โพธิรักษ์ โพธิกิจ | โลกาภิวัฒน์
2000 | เศรษฐศาสตร์บุญนิยม | ความรัก
๑๐ มิติ ฉบับชาดก
มติที่1 | มติที่2
| มติที่3 | มติที่4 | มติที่5
| มติที่6 | มติที่7 | มติที่8
| มติที่9 | มติที่10 สัจจะนิยม "สัจจะนิยม"
เป็นความรักที่กำลังพยายามเลิกรัก หรือเลิกการติดยึดในความรัก เลิกเห็นแก่ตัวในสิ่งที่รัก
เลิกอุปาทานติดสุข เลิกหลงเสพย์สบาย ได้ลงมือกระทำการเรียนรู้ และฝึกฝนพิสูจน์ลดความรัก
จนเกิดผลแจ้งประจักษ์ มีสภาวะแท้จริง ที่ตนเองรู้อยู่เห็นอยู่สัมผัสอยู่ได้รู้สาระสัจจะที่ถูกต้องแท้ๆแล้วว่า
หากยังมีความรักอยู่มากแค่ไหน ก็ยังต้องเกิดความทุกข์ตามมามากแค่นั้น จึงพยายามปลดเปลื้องความรักออกไปจากตนให้เหลือรักน้อยลงๆ
เพื่อให้ได้พ้นรักพ้นทุกข์ให้ได้มากที่สุด ในแคว้นสีพี
มีพระราชาทรงพระนามว่า สีวี ทรงครอบครองราชสมบัติอยู่
ณ อริฏฐบุรีนคร คราวนั้นวิญญาณดวงหนึ่งได้ไปบังเกิด ในพระครรภ์ของอัครมเหสี
เมื่อทรงประสูติแล้ว ทรงบรมวงศานุวงศ์พากันขนานพระนามพระโอรสว่า "สีวิกุมาร"
ขณะเดียวกันบุตรของเสนาบดี ก็เกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน
พวกหมู่ญาติพากันตั้งชื่อเด็กนั้นว่าอภิปารกะ เด็กทั้งสองเป็นสหายรักกัน
เที่ยวเล่นเติบโตมาด้วยกันจนอายุได้ ๑๖ ปี ก็ไปเล่าเรียนวิชาที่กรุงตักกสิลา กระทั่งจบวิชาการต่างๆ
จึงพากันกลับคืนพระนคร เมื่ออยู่พระนครแล้ว พระราชาทรงพระราชทานราชสมบัติให้แก่สีวิกุมารครอบครอง
ได้เป็น"พระเจ้าสีวิราช" พระราชาองค์ใหม่ ก็ทรงแต่งตั้งอภิปารกะสหายรักให้เป็นเสนาบดี
ช่วยกันดูแลปกครองบ้านเมืองโดยธรรม และในพระนครนี้เอง มีบุตรสาวของติริฏิวัจฉเศรษฐี
ผู้ร่ำรวยทรัพย์ถึง ๘๐ โกฏิ (๘๐๐ ล้าน) เธอชื่อ อุมมาทันตี
ผู้มีรูปร่างหน้าตาสวยเลอเลิศ ผิวพรรณงดงามยิ่งนัก ช่างน่าดูน่าชมปานเทพธิดาชั้นฟ้า
หากใครได้พบเห็นเข้า จะถึงกับเคลิบเคลิ้มลืมตัว ไม่อาจตั้งสติอยู่ได้ จะเกิดจิตลุ่มหลงมัวเมา
คล้ายดังได้ดื่มน้ำเมาเข้าไปฉะนั้น
สาเหตุที่นางอุมมาทันตี ได้รูปร่างหน้าตาสวยสดงดงามอย่างนี้ ก็เพราะผลแห่งกรรมในอดีตชาติ
สมัยที่นางเคยเกิดอยู่ในตระกูลคนยากจน ได้พบเห็นหญิงสาวทั้งหลายผู้สมบูรณ์ด้วยบุญตกแต่งนุ่งห่มผ้าที่ย้อมด้วยดอกคำ
เดินเที่ยวกันในงานมหรสพ เกิดจิตอยากได้ผ้านุ่งเช่นนั้นบ้าง จึงออกปากขอกับพ่อแม่
แต่ก็ได้รับคำตอบว่า "ลูกเอ๋ย
พวกเรายากจนขัดสน จะไปได้ผ้าย้อมด้วยดอกคำอย่างนั้น
จากที่ไหนเล่า" นางจึงขออนุญาตต่อพ่อแม่ ไปสมัครรับจ้างทำงานในตระกูลมั่งคั่งแห่งหนึ่ง
จนกระทั่งครบ ๓ ปี จึงได้ค่าตอบแทนเป็นผ้าที่ย้อมด้วยดอกคำเนื้อแน่น กับผ้าชนิดอื่นๆอีก
วันนั้นเองนางจึงตั้งใจจะไปอาบน้ำร่วมกับเพื่อนที่ฝั่งน้ำ เสร็จแล้วจะได้ลองนุ่งห่มผ้าย้อมดอกคำนี้ดู ขณะอยู่ริมน้ำนั้นเอง
มีพระเถระรูปหนึ่งมาถึงบริเวณนั้น อาศัยกิ่งไม้ใบไม้นุ่งห่มบังกายแทนจีวร
นางเห็นเข้าเช่นนั้นจึงคิดว่า "สมณะรูปนี้คงถูกโจรชิงจีวรไปเป็นแน่
ก็การที่เราต้องยากจน กว่าจะได้ผ้านุ่งผืนนี้มาช่างยากลำบากนัก คงเพราะไม่ได้ทำบุญทำทานเอาไว้ในชาติก่อนๆ
ฉะนั้นเราน่าจะถวายผ้าส่วนหนึ่งให้แก่ท่าน" คิดดังนั้นนางจึงฉีกผ้าออกเป็นสองส่วน
นำส่วนหนึ่งถวายแก่พระเถระ ครั้นเมื่อพระเถระเข้าที่กำบัง นุ่งห่มผ้าผืนนั้นเรียบร้อยแล้วเดินออกมา
นางได้เห็นพระเถระอีกครั้ง ถึงกับตะลึงแล้วคิดว่า "ทีแรกสมณะนี้ไม่มีราศีเลย
แต่บัดนี้ช่างสง่างามรุ่งโรจน์ราวกับพระอาทิตย์ทอแสงอ่อนๆฉะนั้น อย่างนี้เราจะถวายผ้าอีกท่อนแก่สมณะนี้แหละ" นางจึงถวายผ้าย้อมดอกคำที่เหลือไปหมด
แล้วตั้งความปรารถนาไว้ว่า "ชาติหน้าฉันใด พึงเป็นหญิงที่มีรูปกายงดงาม
ไม่มีหญิงอื่นสวยเกินกว่า หากผู้ใดได้พบเห็นเข้าแล้ว จะต้องลุ่มหลงพอใจ" ผลแห่งการกระทำ(วิบากกรรม)นี้เอง
นางจึงได้มาเกิดเป็น"อุมมาทันตี"แห่งอริฏฐบุรี ครั้นเมื่อนางอุมมาทันตีอายุได้
๑๖ ปี เศรษฐีติริฏิวัจฉะได้คิดจะมอบนางถวายแด่พระราชา จึงไปเข้าเฝ้าแล้วกราบทูลว่า "ข้าแต่พระเจ้าสีวิราช
นางแก้วอันสมควรแด่พระเจ้าแผ่นดิน ได้บังเกิดในเรือนของข้าพระองค์ ขอให้พระองค์ได้โปรดส่งพราหมณ์ผู้ทำนายลักษณะทั้งหลาย
ไปพิจารณานางแก้วนั้นด้วยเถิด" พระเจ้าสีวิราชทรงรับคำ จึงสั่งให้บรรดาพราหมณ์ไปยังเรือนของเศรษฐี
พราหมณ์เหล่านั้นก็ได้รับการต้อนรับ และการสักการะเป็นอย่างดี ในขณะที่พราหมณ์พากันบริโภคข้าวปายาส(ข้าวที่หุงด้วยนมโค)อยู่นั้น
นางอุมมาทันตี ซึ่งประดับประดาด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ ได้มาปรากฏตัวอยู่เบื้องหน้าของพราหมณ์นั้น
พอพราหมณ์ทั้งหมดได้แลเห็นนางอุมมาทันตีเข้าเท่านั้น ก็ไม่สามารถจะดำรงสติเอาไว้ได้
บ้างก็ตะลึงจึงลืมตัวไปว่า ตนกำลังบริโภคจึงยกมือค้างอยู่ บ้างก็หยิบเอาคำข้าวไปวางไว้บนศีรษะบ้างก็เอาอาหารไปใส่เข้าที่ซอกรักแร้
บ้างก็ถึงกับทุบตีพื้น เหล่าพราหมณ์มีอาการคล้ายดั่งคนบ้ากันไปหมด นางอุมมาทันตีเห็นลักษณะของพราหมณ์แล้ว
ก็เกิดอาการดูหมิ่น กล่าวขึ้นด้วยเสียงดังว่า "พวกพราหมณ์เหล่านี้นะหรือ
จะมาตรวจดูลักษณะเรา ท่านทั้งหลายจงลากคอพราหมณ์เหล่านี้ออกไปให้หมด" คนรับใช้จึงพากันนำพราหมณ์ออกไป
พวกพราหมณ์ต้องได้รับความขวยเขินและอับอายยิ่งนัก จึงโกรธแค้นต่อนางอุมมาทันตี
ครั้นเมื่อได้เข้าเฝ้าพระเจ้าสีวิราชแล้ว ก็กราบทูลว่า "ขอเดชะ
ผู้หญิงคนนั้นเป็นกาลกิณี(เสนียด,โชคร้าย) มิได้สมควรแก่พระองค์เลย
พระเจ้าข้า" พระราชาทรงทราบดังนั้น จึงมิได้รับสั่งให้นำนางอุมมาทันตีเข้าวัง
เมื่อเรื่องราวนี้รู้ถึงหูของนางอุมมาทันตีเข้า นางคิดแค้นในใจ ผูกอาฆาตว่า "พระเจ้าสีวิราชไม่ทรงยอมรับเรา
ด้วยหูเบาเข้าใจว่าเราเป็นหญิงกาลกิณี ก็หญิงกาลกิณีนั้น ย่อมไม่มีรูปร่างหน้าตาอย่างเราแน่นอน
คอยดูเถอะ ถ้าเราได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระราชาเมื่อใด ก็จะได้รู้กัน" ต่อมาไม่นาน
เศรษฐีติริฏิวัจฉะได้ยกนางอุมมาทันตีให้แก่อภิปารกะเสนาบดี นางจึงกลายเป็นภรรยาที่รักที่ชอบใจของเสนาบดีแห่งแคว้นสีพีนั้นเอง ครั้งถึงวันเพ็ญของเดือนกัตติกมาส(เดือนสิบสอง)
ประชาชนได้ตระเตรียมบ้านช่องไว้เพื่องานมหรสพ อภิปารกเสนาบดี เมื่อจะออกไปทำงานของตน
ก็ได้กล่าวกับภรรยาสุดที่รักว่า "อุมมาทันตีน้องรัก วันนี้ในเวลาค่ำคืนแห่งกัตติกมาส
จะมีมหรสพ พระราชาจะทรงทำประทักษิณ(เวียนขวาแสดงความเคารพ)รอบพระนคร เสด็จผ่านประตูเรือนของเรานี้เป็นเรือนแรก
ฉะนั้นน้องอย่าได้ปรากฏตัวให้พระราชาได้พบเห็น เพราะหากพระองค์เห็นน้องแล้ว
พี่เกรงว่าพระองค์อาจลุ่มหลงในตัวน้องได้" นางอุมาทันตีรับคำสามีเป็นอย่างดี
เมื่ออภิปารกะไปแล้ว นางจึงรับสั่งกับคนใช้ว่า "เวลาใดที่พระราชาเสด็จมาถึงยังประตูเรือนของเรานี้
เจ้าจงรีบบอกแก่เราให้รู้โดยเร็ว" เมื่อจันทร์เพ็ญลอยเด่นอยู่กลางแผ่นฟ้า
ประทีบโคมไฟจุดสว่างไสวทั่วพระนคร พระราชาทรงประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ ทรงประทับอยู่บนรถม้า
แวดล้อมด้วยหมู่อำมาตย์ พอเสด็จมาถึงประตูเรือนของอภิปารกเสนาบดี คนรับใช้รีบแจ้งให้นางอุมมาทันตีได้ทราบทันที
นางจึงให้คนรับใช้ถือพานดอกไม้ แล้วตัวเองยืนพิงหน้าต่างอยู่ด้วยลีลาอันงดงาม หยิบดอกไม้โปรยใส่พระราชา
ทำให้พระเจ้าสีวิราชต้องเหลือบแลดูนาง บัดดลนั้นเอง
พระเจ้าสีวิราชถึงกับเผลอใจขาดสติ เกิดจิตปฏิพัทธ์ขึ้น หลุดปากตรัสถามกับนายสารถีว่า
"ดูก่อนสุนันทสารถี นี่เรือนของใครหนอ ล้อมรอบด้วยกำแพงสีเหลือง
หญิงคนนี้เป็นธิดาของใครกัน เป็นลูกสะใภ้หรือเป็นภรรยาใคร หรือไม่มีผู้หวงแหน หรือสามีของนางยังไม่มี
นี่เจ้าจงรีบบอกแก่เราโดยเร็ว" สารถีจึงกราบทูลแก่พระราชาว่า "ข้าแต่พระองค์
ข้าพระองค์ย่อมรู้จักหญิงนั้น พร้อมทั้งบิดามารดาและสามีของนาง เพราะสามีของนางเป็นอำมาตย์คนหนึ่งของพระองค์
ซึ่งมีอำนาจกว้างขวางและมั่นคง ทั้งเป็นผู้ไม่ประมาทในประโยชน์ต่อพระองค์ตลอดกลางวันกลางคืน
นางเป็นภรรยาของอภิปารกเสนาบดี ชื่อว่าอุมมาทันตี พระเจ้าข้า" ฝ่ายนางอุมมาทันตีนั้น
เมื่อรู้ว่าพระเจ้าสีวิราชทรงหวั่นไหวพระทัยแล้ว จึงปิดหน้าต่างแล้วเข้าไปสู่ห้องด้านใน พระราชาไม่ได้เห็นนางแล้ว
ก็ทรงเศร้าพระทัย ไม่มีกะจิตกะใจจะกระทำประทักษิณพระนครต่อไป ทรงตรัสกับสารถีว่า "สุนันทะเจ้าจงกลับรถเถิด
งานมหรสพนี้ไม่สมควรแก่เราเลย แต่น่าจะเหมาะสมแก่อภิปารกเสนาบดีมากกว่า แม้แต่พระราชสมบัติก็เหมาะสมแก่อภิปารกเสนาบดีเช่นกัน" พอถึงพระราชวัง
ก็ทรงเสด็จขึ้นปราสาททันที ทรงบรรทมพร่ำเพ้อละเมอว่า "เราได้เห็นนาง
ผู้มีนัยน์ตาชม้ายคล้ายเนื้อทราย ยามชม้อยชำเลืองดูเรา ดังปล้นเอาดวงใจของเราไปเสีย
ใบหน้านางเกลี้ยงเกลาขาวสะอาด นิ้วกลมกลึง แขนนุ่มนิ่ม ลีลาชดช้อยงามยั่วยวนใจ หากท้าวสักกะจอมเทพประทานพรให้แก่เรา
เราจะขอได้พบเห็น ได้ใกล้ชิดกับนางบ้าง" พระเจ้าสีวิราชนอนไม่หลับทั้งคืน
เสมือนพ่ายแพ้ข้าศึกมาตั้งพันครั้ง เหล่าราชบุรุษจึงพากันไปแจ้งเรื่องราวทั้งหมดนี้
ให้แก่อภิปารกเสนาบดีทราบ อภิปารกจึงเรียกนางอุมมาทันตีมาถามว่า "น้องรักของพี่
เธอไปปรากฏตัวให้พระราชาได้พบเห็นหรือ?" นางอุมมาทันตีแสร้งตอบว่า "มีชายคนหนึ่งท้องใหญ่
เขี้ยวโต ยืนมาบนรถม้า ดิฉันไม่รู้จักชายคนนั้นว่า เป็นพระราชาหรือไม่ ดิฉันยืนอยู่ริมหน้าต่าง
จึงได้โปรยดอกไม้ลงไป แล้วชายคนนั้นยืนอยู่สักครู่ก็จากไป" เสนาบดีได้ฟังดังนั้น
ก็เกิดความกังวลใจขึ้น ต้องรีบไปยังพระราชนิเวศน์แต่เช้าตรู่ ขณะถึงหน้าห้องบรรทมนั้นเอง
ก็ได้ยินเสียงพระราชาบ่นเพ้อถึงนางอุมมาทันตีอยู่ จึงคิดในใจว่า "พระราชาอันเป็นสหายรักของเรานี้
เกิดจิตผูกพันรักใคร่น้องอุมมาทันตีซะแล้ว ถ้าไม่ได้พบกัน คงจะประชวรหนักเป็นแน่แท้
เราควรตัดใจ ยอมปลดเปลื้องทุกข์ให้แก่พระราชาของเรา เพราะแม้แต่ชีวิตเราเอง ก็ยังยอมถวายแด่พระราชาได้" อภิปารกะจึงกลับไปยังเรือนของตน
แล้วคิดกุศโลบายขึ้น บอกให้คนรับใช้คนสนิทมา แล้วสั่งอุบายเอาไว้ อภิปารกะจึงกลับไปยังเรือนของตน
แล้วคิดกุศโลบายขึ้น บอกให้คนรับใช้คนสนิทมา แล้วสั่งอุบายเอาไว้ ครั้นวันรุ่งขึ้น
เสนาบดีได้ไปที่ต้นไม้ใหญ่แห่งหนึ่ง กระทำพลีกรรมที่ต้นไม้นั้น นมัสการเทวดาแล้ววิงวอนว่า "ข้าแต่เทวาผู้ยิ่งใหญ่
พระราชาประชวรหนัก ทรงบรรทมบ่นเพ้อไม่ทราบสาเหตุอันใด ทั้งที่พระราชาทรงมีอุปการะมากมายแก่เทวดาฟ้าดิน
ทรงสละทรัพย์ ๑ พัน (๔,๐๐๐บาท) ทำพลีกรรมทุกปี ขอให้เทวดาทั้งหลายโปรดบอกวิธีรักษาอาการพระประชวรนี้ด้วยเถิด" คนรับใช้ที่แอบอยู่ในโพรงต้นไม้ใหญ่นั้น
จึงทำการดัดเสียงพูดออกมาว่า "ดูก่อนเสนาบดี ขึ้นชื่อว่าความเจ็บไข้ มิได้มีแก่พระราชาของพวกท่านเลย
แต่พระองค์มีจิตผู้พันรักใคร่ ในนางอุมมาทันตีภรรยาของท่าน หากพระองค์ได้อยู่ใกล้ชิดกับนาง
ก็จะหายจากอาการนี้ แต่ถ้าไม่ได้อย่างนั้น ก็อาจประชวรหนักจนถึงสวรรคตได้ หากเจ้าปรารถนาจะช่วยให้พระองค์ดำรงพระชนม์ชีพอยู่ต่อไป
จงถวายนางอุมมาทันตีแด่พระองค์เถิด" เสนาบดีก็รับคำกับเทวดานั้น แล้วก็ไปเข้าเฝ้าพระเจ้าสีวิราชยังห้องบรรทม
เพื่อเล่าเรื่องนี้ทั้งหมดให้ทรงทราบ "ข้าแต่พระราชา เมื่อข้าพระองค์นมัสการเทวดาทั้งหลายอยู่นั้น
เทวดาได้บอกเนื้อความนี้แก่ข้าพระองค์ว่า พระทัยของพระราชาคลุ้มคลั่งในนางอุมมาทันตี
ข้าพระองค์จึงขอถวายนางแด่พระองค์ ขอให้พระองค์ทรงรับนางไว้ด้วยเถิด" พระราชาทรงตกพระทัย
รีบตรัสถามเสนาบดีว่า "อภิปารกะสหายรัก แม้เทวดาก็รู้เรื่องของเรา ที่เกิดจิตผูกพันรักใคร่นางอุมมาทันตีด้วยหรือ" เสนาบดีทูลตอบว่า "เป็นอย่างนั้น
พระเจ้าข้า" พระราชาทรงละอายแก่ใจว่า "ข่าวความชั่วลามกในใจของเรา
ชาวโลกรู้กันหมดแล้วหนอ ช่างน่าละอายต่อบาปนี้ยิ่งนัก" จึงทรงตรัสกับเสนาบดีว่า "เพื่อนเอ๋ย
หากเรายอมรับเอานางอุมมาทันตีไว้
ด้วยอำนาจกิเลสกามราคะแล้ว เราก็ต้องเสื่อมจากบุญ(เครื่องชำระกิเลส) และไม่สมควรเป็นธรรมราชาเลย
แม้มหาชนเมื่อทราบความชั่วช้าลามกนี้ ก็จะพากันติเตียนเราว่า พระราชาพระองค์นี้กระทำสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง" อภิปารกะตอบว่า
"ข้าแต่พระองค์ประชาชนทั้งหมดนั้น นอกจากข้าพระบาทและพระองค์เท่านั้น
ที่พึงรู้การกระทำนี้ นอกนั้นไม่มีใครพึงรู้ได้ว่า ข้าพระบาทยอมถวายอุมมาทันตีแด่พระองค์
พระองค์ทรงอภิรมย์อยู่กับนางตามปรารถนาเถิด แล้วจะทรงสลัดนางคืนเมื่อใดก็ได้" พระเจ้าสีวิราชได้ยินดังนั้น
จึงกล่าวว่า "มนุษย์ใดกระทำกรรมอันลามก มนุษย์นั้นย่อมสำคัญว่าคนอื่นไม่รู้การกระทำนี้
แต่เหล่าเทวดาทั้งปวง ย่อมรู้เห็นการกระทำนี้ ฉะนั้นนักปราชญ์ทั้งหลาย แม้ถูกความทุกข์ของตนบีบคั้นอยู่
ถึงจะยังมัวเมาในความสุข แต่ก็จะไม่ยอมประพฤติบาปกรรมนั้นเลย อีกอย่างท่านเชื่อหรือว่า
นางอุมมาทันตีนั้น จะไม่เป็นที่รักของเราตลอดไป" เสนาบดีทูลตอบไปบ้างว่า "ก็พระองค์นั้นเป็นทั้งพระมารดาพระบิดา
เป็นผู้เลี้ยงดูแลเป็นเจ้านาย และเป็นเทวดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์พร้อมด้วยบุตรและภรรยาเป็นทาสของพระองค์
ขอพระองค์ทรงแสวงหาความสุขใจ เสด็จไปหานางอุมมาทันตีเถิด" พระเจ้าสีวิราช ตรัสว่า "ดูก่อนสหายรัก
ผู้ใดทำบาปกรรมด้วยสำคัญว่า ตนเองเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ครั้นกระทำแล้วก็ไม่สะดุ้งกลัวบาปต่อชนเหล่าอื่น
ผู้นั้นย่อมมีอายุสั้นเพราะกรรมนั้น แม้เทวดาทั้งหลายก็มองดูผู้นั้น ด้วยดวงตาอันเหยียดหยาม
และเมื่อท่านให้ภรรยาสุดที่รักแก่เราแล้ว ภายหลังเมื่อท่านไม่ได้พบนาง ความคับแค้นใจอย่างรุนแรง
ก็จะก่อทุกข์เกิดแก่ท่านอย่างแน่นอน" อภิปารกะรับคำว่า "ผู้ใดก่อทุกข์ให้แก่ผู้อื่น
เสมอด้วยทุกข์ของตน หรือก่อสุขของตน เสมอด้วยสุขของผู้อื่น ผู้รู้อย่างนี้ว่า ทุกข์และสุขของเรานี้ก็เหมือนของผู้อื่น
ผู้นั้นชื่อว่า "รู้ธรรม" ฉะนั้นข้าพระบาทขอถวายสิ่งอันเป็นที่รักแก่พระองค์ ด้วยสิ่งอันเป็นที่รักของข้าพระบาท
ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ผู้ให้สิ่งอันเป็นที่รัก ย่อมได้สิ่งอันเป็นที่รักพระเจ้าข้า" พระราชาทรงถอนพระทัย
แล้วตรัสว่า "หากเพราะกามเป็นเหตุโดยแท้ เราจะฆ่าตนเองก็ได้
แต่
เราไม่อาจจะฆ่าธรรมะด้วยอธรรมได้เลย" อภิปารกเสนาบดีรีบทูลว่า "ถ้าพระองค์ไม่ต้องพระประสงค์นางอุมมาทันตี
เนื่องเพราะนางเป็นของข้าพระบาทแล้วไซร้ ข้าพระบาทก็จะสละนางออกไป ในท่ามกลางหมู่ชนทั้งหลาย
เพื่อพระองค์จะได้นำนางผู้พ้นจากข้าพระบาทแล้ว มาจากที่นั้น พระเจ้าข้า" พระเจ้าสีวิราช
ตรัสว่า "ถ้าท่านสละนางอุมมาทันตี เพื่อสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์แก่ท่าน ความค่อนว่าใหญ่หลวงจะพึงมีแก่ท่าน
แม้การใส่ร้ายในพระนครก็จะพึงมีแก่ท่าน" อภิปารกะกราบทูลด้วยเสียงหนักแน่นว่า "ข้าพระบาทจะอดกลั้นต่อคำนินทา
และคำติเตียนทั้งหมด ข้าพระบาทจะยอมรับทุกข์และความคับแค้นใจทั้งปวง เพราะเหตุแห่งการสละนางอุมมาทันตีนี้
ด้วยอกของตน เสมือนดังแผ่นดินรองรับทุกสิ่งของคนทั้งผอง ฉะนั้น" พระเจ้าสีวิราช
ก็ทรงกล่าวอย่างหนักแน่นเช่นกันว่า "เราไม่ต้องการให้ผู้อื่นต้องทุกข์และคับแค้นใจ
เรานี่แหละผู้เดียว จะเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม จะไม่ทำประโยชน์แม้หน่อยหนึ่งให้เสื่อมสูญ
เราจะก้าวข้ามภาระนี้ไปให้ได้" เสนาบดียังคงทูลคะยั้นคะยออีกว่า "ข้าแต่พระองค์
บุญย่อมพาให้เข้าถึงสวรรค์ พระองค์อย่าได้ทรงทำอันตรายแก้ข้าพระบาทเสียเลย ข้าพระบาทมีใจเลื่อมใส
ที่จะถวายนางอุมมาทันตีแด่พระองค์ ดุจดังพระราชาทรงประทานทรัพย์ สำหรับบูชาแก่พราหมณ์ทั้งหลาย
ฉะนั้น" พระราชาก็ทรงปฏิเสธอีกว่า "ท่านเป็นผู้เกื้อกูลแก่เรา ในการทำประโยชน์แน่แท้
นางอุมมาทันตีและท่านล้วนเป็นสหายของเรา หากเทวดาและพรหมทั้งหมด
เห็นความชั่วนี้ของเราทำไปแล้ว ในภายหน้าย่อมติเตียนได้ เพราะธรรมะของสัตบุรุษที่ประกาศดีแล้ว
ยากนักที่จะเพิกเฉยเสีย ฉะนั้นแม้เราก็จะไม่ก้าวล่วงขอบเขตของศีล เสมือนมหาสมุทรไม่ล่วงพ้นขอบเขตของฝั่ง
ฉะนั้น" อภิปารกะยังคงพยายามกล่าวอีกว่า "ข้าแต่พระองค์ ชาวนิคมและชาวชนบททั้งหลาย
จะไม่คัดค้านการกระทำอันเป็นธรรมนั้นเลย เพราะพระองค์เป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้หวังประโยชน์เกื้อกูลให้ทรงไว้
เป็นผู้ประทานความสุข ฉะนั้นการนำอุมมาทันตีบูชาต่อพระองค์ จึงย่อมมีผลมาก ขอพระองค์ทรงรับนางไว้
ตามความปรารถนาของข้าพระบาทเถิด" พระราชาตรัสว่า "สหายรัก ท่านได้ประพฤติแล้ว
ซึ่งธรรมทั้งปวงแก่เราโดยแท้ นอกจากท่านไม่มีใครอีกแล้วหนอ จะเป็นผู้ทำความสวัสดีในเวลาเช้านี้
ให้แก่ชีวิตของเรา แต่จิตของเราตอนนี้ ไม่ได้ต้องการนางอุมมาทันตีนั้นเลย" ในที่สุด
อภิปารกะก็ต้องเสียงอ่อนลงพูดว่า "พระองค์เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้เยี่ยม พระองค์ทรงดำเนินโดยธรรม
ทรงรู้แจ้งธรรม มีพระปัญญาเลิศ ขอพระองค์ผู้อันธรรมะคุ้มครองแล้ว จงทรงพระชนม์ยั่งยืนนาน
ข้าแต่พระองค์ผู้รักษาธรรม ขอพระองค์โปรดทรงแสดงธรรม ให้แก่ข้าพระองค์รับฟังด้วยเถิดพระเจ้าข้า" พระเจ้าสีวิราชจึงทรงแสดงธรรมต่ออีกว่า "ดูก่อนอภิปารกเสนาบดี
เชิญท่านฟังคำของเราเถิด เราแสดงธรรมที่สัตบุรุษส้องเสพแก่ท่าน
คือ
- พระราชาชอบใจในธรรม จึงจะดีงาม
- ผู้มีความรู้รอบ จึงจะดีงาม
- ความไม่ประทุษร้ายต่อมิตร เป็นความดี
- การไม่กระทำบาป
เป็นสุขอย่างยิ่ง
- มนุษย์ทั้งหลายพึงอยู่เป็นสุข ในแว่นแคว้นของพระราชาผู้ไม่ทรงกริ้วโกรธ
ทรงตั้งอยู่ในธรรม เสมือนเรือนอันมีร่มเงาให้ความเย็น ฉะนั้น
- เราย่อมไม่ชอบใจกรรม
ที่ทำด้วยความไม่พิจารณา อันเป็นกรรมไม่ดีนั้นเลยพระราชาเหล่าใดทรงทราบแล้วไม่ทรงทำ
เราชอบใจกรรมของพระราชาเหล่านั้น
ท่านจงฟังอุปมาของเราดังต่อไปนี้อีกว่า
เมื่อฝูงโคว่ายข้ามฟากไปอยู่ โคผู้นำฝูงว่ายไปคด โคทั้งหมดนั้นก็ว่ายไปคด
ฉันใด ในหมู่มนุษย์ก็ฉันนั้น ผู้ใดได้รับยกย่องว่าเป็นผู้ประเสริฐ
แต่ผู้นั้นก็ประพฤติอธรรม จะกล่าวไปไยถึงประชาชนพลเมือง แม้รัฐทั้งหมดก็ย่อมอยู่เป็นทุกข์
หากพระราชาไม่ทรงตั้งอยู่ในธรรม แต่ถ้าฝูงโคว่ายข้ามฟากไปอยู่
โคนำฝูงว่ายไปตรง โคทั้งหมดนั้นก็ว่ายไปตรง ฉันใด ในหมู่มนุษย์ก็ฉันนั้น ผู้ใดได้รับยกย่องว่าเป็นผู้ประเสริฐ
และผู้นั้นก็ประพฤติธรรม จะกล่าวไปไยถึงประชาชนพลเมือง แม้รัฐทั้งหมดก็ย่อมอยู่เป็นสุข
หากพระราชาทรงตั้งอยู่ในธรรม ดังอุปมานี้ แม้ตัวเราก็ไม่พึงปรารถนาความเป็นพระราชา
เพื่อครอบครองแผ่นดินทั้งหมดนี้โดยอธรรมเลย ฉะนั้นบุคคลไม่พึงประพฤติผิดธรรม
เพราะเหตุแห่งสมบัติ เป็นต้นว่า เงินทอง แก้วมณี สตรี ผ้าผ่อน ข้าทาส โค ม้า ฯลฯ
เราจะเป็นผู้นำ จะเป็นผู้เกื้อกูล จะเป็นผู้เฟื่องฟูปกครองแว่นแคว้น จะเป็นผู้องอาจอยู่ในท่ามกลางชาวสีพี
จะเป็นผู้เคารพธรรมของชาวสีพี จะเป็นผู้คิดค้นซึ่งธรรม เพราะฉะนั้น
เราจะไม่เป็นไปตามอำนาจเลวแห่งจิตของตน" อภิปารกะเสนาบดี
ได้ฟังธรรมแล้ว ก็ชื่นชมยิ่งนัก กล่าวว่า "ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระองค์ทรงประพฤติธรรมอันไม่มีความฉิบหาย
เป็นแดนเกษมอยู่เป็นนิจแน่แท้ พระองค์จะทรงดำรงราชสมบัติอยู่ยั่งยืนนาน เพราะพระปัญญาของพระองค์ไม่ทรงประมาทธรรมใดๆ
ข้าพระองค์ขออนุโมทนาธรรมนั้นของพระองค์ เพราะกษัตริย์ผู้เป็นอิสระ หากทรงประมาทธรรมแล้ว
ย่อมจะสูญเสียรัฐของตน ข้าแต่พระมหากษัตริย์ ขอพระองค์ทรงประพฤติธรรมในพระชนนี-พระชนก
ในพระราชบุตร-พระมเหสี ในมิตร-อำมาตย์ ในราชพาหนะ-ทแกล้วทหาร ในบ้าน-นิคม ในแว่นแคว้น-ชนบท
ในสมณะ-พราหมณ์ ทั้งในเนื้อและนกทั้งหลาย ครั้นพระองค์ทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว
จะได้เสด็จสู่สวรรค์ ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ขอพระองค์ประพฤติธรรมเถิด เพราะว่าธรรมะที่ประพฤติดีแล้ว
ย่อมนำสุขมาให้ แม้แต่เทวดาและพรหมเป็นผู้ถึงทิพยสถาน ก็ด้วยธรรมะที่ประพฤติดีแล้ว
ข้าแต่พระราชา ขอพระองค์อย่าทรงประมาทในธรรมเลย" จากนั้นเสนาบดีก็ถวายบังคมลากลับไป พระผู้มีพระภาคแสดงชาดกนี้จบแล้ว ทรงกล่าวเฉลยว่า "ในครั้งนั้น
นางอุมมาทันตี ก็คือนางอุบลวรรณาในบัดนี้ อภิปารกเสนาบดี ก็คือ พระสารีบุตรในบัดนี้
ส่วนพระเจ้าสีวิราช ก็คือ เราตถาคตนั่นเอง" ณวมพุทธ (พระไตรปิฎกเล่ม
๒๘ ข้อ ๒๐, อรรถกถาแปลเล่ม ๖๒ หน้า ๓๕) มติที่1
| มติที่2 | มติที่3 | มติที่4
| มติที่5 | มติที่6 | มติที่7
| มติที่8 | มติที่9
| มติที่10 |