คาถาธรรม ๖

ฝึกให้จริง

ผู้ที่จะมีจริงเป็นจริง ของแต่ละคน แต่ละคน ก็เพราะว่า ผู้นั้นกระทำจริง ฝึกหัดจริง ปฏิบัติอบรมตนจริง สังวร ระวัง เรียนรู้ศึกษา มีสติ ธัมมวิจัย วิริยะ เกิดดี เกิดละ ลดได้ เป็นปีติ เป็นปัสสัทธิ สั่งสมลงเป็น ความตั้งมั่น สมาธิ หรือ ความได้ยิ่งๆขึ้น เรียกว่าสมาธิ จนเป็นที่สุด เรียกว่าอุเบกขา จนเป็นฐานอาศัย จนเป็น ความเป็นไปได้ เป็นความเป็น ความมี ก็เพราะตนของตนเป็นผู้ทำ เพราะกรรมเป็นของของตน เราเป็นทายาทของกรรม เราทำได้เท่าใด มันก็ไม่ใช่ จะได้เต็มทีเดียว ได้แล้วยังต้อง ซับซ้ำย้ำอีก และแม้ว่า ย้ำ บางทีมันก็ยังเลือน บางทีมันก็ยังลด เพราะฉะนั้น การฝึกปรือ ดัด หรือ ขัดเกลาตน มาสู่ทิศทางใหม่ ซึ่งไม่ใช่ความชิน แบบเก่าๆ ที่สั่งสมมานานับชาติ เป็นโลกียะนั้น ไม่ใช่ของง่าย จึงต้องอาศัย การทำให้มาก เป็นพหุลีกตา กระทำ เมื่อรู้แล้วเข้าใจ เป็นสัมมาทิฏฐิแล้ว เห็นจริงแล้ว เชื่อมั่นแล้ว เป็นศรัทธา เราก็จะต้อง ทำให้เป็นความเชื่อ ไม่ใช่เชื่อมั่น เท่านั้น

เราจะต้องทำให้ทรงไว้ ทำให้เป็นทำให้มี ด้วยการฝึกอบรมให้มาก เพราะฉะนั้น นักปฏิบัติธรรม เมื่อเข้าใจ เช่นนี้แล้ว จึงจะไม่เผลอ จึงจะไม่ขี้เกียจ จึงจะต้อง พยายามสังวร ระวังอบรมตนของตน ไม่มีผู้อื่น จะมาอบรม ตนของตน ด้วยการปฏิบัติจริง ฝึกจริง เป็นจริง มีจริง ให้แก่ตนได้

๑ มิถุนายน ๒๕๒๗


ความรู้ในธรรม

ชนเหล่าใด มีความรู้ในธรรม อันหาสาระมิได้ ว่าเป็นสาระ และมีปกติ เห็นในธรรม อันเป็นสาระ ว่าไม่เป็นสาระ ชนเหล่านั้น มีความดำริผิด เป็นโคจร ย่อมไม่บรรลุธรรม อันเป็นสาระ

ชนเหล่าใด รู้ธรรมอันเป็นสาระ โดยความเป็นสาระ และรู้ธรรม อันหาสาระมิได้ โดยความเป็นธรรม อันหาสาระมิได้ ชนเหล่านั้น มีความดำริชอบ เป็นโคจร ย่อมบรรลุธรรม อันเป็นสาระ

ฝนย่อมรั่วรดเรือน ที่บุคคลมุงไม่ดี ฉันใด ราคะย่อมรั่วรดจิต ที่บุคคลไม่อบรมแล้ว ฉันนั้น ฝนย่อมไม่รั่ว รดเรือน ที่บุคคลมุงดีแล้ว ฉันใด ราคะย่อมไม่รั่วรดจิต ที่บุคคลอบรมดีแล้ว ฉันนั้น

บุคคลผู้ทำบาป ย่อมโศกเศร้าในโลกนี้ ย่อมโศร้าโศกในโลกหน้า ย่อมเศร้าโศก ในโลกทั้งสอง บุคคลผู้ทำบาปนั้น ย่อมเศร้าโศก บุคคลผู้ทำบาปนั้น เห็นกรรมที่เศร้าหมอง ของตนแล้ว ย่อมเดือดร้อน

ผู้ทำบุญไว้แล้ว ย่อมบันเทิงในโลกนี้ ย่อมบันเทิงในโลกหน้า ย่อมบันเทิง ในโลกทั้งสอง ผู้ทำบุญไว้แล้วนั้น ย่อมบันเทิง ผู้ทำบุญไว้แล้วนั้น เห็นความบริสุทธิ์ แห่งกรรมของตนแล้ว ย่อมบันเทิงอย่างยิ่ง

๑๑ มิถุนายน ๒๕๒๗


 

อย่าตัดสิน

อย่า...คือ ความเจริญของ ผู้มีปัญญานั้นๆ ผู้ที่โง่ หรือ ผู้ที่ไม่ฉลาด เท่าขอบเขตของ ความไม่ฉลาดของตน มักจะมองเห็น ความสูง ความเกินภูมิ ของตนนั้น เป็นความผิด เช่นเดียวกันกับปุถุชน จะมองเห็นกรรมของ พระอริยบุคคลกระทำ เป็นทวนกระแสกัน เห็นเป็นความผิด

เขาไม่สามารถมอง สภาพของ พระอริยะออก ฉันใด ผู้มีภูมิไม่สูง ภูมิต่ำอยู่ แม้จะได้เลื่อนฐานะ ขึ้นมาสู่ ภูมิสูงบ้างแล้ว ก็จะมองภูมิที่สูงขึ้นไปอีก ความรู้ที่สูงขึ้นไปอีก นั้นไม่ออก มองเป็นความผิด ความใช้ไม่ได้

ฉันเดียวกันกับปุถุชน มองอริยบุคคลไม่ออก เห็นว่าผิด เห็นว่าทวนกระแส เห็นว่าใช้ไม่ได้ เช่นเดียวกัน เพราะความมีอำนาจ แห่งปัญญา หรือความรู้ ความมีภูมิ เป็นความจริง เขามองไม่ออก มองไม่ได้ เห็นไม่ได้ จึงเห็นตีกลับ เป็นความผิดได้ เช่นเดียวกัน

ความจริงอันนี้ ได้ฆ่าผู้ที่มี ความดีบ้างแล้ว ผู้ที่มีภูมิสูงขึ้นมาบ้างแล้ว และ ก็มีภูมิที่ยังไม่สูงพอ จึงได้มองเห็น ความสูง ยิ่งๆขึ้นไป เป็นความผิด และก็ไม่พอใจ เมื่อไม่พอใจ เขาก็ถูกฆ่า ด้วยตัวของเขาเอง ถูกภูมิอันไม่สูง ของเขาเอง เป็นตัวฆ่าเขา หลุดร่วงออกไป จากหมู่ผู้สูงนั้น ได้เช่นเดียวกัน เสมอมา

ดังนั้น ผู้ฉลาด ย่อมมองปราชญ์ มองผู้สูงยิ่ง และเข้าซักไซ้ ไล่เลียง ไถ่ถาม สำหรับ ผู้ที่มีภูมิสูงยิ่ง ไว้เสมอๆ อย่าตัดสินความผิด ความใช้ไม่ได้ เท่าที่ตัวเองมีปัญญา ตัดสินเอง เป็นเครื่องชี้ขาด จนให้ตัวเอง หลุดร่วงจากหมู่ จากกลุ่ม ที่เราสมควรจะอยู่ด้วย เป็นอันขาด ไม่เช่นนั้น เราจะเป็นผู้หนึ่ง ที่ได้ถูกฆ่าตัวเอง ออกไปจากหมู่ด้วย เช่นเดียวกัน

๑๘ มิถุนายน ๒๕๒๗


 

ใจเป็นหัวหน้า

ธรรมทั้งหลาย มีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐที่สุด สำเร็จแล้วแต่ใจ ถ้าบุคคลมีใจอันโทษ ประทุษร้ายแล้ว กล่าวอยู่ก็ตาม ทำอยู่ก็ตาม ทุกข์ย่อมไม่ตามบุคคลนั้น เพราะ ทุจริต ๓ อย่างนั้น เหมือนล้อหมุนไป ตามรอยเท้าโค ผู้ลากเกวียนไปอยู่ ฉะนั้น

ธรรมทั้งหลาย มีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐที่สุด สำเร็จแล้วแต่ใจ

ถ้าบุคคลใด มีใจผ่องใส กล่าวอยู่ก็ตาม ทำอยู่ก็ตาม สุข ย่อมไม่ไปตามบุคคลนั้น เพราะสุจริต ๓ อย่าง เหมือนเงา มีปกติไปตาม ฉะนั้น ก็ชนเหล่าใด เข้าไปผูกเวรไว้ว่า คนโน้นด่าเรา คนโน้นได้ตีเรา คนโน้น ได้ชนะเรา คนโน้นได้ลักสิ่งของของเรา ดั่งนี้ เวรของชนเหล่านั้น ย่อมไม่ระงับ ส่วนชนเหล่าใด ไม่เข้าไปผูกเวรไว้ว่า คนโน้นด่าเรา คนโน้นได้ตีเรา คนโน้นได้ชนะเรา คนโน้นได้ลักสิ่งของ ของเรา ดั่งนี้ เวรของชนเหล่านั้น ย่อมระงับ

ในกาล ไหน ๆ เวรในโลกนี้ ย่อมไม่ระงับ เพราะเวรเลย แต่ย่อมระงับ เพราะความไม่จองเวร ธรรมะนี้ เป็นของเก่า ก็ชนเหล่าอื่น ไม่รู้สึกว่าพวกเรา ย่อมย่อยยับ ในท่ามกลางสงฆ์นี้ ส่วนชนเหล่าใด ในท่ามกลางสงฆ์นั้น ย่อมรู้สึก ความหมายมั่น ย่อมระงับ จากชนเหล่านั้น

๒ กรกฎาคม ๒๕๒๗


 

ความขยัน

นักปฏิบัติธรรม คือ ผู้ที่จะ ลดละ ขยัน กล้าจน ทนเสียดสี หนีสะสม นิยมสร้างสรร สวรรค์ นิพพาน

ซึ่งคำเหล่านี้ มันจะสลับซับซ้อน ในสภาวะ จะมีสภาพ สอดซ้อนหนุนเนื่อง และก็ทั้งขัดเกลา สิ่งที่เป็นกิเลส คนจะขยันด้วยกิเลส ก็จะต้องลดละกิเลส จนเราไม่ต้องดัน ที่จะขยัน ไม่ต้องพยายามเพิ่มพลัง ในจิตที่จะขยัน แต่จะกลายเป็น คนขยันเอง โดยที่มีปัญญาตัวรู้ เท่านั้น แล้วไม่ต้องใช้ ความอุตสาหะ วิริยะ ความขยันนั้น จะต้องเกิดอย่างเบา ง่าย เป็นไปโดยอัตโนมัติเอง และ มีพฤติกรรมขยันนั้น ดังนี้ เป็นต้น เราจะลดละ จึงจะเกิดการขยัน ที่ไม่มีกิเลสได้

เราจะกล้าจน โดยที่ไม่ต้องมีกิเลส เพราะต้องเลิกละ ลดละกิเลส ที่เราจะต้อง ยอมจน ยอมมักน้อย ยอมสันโดษ ลงได้

เราจะทนเสียดสี จนเราไม่ต้องทน แล้วเราจะมีปัญญา เราจะรู้ว่า เราจะทรงสภาพ หรือ ทรงธรรมอย่างไร โดยไม่มีกิเลส ไม่ใช่มานะ ไม่ใช่อวดอ้าง และ ไม่ใช่หน้าด้าน

เราจะหนีสะสม โดยสภาพ เมื่อเวลาเราเป็นคนดี เป็นคนที่ยกย่อง สรรเสริญ และ เคารพนับถือ เราจะเป็นผู้ได้ จะเป็นผู้มี แม้ไม่ต้องทำงานแลกเปลี่ยน ก็จะมีผู้ให้อย่างจริง ศรัทธาเลื่อมใส ที่จะส่งเสริม สนับสนุน ร่วมไม้ร่วมมือ อุดหนุน เราจะเป็นผู้ให้ และ เราจะเป็นผู้ที่ หนีสะสม ไม่ใช่แต่เพียงกล้าจน แต่จะหนีสะสม เพราะเราจะไม่จน

ถ้าเราไม่ละไม่เลิก ไม่ลดกิเลสลงไป เราจะกลายเป็นคน ที่จะต้องสะสม จะกลายเป็นคนที่มั่งมี จะกลายเป็นคนที่ร่ำรวย เหมือนอย่าง ผู้ที่ได้อยู่ฐานะ ที่ได้รับการเคารพนับถือ ยกย่อง และ เขาก็จะเป็น ผู้มีลาภมาก และ เขาก็จะสะสมลาภนั้น อย่างแก้ตัวอยู่ในตัว เขาจะไม่หนีสะสม อย่างแท้จริง เป็นสภาพ ที่จะต้อง กล้าจนจริงๆ สอดซ้อนลงไป หนีการสะสมให้ได้ อย่างละเอียดลออ เพราะการแก้ตัว ของกิเลส จะมีอยู่เสมอว่า ไอ้นั่นก็จำเป็น ไอ้นี่ก็จำเป็น ไอ้นั่นก็ควรมีควรเป็น ก็เป็นของบริสุทธิ์ ที่เราได้อะไร เช่นนี้ เป็นต้น

เป็นความละเอียด ซับซ้อน สอดซ้อน อยู่ในตัวของมันเอง อีกหลายชั้น ตั้งแต่ขยัน กล้าจน ทนเสียดสี หนีสะสม สอดร้อยมาเรื่อยๆ เมื่อผู้ใด มีความขยัน มีปัญญา ก็จะรู้การสร้างสรร จะรู้การกระทำ การงาน กระทำโดย ไม่ต้องการที่จะอยากเด่น อยากโด่ง อยากดัง กระทำด้วยความรู้ ด้วยปัญญา จะเป็นผู้ที่นิยม การสร้างสรร จะเป็นผู้ที่ทำงาน โดยไม่ต้องมีอะไร มาบังคับ และ ไม่จำเป็นจะต้อง เป็นความอยาก เป็นคน มีจิตเปล่า ขยันก็เปล่าๆ นิยมสร้างสรร ก็เปล่าๆ และ แม้จะมีตัวซ้อนอยู่ ในความกล้าจน ก็เปล่าๆ ง่ายๆ จะมีคนเสียดสี ด้วยสภาพใดๆ จะทั้งขึ้นทั้งล่อง ทั้งลบทั้งบวก ก็จะเป็นคน มีจิตเปล่าๆ ดั่งนี้ เป็นต้น สภาพสมบูรณ์ ของทั้งหมด ตั้งแต่ เลิกละ ลดละ ขยัน กล้าจน ทนเสียดสี หนีสะสม นิยมสร้างสรร ตลอดมา สมบูรณ์เมื่อใด ก็เป็นสวรรค์ ขึ้นไปยิ่งเท่านั้น สมบูรณ์อย่างที่สุด ก็เป็นนิพพาน อย่างแท้จริง นั่นเอง

๙ กรกฎาคม ๒๕๒๗


 

มีสติ สังวรตน

ผู้ปฏิบัติธรรม ที่จะเจริญก้าวหน้า ในการปฏิบัติธรรมนั้น ย่อมรู้ดีว่า หลักปฏิบัติ อันคือ สติปัฏฐาน ๔ โพชฌงค์ ๗, มรรค องค์ ๘ เป็นหลัก สำคัญที่สุด โดยนัยะละเอียด ก็คือ เราจะต้องมีสติ สังวรตนอยู่ ตลอดเวลา ตามกรรมฐานของเรา และ จะต้องระวัง กาย วาจา ใจ วิจัยธรรม ในส่วนเป็นมิจฉา ให้เป็นสัมมา แล้วเราก็ตั้งใจปฏิบัติ มีการละ ลด ปลด ปล่อย กระทำ อย่างจริงจัง จริงใจ ให้มากขณะที่สุด ไม่ว่าจะเป็น ส่วนหยาบ ส่วนกลาง ส่วนละเอียด ตามฐานะของตน ๆ ตามศีล ในขอบเขต ความหมายของตน ๆ ที่เราได้ สมาทานแล้ว และ ตรวจตราสอบทาน การปฏิบัติของตนด้วย เตวิชโช เสมอๆ

ผู้เอาจริง มีอิทธิบาท มีฉันทะ มีความเพียรพยายาม อย่าให้ขณะร่วงหล่น ต้องพยายาม ให้มีความประพฤติ มีสติสังวร กระทำให้ได้ มากขณะที่สุด เท่าที่เรา สามารถตั้งใจได้ ไม่ถึงกับเคร่งเครียด แต่เป็นผู้เคร่งครัด

ผู้กระทำอยู่จริง เอาจริงเท่านั้น จึงจะเป็น ผู้ได้ผล

๑๓ กรกฎาคม ๒๕๒๗


 

ชีวิตที่มีค่า

ชีวิตมนุษย์ล่วงไป ร่วงไปตามวันเวลา ผู้ที่ได้มีปัญญา เข้าใจลึกซึ้งต่อสัจธรรม เห็นความจริงว่า ผู้ที่มีชีวิตอยู่ เพื่อดำเนิน บทบาทของชีวิต ไปด้วยการแสวงหา ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข ให้แก่ตน แต่ละขณะ แต่ละนาที แต่ละชั่วโมง วันแล้ววันเล่า กับผู้ที่ได้ใช้ชีวิต แสวงหาโมกขธรรม พยายามมีอุตสาหะ วิริยะ ดำเนินตามรอย พระยุคลบาท มีมรรคองค์ ๘ เป็นทางประพฤติ แสวงหาต่างกัน เป็นผู้มีชีวิตอยู่ เพื่อจะละลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข ด้วยปัญญาอันยิ่ง ด้วยความอุตสาหะ ที่จะอดทน พากเพียร กระทำด้วยใจจริง ปัญญาอันลึกซึ้ง ปัญญาอันยิ่ง ย่อมจะเห็นจริงขึ้น ทุกเมื่อ ว่าชีวิตที่ปราศจาก ลาภก็ดี ปราศจากยศก็ดี ปราศจากเสียงสรรเสริญ เยินยอก็ดี ปราศจากโลกียสุข ก็ดีนั้น มิใช่ชีวิตที่อับเฉา มิใช่ชีวิต ที่จะเป็นไปไม่ได้ แต่หาก กลับเป็นชีวิต ที่เบา ง่าย ว่าง สบาย และเพียงแต่ว่า เราจะเป็น ผู้ที่ได้สร้างสรร ได้กอปรก่อ ประโยชน์คุณค่า ในแต่ละขณะ แต่ละนาที แต่ละชั่วโมง แต่ละวัน แต่ละเดือน แต่ละปีไป ผ่านไปกับ กาลเวลานั้นๆ ได้มากเท่าใดๆ เท่านั้น เมื่อมีมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี ชีวิตของมนุษย์ ผู้ใฝ่หาโมกขธรรม และ พากเพียรประพฤติ เพื่อสร้างความมีคุณค่า ประโยชน์ และ โมกขธรรม ให้แก่ตน อยู่นั้น ย่อมจะเป็น ผู้มีชีวิตที่มีค่าแน่นอน และ เดินทางไปสู่ โมกขธรรม สมควรแก่ธรรม ของผู้นั้นๆ ได้อย่างแท้จริง

๒๐ กรกฏาคม ๒๕๒๗


 

ความสงบ ประณีต

การปฏิบัติธรรมด้วยหลัก โพธิปักขิยธรรม มีสติปัฏฐาน เป็นเอก มีโพชฌงค์ ๗ เป็นตัวหลัก และ มีมรรค องค์ ๘ เป็นตัวกระทำประจำ หลักใหญ่ๆ ที่เราได้ศึกษา ตามทฤษฎีของ พระพุทธเจ้านี้ ผู้ที่ปฏิบัติได้จริง เป็นจริง จะเกิดพัฒนาการ ให้แก่ตนเอง โดยผู้ปฏิบัติธรรมนั้น จะเป็นคนมีสติ เร็วยิ่งขึ้น ไว รอบชัด และ รู้ยิ่งๆขึ้น มีปัญญายิ่งๆขึ้น จะเป็นปัญญาที่รู้ในกุศล ทั้งหลายแหล่ โดยเฉพาะ กุศลที่สำคัญ คือ ความสงบ ประณีต ความละเอียด ลออ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะรู้เอง ซาบซึ้งเอง เราจะรู้จัก ความสงบจากกิเลส ที่ชัดเจน เราจะรู้ ความประณีต สุขุม จะรู้จัก ความละเอียดลออ ของตั้งแต่สิ่งนอก ที่ควรจะรู้ จนกระทั่ง ถึงพฤติกรรมของตน ที่ละเอียด หรือหยาบ ตั้งแต่พฤติกรรม กาย วาจา จนถึงพฤติกรรมของจิต เราจะรู้ได้ อย่างจริงจัง ชัดเจนเอง และ จะซาบซึ้งเอง เพราะฉะนั้น

ผู้ที่เป็น พระโยคาวจร ที่มีปัญญา ก็จะฝึกตน กับความประพฤติ สุขุม ความละเอียดลออ เหล่านั้น จะเป็นคน มีความสุขุม ประณีต จะเป็นคนมีพฤติกรรม ที่มีสุขุม ประณีต ละเอียด งดงาม เราจะรู้ว่า ความละเอียด สุขุม ประณีตนั้น ควรทำอย่างไรบ้าง ควรจะได้จัดการกับ การกระทำของเรา ที่เป็นกรรม ประกอบอยู่ ตลอดเวลา ประจำชีวิต ไม่ว่ากายกรรม วจีกรรม ซึ่งมาแต่มโนกรรม เป็นผู้ซาบซึ้ง เป็นผู้จัดแจง ดัดแปลง ปรับปรุง กระทำตนของตน ให้เป็นคนที่มีอิริยาบถ มีพฤติกรรม มีการกระทำตอบ ต่อสิ่งภายนอก และภายในของตน ลักษณะรวมแล้ว ดั่งนี้ เราเรียกว่า ความสงบ ประณีต สันตา ปณีตา เพราะฉะนั้น ผู้ที่ปฏิบัติจริง มีการเจริญขึ้น ในทางธรรมจริง ก็จะเป็นคนที่สุภาพ สงบ อย่างแท้จริง เป็นคนมัธยัสถ์ด้วย เป็นคนเบิกบาน แจ่มใส ผ่องใสด้วย ตามจุดหมายปลายทาง ที่เราได้ประพฤติปฏิบัติ ว่าเราจะเป็น ผู้ที่ได้รับสภาพ เบิกบาน แจ่มใส มัธยัสถ์ สงบ สุภาพ และ กิเลสก็จะสิ้นไป ตามลำดับ หมดความอยาก สิ้นความเสพย์ ไปอย่างแท้จริง

๒๓ กรกฎาคม ๒๕๒๗


 

กิเลสโคตร

ผู้ปฏิบัติธรรม เมื่อศึกษาด้วยปัญญา สังเกตหลักการ จากศีลข้อต้นๆ ง่ายๆ เราจะเห็นได้ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงสอน ให้เราละ มีระดับขั้น ที่ชัดเด่น เช่น ให้ละโทสะ ละโลภะ ละราคะ เห็นได้จาก ศีลข้อหนึ่ง ละโทสโคตร ไปตลอดสาย ศีลข้อสอง ละโลภโคตร ไปตลอดสาย ละศีลข้อสาม ละราคโคตร เช่นนี้ เป็นต้น

เมื่อผู้รู้แล้วรู้ว่า เรามาปฏิบัติธรรมนั้น เพื่อที่จะถอนโคตร ถอนเหง้า โทสโคตรนั้น ไม่มีข้อแม้ เมื่อรู้อารมณ์ ตั้งแต่หยาบ กลาง ละเอียด แม้แต่เหตุเกิดเพียง ความขัดข้องใจ ความไม่สบายใจ ความอึดอัด ขัดเคืองเล็กๆ น้อยๆ ปานใด ก็ไม่มีข้อแม้ เราสลัดออก หรือปรับจิต ไม่ให้มีได้ทันที เพราะอาการเช่นนั้น ในโทสโคตร ทั้งสาย ไม่มีคุณค่า ไม่มีประโยชน์อะไรเลย แก่ตน ๆ หรือ แก่ผู้อื่น ส่วนทางสายโลภโคตร ก็เช่นเดียวกัน ราคโคตร ก็เช่นเดียวกัน ถ้าเรารู้ ในหยาบ กลาง เราก็ทำได้ทันที ส่วนละเอียด ที่เป็นความมุ่งหมาย เป็นเจตนารมณ์ เป็นความปรารถนาดี ปรารถนาเพื่อกุศล ปรารถนาเพื่อประโยชน์ เกื้อกูลแก่ผู้อื่นนั้น จะเรียกว่า สายปรารถนา สายโลภะ หรือราคะ หรือว่า เป็นสิ่งที่มีชีวิตอยู่ โลภะคือโลภ แต่ถ้าเผื่อว่า เป็นกิเลสจริง ก็คือโลภ มาให้แก่ตน ตนเสพย์ ตนได้ ตนมี ตนเป็น

ราคะ ก็คือ จิตที่ยังมีสภาพ ที่ยังไม่ล้างสนิท ยังไม่ปลดปลง ยังมีอาการเป็นเมถุน เป็นความปรุงอยู่ แต่เราก็จะต้อง มีสภาพที่รู้ถึง ที่ลึกซึ้งว่า เราจะปรุงเพื่อสร้างสรร ปรุงเพื่อผู้อื่น ปรุงเพื่อความเจริญ งอกงาม ย่อมเป็นคุณค่าอยู่ได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ไม่ฝึกละ ฝึกวาง ฝึกหยุด ฝึกดับ

ผู้ที่ทำได้อย่างสนิท เรียนรู้ ทั้งสภาพที่ควรปล่อย ควรวางอย่างยิ่ง และสิ่งที่อาศัย ดังกล่าวแล้ว ในขั้นละเอียด ผู้นั้นก็จะรู้จักสภาพ ล้างสะอาด และเหลือที่อาศัย พอเป็นคุณค่า ประโยชน์แห่งชีวิต และในโลก ผู้นั้นจึงจะเป็น ผู้มีคุณค่า ทั้งสิ้น

โมหะ คือ ความหลงผิด ที่ไม่ถูกตรงตามจริง อะไรที่หลงผิด สลับ สับเปลี่ยนไป ไม่แน่จริง ไม่ถูกจริง ไม่สมบูรณ์ ด้วยสัจจะ สิ่งนั้นคือ สิ่งที่เรียกว่า โมหะทั้งสิ้น การศึกษาของ ผู้ปฏิบัติธรรม ย่นย่อลงเหลือ การล้างโคตรของกิเลส ด้วยประการฉะนี้

ผู้มีสติอยู่ ฝึกตนอยู่ รู้ฐานะของตน ทำไปเป็นขั้นเป็นตอน ตามหยาบ กลาง ละเอียด สมฐานะ และ เลื่อนอธิศีล ให้แก่ตน ๆ ตามทฤษฎีอันเอก คือ มรรค องค์ ๘ ย่อมรู้ ความเจริญของตน ๆ และ จะพาสมบูรณ์ได้ด้วย อุตสาหะ วิริยะ พากเพียร สั่งสม บุญบารมี ของตนไป จนกว่า จะถึงที่สุด แห่งที่สุดได้

๒๗ กรกฎาคม ๒๕๒๗


 

จุดสูงสุด

ชีวิตของใคร ก็เป็นของของใคร ผู้ใดที่จะสร้างชีวิต จะทำชีวิตของตน ๆ ให้เป็นเช่นใด ผู้นั้น ก็ย่อมจะต้อง ใช้ความพยายาม กระทำให้แก่ตน แก่ตนเอง เราได้ศึกษาชีวิต ได้ศึกษา ทั้งดูผู้อื่น และ ดูตัวเรา เราได้เข้าใจชีวิต ว่าชีวิตควรจะเป็นเช่นใด และ เราก็เลือก ความมีชีวิต ให้แก่ตน ๆ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ได้รับซับซาบ รู้ชีวิต เช่นกับเรารู้ ว่าชีวิตที่เกิดมานั้น มีทิศทางไปอย่างไร และที่สุด ท่านก็ตรัสรู้ ว่าชีวิต ควรจะดีที่สุด อย่างไร และ ท่านก็เลือก ทางเดินของชีวิต ให้แก่ตนเอง พบจุดสูงสุด และนำความสูงสุดนั้น มาตีแผ่ เปิดเผย ให้แก่มนุษยโลก ได้รู้ ได้เห็น ความจริงว่า ชีวิตควรจะเป็นเช่นใด ควรจะไปทางใด แล้วก็สอนวิธี ให้เดินไปทางนั้น

เราผู้เป็นศิษย์ตถาคต เป็นศิษย์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า สำนึกและสำเหนียก ให้ดีที่สุดว่า การมีชีวิต ที่จะเดินทาง ไปในทางที่ พระบรมศาสดาของเรา ได้พารู้ พากระทำ พาฝึกฝน เพื่อที่จะไปสู่ ที่สูงสุดนั้น ดีจริงหรือ และเราได้พากเพียร เพื่อที่จะไปสู่ ทิศทางที่ดี ที่สุดนั้น เท่าใด ๆ ความมั่นใจ ความแน่ใจ กับ ความพากเพียร จะเป็นสิ่งที่ นำพาตัวเรา ไปสู่ทิศทางที่สูงสุด เท่าที่เรามุ่งหมายได้ อย่างเร็ว และดีที่สุดด้วย

๖ สิงหาคม ๒๕๒๗


 

การตัดกิเลส

ผู้ที่มีจิตใจมั่นคง และ มีปัญญาเห็นแท้ ในทิศทาง ที่จะเดินทางไปสู่ ความประเสริฐ รู้ว่า ความประเสริฐ ของชีวิตนั้น คือ การตัดกิเลส การปฏิบัติตน คือ การละล้าง สิ่งที่เป็นอวิชชาทั้งหลาย มั่นใจ เห็นจริง มีปัญญา เข้าใจชัด ไม่โลเลสงสัย แม้ผู้นั้น จะมั่นใจเห็นจริง และ ไม่สงสัย ถึงปานใดก็ตาม แต่ถ้าไม่พากเพียร เดินโพชฌงค์ ๗ จึงจะต้องพยายาม รู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติให้มาก อยู่กับตนเสมอๆ และ รู้ต่อสัมผัส สังวร ในอินทรีย์ ทั้ง ๖ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รู้จักกรรมกิริยา ของกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ของตน ๆ แล้วก็วิจัยธรรม

รูปที่พบก็ดี สัมผัสแล้ว เกิดอาการที่จิต เสียงได้ยินก็ดี สัมผัสแล้ว เกิดอาการที่จิต กายกรรม ที่เราจะทำ ก็ตาม วจีกรรม ที่เราจะพูดออกไป ก็ตาม เราก็จะสังวรระวัง ต่อสภาพที่เกิด เพราะมาแต่จิต จิตเป็นประธาน ของสิ่งทั้งปวง แม้ประตูออก ประตูเข้า ดังกล่าวนี้ จะเข้าไปใน ทวารใน จาก ตา หู จมูก ลิ้น กาย จะออกมาเป็น กายกรรม วจีกรรม ออกมาจาก จิตวิญญาณ ประตูในของเรา ถ้าเราได้มี ธัมมวิจัย ต่อกรรมกิริยา มีธัมมวิจัย ต่อสิ่งที่สัมผัส แล้วก็ไปเกิดผลที่จิต เลือกเฟ้นกุศลธรรม ปฏิบัติต่อตน ละลดกิเลส ที่เกิดจากกุศล อกุศล ที่เราวิจัยได้นั้น มีกรรมวิธีของตน ๆ ที่จะลด ละ จาง คลาย ไม่ให้เกิดอกุศล ไม่ให้เกิดทุจริต ตลอดเวลาๆ อยู่เมื่อไร ผู้นั้น จึงจะไปสู่ความประเสริฐ ดังที่เรามั่นใจ ดังที่เรา มีปัญญา แจ้งชัดแล้วได้

หากไม่พยายาม อุตสาหะ วิริยะ ดังกล่าวนี้ จะมีความมั่นใจ มีปัญญา ไม่โลเลสงสัย อย่างชัดแจ้ง ปานใด ก็ตาม ก็ได้แต่หวังเปล่าๆ อยู่เท่านั้น

๑๑ สิงหาคม ๒๕๒๗


 

อริยะ-โลกียะ

ปุถุชน คนโลกีย์ เขาตื่นอยู่ เขาไม่ค่อยหลับ และพยายาม กระปรี้กระเปร่า ขยันสร้างสรรอยู่ ก็เพื่อเขาจะได้ ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข เป็นธรรมดา ของปุถุชนคนโลกีย์ เขาย่อมตื่นอยู่ได้ มีอุตสาหะ วิริยะ พากเพียร เป็นผู้ตื่นอยู่ แววไว เช่นเดียวกัน

ผู้ที่เป็นอริยะ เป็นผู้ที่ตื่นอยู่ มีความกระปรี้กระเปร่า มีความขยัน สร้างสรร แต่ไม่ใช่เพื่อโลกียะ ไม่ใช่เพื่อลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข ทว่า เป็นผู้ที่ตื่นอยู่ เพื่อความสดชื่น เป็นผู้กระปรี้กระเปร่า ขยัน สร้างสรร เพื่อประโยชน์ แห่งประโยชน์ ในโลก

ถ้าโลกนี้ ไม่มีคนเช่นอริยะ ก็คงมีแต่ สิ่งที่เรียกว่าโลกียะ ที่ทำเพื่อแลก เพื่อเปลี่ยน เป็นอามิส ตลอดโลก และ เขาก็แย่งชิงโลก ฆ่าแกงกัน สร้างทุกข์ไป ตลอดนานัป ผู้เป็นอริยะ และ รู้แจ้ง เห็นจริง เช่นที่กล่าวนี้ จึงเป็นผู้ที่ได้ พิสูจน์ความจริง แม้จะมีคนกลุ่มหนึ่ง ที่มีความคิดเช่นนี้ และ กระทำการดั่งนี้ คนกลุ่มนั้น ก็จะเห็นความจริง ของโลกอีกโลกหนึ่ง ที่นอกจาก จะเป็นผู้ที่ตื่น เพื่อความสดชื่น เบิกบานของตน สร้างสรร ขยันเพียร กระปรี้กระเปร่า เพื่อคุณ เพื่อประโยชน์ แห่งประโยชน์แล้ว หมู่คนกลุ่มนั้น จะได้พบ ความเป็นมนุษย์ ซึ่งมีมนุษยสัมพันธ์ มีความเป็นภราดรภาพ มีความสันติ ที่ไม่มีการแย่งชิง ข่มเบ่ง ทะเลาะ เบาะแว้ง แตกร้าวกัน จะเป็นกลุ่มชน ที่มีความเกื้อกูล เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ มีความรัก อันไม่ใช่ ความรักอย่างโลกๆ

สิ่งเหล่านี้ ปราชญ์เอก คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ค้นพบความจริง ทั้งวิธีการ ให้คนพิสูจน์ ถ้าเชื่อว่า ศาสนานี้จริง พระพุทธเจ้าพบความจริง ขอให้เราได้พากัน มาพิสูจน์ สิ่งที่พระพุทธเจ้า ค้นพบกันนี้เถิด

๑๙ สิงหาคม ๒๕๒๗


 

สัปปุริสธรรม ๗

การปฏิบัติธรรม ที่จะจัดสัมมา จัดให้มัชฌิมา ได้ดี และ ได้สมบูรณ์ที่สุด ต้องใช้ทฤษฎี หรือ ใช้สูตร สัปปุริสธรรม ๗ ประการ ทุกคน ไม่ว่าขั้นต้น ขั้นกลาง หรือ ขั้นปลาย จะต้องเข้าใจ ในสัปปุริสธรรม ๗ ประการ เพื่อการปฏิบัติธรรมประกอบ เมื่อเราปฏิบัติ โดยหลัก มรรคองค์ ๘ โพชฌงค์ ๗ ปฏิบัติ โดยมีกรรมกิริยา ปฏิบัติโดยมีการสัมผัส แตะต้อง ทำงาน รับรู้ จึงจะต้อง มีการประมาณ เสมอๆ จริงๆ เพราะฉะนั้น ทุกคน จะต้องศึกษา สัปปุริสธรรม ๗ ประการ รู้ความหมาย และ พึงปฏิบัติตาม พิจารณาประกอบ เสมอ มีธัมมวิจัย ประกอบเสมอ แล้วใช้ ให้ได้สัดได้ส่วน ทั้งในการ เป็นประโยชน์ตน ที่ละ ลดกิเลส และ ควบคุมพฤติกรรม อันพอดี ทั้งกาย วาจา ใจ ที่จะสัมพันธ์ต่อสังคม สัมพันธ์กับผู้อื่นเสมอๆ เราจึงจะได้ทั้ง ประโยชน์ตน และ ประโยชน์ท่าน อันมีการพัฒนา อยู่เรื่อยไป เป็นผู้ประเสริฐ และ เป็นผู้เจริญ ได้สัมมา ได้มัชฌิมา ซึ่งเป็นเรื่องลึกซึ้ง ไม่ใช่เป็นเรื่อง ตื้นเขิน

ถ้าผู้ใด ไม่ใช้หลักใช้สูตร ดังกล่าวนี้ จะช้า ปฏิบัติธรรมสู่หลักสัมมา หรือ หลักมัชฌิมา ของพระพุทธเจ้า ไม่สำเร็จเลย ตลอดชีวิต

๓ กันยายน ๒๕๒๗


 

ไร้กังวล

บุคคลผู้สบาย คือ ผู้มีจิตแจ่มใส ไร้กังวล อดทน ขวนขวาย และ มีการศึกษา โดยเฉพาะ มีศีลศึกษา จิตศึกษา ปัญญาศึกษา เป็นผู้ที่ขวนขวาย อดทน และ รู้จักสภาพ ที่ตนเอง เป็นอยู่ อย่างไร้กังวล ทำใจให้แจ่มใส เบิกบาน ร่าเริง อยู่ได้สม่ำเสมอ เมื่อมีการศึกษา ด้วยศีล อธิศีล ปรับปรุงตน ผู้นั้นย่อมเจริญ ด้วยการศึกษา ที่นำพาไปสู่ความประเสริฐ อันเป็นทฤษฎีอันเอก ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ โดยแน่แท้

๑๐ กันยายน ๒๕๒๗


 

ผู้ทวนกระแส

มนุษย์ปุถุชน ที่เป็นผู้หวังโลกียสุข และเป็นผู้ที่ยังมี ความปรารถนาโลภ และยังเป็นผู้ที่ เห็นความโกรธ เป็นรสที่ตนเอง จะต้องเป็นต้องมี ไม่ได้รู้สึกว่า การมีอาการโลภ มีอาการโกรธนั้น เป็นบาป เป็นทุกข์ นอกจาก ผู้ที่ได้มาศึกษา อย่างมีธรรมจักษุ และมีปัญญา เข้าใจอย่างชัดแจ้ง เห็นจริง มีหิริ โอตตัปปะ เกิดในใจ อย่างแท้จริง จึงจะเป็นผู้ที่ ทวนกระแส กลับเข้าสู่ความละลด ปลดปล่อย เห็นอาการโลภ อาการโกรธ เป็นพิษเป็นภัยต่อชีวิต อันประเสริฐ และจะเป็น ผู้ที่ตั้งใจลดละ อาการโลภ อาการโกรธ อาการหลง ที่มีอยู่ในตน ๆ อย่างแท้จริง

ขนาดที่ ผู้มาศึกษา ประพฤติได้รู้ รู้ยิ่งเห็นจริงว่า อาการโลภ อาการโกรธ อาการหลง ทั้งหลายนั้น เป็นอาการ ที่น่ารังเกียจ เป็นอาการที่เรา อยากจะให้หมดไป จากตัวเรา ในบัดนั้นๆ และ เราก็ได้พยายาม เพียรทำ เพียรขจัดด้วย สามารถ อยู่เสมอๆ ปานใดๆ มันก็มิใช่ง่ายเลย ที่อาการโลภ อาการโกรธ อาการหลง จะหลุด จะหาย ออกไปได้ โดยง่ายดาย เพราะฉะนั้น ผู้ที่ยังไม่รู้เลยว่า อาการโลภ อาการโกรธ อาการหลงนั้น เป็นสิ่งที่น่าขจัด จึงก็อย่าหวังเลยว่า เขาจะได้พ้นอาการ เหล่านั้นได้ ด้วยประการใดๆ ในโลก

๒๔ กันยายน ๒๕๒๗


คาถาธรรม ๗ / คาถาธรรม ๘ / คาถาธรรม ๙