ธรรมาวุธในการประหารโลกีย์
ศีล มีไว้ เพื่อให้ตัดกามคุณ
ตัดภพอัตภาพ ตัดลาภ-ยศ-สรรเสริญ-สุข
ลาภ-ยศ-สรรเสริญ-สุข ประหารได้ด้วย
"ทาน เป็นหลักใหญ่ ทาน ให้หมดทุกอย่างด้วยการปฏิบัติศีลภาวนา
แล้วจะเกิดอธิจิต (สัมมาสมาธิ) เกิดอธิปัญญา
กามคุณ ประหารได้ด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา
เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้เกิด ดวงธรรม
แก่เรา ก็จะต้องทำตนให้เป็นผู้ที่ถึง ปัญญา เข้าใจให้ได้ถูกต้อง
ตรงทาง เป็นสัมมาทิฏฐิ คือตรงข้ามกับโลก กับโลกียะ แล้วก็ทำให้วิมุติ หลุดขาดไปได้เร็วๆ
เราก็สูงขึ้นเรื่อยๆ
จนกระทั่งสบายตน สบายตัว อยู่ในมัชฌิมาปฏิปทา
นุ่งห่มพอประมาณ กันร้อน กันหนาว ไม่มาก ไม่สวย ไม่รวย ไม่โป๊
ไม่เปลือย อาหารการกินพอดี วันละมื้อได้ ก็สบายที่สุด ที่พักอาศัยพอประมาณ
ไม่มีก็ไม่ห่วงหาอาวรณ์นัก สูญญาคารก็ได้ ไม่มีก็โคนไม้ ตามพื้นดินง่ายๆ
สบายดี เจ็บไข้ได้ป่วยก็มียา เท่านี้แหละ คือ ปัจจัยแห่งชีวิต
นอกเหนือจากนี้ ไม่ใช่ปัจจัยแห่งชีวิต เป็นสิ่งที่ใหญ่โต เพิ่มพอกพูน
ปัญญา นั้น ต้องให้เข้าใจการที่จะต้องทิ้งสิ่งเหล่านี้ ออกไปให้หมด ให้วิมุติลง
ต้องมีดวงปัญญาที่อ่านรู้วิมุติ ที่เป็นพุทธแท้ หลุดพ้นออกมา
ทานเพื่อให้ ไม่หวังตอบแทน
ขั้นตื้นๆ เงินสัก ๑ บาท ๕ บาท
๑๐ บาท คุณก็วิมุติออกจากตัวไม่ได้ มันหลุดไปก็เก็บคืนมา หลุดไป
๕ อยากได้คืน ๑๐ เช่น ทำทาน ๕ บาท ขอให้ถูกล็อตเตอรี่ อย่างนี้
ไม่วิมุติหรอก เป็นการค้ากำไรเกินควร
วิมุติ จึงคือเราให้ออกไป โดยไม่หมายเอาคืนมา ทุกประตู
ไม่หมายเอาคืน ทั้งลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ไม่มุ่งหมายแม้ตำแหน่ง หน้าตาทางสังคม
การทำบุญไปล้านหนึ่ง แล้วได้ยศตราตั้ง มาเป็นคุณหญิง
ก็ดีใจอวดโชว์ฉลองกัน ถือว่าได้แลกเปลี่ยนมาแล้ว เหมือนค้าขาย
เพียงแต่ไม่เป็นวัตถุธรรม มันเป็นนามธรรม คือ เป็นยศ หรือหวังให้เขาสรรเสริญ
ยกชูปอปั้น ประกาศทางวิทยุโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ปิดป้ายชื่อตามประตูตึก
เท่ากับเสพเป็นของแลกเปลี่ยน ที่คุ้มทุนเกินทุนมาหมดแล้ว บางทีเกินจนเป็นหนี้
อย่างนี้มิใช่ การทำบุญที่ถูกต้อง ที่เกิดวิมุติ
ถ้าคุณไม่แลกเปลี่ยน เอามาเสพเสวยสวรรค์
มันก็จะเหลือสวรรค์ ไปในวิมานข้างหน้าเป็น สัมปรายิกัตถประโยชน์
คือ ประโยชน์ในภพหน้า
บุญของพุทธต้องได้ประโยชน์ครบ
บุญของพระพุทธเจ้านั้น ต้องทำบุญ
ต้องทำทาน ให้มีประโยชน์ครบทั้ง ๓ อย่างคือ
๑. ทิฏฐธรรมมิกัตถประโยชน์
๒. สัมปรายิกัตถประโยชน์
๓. ปรมัตถประโยชน์
เดี๋ยวนี้ทำบุญกันไม่มี ปรมัตถประโยชน์
ส่วนมากก็หวังเพียงแค่ ทิฏฐธรรมมิกัตถประโยชน์
คือ ทำไปแล้ว ก็หวังผลทันตา ได้แลกคืนกลับมา ในชาตินี้มากกว่าเดิม
เป็นลาภ เป็นยศ อย่างน้อยก็ได้สรรเสริญกันเดี๋ยวนี้ ก็เท่ากับ ไม่ได้เหลือทาน เหลือบุญอะไร
ถ้าคุณเสพ ทิฏฐธรรมมิกัตถประโยชน์ หมดในชาตินี้ สัมปรายิกัตถประโยชน์
คือ ส่วนบุญที่เหลือหรือ ทานที่เหลือไป ในชาติหน้าไม่มี สวรรค์ก็ไม่เหลือ
ถ้าเสพไม่หมด แลกคืนมาไม่หมด แม้แต่เสพทาง
"จิตใจ หลงยึดเป็นความโลภ ของตนน้อยลงดีใจน้อย ก็เหลือเป็นสภาวธรรม ไปในชาติหน้า
เป็นสวรรค์ ให้ได้เหมือนกัน แต่จะไม่มีปรมัตถประโยชน์ เลย คือเป็น มรรคผลนิพพานไม่มี
จะทำให้ได้ประโยชน์ได้อย่างไร?
คือให้ทานไปแล้ว ก็ให้อย่างลืมเลยไม่หวังอะไรตอบแทน
จะได้ประโยชน์พร้อมกัน
๑. "ทิฏฐธรรมมิกัตถประโยชน์ จะทำทานให้สตางค์ ต้องใช้ปัญญาพิจารณา
เช่น พระองค์นี้มีคุณธรรม ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ กุฎีท่านไม่มี
เราสร้างให้ท่าน ก็เป็นประโยชน์แก่ท่านแล้วทันที หรือทำทานกับคนขาดแคลนไป เขาก็ได้รับประโยชน์ทันที
เรียกว่า ทิฏฐธรรมมิกัตถประโยชน์ คือ มีปัญญาที่จะให้ผู้อื่น อย่างเหมาะสม
แล้วให้ประโยชน์เกิดแก่ผู้นั้น ก็บริบูรณ์แล้ว ไม่ใช่ได้เสพลาภยศ สรรเสริญ กามคุณ
หรือ สร้างภพอัตภาพอะไร (ทิฏฐธรรมเท่ากับ ทันตาเห็นเดี๋ยวนี้
คือ ทำถูกต้องเป็นประโยชน์แล้วก็พอ ไม่ต้องคิดถึงอื่น) เราทำถูกต้องได้อย่างนี้จริงๆ ทั้งกายและใจทีใด
ก็เท่ากับ เราเจริญขึ้น เขยิบขึ้นไม่ต่ำลงทีนั้นจริงๆ ไปเรื่อยๆ
๒. แล้วจะมี สัมปรายิกัตถประโยชน์
เองคือ ประโยชน์ในเบื้องหน้า เช่น ให้ทานแก่ใคร เราไม่คิด เอาอะไรตอบแทน
เพราะเชื่อในกรรมดีนั้นๆ ว่า เป็นกรรมดีที่ทำแล้ว ก็เป็นวิบากดีแล้ว เป็นของตนแล้ว ยิ่งขัดเกลากิเลสตนด้วยการ
"ปฏิบัติศีล สูงขึ้น ยิ่งเห็นมรรคผล สูงขึ้นมากขึ้น
เพราะบริสุทธิ์บริบูรณ์ในศีลนั้นๆ ยิ่งขึ้น ก็ยิ่งเห็นจิต ที่เสียสละ
ละโลภ ละโกรธ ได้ยิ่งขึ้น นั่นคือ เราเป็นคนใหม่ที่จริง ที่ได้รับสัจธรรม
เป็นคนมีบุญแท้ๆ คือ ได้สำรอกความโลภออกได้ จิตเกิดใหม่ เป็นจิตเจริญขึ้นไป จากที่เคยเป็นมาแต่เก่าก่อน เป็นจิตใหม่ ที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
เรียกว่า ไปเบื้องหน้า หรือ ไปในโลกใหม่ ที่ไม่เคยเป็น ไม่เคยอยู่
นี้คือ สัมปรายิกัตถประโยชน์ ที่ผู้รู้แจ้งจิต หรือนามธรรมในตน
ด้วยดวงปัญญา ก็คือเห็นโลกใหม่ หรือโลกหน้า ที่เราเป็น เราถึงได้ในปัจจุบัน
คือ เจริญจริงในร่างกาย ที่มีชีวิตอยู่ขณะนี้นี่เอง
แต่โดยความเป็นจริง แม้แต่เบื้องหน้า
ภพหน้า ที่ตายไปแล้ว เราทำบุญทำทาน ก็เงินของเราจริงๆ โดยบริสุทธิ์
ถ้ายังไม่นิพพาน ต้องกลับมาเกิดในโลกอีก เพราะยังสั่งสม นิพพานจิตไม่เต็มพอ
ได้นิดหน่อยเป็น พระโสดาบัน
ก็จะต้องมาเกิดอีก บุญที่ทำนี้ ก็จะตามมาเกื้อหนุนจริงๆ
เพราะเราทำบุญทำทาน โดยไม่หวังผลเสพ ตอบแทน ไม่ได้รับแลก ตอบแทนคืนมา
ไม่ได้ขอคืนมา ด้วยประการทั้งปวง ไม่ทวงบุญทวงคุณ เป็นกุศลจริงๆ
จะส่งผลช่วยเรา ได้จริงๆ แม้ตายไปเบื้องหน้า เปลี่ยนร่าง เปลี่ยนกายใหม่จริงๆ
บุญนั้นจะรองรับเรา
๓.ถ้าทำบุญอย่างที่ว่าก็จะได้ ปรมัตถประโยชน์
ทำให้จิตเป็น นิพพานคือ ทำอย่างสูงอย่างลืม ไม่ต้องการอะไรตอบแทน
ทำอย่างใจว่างๆ โดยเห็นประโยชน์แท้จริง ที่จะช่วยเขา ไม่ขออะไรตอบแทนทั้งมวล
ทำอย่างว่าง อย่างวาง ไม่มีโลภะกิเลส ไม่ต้องการโลกธรรมแลกเปลี่ยนมาเสพ
แม้แต่กามคุณ และภพอัตภาพ
เพราะฉะนั้น ปรมัตถประโยชน์ นี้
จะกินความถึง ทิฏฐธรรมมิกัตถประโยชน์ และ สัมปรายิกัตถประโยชน์
เป็นประโยชน์ทั้ง ๓ อย่างพร้อมกัน ถึงขั้นมรรคผลนิพพาน ถ้าสั่งสมได้มาก
ก็นิพพานในปัจจุบันนี้ สิ่งที่ทำประโยชน์ไปแล้ว ก็ให้แก่โลกไปเลย
อโหสิกรรมหมด บุญที่ทำไว้ก็เลิกกัน ไม่ต้องเกิดมารับรองผลตอบแทนอีก
ทานสูงสุดของศาสนาพุทธ เป็นอย่างนี้นี่คือ
คุณธรรมของศาสนาพุทธ นี้คือ ปัญญาของศาสนาพุทธ ต้องพากเพียรปฏิบัติให้ได้
กุศลใดควรทำ จงทำ
จงเห็นให้ได้ด้วยปัญญา สิ่งใดควรทำ
จงทำ เช่น ช่วยเหลือรัฐบาล สร้างโรงพยาบาล โรงเรียน สมาคม มูลนิธิ
ช่วยคน หรือช่วยพระ ถ้าเห็นควรช่วยเหลือ ก็พึงกระทำ แล้วอย่าหวังผลตอบแทนใดๆ
ทั้งปวง
คำสอนเดี๋ยวนี้ สอนให้ทำทานมีประโยชน์แค่สวรรค์
ที่จะได้อะไรตอบแทนในชาตินี้ หรือไม่ก็ชาติหน้า ซึ่งลดคุณธรรมของพุทธไปมาก
เพราะเอาแต่ของตอบแทน หักกลบลบค่า "ตัวให้ ด้วยการ
รับคืน มาเรื่อย แล้วอะไรจะเหลือ มิหนำซ้ำ เอามาเกินเสียอีก
ปฏิบัติทานให้จริง ปฏิบัติศีลให้ตรง
ก็เป็นสมาธิอยู่ในตัว เป็นภาวนาอยู่ในตัว
ดวงธรรม
เมื่อทำตนให้ได้ธรรมปัญญาหรือดวงธรรมที่แท้
เกิดดวง ปัญญา จริงๆ ทำให้ได้เป็น ดวงวิมุติ ทุกครั้งๆ
หลุดพ้นออกไป ไม่มีโลภะ ทำทานรักษาศีลก็ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่มีจิตฟูๆแฟบๆ
มีแต่จิตหลุด จิตวาง จิตไม่ยึด จิตปล่อย จิตสงบ จิตหยุด มีแต่วิมุติไปพร้อมกัน
เข้าใจด้วยปัญญาเดี๋ยวนี้ เห็นของจริง ที่เราทำได้ ทั้งกายและใจจริงๆ เดี๋ยวนี้
ก็เป็นปัญญา เป็นดวงปัญญา
เมื่อประพฤติได้จริง ก็จะเป็นดวงวิมุติของเราจริงๆ
ไม่มีอื่น แบ่งให้ใครไม่ได้ ต้องทำเอาเอง
นี่คือ ดวงธรรม ทั้งหมด
ดวงธรรมมีดวงปัญญาและดวงวิมุติเท่านั้น
ก็เป็นอันว่าบรรยายมาครบทั้ง ๓ ดวง คือ
ดวงดาว ดวงคน ดวงธรรม
|