[exit]

โพธิรักษ์ โพธิกิจ | โลกาภิวัฒน์ 2000 | เศรษฐศาสตร์บุญนิยม |  ความรัก ๑๐ มิติ ฉบับชาดก 

"ณวมพุทธ"  เรียบเรียง

มติที่1 | มติที่2 | มติที่3 | มติที่4 | มติที่5 | มติที่6 | มติที่7 | มติที่8 | มติที่9 | มติที่10

ญาตินิยม / โคตรนิยม

"ญาตินิยม" เป็นความรักที่เห็นแก่ตัวลดลง มีใจเมตตาเผื่อแผ่ออกไปกว้างขวางขึ้นอีกนิด กล้าเสียสละ ลงทุนลงแรงให้แก่หมู่วงศาคณะญาติมากคนขึ้น

จึงเป็นความรักที่มีประโยชน์ มีคุณค่าเพิ่มขึ้น แม้ตัวเองจะต้องทุกข์เหน็ดเหนื่อยลำบากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ถึงกับต้องแจกจ่ายลาภ-ยศ-ความสุข ให้การช่วยเหลือทั้งทางวัตถุ เงินทอง อาชีพการงาน หรือแม้แต่เกื้อกูลทางปัญญาก็ตาม

มหากปิชาดก

ในอดีตการ มีพญาวานรตัวหนึ่ง รูปร่างสูงใหญ่ล่ำสัน มีกำลังวังชามหาศาล พละกำลังเท่ากับช้าง ๕ เชือก มีฝูงวานร ๘ หมื่นตัวเป็นบริวาร อาศัยอยู่ที่ถิ่นป่าหิมพานต์

ณ ที่นั้นเอง มีต้นมะม่วงอยู่ต้นหนึ่ง ซึ่งกิ่งก้านสาขาแผ่กว้าง มีใบดกหนา ร่มเงาคลุมไปทั่วบริเวณนั้น ลำต้นใหญ่โตมหึมาตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำคงคา ผลของมันมีรสหวานและกลิ่นหอม คล้ายกับผลไม้ทิพย์ ผลมะม่วงก็มีขนาดใหญ่มาก ประมาณเท่าหม้อน้ำเลยทีเดียว และผลจากต้นมะม่วงนี้จะหล่นลงบนบกบ้าง หล่นลงน้ำที่แม่คงคาบ้าง หล่นลงที่ใกล้ต้นบ้าง

วันหนึ่งเมื่อพญาวานรพาฝูงบริวาร ไปกินผลมะม่วงที่ต้นไม้นั้น ก็เกิดความคิดว่า

"สักวันหนี่งภัยจะเกิดขึ้นแก่พวกเราแน่ เพราะเหตุจากผลไม้นี้หล่นลงในน้ำ"

ดังนั้นจึงสั่งให้ฝูงวานร กินผลมะม่วงของกิ่งที่ทอดไปเหนือน้ำ ไม่ให้เหลือไว้แม้แต่ผลเดียว เพียงแค่เริ่มมีผลโตเท่าแมลงหวี่ ขณะเวลาที่ออกช่อเลยทีเดียว

แต่แม้เป็นเช่นนั้น ก็ยังมีผลมะม่วงสุกผลหนึ่ง ซุกอยู่ในรังมดแดง เหล่าวานรแปดหมื่นตัวมองไม่เห็น ผลมะม่วงนั้นหล่นลงไปในน้ำ ลอยไปติดข่ายของพระเจ้าพรหมทัต ผู้ครองกรุงพาราณสี ซึ่งทรงให้ขึงไว้ที่แม่น้ำตอนล่างนั้น เพื่อไว้ทรงกีฬาทางน้ำ ครั้นพวกผู้ดูแลพากันกู้ข่ายขึ้น ก็ได้เห็นผลไม้สุกผลนั้นเข้า แต่ไม่รู้ว่าผลไม้นี้ชื่ออะไร จึงนำไปถวายให้พระราชาทอดพระเนตร พระราชาทรงพิจารณาแล้วตรัสถามว่า

"นี่ผลไม้อะไรกัน ใครจะตอบได้"

ทุกคนพากันส่ายหน้า แล้วมีผู้กราบทูลว่า

"แม้ข้าพระพุทธเจ้าไม่ทราบ แต่พวกพรานป่าคงจะรู้ได้พระเจ้าข้า"

พระราชาจึงรับสั่งให้เรียกพรานป่าเข้าเฝ้า ครั้นตรัสถามแล้ว ก็ทรงทราบว่า

"นี้เป็นผลมะม่วงสุก พระเจ้าข้า"

จึงทรงใช้พระแสงกริชเฉือนเนื้อผลไม้นั้น แล้วให้พรานป่าทดลองกินดูก่อน เมื่อทรงเห็นว่าไม่มีพิษแน่ ก็เสวยด้วยพระองค์เองบ้าง แล้วพระราชทานให้สนมบ้าง อำมาตย์บ้าง รสของผลมะม่วงสุกนั่นแผ่ซาบซ่านไปทั่งวพระสรีระ ทำให้พระราชาทรงติดพระทัยยิ่งนัก เกิดความปรารถนาชอบใจในรสนั้น จึงได้ตรัสถามพวกพรานป่า ถึงสถานที่มีผลไม้นั้น พรานป่าจึงกราบทูลว่า

"ผลไม้อย่างนี้มีอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำคงคา ในดินแดนแห่งป่าหิมพานต์พระเจ้าข้า"

พระราชาจึงรับสั่งให้คนจำนวนมากต่อเรือขึ้นใหม่ แล้วได้เสด็จทวนกระแสน้ำขึ้นไป ตามเส้นทางที่พรานป่าทูลชี้แนะ จนกระทั่งถึงที่นั้นแล้ว พรานป่าจึงทูลพระราชาว่า

"นี่แหละ คืนต้นไม้ที่มีผลรสเลิศนั้น พระเจ้าข้า"

ทรงรับสั่งให้จอดเรือไว้ที่ริมน้ำ แล้วเสด็จไปยังต้นมะม่วงนั้นด้วยพระบาท พร้อมกับเหล่าข้าราชบริพาร ทรงให้ปูที่บรรทมไว้ใต้ควงไม้ เสวยผลมะม่วงเสร็จแล้ว ก็ค่อยเสวยพระกระยาหารที่มีรสเลิศอื่นๆ หลังจากนั้นพอพลบค่ำก็เข้าบรรทม มีราชบุรุษทั้งหลายวางยามอยู่ โดยก่อกองไฟไว้ทุกทิศ

คืนนั้นเองเมื่อมนุษย์ทั้งหลายหลับกันแล้ว พญาวานรได้มากับบริวารในเวลาเที่ยงคืน วานรแปดหมื่นตัวพากันไต่กินผลมะม่วงสุกจากกิ่งหนึ่งไปยังอีกกิ่งหนึ่งด้วยเสียงดัง ทำให้พระราชาทรงสะดุ้งตื่นจากบรรทม

เมื่อทรงเห็นฝูงวานรจำนวนมากมายเช่นนั้น ก็ตกพระทัย ทรงปลุกให้คนทั้งหลายตื่นขึ้น แล้วรับสั่งเรียกพวกนักแม่นธนูว่า

"พวกเจ้าจงพากันล้อมยิงวานรเหล่านี้ ที่พากันมากินผลมะม่วงบนต้น อย่าให้มันหนีไปได้ พรุ่งนี้เราจะได้มีทั้งผลมะม่วงกินกับเนื้อวานรด้วย"

พวกนักแม่นธนูทูลรับพระบรมราชโองการ แล้วพากันยืนล้อมต้นมะม่วง น้าวคันธนูขึ้นลูกศรไว้ วานรทั้งหลายเห็นดังนั้น ก็กลัวภัยคือความตาย และไม่รู้ว่าจะหนีไปได้อย่างไร จึงพากันเข้าหาพญาวานรด้วยอาการตัวสั่นสะท้าน ส่งเสียงถามว่า

"ข้าแต่ผู้เป็นใหญ่ของพวกเรา พวกคนแม่นธนูล้อมต้นไม้นี้ไว้ หมายใจจะยิงลิงตัวที่หนีไป พวกเราจะทำอย่างไรกัน"

พญาวานรปลอบใจบริวารว่า

"ท่านทั้งหลายอย่ากลัวเลย ฉันจะให้ความมีชีวิตรอดแก่พวกท่าน"

กล่าวจบคำพญาวานรได้วิ่งไต่ขึ้นกิ่งไม้ ที่ชี้ไปตรงหน้าแม่น้ำคงคา แล้วกระโดดจากปลายกิ่งนั้น ไปไกลประมาณระยะทางเท่าร้อยคันธนู ตกลงที่ยอดพุ่มไม้พุ่มหนึ่ง แล้วจากพุ่มไม้นั้น พญาวานรก็ได้กำหนดระยะทางไว้ว่า ที่ได้กระโดดมามีประมาณเท่านี้ จึงเสาะหาเครือเถาวัลย์แล้วกัดที่โคนให้ขาด นำเอามาต่อกันให้ยาวพอ จากนั้นก็ผูกปลายข้างหนึ่งกับต้นไม้ใหญ่ในบริเวณนั้น ส่วนอีกปลายผูกไว้ที่สะเอวของตน แล้วกระโดดกลับไปยังต้นมะม่วงนั้น

แต่เมื่อลอยตัวไปในอากาศใกล้จะถึงอยู่แล้ว เถาวัลย์สายนั้นยาวไม่พอ พญาวานรจึงต้องเหยียดมือทั้งสองออกสุดแขน คว้ายึดกิ่งมะม่วงไว้แน่น แล้วรีบเรียกเหล่าวานรว่า

"พวกท่านจงรีบไวๆ เหยียบหลังของฉันไต่ตามเถาวัลย์ ไปยังที่ปลอดภัยโดยเร็วเถิด

บริวารทั้งแปดหมื่นตัวจึงขอขมาต่อพญาวานร แล้วเร่งไต่หนีตายไปอย่างรวดเร็ว แต่มีวานรพาลตัวหนึ่งคิดว่า

"นี้เป็นโอกาสทองของเราแล้ว ที่จะได้ทำร้ายพญาวานรศัตรูของเรา"

จึงไต่ขึ้นสู่ยอดกิ่งไม้ที่สูงสุด แล้วกระโดดลงมาสุดกำลังตกลงบนแผ่นหลังของพญาวานรอย่างเต็มแรง สร้างความเจ็บปวดทรมานแสนสาหัสให้เกิดขึ้น ปานประหนึ่งร่างกายจะขาดหลุดออกจากกันฉะนั้น แล้วลิงพาลตัวนั้นก็รีบไต่เถาวัลย์หนีไป

พระราชาทรงทอดพระเนตรเห็นเหตุการณ์ทั้งหมด โดยเฉพาะการกระทำของพญาวานรนั้น ทำให้พระองค์ทรงซาบซึ้งพระทัยยิ่งนัก ทรงดำริว่า

"พญาวานรตัวนี้ แม้เป็นเพียงสัตว์ดิรัจฉาน ก็ยังมีความแกล้วกล้าเสียสละ ที่จะกระทำความสวัสดีให้แก่บริวาร โดยมิได้คำนึงถึงชีวิตของตนเลย"

ขณะนั้นฟ้าเริ่มสว่างแล้ว พระราชาจึงได้รับสั่งให้จอดเรือขนานไว้ในแม่น้ำคงคา แล้วทรงให้ค่อยๆนำตัวพญาวานรที่บาดเจ็บสาหัสลงมา ทำการดูแลรักษา อาบน้ำให้ เอาน้ำมันที่เจียวแล้วพันครั้งมาชะโลมบนหลังของพญาวานร แล้วให้นอนบนที่นอนปูด้วยหนังแพะ ให้ดื่มน้ำอ้อย จากนั้นพระองค์เองทรงประทับนั่งบนอาสนะต่ำ ตรัสถามว่า

"ดูก่อนพญาวานร ท่านได้ทอดตัวเป็นสะพาน ให้เหล่าวานรข้ามฝั่งไปโดยสวัสดี ท่านเป็นอะไรกับวานรเหล่านั้น วานรเหล่านั้นเป็นญาติกับท่านหรือ"

พญาวานรกล่าวตอบด้วยอาการอ่อนแรงว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้ปราบข้าศึก ข้าพระองค์ทั้งเป็นญาติ ทั้งเป็นนายฝูงผู้ปกครองหมู่วานรเหล่านั้น เมื่อพวกเขาถูกความโศกครอบงำ หวาดกลัวต่อภัยจากมนุษย์ ข้าพระองค์จึงได้ช่วยเหลือ แม้ร่างกายของข้าพระองค์จะต้องถูกเถาวัลย์รั้งไว้จนตึงแน่น คล้ายดั่งสายพิณที่ขึงตึง ใกล้จะขาดสะบั้นก็ตาม หรือแม้จะต้องโดนจับตัวไปฆ่า ข้าพระองค์ก็ไม่ครั่นคร้ามเดือดร้อนใจ เพราะข้าพระองค์ได้นำความสุข มาให้แก่เหล่าบริวาร ผู้ซึ่งยกให้ข้าพระองค์เป็นใหญ่ปกครองดูแลพวกเขา"

หยุดพักหายใจยาวๆแล้ว พญาวานรก็กล่าวต่อไปอย่างแผ่วเบาว่า

"ข้าแต่พระราชาผู้เป็นใหญ่ ข้าพระองค์จะยกอุปมาถวายพระองค์ ขอพระองค์โปรดทรงสดับคือ ธรรมดาของพระราชามหากษัตริย์ ผู้ทรงพระปรีชาสามารถ ควรแสวงหาความสุขให้แก่รัฐ ให้แก่พลเมืองโดยทั่วไป ให้แก่ทหาร และให้แก่สัตว์พาหนะทั้งปวง"

พญาวานรเมื่อตักเตือนพระราชาอย่างนั้นแล้ว ก็ระบายลมหายใจยาวออกมาเป็นครั้งสุดท้าย สิ้นลมหายใจถึงแก่ความตายอยู่ตรงนั้นเอง พระราชาจึงตรัสเเรียกอำมาตย์เข้ามา แล้วรับสั่งว่า

"ท่านทั้งหลายจงทำสรีรกิจของพญาวานรนี้ ให้เหมือนกับสรีรกิจของพระราชาด้วยเถิด"

แม้ฝ่ายในเรือนนางสนมและห้องพระมเหสี พระราชาก็ทรงบังคับว่า

"เธอทั้งหลายจงพากันนุ่งห่มผ้าแดง สยายผม ถือประทีปแห่ห้อมล้อมศพพญาวานรราวกับถวายพระเพลิงศพของพระราชา แล้วได้ถือเอาเศษกระดูกไปถวายแด่พระราชา พระราชาทรงให้สร้างเจดีย์ไว้แล้วทรงบูชาด้วยของหอมและดอกไม้ตลอดมา

และตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ ทรงดำรงอยู่ในโอวาทของพญาวานร ทรงปกครองบ้านเมืองโดยธรรม บำเพ็ญบุญ มีทาน เป็นต้น

พระศาสดาทรงแสดงชาดกนี้จบแล้ว ทรงประกาศสัจธรรมทั้งหลาย แล้วตรัสว่า

"พระราชาในครั้งนั้น คือพระอานนท์ในบัดนี้ ลิงวายร้ายตัวนั้นคือพระเทวทัตในบัดนี้ ส่วนพญาวานร ก็คือเราตถาคต"

มติที่1 | มติที่2 | มติที่3 | มติที่4 | มติที่5 | มติที่6 | มติที่7 | มติที่8 | มติที่9 | มติที่10