[exit]

โพธิรักษ์ โพธิกิจ | โลกาภิวัฒน์ 2000 | เศรษฐศาสตร์บุญนิยม |  ความรัก ๑๐ มิติ ฉบับชาดก 

"ณวมพุทธ"  เรียบเรียง

กามนิยม / เมถุนนิยม

"กามนิยม" เป็นความรักแบบเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นเพศตรงข้ามกัน หรือจะวิตถารจนถึงเพศเดียวกันก็ตาม แต่ล้วนมุ่งหมายลงเอยในทางกามารมณ์เป็นหลักใหญ่ เป็นความรักชั้นต่ำที่ไร้ค่าที่สุด เลวที่สุด เพราะเห็นแก่ตัวในวงแคบที่สุด เพียงแค่บุคคลสองคนเท่านั้น ซึ่งมีทั้งหึงหวง ทั้งแก่งแย่ง ถ้าใครมาแบ่งเอาความรักไป อาจถึงกับฆ่ากันตาย

จึงเป็นความรักแบบที่"ขาดทุนที่สุด" เพราะได้เสพเพียงอารมณ์กามสุขนิดหน่อย แต่ต้องทุกข์ยากมากมาย ต้องสูญเสียสิ้นเปลืองทั้งวัตถุ ทรัพย์สินเงินทอง เวลาและแรงกายแรงสมองเยอะแยะ หรือแม้แต่ต้องสูญเสียชีวิตสังเวยรักนั้น

มหาปโลภนชาดก

ในอดีตกาล เทพบุตรผู้มีฤทธิ์มากองค์หนึ่ง ได้จุติจากพรหมโดลก ดินแดนซึ่งมิได้ใความสำคัญในกาม มาเกิดเป็นพระโอรสของพระเจ้ากาสิกราช ผู้ทรงดำรงอยู่ในราชสมบัติ อันเพียบพร้อมด้วยสรรพกามคุณ

พระกุมารทรงพระนามว่า อนิตถิคันธกุมาร นับตั้งแต่ประสูติ ก็ไม่ยอมอยู่ในอ้อมแขนของสตรีใดเลย แม้แต่พระราชมารดาก็ตาม หากสตรีใดมาแตะต้อง ก็จะทรงกันแสงทันที พวกพระนมที่จะให้พระกุมารทรงดื่มน้ำนม จึงต้องปลอมตัวเป็นเพศชายทุกคน

พระราชบิดาจำเป็นต้องสั่งให้สร้างอาคารไว้ในพระราชฐาน สำหรับพระราชกุมารหลีกเร้น บำเพ็ญฌานอยู่ในอาคารนั้นตลอดมา

ด้วยเหตุนี้ พรพเจ้ากาสิกราชจึงทรงอัดอั้นตันพระทัย ด้วยความเศร้าโศกว่า

"โอรสองค์เดียวของเรา อายุได้ ๑๖ พรรษาแล้ว ก็ยังไม่ยินดีบริโภคกาม แม้ราชสมบัติก็ไม่ปรารถนา จะมีอุบายใดทำให้โอรสของเรา ยินดีในกามารมณ์ได้หนอ หรือว่าใครจะรู้เหตุทำให้โอรสของเราพัวพันในกามได้บ้าง หรือว่าใครสามารถประเล้าประโลมโอรสเรา ให้ปรารถนารสกามโลกีย์ได้เล่า"

ภายในเขตพระราชฐานนั้นเอง มีหญิงฟ้อนรำสาวรุ่นคนหนึ่ง ผิวพรรณงดงาม รูปร่างหน้าตาสดสวย ฉลาดในการขับร้องฟ้อนรำ และชำนาญการดีดสีตีเป่า เนื่อนางทราบข่าวจึงเข้าไปในพระราชฐาน แล้วกราบทูลพระราชาว่า

"เกล้ากระหม่อมฉันอาสาจะประเล้าประโลมพระราชกุมารให้ยินดีในกามรส แต่ถ้าหากพระราชกุมารได้เป็นพระสวามีของเกล้าหม่อมฉันแล้วเล่า…"

พระราชาตรัสตอบกับนางทันทีว่า

"ถ้าเป็นเช่นนั้น พระราชกุมารจะได้เป็นพระราชา แล้วเจ้าจะได้เป็นอัครมเหสี"

ตกลงดังนี้แล้ว ในเวลาใกล้รุ่งของวันใหม่ นางจึงถือพิณมายืนอยู่ภายนอกห้อมบรรทมของพระกุมาร แล้วดีดพิณขับกล่อมอย่างไพเราะจับจิตจับใจ ยั่วยวนด้วยเสียงร้องชวนให้รักใคร่ ขับลำนำประกอบด้วยกามารมณ์มากอย่าง

ความพอใจในกามเริ่มบังเกิดขึ้นแก่พระราชกุมาร เพราะได้สดับเสียงเพลงและดนตรีของนางฟ้อนนั้น จึงตรัสถามผู้ใกล้ชิดว่า

"โอ…นั่นเสียงใคร ใครมาขับร้องเสียงสูงเสียงต่ำ จับใจน่ารักนักหนา ไพเราะหูของเรานัก

"ขอเดชะ เสียงนี้ไพเราะน่ายินดี ชวนให้สนุกสนานมิใช่น้อย แต่ถ้าพระองค์พึงได้บริโภคกามคุณไซร้ รสกามนั้นจะเป็นที่โปรดปรานพอพระทัยของพระองค์อย่างยิ่ง"

ดังนั้นในวันรุ่งขึ้น พระราชกุมารจึงรับสั่งให้นางเข้ามาขับร้องถึงภายในห้องบรรทม

แล้ววันต่อมา…ถึงกับรับสั่งให้ขับกล่อมใกล้ชิดที่บรรทมของพระองค์

ด้วยวิธีการของนางฟ้อนเช่นนี้ ทำให้พระราชกุมารเกิดกามตัณหาขึ้นเป็นลำดับ จนในที่สุดก็ทรงเสพเมถุน เมื่อได้รู้รสกามโลกีย์แห่งนางฟ้อนนั้นแล้ว สติสัมปชัญญะก็แปรปรวน อธรรมอันคือความริษยา ก็ได้บังเกิดแก่พระราชกุมารว่า

"เราเท่านั้นพึงได้บริโภคกามแต่ผู้เดียว อย่าได้มีบุรุษอื่นในโลกนี้อยู่อีกเลย"

แล้วทรงถือดาบเล่มหนึ่ง เสด็จออกไปจากห้องบรรทม เพื่อที่จะฆ่าบุรุษทั้งหลาย ให้หมดสิ้นไปเสีย ความวุ่นวายโกลาหลทั้งเมืองจึงเกิดขึ้น ประชาชนพากันถวายเรื่องราวร้องทุกข์ว่า

"ข้าแต่พระมหาราชา พระราชโอรสของพระองค์ ทรงเบียดเบียนทำร้ายต่อผู้หาโทษมิได้ พระเจ้าข้า"

พระเจ้ากาสิกราชจึงจำต้องรรับสั่ง ให้จับกุมพระราชกุมาร แล้วทรงเนรเทศออกไปจากรัฐสีมาของพระองค์

ดังนั้น พระราชกุมารจึงทรงพาพระชายานางฟ้อนนั้น เดินทางด้วยความยากลำบาก รอนแรมไปจนถึงฝั่งสมุทร แล้วทรงสร้างศาลาที่พักไว้ที่ตรงนั้น อาศัยผลไม้ในป่าเป็นเครื่องเลี้ยงชีพ จิตใจเริ่มสงบเย็นขึ้น

อยู่มาวันหนึ่ง ขณะที่พระราชกุมารเข้าป่าหาผลไม้ พระชายากำลังต้มหัวเผือกและจัดหาผลไม้อยู่ในศษลา ได้มีดาบสรูปหนึ่งอาศัยอยู่ที่เกาะในมหาสมุทร เหาะมาเพื่อภิกขาจาร(เที่ยวขออาหาร) พอเห็นควันไฟจึงเหาะลงที่ศาลานั้น พระชายาจึงเชิญพระดาบสให้นั่งรอสักครู่

ช่วงนั้นเอง…นิสัยเดิมก็ปรากฎ นางฟ้อนก็ประเล้าประโลมพระดาบสอย่างหยาบช้า ด้วยสรีระแห่งหญิงนั่นเอง จนกระทั่งในที่สุด… พระดาบสก็เคลื่อนจากพรหมจรรย์ เสื่อมจากฤทธิ์ เป็นเสือมกาปีกหัก ตกอยู่ในอำนาจใฝ่ต่ำแห่งกามราคะ

ฝ่ายพระราชกุมารเมื่อแสวงหาผลหมากรากไม้ได้มากพอแล้ว ก็หาบหามกลับมาที่ศาลา พอพระดาบสเห็นพระราชกุมารเข้าเท่านั้นก็ตกใจกลัว รีดพรวดพราดหนีตรงไปยังฝั่งสมุทร หมายใจจะเหาะหนีไปทางอากาศ แต่แล้วก็ต้องตกลงสู่มหาสมุทรนั้นโครมใหใญ่

พระราชกุมารเห็นอาการเช่นนั้นแล้ว ก็ทรงคาดการณ์ได้ทันที อดสังเวชต่อพระอาบสมิได้ จึงตรัสอนุเคราะห์ไปว่า

"ธรรมดาของหญิง มีมารยามาก มักทำลายพรหมจรรย์ ด้วยว่จาไพเราะ เสียงอ่อนหวาน เป็นเช่นแม่น้ำใหใญ่ที่ากจะถมให้เต็มด้วยกามตัณหา หากสตรีใดเข้าไปส้องเสพบุรุษใด ด้วยความพอใจหรือด้วยทรัพย์ก็ตาม ย่อมตามเผาผลาญบุรุษนั้น เหมือนไฟป่าเผาผลาญพื้นที่ของตนเองฉะนั้น หากท่านรู้แจ้งอย่างนี้แล้ว จงเว้นสตรีเสียให้ห่างไกล"

ได้ฟังคำของพระราชกุมารแล้ว ความเบื่อหน่ายในหญิงก็บังเกิดแก่พระดาบส จึงพยายามตั้งสติ ทำฌานที่เสื่อมให้กลับคืนมาได้อีกครั้ง แล้วก็เหาะขึ้นสู่เวหา กลับไปยังที่อยู่ของตน

พระราชกุมารทอดพระเนตรเห็นดังนั้นทรงสะเทือนอารมณ์ยิ่งนัก สลดพระทัยในตนเองว่า

"พระดาบสนี้เป็นผู้อบรมมาแล้ว เมื่อได้สติก็สามารถทำฌาน(ภาวะจิตสงบไร้กิเลส)ให้เกิด แล้วเหาะไปในอากาศได้ราวกับปุยนุ่น แม้ตัวของเราเองก็ควรได้สติ แล้ทำฌาฯให้เกิด เหาะไปในที่ไหนๆได้อย่างอิสระเช่นกัน"

ทรงคิดดังนั้นแล้ว ก็รับสั่งกับนางฟ้อนนั้นว่า

"เจ้าจงกลับพระนครไปเถิด เราจะออกบวช"

แล้วก็ทรงบวชเป็นฤาษี บำเพ็ญตบะสำรอกกามราคะ อภิญญา(ความรู้ยิ่ง) และสมาบัติ(สภาวะสงบอันประณีตยิ่ง) ให้บังเกิด ได้เข้าถึงพรหมโลกในที่สุด

พระศาสดาทรงแสดงชาดกนี้ แล้วตรัสว่า

"อนิตถิคันธกุมารในครั้งนั้น ได้มาเป็นเรา ตถาคตในบัดนี้"

"ณวมพุทธ" ๑๙ เม.ย. ๒๕๓๘ (พระไตรปิฎก เล่ม ๒๗ ข้อ ๓๘๘,๒๒๐๘, อรรถกถาเล่ม ๕๘ หน้า ๑๐๘ เล่ม ๖๑ หน้า ๒๑๙)

มติที่1 | มติที่2 | มติที่3 | มติที่4 | มติที่5 | มติที่6 | มติที่7 | มติที่8 | มติที่9 | มติที่10