เม็ดทราย ๘

พระพุทธเจ้าสอนสาวกของพระองค์ ให้กินน้อย นอนน้อย
มีสติรู้พร้อม ซึ่งความพอดีแห่งตนเสมอ
ถ้าสาวกองค์ใด เผลอไผล และโมหะ
โลภในอาหาร ของดื่ม ของเสพย์ ติดอร่อยในการนอน
ก็จะมีรูปร่างพิกลพิการ ได้อย่างแน่แท้
เพราะความอ้วนเทอะทะ มันไม่ใช่เครื่องชี้บอก ถึงคุณงามความดี ที่ตรงไหน
มันกลับจะเป็นเรื่องชี้บอกถึง "ความทราม ความซวย"
หรือความบกพร่อง ของผู้อ้วนนั้น ๆ ต่างหาก
มันหนัก มันอืดอาด เปลืองผ้า เปลืองที่
ไปจนตลอดตาย ก็เปลืองไม้ทำโลงศพอีก ฯ

สมณะโพธิรักษ์


 

อันรสตาลหวานลิ้นไม่สิ้นซาก
ยังติดปากตรึงใจให้ใฝ่ถึง
เมื่อยามพรากจากไปใจคะนึง
อาวรณ์ถึงรสหวานซ่านฤดี

แต่รสธรรมล้ำเลิศกว่ารสอื่น
ถึงขมขื่นกล้ำกลืนได้ไม่หน่ายหนี
ยอมพรากจากรสหวานบรรดามี
หมายรสที่เลิศสุดวิมุตติเอย

นิรนาม


 

ผู้ที่รู้ทางก้าวพ้นกฎเกณฑ์ไปนั้น
ก็มีแต่พวกที่รู้ชัดว่าธรรมะนี้เอง ปรากฏออกทางกฎเกณฑ์
มิใช่ว่าพันธนาการ ของกฎเกณฑ์ไม่มีอยู่ สำหรับท่านเหล่านี้
แต่เพราะว่า พันธนาการนั้นๆ
ปรากฏแก่ท่าน เป็นรูปจำแลงของ อิสรภาพ
ดวงวิญญาณที่หลุดพ้นแล้ว
ย่อมยินดีที่จะรับ พันธนาการทั้งหลาย
โดยไม่พยายาม ทำลายมัน แม้แต่น้อย
เพราะท่านรู้สึกว่า ในกฎเกณฑ์แต่ละข้อนั้น
เป็นการปรากฏของ อมตธรรม
ด้วยความชื่นชมในโลกธาตุฯ

รพินทรนาถ ฐากูร


 

การ "ดิ้น" หาเงินของพระ
ไม่ใช่ทางรอดของศาสนาพุทธเลย
พระ "หยุด"เกี่ยวข้อง เรื่องหาเงินให้ได้
"หยุด" ใช้เงินให้ได้ต่างหาก
คือทางรอดของศาสนาพุทธ

การ "ดิ้น" หาเงินของพระ
คือความล่มจมของพุทธศาสนา
พระ "หยุด" เกี่ยวข้อง เรื่องหาเงินให้ได้
"หยุด" ใช้เงินให้ได้ต่างหาก
คือการจรรโลง พุทธศาสนา

อโศก


 

ยอดนักรบ
จากขุนเขาและที่ราบสูง
จากลุ่มน้ำและฝั่งทะเล
จากเหนือจรดใต้
จากตะวันออกจรดตะวันตก
เธอผู้ละทิ้งทรัพย์ศฤงคาร
มากินอยู่อย่างขัดเกลา
เธอพร้อมที่จะรักคนทั้งโลก
เธอจะชุบ คนน่าเกลียดเป็นคนน่ารัก
เธอจะชุบคนน่ารักเป็นบารมีผู้อื่น
เธอทำงานไม่รู้เหนื่อย
ไม่มีรางวัล ไม่มีสิ่งตอบแทน
เธอมากันแล้ว
มาเป็นหมู่เป็นเหล่า
สีกาสวะดั่งเปลวเทียน
ส่องทางสว่างไสว
ทั่วเขตคามที่เธอผ่าน
ผู้คนดำเนินทางสายกลาง
ต่างพากันหลั่งไหลแลแซ่ซร้อง
ก้องกระหึ่มราวกองทัพ
ผู้ที่มีจิตใจจดจ่อต่ออารมณ์
ย่อมเกิดความรักขึ้น ในอารมณ์เหล่านั้น
จากความรักจึงเกิดกาม
และจากกาม จึงเกิดโกรธขึ้น

จากโกรธ เกิดโมหะ
จากโมหะ เกิดการลืมสติ
จากการลืมสติ เกิดการเสื่อมเสียพุทธิ
จากการเสื่อมเสียพุทธิ จึงได้รับแต่ความพินาศ

ภควัทคีตา


 

"ความสุข" เพราะได้เสพย์"กาม" เป็นเรื่องหยาบที่สุด
ที่ท่านผู้มีปัญญา จะทิ้ง จะลดลงก่อนให้ได้จริงๆ
และ"ความสุข" เพราะได้เสพย์สมในโลกธรรม
อันมี ลาภ-ยศ-สรรเสริญ- ก็เป็นเรื่องหยาบใหญ่
ที่มีส่วนเกี่ยวพันกัน อยู่ในชีวิตของผู้ยังไม่รู้แจ้ง โทษของ"กาม"
เพราะเจ้าลาภ-ยศ-สรรเสริญ พวกนี้
จะเป็นพาหะนำไปเสพย์ "กาม" อยู่นั่นเองแหละ
สำหรับปุถุชน และแม้พระอริยเจ้าขั้นต้น ก็ดี
""ความสุข" เพราะหลงวิชชา หลงความรู้ หลงในคุณงามความดี
เป็นขั้นกลาง ซึ่งเป็นเรื่องของ "ธรรมารมณ์" กันแล้ว
เบื้องปลาย "ความสุข" เพราะได้เสพย์สมใน "ความสงบ"
ในความหยุด ความนิ่งเฉย และความดับ เป็นเรื่องละเอียด
และสุดท้ายลึกซึ้งสุด แม้ "บรมสุข" ที่ได้เสพย์สม ในสภาวะ ผู้หยั่ง "นิพพาน"
หรือผู้ทำ "สัญญาเวทยิตนิโรธ" ให้แก่ตนได้แล้ว ก็ตาม
ผู้แจ้ง "นิโรธอริยสัจ" ผู้แทงทะลุแท้จริง ในวิชชาขั้นสูงสุด
ก็จะไม่ติด ไม่หลงเสพย์เลย เป็นอันขาด

สมณะโพธิรักษ์


 

ถ้าแม้ใครใดได้ปรับปรุง การกระทำตนของตน
พ้นได้จาก "การไม่สำรวมอินทรีย์"
อันมี ตา-หู-จมูก-ลิ้น-กาย-ใจ ด้วย "สติสัมปชัญญะ" จริง
ให้มาเป็น "การสำรวมอินทรีย์"
จนปรับเข้าสู่ "สุจริต 3" ได้จริง กระทั่งความบริบูรณ์ก็มี
ก็นั่นแหละ คือ ผู้นั้นกำลังประพฤติตน
อยู่ในระบบทฤษฎีแห่ง "สติปัฏฐาน" อยู่ทีเดียว
และกำลังมีภาวะ ลดอาหารแก่ "นิวรณ์ 5" อยู่
อย่างถูกทาง ถูกระบบ ของพุทธธรรมแท้ทีเดียว

สมณะโพธิรักษ์


 

ศรัทธาของเราเป็นเมล็ดพันธุ์
ความเผาผลาญกิเลสเป็นน้ำฝน
ปัญญาของเราเป็นแอกและคันไถ
ความละอายต่อบาปเป็นงอนไถ
ใจของเราเป็นเชือกชัก
ความมีสติเป็นผาลและปฏัก
ความมีอินทรียสังวร และการประมาณในอาหาร เป็นรั้วนา
ความมีสัจจะ เป็นเครื่องถากหญ้าทิ้ง
ความยินดีในธรรมอันงาม เป็นกำหนดการเลิกทำนา
ความเพียรของเรา เป็นผู้ลากแอกไป
ลากไปสู่แดน อันเป็นที่เกษมจากโยคะ
ไปอยู่ ๆ ไม่เวียนกลับมา
ย่อมถึงที่ซึ่งบุคคลไปถึงแล้ว ไม่เศร้าโศก
การไถนานั้น เราไถแล้วอย่างนี้
นานั้นย่อมมีอมตะเป็นผล
บุคคลผู้ทำนาอย่างนี้แล้ว
ย่อมหลุดพ้น จากความทุกข์ทั้งปวง

พุทธวจนะ


 

พึงรู้ การกิน เมื่อกิน
ว่าเรากินเอาอะไร ?
พึงรู้ การใช้ เมื่อใช้สอย
ว่าเราจะให้เกิดอะไร เป็นประโยชน์คุ้มกันหรือไม่
พึงรู้ การนอน เมื่อนอน
ก็ให้กำหนดประมาณ เวลาหลับ เวลาตื่น
พึงคิดเสมอว่า เราเกิดมา
ก็แค่เดินทางไปสู่หลุมฝังศพ
เราจะดี มีคุณค่า ก็อยู่ที่
การงานที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นเสมอ

(สารอโศก ฉบับ กิน กาม เกียรติ เกิด ปีที่ 2 ฉบับที่ 11 มิถุนายน 2522)


 

ความตายที่รัก
ขึ้นชื่อว่าความตาย...
เหล่ามนุษย์ผู้หลงกาม ก็สยองกลัว
ขึ้นชื่อว่าความพลัดพราก
เหล่ามนุษย์ที่มีรัก ก็ย่อมสยองขวัญ
แต่แม้กระนั้น
ความพลัดพราก อันเกิดจากความตาย
ก็ได้ประกาศตัวอยู่ ทุกซอกแห่งดวงใจ
ไม่ว่าหลับหรือตื่น
ไม่ว่ายืนหรือนั่ง
มันกู่เพรียกหาอยู่ ทุกโมงยาม
แต่เราก็ไม่เคยสนใจ... ไม่เคยมองหา

จนสุดท้าย ผู้ที่เรารัก
ผู้ที่เรารักใกล้ชิด ได้สลัดลมหายใจ ให้กับโลก
พิษของมันก็จะกำเริบ อย่างแสบเผ็ด
ยิ่งหนีก็ยิ่งเจ็บ
ยิ่งกลัวก็ยิ่งทุรน
มีทางเดียวจริงๆ ในโลกนี้
คือการหันประจัญบานกับมัน
ศึกษามันอย่างฮึกเหิม
เรียนรู้จุดอ่อนของความตายให้ได้
อย่าให้ความตาย ของผู้เป็นที่รักแห่งเรา
ต้องตายอย่างเปล่าดาย

ตายอย่างไร้ค่า
เพราะนั่นมิใช่วิสัย แห่งความเป็นเพื่อนรัก...
ความเป็นพี่น้อง... หรือแม้แต่ความเป็นพ่อแม่ลูก
ชีวิตทั้งชีวิตได้ร่วงหล่นลงไป
เราจะไม่เทิดทูนคุณค่า ของเขาหรือ ?

เรียนรู้ซิ ! ...
ใช่แล้ว ! มีแต่การเรียนรู้เท่านั้น ที่เป็นการยกคุณค่า
มิใช่ปล่อยให้จิตใจด้านชา ไม่รู้ ไม่เห็น ไม่รู้สึก
และก็มิใช่ปล่อยให้จิตใจ ไหวระรัว ราวกับฟองคลื่น
เรียนรู้และตรึกนึก
เพื่อที่จะได้เกิดความสำนึกแห่งชีวิต
เพื่อที่จะได้เกิด ความสังเวชในสวรรค์ อันก่อสุขทั้งปวง
เพื่อที่จะได้ระดมกำลังทั้งมวล
ทุ่มเทให้กับการปฏิบัติธรรม อย่างไม่ดูดาย ไม่ประมาท

เรียนรู้และเรียนรู้
เพื่อที่จะได้เห็นความไม่เที่ยงแท้ แห่งสายธารสังสารวัฏ
เพื่อที่จะได้คลาย จากความยึดมั่นถือมั่น ในสรรพสิ่งทั้งหลาย
เห็นทุกอย่าง มีแต่การเปลี่ยนแปร ไม่คงทน
ไม่มีอะไรที่จะอยู่กับเราได้ ตลอดกาล
ไม่มีอะไรที่จะสมดังใจหวัง
ไม่มีอะไรที่ผูกพันเอาไว้ได้ แม้สักใยเดียว
เราจะทำจิต ขณะอยู่หลายคน ให้เหมือนอยู่คนเดียว
และเราจะทำจิตคนเดียว ให้เหมือนอยู่หลายคน
หยดน้ำได้ระเหย กลายเป็นไอ
ทิ้งไว้แต่ความว่างเปล่า
มีหัวเราะก็มีร้องไห้
มีโศกก็มีชื่น
สุดท้าย ก็มิได้เหลืออะไรไว้เลย
นอกจากความทรงจำ ที่ประทับไว้ในห้วงดวงใจ
เพลงชีวิต ได้ยุติการบรรเลงแล้ว
อย่าให้ผู้ที่ เป็นที่รักของเราตายเปล่า
นำความตายที่เกิดครั้งนี้ มาใช้ให้มีประโยชน์
นำความตายมาปรุงสาระ ให้สร้างเนื้อแห่งสัจธรรม
อย่าให้เขาตาย อย่างเปล่าดายไร้ค่า
ตายเหมือนสุนัขกลางถนน ที่ไม่มีใครสนใจ
พิจารณามัน ศึกษาประโยชน์จากมันให้ได้
ค ว า ม ต า ย ที่ รั ก ...ฯ

- ทรงอยู่ -



ผู้เป็น"อริยะ" เท่านั้น จึงจะรู้ว่า
"ความตาย" ก็คือ "ความเกิด" นั่นเอง
เมื่อท่านรู้จักกับความตายแล้ว
ท่านก็จะไม่กลัวต่อความตาย
เพราะท่านรู้ว่า ท่านได้ตายจริงหรือไม่ ?
ได้ตายจากอะไร ? และเมื่อตายแล้ว
ท่านควรจะเกิดอย่างไรต่อไป
ดังนั้น ท่านจึงสามารถมอบกาย ถวายชีวิต
ให้แก่บรมศาสดาได้อย่างสมบูรณ์
ท่านจะมีอิทธิบาท คือ
ความเก่งกล้าอาจหาญ
สู้ทนกับความทุกข์ยาก นานาประการ
เพื่อบรรลุถึงจุดเป้าหมาย อันสูงส่งของชีวิต
ท่านจะพยายามเพิ่มกำลังกาย และกำลังใจ ให้แก่ตนเอง
ชีวิตของท่านจึงเป็นอมตะ
ท่านผู้นั้นได้มีอิทธิบาท เป็นอายุแล้ว
นี้แหละคือ "สมณะ" ของพระบรมศาสดา

(อ.ศ.) 5


 

มองดูตอฝรั่งตอใหญ่ หน้ากุฏิพ่อท่านเคยอยู่
ระลึกถึงอดีตอันชุ่มชื่น ร่มรื่น ครึ้มเขียวของมัน
พวกเราต้องเก็บกวาดใบ ใต้ต้นอันสูงใหญ่ของมัน ทุกเช้า
แต่ดูมันนิ่งเฉย สงบ ไม่อนาทรต่อสิ่งใด รอบข้าง
ไม่โหยไห้ รำพันถึงอดีตอันเคยรุ่งเรือง
มันได้ถูกฟันทิ้ง เพื่อเปิดร่มเงา ให้แก่ต้นอโศก ที่เริ่มใหญ่
ไม่มีการคร่ำครวญ เพื่อเรียกร้อง ค่าตอบแทน
ไม่มีการคร่ำครวญ เพื่อเรียกร้อง ขอความเห็นใจ
ไม่มีการประชดประชัน กระแทกแดกดันใดใด
ไม่มีคำว่าเสียใจ หรือความไม่พอใจ
ไม่มีการผูกโกรธ พยาบาท
ฉันได้รับพลังเย็นที่มั่นคง และสงบเย็นจากมัน
มันคือครูของฉัน ตลอดกาล

ณ กุฏิเบอร์ 5
พุทธสถานแดนอโศก
26 พ.ค. 2522


 

ฯ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย
นกมีปีกจะบินไป ทางทิสาภาคใด ๆ
ก็มีแต่ปีกของตัว เป็นภาระบินไป ฉันใด
ภิกษุ ก็ฉันนั้นแล
เป็นผู้สันโดษด้วยจีวร เป็นเครื่องบริหารกาย
ด้วยบิณฑบาต เป็นเครื่องบริหารท้อง
เธอจะไปทิสาภาคใดๆ ก็ถือไปได้เอง
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย
ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล
ภิกษุ ชื่อว่าเป็นผู้สันโดษฯ


 

ขุนศึกแห่งองค์โคตมะ
ประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่ง
แห่งการปลุกระดม สร้างกองทัพธรรม
ได้ถูกบันทึกอีกครั้ง
ถึงการสูญเสียยอดนักรบ แห่งพุทธธรรม
ผู้หาญกล้าประจัญบาน กลางสมรภูมิ อย่างแกร่งทระนง
กลางทะเลแห่งโลกีย์
อันฉาบพอก ด้วยของหอมหลากหลาย
มากมายด้วยสิ่งโอชารส แห่งอายตนะ
ที่ซ่อนพิษร้าย อันหฤโหด
ที่ชวนเคลิบเคลิ้ม อย่างวาบหวาม
ที่สัตว์มนุษย์ก้มลงกราบคารวะ
ประจงอาบ ลูบไล้ ดื่ม เสพย์อย่างเมามัน
"นี้คือสุข นี้คือสุข นี้คือสุข...
นี้คือ สิ่งที่ข้าปรารถนา นี้คือสิ่งที่ข้าปรารถนา"
เสียงตะโกนร้อง ดังสนั่นไปทั่วสุดแผ่นดิน
แต่เขา...ชายหนุ่ม ผู้หาญกบฏ
กบฏต่อญาติพี่น้อง
กบฏต่อเผ่าพันธุ์มนุษย์ ผู้ไหลตามกระแส
กลับหยุดยั้งการกัดแทะ แท่งกระดูกแห่งมายา
สะบัดขว้างทิ้งไป อย่างไม่ไยดี
มิไยที่โลกกล่าวหาว่า เป็นคนทรยศ
เป็นคนโง่ที่เสียเปรียบ
เขายิ้ม...
และเดินจากออกมาอย่างขุนเขา
ใช่แล้ว ! เขาทรยศ
ทรยศต่อความสุข ความเห็นแก่ตัวของมนุษย์
ทรยศต่อกาม เกียรติ ที่ประดามีในโลก
ใช่ เขากำลังทรยศ ต่อเหล่าอธรรมผีร้าย
เจ็ดเดือนที่แล้ว
หลังแบบฝึกหัดธรรมยุทธ อันเข้มข้น
เขาเดินผ่านเข้าหลักประหาร
ประกาศตัดหัวมอบถวาย พระพุทธองค์
สมัครเป็นนักรบสีกรักเต็มรูป
นามว่า "อิทธิปาทายุโก -ผู้มีอายุด้วยอิทธิบาท"
กองทัพธรรมโห่ร้องอึงอล
"มา ท่านอิทธิฯ มา
มาช่วยกัน ฟาดฟันมารร้าย แห่งอวิชชา
ชำระล้างดวงตา เหล่าเวไนย ให้ใสสะอาด
มา ท่านอิทธิฯ มา
มาช่วยกันยังประโยชน์ตน -ประโยชน์ท่าน ให้ถึงพร้อม
มาชูดวงประทีป ส่องนำทางชีวิต ให้แก่พวกเขา
ธรรมะเท่านั้น ที่จะต้องเป็นใหญ่ในแผ่นดิน"
ลุมาจนกระทั่งถึงวันนี้
วันที่เมฆหมอกครึ้มทะมึน ไปทั่วแผ่นฟ้ากว้าง
บดบังดวงตะวัน ที่เคลื่อนคล้อย ในยามบ่าย 4 โมง
ศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม 2522 แรม 5 ค่ำ เดือน 8
ท่ามกลางบทเพลงแห่งอริยะ
ที่ประสานบรรเลงกันอย่างกระจะ
ดุจหงายของที่คว่ำให้เปิดออก
ดังผาดโผนบุกทะลวง ดวงใจของมนุษย์
กระหน่ำกำแพง ความโง่บอดแห่งชีวิต ให้แตกกระจาย
ปลุกหัวใจที่ไร้ทิศ และร่านร้อน
ให้ลุกโชติช่วงอย่างสุขเย็น
ทำหัวใจที่ไร้ฐาน
ให้แข็งกร้าวทวนคลื่นลม อย่างไม่ระย่อ

วันแล้ววันเล่า
อย่างกล้าหาญ
อย่างเด็ดเดี่ยว
พลันเสียงเพลง ได้แผ่วลงอีกจุดหนึ่ง
บทเพลงแห่งอริยะ อีกหมายเลข
ก็ได้จากไปอย่างสงบ... อย่างสบาย
ทิ้งไว้แต่เสียงเสนาะ แกร่งกังวาน ดังอยู่ในป่า
เพื่อยืนยันสัจธรรมของชีวิต ครั้งสุดท้าย
ว่าชีวิตนั้นไม่เที่ยง
ดุจพยับแดด ละอองเมฆ
จริงจังกับมันไม่ได้
มันเกิด...และทรงอยู่ แล้วก็ดับไป
เพื่อขอสัลเลขะ อีกวาระเป็นที่สุด
ว่าที่ใดมีรัก ที่นั่นย่อมมีทุกข์
การไม่พลัดพราก จากสิ่งที่รักนั้น ไม่มีในโลก
น่าเสียดาย
น่าเสียดาย
ที่ดวงประทีป มาด่วนลาลับ
บทเพลงชีวิตแห่งอริยะ มาด่วนลาจาก
ทั้งๆ ที่ผู้เล่น ก็ยังยินดีใฝ่บรรเลง
แต่สังขารซิ
สังขารมันทนไม่ได้ จำต้องแตกสลาย
วันนี้ไม่มีวันนั้น
ไม่มีการสากัจฉา วิสัชนา
ไม่มีการแสดงพูดคุย
ไม่มีอะไรเกี่ยวกับเขาอีกต่อไป
ชีวิตแห่งสาระ ได้ดำเนินบทบาท มาพอสมควรแล้ว

ชีวิตนี้ช่างสั้นนัก
ชีวิตนี้ช่างเร็วนัก
ดวงตะวันลาลับจากขอบฟ้า
และกลับมาอีกครั้งในยามเช้า
เมื่อวาน วันนี้ พรุ่งนี้ มะรืนนี้...
ปีแล้วปีเล่า
ดวงตะวันยังคงดวงเดิม
แต่ชีวิตของเขา
ชายหนุ่มผู้กล้ากบฏต่อเผ่าพงศ์
ได้จากไปอย่างไม่มีวันกลับ
ทิ้งไว้แต่บทเพลง
ที่จะกระหึ่มค้างฟ้า คู่กับดวงตะวัน
รอเสียงขานรับ จากผองเผ่าอริยะ
ร่วมสร้างมนุษย์พันธุ์ใหม่ ที่กล้ากบฏต่อเหล่ามาร
ตราบนานเท่านาน
ขอจารึกนามบุรุษอาชาไนย
ตอกฝังไว้กลางแก่น ดวงวิญญาณ
มิให้เสื่อมสลาย
แม้โลกจะแตกอีกแสนลูก ล้านลูกก็ตาม
แต่...อิทธิปาทายุโก
ดวงประทีปดวงหนึ่ง ที่ทอแสงแจ่มจ้า กลางสกล
ไม่ระย่อต่อความมืด อันกว้างใหญ่ในจักรวาล
บุรุษยอดนักรบ ผู้ถึงแก่พิราลัย
ขุ น ศึ ก แ ห่ ง อ ง ค์ โ ค ต ม ะ

- ญาติธรรม -
16 กรกฎาคม 2522


 

ห้ามอวดโอ่ โฆษกะ คุณพระเครื่อง
ของขลังเฟื่อง เรืองฤทธิ์ ผิดคำสอน
พุทธพจน์ หดสั้น จนสั่นคลอน
ถูกนิวรณ์ กร่อนกัด สิ้นศรัทธา

อริยะ สัจจะ อนุศาสน์
ทรงประกาศ เด่นชัด องค์สัตถา
แต่มนุษย์ ยุคเขลา เบาปัญญา
กลับศรัทธา อิฐ หิน ปูน ดิน ทราย

เชิงชาย เพชรากร

 

จุดธูปเทียน ลูบคลำ ประคำร้อย
ไม่ท้อถอย ท่องพุทโธ ยโตหัง
เพื่อให้จิต ผ่องใส ในภวังค์
ในม่านบัง เงียบสงัด น่าศรัทธา

แต่ผลลัพธ์ กลับออก ท่านบอกหวย
ศิษย์หวังรวย แห่แหน นวดแขนขา
แหมงวดนี้ เลขเด่น เห็นกับตา
ภาวนา เสียผ้าเหลือง เปลืองธูปเทียน

เชิงชาย เพชรากร


 

บทแผ่เมตตา
สำหรับผู้บริโภคเนื้อสัตว์

สัตว์ใหญ่น้อยทั้งหลาย ผู้น่าสงสาร
เกิดมาเป็นอาหารของมนุษย์ ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น
จงพลีชีวิตให้เรา อย่างเป็นสุข เป็นสุขเถิด
อย่าได้จองเวร ซึ่งกันและกันเลย
จงยินยอมตาย อย่างเป็นสุข เป็นสุขเถิด
อย่าได้เบียดเบียน ซึ่งกันและกันเลย
จงสังเวยปากท้องของเรา อย่างเป็นสุข เป็นสุขเถิด
อย่าได้มีความทุกข์กาย ทุกข์ใจเลย
จงมีความเจริญเติบโต โดยเร็วไว
รักษาตนให้อ้วนๆ พีๆ เทอญ

พันธุรัตน์


 

เมื่อเรายอมต่อพันธนาการของสัจธรรม อย่างเต็มที่แล้ว
เราจึงจะบรรลุความชื่นชม อันเต็มเปี่ยม
โดยอย่างไรเล่า... ประดุจสายลวด ซึ่งผูกอยู่กับพิณ
ลวดนั้นจะต้องขึงตึงจริงๆ และถูกดีด
จึงจะเกิดสำเนียงดนตรีขึ้น
สายลวดนั้น ก้าวข้ามสภาพของมันเอง
ไปสู่อิสรภาพแท้จริงในเสียง ทุกครั้งที่ถูกดีด
มันสามารถพบอิสรภาพได้ ในทำนองเพลง
ก็เพราะอีกด้านหนึ่งนั้น มันถูกรัดดึงขึงไว้ด้วย กรอบและกฎเกณฑ์
ขณะเมื่อเส้นลวดนี้ ไม่ถูกรัดตึง เพียงแต่ผูกไว้หลวมๆ
ก็ไม่อาจทำให้เกิด เสียงดนตรีได้
มันจะทำให้เกิดเสียงดนตรี อันเป็นด้านอิสรภาพ ของมันได้
ก็ต่อเมื่อ ถูกรัดตึงขึ้นทุกที จนถึงขั้นที่ใช้ได้

รพินทรนาถ ฐากูร



เหตุผลและอารมณ์ของเธอนั้น
เป็นดุจหางเสือและใบเรือ แห่งวิญญาณของเธอ
ซึ่งจรไปในท้องทะเลกว้าง
ถ้าหากใบเรือหรือหางเสือเสียไป
เรือก็จะโคลงเคลง และล่องลอยไป
หรือไม่ก็ลอยเฉย อยู่กลางทะเล
เพราะการใช้เหตุผล แต่อย่างเดียว
เป็นดุจแรง อันถูกล้อมกรอบอยู่
ส่วนอารมณ์ที่ไร้สิ่งเหนี่ยวรั้ง คือเปลวเพลิง
ย่อมเผาผลาญ แม้ตนเองให้พินาศไป

ดังนั้น จงให้วิญญาณของเธอ
ยกเหตุผล ขึ้นสู่ระดับสูงของอารมณ์
เพื่อมันจะได้ร้องเริง

และขอให้มันนำแนวทาง ของอารมณ์ด้วยเหตุผล
เพื่อว่าอารมณ์ของเธอนั้น จักได้ดำรงอยู่นิรันดร์
โดยการฟื้นคืนชีพ ของตนเองทุกวัน
และผุดลอยขึ้น เหนือเถ้าถ่านของตนเอง
ดุจปักษีอมตะ...ฯ

คาลิล ยิบราน


 

ความมืดสีขาว น่ากลัวกว่า ความมืดสีดำ
เพราะในความมืดสีดำ
เราย่อมรู้ว่า ต้องแสวงหาแสงสว่าง
เพื่อเป็นเครื่องส่องทางชีวิต
แต่ถ้าดวงตาของเรา พร่ามัวไปด้วย ความมืดสีขาวเสียแล้ว

เราย่อมจะวนเวียน อยู่ในวัฏฏะแห่งชีวิตนั้น ตลอดไป
ด้วยหลงเข้าใจว่า กำลังเดินลัด ออกจากสังสารวัฏ
ระวัง ! ระวัง !
สิ่งที่เราเห็นอยู่ว่าถูกนั้น อาจจะผิด
และสิ่งที่เราเห็นอยู่ว่าผิดนั้น อาจจะถูก
เราจะแยกความผิดถูก ได้ด้วยอะไรหรือ
เพราะแม้แต่ปัญญา ที่จะคิดถึง มันก็ยังน่าลังเลเสียแล้ว
ระวัง ! ระวัง !
สิ่งที่เราเห็นอยู่ชัดชัดว่าถูก
ก็อาจซ้อนแฝงด้วยความผิด ที่ลึกซึ้งยิ่งกว่า
บัณฑิตผู้รู้ จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง
ที่เราต้องเสาะหาใกล้ชิด
และนี่แหละ เป็นความสำคัญ อย่างยิ่งใหญ่
ของการเกิดขึ้น แห่งองค์สมเด็จ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า


 

เพลงก้าวไปเถอะ
ก้าวไปเถิด อย่าเกิด ความหวั่นไหว
ด้วยดวงใจ หนักแน่นสุด ดุจภูผา
ก้าวไปเถิด อย่าหวั่นไหว ในสายตา
จงแกร่งกล้า ก้าวไป มั่นใจตน
ก้าวไปเถิด เพื่อเทิด ความดีงาม
ก้าวเดินตาม ด้วยศรัทธา ทุกแห่งหน
ก้าวเทิดธรรม เพื่อหมู่มวล มนุษย์ชน
ให้ผู้คน พบสัจจะ ประจักษ์ชีวิน

มุ่งแม่น [[email protected]]


 

เมื่อถึงคราวฟ้าฝนลมบนโบก
หลั่งลงโลกโชกแฉ่แผ่ไพศาล
ละลิบลิ่วพริ้วพรมลมพัดพาน
เป็นสายธารซ่านเซ็นเย็นธาตรี
เย็นยะเยือกเกลือกยั้งคนคลั่งไคล้
เลิกหลงใหลใฝ่คิดผิดวิถี
ให้ฝนล้างสางสาบคราบราคี
อย่าให้มีลีลาที่น่าชัง
อันมนุษย์ผุดเกิดเหมือนเปิดฉาก
เมื่อตายจากฝากชื่อบันลือหลัง
ถ้าทำดีมีชื่อระบือดัง
ดุจระฆังดังเพราะเสนาะกรรณ
ถ้าก่อกรรมทำเวรเป็นเกณฑ์กฎ
มีเลี้ยวลดคดคิดให้ผิดผัน
มีละโมบโลภทรัพย์นับอนันต์
ก็โลกันตร์นั่นแหละที่แวะตาย

นินทสัน


 

ผู้ไม่สัมผัส "อรหัตผลจิต" แท้
ไม่มีสิทธิ์พูดคำว่า "ตายแล้วสูญ"
ผู้ยังไม่ใช่พระอรหันต์จริง กล่าวคำว่า "ตายแล้วสูญ"
โดยเฉพาะตน ก็มีความเชื่อมั่นอยู่ว่า
ถ้าตน "ตายลง" จริงๆ ก็จะไม่มีอะไรไปเกิด
หรือไม่เหลือเชื้ออะไรอีกเลยจริงๆ
ผู้นั้น คือ ผู้"สิ้นหวังแท้"
ในความจะบรรลุ "นิพพาน" ขั้นสูงสุด
หรือผิดทางแห่งความเป็น "พระอรหันต์" อย่างสนิท
ผู้เป็นพระอรหันต์ บริสุทธิ์บริบูรณ์แท้ๆ เท่านั้น
คือ ผู้มีสิทธิ์กล่าวคำว่า "ตายแล้วสูญ"
เพราะท่านตายแล้วสูญจริงๆ
หรือ ผู้มี "อรหัตผลจิต" แท้ๆ บ้างแล้วเท่านั้น
จะรู้แจ้งในการ "ตายสูญ" ก็มีจริง
การ"ตายแล้วเกิดอีก" ก็มีจริง
และจะไม่พาผู้คน "ตกหุบ-ตกเหว" หรือหลงผิดทาง
"จิต" ใครมีทุกข์ มีความทรมาน
มีความทนได้ยาก มีความปรารถนาสุข
หรือไม่รู้ตนว่า ตนอยู่ในสภาพดีแล้วอย่างไร
นั่นแหละคือ "ความเป็นสัตว์นรก"
จงรู้จัก "สัตว์นรก" ให้ดีๆ
มันอยู่ในคนเป็นๆ นี่แหละ !
อย่าไปหลงเลยว่า เป็นตัวตน
ที่ล่องลอยอยู่ในถิ่น ในแดนแคว้นไหนเลย
มันคือจิตในจิต คือเวทนาในเวทนา (ทุกขเวทนา)
ของเราเองนี่เองแท้ๆ

สมณะโพธิรักษ์



อนึ่ง ภิกษุใด ไม่รู้เฉพาะ
กล่าวอวดอุตริมนุสธรรม
อันเป็นความรู้ ความเห็น อย่างประเสริฐ อย่างสามารถ
น้อมเข้ามาในตนว่า ข้าพเจ้ารู้อย่างนี้ ข้าพเจ้าเห็นอย่างนี้
ครั้นสมัยอื่นแต่นั้น อันผู้ใดผู้หนึ่ง
ถือเอาก็ตาม ไม่ถือเอาก็ตาม เป็นอันต้องอาบัติแล้ว
มุ่งความหมดจด จะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า
แน่ะท่าน ข้าพเจ้าไม่รู้อย่างนั้น ได้กล่าวว่ารู้
ไม่เห็นอย่างนั้น ได้กล่าวว่าเห็น
ได้พูดพล่อยๆ เป็นเท็จเปล่าๆ
แม้ภิกษุนี้ ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้

พระปฐมบัญญัติ
(สารอโศ9 ฉบับ เข้าพรรษาพิราลัย ปีที่ 2 ฉบับที่ 12 กรกฎาคม 2522)

หน้า ๘


เม็ดทราย หน้า 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13