คาถาธรรม ๑๓

วันเวลาล่วงไป...เราทำอะไรอยู่

วันเวลาล่วงไปๆ บัดนี้ เราทำอะไรอยู่ วันคืน ย่อมกลืนกินสรรพสัตว์ และตนเอง เวลาผ่านไป ไม่มีอะไรหยุดยั้ง บุคคลผู้ไม่เห็น ความสำคัญ ในวันเวลา ปล่อยให้เวลาผ่านไป โดยตนเอง ไม่เคยเห็นความสำคัญว่า เราจะมีสติ ระลึกรู้ และ ตั้งใจสังวร กระทำตน ให้เป็นผู้ยังกุศลให้ถึงอยู่ กิจที่เราจะทำ อันสำคัญของชีวิต บาปใด ชั่วใด อกุศล ทุจริตใด ที่มีอยู่ ในบัดนั้นๆ อันเรารู้อยู่ เราพึงทำหน้าที่ ทำกิจของเรา ปรับปรุง ขจัดสิ่งที่เป็นบาปชั่ว ทุจริต อกุศลนั้นๆ ทำอยู่ๆ พากเพียรอยู่ๆ ผู้ไม่ได้ดีนั้น ย่อมไม่มี แต่หากปล่อยให้วันเวลา ผ่านไปๆ โดยไร้สติ ระเริงไปตามอารมณ์ ปล่อยให้บาปชั่ว อกุศล ทุจริตนั้นกินตัว กระทำกิจชั่ว ของมันอยู่ ผู้นั้นย่อมไม่เจริญ ย่อมเสื่อม ย่อมจมแล้ว จมเล่า

ดังนั้น ผู้ที่เป็นผู้ฉลาด ย่อมจะต้องระลึก รู้ความสำคัญ ในความสำคัญดังนี้ แม้แต่ชั่วบาป อกุศล ทุจริตใด ที่หาได้ยาก สิ่งดีที่ทำดียิ่งขึ้น ผู้ฉลาด ย่อมใช้วันเวลา และขณะที่ล่วงไป นั้น ทวีความดี ยังกุศลนั้นๆ ให้ยิ่งยิ่งขึ้น

ผู้นั้น จึงชื่อว่า ผู้ตื่นแล้ว ผู้เจริญแล้ว เพราะตั้งอยู่ ในความไม่ประมาท เพราะเป็น ผู้มีสติดี มีธัมมวิจัยดี มีวิริยะดี ย่อมถึงปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ อุเบกขา ที่สุด ย่อมหลุดพ้น สู่นิพพาน

๓ มกราคม ๒๕๒๙


ผู้สำคัญในกาละ

วันเวลา ล่วงไปๆ บัดนี้ เราทำอะไรอยู่ ดีหรือชั่ว เวลากลืนกินสรรพสัตว์ และ ตัวมันเอง

มนุษย์ผู้มีสติปัญญา มีปฏิภาณ ผู้ได้ปฏิบัติธรรม ได้เข้าใจความสำคัญ ในความสำคัญ จะเป็นผู้มีสติ ระลึกรู้ตัว ทั่วพร้อม เข้าใจในกาละ อันเลื่อนไปผ่านไป และ จะระลึกรู้ตัว ในพฤติกรรม ในความเป็นอยู่ ว่าตนขณะทุกขณะนั้น แม้แต่อิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน และ กรรมทั้งสาม กายกรรมก็ดี วจีกรรมก็ดี มโนกรรมก็ดี ย่อมมีธัมมวิจัย มีการวิเคราะห์ อ่านในกรรมทั้งสาม และพึงทำกรรม ทั้งสามนั้น ให้ขึ้นสู่ สุจริตกรรม รู้จักความดี ดียิ่งกว่า ดียิ่งขึ้น จนถึงดีที่สุด ที่จะพึงกระทำ ให้เป็น กุสลสูปสัมปทา ในการยังกุศล ให้พึงพร้อม หรือ กระทำบาป กระทำสิ่งที่ เป็นความชั่ว ความทุจริต อกุศลออก แม้น้อย ย่อมไม่ประมาท ผู้ที่มีความละเอียดลออ ย่อมรู้ ในความละเอียดแห่งตน ที่จะพึง กระทำออก ซึ่งทุจริตชั่ว อกุศล และ พึงยังกุศลดี ดีกว่า ดียิ่งขึ้น จนถึงดีที่สุด ให้ได้อยู่เสมอ ทุกกาละ

ผู้สำคัญในกาละ ผู้มีชีวิตอยู่ แม้น้อยก็ทำ แม้มากก็ทำ ผู้มีชีวิตอยู่ หายใจเข้าออก ยังไม่สิ้นชีวิต มีสติ มีธัมมวิจัย มีวิริยะ จึงเป็นผู้ได้ปีติ ได้ปัสสัทธิ ได้สมาธิ ได้อุเบกขา และ เป็นผู้ถึงซึ่ง วิมุติญาณทัสสนะ ในที่สุด ด้วยประการ ฉะนี้

๔ มกราคม ๒๕๒๙


วันคืน กลืนกินสรรพสัตว์ และตัวมันเอง

ชีวิตนั้นสั้นนัก ชีวิตนี้น้อยนัก วันคืนๆ ผ่านไปๆ กลืนกินสรรพสัตว์ และตัวมันเอง

ผู้ที่รู้จักชีวิต หรือ ผู้ที่ศึกษาชีวิต ย่อมสำคัญในชีวิต กับวันคืน แต่ละขณะ แต่ละเวลา ที่ผ่านไปๆ ของชีวิต ผู้มีสติ มีธัมมวิจัย มีวิริยะ อยู่กับตัว ย่อมเพียร ที่จะรู้ ทุกอิริยาบถ ทุกกรรม เพราะกรรมเป็นกำเนิด กรรมเป็นเผ่าพันธุ์ กรรมเป็นที่พึ่งอาศัย และ กรรมเป็นของของตน ตนเป็นทายาทของกรรม ดังนั้น ย่อมเป็น ผู้ควบคุม สังวร ดูแล ในกรรม จะเป็นกิริยาใด กายก็ดี วจีก็ดี มโนก็ดี ศิษย์ตถาคตทุกผู้ จะต้องเป็นผู้ที่ กำหนดรู้ ในกรรมกิริยา ของตนๆ และ ปรับปรุงกรรมกิริยา ของตน ๆ ในแต่ละขณะ เท่าที่ เราจะสามารถ เท่าขนาดของตน ที่ได้สมาทาน ว่าจะกระทำ ให้เหมาะสมแก่ตน แล้วเรา ก็ได้เป็น ผู้รู้จริง ทำจริง ทำความประเสริฐ ให้แก่ชีวิต ในทุกๆขณะ ทุกๆเวลา ที่ผ่านไป ผู้ได้กระทำ ดังกล่าวนี้อยู่ ให้ช่ำช่อง ให้ชำนาญ ให้เป็นจริง ย่อมเดินทาง และเลื่อนขึ้นสู่ ความเป็น ผู้ประเสริฐได้ ตามศีล สมาธิ ปัญญา ที่จะมีอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา สู่วิมุติ และ วิมุติญาณทัสสนะได้ ดังประสงค์

๕ มกราคม ๒๕๒๙


 

สมมติสัจจะ - ปรมัตถสัจจะ

สัจธรรม หมายความว่า ทรงไว้ซึ่งความจริง ความจริงส่วนหนึ่ง เราเรียกว่า สมมติสัจจะ ความจริงโดยสมมติ ซึ่งมีอยู่หลากหลาย มากมาย อะไรๆ ก็เรียกว่า สมมติ เหนือสมมติสัจจะ เรียกว่า ปรมัตถสัจจะ

ปรมัตถสัจจะ เป็นความจริง ที่จะต้องรู้ พร้อมทั้ง สมมติสัจจะ และ รู้ยิ่งกว่านั้น มีความจริง ทรงไว้ซึ่งความจริง ยิ่งกว่านั้น ก็คือ จะต้องเป็นผู้รู้ดี ความดี ก็เป็นความจริง ความชั่ว ก็เป็นความจริง ซึ่งเป็นจริง โดยสมมติสัจจะ ชั่วในโลก มีอยู่จริง ดีในโลก ก็มีอยู่จริง

ผู้ที่ทรงไว้ซึ่งสัจธรรม ก็คือ จะต้องเป็น ผู้เลือกชั่วออก เลิกชั่วให้ได้ และเป็น ผู้ทรงไว้ซึ่งดี ยังกุศลอยู่ ทรงไว้ซึ่งกุศลอยู่ สูงไปกว่านั้น จึงเรียกว่า ปรมัตถสัจจะ ปรมัตถะ เนื้อหา สาระที่สูงยิ่ง ก็คือ แม้ด้านนามธรรม ด้านที่เรียกว่า กิเลส ซึ่งเป็นตัวไม่จริง แต่มันก็มีจริง เรามาพิสูจน์ความจริง โดยทำความไม่จริง ให้ออกไปจากตน คือ กิเลส แต่มันก็เป็น สมมติสัจจะ มันมีจริงในมนุษย์ และเราก็เอาออก จากตนเองให้ได้ เพื่อยืนยันว่า มันไม่ใช่ ตัวเรา มันไม่ใช่ของเรา มันไม่เป็นตัวตน แม้เอามันออก จากตัวเราแล้ว เรายิ่งทรงไว้ ซึ่งความดี ทรงไว้ ซึ่งความประเสริฐ ทรงไว้ ซึ่งความพ้นทุกข์ เป็นสิ่งที่ พิสูจน์ได้ว่า การเอากิเลส ที่ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ออกนั้น เราไม่ตาย แต่เรายิ่งประเสริฐ

ผู้ที่เอาออกได้หมดจากใจ เรียกว่า ผู้มีจิตบริสุทธิ์ เพราะฉะนั้น ผู้ถึงซึ่ง ปรมัตถสัจจะ สูงสุด คือ ผู้รู้สมมติสัจจะ และ เลิกชั่ว ประพฤติดี ทรงไว้ซึ่งความจริง ที่เรียกว่าความดี และ ได้เอากิเลส ออกจากจิต จนหมดสิ้นได้ อย่างมีความจริง ของจริง ทรงไว้ซึ่งความจริง มีจิตสะอาด บริสุทธิ์จากกิเลส ทั้งหมด นั่นคือ ผู้ถึงสัจธรรมทุกส่วน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้ค้นพบ ตรัสรู้สิ่งนี้ และ นำพาให้มนุษย์ พบสัจธรรมได้ และ ทรงไว้ ซึ่งสัจธรรมนั้น ผู้ซึ่งพบสัจธรรม จึงจะเป็นผู้มั่นใจ และ นำพาสัจธรรมนั้น สืบต่อ ถ่ายทอด เผื่อแผ่ ทำให้มนุษย์ เป็นมนุษย์อารยะ หรืออริยะ เป็นมนุษย์ซึ่งทรงไว้ ซึ่งความจริง เท่าที่จะสามารถ รักษามันไว้ได้

ดังนั้น ผู้ที่เป็นพุทธบุตร เป็นพุทธศาสนิกชน ทั้งหลาย จึงควรจะพิสูจน์ ถ้าเชื่อมั่นว่า สัจธรรมที่สูงสุด ที่เรียกว่า ปรมัตถธรรมนั้น หรือ ปรมัตถสัจจะ นั้นดีจริง เราจงพยายาม สืบทอด และรักษา หรือ ทรงไว้ ซึ่งความดีจริง นั้นให้ได้ ไปชั่วนิรันดร์กาล ทุกคนต้อง พยายาม ของแต่ละบุคคล ผู้ได้ชื่อว่า เป็นพุทธบุตร ที่แท้จริงเอง ของตนๆ

๒๔ มกราคม ๒๕๒๙


 

กระจกจะใส ถ้าหมั่นเช็ดถู

สำรวม สังวร ดูอาการของจิตใจ ของตนเองอยู่เสมอ และปรับ อย่างน้อยที่สุด ก็ปรับ ให้สู่สภาพปกติ ที่เบิกบาน แจ่มใสอยู่ ความขุ่นใจ ไม่ชอบใจใดๆ พึงขจัดออก อย่างไม่มีข้อแม้ และ ก็พึงดูอาการของจิต ที่มันมีสภาพ ถูกกิเลสครอบงำ แต่ละทิศทาง แต่ละอย่าง ซึ่งไม่มีมากอย่าง แต่มีมากขนาด จิตที่มีอาการ เป็นโลภะ อาการเป็นโทสะ อย่างรู้ชัด หรือไม่ชัด อย่างรู้กลับกัน หรือไม่กลับกัน

ถ้าอย่างรู้กลับกัน เราเรียกว่า โมหะ ถ้าอย่างรู้ชัด เราก็จะรู้ลักษณะ ถูกต้อง ว่ามันเป็น โลภะ หรือ โทสะ เป็นลักษณะผลัก หรือ ลักษณะดูด แต่ว่า มีขนาดหยาบ กลาง ละเอียด อีกมากกว่ามากนัก อย่างหยาบ เราก็รู้ได้ง่าย อย่างกลาง ก็ยังรู้ได้ อย่างละเอียด ก็จะรู้ยากยิ่งขึ้น ดังนี้ เป็นต้น เมื่อเราได้สังเกต และ ได้ระมัดระวัง สังวร อยู่เสมอ ก็เท่ากับ เราได้ทำความสะอาด อยู่เสมอๆ

อย่านึกว่า จิตใจของเรานั้น เหมือนกับภาษาเซน ที่บอกว่า เมื่อเราไม่มีต้นโพธิ์ แล้วเราจะ ปัดกวาดอะไร นั่นเป็น คำพูดสุดยอด ที่เป็นการโต้เถียง เอาคารมโก้เก๋ เท่านั้น แต่ต้องมอง อย่างว่า ถ้าเราหมั่น ฝึกหัด ขัดเช็ด จะเป็นต้นโพธิ์ หรือเป็นกระจก เพื่อให้ใส เพื่อให้สะอาด อยู่เสมอ ฝ้ามัวใด ไม่ให้มันมีขึ้นมา หรือยังมีอยู่ เราจะต้องรู้ ต้องเห็น และทำความสะอาด หมั่นทำความสะอาด ให้ได้เสมอๆ นั่นแหละ เป็นความจริง

ถ้าเราเชื่อว่า เราเป็นคนมีกิเลส อยู่เสมอ เรามีกิเลสมาก่อน ไม่ใช่เราไม่มี กิเลสเป็นพื้นฐาน เมื่อเรามีกิเลส เป็นพื้นฐาน เราก็ต้อง อ่านกิเลสออก ตามจริง แล้วหาวิธี เช็ดล้าง ขัดถู ขจัดมันออก ให้สะเด็ด ให้หยุด อย่างเด็ดขาด ให้หมด อย่างเด็ดขาดให้ได้ เราต้องทำ ไม่มีใครทำให้เรา

เมื่อเราทำได้จริง มันออกจริง หมดจริง เราจึงจะเป็น สภาพสูญว่าง เราจึงจะเป็น สภาพที่ไม่มี แล้วเราก็ ไม่ต้องขัด นั่นก็ถูกแล้ว แต่เราต้องขัดก่อน จึงจะสูญ จะหมด แล้วจึงจะไม่ต้องขัด ไม่ใช่เรา จะหลงตัวว่า เราไม่ต้องขัด แล้วไปหลงสมมติ เอาเองว่า เราเอง เป็นผู้สูญแล้ว ว่างแล้ว

ผู้ใด ทำด้วยความเพียร ไม่ประมาท อย่างมีความสม่ำเสมอ ทำได้ ไม่ตกหล่น ไม่ขาดตอน ผู้กระทำจริง เกิดอิทธิวิธีจริง จะเกิดอินทรีย์ พละจริง และ เมื่ออินทรีย์ พละ นั้น ครบถ้วน บริบูรณ์ ทั้งปัญญา ทั้งศรัทธา เต็มครบ แม้แต่วิริยะ สติ สมาธิของเรา ก็ย่อมเกิดได้ ในภาคปฏิบัติ ตามทางเอก ของพระพุทธเจ้า

จงเพียรเถิด กระทำเถิด อย่างน้อยที่สุด จะต้องรู้จัก อารมณ์ผ่องใส อารมณ์เบิกบาน ของตน ๆ จงทำใจ ให้ผ่องใส เบิกบานอยู่ ทุกอารมณ์ ทุกขณะให้ได้ นั้นเป็นกำไร บทที่หนึ่ง ของมนุษย์ ผู้ฉลาดที่สุด

๒๘ มกราคม ๒๕๒๙


 

อริยบุคคลอยู่ได้อย่างไม่อนาทร

บุคคล ผู้เข้ากระแส แห่งอริยะ เป็นผู้ที่พบทางรอด จะรู้สึกตัวเองว่า มีความเห็นอยู่ ทางเดียว คือ การเดินทาง ไปสู่โลกุตระ จะเป็นผู้ที่ ไม่สับสน ไม่วกวน ในเรื่องของการ จะกระทำตน ไปสู่โลกต่ำ หรือ โลกียะอีก จะรู้ตนแต่ว่า กิเลสที่มันจะพาให้เรา เกิดสภาพ ประสงค์ หรือ ต้องการ หรือ ผลัก ไม่สบอารมณ์อยู่บ้าง แต่ความแน่ใจ ความมั่นใจนั้น จะไม่เปลี่ยนแปลง จะไม่คลอนแคลน จะไม่เห็นว่า โลกียะนั้น จะดีเหนือกว่า ทิศทางที่เป็น โลกุตระ ได้เป็นอันขาด

ยิ่งผู้ใด ได้ปฏิบัติ ลดละความต้องการ ความประสงค์ ความอยาก อันเป็นกิเลส ตัณหา อุปาทานได้มาก เลื่อนฐานขึ้นสู่ อริยคุณ สูงขึ้น ๆ จนมากพอ ประมาณหนึ่ง บุคคลผู้นั้น จะเห็นว่า ตนเองนั้น มีชีวิต อยู่อย่างง่าย ถึงจะอยู่คนเดียว ก็รอด

คำว่า "อัตตา หิ อัตตโน นาโถ" ชัดเจน ตนเองพึ่งตนได้ แม้ไม่มีเงิน สักบาท จะรู้ว่า ความขยัน ความสามารถ ของตนๆ นั้น มีพอที่จะยังตน ไปจนตาย จะเป็นผู้รอด เป็นผู้พ้น ความอึดอัด ขัดเคือง ที่จะยังชีวิต ไปในโลก จะเป็นผู้เห็น อย่างชัดแจ้ง สว่างว่า ชีวิตนี้ อยู่ในโลก ง่ายแสนง่าย แม้โลก หรือ สังคมนั้น จะยากแสนยาก จะทุกข์ร้อนอนาทร ด้วยเศรษฐกิจ ด้วยการเมือง ด้วยสังคม ที่วุ่นวาย ก็จะไม่ทุกข์ร้อน อย่างชัดเจน มั่นใจ ในทางรอด ของตนๆ ยิ่งกว่านั้น ยังมั่นใจอีก ถ้าผู้นั้น ยิ่งมีอริยคุณ หรือ มีความสามารถ มีกำลัง เรี่ยวแรง อยู่พอเพียง จะยิ่งเห็นว่า ตนนั้น อย่าว่าแต่ ตนพึ่งตนได้เลย ยังมั่นใจ ในการที่จะ ช่วยเหลือผู้อื่น

เชื่อว่าตนนั้น เลี้ยงตนรอด พาตนไปได้ แล้วยังจะพาผู้อื่น เลี้ยงผู้อื่นได้อีก ไม่ว่า ความวิกฤต ของสังคม มนุษยชาติ จะตกต่ำ ปานใด สัตว์เดรัจฉาน มันก็เลี้ยงตัวมันรอด เพราะฉะนั้น บุคคลผู้ที่เป็น อริยบุคคล ถึงขีดหนึ่งแล้ว จะเห็นเด่นชัดว่า โลกจะวิกฤต โลกจะตกต่ำ ปานใด คนนั้นก็คือ คน คือ มนุสโส คือ ผู้มีจิตใจสูง ผู้มีสมรรถภาพ ผู้เป็นสิ่งประเสริฐ ของโลก ที่จะอยู่ในโลก อย่างไม่ทุกข์ร้อน กับสิ่งต่างๆ ที่เลวร้าย ในโลกเลย เป็นอันขาด

ดังนั้น ทฤษฎีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังเป็นทฤษฎี ที่พาให้คน รอดพ้นจาก ภัยพิบัติ ทั้งปวง ในโลกนี้

๓๐ มกราคม ๒๕๒๙


 

ทางรอดแห่งชีวิต

คนผู้เห็นทางโลกของชีวิต ชีวิตเกิดมา ถ้าเป็นคน โลกย์ๆ ก็ยังหลงโลกียสุข ที่เป็นสุข บำบัดความอยาก เป็นสุขเสพย์สม เป็นโลกียรส ผู้ที่ได้ศึกษา ปฏิบัติ พิสูจน์ เมื่อได้พบ ทางรอด ที่รู้จักว่า รสโลกียะ เป็นอย่างไร ได้หัด ฝึก ละ ปลดปล่อย เห็นความจางคลาย เห็นความสงบ เห็นความไม่ต้อง คอยบำบัดบำเรอ ความอยาก แม้ประมาณใด ประมาณหนึ่ง เกิดญาณ เกิดความรู้สัจธรรม ที่เป็นความจริง แห่งความจริง

เมื่อชัด เมื่อแน่ใจ และ รู้เท่าทัน ความเป็นอยู่ของชีวิต ว่าความหลง ของมนุษย์นั้น มีแต่ความเหน็ดเหนื่อย มีแต่ความเป็นทาส ที่จะต้อง คอยประเคน คอยหาบำเรอ คอยหาส่งส่วย ให้แก่กิเลส ตัณหา

เมื่อรู้ชัด และแน่ใจว่า กิเลส ตัณหาเหล่านั้น มันมีสภาพ แต่ไม่ใช่ตัวตน ของชีวิต อันประเสริฐ และ พิสูจน์แล้วพิสูจน์อีก ว่ากิเลสตัณหานั้น อ่อน จางได้ คลายได้ และ ตายได้

เมื่อผู้พบทางรอดแห่งชีวิต เช่นนี้ ผู้นั้นเข้าสู่กระแส ที่จะเดินทาง ไปสู่พระนิพพาน ก็จะมุ่งมั่น เรียนรู้ และพยายาม ที่จะลดกิเลส ลดตัณหา รู้อย่างฉลาดว่า วันต่อวัน คืนต่อคืน ที่เรามีชีวิตอยู่ จะทำอย่างไร จึงจะเป็น ผู้เบิกบาน แจ่มใส

ความฉลาด ที่รู้ว่า ความหม่นหมอง ยึดถือ แม้แต่ ถือสา มนุษย์ด้วยกัน คนนั้น เขาไม่ดีต่อเรา คนนี้ เขาไม่ดีต่อเรา ไม่ดีด้วยเชิงนั้น ไม่ดีด้วยเชิงนี้ เราก็จะไม่จับมาคิด ใครไม่ดี ก็ความไม่ดีของเขา เขาจะแกล้งเรา เขาจะกดข่มเรา เราก็จะฝึกหัด ให้ทนได้ เพราะเราเคยทน ต่อความโง่ ของเราเอง ที่เราเคยเป็นทาสของ ลาภ ยศ สรรเสริญ และโลกียสุข ไม่ว่าจะเป็น ทางรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่หยาบต่ำ ชั้นอบายมุข ก็ตาม เราก็เคยโง่ เคยทนนัก ทนหนา อุตสาหะนักหนา มามากต่อมากแล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อรู้ตัว เมื่อเข้าใจดี ว่าเราอยู่กับสังคม เพื่อนฝูงนั้น ย่อมมีคนดี ย่อมมีคนไม่ดี ความไม่ดี ไม่ใช่ของเรา

แต่เราเอง ต่างหากเล่า ที่ไปยึดเอา ความไม่ดีนั้น มาถือสา แล้วเราก็เจ็บปวด แล้วเราก็ทุกข์ ทรมาน ความทุกข์นั้น คือความโง่ ความถือสานั้น คือความโง่ คนฉลาด จะเอาสิ่งที่ เป็นแบบฝึกหัด เป็นโจทย์เช่นนั้น ทำให้ตนเองแข็งแกร่ง วางได้ ปล่อยได้ ไม่ถือสาได้ เพราะเรา ไม่ใช่คนไม่ดี ความไม่ดี ไม่ใช่ของเรา คนอื่นเขาทำ เราชนะอย่างนี้ เรารู้เท่าทัน อย่างนี้ และ เราปลดปล่อย วางได้เช่นนี้ เราก็จะอยู่กับเพื่อน กับหมู่ฝูง ได้อย่างดี อย่างเบิกบาน แจ่มใส

คนโง่เท่านั้น จึงจะมีทุกข์ เพราะไปยึดเอาทุกข์ ที่ไม่ใช่ของเรา ไปยึดเอาความไม่ดี ที่ไม่ใช่ของเรา มาถือ มาแบก มาหาม ดังนั้น ผู้นั้น จึงไม่สามารถ ที่จะอยู่กับหมู่ กับฝูงได้ แม้ความทุกข์ ที่ตนเองโง่นั้น ก็ยังมองไม่ออก เพราะฉะนั้น

ผู้ฉลาด จึงจะรู้จัก ความทุกข์ที่ตน หาเหตุแห่งทุกข์ ให้กระจ่าง วิจัยให้เห็นตัวจริง เสร็จแล้ว ก็ฝึก มีวิธีการฝึกที่ตนเอง จะละจะปล่อย ได้จริงๆ จึงจะเป็นผู้ชนะ ชีวิตจึงจะเบิกบาน แจ่มใส และ จะพบทางรอด เป็นที่สุด

๓๑ มกราคม ๒๕๒๙


 

เกิด - ตาย เป็นธรรมดา

ชีวิตนั้น สั้นนัก ชีวิตนั้น ไม่สำคัญเลย แต่ในความเป็นชีวิตนั้น สำคัญมาก ชีวิตเดินไป สู่ความตาย แล้วก็จบ

แต่ในระยะที่ยังมีชีวิต ที่ยังเดินทางอยู่ ยังไม่ถึงจุดตายนั้น นั่นแหละ สำคัญมาก จะมีคุณค่า ประโยชน์ หรือ จะเป็นตัวอย่าง แห่งโทษภัย ของมนุษย์ อยู่ในช่วง ระยะนั้น เท่านั้น

ชีวิตเกิดแล้วก็ตาย ไม่ยาก ตายกันมา ก็มากแล้ว ชั่วแต่เกิดแล้วก็ตาย คำว่า "เกิด" กับคำว่า "ตาย" ไม่ใช่สิ่งที่ยิ่งใหญ่ ไม่ใช่สิ่งที่สำคัญ เป็นธรรมดาสามัญ แต่การยังชีวิตอยู่ ดำเนินชีวิตไป ให้เป็นสุคโต ให้เป็น สัมมัคคโต ให้เป็นชีวิต ที่ไปสู่ดี ไปสู่ทิศทางเจริญ เป็นตัวอย่าง ของความเจริญ เป็นพฤติกรรมมนุษย์ อันประเสริฐ สิ่งนี้ เป็นสิ่งยาก สิ่งนี้ เป็นสิ่งสำคัญ

ดังนั้น ผู้ที่เห็นความสำคัญ ของความเป็นชีวิต และ ผู้ที่เห็นว่า ชีวิตนั้น ไม่สำคัญเลย จะเกิด จะตายเมื่อใด ก็เป็นธรรมดา แต่การเป็นอยู่ ที่เราทั้งรู้ตัว ทุกลมหายใจ เข้า-ออก เวลากลืนกินชีวิต เวลากลืนกินสรรพสัตว์ ดังนั้น ผู้สำคัญ ในความเป็นชีวิต จะไม่ปล่อยเวลา ให้เลยไป ผ่านไป สู่ความไม่สำคัญ อย่างง่ายดาย แต่จะพยายาม ประคองทุกเสี้ยว แห่งเวลา ให้มันเป็นคุณค่า ให้มันเป็นประโยชน์ ให้มันนำพา สิ่งที่เรียกว่า กรรมของชีวิต วิบากของชีวิต ให้ดียิ่งขึ้น ให้เป็นกุศลที่สุด เท่าที่เรารู้ จุดมุ่งหมาย ว่าสูงที่สุด แห่งความเป็น มนุษยชาตินั้น จะประกอบ ไปด้วยกุศล และสูงไปสู่นิพพาน

กรรมวิธีที่จะสร้างกุศล และเดินทางไปสู่ นิพพานนั้น สมเด็จ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทานไว้แล้ว

ผู้ที่เห็นสิ่งที่ ยิ่งใหญ่นี้ และพยายาม ที่จะประกอบตน กระทำตนให้เป็น ผู้สมบูรณ์ไปด้วย กุศล พร้อมไปกับ การเดินทางไปสู่ จุดหมาย แห่งนิพพาน ได้นั้น

ผู้นั้น คือผู้รู้ความสำคัญ ในความสำคัญ และ ผู้รู้ความไม่สำคัญ ในความไม่สำคัญ ได้อย่างชัดแท้ ย่อมเป็นผู้ที่ จะประสบ ความประเสริฐ สูงสุด ได้โดยจริง

๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๙


 

หลักชีวิต

หากผู้ใดจะลอง พิจารณาดูชีวิต ชีวิตของบุคคล ผู้ไม่มีหลัก ของชีวิตเลย แต่ละวัน แต่ละคืน ผ่านไป ตามอำนาจ ของอารมณ์ ปรารถนาเช่นใด จะทำตน ปล่อยตน ให้มี ความโลภ ความโกรธ และ กระทำกรรม ไปตามอำนาจ ของอารมณ์ปรารถนา ตลอดชีวิต ของเขา ลองคิดดูเถิดว่า ชีวิตของเขา จะมีบาป และ มีความสั่งสม สิ่งที่ไม่น่าจะสั่งสม ไปสักปานใด แต่ชีวิตที่มีหลักของชีวิต ยิ่งอยู่กับ หมู่มิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี แต่ละวัน แต่ละคืน เช้าขึ้นมา ก็ได้เตรียมตัว ได้ศึกษา ได้เตรียมความเห็น ได้ซักซ้อม ความเห็นที่ถูกทาง และ ได้ถูกกำชับ ได้รับการเตือน ให้พยายาม ระวังความคิด ระวังวาจา ระวังการกระทำ ระวังชีวิต ทั้งชีวิต ที่เราจะกระทำ อะไรต่างๆ ประจำวัน ประจำคืน ด้วยความพยายาม ด้วยความมีสติ รู้ตัวทั่วพร้อม ให้วิจัยกรรม วิจัยอารมณ์ ปรับกรรม ปรับอารมณ์ สั่งสมลง เป็นสมาธิ อยู่เสมอ ๆ พร้อมกระนั้น เราก็จะมีญาณ มีปัญญา มีความรู้ มีความเห็นจริง ที่ลึกซึ้ง เห็นความจริง ที่เป็นกุศล ได้ตัดสิน ได้อบรม ได้ฝึกฝน กระทำตน มีวิมุติ สำหรับ คนที่ได้มีหลักชีวิต เช่นนี้ กระทำจริงๆ ย่อมเปรียบเทียบ กับมนุษย์ ผู้ที่ไม่มีหลักของชีวิต ดังกล่าวแต่ต้น ได้ชัดเจนว่า

มนุษย์ที่ไม่มี หลักชีวิตนั้น เกิดมาเสียทั้งชาติ ทั้งไม่มีทางเจริญ อย่างแน่ชัด แล้วนรก จะไม่เป็นของเขา ได้อย่างไร ส่วนมนุษย์ที่มี หลักชีวิต ดังกล่าวนั้น และได้เพียร กระทำตน อย่างแท้จริง เป็นมนุษย์ที่มีกำไร ปานใด ผู้พิจารณา ไม่ต้องมีปัญญาลึกซึ้ง อันใดเลย ก็ย่อมจะเห็น ได้ชัดว่า มนุษย์ที่มีหลักชีวิต และ มีมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี มีกิจวัตร อันพึงกระทำ ตั้งแต่เช้าจรดเย็น อยู่ในหลักแห่งกุศล ได้อบรมตน สู่กุศล ย่อมเป็น ที่หวังได้ แม้ไม่ถึงนิพพาน มนุษย์ผู้ที่มี หลักชีวิตเช่นนี้ ไปตลอดชีวิตนั้น ย่อมขึ้นสู่สวรรค์ อย่างแท้จริง

๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๙


 

มิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสไว้ว่า มิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดีนั้น เป็นทั้งสิ้นของ พรหมจรรย์ ซึ่งหมายความไปถึงว่า ถ้าผู้ใด มีมิตรดี มีสหายดี มีสังคมสิ่งแวดล้อมดี แล้วไซร้ ผู้นั้น ก็อยู่ในแวดวง ของความเป็นพรหมจรรย์ หรือ ความเป็นศาสนา หรือ ความเป็นอยู่สุข

ถ้าศาสนาที่สมบูรณ์ มิตรที่ดี เราก็เป็น มิตรที่ดีด้วย มิตรที่อยู่ร่วมกันนั้น ก็เป็นผู้ที่มี คุณงามความดี หรือ เป็นอริยบุคคลด้วย ก็เท่ากับว่า เราอยู่ในเมือง แห่งคนดี เราอยู่ในภูมิ หรือ แดนแห่งคนดี หรือ เราอยู่ในแดนอริยะ ถ้าดียิ่ง ก็เรียกได้ว่า เป็นแดนของ พระศรีอาริย์ นั่นเอง

ถ้าผู้ใด มีชีวิตอยู่ ในแวดวงของ มิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี หรือ ได้อยู่ในเมือง พระศรีอาริย์ ดังกล่าวนั้น ผู้ที่มีบุญดี ปานฉะนั้น จะไม่มีความสุข เชียวหรือ นอกจาก กิเลสของตนเอง เท่านั้น

ที่อยู่ในแวดวงของ มิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดีแล้ว ตนเองยังมีทุกข์ ก็เพราะ ตนเองเท่านั้น ที่ยังมีกิเลส จะโทษมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี ทำให้ตนทุกข์นั้น ย่อมไม่ได้ หรือ แม้ได้ ก็ไม่เป็นเหตุผลเพียงพอ ที่ตนเอง จะออกไปจาก มวลมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี หรือ มีเหตุผลอย่างไร ก็ไม่เพียงพอ ที่ผู้นั้นจะพึง ออกไปจาก แดนอริยภูมิ หรือ แดนพระศรีอาริย์ ที่มีคนดี มีอริยะ แม้แต่ต่ำ หรือกลาง หรือสูง ส่วนเฉลี่ยแล้ว จะมีผู้ที่มี อริยคุณอยู่ เป็นส่วนมาก ดังปานกล่าวนี้

ผู้ที่คิดออกไปจากแดน หรือ หมู่มิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดีนี้ จึงเรียกได้ว่า เป็นผู้ ยังโง่อยู่ ประตูเดียว

๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๙


 

คนมีงาน

ผู้ที่มีการงาน...
เป็นผู้มีศีล ไม่หย่อนยาน
เป็นผู้มีศีล จนเป็นฌาน
เป็นผู้มีศีล จนเกิดญาณ
เป็นผู้ไม่มีความรำคาญ
เป็นบุคคล ผู้เบิกบาน
คนสมบูรณ์ ด้วยการงาน
จึงจะเป็นผู้ถึง นิพพาน

๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๙


 

มุ่งมั่น และรอคอย

บุคคลผู้มีความมุ่งมั่น มีความพากเพียร ศึกษา มีสัมมาทิฏฐิ และ มีความพากเพียร มุ่งมั่น ในการปฏิบัติ ประพฤติ อยู่เรื่อยไป แม้ว่า จะยังไม่ประสบผล อันน่าพอใจ แต่ก็ยังมี การศึกษาอบรม ปฏิบัติตน ที่เห็นผล แม้น้อย เราก็พากเพียร ยิ่งรู้ตนว่า ตนนั้น ปฏิบัติ ได้น้อย ก็ยิ่งต้องอุตสาหะ วิริยะ เพราะการที่ตน อุตสาหะ วิริยะอยู่ แต่ตนได้ผลน้อยนั้น หากเป็น สัมมาทิฏฐิ จริงแล้วไซร้ ก็ยิ่งแสดงว่า เรานั้น เป็นผู้มีอินทรีย์ พละอ่อน สั่งสมบารมี มาน้อย ดังนั้น จึงต้อง เป็นผู้พากเพียร สั่งสมต่อไป รอคอย เพราะความจริงนั้น ย่อมเกิดตามเหตุ ตามปัจจัย

เมื่อเรามีทุนน้อย เราย่อมได้ผลตามน้อย และ มันย่อมทวีขึ้น มากขึ้นๆ ตามเหตุ ตามปัจจัย ที่เป็นทุน และ เป็นความสามารถที่จริง ผู้ได้มุ่งมั่นอยู่ พากเพียรอยู่ จึงเป็น ผู้มีหวัง ส่วนผู้ที่ จะเก่งกล้าสามารถ แต่ขาดความมุ่งมั่น ใจร้อน เปลี่ยนแปลง ไม่มีความอดทน รอคอยก็ไม่ได้ บุคคลเช่นนั้น จะเป็นบุคคลที่ ประสบผลสำเร็จ ไม่ได้เลย

ดังนั้น ผู้ใดที่รู้ว่า ความมุ่งมั่นคืออะไร และตนเอง ก็เป็นผู้มุ่งมั่น พากเพียรอยู่ และ เข้าใจคำว่า รอคอย ที่จะต้องถึงรอบ ถึงเหตุปัจจัยครบ ตามที่เรามี อินทรีย์พละ และ ตามที่เราได้ พากเพียรจริง ย่อมเป็น ผู้ไม่เกิด อารมณ์วิปริต เป็นผู้เข้าใจ ความจริง ตามความเป็นจริง จึงเป็นผู้สบาย และพร้อม ที่จะรอคอย กว่าจะประสบผล ผู้เป็นเช่นนั้น จึงเป็นผู้ที่ ทั้งเบิกบาน แจ่มใส สบาย และเป็นผู้มีหวัง ที่จะประสบผลสำเร็จ ในที่สุด

๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๙


 

คบหากับสัตบุรุษ

ข้าพเจ้า ไม่เชื่อว่า ผู้ที่ได้คบหากับสัตบุรุษ ผู้ที่ได้ฟังธรรม อยู่สม่ำเสมอ ผู้ที่ได้ไตร่ตรอง และขัดเกลา ปรับปรุงจิตใจอยู่ ผู้ได้ปฏิบัติธรรม ตามธรรม สมควรแก่ธรรม อย่างจริงจัง จะไม่เจริญ จะไม่ก้าวหน้า จะไม่เป็นคนประเสริฐ หรือ เป็นอริยะได้

แต่ข้าพเจ้า เชื่อว่า แม้รู้จักสัตบุรุษ แต่ไม่คบหา ไม่ศรัทธา ไม่เลื่อมใส ในสัตบุรุษ ไม่ฟังธรรม ไม่ขยันฟังธรรม ให้สม่ำเสมอ ไม่พิจารณาไตร่ตรอง ไม่พยายามปฏิบัติ ขัดเกลาจิตใจ ปรับปรุงจิตใจ ไม่ปฏิบัติธรรม ถูกธรรม ไม่ปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรม ย่อมเป็นผู้ที่ จะไม่เจริญ แน่นอนที่สุด

ดังนั้น ผู้ที่จะเจริญ หรือ มีวุฑฒิอยู่ เป็นผู้ที่รู้จักสัตบุรุษ เป็นผู้ที่ได้ คบหาสัตบุรุษ และ เป็นผู้ได้ฟังธรรม พากเพียรฟังธรรม สม่ำเสมอ เป็นผู้ที่ได้พยายาม พิจารณา ไตร่ตรอง กระทำจิตใจ ของตนเอง ขัดเกลากิเลสตน ประพฤติธรรม สมควร ถูกต้องตามธรรม ขยัน หมั่นเพียรอยู่จริง ย่อมเป็นผู้ที่ จะต้องเจริญจริง ตามที่พระบรมศาสดา ตรัสไว้แน่นอน นอกจากเสียว่า แม้ผู้นั้น จะอยู่ใกล้สัตบุรุษ ก็เหมือน ช้อนอยู่ในชามแกง ผู้นั้น แม้จะขยัน ฟังธรรม ก็ฟังอย่าง สีลัพพตปรามาส ฟังอย่าง ไม่รู้จักรับ หรือ รับก็มีกิเลสมาก อย่างน้อยที่สุด ก็มีกิเลส ง่วงเหงา หาวนอน หรือ รับได้ฟังได้ ก็ไม่นำไป พิจารณา ไตร่ตรอง ปรับตน ปรับตัว จนกระทั่ง ทำได้ถึงขั้น ปรับจิตใจ ไม่รู้จักขนาด ของธรรม ไม่รู้ตัวรู้ตน ปฏิบัติธรรม ไม่สม ไม่เหมาะกับตัวเอง

ผู้ที่เป็นดังกล่าวนั้น จึงจะไม่เจริญ หรือ แม้จะเจริญ ก็เจริญช้าเต็มที ธรรมดาบุคคล คงไม่มีผู้ใด ที่จะกระทำตน ให้เสื่อม หรือ ไม่ประสงค์ ความเจริญ เพราะฉะนั้น คนผู้ไม่เจริญ ก็คือ คนไม่ใส่ใจ ไม่พากเพียร ไม่เอาใจใส่ ในการกระทำ ความเจริญ คือ สร้างวุฒิ วุฒิ ให้แก่ตนเอง อยู่เพียงเท่านั้น

๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๙


 

การดำเนินไปอย่างดี

ผู้เข้าใจชีวิต และ เข้าใจวัฏสงสารดีแล้ว เมื่อได้มาพบ ทฤษฎีเอก ของพระสัมมา สัมพุทธเจ้า จะซาบซึ้งดี เมื่อเห็นแน่แท้ เป็นสัมมาทิฏฐิ หมดความสงสัย ในเรื่องของชีวิต หมดความสงสัย ในเรื่องของวัฏฏะ ผู้ที่เข้าใจอย่าง สัมมาทิฏฐิแล้ว จะเป็นผู้ที่มี สุคโต หรือ สุคติ เป็นผู้ดำเนินไป และ ดำเนินไปอย่างดี

การดำเนินไปอย่างดี ของผู้พ้นวิจิกิจฉา พ้นสงสัยในชีวิต พ้นสงสัย ในวัฏสงสารนั้น คือ ผู้ที่สำรวมความคิด ตามฐานะ ตามศีล ของตนๆ สำรวมวาจา สำรวมการกระทำ มีชีวิต อันประกอบไปด้วย การงาน เป็นสัมมาอาชีวะ พัฒนาสัมมาอาชีวะ และดำเนินไป เดินทางไปกับ การงานนั้นๆ มีความพยายาม มีสติ สร้างสรร ให้ตนตั้งมั่น แข็งแรง เป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นสัมมาสติ เป็นสัมมาสมาธิ อันสูง ยิ่งขึ้นๆ จะได้รับผล สัมมาญาณ และสัมมาวิมุติ สืบต่อไปเรื่อย ๆ เดินทางอย่างมาก ก็เจ็ดชาติ จะเป็น ผู้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ เป็นผู้ถึงที่สุด แห่งชีวิต และเป็นผู้ถึงที่สุด แห่งวัฏสงสารได้

ดังนั้น ผู้มีสัมมาทิฎฐิ ผู้มีสุคโต อันจริงแท้ จึงไม่ประหลาดเลย ในการมีชีวิตอยู่ แล้วก็ สร้างสรร ทำงานการไป อย่างเบิกบาน แจ่มใส เป็นผู้ขยัน หมั่นเพียรมาก ก็จะลัดทาง วัฏสงสารได้เร็ว เป็นผู้ที่ขยันน้อย ก็จะเดินทางไป อย่างช้า แต่ก็มีขอบเขต ที่จะไม่ช้าเกิน หากผู้นั้น มีสัมมาทิฏฐิ และพ้นวิจิกิจฉา อย่างแน่แท้แล้ว นอกจากแต่ว่า ผู้ที่เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง ชัดในทฤษฎี มรรคองค์แปดบ้าง หรือ ไม่ชัดบ้าง ยังไม่พ้นวิจิกิจฉา อยู่จริง เท่านั้น ที่จะเป็น ผู้ยังไม่มีหวัง เพราะสังโยชน์สาม วิจิกิจฉา ไม่ชัดแจ้งจริง ในทฤษฎีเอก ที่เป็นสิ่งที่ พระพุทธเจ้าเท่านั้น ที่จะตรัสรู้ได้ คือทางเดิน ที่จะประกอบด้วย มรรค องค์แปด อันเป็นความประเสริฐ ของมนุษย์ ที่มีทั้งความเจริญ ประโยชน์ตน และ ความเจริญ ประโยชน์ท่าน เหนือกว่ามนุษย์ธรรมดา ต่างจากทฤษฎี ผู้หลีกเร้น และจรจัด อย่างชัดเจน

ดังนั้น ผู้ที่พ้นสังโยชน์สาม เข้าใจในชีวิตตัวตน รู้จักทุกข์ รู้จักเหตุแห่งทุกข์ รู้จักความดับทุกข์ ตามทฤษฎีของ พระพุทธเจ้า และ เดินทาง มรรคองค์แปด ถูกทาง อย่างไม่มีวิจิกิจฉา ชีวิตจึงดำเนินไป วันต่อวัน ด้วยการงาน ที่เป็นประโยชน์ท่านในโลก และ ตนก็ได้อาศัย การงาน เป็นความประเสริฐ ของชีวิต

ชีวิตยิ่งทำงาน ไม่เป็นทาสโลกธรรม ยิ่งเป็นการงาน ที่เป็นบุญ เป็นการงาน ที่เป็นคุณค่า เป็นการงาน ที่ไม่หนักหนา เหน็ดเหนื่อย เพราะไม่ต้องกังวล ในเรื่องของโลกธรรมแล้ว ยิ่งปฏิบัติการละ ลด ปลด ปล่อย เรื่องโลกธรรม ก็จะเพิ่มขึ้นๆ ยิ่งทำงาน ได้มากขึ้น ยิ่งเป็นผู้เบาใจ วางใจ และ เป็นผู้มีความเบิกบาน ร่าเริง อิ่มใจ ในการมีชีวิต ที่มีคุณค่า มีประโยชน์ ทั้งตนเอง และ เผื่อแผ่แด่ผู้อื่น ยิ่งขึ้นๆ เป็นคุณค่าประโยชน์ ที่เห็นได้ชัด เป็นคุณค่าประโยชน์ ที่นำผู้อื่น เป็นตัวอย่าง แก่ผู้อื่น สังคม ประเทศชาติ

เมื่อได้รับตัวอย่างอันดี พบคนประเสริฐจริง ที่ไม่ได้เป็นทาส โลกธรรม แต่เป็น โลกุตรบุคคล ดังกล่าวนี้ จึงเป็นสังคม ที่จะพ้นความทุกข์ พ้นความทรมานได้ เป็นเมืองที่ดี ที่มีเมตตา อันชื่อว่า

เมืองศรีอาริยเมตไตรย ได้ด้วยประการ ฉะนี้

๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๙


 

มนุษย์ที่ขาดทุนมหาศาล

ชีวิตมนุษย์ ที่มีโลกธรรม เป็นสิ่งมุ่งหมาย ตลอดระยะเวลา ได้แต่ตะเกียก ตะกาย ใฝ่ปรารถนา และ ค้นคว้า ไขว่คว้า แสวงหา กอบโกย เอาเปรียบ ทั้งลาภ และยศ สรรเสริญ สั่งสมโลกียสุข ให้ทับถม จิตวิญญาณ ติดแน่น ในรส ในรูป ในกลิ่น ในเสียง ในสัมผัส ใส่จิตวิญญาณ ตลอดเวลา

ชีวิตมนุษย์ ที่วนเวียน แล้วๆ เล่าๆ อยู่อย่างนั้น จิต วิญญาณ สั่งสมแต่กิเลส สั่งสมแต่บาป หนี้ เวร เพราะความไม่รู้จัก ความไม่เรียนธรรมะ เวรย่อมเป็นเวร หนี้ ย่อมเป็นหนี้ บาปภัย ย่อมเป็นบาปภัย

มนุษย์ที่ไม่ได้ศึกษาธรรมะ โดยเฉพาะ ธรรมะที่เป็นโลกุตระ เป็นมนุษย์ ที่ขาดทุนมหาศาล ตื่นเช้า เขาก็เฝ้าแต่อยาก ต้องการ แล้วก็ไขว่คว้า แสวงหา กอบโกย ตะกละ ตะกลาม นึกว่าได้กำไร ที่ได้โลกียสุข มาเสพย์ซ้ำ เสพย์สม ให้จิตวิญญาณหนา เป็นปุถุ แน่นเหนียว เป็นกิเลส ตัณหา วันแล้ววันเล่า เขาขาดทุนปานใด เขาเสียท่า เขาไม่รู้ตัว แต่เขาก็กระทำ อยู่อย่างนั้น วันแล้ววันเล่า ตายไปแล้ว ไม่รู้เท่าไหร่ๆ เสียชาติเกิด ที่ไม่พบธรรมะ ทั้งๆที่เกิดมา ชื่อว่า พุทธศาสนิกชน เสียชาติเกิด ที่เกิดมา มันน่าสมน้ำหน้า มากมาย นอกจาก ไม่พบธรรมะแล้ว ยังแถม ทำให้จิตวิญญาณ หนาแน่นด้วยกิเลส ตัณหา อุปาทาน หลากหลาย มากมาย เข้าไปอีก ถ้าเขารู้ เขาจะสมน้ำหน้า ตัวเอง ปานใด

ผู้ที่มีโอกาส ได้มาพบพระธรรม ได้รู้จักโลกุตรธรรม มีมรรคองค์แปด ประจำชีวิต ตื่นเช้า ก็ได้ฟังธรรม ได้ตั้งจิต ตั้งใจที่ดี ได้รับการเตือนติง วันเวลา ก็มีสติ ได้สังวร ระวังตน ระมัด ระวังกรรม สั่งสมความดี ล้างกิเลส อันเป็นยางเหนียว พยายามสร้างกุศล อันเป็นบุญ สร้างกุศล อันเป็นทรัพย์

ชีวิต ได้รับประโยชน์คุณค่า และ ชีวิต ก็เป็นประโยชน์คุณค่า แก่มนุษยโลก เป็นกำไร อันเป็น กำไรอริยะ มนุษย์ที่รู้จัก หลักของชีวิต สังวรตนไป วันต่อวัน วันแล้ววันเล่า รู้ว่า บาป หนี้ เวร คืออะไร ละเว้น มีสติ รู้ตัว ให้มากที่สุด ที่จะพราก จาก ห่าง ในการไม่สร้างบาป หนี้เวร ให้แก่ตน มนุษย์ผู้เป็นเช่นนี้ ย่อมมีกำไร ย่อมมีประโยชน์ คุณค่า ทั้งตน และผู้อื่น อย่างเทียบกันไม่ได้

มาเถิด ท่านทั้งหลายเอย พระพุทธเจ้า ได้เตือนเรา ได้บอกเรา ชี้ทางให้แก่เราแล้ว ท่านยัง จะงมงาย อันใดอยู่อีก ชีวิตของคน ผู้ไม่รู้ธรรมะเลย ดังกล่าวแล้ว มีชีวิตเกิดมา สูญเปล่า ซ้ำมิหนำ ยังสร้างหนี้ สร้างเวร ให้แก่ตน ดังที่ได้ชี้ไปแล้วนั้น เป็นคนที่น่าสงสาร ปานใด ท่านทั้งหลาย เคยหลง เคยไม่เข้าใจ เคยปล่อยชีวิต ให้สร้างหนี้ สร้างเวร สร้างบาป สร้างภัย ให้แก่ตนมาแล้ว ตั้งแต่รู้จริง เข้าใจจริง ตั้งแต่บัดนี้ เป็นต้นไป ท่านยังจะสร้างหนี้ สร้างบาป สร้างเวร สร้างภัย ให้แก่ตนเอง ต่อไปอีกหรือ หรือว่า ท่านจะเป็นคนมีสติ สังวรตน วันต่อวัน พยายามสร้างบุญ สร้างคุณค่า ประโยชน์ ทำกำไรอริยะ ให้แก่ชีวิต ซึ่งเป็นของเรา เราเป็นผู้กำหนด เราเป็นผู้กระทำ กรรมเป็นของของตน เราเป็นทายาท ของกรรม

ถ้าเรากระทำสิ่งดี สิ่งกุศล สิ่งประเสริฐ สิ่งนั้นย่อมเกิดที่ตน แต่ถ้าเราไม่ทำ เราก็ไม่ได้ ดังนั้น ผู้ตื่นแล้ว ผู้แจ้งแล้ว ก็เพียรพยายามเถิด เพื่อตน ซึ่งเป็นสิ่งเดียวกันกับ เพื่อผู้อื่น

๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๙


 

ชีวิตมีคุณค่า

เกิดมา ได้ชีวิตเป็นมนุษย์ มีชีวิตแม้ร้อยปี แต่เปล่าดาย ผ่านวัน ผ่านคืนไป เปล่าประโยชน์ อะไร

ยิ่งมีชีวิตแล้ว กลับทำชั่ว ทำตัวอย่างอันเลวทราม ก่อบาป สร้างหนี้ ให้แก่ชีวิต อย่างโมหะ อย่างไม่รู้ดี รู้ชั่วที่แท้ อย่างหลงผิด เอาเปรียบเอารัด เสพย์โลกียสุข อันมีแต่ จะทำให้กิเลสหนา ตัณหาหยาบ เสริมหนุนเข้าไป ตลอดชาติ ตลอดชีวิต ก็ยิ่งร้ายใหญ่ นอกจาก หาประโยชน์ มิได้แล้ว ยังขาดทุนป่นปี้

ดังนั้น เกิดมา มีชีวิตเป็นมนุษย์ แม้มีชีวิตวันเดียว หากได้ประพฤติ ปฏิบัติ ให้ชีวิต มีคุณค่า ให้ชีวิตมีประโยชน์ ให้ชีวิตได้ละล้าง กิเลส ก่อบุญ กระทำตน ให้เป็นผู้ที่กำไร อย่างอริยะ แท้จริง ได้ประโยชน์กว่า นักหนา ที่ได้เกิดมา จงทำตนให้มีชีวิต เหมือนต้นไม้ นั่นเถิด มีแต่สร้างสรร ไม่ได้ไประราน ทำร้าย ผู้ใดในโลก ไม่ได้เอาเปรียบใคร มีชีวิต เกิดมาแล้ว ก็เลี้ยงตน แสวงหาอาหาร พยายามประคองชีวิต ให้เติบโต เติบใหญ่ สร้างพลัง ให้แข็งแรง สร้างตนให้เจริญ ทั้งกิ่งก้าน ลำต้น ใบ ดอก และผล สัตว์มนุษย์ จะได้ประโยชน์ จากต้นไม้ แม้ดอก ผล กิ่ง ใบ ลำต้น กระทั่ง ถึงราก นั่นเป็นประโยชน์ ที่ต้นไม้จะพึงเป็น

เมื่อมีชีวิต เกิดมาในโลก อย่าทำตนเหมือนสัตว์ ที่ได้แต่เบียดเบียน แก่งแย่ง ทะเลาะกัน ทำร้ายกัน ต่อสู้กัน กินแล้วก็เสพย์ ระเริง ไปตามอารมณ์ ของกิเลส เหมือนสัตว์เดรัจฉาน จงทำตน เป็นชีวิตเหมือนต้นไม้ ที่มีคุณค่าให้แก่โลก ดังกล่าวนั้น ชีวิตมนุษย์ เกิดมา ไม่มีค่าอะไรเลย ถ้าหากจะมีชีวิต อย่างสัตว์ ดังกล่าวแล้วนั้น เช่นกัน แต่หากเป็นผู้ที่ ยิ่งมีปัญญา ยิ่งกว่าต้นไม้ แต่สร้างสรร เผื่อแผ่ เกื้อกูลผู้อื่น ยิ่งกว่าต้นไม้ มีความคิด ที่เจริญ ยิ่งกว่าต้นไม้ จึงสามารถ ที่จะเป็นผู้ประเสริฐ เป็นทรัพยากร อันประเสริฐ ของโลก ได้ยิ่งกว่านั้น ประเสริฐอะไร ถ้าจะมีชีวิตขึ้นมา เลวยิ่งกว่าสัตว์ เลวยิ่งกว่าต้นไม้

ถ้าเราเกิดมา มีชีวิตดีกว่าสัตว์ ดีกว่าต้นไม้ และ ดียิ่งกว่ามนุษย์ ที่ควรจะเป็น เป็นมนุษย์ประเสริฐ ที่รู้ดี ได้ศึกษาดี จากปราชญ์เอก บรมศาสดาเอก เรามีชีวิต แม้วันเดียว จึงประเสริฐเหลือล้น ดังได้กล่าวมาแล้ว

๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๙


 

กว่าจะได้เกิดมาเป็นมนุษย์

ชีวิตหนึ่งนี้ น้อยนัก ชีวิตหนึ่งนั้น สั้นนัก หากชีวิตเกิดมา เพื่อที่จะสร้างสรร สิ่งที่ควรได้ ควรมี ให้แก่ชีวิตนั้น น้อยจริงๆ สั้นจริงๆ สะสมบุญ กุศล และสิ่งที่ เป็นคุณค่า ประโยชน์ แก่คำว่า ชีวิตประเสริฐ หรือ ความเป็นมนุสโสนั้น สั้นจริงๆ และ น้อยเหลือเกิน

แต่ชีวิต ที่ไม่รู้จักทางเดิน ชีวิตที่มืดมน ชีวิตที่เป็นไป ตามโลกียะ มอมเมานั้น แม้จะน้อย แม้จะสั้น ทว่า ตักตวงเอาบาป ตักตวงเอาอกุศล สร้างสิ่งที่จะเป็น เชื้อทุกข์ ให้แก่ตน ต้องวนเวียน อยู่ในวัฏสงสารนั้น ได้มากกว่ามาก เพราะอวิชชา โมหะ ความรู้ที่ผิด ความหลง ความไม่รู้จัก ทางประเสริฐเลย

ดังนั้น คนที่ได้เกิดมาเป็นชีวิต พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้ตรัสว่า ผู้เกิดมา เป็นเทวดาก็ดี ผู้ได้เกิดมา เป็นมนุษย์ ร่างของมนุษย์ก็ดี ตายจากชาตินั้นแล้ว ที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ หรือ ได้ร่างของมนุษย์ อีกนั้น หาได้ยากมาก ส่วนมาก ตกนรก คำตรัสของ พระสัมมา สัมพุทธเจ้า เป็นคำจริง เป็นสัจจะ ที่หยั่งรู้ชีวิตมนุษย์ สัตวโลก อย่างถ่องแท้ ท่านไม่ได้ ตรัสขู่ ไม่ได้ตรัสอย่าง เป็นสิ่งที่ ไม่มีความจริง แต่ท่านตรัส ความจริง ที่จริงแท้

ผู้ที่รู้ความจริงแท้เท่านั้น จะเห็นชัดเจน จะเห็นจริงๆๆ ว่า ชีวิตหนึ่งของคน ที่ได้ร่าง ของมนุษย์ หรือ ร่างของคน เกิดมานั้น ถ้าไม่ได้รับความรู้ ไม่ได้มีทางเดิน ครรลองอันเป็น สัมมาอริยมรรค แล้ว ชีวิตนั้น ตักตวงแต่บาป ตักตวงแต่อกุศล ใส่ตนๆ โดยไม่รู้ตนจริงๆ ดังนั้น คำตรัสนั้น จึงเป็นคำตรัส ที่ถูกต้อง จริงแท้ที่สุด

ผู้รู้แล้ว จะหวาดเสียว จะขนพองสยองเกล้า สำหรับ ความโง่ของมนุษย์ ที่ได้ร่างมนุษย์ แต่ไม่มีความรู้อย่าง มนุสโส หรือ ผู้มีจิตสูง ผู้มีจิตประเสริฐ อาศัยร่างมนุษย์ เท่านั้น อาศัยมันสมอง อวัยวะ ความเป็นมนุษย์ ที่ทำงานได้สูง ทำงานได้ลึกกว้าง แต่ทว่า เป็นความสูง ความลึกกว้าง ที่ตักตวงบาปภัย ให้แก่ตนมหาศาล เป็นชีวิตที่ น่ากลัวที่สุด

ผู้ที่ได้เห็นทาง ผู้ที่รู้จักทาง ถ้ายังไม่ขวนขวาย ปล่อยตัวปล่อยตน ก็ย่อม จะต้องเป็น ผู้ที่ตักตวงเอา บาปภัย ดังที่กล่าวนั้น อยู่อย่างแท้จริง การตักตวงเอาบุญ เอากุศลนั้น ได้ยาก

ดังนั้น ชีวิตนี้หนึ่งนั้น จึงสั้นนัก ชีวิตนี้หนึ่งนั้น จึงน้อยนัก อย่าประมาท อย่าผัดผ่อนกันเลย สำหรับผู้ที่รู้ทาง .เห็นทางกันแล้ว

จงตั้งใจอดทน ฝึกฝน ตั้งหน้า ตั้งตนตักตวง หรือ สั่งสมอบรม เอากุศล เอาบุญ ให้ได้เถิด วิบากกรรม ของแต่ละคน ไม่แน่เลยว่า ชาติหน้า เราจะได้เกิด มาเป็นมนุษย์ ดังที่พระสัมมา สัมพุทธเจ้า ท่านตรัส เอาไว้นั้น อีกหรือไม่

๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๙ 


 

จงเพียรเถิด

ชีวิตหนึ่ง นี้นั้น น้อยนัก ชีวิตหนึ่ง นี้นั้น สั้นนัก ผู้ที่มีโอกาสดี ได้ศึกษา ได้รับรู้ คำสอน ที่พระบรมศาสดา สัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ซาบซึ้ง ในคำว่า ชีวิต นั้นก็เท่านั้น และ มันไม่มี ความสำคัญ อะไรมาก ที่จะประคบประหงมมัน ชีวิตที่มืดบอด เต็มไปด้วย ความบำเรอ บำรุง ระเริงไปตาม อำนาจของโลกียะ เมื่อได้มาชัดเจน แจ่มแจ้งว่า ชีวิตนั้น เลี้ยงมันไว้ ได้ง่ายๆ ไม่ยาก ไม่ลำบากเลย และ ยิ่งมาชัดเจนว่า ในจิตวิญญาณนั้น มันไม่สะอาดเลย มันมีกิเลส เป็นเจ้าเรือน ลดก็ยาก ล้างก็ยาก และ เพราะกิเลส ตัณหา อุปาทานนี้ นั่นเอง ที่มันทำให้ ชีวิตของเรา ยากลำบาก หนักหนา สากรรจ์ เป็นภาระ ที่สำคัญที่สุด คือ ไม่ประเสริฐเลย ไม่มีคุณค่าเลย วันเวลา ที่มืดบอด ผ่านไป ด้วยความสร้างหนี้ ด้วยความ งมงาย สร้างบาป สร้างภัย ให้ทั้งตน และผู้อื่น มานานับชาติ

ดังนั้น ผู้รู้สูตร หรือ ทฤษฎีอันยิ่งใหญ่ ที่พระบรมศาสดา ได้ค้นพบแล้ว นำมาปฏิบัติ ประพฤติ จนเห็นคุณ แม้เบื้องต้น เห็นความเจริญ ของตนเอง รู้ว่าตนเอง มีปัญญาที่แท้ เข้าใจชีวิต ที่ชัดเจน หลุดพ้นจาก ความงมงายมาได้ เบื้องต้นก็ดี เบื้องกลางก็ดี แม้ที่สุด ผู้ที่ยัง ไม่ถึงที่สุด ก็จะพากเพียร ก็จะพยายาม ผู้ที่ยังไม่เอาจริงนั้น คือ ผู้ที่ยังมีกิเลส อุปาทาน อยู่ในจิตใจ หนาแน่น

ดังนั้น ผู้ใดยิ่งไม่ประสงค์ จะเอาจริง ยิ่งไม่พยายาม พากเพียร ที่จะปฏิบัติ เพื่อเป็น คนประเสริฐ เป็นคนพ้นทุกข์ เป็นคนไม่สร้างหนี้ เป็นคนไม่สร้างบาป สร้างภัยอีกนั้น ก็จงรู้เถิดว่า เราเป็นบุคคล ที่หนาไปด้วย กิเลส ตัณหา อุปาทาน ก็ยิ่งจะต้อง ตั้งใจให้ดี พากเพียร ละ ล้างกิเลส ตัณหา อุปาทานนั้นๆ ของตนออก ให้ได้

กิเลส ตัณหา อุปาทาน จะไม่มีวันจางคลาย ออกไปเองเลย นอกเสียจากว่า เราเท่านั้น จะต้องตั้งใจ จะต้องอุตสาหะ พยายาม

ยิ่งเราไม่ทำ นั่นแหละ เรายิ่งจะต้องทำ ยิ่งเราไม่อยากปฏิบัติ นั่นแหละ เราจะต้องยิ่ง อยากปฏิบัติ มันยิ่งขี้เกียจ ที่จะปฏิบัติธรรม เราต้องสำนึก ที่สุดเลยว่า เราจำเป็น ที่จะต้อง อยากปฏิบัติ พยายามปฏิบัติ อุตสาหะปฏิบัติ กิเลสกับความเจริญนั้น มันสวนทางกัน อย่างยิ่ง

เมื่อใด ผู้ใด รู้สึกตัวว่า เราพ่ายแพ้ต่อกิเลส เมื่อนั้น จงตั้งใจทันที สำเหนียก ทันทีว่า เรายิ่ง จะต้องจัดการกับ เจ้ากิเลสนั้น ทันที สวนกลับกัน อย่างแรง เพราะกิเลส มันพาเราต่ำเสมอ ผู้มีมาก มันยิ่งจะขี้เกียจ จะปฏิบัติมาก แม้ผู้มีน้อย ประมาทไม่ได้เลย เพราะกิเลสนั้น มันก็ลึกซึ้ง และมันก็ฉลาด มันจึงครอบมนุษย์ ไว้ได้มาก ที่สุดในโลก ขณะนี้ ประมาทไม่ได้เลย

ผู้หวังประโยชน์ อันสูงสุด จงเพียรเถิด ความเพียรเท่านั้น ที่จะพา ท่านทั้งหลาย ไปสู่ผลสำเร็จ

๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๙ 


คาถาธรรม ๑๔ / คาถาธรรม ๑๕ / คาถาธรรม ๑๖