ศาสนธรรมจะเป็นมโนธรรมของสังคม
ในภาวะปัจจุบันได้อย่างไร
- ส.ศิวรักษ์ -
(ต่อจากฉบับที่ ๑๔๘)
แต่สิ่งซึ่งผู้นำทางศาสนาและในทางวิทยาการไม่ตระหนัก
คือสิ่งซึ่งกาลิเลโอนำมาสอนนั้น ก็คือดวงดาวต่างๆ รวมทั้งดวงอาทิตย์และดวงจันทร์
ล้วนเป็นวัตถุ แม้จนโลก ที่เราอาศัยอยู่นี้ ก็เป็นวัตถุ เพื่อให้เรานำเอาทรัพยากรมาใช้ได้ในนามของคำว่าพัฒนา
แม้จนมนุษย์เอง ก็ประกอบไปด้วยอวัยวะ ซึ่งเป็นดังวัตถุ โดยที่วิชาแพทย์ศาสตร์
ก็แก้ไขเยียวยามนุษย์ ดุจดังวิศวกรแก้ไขเครื่องยนตร์กลไกฉะนั้น
ถ้าเราไม่อาจท้าทายแนวคิดกระแสนี้
พระเยซูก็เป็นเพียงคนดีที่น่ารัก ที่อยู่ข้างคนยากไร้ เท่านั้นเอง
ความเป็นพระบุตร และความเป็นพระมหาไถ่ ไม่ได้ตั้งอยู่บนเหตุผล และ
การพิสูจน์ของ นักวิทยาศาสตร์กระแสหลัก ดังนรกสวรรค์ ก็ไม่ได้ตั้งอยู่บนบทพิสูจน์
ของนักวิทยาศาสตร์ แล้วพื้นพิภพนี้เล่า ไม่มีชีวิตดอกหรือ ต้นไม้ แม่น้ำ
ภูเขา ไม่มีชีวิตดอกหรือ โดยที่การแสวงหาความจริง ทางด้านนี้ จำต้องใช้วิทยาศาสตร์
ทางศาสนา และนามธรรม ซึ่งในทางพุทธศาสนาเรียกว่า จิตสิกขา หรือในทางคริสตศาสนา
เรียกว่าการภาวนา ให้เข้าถึง องค์พระผู้สร้าง ดังนักบุญฟรานซิส แห่งอัสซิสซี
พูดได้จากประสบการณ์ ของพระคุณท่าน ว่าพระอาทิตย์ พระจันทร์และลม ก็เป็นญาติของท่าน
ดังท่านพร้อมที่จะเทศนา สั่งสอนนก และสัตว์ป่า ซึ่งก็แทบไม่ต่างไปจาก
สมเด็จพระสังฆราชไก่เถื่อน หรือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ของเรา โดยที่บัดนี้
องค์ทะไลลามะ ทรงสนทนาวิสาสะ กับนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำ ทุกปีมา ๕ ปีเข้านี่แล้ว
จนเกิด The Science of Mind ซึ่งแตกต่างไปจาก The Science of Matter
โดยที่นักวิทยาศาสตร์ ชั้นนำหลายคน เริ่มมีความอ่อนน้อมถ่อมตนยิ่งๆ
ขึ้น ยอมรับข้อจำกัด ของวิทยาศาสตร์กระแสหลัก โดยที่พวกเรา ในทางศาสนา
จะปล่อยวิทยาการ ที่สำคัญยิ่งนี้ไว้ แต่ในมือนักวิทยาศาสตร์กระแสหลัก
ไม่ได้ฉันใด เราก็ไม่อาจปล่อย การปกครองบ้านเมือง หรือ ระบบเศรษฐกิจ
พาณิชยกรรม ไว้ในมือนักการเมือง และนักการค้าไม่ได้ฉันนั้น ไม่ว่านั่นจะเป็น
ไทยรักไทย ชินวัตร หรือเจริญโภคภัณฑ์ โยงใยไปอย่างไร กับบรรษัทข้ามชาติอื่นๆ
รวมถึง IMF World และ WTO
(๒) นอกจากผู้นำทางศาสนาจะต้องแสวงหาทิศทางของวิทยาศาสตร์
ที่โยงมาถึง ศาสนธรรม และนามธรรม ตลอดจนศีลธรรม และ คุณธรรมแล้ว เราจึงต้องตั้งคำถามอย่างจังๆ
กับ เทคโนโลยี ร่วมสมัยอีกด้วย โดยที่คนทั่วๆ ไป มักเข้าใจว่า เทคโนโลยี
มีความเป็นกลาง ถ้าใช้ให้ดีๆ ก็มีคุณ ถ้าใช้ไม่ถูกต้องก็เป็นโทษ ทั้งๆ
ที่นี่คือสมมติฐานที่ผิด เพราะโดยสภาพ ของมัน อันต้องลงทุนยิ่งๆ ขึ้น
ผลของเทคโนโลยี จึงรับใช้คนรวย และคนมีอำนาจ หรือ อภิมหาอำนาจ กับบรรษัทข้ามชาติ
ยิ่งกว่าที่จะเอื้อ อำนวยประโยชน์ แก่คนเล็กคนน้อย คนยากจน ยิ่งความคิดพื้นฐาน
ทางเทคโนโลยีด้วยแล้ว ถือว่าจะเอาชนะ ธรรมชาติให้ได้ ไม่ว่าจะเขื่อน
เรื่อยไปจน การผสมพันธุ์เทียม ของสัตว์และพืช ตลอดจน การสร้างคนขึ้นมาได้
โดยอาศัย วิทยาการดังกล่าว แล้วเรายังไม่เห็นโทษ ของมันกันอีกหรือ
การเห็นโทษเท่านั้นไม่พอ
เราต้องมีข้อมูลและสถิติประกอบ ตลอดจนออกไป สัมผัสกับผู้ยากไร้ ที่โดนผลกระทบ
จากเทคโนโลยีด้วย มิไยต้องเอ่ยว่า ผลผลิตของเทคโนโลยีเวลานี้ ส่วนใหญ่
เป็นไป ในทางยุทธปัจจัย ซึ่งมีไว้เพื่อพิฆาตฆ่ามนุษย์ หรือรับใช้มนุษย์
เรามีจรวด ขีปนาวิถี เท่าไร ระเบิดไฮโดรเจนเท่าไร ซึ่งทำลายล้าง โลกได้ง่ายๆ
อย่างไร แม้จะยังไม่ทำลาย ล้างโลก งบประมาณ ที่ใช้ไปกับ การสร้างอาวุธ
และผลิตอาวุธ ถ้าเอามาใช้กับการเยียวยา รักษาโรค และ ป้องกันโรค ตลอดจนเอามา
จัดการศึกษา ขั้นมูลฐาน และ ใช้สงเคราะห์ทารก และเยาวชน คนพิการ คนชรา
จะไม่ได้ผลกว่าละหรือ ในขณะที่บัดนี้ คนจะว่างงานยิ่งขึ้น คนจะอดอยาก
ยากไร้มากขึ้น โอกาสของคนรุ่นใหม่ นับวันจะน้อยลงไปทุกที ทั้งนี้ผลโยงไปถึง
เทคโนโลยีทั้งสิ้น ถ้านักการศาสนา ตีประเด็นพวกนี้ อย่างไม่เห็น ถึงการโยงใยกัน
เพื่อนำมา แก้ปัญหา เราจะปลุกมโนธรรมสำนึก ของคนร่วมสมัยได้อย่างไร
แม้เทคโนโลยีการแพทย์จะช่วยชีวิตคน
ก็เป็นไปเพื่อคนรวย ยิ่งกว่าคนจน โดยที่บรรษัท และ พ่อค้าพวกนี้ ได้กำไรมหาศาลขนาดไหน
นายแพทย์ส่วนใหญ่ ถูกบรรษัทพวกนี้ สะกดได้อย่างไร และ การต่อชีวิตคน
ด้วยสายระโยง ระยางต่างๆ นั้น นอกจาก จะเอาเปรียบ คนยากไร้แล้ว การทำเช่นนั้น
ขัดต่อศาสนธรรมไหม
ที่ร้ายก็คือ เทคโนโลยีที่นำมาใช้ในการสื่อสารมวลชน
ซึ่งถูกบรรษัทข้ามชาติ ควบคุมไว้ได้ ด้วยอำนาจ และเงินตรา สื่อนั้นๆ
จึงมอมเมาผู้คน ให้ชอบความรุนแรง ให้ชอบความโลภ และ ราคะจริต แม้จนติดอยู่ในความเท็จ
ซึ่งมีผลมาจาก การโฆษณาสินค้า อันชาญฉลาดต่างๆ ในขณะที่ ทางการศาสนา
แทบไม่ตระหนัก ถึงโทษในทางนี้ ถ้าไม่ปล่อยอย่างเอาหูไปนา เอาตาไปไร่
ศาสนจักร ก็ใช้สื่อปลุกปั่น ให้คนหันมานับถือ ลัทธิศาสนาของตน มอมเมาคน
ให้ใช้จ่ายเงิน ไปในทางที่เรียกว่า บุญกุศล ซึ่งมักเป็นไปในทาง สร้างถาวรวัตถุ
หรือ สิ่งเกิน ความจำเป็นต่างๆ เสียแหละมากกว่าอะไรอื่น ทั้งศาสนวัตถุ
ที่สร้าง ใหม่ๆ ก็มักไม่งดงาม ไม่บรรสาน สอดคล้องกับธรรมชาติ อย่างปราศจาก
สุนทรียะอีกด้วย
ถ้าผู้นำทางศาสนา
ไม่คิดกั้นให้ชัด ถึงเทคโนโลยีที่เหมาะสม และ หาทางผลิต สื่อทางเลือก
ที่ออกสู่ มหาชนได้ โดยมีศาสนธรรม เป็นตัวนำ เราจะปลุกมโนธรรมสำนึก
ของคนร่วมสมัย ไม่ได้เอาเลย
อ่านต่อฉบับหน้า
(เราคิดอะไร
ฉบับที่ ๑๔๙ ธันวาคม ๒๕๔๕)
|