ชีวิตนี้มีปัญหา... โพธิรักษ์
ถาม[6] คำถามจาก :คุณ
หนูชาวสวนสน บ้าน สวนสน
๑. หนูใส่บาตรทุกวันพระ
แต่หนูไม่เคยกรวดน้ำเลยค่ะ เพราะหนูไม่ทราบว่าจะท่องกระไรดี
ถามคนโน้นคนนี้ ก็ไม่เหมือนกันค่ะ เลยไม่ได้กรวดน้ำสักครั้ง
จะเป็นอะไรไหมคะ และจะได้บุญกุศลในชาตินี้ หรือชาติหน้าอย่างไรคะ
หนูจะมีความสุขเมื่อได้ใส่บาตรทุกครั้งค่ะ ถ้าวันพระไหน หนูไม่ได้ใส่
วันรุ่งขึ้นหนูจะใส่แทนทันที ทีนี้หนูอยากทราบว่า หนูควรจะอธิษฐานตอนใส่บาตรอย่างไร
และควรกรวดน้ำอย่างไร และเวลาใส่บาตรพระ ควรจะมีกฎเกณฑ์อะไรบ้าง
เช่นควรจะอธิษฐานก่อนพระเดินมา หรือพระท่านเดินมาแล้ว ค่อยยกข้าวขึ้นอธิษฐานคะ?
การทำบุญใส่บาตรนั้น เป็นการดียิ่งแล้ว ด้วยเหตุด้วยผลมีมากมายเหลือเกิน
ที่ว่าการทำบุญตักบาตรเป็นการกระทำที่ดี จงกระทำต่อไปเถิดตามที่หนูปรารถนา
หนูจะยิ่งรู้สึกมีความสุขขึ้นทุกเมื่อเชื่อวัน และจะให้ดีหนูก็ให้ทานแก่ผู้ที่ทุกข์ยากกว่าที่ไม่ใช่หรือระวังอย่าให้ทานแก่
พระ หลอกๆ เลวๆ พยายามไตร่ตรองตรวจตราบ้างจะดีเพิ่มขึ้น จะมีความสุขเพิ่มขึ้น
การใส่บาตรนั้น ก็ควรจะตั้งจิตอธิษฐานก่อนไปใส่ และตั้งจิตให้ดีนั้นตลอดไป
อธิษฐานแปลว่า การตั้งจิตตั้งใจ เช่นเมื่อเราเตรียมข้าวของก็ตั้งใจให้ดีไปเตรียมไป
เสร็จแล้วก็นำออกไปวางในสถานที่เตรียมตักบาตร ก็ตั้งจิตให้ดีนำไป
ตั้งจิตอธิษฐานเสมอ คือตั้งจิตให้ถูกต้องเป็นกุศลเสมอ อธิษฐานไม่ได้แปลว่า
ขอ นะ! การอธิษฐาน ก็เพื่อให้เราได้รู้ตัวว่าเรากำลังจะกระทำความดีนั้นๆ
ก็รู้ ก็ตั้งจิตให้ดีตามที่เราจะทำดีนั้นๆ ให้ได้มั่นคงเสมอ
จะถวายทานแด่ภิกษุสงฆ์ จะว่าเป็นคำพระก็ได้ดังนี้สุทินนัง วตะ
เม ทานัง อาสะวักขยะ ยาวหัง โหตุ ทุติยัมปิ สุทินนัง วตะ เม
ทานัง อาสะวักขยะ ยาวหัง โหตุ ตติยัมปิ สุทินนัง วตะ เม ทานัง
อาสะวักขยะ ยาวหัง โหตุ หรือใครจะเติมคำว่า นิพพานปัจจะโย
โหตุ ต่อคำท้ายก็ได้ ไม่เอาก็ได้ ถ้าจะว่าเป็นคำธรรมดาภาษาไทยๆ
ก็ได้สั้นๆ ดังนี้ ข้าพเจ้าถวายทานดีแล้ว จักเป็นสิ่งที่นำความสูญสิ้นแห่งกิเลสมาให้ข้าพเจ้า
ถ้าเติมคำว่า นิพพานฯ ที่ว่านั่นด้วย ก็เติมว่า
จักเป็นปัจจัยให้ถึงพระนิพพาน ซึ่งอันที่จริง ก็ควรเติม
เพราะ นิพพาน คือ จุดหมายแห่งความสุขบริบูรณ์และแท้จริง หรือไม่ก็เติมคำว่า
สูญสิ้นกิเลสหมดอาสวะ นั้นก็คือ สภาพนิพพานอยู่แล้ว
ส่วนการกรวดน้ำ จะทำก็เพิ่มงานแก่ตน ไม่ทำก็ย่อมได้กุศลแล้วเช่นกัน
ถ้าทำก็หมายถึงว่า เราได้ยืนยันที่จะกระทำความดีนี้ และคิดถึงคุณความดีนี้เป็นตัวอย่าง
เป็นความสุข ขอให้ญาติมิตรสหาย ผู้มีพระคุณทั้งหลาย จงเห็นในการกระทำดีนี้
และจงยินดีตาม จงได้รับเยี่ยงอย่างตามด้วยเทอญ การกระทำใจให้ผ่องใส
ให้อยู่กับกุศล เป็นการกระทำที่ควรทำให้ได้ ยิ่งใจเราอยู่กับอารมณ์กุศลตลอดกาลนั่นแหละ
ชื่อว่าเป็นคนดีตลอดกาล คือเป็นคนปราศจากอารมณ์ไม่ดีทั้งมวลในทุกเวลา
คำกรวดน้ำก็ว่าสั้นๆ ก็ได้ และว่าเป็นไทยภาษาไทยยิ่งจะซาบซึ้งดี
เช่น กล่าวว่า ขอให้ประโยชน์จากการกระทำดีนี้ จงเกิดผลคือ ให้ญาติหรือให้เปรตได้เกิด
ได้เจริญจากที่ตายไปเป็นเปรตนั้นๆ เทอญ
๒. เวลาสวดมนต์ก่อนเข้านอน ถ้าลืมต้องกล่าวอะไรบ้างคะ
นโมหนูก็ลืมค่ะ เพราะหนูออกจาก โรงเรียนนานแล้วค่ะ ?
เวลาสวดมนต์ก่อนเข้านอน ถ้าลืมแม้แต่นโมฯ ก็สวดเป็นภาษาไทยๆ
ก็ได้ คำสวดจะคิดเอาเองก็ได้ ให้มีความหมายว่า ข้าพเจ้าขอยึดถือ
พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง เป็นหลักแห่งชีวิตตลอดไป
ข้าพเจ้า จะประพฤติดี ประพฤติควร ประพฤติชอบ จะไม่ทำชั่วใดๆ
เลย จะทำแต่ความดี จะทำใจให้ผ่องใส ขอให้พระคุณนั้นจงคุ้มครองเทอญ
เมื่อสวดแล้ว ก็ต้องตั้งใจให้ดีว่า เราจะปฏิบัติตามที่ได้สัญญาหรือได้กล่าวไปแล้วกับพระนั้นด้วย
เพราะเหตุผลในการสวดมนต์ไหว้พระนั้นที่ถูกต้องแท้จริง ก็คือ
๑.เรากราบเคารพรำลึกถึงพระมหาคุณานุคุณขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้ตรัสรู้ดี รู้ชอบ ด้วยพระองค์เอง ไม่มีผู้ใดได้รู้ คุณความดีสุดยอดแห่งชีวิตอย่างแท้จริง
หรือ จุดของความสุขสุดยอดอย่างแท้จริงของชีวิต มาก่อนเลย พระพุทธองค์เท่านั้นที่ได้ตรัสรู้
และได้กรุณานำมาเล่าบอกกล่าวให้มนุษย์รวมที้งเราได้ทราบและได้ปฏิบัติตาม
จึงเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้า ล้นเศียร
๒.เรากราบเคารพ และให้สัตย์สัญญากับพระว่า เราจะปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ
ปฏิบัติควร เพื่อคุณความดีแห่งตน และเป็นประโยชน์แก่โลก
การสวดมนต์ไหว้พระที่ถูกต้อง มีจุดหมายแท้จริงที่เราต้องทราบไว้ในขั้นต้นนี้ก็เพียงเท่านั้น
ถ้าใครสวดมนต์ไหว้พระเพื่อขอพร ขออำนาจศักดิ์สิทธิ์ ขอลาภ ขอยศ
ขอสรรเสริญ ใดๆ ละก้อ ยังเป็นการไหว้พระสวดมนต์ที่ผิดอยู่อย่างมาก
แต่ว่าผู้ใดยังนึกอยู่ และเข้าใจอย่างนั้นอยู่ในใจจริงๆ คืออดไม่ได้ที่จะกราบไหว้พระสวดมนต์แล้วก็ยังขอพร
ขออำนาจศักดิ์สิทธิ์ ขอลาภ ขอยศอะไรอยู่ ผู้ยังอดไม่ได้หรือยังไม่รู้ก็จะขออยู่ต่อไปอยู่นั่นเอง
เหมือนคนในศาสนาแบบเทวนิยมเขาขอกัน แต่ว่าก็ควรจะทราบจุดหมายอันถูกต้องแท้จริง
๒ ข้อ ดังกล่าวข้างต้นไว้ และควรจะระลึกดัง ๒ ข้อที่ข้าพเจ้าได้กล่าวแล้วนี้เข้าไปด้วย
จะเป็นประโยชน์กับตัวผู้สวดโดยแท้จริง
และยิ่งถ้าซาบซึ้งใน ๒ ข้อนี้ได้จริง ละวางการขอสิ่งต่างๆ ดังที่ข้าพเจ้ากล่าวมาได้แล้วด้วย
เหลือแต่ความซาบซึ้งเพียง๒ข้อนี้ได้โดยแท้จริงแล้ว นั่นแหละพึงรู้เถิดว่าท่านได้ถึงซึ่งพระไตรรัตน์ทีเดียว
อย่างแท้จริง ถูกจริงเป็นคนในศาสนาอเทวนิยม เชื่อกรรมสัจจะ ไม่ผิดเพี้ยนเป็นพุทธแท้
และได้ก้าวย่างเข้าสู่ทางแห่งพระอริยะเจ้าแล้วด้วย |