ความรัก มิติที่: 1กามนิยม  2พันธุนิยม  3ญาตินิยม  4ชุมชนนิยม  5ชาตินิยม  6สากลนิยม  7เทวนิยม  8อเทวนิยม  9นิพพานนิยม  10พุทธภูมินิยม
 
page: 1/20
มิติที่ 1 กามนิยม

สารบัญ


ความรัก
๑๐ มิติ 

 

มิติที่ ๑ กามนิยม

 

มิติที่ ๒ พันธุนิยม

 

มิติที่ ๓
ญาตินิยม

 

  ความรัก ๑๐ มิติ  

ความรัก คือ อาการทางจิตชนิดหนึ่ง อาการนั้นได้แก่ "อาการชอบใจผสมความยินดี" ถ้าหากชอบ ถึงขั้นผูกพัน ก็เป็นความติดยึด นั่นคือ เริ่มเห็นแก่ตัว และถ้าหากติดยึด ถึงขั้นดูดดึงเข้ามา เป็นของตัว ของตน เท่าใดๆ ก็เป็นความเห็น แก่ตัวมากขึ้นเท่านั้นๆ ที่สุดหากถึงขนาด ดึงดูดมาเพื่อตัวเอง แต่ผู้เดียว และหวงแหน ไม่เผื่อแผ่ให้ใคร ความรักที่มีลักษณะ ปานฉะนี้ ก็คือ "ความเห็นแก่ตัว" สุดๆเต็มๆ แล้วนั่นเอง

แต่ถ้าหาก "อาการชอบใจผสมความยินดี" นั้น ลดความเห็นแก่ตัว ลดความหลงใหลคลั่งไคล้ ลดความหวงแหน ลดความดูดดึง ความติดยึด ความผูกพันลงไปๆ ตามลำดับ คุณค่าของความรัก ก็จะสูงขึ้นๆๆ และถ้าหากผู้ใด สามารถลดอาการ ดังกล่าวนี้ด้วย และทั้งตน ก็สามารถเสริมสร้าง ความเสียสละ เกื้อกูลช่วยเหลือ เผื่อแผ่ออกไป แก่ผู้อื่นให้พ้นทุกข์ ได้กว้าง ได้ลึกซึ้ง สูงส่ง ครบคุณภาพ และปริมาณ มากขึ้นๆ อีกด้วย ก็ยิ่งเป็นความรัก ที่ประเสริฐ มีคุณค่าสูง มีประโยชน์มากยิ่งๆขึ้น

คนที่มีอาการชอบใจผสมความยินดี แต่เฉพาะตัวเอง มีแต่ความปรารถนา มาให้แก่ตน ไม่มีแก่คนอื่นเลย คนชนิดนี้คือ คนผู้มีแต่ "ความเห็นแก่ตัว" ถ่ายเดียว จึงเท่ากับ คนที่ไม่มี "ความรัก" เลย เพราะ "เห็นแต่แก่ตัวเอง" เป็นคนที่มีแต่ "ตัวเอง" หรือมีแต่ "อัตตา" แท้ๆ เท่านั้น เต็มๆ โดดๆ เดี่ยวๆ หนึ่งเดียว ไม่มีอื่นเลย จึงไม่ใช่ "ความรัก"

หนึ่งเดียวเป็น "ความรัก" ไม่ได้ "ความรัก" ต้องมีสองขึ้นไป ยิ่งเผื่อแผ่กว้าง มากกว่าสอง ทวีมากขึ้นเท่าใดๆ ก็ยิ่งเป็น "ความรัก" ที่ประเสริฐยิ่งๆขึ้น เท่านั้นๆ

"อวิชชา" หรือ "กิเลส" มักจะทำให้คน "เห็นผิด" ไปว่า ความรัก คือ ความผูกพัน ไม่ห่างเหิน ความหวงแหน เพื่อตัว เพื่อตน ความติดยึด ไม่ปล่อยไม่วาง ความดูดดึง ให้เหนียวให้แน่น ความเห็นแก่ตัว ให้แคบ ให้จัดจ้าน ความหลงใหล คลั่งไคล้ ปรารถนาเป็นของตัวของตน หากใครมีอาการผูกพัน .. หวงแหน ..ติดยึด .. ดูดดึง .. เห็นแก่ตัว และหลงใหล คลั่งไคล้ ปรารถนา เป็นของตัวของตน ได้มาก ได้หนัก ได้แน่น ได้แรง ยิ่งๆเพียงใดๆ ก็คือผู้ "มากไปด้วยความรัก" หรือผู้มี "ความรัก" ที่น่าเชิดชูยกย่อง เลิศลอยเพียงนั้นๆ

แท้จริงแล้ว อาการดังกล่าวนั้น มิใช่ "ความรัก" เลย "เห็นผิด" (มิจฉาทิฏฐิ) กันไป ชนิดตรงกันข้าม ทีเดียว มันเป็น "ความโลภ" ต่างหาก ซึ่งโลภจัดชัดแจ้ง ยิ่งแรงยิ่งเป็น "ตัวกูของกู" (อัตตา, อัตตนียา)

ตามสารสัจจะที่ถูกต้องนั้น ความรักไม่ใช่ความชั่ว ที่มีลักษณะ "เห็นแก่ตัว" ความรักเป็นความดี ที่มีลักษณะ "เมตตา หรือ ปรารถนาให้ผู้อื่นได้สุข" ความรักมิใช่ลักษณะของ "ความเป็นอัตตา หรือ อัตตนียา" ที่มีลักษณะแคบ เพื่อตัวกูของกู โดยเนื้อแท้แก่นจริงแล้ว "ความรัก" มีลักษณะ ตรงกันข้ามกับ "อัตตา หรือ อัตตนียา" ด้วยซ้ำ ความรักที่สูงส่ง ที่ประเสริฐยิ่ง มีคุณลักษณะ ถอดตัวถอดตน สู่ "ความเป็นอนัตตา" ยิ่งมีอาการ เอื้อมเอื้อ เผื่อแผ่ออกไป จากตัวจากตน จนหมดตัว หมดตน นั่นแหละ จึงจะเป็นความรัก ที่วิเศษสุด ความรักตามสัจจะนั้น ทวนกระแสกับอัตตา ความรักไม่ใช่ลักษณะ "เอกพจน์ หรือ เอกเทศ" แต่มีลักษณะ "พหุพจน์ หรือ พหุภาค" "ความรัก" ไม่ใช่ "ความโลภ" ที่จะกอบโกย เข้ามาหาตน เข้ามาบำเรอตน หรือ มีแต่แคบเข้ามา เป็นตน เป็นตัวเอง แต่เป็น "ความเผื่อแผ่ เอื้อเฟื้อ เกื้อกูล" ออกไปหาผู้อื่นมากขึ้น ยิ่งขยายกว้างขึ้นๆ ก็ยิ่งเป็นความรัก ที่ประเสริฐ สูงส่งยิ่งๆขึ้น

ขอยืนยันว่า โดยสัจจะนั้น "ความรัก" ไม่ใช่ "ความเห็นแก่ตัว" "ความเห็นแก่ตัว" จึงไม่ใช่ "ความรัก"

เพราะ "ความเห็นแก่ตัว" ก็ประกาศลักษณะ ของมันเอง อยู่ชัดๆโต้งๆ ว่า เป็น "กิเลสโลภมาให้แก่ตน"

คนที่กล่าวว่า "ความรักคือความเห็นแก่ตัว" นั้น กล่าวผิด อวิชชา หรือกิเลสต่างหาก พาให้เขา กล่าวเช่นนั้น "ความรัก" ที่แท้ ที่บริสุทธิ์จริง ไม่ใช่ "ความเห็นแก่ตัว" เลย ทว่าเป็น "ความเมตตา หรือปรารถนา ให้ผู้อื่นได้สุข" เป็น "ความภาคภูมิ ที่พากเพียร ขยันเอื้อเฟื้อเกื้อกูล เสียสละต่อผู้อื่น" เป็น "อาการเอื้อมเอื้อ เผื่อแผ่ออกไป จากตัว จากตน" จนกระทั่ง "หมดตัว หมดตน" นั่นต่างหาก จึงจะเป็นความรัก ที่วิเศษสูงสุด

สรุป ความรัก คือ อาการชอบใจ ผสมความยินดี ที่พร้อมกับ มีความปรารถนาดี อย่างสัมมาทิฏฐิ หากใคร ปฏิบัติพัฒนา "อาการชอบใจ ผสมความยินดี ที่ไม่เห็นแก่ตัวเลย มีแต่เต็มไปด้วย ความเมตตา หรือ ปรารถนา ให้ผู้อื่นได้สุข" หรือ "มีแต่ความเผื่อแผ่ของตน เสียสละแก่ผู้อื่น" ให้เจริญสูงสุด จนเกิดจริง เป็นจริง ได้เท่าใดๆ ผู้นั้นก็คือ ผู้ได้สร้าง "ความรัก" ที่ใหญ่ยิ่ง ประเสริฐสุดๆ เท่านั้นๆ

คนผู้มี "ความรัก" ประเสริฐที่สุด สูงที่สุด จึงได้แก่ ผู้ที่หมดตัวตน ชนิดไม่มีกิเลสถึงขั้น สิ้นอาสวะ เห็นแก่ผู้อื่น ด้วยความบริสุทธิ์ใจ เสียสละเกื้อกูล ช่วยเหลือเผื่อแผ่ ออกไปให้ผู้อื่น อยู่อย่างภูมิใจ สุขใจ และยืนยาว หาประมาณมิได้ และเต็มไปด้วย ความปรารถนาดี ที่ตัวเรา จะได้เป็นประโยชน์ แก่ผู้อื่น ให้มากๆให้ยิ่งๆ ให้กว้างที่สุด เท่าที่จะให้ได้

ดังนั้น คำว่า "ความรัก" มิติที่ ๑ นี้ หากจะหมายเอาว่า เป็น "ความเห็นแก่ตัว" ก็ใกล้เคียงความจริงที่สุด แต่ถ้าหาก จะหมายเอาว่า เป็น "ความเผื่อแผ่ - เสียสละ" ก็แคบและเล็กสุดๆ

"ความรัก" ยังมีอีกหลายมิติ ซึ่งจะได้อธิบายต่อไป ถึง ๑๐ มิติ ดังนี้


 
page: 1/20
มิติที่ 1 กามนิยม
   Asoke Network Thailand
อ่านต่อ ๒. มิติที่ ๑ กามนิยม