page: 2/6
close

สารบัญ
ชุด เพชร
[1] ภาค 1
ศาสนา

[2]
ภาค 2
ชีวิตและสังคม

[3] ภาค 3
ฝึกตน

ชุด ทับทิม
[4] ภาค 1
ศาสนา

[5]ภาค 2
ชีวิตและสังคม

[6] ภาค 3
ฝึกตน

รินถ้อยร้อยธรรม... ชุดเพชร 

สัจจะชีวิต

“ชีวิต” คือการเรียนรู้ “ทุกข์” แล้ว “ปรับ” ตนให้พ้นทุกข์ “ฝึก” ตนให้พ้นทุกข์


ทุกข์ –สุข

คนที่หมดสิ้นความทุกข์ คือ ผู้ไม่มีแม้แต่เศษเสี้ยวของ “ความทุกข์” อยู่ในตน
คนผู้มีความสุขที่สุด คือ ผู้ไม่มีแม้แต่เศษเสี้ยวของ “ความสุข” อยู่ในตน


อย่าสร้างทุกข์

ถึงอย่างไร ก็อย่าทำตนให้หม่นหมองหรือโทมนัส มันเป็นความโง่ อย่าทับถมตน โดยเอาความไม่สบายใจ เอาความโกรธ ความหม่นหมอง หรือแม้ความท้อแท้ใจ ความหดหู่ใจ ความอึดอัดใจ ฯลฯ เข้าไปซ้ำเติมตนเป็นอันขาด จงทำใจให้เบิกบานสดใสเข้าไว้ นั่นคือผู้ฉลาด หรือผู้มีกำไรในโลกระดับแรก


มนุษย์และมนุษย์

ค่าใดจะยิ่งกว่า “น้ำใจ” นั้นเป็นไม่มี ใจที่จริง (ความบริสุทธิ์) ใจที่กรุณา (ทำจริง) ใจที่เสียสละอย่างรู้ประโยชน์ยิ่งๆด้วยปัญญา (วีรกิจแห่งมนุษย์) นั่นคือ ดรรชนีชี้ “ค่า” ที่เรียกได้ว่า ประเสริฐสูงสุด สำหรับความเป็นมนุษย์ที่มีต่อมนุษย์ ( ๑๘ มิ.ย. ๒๑)


เกิดเป็นคน

“คน” นั้นเกิดมามักจะหลงเข้าใจว่า เราเกิดมาเพื่อ “จะเอา” จะ ”อยากได้” ให้ได้มากๆ นั้น เป็นความดี ความประเสริฐ จึงได้ทำให้แก่ตนอยู่อย่างไม่รู้ลด ซึ่งเป็นการขาดทุนที่สุด แต่แท้จริงแล้ว ความประเสริฐความดีนั้นคือ “การให้” และ “ความหมดอยากมาให้ตน” นั่นต่างหาก จงสะสมความดี ความประเสริฐ ให้ถูกให้ตรงแท้ๆเถิด เกิดมาเป็นคนทั้งที (๒๙ ธ.ค.๑๙)


กินกับความสุข

“กิน” คืออะไร? ถ้าไม่รู้ความแท้จริงตามความเป็นจริง ก็จะยัง “หลง” ว่ากินเพื่อ “ความสุข” อยู่นั่นเอง แล้วก็ “อยาก” ให้มีรูป – รส – กลิ่น – เสียง – สัมผัส อย่างนั้น อย่างนี้ ตามที่ตนยึดถือ “อยาก” ให้โก้ ให้หรู ให้สนุก ให้พิลึก ให้ดูเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ตามที่ตนยึดถือ เมื่อได้ “ทำ” ให้เป็นไปตามที่ตนยึดถือตนอยาก จนบรรลุตามที่ตนหมาย ก็เรียกขานมันว่า “สุข” ว่า”สมใจ” ก็คือการสนอง “อารมณ์อยาก” มันก็คงเป็น “สุข” ส่วนเกิน เป็นเรื่องที่เราหาเรื่องขึ้นมา ให้ตนเองต้องเป็นภาระอยู่แท้ๆ นั่นแหละไม่มีอื่น ถ้าใครลดได้ วางได้ เลิก “ภาระ” หยุด “เรื่อง” ที่ตนหลงลงได้ ก็จะเบาสบาย และลด “การทำ” ที่เปลืองเปล่าลงไปอีกเป็นกอง


โรคอ้วน

การยังหลงบริโภค กินจุกกินจิก กินมากมื้อ ก็ช่างยั่วยวนให้มีโอกาส รับอาหารเกินจำเป็นเสียนี่กระไร ผู้
ยังถือสนุกกับการกิน เสพย์มาก ก็จงอย่าลืม โรคอ้วน แล้วก็โรคตามต่อแถวมาอีก


คนกับงาน

คนไม่ทำงาน ทว่าเอาแต่กินแต่ใช้ เอาแต่รับ นั่นคือ คนที่ยังเห็นแก่ตัวแท้ๆ คนที่ทำงานแต่พอเป็นพิธี ทว่ารับสิ่งตอบแทนมากเกิน หรือคนที่ทำงานมากๆ ยิ่งมีปัญญามาก ยิ่งมีช่องทางเล่ห์กลซ่อนแฝง กอบโกยเอามาให้แก่ตนมากๆ นั่นแหละคือ คนเห็นแก่ตัวที่ร้ายกาจ เป็นโจรบัณฑิตที่น่าเกลียดน่ากลัวที่สุด


เศรษฐศาสตร์ศูนย์

ในเมื่อคนเอาเวลา เอาทุน เอาแรงกาย เอาแรงความคิดความรู้ ไปสูญเสียกับ “การเล่นๆ” (การละเล่นหรืองานเล่นๆ) ไม่ผลักเบนหรือไม่กอบกู้เอาเวลา ทุน แรงกาย แรงความคิดความรู้คืนมา ใช้ในทางถูก มาทำ “การจริงๆ” (การที่เป็นสาระหรืองานที่มีเนื้อหาความสำคัญต่อชีวิตจริงๆ) ก็เป็นความเสื่อมโทรมของคน ของสังคมโลก ที่เดินทางไปสู่ความฉิบหายจริงๆ


คนอย่างเลว

คนบางคนมีทรัพย์สินร่ำรวย ก็ได้แต่ใช้ชีวิต กิน เล่น เที่ยว ฟุ่มเฟือย จับจ่ายเสพย์สุข (ที่ตน”หลง” ยึดหลงอยาก) เผาผลาญไปตามอำนาจแห่งความหลง ความมัวเมา ไม่มีประโยชน์อันใดในโลก นอกจากจะเป็น ตัวอย่าง”อันเลว”


สุข… สุก

เขานึกว่า…ความสุขคือสิ่งนั้น ความสุขคือความมีหน้ามีตา ความสุขคือความโก้เก๋ เขานึกว่าเขาสุขแล้ว เมื่อมีคนเข้าใจว่าเขาร่ำรวย มีคนเข้าใจว่า… เขาคือคนที่เหนือกว่าคนอีกมากมายหลายทางด้านวัตถุ เขาก็เป็นสุข ก็เท่านั้นเองสำหรับความหลงของมนุษย์


รักของมารร้าย

ความเห็นแก่กันและกัน หรือเห็นแก่พรรคแก่พวกอยู่อย่างเกินการ ไม่เห็นแก่ความถูกต้อง ไม่เห็นแก่สัจธรรมนั้นเป็นผีร้าย เป็นความเลวร้ายที่จะทำลายโลกทั้งโลกได้อย่างเกินคาด อย่าว่าแต่จะทำลายความสงบสุขของสังคม หรือทำลายแค่ประเทศชาติเลย (๒๓ ส.ค.๒๒)


ขัดแย้งคือสันติภาพ

จะไม่ให้มีการขัดแย้ง ไม่ให้มีสงครามในโลกนั้น เป็นไปไม่ได้เลยในโลกอันยังมีกิเลส จงจำไว้ว่า ความขัดแย้งที่พอดีนั้น คือความสมดุลที่หมุนและคล่องตัวของโลกที่เป็นอยู่


หัดเป็นปราชญ์

การหัดได้ของที่ตนรักที่ตนชอบมา แล้วก็เป็นสุขนั้น ใครมันก็ทำได้ จะประเสริฐอะไร !
แต่ การให้ของที่ตนรักตนชอบไป แล้วก็ไม่ทุกข์นั่นต่างหาก เป็นงานของปราชญ์และประเสริฐแท้ (๑๒ ม.ค.๒๑)


นอน

“การนอนหลับ” เป็นการพัก เป็นเหตุปัจจัยคู่กับการทำงาน ไม่ใช่กำไร แต่เป็นการรักษาสมดุลให้สรีระกายและชีวะเท่านั้น ถ้าผู้ใดพักผ่อนไม่สมดุล ก็อยากนอนมากนั้น ไม่น่าวิตก แต่ที่น่าวิตกก็คือ ผู้พักผ่อนก็มากพอแล้ว ทว่าหลงไปเสพย์ติดการนอนหรือการหยุด การไม่ทำงาน เป็นความสุขส่วนเกิน นี่เป็นกิเลส ตัณหา อุปาทานชัดๆ ที่ต้องรู้กันให้ได้


ผู้นำ = ผู้รับใช้

ผู้ที่สามารถ สร้างค่านิยมที่ดีงาม จึงเป็นผู้รับใช้สังคมอย่างแท้จริง


จุดจบสังคม

เมื่อในหมู่ชนใด มีแต่คนจะโลภ คนจะเอา มากกว่าคน รู้จักพอ คนผู้ รู้จัก”ให้” (ทาน) “การเบียดเบียน” ก็เกิดขึ้น ในสังคมนั้น หมู่ชนนั้น อย่างเลี่ยงไม่ได้เลย !


ใครเลว ?

สังคมเลว เพราะ คนดีท้อแท้

  รินถ้อยร้อยธรรม ชุด เพชร
   [
page: 2/6
close
   Asoke Network Thailand