page: 8/8
The End

สารบัญ
ดวงดาว
[หน้า1]
ดวงคน
[หน้า2] [หน้า3]
ดวงธรรม
[หน้า4] [หน้า5] [หน้า6]
กรรมนิยม
ตามคติของชาวพุทธ
[หน้า7] [หน้า8]

ถาม อยากทราบทัศนคติในเรื่องของ “บาป บุญ และกฎแห่งกรรม” ว่าเป็นอย่างไร?

ตอบ สิ่งที่ถามนี้ ล้วนเป็นตัวหลักของพระพุทธศาสนา โดยความหมายกว้างๆ “บาป” คือ สิ่งชั่ว หรือ อกุศล “บุญ” คือ สิ่งดี หรือ กุศล

เรื่องของ “บาป บุญ” ในศาสนาอื่นก็มีสอน แต่ความลึกซึ้งของบาปและบุญ ของแต่ละศาสนานั้น ต่างกัน

สำหรับพุทธศาสนาของเรานี้ "บาป บุญ” นั้น หมายเอาถึง ต้นเหตุจากจิตวิญญาณ เป็นตัวสำคัญ

ถ้าจิตวิญญาณยังมีกิเลส ก็คือ ยังมีความเห็นแก่ตัวอยู่ มันก็จะมีพฤติกรรม สมลักษณะของกิเลส ตามความโลภก็ดี ราคะหรือโทสะก็ดี "บาป” ก็จะลึกซึ้งไปตามแรงกิเลสที่มี ทั้งหยาบ กลาง ละเอียด หากไม่เรียนรู้เหตุตัวนี้ให้ดี

พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ว่า "โอ้ ! คนเราทำบาป หรือทำบุญ ก็เพราะเหตุแห่ง กิเลส เป็นตัวการ” พระพุทธองค์ จับเป้าหมายหลักตัวนี้ได้ ก็เลยจัดการกับเหตุ คือ ฆ่ากิเลสซะ

เมื่อกิเลสไม่มี ถูกฆ่าตายจริงๆ ก็หมด ”บาป” มีแต่”บุญ” อย่างเดียว

"บุญ” ตามความหมายอย่างไทยๆ เราก็พอเข้าใจกัน (ภาษาบาลีไม่มีตัว “บ”)

แต่ บุญ หรือ ปุญญ แปลว่า การชำระ เครื่องชำระ ชำระอะไร? ก็ชำระกิเลส ไม่ได้แปลความหมาย อย่างไทยๆ ที่เราเข้าใจกัน

บุญ หรือ ปุญญ แปลว่า การชำระกิเลส

บาป หรือ ปาป แปลว่า สิ่งที่ชั่วที่ต่ำ เป็นสิ่งที่ลามก

“บาป บุญ” นี้ เป็นเรื่องของมนุษย์ ที่จะมีตั้งแต่ กายกรรม วจีกรรม ซึ่งมีจิตวิญญาณ หรือมีกิเลสในจิตวิญญาณ เป็นตัวประธาน เป็นตัวเหตุแรง กิเลสจะเป็นราคะ โลภะ โทสะ หรือ จะเป็นโมหะความหลงผิด ก็ตาม มันก็เป็นอำนาจ กำหนดให้เราทำกายกรรมอย่างนั้น ทำวจีกรรมอย่างนี้ ล้วนมาจากจิต

“กิเลส” มันอยู่ภายในจิต มิได้อยู่ที่อื่น “กิเลส” อยู่ที่จิตวิญญาณของคน ของสัตว์

โดยเฉพาะ “กิเลส” ของคน ต้องแก้ที่คน นี่แหละ อย่าไปพูดถึงสัตว์เลย เราแก้ไขอะไรเขาไม่ได้

เมื่อเราเรียนรู้ ลักษณะอาการของกิเลส ชีวิตชีวาของกิเลส เราจับอาการชีวิตชีวา ของกิเลสได้แล้ว ต้องจัดการทำลายชีวิตชีวาของกิเลส ซึ่งมีวิธีการ ตามที่พระพุทธองค์สอน ด้วยสมถะภาวนาบ้าง วิปัสสนาภาวนาบ้าง เป็นวิธีการที่ทำให้กิเลสลดลงได้ มันก็ลดได้จริง ฆ่ามันตายจริง หรือ อ่อนแรง จนกระทั่ง มันตายจริงๆ ตายสนิทจริงๆ นี้คือ สิ่งที่ศาสนาพุทธค้นพบรากฐาน หรือ รากเหง้าของต้นเหตุ แห่งการทำบาป (ดวงคน)

เมื่อ ค้นพบต้นเหตุแห่งการทำ "บาป”ได้ แล้วก็บำรุงให้ "จิตวิญญาณ” เกิดเป็นความสำนึกที่ดี เป็น "จิตวิญญาณ” ที่เกิดญาณปัญญาที่ดี (ดวงธรรม)

"คน” ก็จะสร้างแต่สิ่งที่เป็นคุณค่าประโยชน์ เป็นกุศล เป็นบุญ (กรรมนิยม)

"จิตวิญญาณ” ของคนๆนั้น ก็เป็นจิตวิญญาณ อันประเสริฐ ไม่ทำบาปทั้งปวง ทำแต่บุญ ทำแต่กุศล ยังกุศลให้ถึงพร้อม เป็นคุณค่าประโยชน์ อยู่ในโลกมนุษย์นั้น ตามโอวาทปาฏิโมกข์ เพราะจิตวิญญาณสะอาด ปราศจากกิเลส เป็นจิตวิญญาณบริสุทธิ์

“กฎแห่งกรรม”นั้น เป็นความจริงที่คนไหนเป็น คนไหนมี คนไหนลดละกิเลสได้ หรือสร้างบุญได้ สร้างกุศลได้

“บุญกุศล” นั้น มีทั้งลดกิเลสด้วย มีทั้งทางด้านการสงเคราะห์ เกื้อกูลผู้อื่นด้วย เป็นบุญทางโลกียะ เป็นบุญทางโลกุตตระ ตรงที่ชำระกิเลส ผู้ใดทำจริง มีจริง ก็เป็นทุนของผู้นั้น เป็นสมบัติของผู้นั้นเอง เรียกว่า กรรมทายาท เป็นทายาทของกรรม ของตนเอง

ตนเองทำ "บุญ” ไว้ ก็เป็น "กรรม” ของตนเอง แบ่งให้กันไม่ได้ นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้านะ

ทุกวันนี้ มี”พิธีกรรม” แบ่งส่วนบุญให้แก่ผู้ตาย คนเป็นๆ นี้ยังแบ่งปันให้กันไม่ได้เลย เป็นคำสอน ที่สอนกันผิดๆ ขัดแย้งกับ คำสอนของพระพุทธเจ้า ที่ว่า กัมมัสโกมหิ กัมมทายาโท กัมมโยนิ กัมมพันธุ กัมมปฏิสรโณ ทุกคนมีกรรมเป็นของๆตน มีกรรมเป็นทายาท มีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย

ตนเองทำ "กุศลกรรม” ก็คือ "บุญ” ของตนเอง

ตนเองทำ "อกุศลกรรม” ก็คือ "บาป” ของตนเอง

ใครทำบุญ ทำบาป หรือทำกุศล ทำอกุศล มันเป็นของผู้ที่ทำเอง (กัมมัสโกมหิ) ไม่ใช่ทำแล้วแบ่งกันได้ ทั้งโดยเหตุผล และโดยลักษณะจริงของจริง ก็พิสูจน์ได้เดี๋ยวนี้ ว่า “บุญ บาป” แบ่งกันไม่ได้ ยังเป็นๆ เห็นหน้ากันอยู่หลัดๆ ยังไม่ตายจากกัน ก็ยังแบ่งให้กันไม่ได้เลย ตายไปแล้ว อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ แล้วจะไปส่งให้กันได้ที่ไหน แม้อาตมา (สมณะโพธิรักษ์) จะมีบุญมากมายขนาดไหน อยากจะแบ่งให้คุณ ก็ยังแบ่งให้ไม่ได้เลย คุณต้องทำบุญ สร้างบุญ ด้วยตัวของคุณเอง คุณถึงจะมีบุญ

ถ้า “บุญ บาป” แบ่งกันได้ ก็แบ่งแต่บาปทิ้งลงใต้ถุน ให้หมดเลย ไม่เอาไปไหนด้วย เหลือแต่บุญเอาไว้เท่านั้นนะสิ ใช่ไหม?

ชีวิตคนเรา มี”กรรม”เป็นทายาท เป็นทายาทของกรรมของตนเอง รับมรดกจากกรรมของตนเอง คือ มรดกที่เป็นบุญเป็นบาป เท่านั้น นี่ "กฎแห่งกรรม”

ผู้ใดสั่งสม ”บุญ ”ได้มาก “บุญ” นั้นก็เป็นของๆตน เรียกว่า กัมมัสสโกมหิ กัมมัสสกตา มีกรรมเป็นของตน

คนเราเกิดมาจะมีความเฉลียวฉลาด หรือ จะมี”กิเลส”หยาบ กลาง หนา น้อย ก็อยู่ที่เราได้ประพฤติ ปฏิบัติสะสมมา ไปฝึกฝนอะไรๆ มากี่ชาติๆๆ ฝึกฝนมามากๆก็จะชำนาญ เป็นความสามารถ ที่ได้สั่งสมมาเหมือนกัน ติดเป็นวาสนา ติดตัวเรามาเป็น "พรสวรรค์” เช่น "พรสวรรค์” บางอย่างของคนนั้น มีติดตัวมาเป็น”ความสามารถ” ทางด้านนั้น ด้านนี้ คนนี้มีพรสวรรค์ทางด้านช่าง ทางด้านแสดง ร้องเพลง-เต้นๆ ดีดๆ หรือ คนนี้มีพรสวรรค์ ในการทำงาน อย่างนั้นอย่างนี้ หรือ คนที่มีพรสวรรค์ทางด้านนึกคิด ก็เป็นพรสวรรค์ทางด้าน ความเฉลียวฉลาดคิดนึก คนนี้มีพรสวรรค์ ทางด้านความจำ ก็ฝึกฝนเอา จะสามารถมีวิธีการฝึกความจำก็ได้ อะไรก็แล้วแต่ ซึ่งเป็นพรสวรรค์ หรือเป็นสิ่งที่เราได้สั่งสมมา เป็นมรดกของเรา นั่นเป็นเรื่องของ การสั่งสม-ปรุง-สร้าง

การละละ "กิเลส” ก็เป็นการสั่งสม-ปรุง-สร้าง อย่างแท้จริงเหมือนกัน เป็นกรรม คุณสั่งสมกรรมอย่างไร ก็ได้ประโยชน์คุณค่าอย่างนั้น ใส่ตัวเองไป จึงต้องฝึกฝนแต่สิ่งที่ดี ในสิ่งที่ควรฝึกฝน นี้เรียก “กฎแห่งกรรม” หรือ เรียกกันในภาษา สมัยใหม่ว่า ”ดวง” หรือ ”พรหมลิขิต” ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว ไม่ใช่พระเจ้าลิขิต ไม่ใช่พระพรหมลิขิต “กรรม” ของเราลิขิตตัวเราเอง เราสั่งสมก่อ "กรรม”เอง ก็เป็น "ดวง” ของเราเอง “ดวง” ของเราได้แค่นี้ ก็แค่นี้

แต่ เพิ่ม ”ดวง” ได้นะ เพิ่ม ”พรหมลิขิต” ได้นะ "ดวง” ของเราได้ดีเท่านี้ เราก็สั่งสมเข้าไปอีก ก็ได้อีก ถ้าไม่สั่งสมกรรมดี ให้มากขึ้น ”ดวง” ก็เหลวได้อีกเหมือนกัน แหม! "ดวงดี” เกิดมาคาบ ช้อนเงินช้อนทอง แต่ได้รับการอบรมไม่ดี สิ่งแวดล้อมไม่ดี ดวงจู๋-ดวงตกได้นะ

แต่ถ้า สิ่งแวดล้อมดี การศึกษาดี ขยันหมั่นเพียร “ดวง” ก็เจริญได้อีก ไม่ได้ตายตัว ไม่ใช่ว่า”ดวง” ขีดเส้นมาอย่างนี้ ก็จะต้องเป็นไป อย่างนี้ตายตัวเลย ก็ไม่ใช่

แต่ ก็ใช่ อีกเหมือนกันนะ ถ้าสั่งสมมามาก ก็มีฤทธิ์ มีอำนาจมากเหมือนกัน

ผู้ที่สั่งสม”บุญ”ของตัวเอง ได้อย่างมั่นคงแข็งแรงแล้ว ก็จะต้องเป็นไปตามนั้น

อย่างเช่น อาตมา (สมณะโพธิรักษ์) ทั้งๆ ที่เกิดมาหลังบ้าน ก็ชนกับวัดพระโต ที่ จ.ศรีษะเกษ แต่ไม่ได้สนใจเชื่อถือ ในเรื่องศาสนาเลย เพราะถูกโลกหลอกลวงไปโน่น ไปทางโลกโลกีย์ เต้นๆ ดีดๆ ไปทางโน้น อาตมาก็ไป ออกนอกขอบเขต ไปไกลเลยนะ พยายามฝืน”ดวง” ตัวเองจะไปเมืองมายา (ดาราโทรทัศน์) โอ้โฮ! ละเลงเลอะ อยู่กับโลกมายาเขา

เสร็จแล้วเมื่อถึงเวลา "ดวง”จะต้องมาทางนี้ เพราะมีบุญบารมีเก่า สั่งสมบุญอยู่ทาง (ศาสนา) นี้มาก ก็มีเหตุชักจูงชักนำมานิดๆ หน่อยๆ เท่านั้น ก็มาแล้ว เพราะมีเหตุ-มีปัจจัย-มีเชื้ออยู่ ก็จะมีเอง อย่าไปคิดว่า มันไม่มีอะไรนะ ถ้าทำถึงขีดถึงขั้น ก็จะเป็นไปเอง แล้วมันก็จะชักนำเรามา

อย่างอาตมานี้ “ดวง” จะต้องเป็น “ผู้สอนศาสนา” “ดวง” จะต้องเป็น ก็ต้องเป็น แม้พยายามจะฝืน ”ดวง” อยู่นะ

อาตมาจึงถูกชักนำมาโดย "ดวง” นะ ไม่ได้รู้ตัว ไม่ได้เจตนา ที่จะมาทำงาน (ศาสนา) นี้เลย ตอนแรกๆ ไม่รู้ตัวหรอก แต่มันเป็น ”ดวง” เป็น ”พรหมลิขิต” ที่ชักดึงมา ก็ต้องมา

เมื่อลาโลกมาแล้ว จึงค่อยมารู้ตัวทีหลังว่า "อ้อ ! เรานี้ถูกโลกหลอก ดึงไปเสียตั้งนาน อายุตั้ง ๓๖ ปี กว่าจะได้มาทำงานทางนี้

สุดท้าย เราก็มี "ดวง” อยู่ทางศาสนานี้

พวกคุณต้องพากเพียรเอานะ อย่าแน่ใจว่าจะมี "ดวง” มาทางนี้ ขนาดดึง ”ดวง” ให้มาทางนี้ "ดวง” ยังไม่ยอมมาเลย "ดวง” จะพาไปทางโน้น ระวัง ”ดวง” มันจะดึงไป ดึงออกไปหาความทุกข์ ออกไปหาโลกีย์

นี่ "กฎแห่งกรรม” เป็นอย่างนี้นะ ก็อธิบายเพียงคร่าวๆ ไม่ลึกซึ้งนัก ”กฎแห่งกรรม” เป็นเรื่องลึกซึ้ง

เพราะฉะนั้น คนที่สั่งสมบุญได้เพียงพอ "บุญ” ก็ย่อมช่วยด้วย คนที่สั่งสม “บาป” มากเพียงพอ “บาป” ก็จะฉุดเป็นธรรมดา เมื่อเรามี ”บาป” มาก เราก็ควรจะต้อง ”บำเพ็ญบุญ” ให้มาก แม้เรามี "บาป” น้อย เราก็ควร”บำเพ็ญบุญ” ใช่ไหม ? โดยสามัญสำนึก รู้อยู่แล้วไม่ใช่ว่า “ไม่เป็นไรหรอก เรามีบาปน้อย อย่ากระนั้นเลย ไปสั่งสมบาป (ทุกข์) เพิ่มเถอะ” คงไม่มีใครคิดอุตริแบบนี้นะ

จึงมีทางเลือกอยู่ทางเดียว ไม่ว่าจะมีบาปน้อย หรือบาปมาก เราก็ต้องสั่งสม ”บุญ” อย่าหยุดนิ่ง อย่าประมาท กาลเวลาทุกเวลา ต้องพยายามสั่งสม ”บุญ” เพราะ ”บุญ” เท่านั้น ที่จะเป็นกรรมทายาท เป็นมรดกของเรา และ ”บุญ” เท่านั้น ที่จะลดฤทธิ์ของบาป ในใจเราได้

การล่าลาภ ล่ายศ ล่าสรรเสริญ เอารัดเอาเปรียบ อะไรต่างๆนานา ล้วนเป็นบาปซ้อนซับนะ คนที่มีความสามารถสูง แล้วตีคุณตีค่า ตั้งราคา ความสามารถ ไว้สูง แล้วก็เรียกร้องเอา ราคาแพงๆ แลกเปลี่ยนกลับคืนมา "ค่า” ของคน ก็ลดลง เพราะแลกเปลี่ยน เอากลับคืนไปหมดแล้ว ไม่เจ๊า ก็เจ๊ง ไม่มีประโยชน์คุณค่าอะไรเหลือ

ขอให้ศึกษา “ทฤษฎีกำไร-ขาดทุน ของอารยชน” ให้ดี จะเข้าใจได้ว่า คุณค่าที่แท้จริงคืออะไร ?

ถ้าคุณ มีคุณภาพมาก มีสมรรถภาพสูง สร้างสรรได้มาก เสียสละให้ไปได้มากๆ ยิ่งไม่เอาค่าแลกเปลี่ยน กลับคืนมาเลย ก็คือคุณค่า ที่เกื้อกูลผู้อื่น ใช่ไหม ? เป็น ”บุญ” เป็น ”กุศล” อยู่ ไม่หมดไม่หายไปไหน ยิ่งให้ได้มากเท่าไร ก็เป็น ”บุญ” ของคุณมากเท่านั้น

เช่น สมรรถนะความสามารถของคุณมีค่า ๑๐๐ เอาคืนมา ๙๐ ก็เป็นประโยชน์อยู่ ๑๐ เอาคืนมา ๘๐ ก็เป็นประโยชน์อยู่ ๒๐ เอาคืน ๓๐ ก็เป็นประโยชน์อยู่ ๗๐ ให้หมด ๑๐๐ ไม่เอาคืนมาเลย ก็มีบุญมีค่าตั้ง ๑๐๐

“บุญ-บาป” จึงอยู่ตรงที่ได้มา หรือเสียไป ที่เรียกกันว่า “เสีย” หรือ “สละ”

ถ้าคุณ เอากลับคืนมากเท่าไร ก็หมดบุญไปเท่านั้น ดีไม่ดีแค่เอาคืน ยังไม่พอ ไป เอาเปรียบขูดรีดเขามาอีก ก็ยิ่งจะเป็นหนี้ "บาป”ของคุณ

ขอให้ศึกษาทำความเข้าใจให้ดี แล้วจะเข้าใจ "บาป-บุญ” ได้ชัดขึ้น

ถามใจตนเองดู ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่เข้าใจ “ทฤษฎีกำไร-ขาดทุน ของอารยชน” เพียงใด ? และ ส่วนมากเขาเหล่านั้น กำลังก่อบาป หรือ ก่อบุญ กันอยู่ ?

“บุญ-บาป” ของอารยชน จึงสวนทางกลับกันกับทางโลก

เขาได้เปรียบ-ขูดรีด-มีกำไรมามากๆ เขารู้สึกสำนึกกันอย่างไร?

ดีอกดีใจฉลองกันใหญ่เลย ใช่ไหม ?

เขาฉลอง ”บาป” หรือ ฉลอง ”บุญ”?

เช่น ของสิ่งนี้เราสั่งเข้ามาขายอยู่เพียงเจ้าเดียว อย่ากระนั้นเลย โก่งราคาดีกว่า ขายแพงๆ ทุน ๕๐๐ ขายได้ ๕๐๐๐ บาท ดีอกดีใจใหญ่

เขาดีใจ ถูก หรือ ผิด ? (ผิด)

เขาดีใจ ที่เขาได้ ”บาป” ที่เขาไปเอาเปรียบเอารัด ขูดรีดผู้อื่นมา

เขาดีใจ ที่เขาได้ “บาป” ได้ "เวร” ได้”ภัย” เห็นไหม?

นี่คือ ทิศทางของชาวโลก

ถ้าคุณมิได้ศึกษาแนวคิดทางศาสนาอย่างนี้ คุณก็จะคิดอย่าง ชาวโลกธรรมดาว่า การได้เปรียบมา เป็นของดี ใช่ไหม

“บุญ” อยู่ตรงที่ได้เสียไป-สละไป ได้เกื้อกูลผู้อื่น ตรงที่ได้ชัก เนื้อ ชักทุนของตนแท้ๆ ให้แก่เขาจริงๆ เป็นปรัชญา เป็นความจริง ที่เราจะเถียงไม่ได้เลย

แต่ “กิเลส” มักจะหลอกลวง ไม่ให้ได้ฉุกคิดกันเช่นนี้ ทำให้ไม่รู้จัก บาป จริง บุญ จริง

“คน” จึงก่อแต่ บาป แม้แต่ ”นักบวช” เอง ก็มีแต่ บาป ด้วยหลงล่า หาลาภ-ยศ-สรรเสริญ อยู่อย่างนั้น เอาเปรียบเอารัด โดยไม่รู้เรื่อง ”บาป-บุญ” (โมหะ) ได้แต่คร่ำครวญ ร้องขอให้ได้ร่ำได้รวย กว่าจะร่ำรวย ก็ต้องเที่ยวไปขูดรีด เอาเปรียบเขามา

ถ้า “เสียสละ” ไม่กักตุน ไม่สะสม ขยันสร้าง ขยันทำ ได้ผลผลิตขึ้นมา ก็แจกจ่าย เจือจาน เรื่อยไป จะมีอะไรมากมายได้ เมื่อแจกไปมากๆ มีเหลือน้อย เมื่อมีน้อย ก็เรียกไม่ได้ว่า ”รวย”

แต่ ความขยันหมั่นเพียร ความสามารถอยู่กับตัว ที่เราไม่กลัวใคร ทำเอาเมื่อไร ก็ทำได้ เมื่อเรากินน้อย ใช้น้อย ไม่หลงโลก ไม่ผลาญ ไม่เปลือง ก็ย่อมพอใช้ พอกิน

สมรรถภาพมีมากมายเท่าใด ก็จงทำ แล้วแจกจ่าย เจือจาน -เสียสละ -แบ่งปัน คุณก็ได้แต่สั่งสม "บุญ” เกิดมาก็จะมี “บุญ” ตลอดเวลา

นี้คือ เรื่องของ “กฎแห่งกรรม”


  ดวงดาว ดวงคน ดวงธรรม
 
page: 8/8
The End
   Asoke Network Thailand