หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

     

สีสันชีวิต ทีม สมอ.

คุณตาปรีชา วิริยะพานิช บุรุษ ๕ แผ่นดิน

 

"เดินทางด้วยกาลเวลาอันยาวนานถึง ๙๕ ปี เปรียบเสมือนห้องสมุดชีวิต ซึ่งล้ำค่าด้วยความรู้ จากประสบการณ์ที่เก็บสะสมไว้"


คุณตาปรีชา วิริยะพานิช เกิด พ.ศ.๒๔๕๐ ในช่วงปลายรัชกาลที่ ๕ จังหวัดฉะเชิงเทรา บิดา ขุนวิจารณ์ จีนพานิช มารดา หรุ่น มี พี่น้องท้องเดียวกัน ๘ คน คุณตาเป็นคนที่ ๔
ตาเรียนมัธยม ๒ จบหรือเปล่าก็ไม่รู้ ออกจากโรงเรียน มาขายยาร้านรวมโอสถ แทนคนเก่าที่ออกไป และทำได้ดีกว่าด้วย ตอนนั้นอายุประมาณ ๑๘-๑๙ ปี ก็มานึกว่าตัวเองนี่มันโง่ เพราะมันไม่จำ รู้ว่าตัวเองเรียนไม่ได้ แต่ก็มีใจอยากเรียน หาความรู้ใส่ตัว เคยมีเพื่อนพ่อมาหา คุยว่าลูกเขาไปเมืองนอก ก็รู้สึกว่าเราเอง น่าจะไปเมืองนอกกับเขาบ้าง แต่วิธีไปก็คือ ไปโดยไม่บอกใครๆ ไม่ได้ขออนุญาตพ่อ ทิ้งรูปไว้ให้ดูต่างหน้า ลงเรือกาตองของบริษัทสเตท สตีมชิป เป็นเรือไอน้ำ ที่จริงจะไปฮ่องกง แต่ไม่รู้ ทำไมเวลาลงเรือ มันกลายเป็นสิงคโปร์ ไปขึ้นท่าเรือบอร์เนียว อยู่ในเรือก็เมาคลื่นทั้ง ๓ วัน ๔ คืน จนโงหัวไม่ขึ้น เรือมันโคลง นอนเดี๋ยวก็เห็นน้ำ เดี๋ยวก็เห็นฟ้า พอขึ้นจากเรือตึกสูงๆ ที่สิงคโปร์ มันยังโงนเงนอยู่ ๓ วัน ตาไม่คุ้น ไม่ชิน

ไปตัวเปล่าจริงๆ ไม่มีอะไรเลย ไม่มีเงินติดตัว ภาษาจีน ฝรั่ง มลายู ก็ไม่รู้ทั้งนั้น รู้ภาษาไทยอย่างเดียว นึกอยู่ว่า ทีเขาอยู่ กันเป็นล้านๆ คน เขายังอยู่ได้ เราขอแทรกเข้าไปสักคน ต้องอยู่จนได้ เมื่อมีความจำเป็นมันทำได้หมด

อยู่สิงคโปร์เป็นกะลาสีเรือ ที่นั่นเขาจะมีบ้านเรียกว่า โบ๊ดดี้ เฮาส์ ให้พัก เลี้ยงข้าวเลี้ยงปลานอนเสร็จ ที่นั่นมีที่นอนเป็น เตียงยาวนอนกันเป็นตับเลย ตาเป็นกะลาสีเรือลำแรกเล็กนิดเดียว เดินเรือระหว่าง เมืองท่าเล็กๆ ตามชายฝั่ง เรือชื่อ กรีมัส อยู่เรือ ได้ ๒-๓ เดือน ก็อยากจะหาเรือใหญ่ต ามอย่างพรรคพวก แล่นไปประเทศ ออสเตรเลียอเมริกา

ภูมิคุ้มกันของเด็กหนุ่ม ที่ระหกระเหิน พาตัวเองออกไปสู้ชีวิต
มีนิสัยมาตั้งแต่เล็ก คือไม่ยอม ทำผิด อะไรที่ผิดแล้วไม่ทำ ผู้ใหญ่ บอกไม่ดีก็ไม่ทำ คนสมัยโบราณเขาพูดกันเรื่องคบ เพื่อนชั่วพาตกนรก เช่น พาเล่นการพนัน ดื่มสุรายาเมา สมัยโน้นมีการสูบฝิ่น พวกหัวไม้ ปล้นสะดมสารพัด ตาเอาตัวรอดได้ เพราะอันนี้แหละ ไม่งั้นเสร็จเป็นไอ้บ้า เข้าตะรางหัวโตไปแล้ว มีแยะไป พวกคนหนุ่มที่ไปสิงคโปร์ บางคนไปล่อลวงพวกแขก มลายู ไปทำเสน่ห์บ้าง ทำตะกรุดบ้าง ทำสาลิกาหาสตางค์ ตัวหนึ่งขายได้ราคาเยอะแยะ เอาแผ่นเงินแผ่นทองมาเขียนขยุกขยิก แล้วม้วนเข้า ขายเป็นของศักดิ์สิทธิ์ แต่ไม่มีใครมาชักชวนตาให้ไปทำชั่ว ไม่มีเลย ทั้งที่มีคนส่งเดชพวกนี้ แยะ สูบบุหรี่กินเหล้า ตา ไม่กิน เหล้าไม่สูบบุหรี่ เขาก็ว่าคนไม่กินเหล้า คบไม่ได้

แม้มีจิตใจที่แข็งแกร่ง กระนั้นก็ยังมีน้ำตา ลูกผู้ชาย
มีบางเวลาเท่านั้น น้ำตาซึมนึกถึงตัวเอง ตอนเลิกงานนั่งอยู่ตรงหัวเรือ มันนึกยังไงบอกไม่ถูก คล้ายกับว่าสงสารตัวเองละ มัง ตาจะมีหนังสืออยู่ชุดหนึ่ง เอาติดตัวอยู่ตลอดเวลา ชื่อหนังสือ หิโตปเทศ ของเสฐียรโกเศศ นาคะประทีป ไปไหนไปด้วยกันและ เรื่องที่เสียใจที่สุดในชีวิต แม่ตายเร็วไปตอนตาอายุประมาณ ๑๕-๑๖ ปี ถ้าอยู่จะได้ นอนหนุนตักแม่ แม่รักตามาก ตอนแม่ ป่วย ตาดูแลเช็ดขี้เช็ดเยี่ยว ซักผ้า ทำทุกอย่าง

ไม่ได้ภาษาต่างประเทศ สักภาษาตามที่หวัง แต่สิ่งที่ได้กลับมีคุณอนันต์
สิ่งที่ได้จริงๆ คือ ความอดทน ความต้องระมัดระวังตัวเอง จะพูดว่าลำบากมันก็ลำบาก แต่ไอ้ความลำบากนี่ก็ไม่ได้นึกถึง ว่ามันหนักหนา คือต้องช่วยตัวเองทุกอย่าง ได้ข้อคิดว่า คนเราอยู่ที่นิสัย ถ้าลงนิสัยดีแล้ว ทำอะไรมันก็ดี ขอให้มีความขยัน คนขยัน โดยมากจะขี้เหนียว และก็นึกคิดทำแต่เรื่องที่มันถูกต้อง ตาขยันมากจนติดเป็นนิสัย เคยสอนหลานว่า ของเสียไม่ว่า ขอให้ทำ ของเสียคิดเป็นเงินไม่เท่าไร แต่นิสัยขยัน มีค่าสูงกว่าแยะ คนโบราณเวลาคนทำงาน ทำของเสียหาย จะเฉยไม่พูดถึงเลย ให้เขารู้เขาเอง ต่อไปเขาจะระวังไม่ทำเสียอีก และเขากลับจะสงสารที่ทำของเรา เสียหาย ถ้าไปดุว่าเขา กลับจะเสียมากกว่านั้นอีก คนมีบุญของตา คือ คนมีงานทำมากมาย ที่คนขี้เกียจจะนึกไม่ถึง

สละโสดด้วยปรัชญาความรักที่ไม่เหมือนใคร
หยุดส่งเดชซะที ตระเวนไปเกือบทั่วประเทศ ไม่มีบ้านไม่มีช่อง ควรจะได้ตั้งหลักตั้งฐาน ตาแต่งงานตอนอายุ ๓๑-๓๒ ปี ก็รักอย่างนั้น ละมัง เพราะมันนึกอยู่เรื่อย คำพูด ว่า รัก มันโกหก ตั้งแต่แต่งงาน จนตายจากกัน ไม่เคยพูดคำว่ารักเลย พูดไม่เป็น ตาไม่เจ้าชู้ ไม่เคยเขียนจดหมายรัก ไม่เคยบอกรักใคร ไม่รู้สึกรัก มันกลัวถูกเกาะ เกิดไปมีลูกเต้าขึ้นมา จะเดือดร้อน ตอนลงเรือไปเมืองจีน มีผู้หญิงกวางตุ้ง เข้ามามุดหา ตาไล่ออกไปเลย ไอ้เพื่อน ๒ คน พูดว่า ทำไมไม่ส่งมานี่

ความภาคภูมิใจในชีวิตมี ๒ เรื่อง ที่คุณตาพยายามลำดับความคิดนึกในขณะนั้น
ก่อนจะตั้งเนื้อตั้งตัว ก็มานึกว่า จะทำอะไรถึงจะดี ก็นึกถึงเรื่องอาหาร คนเราต้องกินอาหาร ให้มันเจริญเติบโต อาหารที่ดี ที่สุดคืออะไร ก็มีไข่ไก่มีนม ก็เลี้ยงไก่เอาไข่ขาย ไม่ใช่เลี้ยงขายเอาเนื้อ ไม่เคยเลี้ยงไก่เนื้อ สมัยนั้นไม่มีใคร ขายไข่สด หาซื้อที่ไหนไม่ได้ ต้องมาหาที่ตา มีแห่งเดียวในประเทศไทย ชื่อเล้าไก่ปรีชา เป็นไข่ที่ไม่มีเชื้อ ทิ้งไว้ก็ไม่เน่า เรียกว่าไข่ลม เป็นไข่ที่ไม่ผสมตัวผู้ ต่อมาเกิดกาฬโรค ระบาด ๒ หน ไก่ตายหมดเล้า มันคล้ายๆ มีลางสังหรณ์ ทำให้จิตใจ ไม่อยากทำอาชีพนี้อีก และก็เห็นมีคนทำตามมากขึ้น จึงเลิกไปเลย.. ตาปลูกป่า หลายแห่ง ปลูกต้นไม่เป็นพันต้น แน่นขนัดในเนื้อที่หลายสิบไร่ ไม่ได้ปลูก เพื่อเอาประโยชน์ เพื่อหารายได้จากป่า แต่ปลูกเพื่อสร้างป่า เพื่อให้เกิดความร่มเย็น ได้อากาศบริสุทธิ์ ไม่ปลูกจำพวกไม้ผล เพราะปลูกแล้วเกิดความไม่สงบ ต้องคอยระวัง และคนอื่นๆ จะมาวุ่นวายกับเรา

ผู้หญิงต้องมียางอาย ผู้ชายต้องมีสัจจะ สมณะต้องมีศีลคือ ความงดงามสูงสุดของชีวิต และเป็นตัวอย่างแก่โลกตลอดกาล
เคยบวชอยู่ ๑ พรรษา ที่วัดเทพนิมิตร แปดริ้ว ตอนนั้นอายุประมาณ ๒๓-๒๔ ปี สมเด็จพุทธโกศาจารย์ วัดเทพศิรินทร์ เป็นอุปัชฌาย์ ท่านเก่งมาก ก่อนจะสึก พวกที่บวชก็พูดกันว่า จะเดินเท้าจากวัด มาลาสิกขา ที่วัดเทพศิรินทร์กับสมเด็จ มากัน ประมาณ ๔-๕ คน ผลที่สุดคนที่เดินถึงกรุงเทพฯ มีตาคนเดียว นอกนั้นร่วงหมด ระหว่างทางพอเห็นรถก็โบกมือ เจ้าของรถก็ใจดี หยุดรับเพราะเห็นเป็นพระ มาถึงกรุงเทพฯ มืดแล้ว แต่ตาก็ไม่ยอมขึ้นรถ เดินต่อมาจนถึงวัดเทพศิรินทร์ ทำให้เดินไม่ได้อีก ๓-๔ วัน เพราะเท้าบวมหมด บวชก็ไม่ค่อยได้อะไร ตอนนั้นได้แต่กินมื้อเดียว กับบอกสัปเหร่อ เอาหัวกะโหลกไปต้ม แล้วเอามาให้หัวหนึ่ง กลิ่นยังเหม็นอยู่เลย แขวนไว้นอกชายคาตรงหน้าต่าง ตื่นมาตีสองตีสาม ก็ต้องโผล่ออกมาที่หน้าต่าง นั่นแหละ ไม่ไปทางอื่น เราจะกลัวไม่ได้ ถ้ากลัวแล้ว มันจะกลัวมาก ถ้าเราไม่กลัว มันจะหยุดกลัวได้

ความกลัวเกิดจากอุปาทาน ที่สั่งสมมานาน วิธีล้างก็คือ ใช้ความจริง ความมีเหตุผล เข้าสู้กับมัน
กลางวันเราไม่กลัว พอมืดมาเราก็กลัว ก็มาจับดูตัวเองว่า เพราะอะไร บวชช่วงเข้าพรรษา หน้าฝนวันไหนฝนตก อากาศก็ครึ้มๆ เย็นๆ คอยจับชีพจรดู มันจะเต้นอ่อน พอชีพจร เต้นอ่อน ใจมันก็จะหวิวๆ หวั่นไหวนิดหน่อย หูจะได้ยินชัดขึ้น เสาบ้าน โบราณมีไม้คร่าว ระหว่างไม้คร่าว จะมีช่องลอดไปห้องโน้นห้องนี้ บังเอิญมีกระป๋องเปล่าตั้งอยู่ ดึกๆ จะมีเสียงดังครืดๆ ก็ลุกขึ้นมาดู ได้ความว่า หนูเดินผ่าน กระป๋องก็ดัง หรือเหยือกน้ำ ที่มีฝาแก้วครอบอยู่ ตกกลางคืน ทำไมมันเคาะเสียงดังได้ ก็พบว่า พื้นไม้ เขารื้อจากบ้านโบราณ มาทำกุฏิพระ มันจะมีช่องห่าง พอลมพัดผ่านเข้าไปถึง ฝาแก้วที่ครอบอยู่มันก็สั่น ตาก็คอยจับอยู่อย่างนี้ ไม่อย่างนั้น มันคอยจะกลัว เมื่อหาเหตุผลได้ เราก็ไม่กลัว มันอยู่ที่แต่ละคน แล้วแต่ใครจะทำอะไรก็ได้ อย่างนั้น จะมีเหตุผลน้อยหรือมาก เราจะต้องการผลอะไรจากเหตุนั้น ก็นึกเอาเอง อะไรจะเกิดต้อง มีเหตุมีผล เราก็นึกเอาง่ายๆ ว่า ผีไม่มี คนตาย ก็ไปอยู่ส่วนคนตาย คนเป็นอยู่ ส่วนคนเป็น ไม่เกี่ยวข้องกัน ถ้าเราจะนึกให้ลึกซึ้งอีกหน่อย ก็ว่ากระแสจิตของเขา กับของเราที่จะติดต่อกัน มันไม ใช่คลื่นเดียวกัน จึงรับกันไม่ได้

บทเรียนเรื่องกรรมที่คุณตาได้รับและไม่เคยลืมเลือน
ที่แถวนี้แต่ก่อนยังเป็นท้องนา ควายมักชอบเดินผ่าน โทษมันก็ไม่ได้ ควายชาวบ้าน เขาอยู่ติดที่นาข้างหลัง แต่ใจก็คิดว่า เราน่าจะปลูกต้นสีเสียดแก่น ที่มีหนามงอคม เอาไว้มากๆ เพื่อไม่ให้ควายเดินผ่าน เข้ามาในที่ของเรา พอนึกเท่านั้น ไอ้หนามของ ต้นสีเสียดแก่นก็เกี่ยวมือ ทั้งเจ็บทั้งปวด ก็นึกว่า เพราะจิตมันละเอียด เราจึงได้รับผลกรรมอันนี้เร็ว และใครล่ะเป็นคนทำขึ้นมา ก็ตัวเราเอง

เวลากลืนกินสรรพสิ่ง แต่สิ่งหนึ่งจะอยู่กับเราตลอดไป คือจิตวิญญาณที่มั่นคงเอาจริง
อย่าขี้เกียจ อย่าหลอกตัวเอง ต้องมีวินัย เช่น ถ้าจะแกว่งแขนต้องแกว่งให้ได้ จะแกว่งแขนที คนมันขี้เกียจทั้งนั้นแหละ ตาแกว่ง ๓,๐๐๐ ครั้งต่อวัน แบ่งเป็นเช้า กลางวัน เย็น ครั้งละพันครั้ง ทำมาเป็นปีๆ จนเมื่อไม่ถึงปีนี้ ตาลดลงเหลือ ๒,๐๐๐ ครั้ง เพราะร่างกาย มันไม่ยอม หมุนคอนี่หยุดแล้ว เคยทำ เป็นร้อยครั้ง ไม่เหมือนที่เขาทำกัน อย่างละนิดละหน่อย ๕ นาที ๑๐ นาทีเลิก แล้วกิจวัตร ของตาเดี๋ยวนี้ ตื่นนอนมาก็นั่งกระดิกขาก่อน ทำให้ร่างกายมันกระเทือนทำ ๕๐ ครั้ง แต่ก่อนทำ ๑๐๐ ครั้ง พอเสร็จก็ นั่งบนเตียงหมุนตัว ซ้าย ๕๐ ขวา ๕๐ เสร็จแล้ว เหยียดแขนปล่อยมือ กางมือข้างละ ๕๐ แต่ก่อน ๑๐๐ (นับโดยการใช้ ลูกประคำ /ผู้เขียน) นี่ก็เพิ่งจะได้ท่าใหม่ คือยืดตัว ยืดไหล่ขึ้นไปๆ แล้วปล่อยตัวลงมา เขาบอกว่า ท่านี้มาจากญี่ปุ่น ดูท่ามันจะดีเพราะทำให้ เกิดการกระเทือน แต่ทำมากไม่ได้ ทำแล้วต้อง เว้นระยะ ไม่ใช่ขึ้นๆ ลงๆ จะเหนื่อย ทำอันนี้ เสร็จแล้วก็มาแกว่งแขนอีก ๒๐ นาที พันครั้ง เสร็จก็พักอ่านหนังสือ รอเวลาเขาเรียกกินข้าวเช้า ช่วงเวลา ๑๐ โมง ถึงเที่ยงจะนอนพัก พอตื่น ก็กินข้าวเที่ยง ตอนนี้ไม่รอแล้ว เพราะอาหารของมื้อเช้า เหลืออยู่ เสร็จก็อ่านหนังสือ บางวัน ก็ง่วงหมือนกัน แต่ตาไม่ยอมนอน บ่าย ๓ โมง ก็เริ่มบริหารร่าง กาย พอ ๓ ทุ่มก็นอน ตื่นตี ๓ ครึ่ง ตื่นแล้วนอนไม่ได้ บางทีก็อยากนอนต่อ เหมือนกัน แต่ถ้านอนต่อ ก็จะตื่นเอา ๖-๗ โมง สายเกินไป เลยไม่นอน

ไม่มีรสอร่อย คือความจริงที่เบาสบาย
อาหารแต่ละมื้อค่อนข้างเหมือนกัน มีข้าวกล้องบดกับผักต่างๆ หลายชนิด ตากินผักได้เยอะทำให้ระบบการย่อยดีมาก และกินเมล็ดธัญพืช ข้าวโพดถั่วต่างๆ อาหารเช้ากับเที่ยงเหมือนกัน ตอนเย็นแล้วแต่ มีอะไรมาก็ได้ไม่ถือ และไม่ต้องไปทำพิสดาร ไปทอดตุ๋น ขอให้สุกก็แล้วกัน แต่คนทำไม่ค่อยจะยอม ความอร่อย ไม่ต้องพูดถึง ลงไปในท้องก็หมือนกัน อร่อย อยู่ตรงไหน เช่น ขนมเค้ก คนชอบกินกันจัง มีแป้ง มีไข่ น้ำตาล เนย เนยก็กิน แป้งก็กินอยู่แล้ว ไข่ก็มีอยู่แล้ว ไม่เห็นต้องไปทำ ให้ลำบากลำบน

พวกที่กินของอร่อยแพงๆ ต้องการทั้งรูปรส กลิ่น เสียง สัมผัส ต้องมีครบหมดอย่างนี้ ถึงอร่อย ไม่อย่างนั้น ไม่อร่อย แต่ สำหรับตาไม่มี รูปไม่มีก็ช่าง รสอะไรก็ได้ กลิ่นได้ทั้งนั้น เสียงไม่ฟังได้ยินก็ได้ยินไม่สนใจ สัมผัสไม่มีทั้งหมด ตาเป็นอย่างนี้มานาน แล้ว ค่อยๆ แก่กล้าขึ้น

ใครก็ไม่อยากตาย และก็คงไม่อยากอยู่อย่างทรมานจากโรคภัยในวัยชรา คุณตาไม่เพียงคิด แต่ลงมือ กระทำด้วย
ยังไม่อยากตาย ก็ตั้งใจมานานแล้ว ตั้งแต่ อายุ ๖๐ ว่าอยากอยู่ถึง ๑๐๐ ปี คุยมานานแล้ว คุยแล้วก็ถูกหัวเราะเยาะก็ ดี ตาจะอยู่เพื่อเล่นละครให้คนอื่นดูว่า จะอยู่ ๑๐๐ ปี ก็อยู่ได้ไม่เดือดร้อน มันอยู่ที่ตัวเรา เราจะบังคับให้อยู่ได้ ๑๐๐ ปี มันก็ อยู่ ๑๐๐ ปี เราก็หาวิธีเรื่อยว่า ถ้าจะอยู่ ๑๐๐ ปี ต้องทำอย่างไร ใครแนะอะไรมา ก็ลองทำดู ถ้าเห็นสมควรก็ปฏิบัติตาม

ตาระวังตัวอยู่เสมอ ทางเท้าก็ไม่ไปยืน เพราะไม่รู้ว่ารถจะมาแฉลบมาเมื่อไร ทางต่างระดับอย่างในครัว เดี๋ยวนี้ตาก็ไม่เข้า เพราะมันจะมีพลาดมีพลั้ง ถ้าพลาดก็หกล้ม ระวังทุกอย่างที่ควรระวัง การระวังไม่ต้องออกแรง และเราก็ไม่เสียหายอะไร เดี๋ยวนี้ ตื่นมาแล้วนั่ง กว่าจะเคลื่อนย้าย ต้องรู้สึกตัวให้ดีก่อน เพราะ เพิ่งตื่นนอนจะงัวเงีย การควบคุมร่างกายยังไม่ดี จะล้มเอาง่ายๆ ทุกวันนี้ ก็ไม่ค่อยจะไว้ใจตัวเอง มีลืมมีหลง มันเปลี่ยนเร็วเหลือเกิน ทรุดลงไปเร็ว นึกว่าจะค่อยๆ ไป ปีๆ หนึ่งก็ผิดไปเยอะ

จุดหมายปลายทางของทุกชีวิต จะถึงก่อนหลังเร็วหรือช้า กำหนดไม่ได้ด้วยกาลเวลา แต่ยามมีลมหายใจ เราทุกคนมีสิทธิ์ กำหนดชีวิตให้เป็นไปอย่างมีคุณค่า แก่นสารสาระ ก่อประโยชน์ทั้งแก่ตนและผู้อื่นเป็นตัวอย่าง อันดีงาม ให้ประโยชน์แก่โลก จึงนับ ว่าชีวิตนั้นได้เกิดมาทำหน้าที่สมบูรณ์แล้ว

 
อ่านฉบับ 129   อ่านฉบับ 131

สีสันชีวิต (เราคิดอะไร ฉบับ ๑๓๐ พ.ค. ๔๔ หน้า ๑๖ - ๒๑ )