เม็ดทราย ๖

พุทธาภิเษก ๒๒
กลิ่นไอสงครามสัทธรรมที่ "ศีรษะอโศก"
ยังไม่ทันจางหายแม้น้อย
บาดแผลของเหล่าอธรรม ยังไม่ทันตกสะเก็ด
กลองรบก็ได้ถูกกระหน่ำดีขึ้นอีกครั้ง
การสืบทอดเจตนารมณ์ของพระพุทธองค์ เริ่มขึ้นอีกวาระ
ณ ธรรมสถาน "ศาลีอโศก"
ดินแดนแห่งพุทธบุตร ผู้กล้าตัดหัวถวายต่อองค์โคตมะ
ประวัติศาสตร์แห่งการเข็นกงล้อธรรมจักร
จะต้องถูกบันทึกไว้อย่างติดตรึง
" ๖-๑๓ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๒๒
วันแห่งการปลุกระดมพุทธะ
วันแห่งการรวมพลพุทธบริษัท ครั้งยิ่งใหญ่
ที่เต็มแน่นไปด้วยเนื้อหาสาระ
วันแห่งการนองเลือดของเหล่ามาร !
ญาติธรรมทุกทิศทุกทาง
ต่างหลั่งไหลมาเข้าสู่สมรภุมิ
เสียงบอกเล่าก่อนจะมา
"โปรดที่ทุ่งศาลี ฯ !"...
รัวขึ้นแล้ว กลองธรรมยุทธได้รัวขึ้นแล้ว
การประจัญบานครั้งยิ่งใหญ่ ระเบิดขึ้นแล้ว ณ บัดนี้
เหล่านักรบใหญ่น้อย ชูธรรมศาสตร์ขึ้นเหนือเกล้า
กระโดดเข้ากลางลานพิฆาต อย่างฮึกเหิม
มีแต่ความตายเท่านั้น ที่จะทำให้สุขเย็น !
ดวงตะวันฉายแสง อย่างกราดเกรี้ยว
ลมร้อนโหมพัดอย่างบ้าคลั่ง
เสียงใบไม้กระทบกัน ดังสนั่นไปมา
ราวกับเสียงกู่ร้องโหยให้ จากเหล่าทัพผีร้าย
เหล่าแม่ทัพแห่งสัจธรรม ยืนล้อมรอบสมรภูมิ
คุมดูการต่อสู้อย่างสงบวิเวก
พลางเอื้อนเอ่ยกระบวนเพลง แห่งธรรมยุทธอันลั่นฟ้า
ที่หายสาบสูญไปนานแสนนาน
และถูกฝังกลบทิ้งอยู่ลึกแสนลึก
ปลุกเหล่าดวงประทีปน้อยๆ ให้หาญกล้า
ท่ามกลางแสงตะวันร่านระอุ
หยาดฝนเริ่มไหลหลั่ง จากเบื้องโน้น
อสนีบาตแสบแปลบปลาบ คำรามอยู่อึงคะนึง
ต้นสะเดาพริ้วเอน อย่างหวาดกลัว
หมู่ใบตาลโขกกันดังลั่น อย่างแตกตื่น
ธรรมฤทธิ์แห่งจรณะ ๑๕ เริ่มเปล่งพลานุภาพ
ร่ายธรรมลีลาอันเกรียงไกร บทแล้วบทเล่า
หนุนโหมอย่างไม่ขาดสาย
ดุจระลอกคลื่นแห่งท้องสมุทร
ดุจลมสลาตันบนพื้นปฐพี
เพลงรบได้รุกกระหน่ำ
กลางสายธาร แห่งการกินอยู่หลับนอน
ตลอดวัน ตลอดคืน
วันแล้ววันเล่า อย่างไม่มีการหยุดพัก การรบยังคงดุเดือดสะท้านฟ้า
หยดเลือดเหล่าผีร้าย
ไหลนองท่วมพื้นทราย อันร้อนระอุแห่งทุ่งศาลีฯ
เพลงรบแห่งจรณะ ๑๕ ยุทธวิธีปราบพญามารร้าย
ยังไม่เคยทำให้ใครผิดหวังแม้น้อย
มันได้พิสูจน์ศักดิ์ศรี แห่งความเป็นเอกของแผ่นดิน
อันเคยลือลั่นในอดีต
ว่าแม้ปัจจุบันก็ยังเป็น"อกาลิโก" ที่เหนือมิติแห่งเวลา
เป็น"เอหิปัสสิโก" ที่เรียกใครมาดู ก็ย่อมได้ทุกเมื่อ
เป็น"โอปนยิโก" ที่แม้สูง แต่ก็ไม่สุดสอย เยี่ยงดอกฟ้ากับหมาวัด
เป็น"ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ" ที่วิญญูชนย่อมรู้แจ้งด้วยตนเอง เสียงหวีดร้องเริ่มสร่างซา
การต่อสู้ครั้งยิ่งใหญ่ของมวลมนุษย์ ใกล้จะสิ้นสุดอีกครั้ง
ใบหน้าเหล่านักรบเดนตาย
เริ่มผ่องระเรื่อยด้วยรัศมีธรรม
กลิ่นหอมของดอกฟ้าแห่งมรรค-ผล ตลบอบอวลไปทั่ว
ดอกฟ้ามากมายนับอนันต์
ถูกมือที่เต็มไปด้วยเลือดเนื้อ และวิญญาณ
เด็ดใส่ดวงใจอย่างดื่มด่ำศรัทธา... สงครามประจัญบาน ได้เสร็จสิ้นลงไปอีกครั้ง
ดวงตะวันกลับระอุอย่างอ่อนโยน
สายลมโหมพัดกระหน่ำรุนแรง
ประหนึ่งทดสอบความมั่นคง แห่งศิลาในดวงใจ
นักรบแห่งจรณะ ๑๕
ร่ำลากันอย่างฉันพี่น้อง
ยืนยันจะกลับมาร่วมสงครามอีกครั้ง
ณ อโศกสถานแห่งนี้... ศาลีอโศกตกอยู่ในความวิเวก อีกวาระ
ต้นมะรื่นยักษ์ยังคงยืนตระหง่าน อย่างสำรวม
หมู่ไม้กำลังเล่นลม อย่างไม่อาทรต่อสิ่งใด
นักรบแห่งกองทัพธรรม
บ้างก็คืนกลับสู่ฐานที่มั่น แห่งอโศกสถาน
บ้างก็ออกตระเวนจรยุทธต่อไป ตามคำเรียกร้อง
ด้วยหัวใจที่หิวกระหายสงคราม
สงครามระหว่างผีกับพระ...
ดังขึ้นแล้ว กลองรบแห่งธรรมยุทธ ดังขึ้นแล้ว
มันดังมาจากทั่วทุกทิศทุกทาง
นักรบแห่งพุทธาฯ
กำลังประกาศสงคราม ขยายเขตปลดปล่อย
ใช่แล้ว ! สงครามเพื่อการปลดปล่อย จิตวิญญาณมนุษยชาติ
ให้พ้นจากอาณาจักรแห่งความงมงาย, โง่เขลา, เศร้าโศก
สู่ความเป็น พุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน...

สะเดา กลางศาลี


 

ค ว า ม มื ด...
ด ำ มื ด มิ ด มั ว
ค ลุ ม ค ร อ บ ไ ป ทั่ ว
ฟ้ า ดิ น นี้ น า
ค ว า ม มื ด...
แ ม้ น มื ด ส ลั ว
เ ที ย น ชั ย ฤ า ก ลั ว
โ ช ติ ช่ ว ง ท้ า ท า ย
ลุ ก ขึ้ น จุ ด เที ย น
ว น เวี ย น ถ้ ว น ทั่ ว
จุ ด ตั ว ต่ อ ตั ว
ส่ง ท อ ด รั บ กั น
ม า ร่ ว ม จุ ด ไ ฟ
ใ น ใ จ ทุ ก ที่
เ ป ล ว เ พ ลิ ง อั ค คี
ม อ ด ไ ห ม้ ม ว ล ม า ร
ไฟ ปรารถนา



ศตวรรษที่ ๒๑ ที่กำลังจะมาถึงนี้
เป็น "ศตวรรษแห่งชีวิตมนุษย์"
ชีวิตของมนุษย์ทุกคน ถูกทำให้มีคุณค่า
เสมอเหมือนกันหมด
ใช่ ความหวังนี้จะต้องเป็นความจริง
ด้วยพลังของพวกเรา มาเถิด ช่วยกัน
สร้างสรรความคิดที่ถูกต้อง
และปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งความดีงาม
ลงในจิตใจของมนุษย์เราทุกคน
ด้วยพลัง ด้วยความศรัทธาในศาสนา ที่ถูกต้อง
และด้วยความกล้าหาญ
เริ่มงานสร้างสรรของเรา เสียแต่เดี๋ยวนี้
แล้วอีกไม่นาน
เมื่อเมล็ดพันธุ์แห่งความดีงามนั้น เจริญงอกงาม
"ศตวรรษแห่งชีวิตมนุษย์" ก็จะมาถึง
สันติภาพ ที่แท้จริงก็จะเกิดขึ้น อย่างแน่นอน

สุวรรณา


ฯ ดูกร พราหมณ์
ศีลย่อมชำระปัญญาให้บริสุทธิ์
และปัญญาเล่า ก็ชำระศีลให้บริสุทธิ์เหมือนกัน
ศีลอยู่ที่ใด ปัญญาอยู่ที่นั้น
ปัญญาอยู่ที่ใด ศีลอยู่ที่นั้น
ผู้มีศีลก็มีปัญญา ผู้มีปัญญาก็มีศีล
บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมกล่าวถึงศีลและปัญญา
ว่าเป็นของเลิศในโลก
เปรียบเหมือนล้างมือด้วยมือ
หรือล้างเท้าด้วยเท้า ฉันใด
ศีลย่อมชำระปัญญาให้บริสุทธิ์
และปัญญาเล่า ก็ชำระศีล ให้บริสุทธิ์เหมือนกัน
ศีลอยู่ที่ใด ปัญญาอยู่ที่นั้น
ปัญญาอยู่ที่ใด ศีลอยู่ที่นั้น
ผู้มีศีลก็มีปัญญา ผู้มีปัญญาก็มีศีล
บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมกล่าวถึงศีลและปัญญา
ว่าเป็นของเลิศในโลก ฉันนั้นเหมือนกัน

พระพุทธพจน์


ถ้ามีการ "ทำ" มันก็ต้องมีการเหนื่อย
หรือมี "การปรุง" (สังขาร) ก็เป็นธรรมดา ๆ
ถ้า "ทำ" มันก็มีการ "ไม่ว่าง" เป็นธรรมดา
เรียกว่า เราต้องมี "กรรม"
แต่แม้จะ "ทำ" ด้วยกาย ด้วยวาจา
ส่วน "ใจ" นั้น เรา "ทำ" อย่างไม่ติด
ที่สำคัญที่สุด ก็คือ ทำอย่างไม่เสพย์
ไม่มีอารมณ์ "อร่อย"
ไม่มีอารมณ์ "ไม่อร่อย" ทั้ง 2 ประเภท
มีแต่จิตรู้ความจริง ในสิ่งในเรื่องที่ทำนั้น เท่านั้นจริงๆ
ทำอย่าง "วางใจ" ทำอย่าง "ว่าง" คือ "รู้" ให้ชัด
และเข้าใจให้ดี ในความดี ความไม่ดี ทุกอย่าง ในขณะทำ
แล้ว "วาง" ให้เรียบร้อยที่สุด ให้ได้ที่ "ใจ" (มโน)

สมณะโพธิรักษ์


 

ผู้รู้แจ้งจริง และทำ "ความว่าง" ได้เก่งได้ละเอียดสุดจริง
จึงคือ ผู้ทำประโยชน์แก่โลก ได้มากที่สุด
และเป็น "คุณประโยชน์" ชนิดที่มี "คุณภาพ"
หรือเป็น "งาน" ที่มีค่าสูงสุด
อันเรียกว่า "สัจกรรม" หรือ "สัจธรรม"
เพราะมีแต่ "ทำ" ด้วยความซื่อตรง บริสุทธิ์
ไม่ได้เป็นไป เพื่อหวังการตอบแทนใดใด
แม้แต่ "ทางอ้อม" นิดน้อยเพียงธุลีก็ไม่มีจริงๆ
จึงเรียกว่า "สัจจะแท้"
สมณะโพธิรักษ์




เปิบข้าวทุกคราวคำ จงสูจำเป็นอาจิณ
เหงื่อกูที่สูกิน จึงก่อเกิดมาเป็นคน
ข้าวนี้นะมีรส ให้ชนชิมทุกชั้นชน
เบื้องหลังสิทุกข์ทน และขมขื่นจนเขียวคาว
จากแรงมาเป็นรวง ระยะทางนั้นเหยียดยาว
จากรวงเป็นเม็ดพราว แสนทุกข์ยากลำบากเข็ญ
เหงื่อหยดสักกี่หยาด ทุกหยดหยาดล้วนยากเย็น
ปูดโปนกี่เส้นเอ็น จึงแปรรวงมาเปิบกิน
น้ำเหงื่อที่เรื่อแดง และน้ำแรงที่หลั่งริน
สายเลือดกูทั้งสิ้น ที่สูซดกำซาบฟัน

จิตร ภูมิศักดิ์




โลกนี้เต็มไปด้วยสภาพที่ตรงกันข้าม
เบื้องหลังความสุขย่อมมีความทุกข์
และเบื้องหลังความทุกข์ย่อมมีความสุข
มีแสงแดด ก็ย่อมมีร่มเงา
ที่ไหนมีความสว่าง ที่นั่นย่อมมีความมืดอยู่เคียงข้าง
มีเกิด ก็ต้องมีตาย
การมีชีวิตอยู่โดยไม่หวั่นไหวต่อสิ่งเหล่านี้
คือการไม่ยึดไม่ถือ
วิธีที่จะเอาชนะสภาพเหล่านี้
มิใช่อยู่ที่การลบเลือนหรือปฏิเสธ
หากอยู่ที่การยกระดับไว้เหนือ
และเป็นอิสรเสรีจากการยึดถือทั้งปวง

มหาตมะ คานธี


 

ร้อน ร้อน...จนเย็น
หงุดหงิดจิตใจนัก ร้อนแทบชักเป็นบ้าไป
ร้อนแทบลุกเป็นไฟ เหงื่อก็ไหลหาไหนปาน
อบอ้าวแทบเผาจิต ให้ครุ่นคิดหลีกการงาน
สุดแสนทรมาน มองรำคาญไปทั้งหมด

ภายหลังมาฝึกฝน ให้อดทน เลิก ละ ลด
ใจค่อยทรหด ด้วยทนอด ให้ทนทาน
ร้อน ร้อน เพียงกายา เป็นธรรมดาฤดูกาล
วางปล่อยให้ได้นาน สุขเบิกบานสงบเย็น

ฝุ่นดิน
๑๒ เมษายน ๒๕๒๒
ณ ศาลีอโศก
ยามเที่ยงแดดเผาดี!


 

บางครั้งขอเพียงท่านยินยอม
หยิบยื่นน้ำใจไมตรีแก่บุคคลอื่น สักน้อยนิด
จะสร้างความสำนึกตื้นตัน แก่คนผู้นั้นชั่วชีวิต
บางคราขอเพียงท่านยินยอม แสดงน้ำใจไมตรีสักเล็กน้อย
จะได้มาซึ่งความสุขชั่วชีวิต
น่าเสียดายที่ชนชาวโลก
กลับตระหนี่น้ำใจไมตรี เพียงเล็กน้อยนี้
กลับแสดงออก ซึ่งความเหยียดหยามและเย้ยเยาะ
แลกมาซึ่งความอาฆาตแค้น ของบุคคลอื่น

โกวเล้ง




กิ เ ล ส ร้ อ ง ไ ห้
ฉันเคยหยิ่งผยอง
นึกว่าตัวเองเก่ง ตัวเองแจ๋ว
ไม่ว่าความรู้ ไม่ว่าเงินทอง
หรือการคบหาในสังคมชั้นสูง
แต่แล้ว...
จะว่าโชคดีหรือโชคร้ายก็ได้ทั้งนั้น
เมื่อคราวที่มีคนชวนให้ไป งานพุทธาภิเษก
ที่โชคดีก็เพราะฉันได้เห็น กำพืดแท้ๆ ของฉัน
ที่โชคร้ายก็เพราะฉันได้เห็น ความไม่มีน้ำยาของตัวเอง
โอหนอ ! ศาลีอโศก
ฉันจะต้องจำไปจนตาย
ฉันเพิ่งรู้จักตัวเอง
ว่าแท้จริง ฉันก็คือมนุษย์ปุถุชน
ที่ไม่มีคุณค่าอะไรให้แก่โลก
อยู่ก็แสนยาก
กินก็แสนลำบาก
นอนก็แสนลำบน
ณ ธรรมสถานแห่งนั้น
ฉันควานหาแก่นแท้ของชีวิต
กลับพบแต่ความว่างเปล่า
สิ่งที่ฉันเคยหยิ่ง เคยหลง
มันก็แค่นั้น แค่นั้น
เกียรติ ศักดิ์ศรี ที่ฉันเคยภูมิใจ หลงชื่นชม
มันก็อย่างงั้น อย่างงั้น
มันเป็นเพียงมายาเปลือกกระพี้ ของมนุษย์เรา
ชีวิตที่แท้คืออะไร
หากมิใช่การวางตัวเองให้เบาภาระ
ไร้ความทุกข์ เศร้าหมองใดใด เมื่อเจออุปสรรค
วันแรกที่ฉันหลงเผลอเข้าศาลา ร่วมรับสัจจะ
ฉันเริ่มรู้สึกไม่สบาย ครั่นเนื้อครั่นตัว
หน้าตาฉันเริ่มเศร้าหมอง
ฉันกำลังถูกบังคับให้ทิ้งกิเลส
กิเลสที่แสนรักแสนหวง
ระฆังดังอีกแล้ว
ต้องไปนั่งพับเพียบฟังธรรม
ร้อน ร้อน ร้อนเหลือเกิน
ลมก็ช่างพัดแรง ราวกับจะหยามหยัน
ตอนเย็นแล้วซินะ
โอ้โอ๋ ทำไมน้ำอาบถึงสีคล้ำนักล่ะ
ท้องฉันเริ่มหิวอีกแล้ว
แต่ฉันไม่มีสิทธิ์กิน
พวกคนที่มา ตั้งวงคุยกันแต่ธรรมะ
ไม่เห็นใครพูดนินทา เรื่องของชาวบ้านบ้างเลย
เออหนอ! พูดเรื่องหนัง เรื่องแฟชั่น ก็พอจะทำเนา
โอ๊ย! เบื่อเหลือเกิน
ดึกสงัดอีกแล้ว
ฉันนอนนับดาวบนฟากฟ้า
กลัวผีจนตัวสั่น
กลัวตัวอะไรจะมายุ่มย่าม บนที่นอน
เจ้ามดไม่รู้มาจากไหน ชอบปีนขึ้นตัวเสียเรื่อย
รำคาญเหลือเกิน เศษหญ้าชอบทิ่มจมูก
พื้นนอนก็ตะปุ่มตะป่ำ
ลมก็แรงจนหนาวสะท้าน
โธ่! โธ่! โธ่! โธ่! โธ่! โธ่!โธ่!
ฉันได้ยินหัวใจกำลังร้องไห้

เอาอีกแล้ว ระฆังรัวอีกแล้ว
ได้เวลาทำวัตรเช้าอีกแล้วหรือนี่
เพิ่งตีสามครึ่งเท่านั้นเอง
ง่วงเหลือเกิน อยากจะนอนต่อ ก็อายคนข้างๆ
เวรกรรมอะไรหนอ
ถึงถลำตัวมาถึงนี่
ท้องร้องอีกแล้ว
เมื่อไหร่จะถึงเวลากินกันเสียที
ระฆังรัวอีกแล้ว คราวนี้ค่อยฟังชื่นใจ
ฉันจะหม่ำให้เต็มคราบ
โธ่! แสดงธรรมอีกแล้ว
ฉันได้ยินเสียงท้องร้องจ๊อกๆ
"เร็วๆ เข้าท่าน" ฉันเตือนท่านในใจ
เฮ้อ! จบซักที เทศน์ตั้งชั่วโมง
ซัดให้เต็มคราบเลยคราวนี้
แย่แล้ว
กินเสียอิ่มแปล้ อากาศก็ร้อนจนตับแตก
จะหาน้ำขวด น้ำแข็ง กินให้ชื่นใจสักหน่อยก็ไม่ได้
มีแต่น้ำเปล่ายันเต
นี่ตาฉันกำลังจะหลับ
แต่ไม่ได้นะ
ที่นี่เขาห้ามนอนกลางวัน
โธ่! จะทรมานกิเลสไปถึงไหน
ดูซิ มันร้องไห้เสียงลั่นเลย
ฉันจะไปว่าคนที่ชวนฉันมา ดีไหมนะ
หรือว่าไปกราบ ขอบคุณเขางามงามสักครั้ง

คนอยู่ยาก
๑๙ เมษายน ๒๕๒๒



โสจติ ปุตํเตหิ ปุตํติมา
โคมิโก โคหิ ตเถว โสจติ
อุปธีหิ นรสํ ส โสจนา
น หิ โส โสจติ โย นิรูปธิ

ผู้มีบุตรย่อมเศร้าโศกเพราะบุตร
ผู้มีโคย่อมเศร้าโศกเพราะโคเหมือนกัน
นรชนมีความเศร้าโศกเพราะอุปธิ
ผู้ใดไม่มีอุปธิ ผู้นั้นไม่ต้องเศร้าโศกเลย

พุทธภาษิต ส.ส. 15/9


 

มีวัวจักทุกข์ร้อน เพราะวัว
มีบุตรเกิดแต่ตัว จักเศร้า
ความเศร้าเกิดเพราะมัว มุ่นกิเลส
ไร้อุปธิครองเข้า กิเลสสิ้นโศกสลาย

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ



ศาสนาพุทธไม่สอนอ้อนวอน ไม่สอนร้องขอ
เพราะศาสนาพุทธไม่มี "พระเจ้า" องค์ใดคอยเป็นผู้ประทาน
มีแต่สอนให้ "อัตตา หิ อัตตโน นาโถ"
ตนทำ ตนได้ ตนต้องช่วยตน ตนต้องพึ่งตน
ดังนั้น แม้ "พุทธานุสติ" ก็ไม่ใช่ไปกราบกราน
หรือ จงช่วยบันดาลนั่นนี่มาให้
อย่าว่าแต่แค่ไปกราบกราน อ้อนวอนเอากับ "เทวดา" เลย
เพราะ "เทวดา" ยังต่ำกว่า "พระพุทธเจ้า"
และแม้ถึงขนาดนั้น พระพุทธเจ้า ก็ไม่มีลัทธิ "งอมืองอเท้า"
หรือให้ฝึกตนเป็น "คนขี้ขอ" ไม่!
พระองค์มีนโยบายให้ทุกคน "ช่วยตนเอง" ให้ได้
และยิ่งไปกว่านั้น ให้ช่วยผู้อื่นให้ได้อีก เป็นที่สุดด้วย

สมณะโพธิรักษ์



"จิต" หรือ "วิญญาณ" นั้น มันเป็นเพียง "สิ่งๆ หนึ่ง"
ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่เป็น ไม่ใช่ตายอะไรเลย
เมื่อมันทำงาน มันก็ "รู้" (เป็นพลังงานชนิดหนึ่ง)
เมื่อมันไม่ทำงาน มันก็"หมดรู้" ก็เท่านั้นเอง
และมันเป็น "พลังงานรู้" ที่เกาะ ที่ยึด
ที่ "หลง" สร้างตัวตนได้เก่ง เยี่ยมยอดที่สุด
เผลอไม่ได้เอาจริงๆ ด้วย

สมณะโพธิรักษ์
จาก...สารอโศก ปีที่ 2 ฉบับที่ 9 เมษายน 2522

หน้า ๖

เม็ดทราย หน้า 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11