[exit]

โพธิรักษ์ โพธิกิจ | โลกาภิวัฒน์ 2000 | เศรษฐศาสตร์บุญนิยม |  ความรัก ๑๐ มิติ ฉบับชาดก 

"ณวมพุทธ"  เรียบเรียง

มติที่1 | มติที่2 | มติที่3 | มติที่4 | มติที่5 | มติที่6 | มติที่7 | มติที่8 | มติที่9 | มติที่10

ชาตินิยม / รัฐนิยม

"ชาตินิยม " เป็นความรักที่กว้างเกื้อไกลออกไปสู่ประเทศทั้งประเทศ ชาติทั้งชาติ รักเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ของตน ไม่ว่าจะอยู่เหนือ-ใต้-ออก-ตก รักทั้งหมด ช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติทั้งหมด ใครทุกข์ยาก ใครเดือดร้อน ยินดีบรรเทาทุกข์ให้แก่ชาวประชาชาติทุกคน

ความรักมิตินี้ จึงหนักเหนื่อยทุกข์มากนัก ต้องอาจหาญที่จะกลัวเสียเปรียบให้แก่คนทั้งชาติด้วยความจริงใจ ไม่ใช่สักแต่ว่ารักชาติแค่ปากพูด แต่ต้องลงมือกระทำจริงจังให้เห็นว่า รักชาติ-เชิดชูชาติ-เคารพชาติอย่างแท้จริง กล้าเสียสละลาภ-ยศ-สรรเสริญ โดยเฉพาะแม้ความสุขส่วนตน มอบให้แก่ส่วนรวมได้ อย่างเห็นเด่นชัดมากเท่าใด ก็ยิ่งแสดงตนถึงความรักที่ดีมีคุณค่ามากเท่านั้น

ชนสันธชาดก

กาลครั้งหนึ่ง พระเจ้าโกศล ซึ่งมีอำนาจมาก ทรงมัวเมาด้วยอิสริยยศ หมกมุ่นเพลิดเพลินอยู่ในความสุขที่เกิดแต่กิเลส ทรงไม่ปรารถนาประกอบราฃภารกิจ ไม่ตัดสินคดี แม้การไปเยี่ยมเยียนบำรุงพระพุทธเจ้า ก็ทรงลืมเลือนเสีย

วันหนึ่ง ขณะทรงตื่นจากบรรทมแล้ว จิตใจเบิกบานแจ่มใส ทรงได้สติระลึกถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงทรงดำริว่า

"นานแล้วที่เรามิได้พบเห็นพระบรมศาสดา วันนี้เห็นทีจะต้องไปถวายบังคมพระพุทธองค์ให้ได้"

พอเสวยพระกระยาหารเช้าแล้ว ก็ทรงเสด็จขึ้นพระราชยานไปยังพระวิหาร เมื่อถึงแล้วก็ไปถวายบังคมพระศาสนา แล้วประทับนั่ง ณ ที่ควร พระศาสดาจึงตรัสถามว่า

"มหาบพิตร คราวนี้นานไม่น้อยทีเดียว ที่พระองค์มิได้เสด็จมานั่นเพราะเหตุใดกันเล่า"

พระเจ้าโกศลทรงอ้อมแอ้มทูลว่า

"เพราะข้าพระองค์มีราชกิจมาก ไม่มีโอกาสที่จะมาเข้าเฝ้าพระองค์ได้"

พระศาสดาทรงเห็นอาการเช่นนั้น ก็ตรัสว่า

"มหาบพิตร เมื่อตถาคตผู้เป็นสัพพัญญู(ผู้รู้แจ้งทุกสิ่ง) ผู้ให้คำกล่าวสอนเช่นเราอยู่ในวิหารที่ใกล้ๆแค่นี้ ไม่ควรเลยที่พระองค์จะประมาท เพราะวิสัยของพระราชาที่ดีนั้น ต้องไม่ประมาทในราชกิจทั้งหลาย ต้องดำรงพระองค์เสมอด้วยมารดาบิดาของชาวแว่นแคว้น ต้องละอคติทั้งปวง ครองราชย์โดยทศพิธราชธรรมจึงจะควร เพราะเมื่อพระราชาประพฤติธรรม แม้บริษัทของพระองค์ก็จะประพฤติธรรมตาม

ข้อที่เมื่อเราตถาคตสั่งสอนอยู่ แล้วพระองค์ครองราชย์โดยธรรมได้นั้น ไม่น่าอัศจรรย์นัก เทียบไม่ได้กับบัณฑิตในกาลก่อน แม้ไม่มีอาจารย์สั่งสอน ก็ยังตั้งอยู่ได้ในสุจริตธรรม แล้วแสดงธรรมตามความรู้ของตน พามหาชนไปสวรรค์ได้ นั่นน่าอัศจรรย์ยิ่ง"

พระเจ้าโกศลทูลอาราธนาให้ตรัสเรื่องราวนั้น พระพุทธองค์ จึงทรงนำอดีตชาดกมาตรัสเล่าดังนี้

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติ อยู่ในพระนครพาราณสี พระอัครมเหสีทรงประสูติพระโอรส พระญาติทั้งหลายได้ถวายพระนามว่า ชนสันธกุมาร

ครั้นเมื่อพระกุมารทรงเจริญวัยได้เล่าเรียนศิลปวิทยาทั้งหลายสำเร็จ กลับจากเมืองตักกสิลาแล้ว พระราชาทรงมีรับสั่งให้ชำระเรือนจำทั้งหมดให้สะอาด ประกาศพระราชทานตำแหน่งอุปราชให้

ต่อมาเมื่อพระเจ้าพรหมทัตราชบิดาสวรรคตแล้ว พระเจ้าชนสันธราช จึงได้ครองราชย์แทน แล้วรับสั่งให้สร้างโรงทานหกแห่ง คือที่ประตูพระนครทั้งสี่ด้าน ที่กลางพระนครและที่ประตูพระราชวัง บริจาคพระราชทรัพย์วันและหกแสน ทรงบำเพ็ญมหาทาน จนลือกระฉ่อนไปทั่วชมพูทวีป

แล้วยังรับสั่งให้อภัยโทษเปิดเรือนจำอยู่เป็นนิจ ทั้งให้ตีฆ้องป่าวร้องมาฟังธรรม ทรงสงเคราะห์โลกด้วยสังคหวัตถะสี่ (๑.ทาน = การให้ ๒.ปิยวาจา = เจรจาคำน่ารัก ๓.อัตถจริยา = ประพฤติประโยชน์ ๔.สมานัตตตา=ทำตัวให้เข้าใจกันได้) ชักชวนผู้คนให้รักษาศีลห้า และให้อยู่จำอุโบสถ(ถือศีลแปด)ในวันพระ บางคราวก็ให้ชาวบ้านแว่นแคว้นมาประชุมกัน แล้วทรงแสดงธรรมอบรมสั่งสอนว่า

"ท่านทั้งหลายจงให้ทาน จงสมาทาน จงประพฤติธรรม จงประกอบการงานและการค้าขายโดยธรรม หากเป็นเด็กอยู่ก็จงเรียนศิลปวิทยา โตแล้วจงแสวงหาทรัรพย์ แต่อย่าคดโกงชาวบ้าน อย่าพูดจาทำความส่อเสียด อย่าเป็นคนดุร้ายหยาบช้า และจงรู้จักบำรุงมารดาบิดา มีความเคารพอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่"

พระองค์ได้ทำมหาชนให้ตจั้งอยู่ในสุจริตธรรม ทรงครองราชสมบัติโดยธรรมดังนี้

อยู่มาวันหนึ่ง ซึ่งเป็นวันปัณรสีอุโบสถ(วันพระ ๑๕ ค่ำ) พระเจ้าชนสันธราชทรงสมาทานอุโบสถศีลแล้ว ทรงดำริว่า

"วันนี้เราน่าจะบอกสอนธรรมแมก่อยู่มหาชนทั้งหลาย เพื่อเกิดประโยชน์สุขยิ่งๆขึ้น เพื่อให้ชนทั้งปวงอยู่ด้วยความไม่ประมาท"

จึงรับสั่งให้ตีกลองประกาศทั่วประนคร เรียนชาวพระนครทั้งหมด ตั้งแต่พระสนมของพระองค์ กระทั่งถึงชาวเมืองยากจนเข็ญใจจากทั่วสารทิศ ให้มาประชุมกัน ณ ท้องพระลานหลวง แล้วพระองค์ก็ประทับนั่งบนบัลลังก์อันประเสริฐ ตรัสกับมหาชนว่า

"ชาวพระนครที่รักทั้งหลาย เราจะสอนธรรมแก่พวกท่าน ขอท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ไม่ประมาท เงี่ยโสตสดับโดยเคารพเกิด ว่า เหตุที่จะทำให้จิตเดือดร้อนนั้น มีอยู่ ๑๐ ประการ คือ

๑. บุคคลเมื่อยังหนุ่ม ไม่พยายามทำทรีพย์ให้เกิดขึ้น ครั้นแนก่ตัวลงหาทรัพย์ไม่ไหว ย่อมเดือดร้อนใจในภายหลัง ว่า เมื่อก่อนเราไม่ได้แสวงหาทรัพย์ไว้

๒. ศิลปะที่สมควรแก่ตน บุคคลใดไม่ได้ศึกษาไว้ในกาลก่อน ย่อมเดือดร้อนในภายหลังว่า เราไม่ได้ศึกษาศิลปะเอาไว้ก่อน เมื่อไม่มีศิลปะย่อมเลี้ยงชีพลำบาก

๓. บุคคลใดเป็นคนโกง ย่อมเดือดร้อนใจในภายหลังว่า ก็เพราะเราเป็นคนโกงมาก่อน ส่อเสียดมาก่อน กินสินบนมาก่อนดุร้ายและหยาบคายมาก่อนนั่นเอง

๔. บุคคลใดเป็นคนฆ่าสัตว์ ย่อมเมดือดร้อนใจในภายหลังว่า ก็เพราะเราเป็นคนหยาบช้าฆ่าสัตว์มาก่อน ส่อเสียดมาก่อน กินสินบนมาก่อน ดุร้ายและหยาบคายมาก่อนนั่นเอง

๕. บุคคลใดเป็นคนคบชู้ในภรรยาผู้อื่น ย่อมเดือดร้อนใจในภายหลังว่า หญิงที่ไม่มีใครหวงแหนก็มีอยู่เป็นอันมาก เราไม่ควรที่จะไปคบหาภรรยาของผู้อื่นเอาไว้

๖. บุคคลในเป็นคนตระหนี่ ย่อมเมดือดร้อนใจในภายหลังว่า เมื่อก่อนข้าวและน้ำของเราก็มีอยู่มากมาย แต่เราก็มิได้ให้ทานไว้เลย

๗. บุคคลผู้ไม่เลี้ยงดูมารดาบิดา ย่อมเดือดร้อนใจในภายหลังว่า เมื่อก่อนเราสามารถพอที่จะเลี้ยงดูมารดาบิดาผู้แก่เฒ่าชราได้ แต่ก็มิได้เลี้ยงดูท่าน

๘. บุคคลผู้ไม่ทำตามโอวาทบิดา ย่อมเดือดร้อนใจในภายหลังว่า เรานี้เมื่อก่อนได้ดูหมิ่นบิดาผู้เป็นอาจารย์สั่งสอน อันเป็นผู้นำรสที่เราต้องการทุกอย่างมาเลี้ยงดูเรา

๙. บุคคลผู้ไม่เข้าใกล้สมณพราหมณ์ ย่อมเมดือดร้อนใจในภายหลังว่า เป็นเพราะเมื่อก่อนนี้เราไม่ได้ไมาหาสู่สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้มีศีล เป็นพหูสูตร(ผู้ศึกษามาก)เลย

๑๐. บุคคลใดไม่ประพฤติสุจริตธรรม ไม่เข้าไปนั่งใกล้สัตบุรุษ(คนมีศีลสัมมามิฐิ) ย่อมเดือดร้อนในหลายหลังว่า เมื่อก่อนนี้เราไม่ไประพฤติสุจริตธรรมไว้เลย และสัตบุรุษนั้นเราก็ไม่ได้ไปมาหาสู่ท่าน

ผู้ใดหากปฏิบัติเหตุทั้ง ๑๐ ประการนี้ โดยอุบายอันแยบคายแล้ว เมื่อผู้นั้นกระทำกิจที่บุรุษควรทำเอาไว้ก่อน ย่อมไม่เดือดร้อนใจในภายหลังอย่างแน่นอน"

พระเจ้าชนสันธราชทรงสอนธรรม แม้โดยทำนองนี้แก้หมู่มหาชนทุกๆครึ่งเดือน ชนทั้งหลายก็เชื่อฟัง ตั้งอยู่ในคำสอนของพระองค์ ประพฤติบำเพ็ญธรรมเหล่านั้นให้บริสุทธิ์บริบุรณ์ แล้วได้ไปสวรรค์ตามผลบุญของตน

พระศาสดาทรงนำชาดกนี้มาแสดงจบแล้ว ก็ตรัสว่า

"มหาชนในครั้งนั้น ได้มาเป็นพุทธบริษัทในครั้งนี้ส่วนพระเจ้าชนสันธราชได้มาเป็นเราตถาคต"

ณวมพุทธ ๓ ก.ย.๒๕๓๙ (พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อ ๑๖๔๙, อรรถกถาแปลเล่ม ๖๐ หน้า ๑๕๙)

มติที่1 | มติที่2 | มติที่3 | มติที่4 | มติที่5 | มติที่6 | มติที่7 | มติที่8 | มติที่9 | มติที่10