คาถาธรรม ๒

สังวร
เมื่อเรานั่งเจโตสมถะ เราก็ต้องระมัดระวังใจ เมื่อเดิน เราก็ระมัดระวังการเดิน เมื่อเรายืน เราก็ระมัดระวังการยืน เมื่อเราพูด เราระมัดระวังการพูด ยิ่งเราเคลื่อนไหวมาก มีสัมผัสมาก เราก็ยิ่งต้องระมัดระวัง สำรวมสังวรมาก เพราะฉะนั้น บุคคลผู้ฉลาด เมื่อทำงานมีผัสสะ มีการเคลื่อนไหวอิริยาบถมากอย่าง มีสิ่งแวดล้อมที่เรียกว่า กาโย ประชุมพร้อมมากเรื่อง เรายิ่งต้องสังวร สำรวมให้มากยิ่งๆขึ้น

ถ้าผู้ใดไม่รู้เช่นนี้แล้ว การปฏิบัติธรรมนั้น จะต้องบกพร่อง ความขาด ความพร่อง ความตกหล่น แห่งการสำรวม สังวร หรือการวิรัติ การรู้สึกเท่าทัน การรู้จักกุศล อกุศล จะต้องพร่อง จะต้องขาด ขอให้พวกเราสังวรระวัง รู้อิริยาบถทั่วพร้อมให้มาก เมื่ออยู่ในขณะนิ่ง ก็สำรวม สังวรง่าย และน้อย แต่เมื่อมีอิริยาบถมาก งานมาก เราก็ยิ่ง จะต้องตั้งใจ จะต้องพยายาม และ พยายามประคองทั้งสติ และธัมมวิจัย ระลึกรู้เท่าทัน และ ปรับปรุงให้มากยิ่งๆขึ้น นั่นจะเป็นผลแก่เราอย่างยิ่ง ทั้งการปฏิบัติธรรม และงาน ที่จะเกิดเป็นผลต่อท่านด้วย

๒ พฤศจิกายน ๒๕๒๕


เบิกบาน สุขุม อ่อนโยน คล่องแคล่ว

เบิกบาน สุขุม อ่อนโยน คล่องแคล่ว ขอให้จำ ๔ คำนี้ไว้ระลึกเสมอ เราจะต้องเป็น ผู้เบิกบาน อย่าหม่นหมอง เราจะต้องเป็นผู้สุขุม อย่าหยาบ เราจะต้องเป็นผู้อ่อนโยน อย่ากระด้าง เราจะต้องเป็นผู้คล่องแคล่ว อย่าเฉื่อยเนือย เราจะปฏิบัติด้วยความหมาย ที่กล่าวแล้ว จะพึงอบรม พึงระลึก เปรียบเทียบเสมอ ว่าเราเบิกบานอยู่หรือหนอ หรือ หม่นหมองหดหู่ เราเป็นผู้สุขุมดีหรือหนอ หรือเป็นผู้หยาบแล้ว เราเป็นผู้อ่อนโยนดีหรือหนอ หรือว่าเราเป็นผู้เฉื่อยเนือย ถ้าเราได้ปฏิบัติอบรมอย่างนี้แล้ว เราก็จะได้เป็นผู้ที่เป็นทั้ง ประโยชน์ตน และประโยชน์ท่าน อย่างละเอียดแยบคาย ประณีต สูงส่งขึ้นเรื่อยๆไป

๔ พฤศจิกายน ๒๕๒๕


 

คุณค่าของมนุษย์อยู่ที่การงาน

ความจางคลาย ความหมดสิ้นแห่งอารมณ์ที่เราอร่อย เราเคยยึดเคยติด ถ้าผู้ใดมีแล้ว พึงสอดส่อง พึงพิจารณาทบทวนให้ดี แม้จะเป็นความหมดสิ้น หรือความจางคลาย ของรสอร่อย แม้แต่ปัจจัยเดียว ปัจจัยใด ปัจจัยหนึ่ง เรื่องใดเรื่องหนึ่ง เมื่อเรารู้ เราพบ อารมณ์นั้นแล้ว เราจะรู้ว่า ความเป็นอยู่ในโลกร่วมกัน ไม่ต้องมีการเสพย์สม ไม่ต้องมี การโหยหาอาวรณ์อะไรกัน แต่จะร่วมรังสรรค์แก่กันและกันได้ เราจึงจะรู้ว่า ชีวิตไม่ต้องติด ไม่ต้องยึด ไม่ต้องมี ไม่ต้องเป็นก็ได้ เสร็จแล้ว เราจึงจะรู้ว่า ชีวิตนี้ไม่ได้เกิดมาเพื่อเสพย์ ไม่ได้เกิดมาเพื่อสุข ไม่ได้เกิดมาเพื่อที่จะเป็นภาระกอบโกยสิ่งเหล่านั้นมาให้แก่ตนเลย

เราจะรู้ว่า ความไม่เพื่อตัว ความไม่เพื่อตนนั้น คืออย่างไร พร้อมกระนั้น ปัญญาอันยิ่งของ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านก็รู้ยิ่งกว่านั้นอีกว่า ชีวิตนี้หาค่าบ่มิได้ ถ้าเราไม่มี การงาน ถ้าเราไม่มีการสร้างสรรเพื่อสัตว์โลกตาดำๆ อยู่ในโลกนี้เท่านั้น หรือ เพื่อผู้อื่น โดยเฉพาะ มนุษย์ที่น่าสงสารกว่าสัตวโลกเสียอีก ถ้ามีวิชชาหลง และทุกข์ยิ่งกว่า สัตว์เดรัจฉานอื่นๆ มนุษย์ผู้พ้นแล้ว จึงมีอัชฌาสัยทนไม่ได้ต่อความกรุณา ที่จะทำกิจการ งานสร้างสรร หรือสอนเขา บอกเขา ช่วยเหลือเขา เพื่อสัตวโลกมนุษย์ตาดำๆนี่แหละ เป็นจุดสำคัญ มนุษย์จึงมีคุณค่าอยู่ที่การงาน จนกว่าจะตาย และมันจะต้องตายไป ตามธรรม

เมื่อยังไม่ตาย เราจึงมีการงานที่เป็นกุศล อันจะต้องสร้างด้วยความไม่ประมาท จะต้อง กระทำด้วยความสุขุมประณีต ขอให้พวกเราได้คำนึงถึงความสุขุมประณีต ความอ่อนโยน ไม่กระด้างให้ดีๆ และเราก็จะพึงฝึกปรือตน เป็นคนที่มีความหลุดพ้นด้วย และ เป็นคนที่ มีประโยชน์ จนกว่าเราจะสิ้นชีพดับขันธ์

๕ พฤศจิกายน ๒๕๒๕


 

ผู้รู้จักความดี

มนุษย์เท่านั้นที่จะเป็นผู้รู้ความดี เป็นผู้รู้ความงดงาม การกระทำความดีให้ดียิ่ง ให้ละเอียด สุขุมประณีตยิ่ง ให้พอเหมาะพอดียิ่ง เราเรียกว่า ความงดงาม ซึ่งไม่ใช่ หมายความว่า ความเฟ้อไปด้วยความเกิน แต่งมากไป ปรุงมากไป เราจะไปหลงเรียกว่า เป็นความงดงามนั้นหาไม่ ความดี คือ ทิศทางที่เป็นไปด้วยความสุข ความสุขไม่ใช่ ความเสพย์สม ความสุขที่เลิศ ที่ยอดกว่านั้น คือ ความสุขที่ปราศจากกิเลส ระงับความ เดือดร้อน หมดความโลภ ความโกรธ ความหลง นั่นคือ ความสุขที่ประเสริฐสูงสุด

แม้เรา มีความประเสริฐสูงสุด มีความสุขอย่างสงบแล้ว เราก็ยังจะต้องเป็นผู้ที่รู้จักความดี และ ความงดงามที่ถูกต้องตามธรรม เรากระทำสิ่งที่ขาดแคลนให้แก่โลก ที่เป็นสิ่งสมควร จะต้องสร้างขึ้น ทำขึ้น เราเป็นผู้ที่จะรู้ความพอเหมาะ แม้จะต้องปรับปรุงตกแต่งขึ้น เพื่อประโยชน์คุณค่า ที่จะนำพาแล้วก็สร้างสรรกันให้อุดมสมบูรณ์อยู่ในสิ่งที่สมควร และจำเป็น เราก็ยังจะต้องทำอยู่ ตราบชีวิตเราจะหาไม่

ชีวิตมนุษย์ที่เกิดมา จึงต้องการ ความสุขที่ประเสริฐ และเป็นผู้ที่มีความงดงามด้วยคุณค่า และประโยชน์สร้างสรร ให้แก่โลกเขาไว้ จากนั้น เราก็ตายไปด้วยความเป็นจริงของ สัจธรรม สิ่งที่เหลือทอด มาให้แก่มนุษยโลก ก็คือ ความงดงาม ส่วนความสุขนั้น เจ้าตัว ก็เอาไปด้วยแล้ว เพราะฉะนั้น ผู้ที่เกิดมา มีทั้งสิ่งที่ตนได้ มีทั้งสิ่งที่โลกก็ได้ด้วย จึงเป็น คนที่สมบูรณ์สูงสุด

๖ พฤศจิกายน ๒๕๒๕


 

ผู้ตื่น

ผู้อยู่เป็นสุข ย่อมเป็นผู้ตื่นอยู่ แม้ในเวลานอนหลับ ก็ยังเป็นผู้สดชื่น และเป็นสุข ชื่อว่า ผู้ตื่น หรือผู้ที่ชาคริยา คำว่า ตื่น เป็นคำที่จะต้องทำความเข้าใจให้ละเอียดลึกซึ้ง ผู้ใด มีความหดหู่ ผู้ใดมีความหม่นหมอง ผู้ใดมีความมืด ผู้ใดมีความหลบหรี่ ผู้เหล่านั้น ชื่อว่า ไม่ใช่ผู้ตื่น ผู้ที่หลบหรี่ก็ดี ผู้ที่หม่นหมองก็ดี เป็นผู้ที่ไม่ปรารถนาจะพบกับโลก จะพบกับ สิ่งสัมผัสภายนอก เพราะเหตุแห่งปัจจัยที่อยู่ในจิตของตนเองเป็นต้นเหตุ ดังนั้น จึงพึง สำรวจจิตของตนให้ละเอียดลออ ขจัดสิ่งที่ตัวเองผูกตรึงใจ ขจัดสิ่งที่ตัวเองรัดรึงใจ ตราตรึงใจ ด้วยความไม่ดี ไม่ใช่กุศลแท้ ถ้ามันเป็นกุศลแท้ มันย่อมทำให้ตนนั้นเป็นผู้เจริญ และเป็นผู้ตื่นแน่ แต่ถ้าหากมันเป็นความไม่ดี มันจึงทำให้เราเอง เป็นผู้ได้อกุศล เป็นผู้ ไม่ตื่น เป็นผู้ทุกข์ ความเป็นผู้มีสุขด้วยความตื่น จะได้ด้วยการศึกษาตนอย่างสำคัญ ค้นหาตัวสำคัญ ที่อยู่ในจิตของตัวเองให้ดี แล้วพึงเพียรสลัดออก ทำวิธี หาวิธีทำให้ออก มีปัญญา อันทำให้ออกได้สำเร็จ จึงจะเป็นผู้พบความสุขด้วยความเป็นผู้ตื่น นี้ชื่อว่า พุทธะ หนึ่งแล

๗ พฤศจิกายน ๒๕๒๕


 

เพียรเถิด อุตสาหะเถิด พุทธบุตรเอย

ตั้งใจอยู่เสมอ มีสติอยู่เสมอ เบิกบาน ร่าเริงอยู่เสมอ อุปสรรค ก็คือการปฏิบัติ เราจะพบ ต่อผัสสะที่ให้เราแก้ไข ให้เรามีแบบฝึกหัด ให้เราปรับปรุง เพื่อที่จะปรับกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ให้ดียิ่งขึ้น การที่จะได้ปรับกาย วจี มโนให้ดียิ่งขึ้นๆเสมอ นั้นคือ เราได้อบรมจิต ด้วยการมีสติ มีธัมมวิจัย มีวิริยะ แล้วเราก็จะได้เกิดปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ และที่สุด เมื่อเรารู้ ความหมายของอุเบกขา เราก็จะถึงความเป็นอุเบกขาฐาน และเราก็จะได้ทำความสุขุม ทำความประณีต สู่ความอ่อนโยน และสู่ความแคล่วคล่องได้ในที่สุด

๘ พฤศจิกายน ๒๕๒๕


 

กฎ ระเบียบ สามัคคี มีวินัย

ความมีระเบียบ ความสามัคคีพรั่งพร้อม ความรู้จักกฎ รู้จักวินัย เป็นเรื่องที่ทำให้มนุษย์ อยู่กันอย่างสันติ เพราะมนุษย์มีกิเลสต่างกัน มีจริตต่างกัน ความสามัคคีจะเกิดได้ ก็เพราะ มีมาตรการ มีหลัก มีระเบียบ มีแบบแผน มีจารีตประเพณี มีหลายๆสิ่งๆ ที่เป็น มาตรการ ทำให้มนุษย์ที่มีกิเลส มนุษย์ที่มีจริตต่างๆ หลายชั้นหลายเชิง สามารถประสาน สามารถรวมอยู่กันได้อย่างสามัคคี ถ้ามนุษย์ไม่มีระเบียบ ไม่รู้จักกฎ ไม่รู้จักวินัย ไม่รู้จัก จารีตแบบแผนต่างๆ มนุษย์นั้นก็จะเกิดการสามัคคีอยู่ด้วยกันไม่ได้

๙ พฤศจิกายน ๒๕๒๕


 

สังวรวจี

ทวารที่สำคัญที่เราพึงสังวาร เมื่อเราอยู่กับสังคม เราอยู่กับหมู่กลุ่ม ทวารนั้นคือ ทวารวจี คำพูด ภาษา เป็นการปฏิบัติธรรมอย่างยิ่ง เรามีการระมัดระวังการพูด ประมาณ ไตร่ตรอง คำนวณก่อนจะพูดเสมอ มีการยับยั้ง ไม่ใช่ทำตามอำเภอใจ มีการคำนวณพอเหมาะสม หรือไม่ ควรจะพูดให้เป็นกุศล ควรจะถอดตัวถอดตน อย่าเอาแต่อำนาจที่มัน จะบำบัด กิเลส ไม่ว่าจะเป็นการพยาบาท อาฆาต พูดให้หนำใจ พูดให้สมใจ หรือแม้แต่จะพูด เอร็ดอร่อยอะไรของเรา ด้วยเชิงใดก็ตาม เราจะต้องสังวรระวังอย่างยิ่ง คำนวณประมาณ จริงๆ ไม่ง่ายเลย ที่จะยับยั้งวาจา ไม่ให้ออกมาตามที่ใจเรามีโทสโคตร และราคโคตร กว่าจะประมาณคำพูดที่เหมาะสม ที่เป็นสัมมาวาจาได้นั้น ไม่ใช่ของง่ายเลย เพราะฉะนั้น ถ้าเผื่อว่า เราไม่สำเหนียก ไม่รู้ ไม่สังวร ไม่ระวังในวาจา เราก็จะกระทำตัวเราเองก็ดี หมู่กลุ่ม สังคมก็ดี ให้เป็นสันติสุข เป็นผู้สงบ หรือเป็นผู้ระงับ เป็นผู้ไม่มีกิเลสถึงที่สุดท้าย และ อยู่กันอย่างสุขเย็นไม่ได้เลย

๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๒๕


 

สำรวม

ผู้สำรวม คำว่าสำรวม คือผู้ที่ระมัดระวัง ผู้ที่กระทำตนให้ตื่นอยู่ แต่ก็เป็นผู้ที่ระวัง ไม่ให้ กระจัดกระจาย ไม่ให้เกิน ไม่ให้เฟ้ออยู่ ข้อสำคัญ ต้องเป็นผู้ตื่นอยู่ เบิกบาน แจ่มใส มีสติ สัมปชัญญะอยู่ตลอดเวลาทุกขณะ แล้วก็ดูกายกรรมของเราอยู่ ว่าไม่ให้เกิน ไม่ให้เฟ้อ ไม่ให้มากไป กิริยาใด ที่มันพอเหมาะพอดี มันไม่มากไป เราจะใช้ธรรมวิจัย เราจะใช้ การวินิจฉัย วิเคราะห์ตลอดเวลา วจีกรรมใด ที่มันมากไป เราจะวินิจ วิเคราะห์ จะพิจารณา ธรรมตลอดเวลา ใจของเรา ถ้าเราทำได้อีก เราก็จะประมาณอารมณ์ของใจ ให้เป็นใจที่ เบิกบาน แจ่มใส และรู้ทั้งนอก รู้ทั้งใน วิเคราะห์ถึงอารม์จิตที่ปราศจากนิวรณ์กิเลสทั้งหมด แล้วเราก็พึงเป็นอยู่ กระทำกรรมใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการคิด การพูด การงานอยู่ตลอดเวลา นั้น ให้พ้นมิจฉาตามขอบเขตของฐานะของตน ของตนที่ได้สมาทาน ที่ได้พยายามกระทำ ให้ดีที่สุด เท่าที่ตนจะทำได้ ผู้สังวร ผู้สำรวม ที่กระทำให้ไม่ให้เกิน แต่ไม่ให้ตก ต้องให้ตื่น ไม่ให้หรี่ ไม่ให้น้อยไปอยู่นั้นเป็นธรรมดา เป็นผู้สร้างความเจริญ เจริญอยู่ และสำรวมอยู่ ชื่อว่า เป็นผู้จัดตนอยู่ในสัมมาเสมอๆ นั่นคือ เรากำลังเดินอยู่ในมรรค องค์ ๘ เป็นผู้ปฏิบัติ สัมมาทุกสัมมา เพื่อสัมมาสมาธิ และเพื่อสู่สัมมาญาณ สัมมาวิมุติ เป็นที่สุด

๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๒๕


 

ความจริงแห่งความจริง

สัจธรรม คือความจริง ผู้เกิดยถาภูตญาณทัสนะ ได้พบความจริงแห่งความจริงแล้ว เมื่อผู้ใด เริ่มต้นพบความไม่เที่ยงแท้ของสังขาร ผู้ใดได้พบความจริงของปรมัตถ์ จากตัวเอง ที่พึงประพฤติอบรม ได้ซับซาบถึงความเปลี่ยนแปลง ไม่เที่ยง และจางคลาย ได้ ของกิเลส และสมมติของโลก ตัวเองได้กระทำความสะอาดให้แก่จิตปรมัตถ์ของตนเอง ยิ่งขึ้นๆ ได้ซับซาบอารมณ์วิมุติ หรืออารมณ์ที่ผ่อนบางจากการจางคลายกิเลส เห็นความสงบ เห็นความเบา ว่าง สบาย ได้ซับซาบต่อชีวิตที่ปราศจากิเลสนั้น มีคุณค่า ซับซาบ ชีวิตที่ปราศจากกิเลสนั้นอยู่อย่างสงบสุขอย่างแท้จริง

ผู้ที่พบความจริง แห่งความจริงนั้น จะไม่มีวันถอยหลัง และจะไม่มีวันเลิกรา จากสัจธรรม นี้ไปได้ นอกจาก ผู้ที่รู้เพียงข้างนอกๆ รู้เพียงผิวเผิน รู้เพียงบัญญัติภาษา ไม่ได้ประสบ ความจริง แห่งความจริง เท่านั้น หรือแม้พบความจริงแห่งความจริง ก็ยังไม่ได้สารัตถะ ของความจริง แห่งความจริงมากเพียงพอ ถ้าผู้ได้ความจริงแห่งความจริงมากเพียงพอแล้ว ผู้นั้น จะไม่มีวันกลับไปสู่โลกียะอีกนิรันดร

๑๓ พฤศจิกาย ๒๕๒๕


 

ผู้ละความแสวงหา

ผู้เป็นสุขที่สุด คือ ผู้ที่ละการแสวงหาได้แล้วด้วยดีทั้งกามทั้งภพ แม้ที่สุด ทั้งพรหมจรรย์ ที่ละเอียดลออทั้งสิ้น ผู้ที่แสวงหากามอยู่ ย่อมเป็นผู้มีทุกข์นั้นแน่ รู้ง่าย แต่นัยะ ที่ละเอียด ของกามยังตกถึงภพ ผู้แสวงหากามในภพก็รู้ยากขึ้นบ้าง เราไม่ได้เสพย์ด้วยหยาบ แต่เรา ก็เสพย์ด้วยละเอียดๆ ไม่ถึงขั้นแตะต้อง แต่ในขั้นแม้แต่หยิบมาปั้นมานึกมาคิดอยู่ในภพ เราก็ยังแสวงหา อันจะต้องสำเหนียก อันจะต้องสังวรและละล้าง โดยเฉพาะที่ไม่ใช่ การแสวงหากาม แต่เป็นภพในภพโดยตรง ปั้นเองเสพย์เอง ละเอียดไปจนถึงอรูปภพ ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่เรื่อง ไม่ใช่ตน ไม่ใช่รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส แต่เป็นความอร่อย อันพอใจ ในอัตตาของตน ปั้นเอง เป็นเอง คนอื่นไม่รู้ และตัวเองก็ไม่รู้ เราเสพย์ภพดื่มด่ำ ด้วยพอใจ ที่จะทำตามใจตัวเอง เอาแต่ตนเองเป็นใหญ่ เอาแต่ตนเองเป็นมาตรฐานในการพอใจ และเราเอง เราก็ไม่รู้ แม้ละเอียดลออ การตามใจตัวเองอยู่ ยังไม่ถอดตัวถอดตน

ผู้ถอดตัว ถอดตน แม้อรูปภพ ก็ไม่ได้แสวงหาอีกเลย ผู้นั้น เป็นผู้ที่มีพฤติกรรมเป็นของ เพื่อผู้อื่น เท่านั้น พฤติกรรมใดๆ ผู้ที่อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ไม่แสวงหาพรหมจรรย์อีกแล้ว มีแต่จะแสดงพรหมจรรย์ หรือเป็นตัวพระเจ้า เป็นตัวผู้ทรงธรรมบริสุทธิ์ เบิกบาน รู้ตื่น แล้วก็เป็นผู้เปิดเผย สร้าง ช่วยเหลือเฟือฟายให้แก่ผู้อื่นอยู่ อย่างสดชื่น อย่างรู้เหนื่อย แล้วก็พัก ถ้าไม่เหนื่อยแล้วก็รู้ตนเองว่า เวลากำลังล่วงไปๆ บัดนี้ เราไม่ได้เสพย์ให้แก่ ตนเองเลย นอกจากช่วยเหลือ สร้างสรรให้แก่สรรพสัตวในโลก จนกว่ารูปขันธ์ นามขันธ์ จะดับแตกสลาย

๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๒๕


 

ง่วง ซึม เสพย์หลับ

ความง่วง ความซึม ความเสพย์หลับ เป็นกิเลสแท้ๆ เป็นโรคของจิตชนิดหนึ่ง เราจะต้อง จับอาการง่วง จับอาการซึม จับอาการที่มันเสพย์หลับให้ได้ เสพย์ความหลับ พระพุทธเจ้า ตรัสไว้ว่า ไม่มีความอิ่ม ความเต็ม มันเป็นกิเลสล้น แล้วทำให้กิเลสอ้วน เมื่อเราให้มัน เสพย์บ่อยๆ ให้มันเสพย์เสมอ มันยิ่งจะติดมาก และยิ่งจะกระหายอยู่ไม่ได้หยุด เราต้อง ประมาณการนอนให้พอเหมาะ แล้วตัด จะต้องอ่านอารมณ์ เมื่อเวลาตื่นให้ชัด ขณะตื่น ก็ให้อ่านอารมณ์ หรือขณะแม้หลับตาลงเท่านั้น ก็ให้อ่านอารมณ์ซึม อารมณ์ง่วง อารมณ์ เสพย์ ต้องทำความเข้าใจในใจให้ได้ ถึงอารมณ์ง่วง ซึม เสพย์ ว่ามันมีอาการจริงๆ แล้วหัด ปรับเข้าสู่อาการที่ปราศจากอาการง่วงซึม หรือ เสพย์หลับ อาการดั่งนี้ ต้องรู้เป็น ปัจจัตตัง ของตน ต้องเข้าใจว่า นั่นคืออาการโรค หรือ มีอาการกิเลสนั้นอยู่ แล้วขจัดมันออก ด้วยอิทธิวิธี

เราจะต้องรู้อาการของจิตที่เป็นจิตบริสุทธิ์ แม้จะหลับตาลง ลืมตาอยู่ก็ตาม ถ้ามีอาการ ง่วง อาการซึม อาการเสพย์หลับมันมาปน เราก็จะต้องรู้ในอาการที่ไม่มีความง่วง ความซึม ความเสพย์หลับเลย เป็นจิตสะอาดอยู่ แม้จะหลับตาอยู่ ก็จะต้อง ให้รู้จริงๆ เพราะอาการ ที่ลืมตา ที่ไม่มีอาการง่วงซึม หรือเสพย์หลับ เป็นความเบิกบาน สดชื่นนั้น ต่างกันมาก กับอาการซึม อาการง่วง อาการเสพย์

ถ้าจิตจวนจะใสบริสุทธิ์ กับจิตที่มีอาการซึมอยู่บ้าง อาการง่วงอยู่บ้าง อาการเสพย์หลับ อยู่บ้างน้อยๆ นั่นแหละ จะคล้ายกัน และรู้ยาก จะต้องอ่านอย่างแยบคาย แล้วหัดดัด หัดเปลี่ยน หัดดับ หัดขจัดออก ให้จริงทุกเมื่อ ไม่ว่าตื่น หรือหลับตา ในขณะใดมีสติ สัมปชัญญะ จะต้องตรวจ ต้องอ่าน ต้องขจัดจริงๆ ให้รู้ว่าเด็ดให้ขาด ถ้าไม่เด็ดไม่ขาด ถ้ายิ่งซับซาบ ซับซึมให้มีอาการง่วงๆ ให้มีอาการซึม ให้มีอาการเสพย์หลับใส่จิตเสมอๆ นั่นคือ ความไม่มีความอิ่ม ไม่มีความเต็มนั้น จะยังอยู่ที่เรานิรันดร์

๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๒๕


 

จิตแยบคาบ

ทำอย่างไรเอ่ย ที่เราจะเป็นผู้มีจิตแยบคายขึ้นเสมอๆ

เราคบกับสัตบุรุษได้ฟังพระสัทธรรม แล้ว เมื่อฟังพระสัทธรรมแล้ว เราฟังจนเข้าใจ เราฟัง จนเกิดความศรัทธา เกิดความศรัทธาแล้ว เราก็จะต้องลงมือปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติเกิดศรัทธา ที่เกิดศรัทธา ก็เพราะมีศีล ที่เกิดศีล ก็เพราะมี พาหุสัจจะ จึงเป็นศรัทธาที่บริบูรณ์ ด้วยองค์นั้น ขึ้นมาอีก เมื่อเกิดศรัทธา มีศีลบริบูรณ์ขึ้นมา มีพาหุสัจจะ พหูสูตบริบูรณ์ ขึ้นมา เป็นพระธรรมกถึกบริบูรณ์ขึ้นมา เป็นผู้ที่เข้าสู่บริษัทบริบูรณ์ขึ้นมา เป็นผู้แกล้วกล้า อาจหาญ ที่จะแสดงธรรมแก่บริษัท เป็นองค์สมบูรณ์ ของศรัทธาขึ้นมา เป็นผู้ที่ทรงวินัย เป็นผู้ที่รู้จักอยู่สงบ ทำความสงัดได้ และเป็นผู้ที่ได้โดยไม่ยาก โดยไม่ลำบาก ในฌานทั้ง ๔ เป็นผู้ที่มีเจโตวิมุติ มีปัญญาวิมุติอันสมบูรณ์ สิ้นอาสวะ ผู้นั้นแล เป็นผู้ที่เกิดศรัทธา เพราะฉะนั้น องค์คุณแห่งการจะเป็นอาหาร ให้แก่ จิตแยบคายนั้น จึงไม่ใช่เรื่องตื้นเขิน

ผู้ที่จะมีจิตแยบคาย จึงต้องเป็นผู้ที่พบกับสัตบุรุษ ฟังสัทธรรม ฟังสัทธรรมให้เกิดศรัทธา และการเกิดศรัทธา ไม่ใช่เรื่องเชื่อดายๆง่ายๆเท่านั้น จะมีองค์คุณแห่งการเกิดศรัทธานั้น สรุปแล้ว ต้องมีทั้งศีล สมาธิ และปัญญา อันเป็น ญาณทัสนะ ที่เป็นญาณทัสนะ มีวิมุติ อันสมบูรณ์พร้อม จิตเราจะแยบคายขึ้นตามลำดับ แห่งความสามารถ ในการประพฤติ ปฏิบัติขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อจิตแยบคาย เราจะเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ เมื่อเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ เราจึงจะเป็น ผู้ที่มี การสำรวมอินทรีย์ ทั้ง ๖ ได้ดี กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมของเรา จึงจะสุจริต พร้อมกระนั้น สติปัฏฐาน ๔ ก็ดี โพชฌงค์ ๗ ก็ดี จึงจะเป็นองค์คุณที่สมบูรณ์ เพื่อความ สู่ความมีวิชชาทั้งสิ้น มีวิมุติทั้งสิ้น สมบูรณ์อย่างสูงสุด

๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๒๕


 

อย่าเผลอฟุ้งซ่าน

ในเวลาที่เราไม่มีงานการอะไรมาก ไม่มีอิริยาบถอะไรมาก เราจะเผลอฟุ้งซ่าน เราจะเผลอ คิดอะไรต่ออะไร ที่ไม่เป็นสารัตถะ ไม่ให้เข้ากุศล อกุศล ไม่มีธัมมวิจัย คิดฟุ้ง คิดซ่าน คิดอะไรปนเป ก็ให้หัดระวัง เราจะเป็นผู้มีสติเสมอ มีธัมมวิจัยเสมอ ต้องเพียรตน รู้ตนว่า นี่เป็นบทสู่ความตรัสรู้อันสำคัญ

สติสัมโพชฌงค์ ธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ องค์ ๓ ของสัมโพชฌงค์นี้ เป็นตัวหลัก ที่เราจะต้องมีสติรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่เสมอ รู้ว่า ขณะนี้ เราอยู่ในสิ่งแวดล้อม องค์ประชุม มีผัสสะหรือไม่ มีผัสสะอย่างไร ข้างนอก เราไม่กังวล แต่เราก็ไปผัสสะ อยู่ข้างใน ปรุงอยู่ข้างใน ฟุ้งซ่านอยู่ข้างใน หรือเสพย์อยู่ข้างใน เราจะต้องรู้ตัวทั่วพร้อม พิจารณา วิจัยไปถึงเวทนา ให้เห็นว่า เวทนาขณะนี้เราสุขเพราะเสพย์ แม้เสพย์ในภพ เราก็จะ ต้องคลายออก แม้เสพย์รับนอกมา เราก็จะต้องคลาย ปล่อยออก ทุกขณะๆ เราปรับปรุงจิต และรู้แท้ถึงจิต รู้ธรรมารมณ์ของจิต จัดแจงวิจัย แล้วก็ทำให้จางคลาย ปลดปล่อย ด้วยสมถธุระ หรือวิปัสสนาธุระ อันเป็นกิจที่เราทำอยู่แก่ตน เสมอๆ

แม้ยิ่งไม่มีอะไรแวดล้อม ไม่มีงานการอะไรมาก เรายิ่งจะเผลอตัวได้เก่ง มักจะฟุ้งซ่าน หรือ มักจะเสพย์เสมอ ให้เราระวังกัน แล้วก็เพียร ระลึกรู้ตัวทั่วพร้อม แก้ไขเสียให้ดี เราจึงจะเกิด ผลดีแก่ตนเสมอๆ

๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๒๕


 

ผู้ทำตน

สำรวมอินทรีย์ โดยมีสติสัมปชัญญะ รู้ตัวทั่วพร้อมอยู่เสมอๆ ทำโพชฌงค์ ๓ มีสติ มีธัมมวิจัย มีวิริยะประกอบให้เกิดบทเกิดบาท ดำเนินไปให้มากที่สุด ทุกขณะที่เราเอง สามารถจะประคองรู้ ประคองทำตน ผู้ที่ได้ปฏิบัติอย่างนั้นชื่อว่า ผู้ที่มีสติปัฏฐาน๔ โพชฌงค์ ๗ ซึ่งเป็นหลักสำคัญที่สุด ของการปฏิบัติอันพึงกระทำ อันพึงเป็นบทที่จะต้อง ระลึกรู้ ในฐานะลูกพระพุทธเจ้า

เมื่อผู้ใดมีสติรู้ตัวทั่วพร้อม มีธัมมวิจัย แล้วก็พากเพียร มีสติสัมปชัญญะ ดูแลทวารทั้ง ๖ และ ดูกิริยา ๓ ไม่ว่ากายกรรม วจีกรรม มโนกรรมของเรา เราก็จะมีธัมมวิจัย พิจารณาดี พิจารณาชั่ว พิจารณาควร หรือไม่ควรทุกกาล เพราะ ทุกอย่าง ไม่เที่ยง องค์ประกอบ ไม่เสมอกัน เราจะต้องพิจารณาเสมอ อยู่ตลอดเวลา ไม่ประมาท ผู้ได้ทำอย่างสังวร สำรวม อย่างนั้นจริงๆ นั่นแหละ เป็นทางปฏิบัติของศาสนาพุทธ ที่เราเรียกว่า สติปัฏฐาน ๔ เอกายนมัคโค หรือจะเรียกว่า ปฏิบัติ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ จนกระทั่ง ถึงหลักแกนของ มรรคองค์ ๘ ก็ใช่ด้วย เราได้แนะนำ เราได้พยายาม ทำความเข้าใจ รายละเอียดต่างๆ เพื่อปฏิบัติในระบบในแบบอย่าง ทฤษฎีของพระพุทธเจ้านี้กันมาพอสมควร

ขอให้พวกเราได้สังวร ระวัง กระทำให้ถูก แล้วเราจะได้ประโยชน์ อย่างละเอียดลออต่อวัน ต่อวัน ต่อวันเสมอๆๆ และรู้ตนให้ชัด อย่าเข้าข้างตน มันจะแยบคาย จิตจะแยบคายขึ้น ทุกเมื่อๆๆ แล้วเราจะเห็นความสัตย์ ความจริง เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีจิตแยบคาย มีสติ สัมปชัญญะ สังวร สำรวมอินทรีย์ทั้ง ๖ เป็นตัวกลาง ควบคุมทวาร ๖ และกิริยา ๓ คือ ให้เป็น สุจริต ๓ อยู่ตลอดเวลา นี้เป็นเรื่อง ควบคุมตนเองอยู่แล้วในการปฏิบัติ ส่วนพบกับ สัตบุรุษ และฟังสัทธรรม แล้วเราจะเป็น ผู้เกิดศรัทธาด้วย การปฏิบัติธรรมของเรา ก็จะเป็น ศรัทธาที่เราได้เองด้วย ทุกอย่าง ก็จะครบ สมบูรณ์ ตามสายทางแห่งการปฏิบัติ สู่การละอวิชชา และ สิ้นภวตัณหา ได้ตลอดกาลนาน

๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๒๕


 

หยาบ-ละเอียด

ของหยาบ เป็นของรู้ง่าย เป็นของเห็นง่าย เป็นของหยิบง่าย เป็นของล้างง่าย และเป็น ของหมดได้ง่าย ของละเอียด เป็นของรู้ยาก เป็นของเห็นยาก เป็นของหยิบจับถูกต้อง ถูกตน ถูกตัวมันได้ยาก เป็นของล้างยาก เป็นของทำให้หมดได้ยาก เพราะฉะนั้น จึงต้อง เพียรมาก ที่จะทำของละเอียด ให้หมดสิ้นได้ ขอให้เราต้องสำนึกรู้ความจริงอันนี้ให้สำคัญ อย่านึกว่าเราทำความหยาบออกหมดแล้วเท่านั้น คือสิ่งที่เราจะสมบูรณ์ แม้เราทำ ความหยาบ ออกแล้ว อย่างกลาง อย่างละเอียด ก็ยังเป็นเชื้อที่จะโตมาหยาบใหญ่ได้ใหม่ เพราะสิ่งเหล่านี้ ยังไม่หมดเชื้อ ยังไม่หมดฤทธิ์ ถ้าเราปล่อยปละละเลย ไม่พยายามทำ ให้หมดเชื้อ ทำให้เหมือนตาลยอดด้วน ทำให้ถอนขึ้นทั้งราก ทำให้เป็นอันไม่มี ทำให้ไม่เกิด อีกต่อๆไป ถ้าเราไม่ทำให้ถึงขั้นถอนอาสวะดังกล่าวนั้นแล้ว กิเลสนี่แหละ มันจะไม่ถึงขั้น สิ้นสุด อย่างหมดจดบริสุทธิ์บริบูรณ์ได้เลย

๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๒๕


 

กิเลสภายนอก-กิเลสภายใน

การรู้สักกายะของตนนั้น จะต้องรู้ทั้งภายนอกและภายใน กายในกาย หรือกายนอกกาย เราจะต้องรู้ความประชุมของภายนอก ซึ่งมันมีทั้งวัตถุ มีทั้งรูปภายนอก มหาภูตรูป ภายนอก ซึ่งมาประชุม หรือสัมผัส สัมพันธ์อยู่กับชีวิต และเราก็มีกิเลส อันไม่สงบ กิเลส ของเรา มันก็สัมพันธ์ แล้วก็ดึงดูด หรือผลักไส เป็นราคโคตร เป็นโทสโคตรอยู่ ให้รู้เท่าทัน อย่าหลงผิดเป็นโมหะ และเราก็ปรับปรุง ปรับเปลี่ยนเป็นภายนอก ลดได้ เป็นโลก ภายนอก ในโลกภายในก็เป็นกิเลส เช่นเดียวกัน เราก็จะต้องรู้ จะต้องแยบคาย รู้กายในกาย คือจิตของเรา เป็นจิตตกภพ จิตปั้นภพ จิตสร้างอะไร ต่ออะไร ที่มันไม่สงบ เช่นเดียวกัน

แม้แต่มันหยุดโดยที่ติดหยุด ติดซึม ไม่เกิดชีวิตชีวา กลายเป็นคนเสพย์หลับ เสพย์หรี่ เสพย์เซื่องซึม ง่วงเหงา หาวนอน สิ่งเหล่านั้น คือความไม่สงบ คือความไม่สะอาด คือ กิเลสแท้ๆ สดๆ มีนัยะเดียวกัน กับภายนอก ว่านั่นคือ เรายังไม่สงบ ยังไม่สะอาด ยังไม่บริสุทธิ์ ยังเป็นผู้ที่มีกิเลส อยู่เหมือนกัน เป็นแต่เพียงว่าเป็นภายใน เป็นความประชุม ภายในจิต แม้ไม่เป็นมหาภูตรูป แต่ก็เป็น อุปาทายรูป คือ เป็นรูปที่เราปรุง เรายึด เราเกี่ยว อยู่ด้วยความคิด ความเห็น ความไม่รู้ ความโมหะ ความอวิชชาต่างๆ ซึ่งมันก็เป็นกิเลสแท้ กิเลสจริง เราจะต้องเรียนรู้ ทั้งสองฝั่ง เป็นภายนอก และภายใน ปรับได้ทั้งนอก ปรับได้ ทั้งใน ล้างสะอาดทั้งภายนอก ล้างสะอาด ทั้งภายในให้ชัดเจน เราจะเห็นว่ากิเลสภายใน นั้น ไม่สำคัญ สำคัญแต่กิเลสภายนอกนั้นไม่ถูกเลย กิเลสภายในยิ่งสำคัญ เพราะมันยิ่ง รู้ยาก มันยิ่งหมกหมัก แล้วก็แตกตัว ทำร้ายเรา ได้อย่างเก่ง เพราะเรารู้มันยาก เพราะเรา จับตัวมันยาก เพราะฉะนั้น เราจะประมาท หรือเข้าใจผิดว่า มันไม่ใช่กิเลส หรือว่ามันเป็น กิเลส ที่ไม่สำคัญ เราจะให้เข้าใจผิดเช่นนั้นไม่ได้

ขอให้พวกเราได้แยบคาย ได้ละเอียดลออ ที่จะละล้าง แม้ภายนอก พอสบายแล้ว ภายใน ยังเป็นสักกายะอยู่ ก็ให้รู้ตัวการ หรือ สักกายะตัวสำคัญ ที่ทำให้เรายังไม่สะอาด ยังไม่เจริญ ยังหนักหน้า หนักหนาอยู่ สักวันหนึ่ง เราก็เวียนวนตกต่ำได้ เพราะความไม่งาม ทั้งภายนอก และภายใน อันสมสัด สมส่วน ยังมีความลึกซึ้ง ที่เราจะทำให้ละเอียด เป็นภูมิสูงขึ้น ตามลำดับ แม้ภายนอก หรือภายในอีก ทำความเข้าใจให้เป็นขั้นตอน ให้ชัดเจน แล้วจัดการละล้าง ให้สมบูรณ์ ให้ถูกสภาพ เราจึงจะเป็นผู้ที่ปฏิบัติธรรม ไม่เลอะเลือน ปฏิบัติธรรม ไม่สูญเปล่า

๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๒๕


 

เห็นดี เป็นดี ได้ดี

คนที่มีความเห็นดี จะเป็นทางนำไปสู่การประพฤติ หรือการกระทำง่ายสะดวก ไม่ทุกข์ร้อน ได้มากกว่า คนที่ไม่เห็นดีด้วย ผู้ที่เห็นดี ยิ่งเห็นจริงว่าสิ่งนั้น เป็นสิ่งที่ดีที่จริง เข้าถึง ความจริง มีความจริงนั้นรองรับ ก็ยิ่งเป็นผู้ที่จะกระทำจริงๆ อย่างเต็มใจจะกระทำ อย่างแน่มั่น เพราะเป็นผู้ที่ทั้งมีความจริง ทั้งเห็นดีในความจริงนั้น ถึงความจริงนั้น มีความจริงนั้น เพราะฉะนั้น สัมมาทิฏฐิ หรือการเห็นดี จึงเป็นประตูแรก ที่ทุกคนจะต้อง สร้างให้เกิด ให้เข้าใจ ให้เห็นจริงให้ได้ เพราะมันไม่เป็นทุกข์ แม้เราจะเพียง เห็นดีด้วย แต่ แม้ว่า เราจะยังไม่ได้ถึงความจริงนั้นอย่างสูงสุด เราก็ยังพอโน้มน้อม จิตใจร่วมกระทำ หรือ ผลักดันตน ฝึกตน ไม่ทุกข์นัก เพราะยังมีกิเลส ก็อาจจะทุกข์อยู่บ้าง แต่ก็ไม่ทุกข์นัก ดังกล่าวแล้ว ยิ่งเมื่อเราได้ประพฤติปฏิบัติ จนขัดเกลากิเลสนั้นออกหมด เราก็จะหมดทุกข์ อย่างสิ้นเชิง และจะเป็นความดีทั้งเห็นดี ทั้งเป็นดี ทั้งได้ดีครบบริบูรณ์

๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๒๕


 

ให้

การแสวงหาความจริง ความหมายของความจริงนั้น มีทั้งความจริง ทั้งคดีโลก มีทั้ง ความจริง ทั้งคดีธรรม คดีโลกนั้น ก็คือ... ความสุขของโลก ที่เขาประกอบไปด้วย ลาภ ยศ สรรเสริญ และความเสพย์สมแห่งโลกียสุข

ผู้ที่เข้าใจแจ่มแจ้งในเหตุผลความจริง และ ซาบซึ้งในรสของโลกียสุขว่า คืออะไร ซาบซึ้ง ในการมีลาภ มียศ มีสรรเสริญ ว่า คืออะไร และเป็นคนพอแล้ว เป็นคนที่ไม่เอาอีกแล้ว เห็นความไม่ตื่นเต้น ไม่ต้องหลงใหล ในลาภ ในยศ ในสรรเสริญ ในการเสพย์สมโลกียสุข ว่าเป็น ความสุขที่สงบยิ่งกว่า ผู้ที่เห็น ในความสุข ที่สงบยิ่งกว่านั้นแหละ คือ ผู้ที่เข้าใจ คดีธรรม เป็นผู้ที่เห็นจริง ของตนเอง พอใจความสุขอันสงบ ที่เรียกว่า วูปสโมสุขนั้น ด้วยตนเอง อย่างแน่จริง แน่ใจ จึงหยุดความลนลาน หยุดความแสวงหา ในโลกธรรม หรือ ในความจริงของโลกได้ และจะเป็นคนที่ไม่วิ่งหาอีก นอกจากไม่วิ่งหาอีกแล้ว

พระพุทธเจ้าของเรา ผู้เป็นปราชญ์เอก ยังเป็นผู้ที่มีพระจิตวิญญาณอันเมตตากรุณา สูงส่ง สอนให้ผู้ที่ไม่ติดโลกนั้น ยังช่วยโลก ยังเกื้อกูล และเอ็นดูคนที่เขาติดโลกนั้นอยู่ และ จะมีจิต เป็นปัญญา มีวิธีการ มีความสามารถ ที่จะช่วยเหลือ ให้คนเหล่านั้นรู้แจ้ง ในการหลงโลก แล้วลดราในเรื่องแย่งโลก ให้เดินทางเข้าสู่โลกุตตระ มาสู่คดีธรรม มาสู่ ความสงบ อันเป็นความสุข อันแสนวิเศษนี้ให้ได้อีกด้วย

ชีวิตที่เหลือของผู้ที่ไม่ติด ความสุขของโลก ไม่ติดความจริงของโลกแล้ว ได้ความจริงของ ธรรมะแล้ว จึงเป็นชีวิต ที่เอ็นดูคนของโลก ช่วยเหลือเกื้อกูลคนของโลก ให้มาเป็น อย่างเราบ้าง เพราะฉะนั้น งานของคนทิ้งคดีโลก ทิ้งความสุขของโลกแล้ว จึงเป็นงาน ที่ช่วยคน ของโลกโดยตรง โดยแท้จริง สิ่งนี้เป็นคุณค่า เพราะผู้ที่ทำนั้น ไม่ได้ทำ เอามาเสพย์ ไม่ว่าจะเป็นโลกียสุข ไม่ว่าจะเป็นเพื่อหลงสรรเสริญ หรือ เพื่อหลงลาภ หลงยศ ทำอย่างไรให้เขารู้ ให้เขาได้ อย่างแท้จริง

ความจริงอันนี้ จึงไม่ใช่เรื่องเป็นการกอบโกยเอา จึงไม่ใช่เรื่องของตัวของตน เป็นเรื่อง เสียสละ เป็นเรื่องไม่เอาเปรียบ เป็นเรื่องไม่เอา เป็นเรื่องให้ เป็นเรื่องของการสร้างสรร เป็นเรื่องของการให้ เป็นเรื่องของจิตบริสุทธิ์ นี้คือ จิตอันสูงสุดของศาสนา ที่ปราชญ์เอก ไม่ว่าปราชญ์ชั้นใดๆ ก็เห็น ก็รู้ และนำพามนุษย์มาสู่จุดนี้ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น คุณค่า ของจิต ที่เรียกว่า จิตสูงสุด จะเรียกว่า จิตพระเจ้า จะเรียกว่า จิตพรหม จะเรียกว่า จิตเทวดา ชั้นสูงขนาดไหนก็ตาม ก็คือ จิตเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ที่ช่วยสร้างสรร ให้แก่โลก ช่วยมนุษยโลก และก็สร้างเพื่อเขา ไม่ใช่เพื่อเราเลย จิตบริสุทธิ์อย่างนั้นจริงๆ ไม่เสพย์ ไม่คลุกเคล้า ไม่คลุกคลี จิตสะอาด จิตล่อน ผู้ที่มีได้แล้วจริง หมดปัญหา และ มีชีวิตอยู่ อย่างไม่สงสัย จะเป็นผู้อนุเคราะห์โลก จะเป็นผู้เกื้อกูลโลก เป็นผู้ถึงความจริง ในทางธรรม อันสูงสุด และมีชีวิตอยู่อย่างเบิกบาน แจ่มใส เป็นผู้สร้าง ผู้ให้ เป็นผู้บริสุทธิ์ อยู่ตราบตาย

๑๓ ธันวาคม ๒๕๒๕


 

โลกียะ-โลกุตตระ

ผู้เกิดปัญญาแท้ แจ้งชัดในโลกียะ คือโลกียะ แจ้งชัดในโลกุตตระ คือโลกุตตระ ได้พบ ความจริง ผู้นั้นจะเดินทางอยู่ในความจริง

ผู้อยู่ในโลกียะ ไม่พบโลกุตตระเลย เขาก็เดินทางอยู่ในความจริงของโลกียะ ก็จะอุตสาหะ วิริยะ พากเพียร แสวงหาลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุขไปตราบตาย จะเหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้า เขาก็จะอุตสาหะ บากบั่น สู้ทน ไปจนชีวิตจะดับขันธ์

ผู้รู้ความจริงในโลกุตตระแล้วแน่แท้ ก็จะไม่ไปสู่โลกียะ ก็จะบากบั่น อุตสาหะ วิริยะอยู่ ในทางโลกุตตระ ไปตราบตายเช่นเดียวกัน การบากบั่น อุตสาหะ วิริยะของโลกุตตระ ก็จะเดินทางเช่นเดียวกันกับโลกียะเดินทาง แต่ผลคนละทาง โลกียะสะสม แต่โลกุตตระ ละออก ก็จะพากเพียร บากบั่นลดไป ละไปได้มากได้น้อย ก็ตาม

ผู้ที่แน่แท้ในความจริงแล้ว ก็จะบากบั่น พากเพียรตัวเองไป แล้วก็จะสะสมไป เช่นเดียวกัน ตราบตาย ผลที่ได้ก็จะเป็นของแต่ละบุคคล

พวกโลกียะ ก็จะสามารถร่ำรวย จะสามารถมียศ เท่าฐานะอันเป็นวิบากของตน และเท่า ความบากบั่น อุตสาหะ พากเพียร ที่ตนเองจะสั่งสมให้แก่ตนเองได้ เช่นเดียวกัน

ชาวโลกุตตระ ก็จะเดินทางไป จะร่ำรวยโลกุตตรธรรม ได้เท่าที่ตัวเองจะสามารถบากบั่น พากเพียร และมีอินทรีย์พละ สุดท้าย ก็ตายไปจากโลกเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น ความจริง ที่แท้ ผู้ที่สามารถหยั่งเข้าถึง รู้แจ้ง รู้ชัดในโลกียะ และโลกุตตระ ก็จะแบ่งคน ออกเป็นอย่างนี้

ผู้ที่เข้ากระแสแล้ว และมีโอกาสแล้ว มีน้ำหนักเพียงพอแล้ว ก็จะอยู่ในโลกุตตระ

ผู้ยังไม่เข้ากระแส ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอ หรือ ยังมีคลื่นซัดสาดอยู่ ก็จะตกออกจาก โลกุตตระ ไปอยู่โลกียะ สองทางนี้ สับสนได้ ลวงพรางมนุษย์ได้ โดยเฉพาะผู้ที่พยายาม ศึกษา หรือ พยายามจะเข้ามาอยู่โลกุตตระบ้าง อาจจะดูเหมือนว่า เป็นชาวโลกุตตระได้ แต่แท้จริง เมื่อที่สุดแห่งที่สุด ก็จะถูกความจริงนั้นชี้ชัดในบั้นปลายได้ เช่นเดียวกัน

ขอให้ตรวจสอบ ขอให้พากเพียร ศึกษา ค้นหาความจริง ให้พบความจริงแท้ๆนั้นๆเถิด

๑๔ ธันวาคม ๒๕๒๕


 

ตัณหาในภพ

นักปฏิบัติธรรม เมื่อรู้สึกว่า โลกข้างนอก หรือโลกแห่งโลกีย์ เป็นความวุ่นวาย เป็นสิ่งที่ ไม่น่าจะต้องไปหลงใหลไขว่คว้าแล้ว มันง่ายที่นักปฏิบัติธรรมนั้นจะตกภวังค์ หรือตกภพ หรือติดง่วง หรือชอบการเข้าไปหลับ ซึ่งเป็นฐานที่เราจะสำเหนียก สังวร ฝึกหัดอย่าง แรงกล้า ถ้าไม่ฝึก ไม่หัด แน่นอนที่สุด เราจะต้องติด เราจะต้องสะสม สุดท้าย แก้ยาก

ยิ่งเราไม่รู้จริง ไม่เข้าใจเลยว่า ภพแห่งภวังค์ หรือ ภวตัณหา ตัณหาในภพ เราก็ยิ่ง จะหลงผิด นั่งหลับเอา นั่งติดเอา หาวิธีพลิกแพลงเอา เพื่อจะเข้าไปเสพย์อารมณ์ในภพ แล้วก็ติดภพ เป็นฤาษีตาไฟ เป็นนักหลับตลอดกาลนาน เพราะฉะนั้น เราจะต้องแก้ไข เราจะต้องฝึกหัด ละออกให้สำคัญที่สุด เพื่อการล้างภวตัณหา หรือ ติดภพเป็นอารมณ์ สงบ แบบดับ แบบหยุด แบบเสพย์ซึมอยู่ในอารมณ์ เราจงมีความคิดเช่นนี้ และฝึกหัด เช่นนี้

หนึ่ง ไหนๆ เราก็จะตื่นอยู่ จงบอกตนเอง สำเหนียกตนเองเสมอว่า เราเป็นพุทธะ เราเป็น ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน แจ่มใส

สอง เราเคยตื่นมาแล้ว ตั้งกี่วันกี่วันมาแล้ว เราก็จะต้อง รู้ตัว เราจะต้องตื่นให้ได้ ทำให้ได้ เพราะเราเคยตื่นได้แล้ว อาการที่ตื่นเป็นอย่างไร เราต้อง ทำอารมณ์นั้นเสมอๆ ให้ชำนาญ ให้ซับซาบ ให้รู้ยิ่ง ให้เป็นจริงอย่างคล่องแคล่ว

สาม ถ้าเรายิ่งมาให้มันง่วงนั้น ไม่ใช่เรายิ่งจะหายง่วง แต่เรากลับยิ่งเติมอาหาร เติมความ เคยชินให้แก่ความง่วง ให้แก่กิเลสอ้วน กิเลสนั้น ก็จะสั่งสม และมีฤทธิ์แรง เราก็นับวัน ที่จะต่อสู้กิเลสที่มีกำลัง มีฤทธิ์แรง หรือมันอ้วนนั้น ได้ยากเต็มที

สี่ ต้องหัดตัดให้ขาด ตัดให้เด็ด ต้องทำจริง ต้องเป็นจริงๆ เสมอๆ

ห้า คลำหาอาการที่อร่อย ในขณะหลับตาอยู่ให้เจอ มันเป็นอารมณ์ชนิดหนึ่ง แล้วขจัดออก ทำให้เป็นอารมณ์ใส เปล่า อารมณ์ที่ไม่มีรส อย่างที่เราได้พบ ได้รู้นั้น ปรับเปลี่ยนจาก อารมณ์เสพย์ซึม อารมณ์ที่เราจับได้ว่านี้คือ อารมณ์อร่อยของความหลับ แล้วขจัดออก หาวิธี อิทธิวิธี ขจัดออก อย่างแยบคายเสมอๆ

หก จะต้องพยายามปรับปรุงความเป็นอยู่ในชีวิต เราจะต้องรู้จักการพัก การเพียร รู้จัก การงาน รู้จักการเป็นอยู่ ที่จะต้องพักผ่อนให้สมดุล ให้พอดี แต่ละอินทรีย์ แต่ละพละ แต่ละจริต ของบุคคลนั้นไม่เหมือนกัน บางคนพักได้มาก บางคนไม่ต้องพักมาก แล้วเรา ก็พยายาม อย่าเข้าข้างตน เพื่อความพักให้มากเกินไปเท่านั้น เราย่อมรู้ด้วยปฏิภาณ ด้วยสามัญสำนึก ว่าการพัก หรือการเอียงเท เอียงเอน ลำเอียง ให้แก่กิเลสนั้น เป็นความ ผิดพลาด และ เราจะแก้กลับไม่ได้ การทำสมดุลให้แก่การเป็นอยู่อันพอดี จะเป็นการ ปฏิบัติธรรมอย่าง สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา ทรมานตนเกินไปก็จะดี สำหรับ บุคคล ที่เหมาะสม ว่า ทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา คือ ทำความลำบากให้แก่ตนเองมากๆ หน่อย แล้วเราก็สามารถปฏิบัติได้ เดินทางไปสู่จุดหมายได้เร็ว เช่นเดียวกันก็เป็นได้ แต่ระวัง มันจะกลายเป็นมุมกลับ ที่ทำความลำบากให้แก่ตนเองมากเกินไปนัก แล้วเรา ก็จะเข็ดขยาด จนกลายเป็น.....

สุดท้าย แพ้ภัยตัว แล้วก็ไม่เอาขอให้ระวังจุดนี้เท่านั้น

ถ้าผู้ใดมีจริตชอบที่จะทำตน ให้ตั้งตนอยู่ในความลำบากให้ได้มากๆ แล้วเราได้ดี ได้เร็ว ก็จงรู้ตัว บางคนทำให้พอเหมาะ พอดี ก็จงรู้ตัว ส่วนคนทำให้น้อยเกินไปนั้น เสร็จแล้วก็ช้า เสร็จแล้วก็ไม่ได้ผล ก็จงตรวจตัวเอง ให้ได้รู้ตัว การกระทำการฆ่านิวรณ์ข้อนี้ ของหมู่ นักบวช หรือผู้ที่ได้ปฏิบัติธรรม จนเกิดดังกล่าวแต่ต้นแล้วว่า เป็นผู้รู้ความวุ่นวายของโลก แล้วเราก็ปลด ปล่อยโลกมาบ้างแล้ว มันเป็นธรรมชาติ ที่เราจะรู้ไม่เท่าไม่ทัน ว่าตัณหา ในภพนั้น เป็นเหวใหญ่ข้อหนึ่ง ที่นักปฏิบัติธรรมได้ตก และตายกันมานานับแล้ว

ขออย่าให้เรา ได้เป็นผู้ตกไปในเหวนั้นอีกเลย

๑๖ ธันวาคม ๒๕๒๕


 

รู้จักประมาณ

สัตบุรุษ ย่อมมองเห็นชั้นเชิง ขั้นตอน ตลอดจนสภาพหมุนรอบเชิงซ้อน อันเรียกว่า ธัมมัญญุตา สัตบุรุษ ย่อมมองหาแก่นสาร สาระ เป้าหมายสำคัญ สัตบุรุษ ย่อมมองดูตน ตรวจตน ประมาณตน สัตบุรุษ ย่อมประมาณในสารัตถถะ ประมาณในชั้นรอบที่สมควร และประมาณในกาลเวลา ประมาณดูในบริษัทหมู่กลุ่ม ประมาณไปตลอดรายละเอียด ของแต่ละบุคคล แล้วก็กำหนด คำนวณเอาความเหมาะสม ความพอดี ความดีที่สุด และ องค์ประกอบเหล่านั้น ที่จะพอเป็นไปได้อยู่เสมอ ๆๆ เมื่อได้ความพอดี ได้ความเหมาะสม เหมาะควรเป็นที่สุด จึงจะเห็นว่า นั่นดีที่สุดแล้ว

การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และตัวเอง อยู่เสมอๆ และจัดแจง ปรับปรุงให้ดำเนินไปด้วยดี อยู่เสมอๆ นั่นแหละ คือ เรากำลังทำ สุคติ สุคโต หรือ เรากำลังทำสัมมัคคโต ที่สุด ยิ่งเป็น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านก็กำลังทำ ตถาคโต ทีเดียว

๒๘ ธันวาคม ๒๕๒๕


 

อยาก-ไม่อยาก

บรรดาความอยากทั้งหลาย ตั้งแต่เราอยากจากวัตถุ หรือ สิ่งแต่ภายนอก เรียกว่า กามตัณหา เมื่อเราไม่อยาก แล้วเราก็ยังไม่อยากได้ ผลัก เกลียด ชัง สิ่งที่เป็นภายนอก โดยความไม่รู้ใน วิภวตัณหา คือ ความอยากที่หมายเอาว่า เรามีอารมณ์ไม่อยาก แม้ที่สุด ไม่อยากกินข้าว ผู้นั้นก็จะตาย หรือ ไม่อยากนุ่งห่ม ผู้นั้นก็จะทุกข์เมื่อหนาว เราจึงต้องรับ เท่าที่ควรรับ ไม่ได้รับด้วยความอยาก แต่รับด้วยความรู้ เพราะฉะนั้น แม้แต่วัตถุนอก เราก็ต้องทำ ต้องมี ต้องเป็น ต้องได้ เมื่อเรายังไม่ตาย แม้ในวัตถุนอก ในภพภวตัณหานั้น หมายความว่า เราอยากได้ อยากมี อยากเป็น ในส่วนที่ไม่ใช่วัตถุนอก แม้เราอยากได้ อยากมี อยากเป็น อันเกินเลย เราก็จะเป็นทุกข์ เพื่อแสวงหาความเสพย์ในภพอีก แม้จะเป็น ความเสพย์ที่ไม่หนักหนา เท่าความเสพย์วัตถุนอกตัวนอกตน ก็ยังเป็นเรื่องที่ ติดยึด และเนียนใน สลัดยากยิ่งกว่าข้างนอกอีกอยู่นั่นเอง

แม้ผู้ใดได้เข้าใจ เห็นว่า ความสุขอันสงบเราได้แล้ว และเมื่อเราได้จุดที่เลยเถิด ไปเสพย์ แล้ว เราก็จะเกิด วิภวตัณหา ซ้อนในภพอีก คือความไม่อยาก ตามที่เราเอง เราเป็น เรามี เราได้ อยู่อีกชั้นหนึ่ง ความไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น เป็นวิภวตัณหาของภพ ที่ทุกข์จัดมาก ศาสนาพุทธเท่านั้น ที่จะรู้แจ้งในความไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น แม้ในภพ ศาสนาอื่น ศาสนาฤาษี เดียรถีย์ หารู้อย่างนี้ไม่ เพราะฉะนั้น เราจึงต้องวิ่งหนี จากความ... แม้แต่วัตถุนอก แม้แต่ภพที่เราเอง เราเคยเห็นว่าดีแล้ว พอเป็น พอไปแล้ว สมควรแล้ว ที่จะต้องรับรู้ รับแจ้ง รับเป็น รับมี รับทำ เพราะฉะนั้น ฤาษี จึงต้องวิ่งหนี ไปสู่อัตตา คือ ตามความพอใจของตนเท่านั้น วิภวตัณหาจุดนี้ ไม่ใช่เรื่องจะรู้ได้ง่ายๆ เป็นเรื่องวิ่งหนี จึงเรียกว่าศาสนาแห่งโลกันต์ ไม่ใช่ศาสนาแห่งโลกุตตระ ความไม่อยาก หรือ วิภวตัณหา นั้น มีซับซ้อน ลึกซึ้งยิ่งนัก ขอให้พิจารณาให้เห็น ให้รู้ ให้แจ้ง ในความ วิ่งหนี ในความที่ไม่เหนือแท้

ผู้ที่อยู่เหนือแท้ จะรู้ความเป็น ความมี ความได้ ตามสมควร และเป็นผู้เจริญ เป็นผู้สร้างสรร เป็นผู้อยู่อย่างรู้เท่า รู้ทัน จึงเรียกว่า คนผู้ประเสริฐ

๓๐ ธันวาคม ๒๕๒๕


คาถาธรรม ๓ / คาถาธรรม ๔ / คาถาธรรม ๕