page: 4/8

สารบัญ
ดวงดาว
[หน้า1]
ดวงคน
[หน้า2] [หน้า3]
ดวงธรรม
[หน้า4] [หน้า5] [หน้า6]
กรรมนิยม
ตามคติของชาวพุทธ
[หน้า7] [หน้า8]

  ดวงธรรม  

ดวงธรรม ดวงนี้ เป็นดวงธรรมของพุทธนะ

กำเนิดดวงธรรม

“ดวงธรรม” ก็เกิดได้ ๒ สภาพเหมือนกัน คือ

๑.เกิดเป็น “ดวงปัญญา” คือ สร้างความรู้ให้เกิดขึ้น ก็จะเกิดดวงปัญญาในตัวเอง

๒. เกิดเป็น “ดวงวิมุติ”

คน ก็เกิดจากดวงปัญญา ที่รักการเกิดก็พยายามจะสืบพันธุ์ แล้วก็เกิดมาเป็นดวงคน ออกมาเป็นลูกเป็นตัวคนจริงๆ นี้คือ การเกิดผลจากปัญญาโลก ก็เกิดตัวตนของ "คน”

ปัญญาอีกด้านหนึ่งเกิดเหมือนกัน แต่ไม่เกิดเป็นตัวในแท้ เพราะวิมุติหรือหลุดพ้น ออกไปเกิดเป็นดวงวิญญาณ ที่สะอาดขึ้นๆ ซึ่งมองไม่เห็นกันง่ายๆ วิมุติไม่มีตัวตน วิมุติไม่เหลือ คือ หลุดออกไปแล้ว จะไปไหนก็ช่างเถอะ ไม่ต้องคำนึงถึง

แล้วควรจะวิมุติอะไรออกไป ไม่ควรจะเอาไว้ เช่น กิเลส ตัณหา ต้องวิมุติทิ้งออกไป ตัดขาดออกไป เลิกกัน แต่มันก็ยังคงเหลืออยู่ ตราบที่ยังเป็นสภาพของการเกิดอยู่ เช่น ยังมีขันธ์ ๕ เกิดอยู่ เรียกว่า คนผู้เกิดดวงวิมุติ และดวงปัญญา

ดวงดาว ดวงคน ดวงธรรม ก็เกิดในสภาพ ๒ ลักษณะ เป็น “ดวงปัญญา” และ “ดวงวิมุติ”

“ดวงทิพย์”

ส่วนที่เหลือเป็นการเกิดอย่างอื่น เป็นดวงแห่งอภิญญา หรือ ดวงทิพย์ สามารถเหาะเหิน ทำอภินิหารอะไรๆได้ นี้ไม่ใช่ “ดวงธรรม”

ดวงทิพย์ เป็นความสามารถที่โลกหลง แต่ผู้มีปัญญาสัมมาทิฏฐิ อย่างธรรมแท้แล้ว จะไม่ต้องการเลย

แต่ดวงธรรมของศาสนาอื่นนั้น เอาดวงทิพย์มาใส่ปนด้วย เช่น เขาได้ตาทิพย์ หูทิพย์ โสตทิพย์ ได้บุพเพนิวาสานุสติญาณ-ระลึกชาติได้ ได้จุตูปปาตญาณ - ระลึกชาติ ให้คนอื่นได้ ได้เจโตปริยญาณ - ระลึกดูจิตผู้อื่น ทายใจเขาได้ ได้อิทธิปาฏิหาริย์ - เหาะเหิน ดำดิน แปลงรูป เป็นอิทธิวิธี เป็นความเก่งในทางใช้พลังงานจิต นี้คือ ดวงทิพย์ ยังไม่ใช่ ดวงธรรม ไม่ใช่สภาพจบที่จะหมดสิ้น สูญสลาย หรือว่านิพพาน เป็นดวงธรรมเก๊

พระพุทธเจ้าท่านแยกเป็นดวงทิพย์ ถ้าใครหลงอยู่ ก็ยังไม่พ้นโลก จึงยังไม่วิมุติแท้

ดวงทิพย์ แบบสร้างเดรัจฉานวิชา สร้างตาทิพย์-หูทิพย์ สร้างอิทธิวิธี อภิญญาเก๊ต่างๆก็ไม่เอา แม้มีในตน เพราะเราได้อบรมฝึกฝนมา จนมีได้ ก็ไม่หลงติด

ที่สุดแม้แต่อภิญญาสุดท้าย อาสวักขยญาณ ซึ่งเป็นเจโตวิมุติอย่างเดียว ก็ต้องมีปัญญาที่จะไม่ติดไม่หลง เป็นแดนสวรรค์ หรือไม่เอาด้วย

ศาสนาอื่น ดับนิโรธแล้วก็ดับดิ่งเลย ไม่มีปัญญา เหมือนคนจำศีล อยู่ได้นานๆ ทำพลังงานของตนเอง ให้ดับนิ่งอยู่ให้ได้นานที่สุด พอหมดพลังงาน (สะกดจิต) ก็กลับมาเกิดอยู่อย่างเก่าอีก วิมุติอย่างนี้ ศาสนาพุทธเห็นว่า ยังไม่มีปัญญา ไม่เอา

วิมุติของพระพุทธเจ้า มีลักษณะ ๒ อย่างรวมกัน ทั้งพลังงานจิต และพลังงานปัญญา เรียกว่า อุภโตภาควิมุติ คือ ต้องมีปัญญาวิมุติ และ เจโตวิมุติ ให้ได้จริงๆ แค่เจโตวิมุติอย่างเดียวไม่พอ

“ดวงธรรม”

ถ้าต้องการให้เกิดดวงธรรม เราสร้างได้-เราทำได้ด้วย “ดวงปัญญา” กับ “ดวงวิมุติ” เท่านั้น

สร้าง”ธรรมะ” ให้เป็นลูกของเรา สร้างปัญญาธรรม กับวิมุติธรรม ๒ ดวง เท่านั้น อย่าไปสร้างอย่างอื่น

พุทธธรรม นั้น สร้างดวงธรรม ดวงปัญญา หรือดวงวิมุติ สูงยิ่ง

ปัญญารู้อะไร? ก็รู้ให้ได้ว่า คนหลงการสร้างโลก (โลกธรรม) ทำตนให้เต็มไปด้วย ลาภ-ยศ-สรรเสริญ-สุข แล้วก็หลงจม วนเสพอยู่กับโลกธรรม เท่านั้นเอง

ดวงปัญญา นี้ ไม่ใช่ปัญญาทางโลก ที่ปรุงโลกธรรมให้แก่ตน ได้ลาภ-ยศ-สรรเสริญ-สุข หรือปรุงให้ตัวเองได้กามคุณทั้ง ๕ แต่เป็นธรรมะ อันฝืนกระแสตรงข้ามไม่เอาลาภ-ยศ-สรรเสริญ-สุขอย่างโลกๆ ที่หลงเสพกาม-เสพภพ

ทำงานกันอยู่ทุกวันนี้ ได้สั่งสมปัญญา แบบนี้หรือเปล่า?

คุณสั่งสมปรุงปัญญา เพื่อสร้างลาภ-ยศ-สรรเสริญ-สุข อยู่ทุกวันใช่ไหม?

นี้คือ ความเป็นคน เป็นปุถุชน ไม่ใช่ดวงธรรม ไม่ใช่พุทธ

ใครยึดถือ แล้วก็มุ่งหวังสิ่งเหล่านี้อยู่ ก็เป็นเรื่องธรรมดาของคน เป็นปัญญาของคนธรรมดา ไม่ต้องสอน เพราะโดยใจของคน ต่างก็มุ่งทำอยู่แล้ว ใช่ไหม?

ปัญญาโลกีย์ ปัญญาอย่างโลกๆ ไม่ต้องพระพุทธเจ้าสอน ทุกคนสอนกันอยู่ วิชาการต่างๆ ทุกแขนง เช่น วิทยาศาสตร์ เกษตรศาสตร์ อักษรศาสตร์ แพทยศาสตร์ อะไรๆ อีกมาก ทุกอย่างที่เรียนกันอยู่เดี๋ยวนี้ แม้แต่วิชาเหาะเหิน เดินน้ำ ดำดิน หยั่งรู้ใจคน เป็นต้นนั้นก็ตาม เรียนไปก็เพื่อจะสร้าง ลาภ-ยศ-สรรเสริญ-สุข-กามคุณ-ภพอัตภาพ

เป็นปัญญาของคนทั่วๆไป ฝังอยู่ในอนุสัย อาสวะ ฝังอยู่ในจิตลึกๆ

แล้วทุกคน ต่างก็มุ่งแสวงหาทำอยู่ทุกวัน พระพุทธเจ้าไม่ต้องสอน แต่อาจเสริมบ้าง บางวิชา บางความรู้

ดวงธรรม

พระพุทธเจ้าเกิดมาเพื่อสอนสิ่งที่ดีกว่านี้ คือ สอนให้ออกจาก โลกของคน ออกจากโลกของโลกธรรม ๘ นี้เป็นวิชาหลักของพระองค์ เป็นดวงธรรมแท้ๆ ที่จะอยู่เหนือโลกธรรม ๘

คือ ไม่หวังลาภ-ยศ-สรรเสริญ-สุข-กามคุณ-ภพอัตภาพแบบโลกๆ แม้ได้มาก็เฉยๆ

เมื่อเสื่อม ลาภ-ยศ-สรรเสริญ-สุข (ทุกข์) ก็ไม่เดือดร้อนเสียใจเลยเฉยๆ

นี่แหละคือ สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนให้คนเราเรียน และพยายามทำให้ตนเอง หลุดพ้นจากโลกธรรม ๘ เป็นปัญญาที่เหนือกว่าจริงๆ

ปัญญาของพระพุทธเจ้า จึงสอนกลับ สอนให้เลิกอยู่เป็นสุข ด้วยโลกธรรม ๘

ฝึกหัดทำทาน-ทำงาน-ทำหน้าที่ให้ได้ โดยไม่หวังแลกลาภ-ยศ-สรรเสริญ และไม่เอาทั้งสุขแบบโลกๆด้วย ไม่เสพกามคุณ-ไม่เสพภพอัตภาพ ทุกประตูเลย นี้คือ ดวงธรรมของพระพุทธเจ้า มีเส้นทางโคจรอย่างนี้

ทิ้งโลกได้ จึงเหนือโลก

ดวงปัญญาของพระพุทธเจ้า ก็คือ ดวงปัญญา ที่จะสอนให้ทิ้ง สิ่งที่เป็นโลกเหล่านั้น ถึงจะยืนอยู่เหนือโลก ทิ้งโลกให้ได้ก็จะอยู่เหนือโลก

เดินไปชน “ลาภ” แล้วไม่เอา จะเอามาทำไม เมื่อปัจจัย ๔ เลี้ยงชีวิต ให้ร่างกายตั้งอยู่ได้ มีเพียงพอแล้ว ใครเอาลาภมาให้ ๓ กอง ใครไม่มี ก็ทำทานให้เขาไปให้หมดทั้ง ๓ กอง ฟังดูไม่ยาก แต่ตอนทำนี้สิ ไม่ง่ายนะ ต้องฝืนกระแสใจ ต้องตัดใจ

เดินไปเจอกองเงินสักหมื่น จะเดินเลี่ยงหนี ไหวไหม?

อาสวะ(กิเลส) ภายในใจ ยอมจริงๆ หรือ? ขอถามหน่อย

ฟังดูไม่ยาก เป็นสุตมยปัญญาง่ายๆ แต่ตอนทำนี้สิ ไม่ง่ายนะ ต้องฝืนกระแสใจ ต้องตัดใจ

สำหรับผู้พ้นแล้วท่านมีสภาวะ มีภาวนามยปัญญา เงินเป็นล้านๆ สมบัติพัสถานต่างๆ ท่านก็ทิ้งไปได้อย่างสบาย ไร้อาวรณ์ คุณทำได้หรือยัง?

คุณต้องลองทำจากเงินน้อยเงินนิด ต้องทิ้ง ต้องสละให้ได้เสียก่อน หัดทำทาน ๑๐–๒๐–๓๐–๑๐๐ บาท ก็หัดทานเข้าไป เป็นการฝึกหัด ให้เกิด “ภาวนามยปัญญา”

“บ้านอยู่อาศัย” ก็ไม่ต้องลุ่มหลง อยู่โคนไม้ อยู่ป่า อยู่เรือนว่าง เรือนไม่มีเจ้าของ หรือเจ้าของอนุญาต เรียกว่า สุญญาคาร ก็ต้องฝึกหัดอยู่ให้ได้

ถ้าใครมีปัญญาทางธรรมแล้ว จะไม่มีอะไรเป็นของเราเลยในโลก สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ใครจะมาขโมยก็ให้เขาได้ ไม่ถือโทษโกรธเคือง

“เสื้อผ้า” ก็แค่นุ่งห่ม พันกาย

เป็นพิษภัย เพราะหลงปัจจัย

ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ใครหลงใช้ของดีของแพง ก็จะเป็นทางมาแห่งโทษภัย ไม่ว่าจะเป็น นาฬิกา สร้อย เพชร แหวน ทอง เงิน ภัยจากการมีทรัพย์ มีให้เห็นทุกวัน ตามหน้าหนังสือพิมพ์ โจรมันไม่ต้องการข้อมือ นิ้วมือหรือคอของใคร แต่มันต้องการสิ่งประดับ มีราคาตามข้อมือ นิ้วมือ หรือคอของคุณ

ของใช้ทุกสิ่งทุกอย่าง เราใช้แต่พอประมาณ เอาคุณประโยชน์ที่แท้จริง อย่าไปเพ่งเล็งในความสวยงาม หรือ เพ่งเล็งแต่ในสิ่งที่จะอวดกัน โก้ เก๋ หรูหรา ล้วนแต่เป็นภัยมาถึงตัว เป็นเรื่องของดวงคน

เพราะฉะนั้น ขอปรามอย่าไปหลงเลย ดวงคนต้องเดินทาง ไปสู่สิ่งที่สูง

ถ้าคุณไม่ทำตัวคุณให้สูง คุณก็ต่ำ ลงนรกบ้าง ขึ้นสวรรค์บ้าง เกิดเป็นคนบ้าง เป็นเดรัจฉานบ้าง

ถ้าคุณตัดทางไม่ให้ลงนรก ไม่ให้เป็นเดรัจฉาน ปิดอบาย คุณจะเกิดในทิศทางดีที่สุด อย่างน้อยขึ้นสวรรค์ อย่างสูงเข้าหานิพพานเลย เป็นอริยบุคคล เป็นโสดาบันเกิดอีก ๗ ชาติ ก็จะบรรลุนิพพานได้ จึงต้องพยายามปิดประตูอบายทุกอย่าง เลิกสร้างโทษภัย ให้แก่ตนเอง

โทษภัยอยู่ที่ไหน? ก็อยู่ที่ไปหลง ราคะ โลภะ โทสะ โมหะ กับ โลกธรรม มานะ อัตตา แล้วก็สร้างบาป

เพราะฉะนั้น อย่า! ไปหลงโลกเลย

ฝึกตน ให้พ้นโลก

การปฏิบัติธรรม มีทาน-ศีล-ภาวนา

ภาวนา คือ การปฏิบัติ ทำให้เกิด ทำให้เป็น ทำให้ได้ ได้ง่าย จนเข้าไปถึงจิต

ผู้ใดฝึกปฏิบัติธรรมะอย่างพระพุทธเจ้าจริงๆ มีทาน-ศีล-ภาวนา ได้ทำจริงๆ ก็ได้ปฏิบัติธรรม

การสร้าง”ทาน” คือ การสร้างภาวนาเหมือนกัน

พยายามถือ”ศีล” ก็เป็น ภาวนาแท้ๆ

ภาวนา คือ การทำให้มี การทำให้เป็น การทำให้เกิด

เกิดอะไร? ก็เกิดความเป็นอย่างที่เราจะให้เป็นนั้นๆ

การทาน การเสียสละ อย่าเพียงแต่คิด ว่าจะสละเมื่อไรก็ได้ ไม่จริงหรอก บางคนมีเงินหมื่น เงินแสน แต่ไม่กล้าทำทาน แม้สักพันหนึ่ง ถ้าหากไม่หัด ไม่ฝึก ไม่ตัดใจจริงๆ จะให้ไม่ได้ ไม่ทำจริงๆ ก็ไม่เป็น ไม่เกิด ไม่สำเร็จการสำรอกกิเลสจริง ไม่เกิดปัญญาถอนอาสวะแน่ๆ

เช่น มีเงินอยู่ในมือ ๑ หมื่น แล้วให้คนอื่นไปเลย กับ การที่ไม่มีเงินเลย ต้องพยายามทำงาน เพื่อให้ได้เงินสักหมื่น อย่างไหนจะทำได้ง่าย และเร็วกว่ากัน ตอบซิ

ทิ้งไป นี่แหละ ง่ายและเร็วกว่า แต่ตัดใจทำได้ยากกว่า ใช่ไหม?

ถึงแม้ยาก ก็ต้องทำ นี้คือ ธรรมะ นี้คือ ทางที่จะเกิดดวงปัญญา

ต้องเห็น-ต้องทำ อย่างนี้ให้ได้ หัดทิ้ง แล้วทิ้งให้ได้ ด้วยปัญญาแห่งธรรม

จะเห็นได้ ทำได้ ต้องฝึกหัดทำทาน ทีละน้อย ทีละมาก จนจิตมีอินทรีย์พละ แกร่งกล้าจริงๆในการกล้าเสีย แต่มิใช่กล้า อย่างบ้าบิ่น ไม่ประมาณ ไม่รู้ความเหมาะควรตามฐานะ กาละ เทศะ หรอกนะ

ผู้ใดฝึกหัดทิ้ง ให้ได้เท่าใด ก็คือ วิมุติ หลุดพ้นออกจากสิ่งนั้นได้เสมอ

ทุกวันนี้ ดวงคน กล้าได้ แต่ไม่กล้าเสีย ใช่ไหม?

การฝึกตนให้พ้นจากโลกีย์ ต้องอย่าฝึกหัดโลภ-หัดเอา-หัดมี-หัดได้ เพราะธรรมดา เมื่อเราสร้างสรรค์ขยันอยู่ มันก็ย่อมเกิด ย่อมมีอยู่แล้ว อย่าได้สั่งสมให้มีมากขึ้น จนกระทั่งหยาบกร้านไม่คำนึงถึงศีลธรรม ขอให้ข้าได้เท่านั้นเป็นพอใจ ซึ่งเป็นความรู้ความฉลาดที่ไม่ถูกต้อง “ธรรมปัญญา ต้องฝึกหัดทิ้ง”


  ดวงดาว ดวงคน ดวงธรรม
 
page: 4/8
   Asoke Network Thailand
อ่านต่อ ดวงวิมุติ