[exit]

โพธิรักษ์ โพธิกิจ | โลกาภิวัฒน์ 2000 | เศรษฐศาสตร์บุญนิยม |  ความรัก ๑๐ มิติ ฉบับชาดก 

"ณวมพุทธ"  เรียบเรียง

มติที่1 | มติที่2 | มติที่3 | มติที่4 | มติที่5 | มติที่6 | มติที่7 | มติที่8 | มติที่9 | มติที่10

สากลนิยม / จักรวาลนิยม

"สากลนิยม" เป็นความรักที่มอบใจให้แก่มวลมนุษยชาติ ไม่แบ่งแยกผิวพรรณว่า ผิวดำ ผิวขาว ผิวแดง ผิวเหลือง ไม่จำกัดเชื้อชาติว่าจะเป็นชาติใด ถ้าใครตกทุกข์ได้ยาก ก็จะช่วยเหลือทุกคนทุกชาติ

อาจช่วยเหลือด้านวัตถุด้วยปัจจัย ๔ คือ บริจาคอาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค หรือช่วยด้านแรงกายแรงใจ เช่น อาสาสมัครช่วยบรรเทาทุกข์แก่ผู้คนในชาติที่ประสบภัยอยู่ หรือช่วยด้านปัญญา โดยคิดค้นหาทางที่จะสร้างสรรสันติภาพให้ชาวโลกได้อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน ไม่แย่งชิงกัน ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน ลดความเห็นแก่ตัวลงมา หาวิธีการกระจายทุน กระจายงาน กระจายผลผลิต กระจายอำนาจสู่มหาชน ให้เกิดความาเอื้อเเฟื้อเผื่อแผ่แก่กันและกัน

ความรักแบบสากลนิยมจึงยิ่งใหญ่ ต้องผจญทุกข์มหาศาล กระทำได้ยากนัก จึงมีคุณค่าสูงส่งสุดคณา

เอกราชชาดก

ในอดีตกาล โอรสของพระเจ้ากรุงพาราณสี เติบโตเจริญวัยขึ้น ได้ร่ำเรียนศิลปศาสตร์สำเร็จทุกแขนง ครั้นพระราชบิดาสวรรคต จึงขึ้นครองราชสมบัติแทน มีพระนามว่า เอกราช

ทรงเป็นธรรมราชา ปกครองประชาชนด้วยธรรมะ ทรงรับสั่งให้สร้างโรงทานไว้ ๖ แห่ง คือที่ประตูพระนครทั้ง ๔ ด้าน กับประตูพระราชวัง และที่ท่ามกลางพระนคร ทรงให้ทานแก่ผู้ยากไร้ คนกำพร้า และคนเดินทาง อีกทั้งพระองค์ยังทรงรักษาศีล ถืออุโบสถ (ถือศีล๘) ด้วยความเมตตากรุณา เอ็นดูต่อสรรพสัตว์ทั้งปวง ประดุจดังมารดาบิดารักเอ็นดูบุตรของตนฉะนั้น

ครานั้นเองมีอำมาตย์ผู้หนึ่ง มุ่งหมายคิดขบถภายในพระนคร พวกอำมาตย์อื่นๆพากันกราบทูลให้พระราชาทรงทราบ พระเจ้าเอกราชจึงให้สืบหาความจริง จนแจ้งชัดด้วยพระองค์เอง แล้วรับสั่งให้อำมาตย์นั้นเข้าเฝ้า ตรัสว่า

"คนทรยศ เจ้าทำกรรมไม่สมควรเลย อย่าอยู่ในแว่นแคว้นของเราอีกต่อไป จงนำทรัรพย์ของเจ้าและลูกเมียไปอยู่ที่อื่นเสียเถิด"

อำมาตย์นั้นจึงต้องออกจากแคว้นกาสี เดินทางไปยังแคว้นโกศล แล้วหาทางเข้ารับราชการอยู่กับพระเจ้าโกศล ที่ทรงพระนามว่า ทัพพเสน ตั้งใจทำการงานจนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของพระราชา

วันหนึ่งอำมาตย์จึงกราบทูลพระเจ้าโกศลว่า

"ขอเดชะ อันราชสมบัติในกรุงพาราณสีนั้น เปรียบเสมือนรวงผึ้งที่ปราศจากตัวผึ้ง เพราะพระราชาอ่อนแอ พระองค์สามารถยึดราชสมบัติได้ง่าย ด้วยพลพาหนะจำนวนน้อยเท่านั้น"

แต่พระเจ้าทัพพเสนไม่ทรงเชื่อมั่นนัก ในคำของอำมาตย์นั้น เพราะพาราณสีเป็นเมืองใหญ่โต พระเจ้าเอกราชก็ทรงมีอานุภาพมาก เมื่ออำมาตย์เห็นเช่นนั้น จึงยั่วยุอีกว่า

"ตามที่ข้าพเจ้ากราบทูลล้วนเป็นความจริง หากแม้นพระองค๋ไม่ทรงเชื่อ ก็โปรดส่งคนออกไปปล้นสะดมหมู่บ้านชายแดนของแคว้นกาสีดูเถิด เพราะหากพระเจ้าเอกราชทรงจับโจรไว้ได้แล้ว ก็จะพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์แก่โจรเหล่านั้น แล้วก็จะปล่อยไปพระเจ้าข้า"

พระเจ้าทัพพเสนได้ยินคำยืนยันหนักแน่นเช่นนั้น จึงตัดสินใจทดลองส่งคนไปปล้นหมู่บ้านชายแดน แล้วในที่สุดบรรดาโจรก็ถูกจับกุมตัวได้ โดนคุมตัวไปให้พระเจ้าเอกราชทอดพระเนตร พระราชาจึงทรงรับสั่งถามว่า

"เหตุใดพวกเจ้าจึงพากันมาปล้นชาวบ้านเล่า"

พวกโจรกราบทูลว่า

"ขอเดชะ พวกข้าพระพุทธเจ้ายากจน ไม่มีจะกิน จึงจำเป็นต้องปล้นผู้อื่น เพื่อความอยู่รอดของชีวิตตน"

พระราชาฟังดังนั้นแล้ว ทรงเกิดจิตเมตตาสงสาร ตรัสว่า

"ก็เมื่อเป็นอย่างนั้น ทำไมพวกเจ้าจึงไม่พากันมาหาเราเล่า เอาละนับตั้งแต่นี้ต่อไป ห้ามพวกเจ้าไปปล้นผู้คนอื่นเช่นนี้อีก"

จากนั้นพระเจ้าเอกราชทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ให้ แล้วปล่อยตัวโจรเหล่านั้นไป โจรทั้งหมดรีบเดินทางกลับไปยังแคว้นโกศล กราบทูลให้พระเจ้าทัพพเสนทรงทราบความจริง แม้กระนั้นก็ตาม พระเจ้าทัพพเสนก็ยังทรงไม่กล้ายกกองทัพไปรบ ได้ทรงทดลองส่งคนไปฉกชิง ยื้อแย่งสิ่งของผู้คนในท้องถนนกรุงพาราณสีอีกครั้ง เมื่อโจรโดนจับได้ พระเจ้าเอกราชก็ทรงพระราชทานทรัพย์ให้ แล้วปล่อยตัวไปอยู่นั่นเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ พระเจ้าทัพพเสนจึงทรงแน่พระทัยว่า

"พระเจ้าเอกราชเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรมโดยแท้ เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมะอย่างยิ่ง มีพระเมตตากรุณาเกินจะเปรียบประมาณได้ เป็นทีของเราที่จะฉกฉวยโอกาสได้เปรียบนี้ไว้"

ฉะนั้นจึงทรงดีพระทัย ยกกองทัพเสด็จออกไป หมายยึดราชสมบัติในกรุงพาราณสีให้จงได้

ฝ่ายกรุงพาราณสีนั้น มีนักรบเก่งกาจอยู่ประมาณหนึ่งพันนาย ล้วนแต่แกล้วกล้าอาจหาญเป็นเยี่ยม ซึ่งใครๆไม่อาจจะทำลายได้เลย แม้แต่ช้างที่ตกมันจะวิ่งมาตรงหน้า นักรบทุกนายก็จะอยู่สู้ไม่ถอย หรือแม้สายฟ้าฟาดลงที่ศีรษะ นักรบทุกนายก็ไม่หวาดหวั่นเกรงกลัว หากพระเจ้าเอกราชทรงพอพระทัยในราชสมบัติใด นักรบเหล่านี้ก็สามารถจะยึดครองราชสมบัตินั้นๆตลอดทั่วชมพูทวีป มาถวายให้ได้

ดังนั้นเมื่อนักรบทั้งหลายได้ข่าวว่า พระเจ้าทัพพเสนยกทัพมาหมายตีกรุงพาราณสี จึงเข้าเฝ้าพระเจ้าเอกราช แล้วกราบทูลว่า

"ขอเดชะ พระเจ้าทัพพเสนนำพลพาหนะมา เพื่อยึดครองกรุงพาราณสี ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ยกทัพออกไปจับพระราชาแห่งแคว้นโกศลเฆี่ยนเสียให้เข็ดหลาบ จะได้มิกล้ารุกล้ำเขตแดนเข้ามาอีก"

แต่พระเจ้าเอกราชทรงห้ามเอาไว้ว่า

"ท่านทั้งหลายอย่าไปต่อสู้กันเลย เราไม่ต้องการให้คนอื่นๆมาลำบากเพราะเรา ถ้าหากพระเจ้าทัพพเสนอยากได้ราชสมบัตินี้จริงๆแล้ว เราก็จะให้ครอบครอง"

เมื่อพระเจ้าทัพพเสนกรีฑาทัพมาถึงชนบทชั้นกลาง เหล่าอำมาตย์กรุงพาราณสี ก็พากันเข้าเฝ้าพระเจ้าเอกราชอีก พร้อมกับกราบทูลว่า

"ขอเดชะ เจ้าแห่งแคว้นโกศลยกกองทัพมาถึงท่ามกลางชนบทแล้ว โปรดทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้กองทัพออกไปขับไล่ข้าศึกเถิด พระเจ้าข้า"

พระเจ้าเอกราชทรงห้ามเอาไว้อีกดังเดิม จนกระทั่งพระเจ้าทัพพเสนยกพลมาประชิดอยู่นอกพระนคร แล้วส่งพระราชสาสน์ประกาศท้าทายว่า

"จงยอมยกราชสมบัติให้แก่เรา หรือว่าะสู้รบกัน"

ดังนี้เองเหล่าอำมาตย์นักรบทั้งหลาย จึงพร้อมใจกันเข้าเฝ้า กราบทูลพระเจ้าเอกราชอีกครั้งว่า

"ขอเดชะ พวกข้าพระพุทธเจ้าจะไม่ยอมยกกรุงพาราณสีให้เด็ดขาด และจะไม่ให้พระเจ้าทัพพเสนยกทัพเข้าเมืองมาได้เลย แต่จะออกไปจับกุมตัวเจ้าโกศลราชมามอบให้พระองค์ จากที่นอกพระนครนั่นแหละ พระเจ้าข้า"

แม้ทั้งหลายจะกล่าวอย่างไรก็ตาม พระเจ้าเอกราชก็ยังทรงห้ามปรามไว้ ไม่ยินยอมให้เกิดการสู้รบเข่นฆ่ากันขึ้น แล้วทรงตอบพระราชสานส์ถึงพระเจ้าทัพพเสนว่า

"เราจะไม่รบกับท่าน เชิญเข้ามายึดครองราชสมบัติเถิด"

แล้วพระเจ้าเอกราชก็ทรงมีพระกระแสรับสั่ง ให้เปิดประตูเมืองทุกด้าน จากนั้นก็ประทับเหนือราชบัลลังก์ รอยอยู่ในท้องพระโรงพร้อมด้วยอำมาตย์พันนาย

ครั้นพระเจ้าทัพพเสนเสด็จเข้าสู่กรุงพาราณสี พร้อมกองทัพอันยิ่งใหญ่ มิได้ทรงพบเห็นผู้ที่จะเป็นศัตรูตอบโต้แม้สักคนเดียว จึงเสด็จสู่พระราชนิเวศน์ เข้าไปในพระราชวัง แล้วสั่งให้จับพระเจ้าเอกราช กับอำมาตย์ทั้งมวลมัดเอาไว้ จากนั้นก็เข้าควบคุมทหาร ข้าราชการ ประชาชน และชาวชนบท ให้อยู่ในอำนาจทั้งหมด แล้วจึงตรัสสั่งเหล่าทหารของตนว่า

"พวกเจ้าจงนำพระราชากับอำมาตย์มัดมือไพล่หลังให้แน่น แล้วเอาไปที่ป่าช้า ขุดหลุมให้ลึก ฝังทุกคนลงไปแค่คอ กลบดินเสียให้แน่น คืนนี้พวกหมาจิ้งจอกคงพากันมากินอาหารของมันจนอิ่มเป็นแน่"

เหล่าทหารก็ทำตามนั้นทุกประการ แต่แม้เหตุการณ์จะเป็นอย่างนี้แล้วก็ตาม พระเจ้าเอกราชก็มิได้ทรงอาฆาตโกรธแค้นต่อพระเจ้าทัพพเสนเลยแม้แต่น้อย ได้ตรัสกับเหล่าอำมาตย์ของพระองค์ว่า

"พวกท่านทั้งหลาย จงเจริญเมตตาจิตให้มาก จงถือว่าพระเจ้าทัพพเสนผู้มาชิงเอาราชสมบัติไป เป็นเสมือนบุตรสุดที่รักของเราเถิด"

บรรดาอำมาตย์ของพระเจ้าเอกราช ล้วนได้ชื่อว่า "เป็นผู้มีวินัยดี" คือ จะไม่มีแม้แต่สักคนเดียว ที่จะไม่เชื่อฟังในพระดำรัสของพระราชาของตน ดังนั้นทั้งหมดจึงแผ่เมตตาจิตไปยังพระเจ้าทัพพเสนร่วมกัน

ในขณะนั้นเองพระเจ้าทัพพเสน ก็บังเกิดอาการเร่าร้อนกระวนกระวายในพระวรกายอย่างใหญ่หลวง จนส่งเสียงร้องออกมาว่า

"เราถูกไฟไหม้ เราถูกไฟไหม้"

แล้วทรงล้มเกลือกกลิ้งดิ้นไปมาอยู่บนพื้นดิน ทุรนทุรายจนกระทั่งทรงเหน็ดเหนื่อย ตรัสถามราชบุรุษอย่างอ่อนล้าว่า

"นี่เกิดอะไรกัน ทำไมเราจึงเป็นเช่นนี้"

ราชบุรุษตรึกตรองแล้วจึงเอ่ยว่า

"ข้าแต่พระองค์ คงเป็นเพราะทรงรับสั่งให้ประทุษร้ายฝังพระราชาผู้ทรงธรรม กับเหล่าผู้ไม่มีความผิดไว้ในหลุมพระเจ้าข้า"

พระเจ้าทัพพเสนฟังดังนั้น ก็เกิดฉุกคิดขึ้นได้ จึงรีบตรัสว่า

"ถ้าอย่างนั้น พวกเจ้าจงรีบไปขุดเอาพระเจ้าเอกราชกับอำมาตย์ทั้งหลายขึ้นมาโดยเร็ว

ไม่นานนักพระเจ้าเอกราชกับเหล่าอำมาตย์ ก็ถูกนำตัวเข้ามา พระเจ้าทัพพเสนถวายบังคมแด่พระเจ้าเอกราช แล้วตรัสขอขมาว่า

"ขอพระองค์จงครองราชสมบัติของพระองค์เถิด ข้าพระองค์จะป้องกันพวกโจรถวายแด่พระองค์เอง เรื่องที่ผ่านมาแล้ว โปรดพระราชทานอภัยโทษให้แก่หม่อมฉันด้วย"

พระเจ้าเอกราชก็ทรงงดโทษให้ พระเจ้าทัพพเสนจึงตรัสถามต่อไปด้วยความประหลาดใจว่า

"พระองค์ถูกฝังดินอยู่ในป่าช้า ก็แล้วเหตุใรเล่า จึงยังมีพระฉวีวรรณผ่องใส และพละกำลังก็มีอยู่ดังเดิม คล้ายกับยามปกติที่ได้รับการบำรุงบำเรออยู่"

พระเจ้าเอกราชตรัสตอบว่า

"ข้าแต่พระเจ้าทัพพเสน ขันติ คือ ความอดทนอดกลั้น อีกทั้งตบะคือความเพียรเพ่งเผากิเลส และการหมั่นเจริญเมตตาจิตนี้เป็นคุณธรรมที่หม่อมฉันปรารถนามาแต่เดิม บัดนี้หม่อมฉันได้สิ่งที่ปรารถนานั้นแล้ว ฉะนั้นผิวพรรณและกำลังกายของหม่อมฉัน จึงมีความผ่องใสอยู่ดังเดิมได้

สัตบุรุษทั้งหลาย บรรเทาความสุขด้วยความทุกข์ บรรเทาความทุกข์ด้วยความสุข เป็นผู้มีจิตเยือกเย็นยิ่งนักในสุขและทุกข์ทั้งสองอย่าง จึงย่อมเป็นผู้มีจิตเที่ยงธรรม เป็นกลางทั้งในสุขและทุกข์ ดุจดังตราชูฉะนั้น"

พระเจ้าทัพพเสนทรงซาบซึ้งในคำตอบยิ่งนัก จากนั้นก็ทรงอำลายกกองทัพกลับไปยังแว่นแคว้นของตน แล้วทำการลงอาญาแก่อำมาตย์ผู้ประทุษร้ายคนนั้น

ฝ่ายพระเจ้าเอกราช ต่อมาภายหลังทรงมอบราชสมบัติแก่เหล่าอำมาตย์ทั้งหลาย แล้วออกบวชเป็นฤาษี มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า

จบชาดกนี้แล้ว พระศาสดาตรัสว่า

"ในกาลนั้นพระเจ้าทัพพเสน มาเป็นพระอานนท์ในบัดนี้ ส่วนพระเจ้าเอกราช มาเป็นเราตถาคตนั่นเอง"

ณวมพุทธ ๔ ธ.ค.๒๕๓๖ (พระไตรปิฎก เล่ม ๒๗ ข้อ ๕๑๐ เล่ม ๓๓ ข้อ ๓๔, อรรถกถาแปลเล่ม ๕๘ หน้า ๓๙๓ เล่ม ๓๔ หน้า ๕๓๕)

มติที่1 | มติที่2 | มติที่3 | มติที่4 | มติที่5 | มติที่6 | มติที่7 | มติที่8 | มติที่9 | มติที่10