หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

 

สีสันชีวิต ทีม สมอ.

กิติกร มีทรัพย์นักจิตวิทยาชื่อดัง



นักจิตวิทยาใครว่าไม่สำคัญ เมื่อปัญหาทางจิตเป็นตัวบ่อนทำลาย ความสุขของชีวิตเกือบทั้งหมด ~

ประวัติ นามจริง นายกิติกร มีทรัพย์ เกิด ๑๘ พฤษภาคม ๒๔๘๔ ชาวลพบุรี บิดา-มารดา นายจั่น นางเช้า(ขวัญสำราญ)มีทรัพย์ สมรส คุณวรนุช เหล่าถาวร มีบุตร ๒ คน

การศึกษา -การศึกษาบัณฑิต วิทยาลัยวิชาการศึกษาบางแสน ชลบุรี (๒๕๐๘) -จิตวิทยาคลีนิค ระดับปริญญาโท (ด้วยทุนดานีด้า) สถาบันจิตวิทยา มหาวิทยาลัยออร์ฮูส เดนมาร์ค (๒๕๑๖) -สังคมศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาสังคมศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหิดล (๒๕๒๔) -จิตวิทยาความมั่นคง สถาบันจิตวิทยาความมั่นคง กองบัญชาการทหารสูงสุด

ประวัติงาน -บรรณาธิการ วารสารจิตวิทยาคลีนิค ๓ สมัย (๒๕๑๘-๒๕๒๓) -บรรณาธิการ วารสารสุขภาพจิต (๒๕๓๘-๒๕๔๐) กองบรรณาธิการ วารสารสาธารณสุข(๒๕๔๑-ปัจจุบัน) -คอลัมนิสต์บทความเชิงวิชาการ -นักเขียน มีผลงานเขียนและงานแปลมากมาย

นามปากกา สีมา สมานมิตร, ส. สีมา, และ นักจิตวิทยาหมายเลข ๑๐

ตำแหน่งปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านจิตวิทยากรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

นักจิตวิทยาต่างกับจิตแพทย์

นักจิตวิทยา คือผู้ที่เรียนรู้พฤติกรรมต่างๆของคน ทั้งปกติและไม่ปกติ ตั้งแต่เกิดจนตาย หรือเป็นพิเศษเฉพาะช่วงใดช่วงหนึ่ง กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และบางทีศึกษาพฤติกรรม ของสัตว์ด้วย เนื่องจากจิตวิทยามีหลายสาขา อาจเรียนจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับด้านนั้นๆ ยกตัวอย่างจิตวิทยาทหาร ก็เรียนเกี่ยวกับการรบ การรู้ใจข้าศึก การทำสงคราม จิตวิทยาต่างๆ จิตวิทยาโรงเรียนก็พูดถึงพัฒนาการของเด็ก ที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ จำ เข้าใจ วิเคราะห์ สังเคราะห์ประเมินค่าต่างๆ

ถ้าเป็นจิตวิทยาคลีนิค จะเรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ผิดปกติ พฤติกรรมที่ผันแปร หรือป่วยไป ถ้าจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ก็ต้องเปลี่ยนโดยวิธีของนักจิตวิทยา เช่น อาจทำจิตบำบัด ทำพฤติกรรมบำบัดในเทคนิคต่างๆ จิตวิทยามีหลายสาขามากมาย

ส่วน จิตแพทย์นั้น ต้องเรียนแพทย์ ให้ได้ปริญญาแพทยศาสตร์ก่อน จากนั้น จึงเรียนเป็น จิตแพทย์ เน้นเกี่ยวกับการรักษา ที่เรียกว่าเวชศาสตร์เป็นสำคัญ และเน้นการรักษา ที่ใช้ยาเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม จิตแพทย์อาจมีวิธีรักษาแบบอื่นประกอบ เช่น ใช้จิตบำบัด เช่นเดียวกับนักจิตวิทยาก็ได้ แต่ความต่างของสองวิชาชีพนี้ ก็คือ จิตแพทย์ต้องเป็นแพทย์ มาก่อน ค่อยไปเรียนต่อวิชาเวชศาสตร์เหมือนกับแพทย์ทั่วๆ ไป ที่เรียนต่อแพทย์ เฉพาะทางสาขาต่างๆ นักจิตวิทยา ในประเทศไทย เรียนจิตวิทยาระดับปริญญาโท แต่ในอเมริกานักจิตวิทยาที่จะทำคลีนิคได้ ต้องเป็นปริญญาเอก

ระหว่างนักจิตวิทยา กับจิตแพทย์ ใครรู้เรื่องพฤติกรรมมนุษย์ มากกว่า

ตามหลักการแล้ว จิตแพทย์ จะเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์น้อยกว่านักจิตวิทยา เพราะฉะนั้น บริการของโรงพยาบาล จิตเวชทั้งหลาย จะมีนักจิตวิทยาคลีนิคอยู่ด้วย ในกรณีที่ พฤติกรรมแปรปรวนมาก จิตแพทย์อาจต้องการ ทราบพฤติกรรมผู้ป่วย ในเชิงรายละเอียด หรือต้องการทราบเชิงลึกเพื่อวางแผนรักษาก็ให้นักจิตวิทยาศึกษา เพื่อวิเคราะห์ว่าอะไรทำให้ป่วย ตอนนี้ป่วยมากไหม และแนวโน้มจะหายในอนาคต มากไหม เพื่อช่วยในเชิงของการพยากรณ์โรค เพราะฉะนั้น นักจิตวิทยาในโรงพยาบาล จิตเวช จะมีลักษณะหน้าที่หลัก ๒ อย่าง คือ

ประการแรก ทำหน้าที่คล้ายห้องแล็บทดลองให้จิตแพทย์ โดยจะพาผู้ป่วย มาเข้าห้องแล็บ เรียกว่าเป็นห้องทดลอง ห้องทดสอบตามหลักจิตวิทยา จะให้ทดลองทำแบบทดสอบ ทางจิตวิทยา* หรือกรณีต่างๆ ซึ่งกระบวนการเรียนรู้ หรือกระบวนการคิด กระบวนการจำต่างๆ เพื่อ ให้ได้สาเหตุของอาการแปรปรวน ตามที่จิตแพทย์ ร้องขอมา เหมือนกับนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ ส่งผลการตรวจเลือด ให้แพทย์ที่รักษาคล้ายๆอย่างนั้น

อีกประการหนึ่ง คือ รักษาด้วยแต่เป็นการรักษาทางจิตวิทยา หรือใช้วิธีรักษา ที่เรียกว่า จิตบำบัด และพฤติกรรมบำบัด ซึ่งเป็นหน้าที่หลัก แต่จะจ่ายยาให้คนไข้ไม่ได้ เพราะไม่มีอำนาจตามกฎหมาย จิตแพทย์เท่านั้นที่มีสิทธิจ่ายยา เช่น ยากล่อมประสาท หรือยาระงับประสาท เป็นต้น

การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือควบคุมพฤติกรรมของคนไข้ส่วนหนึ่งต้องใช้ยา

ในกรณีที่คนไข้ฟุ้งซ่าน ยาก็จะช่วยผ่อนคลายได้ หรือในกรณีที่คนไข้ซึมเศร้ามาก ยาก็จะช่วย ให้มีอารมณ์เบิกบานขึ้น แต่ว่ายาก็คือยา จะมีผลแค่ช่วงที่ยาออกฤทธิ์ อาจเป็น ๒๔ ชั่วโมงหรือเท่าไรก็แล้วแต่ หลังจากหมดฤทธิ์ยา คนไข้ จะกลับสู่สภาพเดิม เพราะฉะนั้น ถ้าเราเรียนรู้ พฤติกรรมคนไข้รายนี้ว่าไม่เข้มแข็งพอหรือไม่ดีพอ ขณะที่ผู้ป่วยสามารถคุมอารมณ์ได้ ช่วงนั้นเราจะช่วยเปลี่ยน พฤติกรรม คนไข้ ให้เข้มแข็งขึ้น พอหมดฤทธิ์ยา พฤติกรรมเข้มแข็งนั้น จะได้ยังอยู่ต่อไป

การเปลี่ยนพฤติกรรม

มีมากมายหลายวิธี เช่น พูดคุย ปรับทุกข์ ชี้ทางออก ก็เหมือนกับเวลาเพื่อนมีปัญหา ทุกข์ใจ มาเล่าให้ฟัง เราก็เพียงแต่รับฟัง รับรู้เท่านั้น คนไข้ก็สบายใจขึ้นได้ระดับหนึ่ง แต่นักจิตวิทยาอาจให้คำแนะนำมากกว่านั้น เช่น คุณก็ทำอย่างนี้ซิ ๑,๒,๓,๔ และคนไข้ก็เลือกใช้วิธี ตามที่เหมาะสม กับสถานการณ์ หรือคิดว่าเหมาะสมกับตน

โรคทางจิตผู้ป่วยต้องช่วยดูแลตัวเองด้วย

โรคทางกายต่างๆ ผู้ป่วยก็ต้องแก้ไขที่ตัวเอง ด้วยเหมือนกัน เช่น โรคหัวใจ หรือ โรคทางกาย อื่นๆ แต่คนไทยมักชอบระบบอุปถัมภ์ ไม่ค่อย ช่วยตัวเองเช่น มีปัญหา เรื่องฟัน ทันตแพทย์ ช่วยได้เฉพาะการรักษา ส่วนการป้องกันฟันผุ เจ้าของฟัน ต้องช่วยเหลือตัวเอง ดูแลรักษาฟันตั้งแต่เริ่มแรก แต่โรคทางจิตอาจค่อนข้างชัดเจน ที่คนไข้ต้องช่วยตนเองมากกว่าโรคอื่นๆ ที่จริงแล้วการรักษาทั้งปวงในโลกนี้ ไม่ว่าจะรักษา แผนไทย แผนฝรั่ง หรือการรักษา แบบสมัยใหม่ ผู้ป่วยต้องช่วยเหลือ ตัวเองอยู่แล้ว โดยธรรมชาติ และคนไข้พวกนี้ก็จะหายได้เร็วกว่า

ปัจจุบัน สงฆ์น่าจะทำหน้าที่ช่วยนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์อย่างสมัยก่อนได้

คงพร้อมระดับหนึ่ง เพราะว่ามีพระสงฆ์ ไม่มากนักที่จะเข้าใจโลกภายนอก เท่ากับโลกในแวดวงของสงฆ์เอง ท่านอาจไม่ค่อยรู้เรื่อง ของสังคมปัจจุบันมากนัก หรือรู้ไม่ลึกซึ้ง เพราะฉะนั้น ถ้าพระสงฆ์จะทำหน้าที่เป็นจิตแพทย์ในชุมชน เป็นตัวแทนนักจิตวิทยาในชุมชน ก็คงจะทำได้ระดับหนึ่ง เว้นแต่ว่าพระสงฆ์ท่านนั้น มีความเข้าใจ เรื่องทางโลกจนรู้เท่าทัน และสามารถพูด คุยกับชาวบ้านได้เข้าใจ ในระดับที่ใกล้เคียงกัน แต่พระสงฆ์ส่วนใหญ่ที่เคยเห็น ท่านก็ถนัดในวิธีของท่าน โดยรู้โลกปัจจุบันไม่มากนัก

คนไทยจะรู้สึกไม่ปกติ เมื่อต้องหาจิตแพทย

มันเป็นคล้าย ตราบาปติดตัวอย่างหนึ่ง ถ้าใครเข้าโรงพยาบาลศรีธัญญา หรือ โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา แต่เดี๋ยวนี้ก็ดีขึ้นเยอะ ในต่างประเทศ เขาเรียนรู้กันมานาน จนเป็นเรื่องปกติ ธรรมดา เขาเรียนตั้งแต่ในหลักสูตรชั้นมัธยมว่า คนไข้โรคจิตชนิดหนึ่งซึ่ง popular ที่สุดคือ โรคจิตเภทหรือสกิโซฟรีเนีย (schizophrenia) รูปร่างเป็นอย่างนี้ มีอาการอย่างนี้ จะช่วยบำบัด เยียวยาอย่างไร ซึ่งการศึกษาของเรายังไม่มีตรงนี้ เพราะฉะนั้นความเป็นมา จึงต่างกัน ฝรั่งเขาพยายาม ทำให้เป็นหลักวิทยาศาสตร์ แต่ของเรา มันเริ่มต้นมาจาก ไสยศาสตร์และ ความเชื่อผีบ้า เราโทษที่ผีทำให้คนเป็นบ้า เมื่อเริ่มต้นที่ผี มันก็น่ากลัว คนก็ไม่อยากเข้าไปเกี่ยวข้อง

โอกาสที่คนควรพบกับจิตแพทย์ หรือ นักจิตวิทยา

ขอแนะนำว่า ๑. เมื่อชีวิตประจำวัน มีการเปลี่ยนแปลงไปต่างไปจากที่เคยๆ ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเรื่องการกินอยู่หลับนอน เช่น เคยกิน ได้ปกติก็กินได้น้อยลง หรือไม่กินเลย เพราะ กินไม่ลง หรือกินมากเกินไป ๒. ความเป็นอยู่ ก็อยู่อย่างไม่เป็นสุข แต่ก่อนคุย กับพรรคพวกเพื่อนฝูงได้ดี ทำงานได้ดี ตอนหลังโดดเดี่ยวตัวเองออกไปจากสังคม ๓. การหลับนอนก็หลับไม่เป็นสุข หรือนอนไม่หลับ หรือหลับแต่ ละเมอฝันร้ายต่างๆ ชีวิตประจำวันผันแปร เบี่ยงเบนไป สิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณอันหนึ่ง ที่เตือนว่า เราน่าจะไปปรึกษาจิตแพทย์ หรือ นักจิตวิทยา หรือผู้ชำนาญการ

คำว่าจิตแพทย์ในทางปฏิบัติคงไม่ได้หมายถึงเฉพาะผู้ชำนาญทางจิต Psychiatrist ตามนัยของฝรั่ง เพราะจิตแพทย์ของท่านนายกทักษิณ ก็เป็นหลวงพ่อองค์หนึ่ง (พระอิสระมุนี วัดธรรมวิหารี อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี) ซึ่งเป็นพระผู้ใหญ่ ที่น่านับถือ เป็นต้น หรืออาจเป็นวงศาคณาญาติ ที่มีประสบการณ์ผ่านโลกมาเยอะ นั่นคือจิตแพทย์ ในลักษณะหนึ่งสำหรับเราเหมือนกัน

ถ้าไปหาผู้ชำนาญทางจิต Psychiatrist ตามนัยฝรั่ง บ้านเรามีเพียง ๓๐๐-๔๐๐ คน ซึ่ง เทียบกับประชากร ๖๒ ล้านคนแล้ว ก็ไม่เพียงพอ แน่นอน แม้แต่นักจิตวิทยา ก็ยังมีไม่มากเท่าไร

อดีตนายกฯ ท่านหนึ่งไม่ต้องการจิตแพทย์

ผมเข้าใจว่าท่านนั้นก็ต้องการ แต่เผอิญท่านเข้าใจผิดว่า การพบจิตแพทย์ คือการปรึกษา เรื่อง ที่ไม่สบายทางจิต แต่จริงๆ เรื่องปัญหาทางจิตนั้นมีกันได้ทุกคน ท่านประธานาธิบดีบุช ก็มีจิตแพทย์เป็นที่ปรึกษา ทั้งในเรื่องส่วนตัว และเรื่องบ้านเมือง ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม เช่น ตอนประธานาธิบดีบุช สั่งถล่มอิรัคนั้น นักจิตวิทยา หรือ จิตแพทย์ที่ปรึกษา อาจจะให้คำแนะนำว่า ถ้าทำอย่างนั้น โลกจะตำหนิคุณ ประธานาธิบดี ก็ต้องฟัง หรือในทีมกีฬาก็มีจิตแพทย์หรือ นักจิตวิทยาคอยดูแลว่าเมื่อไร นักกีฬา ต้องมีใจสู้ หรือนักกีฬาใจเสาะ ก็จะคอยช่วยให้คำแนะนำ เพื่อให้นักกีฬามีใจเข้มแข็งขึ้น คิดดูซิกว่าเราจะสร้างนักกีฬาดีๆ ได้สักคน ต้องลงทุนเยอะ เพียงเขาพลาดไปนิดหนึ่ง ไม่ได้เหรียญเราจะทิ้งเขาเลยหรือ? สำหรับกรณีของผู้บริหารระดับสูง ของประเทศ ย่อมมีปัญหามากมาย ทั้งปัญหาภายในครอบครัว ปัญหาภายในพรรค ตลอดจน ปัญหาต่างๆ มากมาย จิตแพทย์อาจทำหน้าที่ ช่วยคัดเลือกผู้ที่มาขอพบ ซึ่งบางคน ก็มาด้วยผลประโยชน์ บางคนมาด้วยรูปลักษณ์ ต่างๆ กัน ขึ้นต้นมะขาม พังประตูเข้ามา ก็มี จิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยา อาจจะช่วยท่านนายกรัฐมนตรี ในเรื่องเหล่านี้ได้

อันที่จริงในคณะรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี นั้น ก็มีทีมงานที่แม้เขาไม่ได้จดทะเบียน เป็นจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา แต่เขาได้ทำหน้าที่ส่วนนี้อยู่แล้ว เพียงแต่ลืมไป โดยคิดว่า จิตแพทย์ต้องเป็น Psychiatrist เท่านั้น

ความหมายของอีคิวต่างจากไอคิว

ปัญญามีหลายอย่าง ในทางจิตวิทยา ปัญญาเชิงรับรู้เหตุผล ก็คือรับรู้เหตุผล ก็คือรู้จำ เข้าใจ นำไปสังเคราะห์วิเคราะห์ประเมินค่า ใช้เหตุใช้ผล คิดวางแผนต่างๆ ได้ เราเรียกปัญญา ในมิตินี้ว่าไอคิว หรือปัญญาเชิงเหตุผล ส่วนอีคิว จะเป็นปัญญา ในเชิงอารมณ์ หรือ Emotions Quotient ซึ่งไปล้อจากคำว่าไอคิวหรือ Intelligence Quotient อีคิวจะเป็นปัญญาในเชิงสามารถใช้ อารมณ์อย่างถูกต้อง แท้จริงเรื่องนี้ พุทธศาสนามีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเราไม่ได้ทำเป็นตารางหรือมาตรวัด ซึ่งมีหน่วยชี้วัดต่างๆ เป็นรูปธรรมชัดๆ เหมือนที่ฝรั่งเขาทำ ที่มาของเรื่องอีคิวก็คือ ในอเมริกา มีบริษัท ขายประกัน ขายหนังสือหรือขายอะไรต่างๆ แบบขายตรง คนที่ขายเก่งจะต้องตื๊อมาก ถ้าเราไม่ซื้อเขาก็ตามตื๊อ ลูกค้าบางคนไม่ยอมให้ตื๊อ ก็โต้กลับรุนแรง ถ้าผู้ขาย ไม่แน่น จริงก็จะทนไม่ได้ ต้องลาออกไปบริษัทก็จะเจ๊ง ผู้จัดการบริษัท เลยปรึกษานักจิตวิทยา ชื่อว่าแดเนียล โกลแมน เพื่อหาวิธีช่วยคัดเลือกพนักงาน ที่มีคุณสมบัติทางอารมณ์ ที่เหมาะสมให้ แดเนียลได้พัฒนาแบบสอบถามขึ้นชุดหนึ่ง เพื่อวัดคุณสมบัติทางอารมณ์ ของผู้ตอบ เพราะจะเอาพวกเกียรตินิยมเหรียญทอง อันดับหนึ่ง มาทำงานขายของแบบนี้ คงไม่ได้หรอก เพราะพวกนี้เรียนในมหาวิทยาลัย เรียนมาแต่ เรื่องของเหตุผลทั้งนั้น พอโดนใครท้วงหน่อย ก็รักษาอารมณ์ไว้ไม่ได้

แดเนียลได้ทำแบบสอบถามที่จัดคุณสมบัติ ในมิติที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ทั้งนั้นเลย เพื่อใช้เป็นเครื่องมือคัดเลือกคนที่มีอารมณ์มั่นคง ถ้าได้คนที่เก่งทางเหตุผล ไอคิวดี และอีคิวก็ดีด้วย จะให้คะแนนเป็น อันดับหนึ่ง

การวัดอีคิว มีองค์ประกอบว่า ต้องหาคุณลักษณะของอารมณ์ที่ดีว่าเป็นอย่างไร อันนี้ผมเอาตามฝรั่งก่อน คือ ต้องมองโลกในแง่ดี เห็นอกเห็นใจคนอื่น รู้จักแบ่งปัน รู้จักจัดการอารมณ์ของตัวเอง รู้ว่า เรากำลังอยู่ที่ไหน ทำอะไร อย่างไร รู้บทบาท ของตนเอง นั่งอยู่ในเครื่องบิน ก็รู้ว่ามันกำลังตกหลุมอากาศ โดยไม่ร้องโวยวาย จะเป็นจะตาย ใครมาด่า เราก็รู้ว่าเขากำลังมีปัญหาคับข้องใจ ไม่ใช่ เขาด่าคำ เราก็ด่าตอบเป็นชุด ทั้งหมดนี้ก็คือ เรื่องของการจัดการกับอารมณ์ทั้งปวง ถ้าพูดแบบ พุทธศาสนา ก็คือ มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ซึ่งผมคิดว่า น่าจะอยู่ในบริบทนี้

ทุกวันนี้หลักสูตรการศึกษาของเราเน้นสอนเรื่องการพัฒนาไอคิว ยกตัวอย่างการศึกษา ที่สอนคนไปหาเงินก็จะโหมแต่เรื่องเรียนให้เก่ง เพื่อหาเงินให้ได้มากๆ โดยจะไม่เห็นแก่ ใครเลยหลักสูตรการศึกษาเอื้อให้คนพัฒนาเป็นอย่างนั้น ถ้าหลักสูตรเอื้อให้เก่งด้วย และนึกถึงคนอื่นด้วย ก็จะมีความสมบูรณ์ อย่างวิชาเศรษฐศาสตร์ สอนให้ ทำกำไร เพราะโลกเสรีนิยม กำไรสูงสุดคือเป้าหมาย โดยไม่คำนึงว่า ไปเหยียบบ่าใคร ทำให้ใครเจ็บปวด หรือไม่ เพราะฉะนั้น หลักสูตรการศึกษาทุกระดับ อาจต้องมี การปรับปรุง ให้เก่งทั้งไอคิวและอีคิวคือ เก่งที่จะใช้ความสามารถเชิงเหตุผล กับเห็นอกเห็นใจคนอื่นด้วย ในเวลาเดียวกัน มิฉะนั้นภาพรวมของสังคม ในระยะยาว ก็จะเสียไป คงถึงเวลาแล้วที่ควรจะปรับ ให้มีความสมดุลขึ้นมา

ทุกวันนี้มีข่าวคนฆ่าตัวตาย และฆ่าทั้งครอบครัวเลย

มนุษย์ต้องมีทางออกให้ตัวเอง อย่าปล่อยให้ตีบตัน คนที่หาทางออกไม่ได้ มักมีข้อจำกัด อยู่อย่างหนึ่ง คือคิดว่าตัวเองเก่ง บางคนเรียนสูง มีตำแหน่งใหญ่โต จะไม่ค่อยปรึกษาใคร เพราะฉะนั้น เมื่อมีปัญหาก็คิดว่า เรายังแก้ปัญหาไม่ได้ คนอื่นก็คงแก้ไม่ได้เหมือนกัน คนข้างเคียง ก็เลยไม่มีโอกาสรู้ หากคนรอบข้างรู้มาก่อนบ้าง ก็อาจจะสามารถสะกิด เตือนให้ความเห็นหรือ ชี้ทางออกอันจะทำให้ได้สติขึ้นมา

เวลาใครมีปัญหามาคุยกับผม ผมจะปล่อย ให้เขาเล่าไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้ทำอะไรเลย เมื่อเขา ได้ยินเสียงตัวเองพูดจ๋อยๆ ก็อาจคิดทางออกได้เอง แล้วผมก็ แสดงความยินดี ด้วยที่เขาคิดออก แต่ถ้าไม่พูดกับใครเลย ที่หนักกว่านั้น บางที เขาเครียด กินไม่ได้ นอนไม่หลับ แล้ววันหนึ่ง เขาก็มีใบหน้าสดชื่นขึ้นมา เรานึกว่าเขาคงหมดปัญหาแล้ว แต่ที่ไหนได้เขาคิดออกว่าจะฆ่าตัวตาย เพื่อให้ปัญหาทุกอย่างจบสิ้น คนข้างๆ ก็งง เหมือนไก่ตาแตก เพราะเมื่อวานยังเห็นยิ้มๆ อยู่ ข้อแนะนำสำหรับเรื่องนี้ คือ ๑.พักผ่อนให้เพียงพอ การนอนหรือ พักผ่อนไม่เพียงพอ จะทำให้เกิดปัญหามาก จิตใจ ก็รวนเรปั่นป่วน ๒.เมื่อมีเรื่องคับข้องใจ ต้องหาคนใกล้ชิดที่ไว้ใจได้ ปรึกษาหารือ แต่บางคนเลือกคนผิด ความลับทั้งปวงก็เปิดหมด เลยเครียดจัดยิ่งขึ้น ๓.หาสิ่งบันเทิงใจบ้าง ๔.หาทางช่วยผู้อื่น พอช่วยใครก็ตาม เราจะรู้ว่า มีคนทุกข์กว่าเรา อีกมากมาย และเมื่อเราได้ช่วยเขา ก็จะรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง ความทุกข์ของเรา จะคลี่คลายลงได้ หรือถ้าเป็นผู้หญิง การร้องไห้ก่อนนอน ก็ช่วยคลายเครียดได้เหมือนกัน ๕.หางานอดิเรกทำ เช่นปลูกต้นไม้ เล่นดนตรี และศึกษาธรรมะที่เข้าใจง่าย แล้วปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม ผมคิดว่าจุดอ่อนของพุทธศาสนา ในประเทศไทยคือ เราไม่ได้ ทำให้ง่ายๆ มันยากเกินไปสำหรับคนทั่วไป ๖.ออกกำลังกายเสมอ ๗.ถ้าไม่ไหวจริงๆ ก็ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งไม่ได้หมายถึงจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยาเสมอไป พ่อแม่ ญาติสนิท มิตรสหายที่รักใคร่กัน และหลวงพ่อหลวงพี่ที่วัด ก็ช่วยได้เสมอ (เลือกดูพระที่ดีๆ ก็แล้วกัน)

 

อ่านฉบับ 128   อ่านฉบับ 130

สีสันชีวิต (เราคิดอะไร ฉบับ ๑๒๙ เม.ย. ๔๔ หน้า ๑๖)