[เลือกหนังสือ]      ปก | คำนำ | สารบัญ | ภาคผนวก | คัชนี | ผู้เขียน
ตอนที่  41-60
page: 4/5
ตอนที่ 81-100

เลือกโศลกธรรม ตอนที่ [1-20] [21-40] [41-60] [61-80] [81-100]

โศลก 61 - 80 :
อุปสรรค | หยุดอยู่ | จ่าฝูงที่แท้ | สุข | จงพิจารณาเสมอๆ ว่า | ผู้หลงอยู่กับสุข | การเพิ่มภูมิเพิ่มธรรม | ข้ามโอฆสงสาร | ปัญญา | ความอร่อย | ผู้ค้ำจุนโลก | ทางไปนิพพาน | ความสงบสนิท | การบวช | เป็นนักบวช | ความสบาย | บรรลุธรรม | พุทธศีล | รู้จักจิตของตน | สติปัฏฐาน

61. ไม่มีใครที่จะไม่มี "อุปสรรค" และจงดีใจเถิดว่า "อุปสรรค" นั้นแหละคือ โจทย์ชิ้นเยี่ยมอันจะทำให้เรา "ชาญฉลาด" ในการจะแก้ไขทุกอย่าง "เป็นไปด้วยดี" ได้อย่างเก่ง เราจะใช้เงินไม่ว่ากี่ล้านจ้างทำ "โจทย์" เหล่านี้ให้แก่เราไม่ได้เลยเป็นอันขาด มันเป็นกำไรของเราโดยแท้จริงๆ ข้อสำคัญที่สุดก็คือ คำว่า "อุปสรรค" นี้ต้องรู้จักมันให้ได้-ให้ดี อย่างแท้จริงเถิดว่า มันมีอยู่ในคนทุกคน แม้กระทั่งผู้ที่เป็นพระอรหันต์แล้วก็ยิ่งจะมี "อุปสรรค" อยู่ตลอดเวลาทุก ลมหายใจเข้าออก
(10 เม.ย. 2520)

- กลับไปที่หัวเรื่อง


62. เมื่อผู้ใด "หยุดอยู่" เราจง "กระทำเถิด"! และเมื่อผู้ใด "กระทำอยู่" เราก็จง "หยุดเถิด" ถ้าสมควรจะ "หยุดอย่างยิ่ง"! หรือไม่เช่นนั้น เราก็จะต้องช่วยกัน "กระทำให้ยิ่ง" นั่นแหละ คือความเจริญ-ความประเสริฐสุดในมนุษยชาติ สำหรับผู้หมด "ความเห็นแก่ตัว" อย่างจริงใจจริงๆ
(10 เม.ย. 2520)

- กลับไปที่หัวเรื่อง


63. ผู้จะเดินต่อไป ผู้จะนำหน้านิรันดรนั้น ควรเป็น "จ่าฝูง" ที่แท้จริง ควรเป็นผู้เจาะกะเปาะไข่ได้แท้ เมื่อใดผู้ใดรู้ตัวว่าตนยัง "บกพร่อง" อยู่ ก็จงทำตนให้ "เต็ม" ผู้ใดรู้ตัวว่าได้ "ดี" แล้ว ก็ให้รู้ให้ชัด และเมื่อตน "เต็มแล้ว" ก็จงรู้จักเต็ม อย่าทำเกิน อย่าเทจนล้นอยู่อย่างงมงาย ซ้ำซากเสียเวลาเปล่า เป็นอันขาด แล้วจงนำที่มี-ที่เต็มนั้นมาแจกผู้อื่นต่อและต่อๆๆๆ . . . ไป จึงจะงามแท้ ประเสริฐแท้-เจริญแท้

(10 เม.ย. 2520)

- กลับไปที่หัวเรื่อง


64. จงรู้ "สุข" ให้เป็น "สุข" ชัดๆ รู้ "ลำบาก" ให้เป็น "ลำบาก" ที่ควรลำบากแท้ แล้วก็อยู่กับ "ลำบาก" นั้นให้เป็น "สุข" เทอญ
(10 เม.ย. 2520)

- กลับไปที่หัวเรื่อง


65. จงพิจารณาเสมอๆ ว่า "ความแก่" นั้นเป็นเรื่องธรรมดา
จงพิจารณาเสมอๆ ว่า "ความเจ็บ-ความปวด-ความป่วยไข้" นั้นก็เป็นเรื่องธรรมดาๆ
จงพิจารณาเสมอๆ ว่า "ความตาย" นั้นก็เป็นเรื่องธรรมดาๆ
แม้นเราประสบกับ "ความแก่ - ความเจ็บ - ความตาย" เราก็จงทำใจให้เหมือนกับเราย่อมพบกับการหายใจออกหายใจเข้าเป็นธรรมดา มันไม่มีใครจะไม่ประสบกับ ความแก่ - ความเจ็บ ที่สุด "ความตาย" จงทำใจให้ "ธรรมดา" ทำใจให้วางสบายสนิท รู้ความจริง ตามสภาพนั้นๆ แล้วก็จง "ปล่อยวาง" ให้เป็นธรรมดาๆ นั้นคือ สุดยอดของนักปฏิบัติธรรม

(24 เม.ย. 2520)

- กลับไปที่หัวเรื่อง


66. ผู้หลงอยู่กับ "สุข" อันโอ่อ่า-มากมาย หรือ หลงอยู่กับ "สุข" เล็กๆ น้อยๆ อย่างโลกๆ นั้น คือผู้ยัง "ไม่รู้"(อวิชชา) จัก "ความสุข" ที่รำงับจากความเสพย์ "สุข" หรือที่ปราศจากละอองจิตซึ่งเป็นต้นเค้าแห่ง "ความติด" อยู่ของตนๆ จริงๆ จึงเป็นผู้กล้าจน-ไม่ได้! จึงเป็นผู้กล้าหมดตัวอย่างพระพุทธเจ้าท่านกล้าหมด - ไม่ได้! จึงเป็นผู้กล้าอยู่กับทุกข์ทุกชนิด เช่น พระพุทธองค์เป็น และพาอริยะพุทธบุตรทั้งหลายเป็น-ไม่ได้!
(25 เม.ย. 2520)
- กลับไปที่หัวเรื่อง


67. จงใช้ภาระที่ยังไม่สิ้นของเรานั้นให้เป็นประโยชน์ใน การเพิ่มภูมิเพิ่มธรรม แก่ตนให้ได้ และจงขีดขอบของภาระไว้อย่าให้เพิ่มออกไปอีกเป็นอันขาด การปลงภาระของเราก็ย่อมมีได้ และวันจบภาระทั้งภายนอกภายในของเราก็จะมาถึงได้เร็วที่สุด
(16 พ.ค. 2520)

-
กลับไปที่หัวเรื่อง


68. ผู้ได้ชื่อว่า ข้ามโอฆสงสาร ได้ของศาสนาพุทธนั้น มิใช่ผู้จะมีแต่ "ศรัทธา" ก็พอ หรือมีแต่ "เจโตวิมุติ" ก็พอ-มิได้ ต้องมีปัญญาร่วมด้วยจริงๆ จึงจะเป็น "อรหันต์" แท้ของพุทธได้
(12 มิ.ย. 2520)

-
กลับไปที่หัวเรื่อง


69. การพยายามรู้เหตุ-รู้ผลของเรื่องต่างๆ ที่ทำให้เรา "ติด" ทำให้เราลด "โลภ" ลด "โทสะ" ไม่ได้นั้นแหละคือ "ปํญญา" เมื่อรู้เหตุและลดได้ถูกตัว ดับได้ถูกเหตุแท้แล้วเด็ดขาดนั่นแหละคือ การบรรลุธรรมด้วยวิปัสนา
(12 มิ.ย. 2520)

- กลับไปที่หัวเรื่อง


70. ผู้อดต่อ "ความอร่อย" ได้! ทนต่อ "ความอยาก"ขึ้นมาได้มากเท่าใด? ก็เป็น "พระอริยะ"มากขึ้นเท่านั้นๆ ยิ่งทนต่อ "โลกียรส" ในโลกได้หมดสิ้นก็ยิ่งนั้นแหละคือ "พระอรหันต์"
(12 มิ.ย. 2520)

- กลับไปที่หัวเรื่อง


71. ผู้ตั้งใจฝึก ตั้งใจเพียร ด้วยแนวทางปฏิบัติธรรมที่ดีที่ถูกต้องอย่างเอาจริงเอาจัง นั่นแหละคือ ผู้ค้ำจุนโลก ผู้จะเป็นคนช่วยมวลมนุษยชาติให้มี "สันติภาพ" ที่แท้จริงในโลกทุกโอกาส

(12 มิ.ย. 2520)

- กลับไปที่หัวเรื่อง


72. ทางไปนิพพาน นั้นคือ การทำตนให้เกิด "ปัญญา" รู้ในเหตุผลที่เราเลิก เราหลุดสิ่งนี้-เรื่องนี้มานั้น เพราะควรเลิกด้วยเหตุใด! และ "เลิกได้" แล้วก็ไม่ติดเลยจริงๆ ขนาดที่เรากลับไปเกี่ยวข้องกับสิ่งนั้น-เรื่องนั้นอีกก็ได้ โดยที่เรา "ทำอยู่" ก็รู้ว่าเราไม่ได้ "ติดใจ" ในเรื่องนี้-สิ่งนี้อีกแล้วจริงๆ และเราก็ทนได้โดยไม่ยาก ทนได้โดยไม่ลำบากที่จะ "ทำ" สิ่งนี้ในเมื่อมันสมควรที่สุดที่จะ "ทำ" อีก ทั้งเราก็แน่ใจเราเหลือเกินว่าเราไม่ได้ "ทำ" เพื่อตนเองเลยอย่างจริงใจจริงๆ ที่สุด
(17 ก.ค. 2520)

- กลับไปที่หัวเรื่อง


73. "ความสงบสนิท" หรือ "นิโรธอริยสัจ" ของพุทธแท้ๆ นั้นมิใช่หยุดกายกรรม-หยุดวจีกรรม หรือ หยุดมโนกรรมจนเป็นอสัญญี แต่เป็นการหยุด กายทุจริต-หยุดวจีทุจริต จนบริสุทธิ์แท้ถึง "มโน" พ้นมโนทุจริตเป็นที่สุด ได้อย่างสนิทเด็ดขาดต่างหาก
(17 ก.ค. 2520

- กลับไปที่หัวเรื่อง


74. "การบวช" นั้นก็เป็น "อาชีพ"! และเป็น "สัมมาอาชีวะ" ที่แสนประเสริฐสุดยอดของมนุษย์ทีเดียว ดังนั้นผู้ที่จะมาถึงขั้น "ได้บวช" จึงควรเรียนมาก่อน หัดฝึกอบรมดูก่อนจนแน่ใจ มั่นใจให้ดีที่สุดจริงๆ ว่าเราจะมาทำอาชีพนี้ได้อย่างไม่ล่มจม แต่จะเจริญรุ่งเรืองไปได้ และไม่ทรมาน โศก-ปริเทวะ-ทุกข์-โทมนัส-อุปายาส เป็นที่สุดแน่ๆ
(10 ส.ค. 2520)

- กลับไปที่หัวเรื่อง


75. "การบวช" นั้นก็เป็น "อาชีพ" ! และเป็น "สัมมาอาชีวะ" ที่แสนประเสริฐสุดยอดของมนุษย์ทีเดียว เพราะเป็นอาชีพของชาว "ปฏิโสต" ดังนั้นผู้ที่จะมาถึงขั้น "เป็นนักบวช" (คือไม่ใช่บวชเป็นงานอดิเรก) จึงควรเรียนมาก่อน ฝึก "อดิเรก"มาก่อน อบรมดู "ลองบวช" ตั้งแต่ยังมีอาชีพเป็นคฤหัสถ์ดูก่อน จนแน่ใจมั่นใจให้ดีที่สุดจริงๆ ว่าเราจะมาทำ "อาชีพนักบวช" นี้ได้อย่างไม่ขาดทุน หรือล่มจม กระทั่งที่สุดต้องเลิก "อาชีพนี้" แถมจะมีบาปมีเวรเป็นหนี้ติดตัวไปอีก แต่จะเจริญรุ่งเรืองไปได้ มีกำไร มีโลกุตรผล ไม่ทรมาน จนต้องทำบาปเกินบุญ หรืออย่างน้อยก็มี ฐานยึด-ฐานพักอันจะพออยู่ใน "เครื่องแบบนักบวช" ได้โดยไม่ทำตนให้เป็นที่เสื่อมศรัทธาและต้องอยู่อย่าง "ไม่ด้อยปัญญา" จนไม่รู้ตนว่า เราเองนั่นแหละเป็นผู้ฉุดศาสนาให้ลงต่ำอยู่ๆ ด้วยกายกรรม-วจีกรรม-มโนกรรม เพราะทุจริตต่อพุทธจารีตที่แท้ๆ ถูกๆ จริงๆ ต่อสมณสารูป ต่อวินัย ต่อพุทธศีล ต่อพุทธสมาธิ ต่อโลกุตรปัญญา จึงจะได้ชื่อว่าเป็นพนักงานของพุทธศานาขั้นนักบวช หรือเป็นผู้มี "อาชีพนักบวชของพุทธที่ไม่มีบาปภัย"

(21 ส.ค. 2520)

-
กลับไปที่หัวเรื่อง


76. เราจะไม่ทิ้ง "ความสบาย" ที่เป็นของคนอื่นอย่างถูกธรรมและดีที่สุด แม้เราจะต้องแบ่ง "ความสบาย" ของเราออกไปบ้างก็ต้องพยายามที่สุด
(21 ส.ค. 2520)

-
กลับไปที่หัวเรื่อง


77. ความอดทน สู้ฝืน และเด็ดเดี่ยวของจิต ประกอบด้วยปัญญาที่ฉลาดหาเชิงเอาชนะต่อกิเลสได้เสมอๆ เท่านั้น ที่จะทำให้เราบรรลุธรรม เพิ่มภูมิสูงขึ้นได้เรื่อยๆ โดยแท้จริง หากอ่อนข้อเหยาะแหยะ แพ้กิเลสอยู่เรื่อยๆ นั้น คำว่า "บรรลุธรรม" หรือได้เพิ่มภูมิให้แก่ตนนั้นก็จะได้โดยยากหรือไม่ได้เอาเลยตลอดกัปป์กัลป์
(29 ส.ค. 2520)

-
กลับไปที่หัวเรื่อง


78. ผู้บรรลุธรรมหรือเพิ่มภูมิสูงขึ้นๆ ให้ได้ในทางธรรมนั้น ต้องมี "พุทธศีล" ที่เคร่งครัดและปฏิบัติให้บริสุทธิ์ ให้ได้จริงๆ สูงๆ ขึ้นเรื่อยๆ เช่น เมื่อศีล 5 เราก็ได้บริสุทธิ์แล้วก็สมาทานศีล 8 และเมื่อศีล 8 บริสุทธิ์ดีอีก ก็หาจุลศีล 26 มาเลือกเพิ่มให้แก่ตน มัชฌิมศีลก็เลือกเอามาปฏิบัติ ได้มหาศีลก็ได้เช่นกัน ตามที่เหมาะฐานะขึ้นไปเรื่อยๆ เป็นต้น นั่นคือคนผู้ได้เป็น "ผู้ประเสริฐ"(พระ) ขึ้นได้โดยธรรมจริงๆ

(29 ส.ค. 2520)
-
กลับไปที่หัวเรื่อง


79. รู้จัก "จิต" ของตน ที่มันมีลักษณะได้ปลดปล่อยแล้ว ว่าง เบา เบิกบาน แจ่มใส เพราะได้ปลดได้วางอารมณ์ที่เป็นอกุศลให้ได้ และเราจะเป็นอยู่ให้มี "ฐานจิต" เช่นนี้ให้ได้เสมอๆ ดังนั้น เมื่อไม่มีอกุศลจิตอะไรเลย เราก็จะสบายผ่องใสมีปัญญาดีเสมอ และถ้ามี "ผัสสะ" ที่ก่อให้เกิดอกุศลจิตอะไร ไม่ว่ามากหรือนิดน้อย ก็จะต้องให้จางคลายหรือปละปล่อย สลัดออกให้มาอยู่ใน "ฐานจิต" ที่สบายผ่องใสนั้นให้ได้ทุกครั้ง

(29 ส.ค. 2520)
-
กลับไปที่หัวเรื่อง


80. ขณะกำลัง "กิน" เราก็มีสติรู้ตัวว่า เรากำลังพยายาม ลด ละ ต่อกิเลสอยู่ขณะกำลังเป็นอยู่ ทำงานทำการ พบปะใครๆ ได้รับสัมผัสใดๆ อยู่ เราก็มีสติรู้ตัวว่า เรากำลังได้พยายาม ลด ละ ต่อกิเลสอยู่ แม้ขณะจะนอน จะตื่นเราก็มีสติรู้ว่า เรากำลังได้พยายาม ลด ละ ต่อกิเลสของตนอยู่จริงเสมอๆ นั้นแหละคือ การปฏิบัติธรรมที่ถูกต้องเป็น "สติปัฏฐาน" แท้ จงทำให้สุขุมให้ละเอียดยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เถิด การบรรลุธรรมมีแน่ๆ ในผู้กระทำอยู่อย่างนี้
(12 ก.ย. 2520)

-
กลับไปที่หัวเรื่อง


 

   [เลือกหนังสือ]
ตอนที่  41-60
page: 4/5
ตอนที่ 81-100
   Asoke Network Thailand