81.
ศรัทธาใดที่เราแน่ใจแล้ว ก็จง "มั่น" ให้มาก
ปัญญาใดที่เรายังไม่ได้เพิ่มก็จง "มี" ให้ได้ ความหลุดพ้น-ว่าง-เบา-สบาย-ปลอดโปร่งใดๆ
ที่เรามีแล้วก็จง "รู้" ให้ชัด และเมื่อขัดข้องไม่ว่าง-ไม่เบา-ไม่สบาย-ไม่ปลอดโปร่ง
ณ เมื่อใด ก็อย่างเผลอใจ-อย่าห่างใจ จงจัดการเปลี่ยนจิต ปรับใจให้เร็วพลัน
เราก็จะใกล้พระพุทธเจ้าเข้าไปทุกทีๆ
(12 ก.ย. 2520)
- กลับไปที่หัวเรื่อง
82.
อาตมาสิ้นสงสัยสนิทแล้ว
ในที่ๆ อาตมาอยู่และในที่ๆ อาตมาเป็น! มาเถิดคุณ
จงมาอยู่และมาเป็นอย่างอาตมา
(12 ก.ย. 2520)
- กลับไปที่หัวเรื่อง
83.
ผู้ "รู้" ก็จริง "เป็นได้" ก็จริงเท่านั้น
ที่จะยืนยันได้ในนิพพานและเที่ยงแท้ในนิพพาน คุณล่ะ!
ปรารถนา
"นิพพาน" บ้างหรือเปล่า?
(12 ก.ย. 2520)
- กลับไปที่หัวเรื่อง
84.
ผู้รู้แจ้งใน "ความไม่มีทุกข์" เพราะว่าตนในขณะนั้น
"จิต" ไม่มีโลภะ-โทสะ-โมหะได้แท้ๆ ไม่ว่าจะเป็นกิเลส
หยาบ-กลาง-ละเอียด ก็ไม่มีจริงๆ ! และเห็น "จิต" ตนจริงๆ
อยู่ทีเดียวว่า "ตนไม่มีทุกข์" และตนก็ไม่ได้หลงเสวย
"โลกีย์สุข" อยู่จริงๆ ด้วย แม้ขณะนั้นๆ เราจะกำลังทำงานทำการมีสัมผัสยุ่งอยู่ปานใดๆ
ก็ตาม ผู้นั้นแหละคือ ผู้กำลังมี "อารมณ์นิพพาน"อยู่ในขณะนั้นๆ
เทียว จงรักษาอารมณ์เช่นนั้นให้มีให้มั่นคงถาวรเถิด นั่นคือ
การปฏิบัติธรรมที่กำลังมีผลสูงสุด เป็นปัจจุบันจริงๆ แท้ๆ ถ้ามีอารมณ์โลภะ-โทสะ-โมหะแซมขึ้นมาแว๊บใด
ให้รีบรู้ให้ทัน แล้วรีบ "สลัดออก" ให้เร็วทันทีทุกเมื่อให้ได้
หากทำได้ดั่งนี้ตลอดไป ก็เป็นอันหวังไว้ซึ่ง "อรหันต์"
แน่แท้
(13 ก.ย. 2520)
- กลับไปที่หัวเรื่อง
85.
จงรู้จัก "ชีวิต" ให้ดีที่สุด แล้วจงใช้ "ชีวิต"
ให้มีประโยชน์สูง-ประหยัดสุด
(25 ก.ย. 2520)
- กลับไปที่หัวเรื่อง
86.
จง "รู้ตัว" ให้ได้ เมื่อจิตเราหวั่นไหวด้วย "ปิติ"
แรงไป หรือจิตเราสะเทือนด้วย "ความไม่พอใจ" แม้อ่อนเบาปานใดก็ตาม
แล้วรีบใช้ปัญญาโลกุตระแก้ไขจิตให้สู่สภาพดีที่สุดให้ได้ทุกโอกาส
นั้นคือ ผู้กำลังเดินทางเข้าหานิพพาน
(9 ต.ค. 2520)
- กลับไปที่หัวเรื่อง
87.
"คน" ผู้มีความสุขที่สุด
ก็คือผู้ที่รู้ว่าตัวเองกำลังเป็นผู้ "ให้" หรือ "เสียสละ"
แก่ผู้อื่น ได้จริงที่สุด
(9 ต.ค. 2520)
- กลับไปที่หัวเรื่อง
88.
คนที่สร้างที่ก่อให้แก่ตนเองนั้นคือ คนที่ยังไม่มี "ค่า"
เลย คนจะเริ่มมี "ค่า" ก็ต่อเมื่อสร้าง-ก่อเพื่อผู้อื่นได้จริงๆ
ยิ่งสร้าง-ก่อให้แก่ผู้อื่นที่ไม่ใช่ญาติ "ค่า" ยิ่งสูงยิ่งแพง
หรือยิ่งก่อยิ่งสร้างเพื่อสังคมเพื่อคนอื่นๆ ที่เป็นหมู่ยิ่งใหญ่ยิ่งมาก
ก็ยิ่งเป็นค่าแพงเป็นค่าสูง ยิ่งๆ ขึ้นๆ อย่างแท้จริง
(9 ต.ค. 2520)
- กลับไปที่หัวเรื่อง
89.
เรื่องใหญ่เรื่องยากที่สุดที่ผู้ชนะเกือบรอบโลกทำไม่ได้ ก็คือ
"การเป็นผู้แพ้" ถ้าเขาทำได้เขาก็จะคือ "ผู้ชนะรอบโลก"
อย่างแท้จริง
(9 ต.ค. 2520)
- กลับไปที่หัวเรื่อง
90.
คนผู้สุขที่สุด และจะเป็นผู้มี "ค่า" มีความประเสริฐแท้
ก็คือ ผู้ได้ "ให้" ได้ "เสียสละ" เท่านั้น
แม้ได้ให้-ได้เสียสละแค่ "วัตถุทรัพย์สิน" ก็สุขจริง
แต่อาจจะมี "ค่า" เป็นลบหรือยังไม่มี "ค่า"
ถูกแท้ถูกจริงก็ได้ ต้องพิจารณาวัตถุทรัพย์สินที่จะเสียสละกับผู้จะได้รับให้ดีๆ
เถิดว่าเหมาะสมหรือไม่? ยิ่งกว่านั้น ได้ให้-ได้เสียสละ "แรงกาย"
ได้ให้-ได้เสียสละ "แรงสมอง" ก็ยิ่งแสนสุข แต่ก็อาจจะมี
"ค่า" เป็นลบ หรือยังไม่มี "ค่า" ถูกแท้ถูกจริงอีกก็ได้
ต้องพิจารณา "แรงกาย แรงสมอง" ของเราที่จะเสียสละลงไปนั้นๆ
ให้เหมาะสมดีงามยิ่งแท้ให้ได้อีก และยิ่งกว่านั้นขึ้นไปอีก ผู้ให้ได้-เสียสละได้
แม้กระทั่ง เรางด "โทสะ" หรือลด "ความชัง"
เลิก "อารมณ์ไม่พอใจ" ของเราที่มีต่อคนผู้นั้น ต่อสิ่งๆ
นั้น ต่อรูป-รส-กลิ่น-เสียง-สัมผัส นั้นๆ ได้แท้ ก็นั่นแหละยิ่งเป็น
"วูปสโม สุโข" ความสุขอันประณีตสุขุมสงบ ยิ่งแท้ทั้งมี
"ค่า" แท้ ประเสริฐแท้และยิ่งๆ กว่านั้นขึ้นไปๆ อีก
ผู้เสียสละได้จนกระทั่ง เรางด "ราคะ" หรือ "ความรัก"
เลิก "อารมณ์ปิติ" ของเราที่มีต่อคนผู้นั้นต่อสิ่งๆ
นั้น ต่อรูป-รส-กลิ่น-เสียง-สัมผัสนั้นๆ ได้จริง ก็นั่นแหละยิ่งเป็น"วูปสโม
สุโข" ความสุขอันประณีตสุขุมสงบเยี่ยมยิ่งจริงกว่าขึ้นไปอีก
ทั้งมี "ค่า" แท้ประเสริฐแท้เยี่ยมขึ้นไปอีก และสุดท้ายผู้ให้ได้
ผู้สละได้แม้ความสงบที่ตนติด ความเฉยที่ตนเป็นตนมีมากเกินไป
ความว่างที่เรายึดว่าเราจะต้องเป็นต้องมีก็ไม่ต้องมี ไม่ต้องเป็นเสียก็ได้จริงๆ
และท้ายสุดแห่งท้ายสุดจริงๆ เป็นผู้ให้ได้-เสียสละได้ แม้ความสุขอันประณีตสุขุมสุดของตนแท้ๆ
ไม่ต้องหลงสะสม กระทั่งไม่ต้องหลงว่านิพพานเป็นของตัวของตน เมื่อเรา
"ทำ" นิพพานเป็นแล้วอย่างแท้จริงสุขุมสุดสนิทเนียน
ไม่ต้องห่วงนิพพาน ไม่ต้องสะสมนิพพาน แต่เป็นผู้แจกนิพพานแก่มวลมนุษยชาติอย่างขยันขันแข็งและชาญฉลาดไม่ประมาทอย่างที่สุด
ผู้นั้นแหละคือ ผู้ "ปรมัง สุขัง" คือ ผู้ถึงแล้วซึ่งสภาพ
"ยิ่งกว่าสุข" ทั้งหา "ค่า" บ่มิได้ สุดยอดแห่งความประเสริฐ
(9 ต.ค. 2520)
- กลับไปที่หัวเรื่อง
91.
เรื่องใหญ่เรื่องยากที่สุดที่ "ผู้เกือบจะบรรลุผลสำเร็จสุดยอด"
ทำไม่ได้อยู่ก็คือ เขาไม่รู้ "ผลสำเร็จ" นั้นจริง!
ทั้งๆ ที่เขาทำมันได้แล้วอย่างไม่ยากเย็นเลยเสียด้วยซ้ำ
(9 ต.ค. 2520)
- กลับไปที่หัวเรื่อง
92.
จงรู้ผลที่เรา "ได้" แล้วของตนให้จริง แล้วจงหาบทปฏิบัติให้แก่ตนเพิ่มสูงขึ้นให้ได้
เราจึงจะไม่เซ็ง หรือจะไม่ถดถอยจาก "ธรรม" จะไม่ตกต่ำจาก
"ธรรม"
(9 ต.ค. 2520)
- กลับไปที่หัวเรื่อง
93.
ผู้ "รู้" ก็จริง "เป็นได้" ก็จริงเท่านั้นที่จะยืนยันได้ในนิพพาน
และเที่ยงแท้ในนิพพาน คุณล่ะ!
รู้จัก "นิพพาน" บ้างหรือยัง?
และ "เป็นได้" บ้างแล้วหรือยัง? หรือแน่ใจใน "นิพพาน"
แล้วอย่างไร? ปานใด?
(10 ต.ค. 2520)
- กลับไปที่หัวเรื่อง
94.
"ความไม่สบาย" นั้นแหละที่ทำให้เรารู้อย่างจริงแท้ว่า
เราสบายได้จริงหรือไม่?
(23 ต.ค. 2520)
- กลับไปที่หัวเรื่อง
95.
จงอ่าน "บุญบารมี"
ที่เราฝึกเพียรปฏิบัติให้เห็นจริงเสมอ แล้วเพิ่มบุญใหม่ บารมีในจุดใหม่อีกให้ได้เสมอๆ
ด้วย เราจึงจะเป็นผู้เจริญอย่างแท้จริง
(19 ธ.ค. 2520)
- กลับไปที่หัวเรื่อง
96.
ผู้สบายแล้ว คือผู้ไปก็ได้
มาก็ได้ ไม่ต้องไปก็ได้ ไม่ต้องมาก็ได้ นั่นคือ ผู้ได้ชื่อว่า
ผู้หยุดสนิท จึงเป็นอยู่ด้วย การเพียร-การพัก ที่มีปัญญาอันไม่เห็นแก่ตัวแท้
(19 ธ.ค. 2520)
- กลับไปที่หัวเรื่อง
97.
"ความลังเล"
คือ ความทุกข์ และเป็นอุปสรรคในการก้าวหน้าทางธรรม จงทำความมั่นใจ
ความแน่ใจด้วยปัญญาให้แจ้งชัด เด็ดเดี่ยวให้ได้ ความสบายจะเกิดทันที
แล้วความเจริญในธรรมจะตามมา
(19 ธ.ค. 2520)
- กลับไปที่หัวเรื่อง
98.
รู้ "ธรรมะ" ที่จะทำให้เกิดแก่ตนเป็นระดับชั้นให้ได้
แล้วทำให้สำเร็จ และต้องรู้ส่วนที่สำเร็จก็ให้ "แล้วรู้แล้ว"
แล้วก็พากเพียรส่วนต่ออันเป็นคุณเบื้องสูงขึ้นไปเสมอๆ
(19 ธ.ค. 2520)
- กลับไปที่หัวเรื่อง
99.
คนที่ไม่เก่งที่สุด ก็คือ "คนที่โกหกตัวเองเก่งที่สุด"
(1 ม.ค. 2521)
- กลับไปที่หัวเรื่อง
100.
ผู้รู้จัก "พระ" แท้ และเป็นผู้แกะรอยพระจริง
นั่นแหละคือผู้กำลังเดินสู่สุคติแล้วแน่นอน
(1 ม.ค. 2521)
- กลับไปที่หัวเรื่อง
|