คาถาธรรม ๑๖

ความเห็นอันพร้อมเพรียงกัน

เมื่อชนมีความเห็น อันพร้อมเพรียงกัน มีความเห็น อันสอดคล้อง ตรงกัน มีความเห็นเสมอ สมานกัน เป็นทิฐิสามัญญตา แม้ว่าจะขัดกันบ้าง ในรายละเอียด แต่ความเห็นหลัก เป้าหมายใหญ่ อุดมการณ์สุดยอด ตรงกันแล้วไซร้ ก็ย่อมจะทำให้ ชนหมู่นั้น กลุ่มนั้น สามารถจะนำพา การกระทำก็ดี สิ่งที่จะสร้างสรรก็ดี ไปสู่ทิศทาง เป้าหมาย ได้อย่างมีพลัง ยิ่งประพฤติตน สังวรตน ไม่มีมานะ อัตตา หรือ พยายามลดมานะ อัตตา

พยายามเห็น ความสำคัญ ของความสามัคคี ความปรองดอง รวมกันอยู่ เป็นเอกภาพ ได้มากเท่าใด ชนผู้นั้น ยิ่งจะมีกำลัง มีสมรรถภาพ สามารถสร้างสรร จรรโลง สิ่งที่มุ่งหมาย อุดมการณ์ ที่ปรารถนา ได้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพยิ่งๆ กำลังของความเห็น ที่รวมกัน ความเข้าใจ ที่ตรงกัน และการลด มานะกิเลส สองจุดใหญ่ๆนี้ จะทำให้กำลัง ของหมู่ชน สมรรถภาพ ประสิทธิภาพ ของหมู่ชน กลุ่มใดก็ตาม เป็นหนึ่ง เป็นเอก เป็นเลิศ ในโลก

๖ ตุลาคม ๒๕๒๙


 

. สุขาปฏิปทา เป็นอย่างไร

ผู้เป็นพระโยคาวจร พึงสังวรตนอยู่ มีสติปัฏฐานสี่ มีสัมมัปปธานสี่ มีอิทธิบาทสี่ พึงทำตน สังวรตน ตามฐานะที่ตน ยังจะต้องสังวร มีความเพียร เคร่งครัด ก็จะทำให้ตนเองนั้น ชื่อว่า เป็นผู้ตั้งตน อยู่ในความลำบาก พอสมควร กุศลธรรม จึงจะเจริญยิ่ง

ส่วนผู้ที่ไม่รู้จัก การปฏิบัติธรรม ไม่สังวรตน กระทำตาม อำเภอใจ ที่ยังมีกิเลส เป็นพื้นจิต ก็จะทำตน ตามสบาย เป็นยถาสุขัง กุศลธรรม ก็ย่อมไม่เกิด แต่อกุศลธรรม ก็จะเจริญยิ่ง ผู้ยังไม่เข้าใจธรรมะ ของพระสัมมา สัมพุทธเจ้า ที่ตรัสไว้ว่า ปฏิบัติธรรมนั้น มีหลัก มัชฌิมา ปฏิปทา คือ ปฏิบัติให้เป็นกลาง ปฏิบัติให้เข้าสู่ จุดเป้าหมายใหญ่ คือ มัชฌิมา คิดเอาว่า ไม่โต่งไปในทาง ทรมานตน แล้วก็เข้าใจผิดว่า การปฏิบัติ ทรมานตน คือ ทำให้ตน ตั้งตนลำบาก จึงได้ทำตน ตามสบาย แล้วก็หลงว่า การตั้งตนอยู่อย่าง ยถาสุขัง คือ ตามสบายนั้น เป็นการปฏิบัติ มัชฌิมาปฏิปทา

แท้จริงแล้ว นั่นคือ ผู้ที่ตกอยู่ใต้อำนาจ กิเลสเข้าครอง ทำตามสบาย ก็คือ ทำตามใจของ กิเลส สนองกิเลส อยู่อย่าง พอสบายๆ ผู้ไม่ได้เรียนรู้ ที่แท้จริง จึงหลงเข้าใจ ความหมายนี้ว่า เป็นการปฏิบัติ อย่างมัชฌิมา หรือ สุขาปฏิปทา คำว่า สุขาปฏิปทา ไม่ใช่ ยถาสุขัง

ยถา สุขัง นั้นเป็นอกุศล ส่วนสุขาปฏิปทานั้น เป็นกุศล ที่มีความรู้ อย่างลึกซึ้ง ว่าปฏิบัติตน อย่างเป็นสุขได้นั้น จะต้องจัดตนเอง ปฏิบัติ ที่มีทั้ง สติปัฏฐาน ๔ มีทั้ง สัมมัปปธาน ๔ มีทั้งอิทธิบาท ๔ หรือ มีโพธิปักขิยธรรม อันพอเหมาะ พอดี และต้องสอดคล้อง กับคำว่า ทุกขายะ อัตตานัง ปทหติ คือ ตั้งตนอยู่ในความลำบาก กุศลธรรม จะเจริญยิ่ง ดังนั้น ผู้เข้าใจเพี้ยน เข้าใจเผิน จึงตีความรวมไปว่า ผู้ปฏิบัติด้วย สัมมาอริยมรรค องค์ ๘ คือ ผู้ปฏิบัติอย่าง ยถา สุขัง และ หลงว่าเป็น สุขาปฏิปทา เขาจึงเจริญด้วย อกุศล อยู่ตลอดเวลา

ส่วนผู้ที่ปฏิบัติตน อย่างศึกษาถูกต้อง จะเข้าใจถึงคำว่า สัมมาปฏิบัติ หรือ มัชฌิมา ปฏิปทา นั้นเป็นผล ไม่ใช่เหตุ ต้องปฏิบัติ จัดแจงตนเอง จนลงตัว เป็นกลางได้ คือ เกิด อุเบกขาฐาน เป็นสภาพที่จัด ให้พอเหมาะ พอดี จึงเรียก สัมมาปฏิปทา ไม่เพี้ยน ไม่โต่ง ไม่ผิด ไม่เป็นไป เพราะกิเลส ยังเป็นอำนาจ กิเลสยังเป็นเจ้าเรือน ยังเหลือน้อยเท่าใด ยิ่งมัชฌิมา เท่านั้น กิเลสหมดสุดนั่นเอง จึงจะชื่อว่า มัชฌิมา สมบูรณ์ เรียกว่า เป็นกลางแล้ว ไม่อยู่ใต้อำนาจ กิเลสผลัก หรือ ดูด ดังนั้น ผู้เข้าใจโดยเดา โดยคาดคะเน ตื้นๆ เผินๆ จึงเข้าใจ ทฤษฎีเอก ของพระสัมมา สัมพุทธเจ้าผิด และ ปล่อยตัว ปล่อยตน ปฏิบัติอย่าง มักง่าย เป็นยถา สุขัง กันอยู่อย่างมากกว่ามาก ผลของ การปฏิบัติธรรม จึงไม่มี แต่กลับเจริญ ด้วยอกุศล ทั้งปวง ธรรมะจึงเพี้ยน ศาสนาจึงตกต่ำ

ขอให้สาธุชนทั้งหลาย จงศึกษาจงดี พิจารณาจงดี และปฏิบัติอย่าง ตั้งตน สังวรตน เป็นสัมมาปณิธิ กันทุกๆคน เทอญ

๗ ตุลาคม ๒๕๒๙


 

ชีวิต ก็คือตัวคุณค่า

ชีวิต คือการศึกษา และ ชีวิต ก็คือตัวคุณค่า ดังนั้น ผู้ยังมีชีวิตอยู่ จึงเป็นชีวิต ที่จะต้อง ดำเนินไป ด้วยการศึกษา ตลอดไป

แต่การศึกษานั้น ในศาสนาพุทธ กำหนดไว้ว่า ผู้ที่ได้ ศึกษา จนกระทั่ง ละกิเลส ถอนอนุสัย อาสวะสิ้นแล้ว จะได้ชื่อว่า เป็นผู้จบ การศึกษา เรียกว่า อเสขบุคคล ผู้ไม่ต้องศึกษาอีก เพราะ มนุษย์ควรรู้ ควรจะได้ประสบ สิ่งที่ตนควรได้ ควรเป็น สำหรับตนนั้น จะบกพร่อง ก็เพราะ ไร้การศึกษา และ จะเจริญสุด ก็เพราะ จบการศึกษา เพียงเท่านี้ เท่านั้น

แม้แต่มนุษย์ ที่ยังไม่ได้ศึกษา อย่างถูกต้อง ตามทฤษฎี ทางศาสนาพุทธ ได้กำหนด ยืนยัน ให้มนุษย์แล้ว ก็ยังพยายาม ที่จะทำตน เป็นผู้มีคุณค่า มีประโยชน์ แต่ความไม่รู้ ความหลงผิด ส่วนมาก จึงทำตน ไม่มีประโยชน์ แต่หลงตนว่า มีประโยชน์ มีคุณค่าน้อย หลงตนว่า มีคุณค่ามาก

เพราะอำนาจความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่ไม่เข้าใจ ความจริง ที่เป็นตัวเหตุ ปัจจัยใหญ่ ทำให้กระทำ กลับกัน หรือผิดไป

ดังนั้น การศึกษาที่ถูกต้อง เป็นสัมมาทิฏฐิ การศึกษา ที่มีบทปฏิบัติ มีผลในการปฏิบัติ ให้เป็นมนุษย์ผู้เจริญ เพราะได้ลดละ จางคลาย ในกิเลส ตัณหา อุปาทาน หรือลดโลภ โกรธ หลง ได้อย่างแท้จริง จึงเป็นชีวิต ที่มีหลักประกัน ในคุณค่า ในประโยชน์ ของมนุษย์ ที่มีชีวิต

ยิ่งลดความโลภ ความโกรธ ความหลง ได้มากเท่าใด ตามทฤษฎี ของศาสนาพุทธแล้ว คนผู้นั้น ยิ่งมีคุณค่า ยิ่งมีประโยชน์ ทั้งต่อตน และต่อ สังคมมนุษยชาติ ในโลกได้ อย่างแท้จริง มากขึ้น เท่านั้นๆ

คุณค่า ประโยชน์นั้น เหลือจะบรรยาย เพราะเป็นคุณค่า ที่จะรังสรรค์ ทั้งวัตถุธรรมชาติ ทุกสิ่งทุกอย่าง แม้แต่ความเป็น มนุษยสัมพันธ์ ความเป็นพี่-น้อง ความเป็นสันติภาพ ในโลก การศึกษา ที่ศึกษาผิด ทำให้โลกฉิบหาย เสื่อม และบรรลัย ลงไปทุกวัน ๆ การศึกษา ที่ไม่มีหลัก ทางจริยธรรม ของวิญญาณ เป็นการศึกษา ที่ทำลาย ดังที่เห็น ประจักษ์ อยู่ในทุกวันนี้ ดังนั้น ผู้ใด ได้รู้แท้เห็นจริง ว่าเกิดมา เป็นชีวิต จะต้องศึกษา อย่างจริงจัง เมื่อยังไม่จบ ยังไม่เป็น อเสขบุคคล จงอย่าได้ ป ร ะ ม า ท เลย

เมื่อเราเป็นผู้ที่ อยู่ในหลักการ มีสติปัฎฐาน ๔ มีสัมมัปปธาน ๔ มีอิทธิบาท ๔ พากเพียร ปฏิบัติ อยู่ในหลัก โพชฌงค์ ๗ และ มรรค องค์ ๘ อย่างแท้จริง สร้างอินทรีย์ ๕ พละ ๕ อยู่เสมอๆ อย่างถูกต้องแล้วไซร้ แม้ชาตินี้ จะยังไม่จบการศึกษา ผู้นั้นก็ชื่อว่า เป็นผู้มีคุณค่า มีประโยชน์ อยู่ในโลก ชีวิต ไม่ใช่ชีวิตสูญเปล่า เพียงแต่ว่า จะเป็นผู้ที่ มีประโยชน์ มาก หรือ มีประโยชน์น้อย ก็เพราะ โลภ โกรธ หลง น้อยลงๆได้ ก็จะมีประโยชน์มาก ถ้าความโลภ โกรธ หลงยังมาก ก็จะมีประโยชน์น้อย หรือ ไม่มีประโยชน์เลย เป็นผู้ผลาญพร่า อยู่ในโลก เท่านั้น จงศึกษาให้ดีๆ เถิด

เมื่อผู้ใด มีทฤษฎีสำหรับตน ที่มีชีวิตอยู่ จะได้ศึกษา อย่างถูกต้อง นี้เป็นความสำคัญ ที่มนุษย์จะต้องรู้ อย่างจริงจัง แม้นไม่รู้แล้ว ยังไปหลง การศึกษาของโลก ผู้นั้นจะมีบาป กับบาป เท่านั้น ที่จะสั่งสม ให้แก่ตน อยู่ในโลก น้อยกว่าน้อยนัก ที่จะมีบุญ แม้จะได้ศึกษา ทางโลก สูงเท่าใดก็ตาม ยิ่งสูงยิ่งน่าสลดใจ เพราะยิ่งสูง ยิ่งก่อหนี้ ก่อเวร ก่อบาป ด้วยความโลภ ความโกรธ หรือ ความหลงตน หลงตัว มีมานะ มีอำนาจ จึงกลายเป็น ผู้ทำลายตน ทำลายสังคม อยู่อย่าง น่าสังเวช โลกนี้ มีจิตวิญญาณ ที่มืดมัวกันอยู่มาก ผู้ที่ได้มีทิศทาง ได้มีความเห็น ที่ถูกทาง ถูกต้องแล้ว จงได้เมตตา สงสารเพื่อนมนุษย์ ชาวโลกกันให้มาก เราสงสารเขามากเท่าใด เราก็จะมี ความอุตสาหะ มีความพากเพียร ปฏิบัติ ประพฤติ ด้วยการเดิน โพธิปักขิยธรรม ให้จริงจัง มีสติ มีธัมมวิจัย มีวิริยะ หรือ สติปัฏฐาน ๔ มีสัมมัปปธาน ๔ มีอิทธิบาท ๔ ให้ละเอียดลออ สังวรตนให้มาก ประหารกิเลส ให้ได้สม่ำเสมอ ให้เกิดผล แห่งการปฏิบัติธรรมอยู่ ให้ถี่ ให้มากที่สุด เสมอๆ รักษา ทรงไว้ ซึ่งผลของการปฏิบัติ ให้ยั่งยืน ถาวร แน่นแฟ้น

เราทำได้สูงสุด เท่าที่จะพากเพียรได้ เท่าใดๆ นั่นคือ สิ่งสูงสุด ของมนุษย์ ที่พึงกระทำ อย่างเจตนา และ พากเพียร เท่านั้นๆ มนุษย์ทั้งหลาย พึงช่วยตน และช่วยมนุษยชาติ ในโลก ด้วยประการ ดั่งนี้ เทอญ

๙ ตุลาคม ๒๕๒๙


 

ฝึกตนเป็นคนดี

คนดี ได้ฝึกตนเป็นคนดี จะดียิ่ง ก็เพราะเรารู้ว่า เราไม่หลงตน ไม่หลงในดี และ ไม่ทำกระด้าง ไม่ทำตนเบ่งข่ม ไม่ดูถูก ดูแคลนผู้อื่น แต่ยิ่งจะมี ความเห็นจริง ว่าผู้ที่ไม่ดีเท่าเรา นั้น เป็นผู้ที่น่าสงสาร เป็นผู้ที่จะต้อง ได้รับความช่วยเหลือ เป็นผู้ที่ น่าเห็นใจ ไม่ใช่ เป็นผู้ที่ จะต้องถูกข่ม ทว่า เราจะต้องมีวิธีการ จะต้องฉลาด รู้ว่าจะทำอย่างไร จึงจะข่ม ความเลว แต่ไม่ใช่ ดูถูกคนเลว จะกระหนาบความเลว ไม่ใช่กระหนาบคนเลว จะต้องทำ ให้ความเลวนั้น เกรงกลัวความดี แต่ไม่ใช่ ให้คนดี ไปข่มคนเลว จนคนเลว เกลียดชังคนดี หรือ คนดี ไปข่มคนเลว จนคนเลว ต่อสู้กับคนดี ไม่กลัวคนดี

สิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งที่จะต้องฝึกปรือ จะต้องหัดกระทำ คนดีจะต้อง เป็นคนอ่อนน้อม ถ่อมตน คำว่า "ถ่อมตน" ไม่ใช่คำว่า "โกหก" เราดี เราไปบอกว่าไม่ดี เราดีมาก เราไปบอกว่า เราไม่ดีมาก หรือดีน้อย ซึ่งเป็นคำ โกหกนั้น ไม่ใช่คำถ่อมตน ไม่ใช่การถ่อมตน คนแข็งแรง ไปแสดงความอ่อนแอ ก็ไม่ใช่การถ่อมตน แต่เป็นการหลอกลวง หรือ โกหก คนทำได้ดี ก็ไม่ทำ หย่อนข้อ ทำความไม่ดี นั่น ไม่ใช่การถ่อมตน เป็นการโกหก เป็นการหลอกลวง การถ่อมตน หรือ การอ่อนน้อมนั้น จึงจะต้องศึกษา และ จะต้องฝึกฝน ทำให้ถูกตรง ทำให้ดียิ่ง แต่ไม่ดูแข็งกระด้าง ไม่ดูข่มเบ่ง ไม่ดูอวดเด่น อวดดีเกินไป ไม่ดูท่าที ทั้งกาย และวาจา ที่มันมีผลกระทบ บาดเสียด ซึ่งเป็นอาการ ที่จะต้องศึกษา จะต้องฝึกฝน ทดลองกระทำ ดูให้พอเหมาะ พอดี และ จะต้องประมาณ ผู้ที่จะได้รับ สัมผัสนั้นๆด้วย ว่าสนิทอย่างไร เลื่อมใสอย่างไรกับเรา แล้วเราจะทำได้ มากน้อยแค่ใด เหตุผลเหล่านี้ เป็นสิ่งเล็กน้อย แต่ก็จะต้องศึกษา ให้ดียิ่ง และต้องใช้กระทำ ยังมีเหตุผล และข้อมูลอื่นๆ อีก ดังนี้ เป็นต้น

ดังนั้น กว่าจะเป็นคนดี ที่ดีสมบูรณ์ได้ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลย จงศึกษา ให้ตนได้ดี อย่าให้ ความดีนั้น ฆ่าตน และไร้ประโยชน์ ต่อผู้อื่นเลย

๑๑ ตุลาคม ๒๕๒๙


 

ผู้ที่มีจิตสงบ จากกิเลส

ชุมชน ที่มีสามัคคี จะต้องมีสมรรถนะ มีความสามารถ มีความรู้ สามารถสร้างสรร สามารถ กระทำอะไรๆ ที่เป็นสิ่งที่มนุษย์ ควรสร้างสรร ควรจะได้กระทำ ให้เจริญ อุดมสมบูรณ์ อยู่ได้อย่างดี และ ชุมชนนั้น จะต้องมีมนุษย์ที่สุภาพ รู้จักภาวะอันดี รู้จักพฤติภาพ พฤติกรรม รู้จักมารยาท กิริยามนุษย์ รู้จักกายกรรม ที่เป็นกุศล วจีกรรม ที่เป็นกุศล มโนกรรม ที่เป็นกุศล หรือ รู้จักกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ที่เป็นสุจริต เป็นผู้ที่มีจิตสงบ จากกิเลส เป็นผู้ที่มีจิต รู้แจ้ง รู้สว่าง ในเรื่องของตน กิเลสของตน และ การยังมีชีวิตอยู่ ว่าชีวิต คืออะไร อยู่ไปเพื่อ ความประเสริฐอย่างไร ที่สุด เป็นชีวิตที่มีจิต อันสะอาด จากกิเลส อย่างแท้จริง

สะอาด ชนิดที่แม้จะถูกกวน ถูกคน ถูกกระทุ้ง กระแทก ถูกย้อน ถูกมอมเมา อย่างไร ๆ จิตนั้น ก็ยังสะอาดอยู่ ไม่ว่าโลกียะ หรือ กิเลสในโลก จะย้อมมอมเมา จะกระทุ้ง กระเทือน กระแทก จะพยายามดูด และผลักสุดแรง อย่างไรก็ตาม จิตนั้น ก็แข็งแรง มั่นคง สภาพของจิต ดังกล่าวนี้ เป็นความสำคัญมาก ที่จะก่อให้เกิด สามัคคี เพราะทั้งแข็งแรง ทั้งมีความรู้ อย่างรู้แจ้งสว่าง จิตนั้นนิ่งสนิทอยู่ ก่อให้เกิด ความสงบจากตนเอง จึงจะเชื่อมโยง ไปถึงผู้อื่น ด้วยการปรับกิริยา พฤติกรรม กาย วาจา ใจ ให้สุภาพ ให้ดี พร้อมกันนั้น ก็เป็นผู้สร้างสรร เป็นผู้กระทำกิจการ อันมนุษย์เจริญ พึงกระทำอยู่ได้ สามัคคี ที่มีความพร้อมด้วย ๕ ส ดังกล่าวนี้ จึงเป็นสามัคคี อันสมบูรณ์ยิ่ง

๑๓ ตุลาคม ๒๕๒๙


 

ใจ อันสะอาด ผ่องแผ้ว

ใจก็ดี เป็นของตน กายก็ดี เป็นของตน ผู้ศึกษาดี เข้าใจกาย เข้าใจ แม้แต่จิตใจ ของตน และ ได้พยายามขจัด สิ่งที่เราเรียกว่า อกุศล ทั้งกาย และใจ ออกไปได้ อย่างแท้จริง ผู้นั้น ก็จะสามารถมีกาย และมีใจ อันสะอาด ผ่องแผ้ว และเบิกบาน แจ่มใส ภาษาพระ เรียกว่า พ้นทุกข์ ภาษาคน เรียกว่า เป็นสุข

ผู้ได้จริง เป็นจริง เกิดญาณทัสสนะ ตรัสรู้ เห็นแจ้ง ความจริงนั้นเอง เท่านั้น จึงจะรู้ว่า สุขนั้นเป็นเช่นไร เรียกว่า พ้นทุกข์นั้น เป็นเช่นไรแท้ๆ

๑๙ ตุลาคม ๒๕๒๙


 

ความสมานสามัคคี กลมเกลียว

ครอบครัว แต่ละครอบครัว มิตรสหาย แต่ละคู่ หรือ มากกว่านั้น คนในสังคม ทั้งสังคม พลโลก ทั้งโลก ล้วนต้องการ ความสมานสามัคคี กลมเกลียว ต้องการความเข้ากันได้ อย่างอบอุ่น ยิ้มแย้ม แจ่มใส ช่วยเหลือ เกื้อกูลกัน แต่ความต้องการ ที่ไม่มีวิธีทำ หรือ มีวิธีทำ ที่ไม่เป็นไปได้ ไม่ถูกทาง อันแท้จริง ก็ย่อม จะไม่สมประสงค์ เมื่อคนสองคน หรือ มากกว่านั้น หรือ แต่ละครอบครัว แต่ละสังคม รู้ทิศทาง รู้วิธีการอันเลิศ ที่สามารถจะทำ ความสามัคคี ทำความเป็น ภราดรภาพ ได้แล้วไซร้ ก็จงได้พยายาม พากเพียร กระทำ แต่ละคน แต่ละคน พากเพียรกระทำ เพื่อให้เกิดสามัคคี และ ความกลมเกลียว ความเป็น ภราดรภาพ อันอบอุ่นนั้นๆขึ้น ให้เป็นตัวอย่าง แก่สังคม แก่โลกเทอญ

๒๐ ตุลาคม ๒๕๒๙


 

*เนื่องในวันครบรอบ
การบรรพชาของพ่อท่าน
สมณะโพธิรักษ์ ๑๖ พรรษา*

คาถาธรรม ตั้งแต่วันนั้น จวบจนวันนี้ ข้าพเจ้า ยิ่งมีความรู้สึกว่า
ข้าพเจ้าจะต้อง ยิ่งพลีชีวิต เพื่อ ศ า ส น า ตราบนิรันดร์กาล

๗ พฤศจิกายน ๒๕๒๙


 

ผู้ฉลาด ตลอดนิรันดร์

นักปฏิบัติธรรม ที่จับสภาพ ปรับตนเอง ให้ปฏิบัติธรรม อยู่อย่าง สุขาปฏิปทา คือ ปฏิบัติตน ทำตน ให้อยู่ได้ อย่างพอสบาย เป็นสุข ผู้ที่รู้จุด รู้เคล็ดในการปฏิบัติธรรม ได้ดูตน รู้ตน และก็ทำใจของตน ให้ปฏิบัติธรรม ด้วยความเบิกบาน แจ่มใส รู้ทีรับ รู้ทีรุก คล่องแคล่ว ด้วยโพชฌงค์

ผู้ที่มีสติรู้ตัว และ ปรับตนได้ดังนั้น จะเป็นผู้ที่ ปฏิบัติธรรม ไม่ต้องระเห เร่ร่อน ไม่ต้องเดือดร้อน เปลี่ยนที่ เปลี่ยนผู้คน เปลี่ยนเพื่อนฝูง เปลี่ยนครูบา อาจารย์ แต่เป็นผู้ที่ ปฏิบัติธรรม จะเปลี่ยนที่ก็ได้ จะเปลี่ยนเพื่อนฝูง เปลี่ยนครูบา อาจารย์ก็ได้ ผู้ที่รู้วิธีการ รู้เคล็ดลับ ดังกล่าวนั้น ชื่อว่า ผู้ฉลาด เป็นเบื้องต้น และ เป็นผู้ฉลาด ตลอดนิรันดร์ ไปจนถึงที่สุดเอง แล

๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๒๙


 

ผู้หมดโลภ หมดโกรธ
อยู่ท่ามกลางความโลภ ความโกรธ

นักปฏิบัติธรรม พบอุปสรรค หรือ พบสัมผัส ที่ก่อให้เกิด ความโกรธ ก่อให้เกิด ความโลภ จะเห็น และจะรู้ว่า นั่นคือ โจทย์ที่เรา จะได้ปฏิบัติ อันแท้จริง ส่วนคนในโลกนั้น ถ้าได้รับสัมผัส สิ่งที่ก่อให้เกิดโลภ ก่อให้เกิดโกรธ จะไม่รู้ตัวว่า นั่นคือ โจทย์ ที่ให้ปฏิบัติธรรม แต่จะกลับเห็นว่า นั่นคือ ตัวเหตุปัจจัย ที่ทำให้ตนเอง เป็นทุกข์ แต่ก็ไม่รู้ทุกข์ หรือ เป็นสุข แต่ก็ไม่รู้ว่า นั่นคือผีร้าย เขาก็จะกระโดด เข้ากระทำการ ให้ยิ่งโลภ กระทำการ ให้ยิ่งโกรธ เพิ่มเติมยิ่งขึ้น ลักษณะธรรมดา ดังกล่าว สองอย่างนี้ นักปฏิบัติธรรม พึงสังวร และพึงรู้ ให้มั่นเถิด ว่าเมื่อเราได้รับโจทย์ หรือได้รับสัมผัส และ มีสติรู้ตัวว่า เรากำลังจะถูกล่อ ให้โกรธ ถูกล่อให้โลภ

ยิ่งมีสติ มีธัมมวิจัย รู้ตัวทั่วพร้อม ชัดแท้ และสามารถ ไม่ให้เกิดโกรธ ไม่ให้เกิดโลภ ได้แต่ละขณะ แต่ละขณะ สม่ำเสมอ เป็นประจำชีวิต พร้อมกับรู้ตัวว่า โจทย์ที่หนักขึ้น สัมผัสที่ซับซ้อน ลึกซึ้ง กระทำให้โกรธ อย่างแนบเนียน หรือ รุนแรงยิ่งขึ้น แต่เราก็ วางใจ ได้ ไม่ให้เกิด ความโกรธ ไม่ให้เกิดความโลภ ได้อย่างแท้จริง นั่นคือ แบบฝึกหัด ที่แท้จริง จะมีอยู่ในชีวิต ประจำวัน มีอยู่ในโลก อันไม่หายจางไปเลย เราได้ปฏิบัติธรรม ที่มีผลจริง หรือไม่จริง ก็อยู่ที่ความจริง ของเรา ว่าเรา จะรู้เท่าทัน และลดโกรธ ละโลภได้จริง รู้จักความโกรธ ความโลภจริง และ รู้จักความหมด อย่างลึกซึ้ง ละเอียดอ่อนบาง สลับซับซ้อน ได้จริงหรือไม่

จงพยายามรู้ให้ยิ่ง เป็นให้จริง ให้เป็นผู้หมดโลภ หมดโกรธ อยู่ท่ามกลาง ความโลภ ความโกรธ ของโลกนั้นเทอญ

๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๒๙


 

สามัคคี ในหมู่สังคมมนุษย

ความเป็นสามัคคี ในหมู่สังคมมนุษย์ ทุกหมู่ ก็คงพระสงฆ์ และ ปรารถนา จะให้เป็นเช่นนั้น แต่ถ้า สมาชิก ในสังคมนั้น สังคมนั้น แต่ละคน ไม่ลดพยาบาท ไม่ลดอาฆาต ไม่ลดจิตถือสา หรือแม้ ความชิงชัง ความไม่ชอบใจของตน ของตนเอง แล้วละก็ สามัคคี จะเกิดไม่ได้เลย จะทำด้วยวิธีใดๆในโลก ก็ไม่เกิดสามัคคี ที่แท้จริงได้

แต่ถ้าสมาชิกของสังคมนั้น ลดพยาบาท ลดอาฆาต ลดความถือสา ลดความไม่ชอบใจ หรือ ความชิงชัง ออกจากจิต อย่างแท้จริงให้ได้ ยิ่งสมาชิก แต่ละคน แต่ละคน รู้จริง เข้าใจจริง และ ทำการลด โทสมูลจิต ดังกล่าวนั้น ได้ลงอย่างจริงจัง แล้วละก็ สามัคคี ในสังคมนั้น สังคมนั้น จะต้องเกิดได้ อย่างจริงจังที่สุด

๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๒๙


 

ความสามัคคี

ความสามัคคีนั้น เป็นที่ปรารถนา ของมนุษย์ และ ของสังคม ทุกเหล่า แต่ ความสามัคคี จะเกิดไม่ได้เลย ถ้าคนยังมีความโกรธ ความพยาบาท ชิงชัง แม้ความไม่ชอบใจ โดยเฉพาะ ความโกรธ ความพยาบาทนั้น คนก็เข้าใจกันดีว่า ย่อมจะทำให้เกิด ความสามัคคีไม่ได้ แต่ ความโลภ หรือ ราคะของมนุษย์ ก็ทำให้เกิด ความสามัคคีไม่ได้ อย่างยิ่งยวด เช่นเดียวกัน เพราะความโลภ หรือ ราคะนั้น เป็นตัวความเห็นแก่ตัว โดยตรง โดยแท้ หากเกิดในคน เกิดในหมู่ ผู้ที่อยู่รวมกัน แล้วละก็ ความเห็นแก่ตัว ย่อมทำการประสาน ทำการเกี่ยวเกาะ ให้เป็น สัมพันธ์อันดี เป็นสามัคคี สมบูรณ์ไม่ได้ อย่างแน่นอน ดังนั้น มนุษย์ ผู้ที่ได้ศึกษาดี เรียนรู้อารมณ์ เรียนรู้กิเลส ละโทสมูล ละโลภะ หรือ ราคมูล ให้สิ้นซาก มีแต่ความปรารถนาดี มีแต่ความเสียสละ ละล้าง ความไม่เห็นแก่ตัวออก สิ้นซากได้ ความสามัคคี จึงจะเกิด ในมนุษย์ ในสังคมนั้นๆ

๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๒๙ .


ถอดเท็ปโดย โครงงานถอดเท็ป
พิมพ์โดย นัยนา ...มี.ค.๒๕๓๓
ตรวจทาน โดยปราณี / อุทัยวรรณ
Print เมื่อ ...มีนาคม ๒๕๓๓ จำนวน ๑๐ เล่ม

คาถาธรรม ๑ / คาถาธรรม ๒ / คาถาธรรม ๓