เราก็ไม่ประมาท เราหัดขจัด อยู่เสมอๆ ผู้ใดรู้ยิ่ง เห็นจริง รับรสจริง ความเชื่อมั่น ในสัจธรรม ความเชื่อมั่น ในทิศทาง ที่ไปสู่สุญตา ในทางที่ไปสู่ อนัตตา อันแท้จริง ก็ยิ่งเป็นจริง และยิ่งมีใจ พากเพียร ผู้ที่ได้กระทำ ด้วยการพบ ความจริง ด้วยประการ อย่างนี้ จึงจะเป็น ผู้ที่ขยัน หมั่นเพียร และ พากเพียร กระทำให้ลดละ ปลดปล่อย ให้แก่ตน ผู้นั้น จึงจะมีความเร็ว ในการปฏิบัติ จะไม่เนิ่นช้า

ขอให้พยายาม ตรวจสอบ และ กระทำโดยจริง อย่าทำขณะ ให้ล่วง ดังที่พระสัมมา สัมพุทธเจ้า ได้เตือนเถิด เราจะได้เป็น ผู้ที่ใกล้ฝั่ง นิพพาน

๑๗ ธันวาคม ๒๕๒๗


 

กรรมฐาน

กรรมฐาน หรือ ศีล ที่เป็นหลัก ให้เราปฏิบัติก็ดี กิจวัตร สิ่งที่กระทำกัน เป็นพิธี หรือ เป็นรูปแบบ ที่ให้เราพึงได้ กระทำกัน นั้นก็ดี เป็นส่วน เป็นสิ่ง ที่ทำให้บุคคล ได้อยู่ในกรอบ หรือ อยู่ในแบบ ที่อบรม ฝึกฝน

แต่ถ้าบุคคลใด แม้ปฏิบัติว่า มีกรรมฐาน มีศีล หรือว่า แม้จะได้กระทำ ตามกิจวัตร ตามพิธี รูปแบบก็ตาม หากว่า ไม่มีสติ ไม่มีสัมปชัญญะ ปัญญา ไม่มีฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ไม่ได้มีอิทธิบาท ๔ ใดๆ เข้าประกอบ ทำสักแต่ว่า ทำตามๆเขาไป เป็นจารีต เป็นประเพณี เป็นแต่เพียง เหมือนเรา เป็นหุ่นยนต์ ผลของ การปฏิบัติ ย่อมไม่เกิด ย่อมไม่เกิดทั้งปัญญา อาจจะเกิด จิตที่ชินชา แต่จิต ที่ชินชานั้น ยิ่งโง่ และยิ่งไม่รู้เรื่อง ยิ่งไม่ได้ ประโยชน์ เพราะฉะนั้น การปฏิบัติ ที่จะมีผล จะต้องมี อิทธิบาท ๔ มีความยินดี มีความตั้งใจ มีความเพียร เพื่อที่จะรู้ เพื่อที่จะสอดส่อง ไตร่ตรอง เพื่อที่จะ ได้รู้กิเลส ได้รู้ความหมาย ได้เห็นของจริง ได้เห็นความจริง คือ กิเลส ตัณหา อุปาทาน และตัวเรา ที่พึงเป็น พึงมี แม้อย่างน้อย ก็ได้เทียบวัตร ได้ระลึก เปรียบกับตน เทียบกับตน ที่เราได้มี ได้เป็นมา และ เราได้กระทำจริง ได้ละจริง ลดจริง ไปพร้อมๆ กับกิจวัตรนั้นๆ และ ทำให้ถูกตรง ตามกรรมฐาน หรือ ศีล ของตนๆ นั้นๆ เราจึงจะเกิด ประโยชน์ เราจึงจะมีมรรค มีผล

ดังนั้น การมีสติ สัมปชัญญะ ปัญญา ตามรู้ ทุกระยะ ทุกขณะ ใช้ปัญญา ใช้กำลังเท่าที่ เรามี เป็นกำลังใจ ที่จะเพียรรู้ เพียรตัด เพียรละ ไปกับ ทุกอิริยาบถ กายกรรม วจีกรรม กระทำให้ถึง มโนกรรม ของเรา และ จะสัมผัส ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่างไร ก็ฝึกรู้ เท่าทัน ฝึกเรียน ฝึกวิเคราะห์ วิจัย แล้วเราก็จะได้ฝึกใช้ สิ่งที่เรา สามารถที่สุด ทั้งสมถธุระ และ วิปัสสนาธุระ เพื่อละ เพื่อลด เพื่อปลดปล่อย ตัดซึ่งกิเลส ตัณหา อุปาทาน

มรรค ผล จึงจะเจริญ ชื่อว่า ปฏิบัติธรรม ด้วยมรรค องค์ ๘ ด้วยประการ ฉะนี้

๑๘ ธันวาคม ๒๕๒๗


 

ผู้สงบ

บุคคลที่ชื่อว่าสงบแล้ว คือ ผู้ที่มีกิเลส ออกไปจากจิต ดับไปจากจิต เรียกว่า ผู้นั้นสงบ

ผู้สงบ แม้จะอยู่ท่ามกลาง สิ่งที่ยั่วยวน มอมเมา อึกทึก ที่เป็นสิ่งที่ ทำให้จิต เกิดกิเลส เมื่อผู้ที่ ได้ดับกิเลส ให้แก่ตน ได้สนิท แข็งแรง รู้เท่าทัน มีปัญญา อย่างวิเศษแล้ว ผู้นั้น ก็ยังสามารถ สงบอยู่ได้ เพราะฉะนั้น คำว่า สงบ จึงไม่ได้หมายความว่า ผู้นั้นจะต้อง ห่างจาก สิ่งที่เป็นเหตุ แห่งกิเลส เป็นเหตุ ที่ยั่วย้อม มอมเมา กระแทกกระทั้น ให้เกิดกิเลส

ผู้สงบจริง อยู่กับกิเลส อยู่กับสิ่งที่ ยั่วกิเลสก็ได้ แต่สงบจริง หรือ ยิ่งจะอยู่ในที่ ที่ไม่มี สิ่งที่จะยั่วย้อม เป็นเหตุแห่งกิเลส ก็ยิ่งจะสงบยิ่ง ยิ่งจะสบายยิ่ง ผู้สงบ จึงสามารถ ที่จะอยู่ในที่ใดๆ ได้ทั้งสิ้น

ส่วนผู้ไม่สงบนั้น จะอยู่ในที่ ที่มีเหตุแห่งกิเลส ก็จะยัง ไม่สงบ และจะสงบไม่ได้ ทนไม่ได้ จะต้องเกิดกิเลส หรือ ยิ่งจะอยู่กับที่ ที่ไม่มี สิ่งที่เป็นเหตุ แห่งกิเลส อยู่ในที่ ที่ห่างจาก เหตุแห่งกิเลส ไกล หรือ ไปอยู่ในที่สงบ ที่ที่เงียบ ที่ที่ไม่มี เหตุแห่งกิเลส ของมนุษย์ ผู้นั้น ยิ่งจะดิ้นรน ผู้นั้นยิ่งจะเดือดร้อน จะฟุ้งซ่าน ไม่สงบ

ดังนั้น ผู้ไม่สงบ จะอยู่ในที่ที่ไม่สงบ หรือ จะอยู่ในที่ที่สงบ ก็ย่อมไม่สงบ

ส่วนผู้สงบแล้ว จะอยู่ในที่ ที่ไม่สงบ หรือ จะอยู่ในที่ที่สงบ ก็ย่อมสงบ ด้วยประการ อย่างนี้ แล

๒๐ ธันวาคม ๒๕๒๗


 

มีใจพอ

บุคคลใด มีใจพอ หรือ มีสันโดษ มีความรู้ แน่ชัดว่า สิ่งที่เราใช้ หรือ สิ่งที่เรา ไม่ต้องใช้ เราสงบ เราระงับ เราหยุด เราพอได้ ได้พยายามพากเพียร ลด ละ และ ทำให้น้อย ในสิ่งที่เรา จะต้องใช้ จนกระทั่ง รู้ความจริง ว่าเรา ใช้เพียงน้อย แต่ก็พอ พอสำหรับ จะยังชีวิต พอดี สำหรับ จะทำให้ชีวิตนั้น เป็นไปด้วยดีแล้ว ผู้มีความรู้ ว่าควรจะลดลง ในสิ่งที่เราต้องมี ต้องใช้ เป็นความมักน้อย ลงมาให้แก่ตน แล้วก็พิสูจน์ ฝึกฝน อบรม จนลงตัว จนเข้าที่ จนรู้ชัดว่า ชีวิตนั้น ไม่ใช่ความฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย หลากหลาย อะไรนัก สิ่งที่จะใช้กับชีวิต มีเพียงเท่านั้น ซึ่งเอียงข้าง ไปในทาง มักน้อย มีน้อย ไม่เปลือง ไม่ผลาญ ประหยัด แต่ก็พอดี สำหรับชีวิตอยู่ได้ อย่างไม่ได้ทรมานตน แต่อย่างใดเลย

ผู้ที่ได้ฝึกฝน อบรม ฝึกฝนพิสูจน์ จนกระทั่ง เห็นความพอ ของชีวิต แม้ที่สุด ถึงปัจจัย ๔ ยิ่งสิ่งอื่นๆ ใดๆ ที่เป็นเรื่อง อลังการ เป็นเรื่องห่างตัว เป็นเรื่อง ไม่ใช่สิ่งจำเป็น ก็เป็นคนรู้ ในความพอ ผู้มีใจพอ ดังกล่าวนี้ จึงเป็น ผู้ที่มีชีวิต อยู่อย่างสบาย เบา เป็นผู้ง่าย เป็นผู้ ไม่หนักหนา ไม่เป็นภาระ แก่ตนแล้ว อย่างจริง และ ในชีวิต ก็เป็นผู้ที่มี ความขวนขวาย ความขยัน อุตสาหะ วิริยะ รู้จักสิ่งที่ควร สร้างสรร พากเพียรกระทำ สิ่งที่ควรกระทำ มีการงาน สร้างสรร จึงเป็นผู้มี ความอุดม สมบูรณ์ เป็นผู้มีกำไร เป็นผู้มีคุณค่า ประโยชน์ อยู่ในโลก เพราะ เป็นผู้ที่ใช้น้อย แต่มีผลผลิต มีสิ่งที่ตน ได้สร้างสรร ให้แก่ผู้อื่น และ สังคมมาก

บุคคลเช่นนี้แล ที่เป็นบุคคลประเสริฐ เป็นผู้อนุเคราะห์โลก เป็นผู้มีประโยชน์ เกื้อกูล ต่อชนส่วนมาก เป็นผู้ทำให้ ชนส่วนมาก เป็นอยู่สุข

๒๑ ธันวาคม ๒๕๒๗


 

ขยัน หมั่นเพียร สร้างสรร

ผู้มีความสงบ ย่อมเป็นอยู่สุข คำว่า สงบ ไม่ได้หมายความว่า อยู่เฉยๆ หรือ เป็นผู้ที่หลบ ไปอยู่ในที่ ที่มันไม่มีอะไร จะเกี่ยวข้อง เช่น อยู่ป่า อยู่เขา อยู่ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ เป็นต้น

คำว่า สงบ หมายความว่า จิตได้ละล้าง ลดจากกิเลส ความดิ้นรน ที่เป็นทาสของ โลกียะ ต่างๆ ผู้ที่ได้ปฏิบัติตน พบความจริง ดังกล่าวนี้ ได้ฝึกลด ความเป็นทาส จากโลกียะ ซึ่งเป็นเรื่อง ของโลก ที่ได้มอมเมา ยั่วย้อม ให้เราได้ หลงติด หลงเสพย์ เมื่อเราได้พิสูจน์ ละล้าง จากความติด ความเสพย์ นั้นมาแล้ว เราจึงจะรู้ ความเป็น ไท ที่หยุด ดิ้น แส่

จิตที่หยุดเสพย์ หมดรสอร่อย เป็นจิตที่สงบ ทั้งๆที่โลก ก็ยังมี สิ่งนั้นอยู่ แม้เราจะต้อง สัมผัส เกี่ยวข้อง อยู่กับสิ่งนั้น เพราะมันยังมี อยู่ในโลก อาจจะห้อมล้อม อยู่ใกล้ชิดตัวเรา เสียด้วยซ้ำไป

แต่เราก็สงบ เราจะเป็น ผู้ที่มีเวลา กลับคืนมา ให้แก่เรา ทุนรอน แรงงาน กลับคืนมา ให้แก่เรา

เมื่อเราปฏิบัติธรรม ตามทฤษฎีของ พระสัมมา สัมพุทธเจ้า ถูกต้อง เราก็เป็น ผู้ขยัน หมั่นเพียร สร้างสรร ใช้เวลา และ แรงงาน ทุนรอน เหล่านั้น ผลักเบน ไปในการงาน ไปในสิ่งที่ ควรกระทำ เราจะยิ่งเป็น ผู้ที่คล่องแคล่ว ยิ่งจะเป็น ผู้ที่มีกำลัง หรือ มีพลัง เพราะ พระพุทธเจ้า ตรัส ยืนยันเราไว้ว่า พลังของสมณะ นั้นคือ วิมุติ เพราะฉะนั้น ผู้ใด ยิ่งหลุดพ้น จากโลกียะ ผู้นั้น ยิ่งเป็นผู้มี พลังสร้างสรร เป็นคน มีประโยชน์ คุณค่า ต่อมวล มหาชน

เป็นพหุชนะหิตายะ เป็นผู้ที่ทำประโยชน์ สร้างสรร เพื่อให้มวลมหาชน เป็นอยู่สุข

เป็นพหุชนะสุขายะ ผู้ได้หลุดพ้น จากความเป็น ทาสโลก ออกมา เป็นผู้มี ความสงบ จะเห็นความสุขเย็น เป็นวูปสโมสุข เป็นปรมังสุขัง ยิ่งกว่าสุข ในโลกีย์ ที่เรา เคยเป็น เคยพบ

ผู้นั้น จึงจะเป็น ผู้อนุเคราะห์โลกอยู่ โดยแท้จริง คือ เป็นผู้มี โลกานุกัมปายะ

๒๒ ธันวาคม ๒๕๒๗


 

สันติ

ความสันติ หรือ ที่เราแปลง่ายๆ ว่า ความสงบ ที่จริง คำว่า สันติ ไม่ได้หมายความว่า สงบ ที่เป็นความเข้าใจ ของไทยไทย ง่ายๆ อยู่เท่านั้น

นัตถิ สันติ ปรัง สุขัง ไม่มีความสุขใด ที่จะสุข ยิ่งไปกว่า สันติ คำว่า สันติ มีความสูงสุด สันติ นั้นจะหมายถึง นิพพาน ก็อันเดียวกัน ที่พระพุทธเจ้า ท่านตรัสว่า นิพพานัง ปรมัง สุขัง ก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้น คำว่า สันติ จึงเป็นคำ ที่มีความหมาย เทียบได้กับ นิพพาน คำว่า สันติ ที่แปลเอา ความสงบ จึงเป็นความสงบ ที่ไม่ใช่สงบ อย่างที่เข้าใจกัน ง่ายๆ ดังกล่าวแล้ว เพราะคำว่า สงบ ที่มีความหมาย ขยายความว่า สันติ มันมีความหมาย ลึกไปถึง นิพพาน ดังที่ได้โยงใย ให้รู้ ให้ได้เข้าใจ เรามุ่งหมายสันติ แม้แต่ในสังคม ต้องการ สันติภาพ เพราะฉะนั้น เราผู้เป็น ลูกศิษย์ พระสัมมา สัมพุทธเจ้า เราจะต้อง มาศึกษา แม้แต่ จะขยายความ คำว่า สันติ ว่า สงบ ให้เข้าใจคำว่า สงบ นี้ให้ลึกซึ้ง และพิสูจน์ ให้มีชีวิต ที่สงบ ได้ขยายคำว่า สงบ ให้ฟังบ้างแล้ว

ว่ากายสงบก็ดี จิตสงบก็ดี ไม่ได้หมายความว่า สถานที่ ที่มันเงียบ อยู่ในสิ่งแวดล้อม ที่เงียบ แม้สิ่งแวดล้อม จะอึกทึก หรือ มากหลากหลาย เต็มไปด้วย เหตุ ปัจจัย ที่จะยั่วย้อม มอมเมา แต่เราก็เป็น ผู้มีกาย อันสงบ เป็นผู้มีจิต อันสงบ เพราะ เราได้ปฏิบัติ ตามทฤษฎี พระสัมมา สัมพุทธเจ้า คือ มรรค อันมีองค์ประกอบ แปด อย่าง รู้อย่างมีมรรค มีผล ขัดเกลา สิ่งที่มันเป็น ตัวการใหญ่ ที่พาให้ ไม่สงบได้จริง และ เราก็รู้ยิ่ง เห็นจริง เป็นยถาภูตญาณ ทัสสนะ ว่าเหตุนั้น ลดลง ดับลง เป็นความสงบ จากเหตุ ทุกอย่าง เกิดมาแต่เหตุ เพราะฉะนั้น เมื่อเราจับเป้าเหตุได้ ว่าคือกิเลส ตัณหา อุปาทาน ความซ่อนแฝง ความมีฤทธิ์เดช อยู่ในจิตวิญญาณ ที่เราเรียกมันว่า กิเลส ตัณหา อุปาทาน มันเป็นเช่นใด เรามีวิธีการใด ที่ทำให้มัน อ่อนแรง หรือ ตายไปได้ จนสงบ หรือ ดับสนิทได้ นั่นแหละ คือสันติ และ สันติ ชนิดที่ดับกิเลสนี้ มีผลต่อเนื่อง ทำให้เราเป็นสุข และ ทำให้ มีผล ไปสร้างสรร ให้สังคมมนุษยชาติ ผู้อื่น เป็นประโยชน์ท่าน ทำให้ผู้อื่น ก็พลอยสันติ หรือ พลอยสงบไปด้วย ดังนั้น คำว่า สงบ ที่เป็นคำไทยๆ แปลพระบาลี คำว่า สันติ นี้ ถ้าได้ โยงใยมาถึง คำว่า สันติ ตามความหมาย ทางธรรมแล้ว

คำว่า สันติ หรือ สันติภาพ จึงเป็นคำ ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

๒๓ ธันวาคม ๒๕๒๗


 

สัตว์ประเสริฐ

ความเป็นมนุสโสนั้น คือ ผู้มีจิตใจ หรือ จิตวิญญาณ อันมีปัญญารู้ และ มีจิตที่เป็นสัตว์ ประเสริฐ มีความประเสริฐ อยู่ในตัว อย่างแท้จริง ดังนั้น แม้คน จะได้เกิดมา มีร่างกายเป็นคน แต่จิตใจ หรือ จิตวิญญาณ ยังไม่ได้มีปัญญา ยังไม่ได้รับ การขัดเกลา ชำระกิเลส ตัณหาออกไป จิตนั้น วิญญาณนั้น ย่อมไม่ทำให้ คนผู้นั้น ๆ ประเสริฐ ขึ้นมาได้

มนุษย์ ที่ชื่อว่า ผู้ประเสริฐ หรือ มีจิตวิญญาณ มีจิตใจ สูงนั้น จึงคือ ผู้ที่จะต้องรู้ อย่างชัดแท้ ว่าจิตวิญญาณ หรือ จิตใจคนนั้น มีกิเลสห่อหุ้ม และ นำพากันมา นานับชาติ

ดังนั้น ผู้รู้ จึงเพียร พยายาม ที่จะสั่งสอน และนำพา ให้เป็น ผู้ที่ทำคน ให้เป็นมนุษย์ ทำคนให้เรียนรู้ ฝึกฝน ชำระกิเลส ออกจาก จิตวิญญาณ ทำให้จิตใจ มีทั้งปัญญา มีทั้งความลดละ จางคลาย จากกิเลส

เมื่อมีความละ ความจาง ความคลาย ออกจากจิตใจ จิตวิญญาณ ไปได้จริงแล้ว คน จึงกลายเป็นมนุษย์ ผู้มีจิต ที่สูงขึ้น สูงขึ้น ตามลำดับ ๆ ตามความเป็นจริง ของผู้ที่ได้จริง เป็นจริงนั้นๆ

ผู้ที่ใฝ่แสวงหา อดทน ฝึกฝน เรียนรู้ กระทำตน ซึ่งเป็นคน ให้กระเถิบ ขึ้นมา เป็นมนุษย์ได้ มีจิตวิญญาณ อันบริสุทธิ์ลง มีกิเลส อันจางคลายลง และ สามารถ ที่จะเป็น ผู้มีปัญญาแท้ รู้ความชัดแท้ แห่งความประเสริฐ ของมนุษย์ ที่ควรจะมีชีวิต เพื่อสิ่งนี้เท่านี้

จึงเป็น คนที่ฉลาด เป็นคน รู้จักค่าของชีวิต จะดำเนินชีวิต นำพาชีวิต เพื่อความประเสริฐ ที่ชื่อว่า มนุสโส อย่างแท้จริง

๓๑ ธันวาคม ๒๕๒๗


ถอดเท็ปโดย โครงงานถอดเท็ป

คาถาธรรม ๙ / คาถาธรรม ๑๐ / คาถาธรรม ๑๑