ทาง ๓ แพร่ง เล่ม ๒
 
 
   [เลือกหนังสือ]    
page: 10/21
โรงเรียนกินนอน

๑๐. ศึกสภา

การต่อสู้ทางการเมือง ในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อนานวันเข้า ก็ได้ทวีความเข้มข้น พร้อมกับ การแตกตัวออก เป็นการต่อสู้ ในด้านแนวทาง อย่างเด่นชัด มากขึ้นทุกขณะ คือ ระหว่างกลุ่มพลัง ที่ยึดมั่นตามแนวทางของ ระบอบเผด็จการ กับอีกฝ่ายหนึ่ง ที่ยึดมั่นต่อกติกา ของระบอบ ประชาธิปไตย พร้อมทั้งประกาศ ต้านเผด็จการ อย่างสุดตัว

และในสภาพของการต่อสู้นี้ ซึ่งเป็นการต่อสู้กันทางความคิด ตามแนวทางของตนนั้น ก็กล่าวได้ว่า ประชามติ เป็นจุดชี้ขาด ต่อการแพ้ชนะ ของการต่อสู้ ๒ แนวทางนี้ อย่างเบ็ดเสร็จ ฉะนั้น แต่ละฝ่าย จึงพยายาม พุ่งเป้าไปยัง ฐานประชาชน มีการโฆษณา ทางความคิด เพื่อสร้างการยอมรับ และให้ พลังประชาชน สนับสนุนตน อย่างเต็มที่ ซึ่งแน่ละ ในขณะที่แนวทางเผด็จการ มีเครื่องไม้เครื่องมือ อย่างพร้อมเพรียง ไม่ว่าจะเป็น ข่ายการสื่อสารของรัฐ ทั้งทางวิทยุ และโทรทัศน์ ตลอดไปจนถึง อำนาจที่มาจากกำลังพล และอาวุธที่มีอยู่ ในกองทัพ ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่ง จะมีก็แต่เพียงสองมือ อันว่างเปล่า ที่เรียกร้องหา ประชาธิปไตย

ในสภาพเช่นนี้เอง ที่ทำให้พลังตามแนวทางประชาธิปไตย ต้องอ่อนล้าลง พร้อมกับการตกเป็นฝ่าย เพลี่ยงพล้ำ ต่อแนวทาง ของเผด็จการ มากขึ้นทุกขณะ แต่กระนั้น การโผล่มาต่อต้าน กระแสเผด็จการ ของคนบางคน ก็ยังความสดชื่น และความมีชีวิตชีวา ให้กลับมาสู่ พลังประชาธิปไตย ได้อีกครั้งหนึ่ง เพราะคนผู้นั้น ก็คือ พ.อ.จำลอง ศรีเมือง หรือ มหาจำลอง อดีตเลขาธิการ นายกฯ นั่นเอง

"ฝ่ายที่จะดึงให้เป็นเผด็จการมากขึ้น ใช้กลวิธีทุกอย่าง แม้เรื่องที่สกปรก เรื่องที่นอกกติกา ซึ่งไม่น่า จะเอามาใช้ เขาใช้หมดทุกอย่าง ซึ่งมันก่อให้เกิด ความได้เปรียบ อีกฝ่ายก็เลยอ่อนลง เห็นอีกฝ่ายหนึ่ง จะข่มเหงอีกฝ่ายหนึ่ง เราทนไม่ได้ โดยเฉพาะ ฝ่ายที่ถูกข่มเหง เป็นฝ่ายที่ถูกต้อง ตามแนวความคิดของเรา เราก็เลยโดดลงไป" มหาจำลองกล่าวกับ "ปฏิญญา" พร้อมทั้งยืนยัน อย่างหนักแน่นว่า การเคลื่อนไหว ของตนนี้ ไม่มีเบื้องหลัง หรือได้รับ คำบัญชา มาจากใครทั้งสิ้น

หากแต่เป็นการเคลื่อนไหวที่ถูกผลักดันออกมาจากจิตใต้สำนึก ของประชาธิปไตย อย่างแท้จริง "การแก้ไข รัฐธรรมนูญนั้น มันเป็นการดึง ระบอบการปกครอง ไปสู่การเป็น เผด็จการยิ่งขึ้น ซึ่งผิดกับ ความมุ่งหมาย ของเรา ที่ต้องการให้ประเทศ มีประชาธิปไตยยิ่งขึ้น" มหาจำลองกล่าว

ซึ่งประเด็นที่มหาจำลอง ออกมาคัดค้านอย่างสุดตัวคราวนี้ ก็คือ การที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ให้มี การยืดอำนาจ วุฒิฯ ออกไปอีก ๔ ปี พร้อมทั้งอนุญาต ให้ข้าราชการประจำ โดดมาเป็น ข้าราชการ การเมืองได้ "ถ้าเขาเปรียบเทียบว่า เป็นการพยุงเด็ก เด็กนี่คุณก็ทราบอยู่แล้ว ถ้าไม่ปล่อยให้เดินบ้าง ได้แต่พยุง ได้แต่อุ้มมา เด็กนั้นเดินไม่ได้ ก็ง่อยเปลี้ยเสียขา อ้างแบบนี้ คือมีเจตนาแอบแฝง" มหาจำลอง ระบายความรู้สึกต่อ "ปฏิญญา"

"ก่อนที่พ.อ.จำลอง จะกระโดดออกมานั้น ฝ่ายประชาธิปไตยอ่อนล้ามากครับ คุณดูซิ นอกจากจะบังคับ ให้ประชาชน ฟังเขาพูด โดยผ่าน ทางทีวี และวิทยุแล้ว พวกเขาก็ยังไป ขู่พวกส.ส. ให้ร่วมมือกับเขาอีก ถ้าไม่ เขาก็จะปฏิวัตินะ มีการอ้างชื่อป๋า หวังเพื่อให้วุฒิฯ ร่วมลงชื่อ เปิดสภาบ้าง มีการอ้าง ข้อมูลใหม่ ว่าสถาบัน เห็นด้วย กับเขาอีกอย่างนี้" นักสังเกตการณ์ ในรัฐสภาผู้หนึ่ง กล่าวต่อ "ปฏิญญา" พร้อมทั้งเสริมต่อไปว่า "การออกมาของมหา แกมีน้ำหนักมาก เพราะแกไม่ใช่คนของ พรรคการเมืองนี่ครับ"

ปฏิญญา ๒๑ ก.พ.๒๖

อ่านต่อ ตอน ๑๑

ทาง ๓ แพร่ง เล่ม ๒