OFNT Home Page 1/2 Page 2/2 Close

หน้าแรก >[04] กสิกรรม > คกร. > หลักสูตรสัจธรรมชีวิต

สารบัญ | โครงการ | ระเบียบการ | อุดมการณ์-ปรัชญา | หลักสูตร | เนื้อหา-กิจกรรม | ดำเนินการอบรม | ประเมินผล | กฎระเบียบพื้นฐาน | สื่อ วัสดุ อุปกรณ์ | แผน-คู่มือฝึกอบรม

สื่อ วัสดุ อุปกรณ์ รายการที่ 1 -19

1. อาคาร สถานที่ ที่ใช้สำหรับฝึกอบรม (ประเภทสิ่งปลูกสร้าง)
2. อุปกรณ์โสตทัศนูปกรณ์ที่จำเป็น (เครื่องมือโสตทัศนูปกรณ์)

3. อุปกรณ์โสตทัศนูปกรณ์เสริม (เครื่องมือโสตทัศนูปกรณ์)

4. อุปกรณ์สำหรับเจ้าหน้าที่ศูนย์ฝึกอบรม (วัสดุอุปกรณ์ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์)
5. อุปกรณ์ประจำบ้านพัก อำนวยความสะดวกในการพักอาศัย (วัสดุอุปกรณ์สำหรับที่พักอาศัย)

6. อุปกรณ์สำหรับเจ้าหน้าที่บริการ 5 ส. ประจำศูนย์ฝึกอบรม (วัสดุอุปกรณ์ช่วยเหลืองานทั่วไป)

7. อุปกรณ์สำนักงานสำหรับเจ้าหน้าที่ธุรการ (วัสดุอุปกรณ์งานพิมพ์และสำเนาเอกสาร)

8. อุปกรณ์ประจำตัวผู้เข้ารับการอบรม (วัสดุอุปกรณ์เฉพาะตัว)

9. คู่มือการฝึกอบรมหลักสูตรสัจธรรมชีวิต สำหรับผู้เข้ารับการอบรม (เอกสารคู่มือ)
10. โปรแกรมแนะนำศูนย์ฝึกอบรม หลักสูตรสัจธรรมชีวิต (อุปกรณ์โสตทัศนูปกรณ์)

11. คำปฏิญาณตน รักษาศีล 5
12. บทสวดมนต์แปล
13. บทพิจารณาอาหาร
14. แผนภูมิระบบนิเวศ
15. การทำน้ำหวานหมักจากพืชสีเขียว – น้ำพ่อ
16. การทำน้ำหวานหมักจากผลไม้ – น้ำแม่
17. การทำหัวเชื้อดินหมักจุลินทรีย์
18. การทำน้ำหมักจุลินทรีย์
19. ความรู้พื้นฐาน เรื่องจุลินทรีย์


1. อาคาร สถานที่ ที่ใช้สำหรับฝึกอบรม (ประเภทสิ่งปลูกสร้าง)

(1) แปลงเพาะพันธุ์พืช แปลงปลูกพืชไร้สารพิษ แปลงพืชสมุนไพร สวนธรรมชาติ นาธรรมชาติ
(2) สระน้ำ น้ำตก เวทีธรรมชาติ
(3) โรงฝึกงาน โรงช่าง โรงสีข้าว โรงเห็ด โรงอบสมุนไพร โรงแชมพู โรงแปรรูปสมุนไพร
(4) ศาลาฟังธรรม โบสถ์ กุฏิสมณะ ศาลาสุขภาพ
(5) ร้านค้าบุญนิยม หมู่บ้าน
(6) บ้านพักชาย (หอพักชาย) บ้านพักหญิง (หอพักหญิง) เรือนรับรอง
(7) ห้องน้ำห้องส้วม
(8) โรงครัว
(9) โรงเรียน ห้องสมุด ห้องคอมพิวเตอร์ ห้องเรียน

2. อุปกรณ์โสตทัศนูปกรณ์ที่จำเป็น (เครื่องมือโสตทัศนูปกรณ์)

(1) เครื่องขยายเสียง ลำโพง ไมโครโฟน
(2) เครื่องรับสัญญาณ พร้อมไมโครโฟนไร้สาย (Receiver & Wireless Microphone)
(3) เครื่องเล่นเทปเสียง (Tap Player) เครื่องเล่นวิดีโอ (Video Player)
(4) เครื่องฉายภาพโปร่งแสง (Overhead Projector) ฉากรับภาพ
(5) ไฟส่องเวที
(6) กล้องถ่ายภาพนิ่ง (Camera)

3. อุปกรณ์โสตทัศนูปกรณ์เสริม (เครื่องมือโสตทัศนูปกรณ์)

(1) เครื่องเล่นแผ่นบันทึกวิดีโอ (VCD&DVD Player)
(2) เครื่องคอมพิวเตอร์มัลติมีเดีย
(3) เครื่องฉายภาพวิดีโอ (Video Projector) เครื่องฉายภาพทึบแสง
(4) กล้องถ่ายภาพวิดีโอ
(5) กล้องถ่ายภาพดิจิตอล (Digital Camera)
(6) วิทยุสื่อสาร

4. อุปกรณ์สำหรับเจ้าหน้าที่ศูนย์ฝึกอบรม (วัสดุอุปกรณ์ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์)

(1) เครื่องชาร์จไฟฟ้า พร้อมแบตเตอรี ขนาดต่างๆ (สำหรับวิทยุสื่อสาร กล้องถ่ายภาพ)
(2) ฟิล์มถ่ายภาพนิ่ง
(3) ตลับเทปบันทึกเสียง
(4) ตลับเทปบันทึกภาพวิดีโอ
(5) แผ่นดิสก์ (Floppy Disk ความจุ 1.44 MB)
(6) แผ่นบันทึกซีดีรอม (CD-ROM Disk)
(7) แผงหน่วยความจำสำหรับกล้องถ่ายภาพดิจิตอล (Memory Chip)

5. อุปกรณ์ประจำบ้านพัก อำนวยความสะดวกในการพักอาศัย (วัสดุอุปกรณ์สำหรับที่พักอาศัย)

(1) มุ้ง เตียง หรือ เสื่อปูนอน ผ้าห่ม หมอน ปลอกหมอน
(2) ไม้กวาด ที่ตักผงขยะ ถังเก็บขยะแห้ง ไม้ถูพื้น ผ้าถูพื้น ผ้าเช็ดเท้า ไม้ขนไก่ ผ้าเช็ดกระจก
(3) ที่วางรองเท้า ราวตากผ้า ไม้แขวนผ้า
(4) ถังพลาสติก ขัน ผงซักล้าง แปลงขัดพื้น แปลงขัดโถส้วม
(5) แทงค์ใส่น้ำดื่ม แก้วน้ำ
(6) นาฬิกา หรือนาฬิกาปลุก
(7) ปฏิทิน แผนที่ประเทศไทย ตารางการเดินรถ แผนที่ชุมชนศาลีอโศก
(8) กระดานสำหรับบันทึก (white board) และปากกา
(9) ตู้เก็บสัมภาระส่วนตัว พร้อมลูกกุญแจ (Locker)

6. อุปกรณ์สำหรับเจ้าหน้าที่บริการ 5 ส. ประจำศูนย์ฝึกอบรม (วัสดุอุปกรณ์ช่วยเหลืองานทั่วไป)

(1) นกหวีด ไฟฉาย (2) รถเข็นน้ำ รถเข็นอาหาร รถเข็นขยะ
(3) รถจักรยาน (4) รถจักรยานยนต์
(5) รถยนต์บรรทุกของ (6) ระบบเสียงตามสาย
(7) โทรโข่ง (Megaphone) (8) ตู้รับความคิดเห็น
(9) ถังแยกขยะประเภทต่างๆ (10) ไม้กวาด ที่ตักผงขยะ ไม้ถูพื้น แปลงขัด

7. อุปกรณ์สำนักงานสำหรับเจ้าหน้าที่ธุรการ (วัสดุอุปกรณ์งานพิมพ์และสำเนาเอกสาร)

(1) เครื่องถ่ายเอกสาร หรือ เครื่องสำเนาเอกสาร (Copy Printer)
(2) เครื่องพิมพ์ดีด หรือ เครื่องคอมพิวเตอร์ พร้อมเครื่องพิมพ์ (Printer)
(3) กระดาษชนิดต่างๆ สำหรับทำสำเนา (A5, A4, F4, B4)
(4) เครื่องเย็บเล่มเอกสาร เข้าเล่มเอกสาร กระดาษกาว กาว มีดตัดกระดาษ หรือ กรรไกร
(5) แฟ้มเอกสาร
(6) ซองใส่ป้ายชื่อ
(7) แผ่นกระดาษขนาด A0 สำหรับเสนอผลงาน พร้อมดินสอ ยางลบ ปากกาหลายสี
(8) กระดานป้าย (board)

8. อุปกรณ์ประจำตัวผู้เข้ารับการอบรม (วัสดุอุปกรณ์เฉพาะตัว)

เป็นอุปกรณ์ที่ต้องมีติดตัวไว้เสมอ หรือเก็บไว้ประจำที่ในส่วนของตน ตลอดเวลาที่ฝึกอบรม เมื่อเสร็จสิ้นการอบรมแล้ว ให้ส่งคืนแก่เจ้าหน้าที่บริการ 5 ส.

(1) ถาดใส่อาหาร และช้อน
(2) ผ้าพันคอ (สีประจำกลุ่ม)
(3) ป้ายชื่อ

9. คู่มือการฝึกอบรมหลักสูตรสัจธรรมชีวิต สำหรับผู้เข้ารับการอบรม (เอกสารคู่มือ)

ลักษณะ : เอกสารเย็บเล่ม ขนาด 21 cm. X 29 cm. (A4)
เนื้อหาสาระ : คำแนะนำ กฎระเบียบ ในระหว่างเข้าฝึกอบรม, แบบฟอร์มสำหรับวัดผล
ประเมินผล, บทสวดมนต์, คำปฏิญาณตน, บทพิจารณาอาหาร, บทเพลง,
ใบงาน, เอกสารประกอบการสาธิต

10. โปรแกรมแนะนำศูนย์ฝึกอบรม หลักสูตรสัจธรรมชีวิต (อุปกรณ์โสตทัศนูปกรณ์)

ชนิดแฟ้มข้อมูล : Presentation Document File (Graphics & Animation)
แหล่งเก็บข้อมูล : ฮาร์ดดิสก์ หรือ CD-ROM
อุปกรณ์ที่นำเสนอ : เครื่องคอมพิวเตอร์มัลติมีเดีย หรือ VCD Player

11. คำปฏิญาณตน รักษาศีล 5 (เอกสารข้อความ)

(1) ปาณาติปาตา เวรมณี ข้าพเจ้า จะเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วงด้วยเจตนา
ข้าพเจ้า จะเจริญเมตตาธรรม ให้ยิ่งขึ้นทางกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม

(2) อทินนาทานา เวรมณี ข้าพเจ้า จะเว้นขาดจากการลักทรัพย์ ด้วยอาการแห่งขโมย ต่อสิ่งของอันเป็นที่รักและหวงแหนของบุคคลอื่น
ข้าพเจ้า จะฝึกเป็นผู้เสียสละยิ่งๆ ขึ้น

(3) กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี ข้าพเจ้า จะเว้นขาดจากการละเมิดผิดต่อบุคคลอันเป็นที่รักที่หวงแหนของบุคคลอื่น จะมีกามสังวร ระมัดระวังกาย วาจา และใจ มิให้ส่อไปในทางไม่งาม

(4) มุสาวาทา เวรมณี ข้าพเจ้า จะเว้นขาดจากการพูดเท็จ ส่อเสียด คำหยาบ เพ้อเจ้อ
จะฝึกเป็นผู้มีสติต่อการใช้คำพูดอยู่เสมอ จะพูดแต่สิ่งอันเป็นสาระและสัจจะ

(5) สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี ข้าพเจ้า จะเว้นขาดจากสิ่งเสพติดทุกชนิด
จะเป็นผู้ที่กระทำตนให้เป็นผู้รู้ ตื่น เบิกบานอยู่เสมอ

ศีลทั้งห้าข้อนี้ เป็นแนวทางของการเกิดเป็นมนุษย์ เป็นที่มาแห่งความสุข ความเจริญแห่งโภคะ หากข้าพเจ้า ไม่ถือปฏิบัติ ย่อมประสบกับความเสื่อมโดยถ่ายเดียว ด้วยเหตุนี้ ตลอดช่วงเวลา
ที่เข้าอบรม ข้าพเจ้า จะตั้งใจอบรมปฏิบัติตน ให้สมควรแก่ธรรม เพื่อความสุขอันจะบังเกิดขึ้น
แก่ตน และสังคมต่อไป สาธุ.

12. บทสวดมนต์แปล (เอกสารข้อความ)

(1) คำบูชาพระรัตนตรัย (นั่งท่าเทพพนม เทพธิดา)

อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา,
พระผู้มีพระภาคเจ้า, เป็นพระอรหันต์ ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์สิ้นเชิง ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง
พุทธัง ภะคะวันตัง อภิวาเทมิฯ
ข้าพเจ้าอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้รู้, ผู้ดื่น, ผู้เบิกบาน (กราบ)

สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม, พระธรรม, เป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสไว้ดีแล้ว
ธัมมัง นะมัสสามิฯ ข้าพเจ้านมัสการพระธรรม (กราบ)

สุปะฎิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ปฏิบัติดีแล้ว
สังฆัง นะมามิฯ ข้าพเจ้านอบน้อมพระสงฆ์ (กราบ)

(2) ปุพพภาคนมการ (นั่งขัดสมาธิ หรือ นั่งพับเพียบ)

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต, ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น
อะระหะโต, ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส สัมมาสัมพุทธัสสะฯ ตรัสรู้ขอบได้โดยพระองค์เอง (3 จบ)

(3) ไตรสรณคมน์

พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ, ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง
ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ, ข้าพเจ้าถึงพระธรรมเป็นที่พึ่ง
สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ, ข้าพเจ้าถึงพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง

ทุติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ, แม้ครั้งที่สอง ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง
ทุติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ, แม้ครั้งที่สอง ข้าพเจ้าถึงพระธรรมเป็นที่พึ่ง
ทุติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ, แม้ครั้งที่สอง ข้าพเจ้าถึงพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง

ตะติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ, แม้ครั้งที่สาม ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง
ตะติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ, แม้ครั้งที่สาม ข้าพเจ้าถึงพระธรรมเป็นที่พึ่ง
ตะติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ, แม้ครั้งที่สาม ข้าพเจ้าถึงพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง

(4) พุทธานุสสติ

อิติปิ โส ภะคะวา, เพราะเหตุอย่างนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น
อะระหัง, เป็นผู้ไกลจากกิเลส
สัมมาสัมพุทโธ, เป็นผู้ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง
วิชชาจะระณะสัมปันโน, เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจะระณะ
สุคะโต, เป็นผู้ไปแล้วด้วยดี
โลกะวิทู, เป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง
อนุตตะโร ปุริสทัมมะสาระถิ, เป็นผู้สามารถฝึกบุรุษที่สมควรฝึกได้ อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า
สัตถา เทวะมนุสสานัง, เป็นครูสอนเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
พุทโธ, เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม
ภะคะวาติฯ เป็นผู้มีความจำเริญ จำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์, ดังนี้ฯ

(5) ธัมมานุสสติ

สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม, พระธรรม, เป็นสิ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสไว้ดีแล้ว

สันทิฏฐิโก, เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติ พึงเห็นได้ด้วยตนเอง
อะกาลิโก, เป็นสิ่งที่สามารถปฏิบัติจนถึงผลได้ ไม่จำกัดกาล
เอหิปัสสิโก, เป็นสิ่งที่ผู้แจ้งเอง ท้าทายให้มาพิสูจน์กันได้
โอปะนะยิโก, เป็นสิ่งที่ควรให้มีให้เกิดขึ้นในตน
ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิติฯ เป็นสิ่งที่วิญญูชนแจ่มแจ้งอยู่ในตน, ดังนี้ฯ

(6) สังฆานุสสติ

สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติดี
อุชุปฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติตรง
ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติถึงความรู้ธรรม เป็นเครื่องออกจากทุกข์
สามีจิปะฎิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้เข้าถึงสัมมาปฏิบัติ
ยะทิทัง, ได้แก่บุคคลเหล่านี้คือ
จัตตาริ ปุริสะยุคานิ, คู่แห่งบุรุษสี่
อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา, นับเป็นบุรุษบุคคลแปด
เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, นี้คือ, สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า
อาหุเนยโย, ผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวายบูชา
ปาหุเนยโย, ผู้ควรต้อนรับ
ทักขิเณยโย, ผู้ควรแก่ทานเพื่อผลอันเจริญ
อัญชะลีกะระณีโย, ผู้ควรกระทำอัญชลี
อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสาติฯ เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า, ดังนี้ฯ

(7) ชัยปริต

มหาการุณิโก นาโถ, พระโลกนาถ ผู้ทรงพระกรุณาอันยิ่งใหญ่
หิตายะ สัพพะปาณินัง, ทรงบำเพ็ญประโยชน์ เพื่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย
ปูเรตวา ปาระมี สัพพา, ด้วยการบำเพ็ญบารมีทั้งปวงบริบูรณ์
ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง, จนบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ, ด้วยสัจจ วาจานี้
โหตุ เต ชะยะมังคะลังฯ ชัยมงคลจงมีแก่ท่านฯ

ชะยันโต โพธิยา มูเล, ชัยชนะอันสูงสุด ที่เป็นรากเค้าแห่งการตรัสรู้
สักยานัง นันทิวัฑฒะโน, เป็นความเจริญน่ายินดี แก่ชาวพุทธทั้งหลาย
เอวัง ตวัง วิชะโย โหหิ, พระองค์เป็นผู้มีชัยอันยิ่ง, อย่างนี้
ชะยัสสุ ชะยะมังคะเล, ชัยชนะที่เกิดขึ้นแล้ว, เป็นชัยมงคล

อะปะราชิตะปัลลังเก, ซึ่งอยู่เหนือที่ประทับ, อันไม่กลับแพ้ต่อไปอีก
สีเส ปะฐะวิโปกขะเร, เป็นยอดดุจดอกบัว, พ้นพื้นแผ่นดิน
อภิเสเก สัพพะพุทธานัง, ซึ่งเป็นที่อภิเษกแห่งการรู้, ตื่น เบิกบาน ทั้งหลาย
อัคคัปปัตโต ปะโมทะติฯ เมื่อถึงยอดสุด, ย่อมเบิกบานทั่ว

สุนักขัตตัง สุมังคะลัง, ฤกษ์ดี, มงคลดี
สุปะภาตัง สุหุฏฐิตัง, แจ้งดี, รุ่งดี
สุขะโณ สุมุหุตโต จะ, ขณะดี, ครู่ดี
สุยิฏฐัง พรัหมจาริสุ, เกิดจากการบูชาด้วยดี ประพฤติปฏิบัติพรหมธรรมทั้งหลาย
ปะทักขิณัง กายะกัมมัง, ด้วยการกระทำทางกาย, ซึ่งเวียนสู่ที่เจริญ
วาจากัมมัง ปะทักขิณัง, ด้วยการกระทำทางวาจา, ซึ่งเวียนสู่ที่เจริญ
ปะทักขิณัง มะโนกัมมัง, ด้วยการกระทำทางใจ, ซึ่งเวียนสู่ที่เจริญ
ปะณิธี เต ประทักขิณา, ด้วยความตั้งจิตที่จะให้เป็นไป สู่ที่เจริญของท่านเอง
ปะทักขิณานิ กัตวานะ, เมื่อกระทำแล้ว, ย่อมเป็นไปสู่ที่เจริญ
ละภันตัตเถ ปะทักขิเณฯ ย่อมได้รับแก่นสาร, ซึ่งเป็นไปสู่ที่เจริญฯ

(8) ภวตุสัพ

ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง, มงคลทั้งปวง, พึงเกิดขึ้น
รักขันตุ สัพพะเทวะตา, จิตสูงทั้งปวง, พึงรักษา
สัพพะพุทธานุภาเวนะ, ด้วยการตามภาวะ ของพุทธะทั้งปวง, ที่เกิดในตน
สะทา โสตถี ภะวันตุ เตฯ ความสวัสดี, พึงเกิดมีแก่ท่านทุกเมื่อฯ

ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง, มงคลทั้งปวง, พึงเกิดขึ้น
รักขันตุ สัพพะเทวะตา, จิตสูงทั้งปวง, พึงรักษา
สัพพะธัมมานุภาเวนะ, ด้วยการตามภาวะ ของพุทธะทั้งปวง, ที่เกิดในตน
สะทา โสตถี ภะวันตุ เตฯ ความสวัสดี, พึงเกิดมีแก่ท่านทุกเมื่อฯ

ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง, มงคลทั้งปวง, พึงเกิดขึ้น
รักขันตุ สัพพะเทวะตา, จิตสูงทั้งปวง, พึงรักษา
สัพพะสังฆานุภาเวนะ, ด้วยการตามภาวะ ของพุทธะทั้งปวง, ที่เกิดในตน
สะทา โสตถี ภะวันตุ เตฯ ความสวัสดี, พึงเกิดมีแก่ท่านทุกเมื่อฯ

13. บทพิจารณาอาหาร (เอกสารข้อความ)

กินข้าว เคี้ยวทุกคำ เราจดจำ กินเพื่อชาติ
อย่ากิน อย่างเป็นทาส เหงื่อทุกหยาด ของชาวนา

จงกิน เพื่อเป็นไท กินด้วยใจ อย่างรู้ค่า
บรรพบุรุษ สร้างสืบมา ร่วมรักษา คุณความดี

ขยันงาน การสร้างสรร มีสัมพันธ์ฉันท์น้องพี่
สมัครสมานสามัคคี อุทิศพลี เพื่อชาติไทย

ขอขอบพระคุณชาวนา ที่ปลูกข้าวให้พวกเรารับประทาน
และขอขอบพระคุณพ่อครัวแม่ครัว ที่ทำอาหารให้พวกเรารับประทาน ในมื้อนี้ สาธุ.

14. แผนภูมิระบบนิเวศ (เอกสารข้อความ)

(1) แผนภูมิระบบนิเวศ
(2) แผนภูมิการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ในพื้นที่
(3) แผนภูมิแสดงการทำน้ำหมักจุลินทรีย์

15. การทำน้ำหวานหมักจากพืชสีเขียว – น้ำพ่อ (เอกสารข้อความ)

(1) อุปกรณ์การทำน้ำหวานหมักจากพืชสีเขียว

- พืชสีเขียว (เช่น ผักบุ้ง, กล้วยน้ำว้า, หยวกกล้วย, ฟักทอง),
- น้ำตาลทรายแดง (น้ำตาลผง ไม่ฟอกสี เคี่ยวจากน้ำอ้อยสดหรือน้ำสดจากจั่นตาล จนแห้งเป็นผง ) น้ำหนัก ครึ่งหนึ่งของพืชที่หั่นแล้ว
- ไหดินเผาเคลือบ หรือ โถแก้วทึบแสง ล้างสะอาด แห้งสนิท
- ผ้าพลาสติก (ถ้ามี ใช้ปูรองเวลาหั่นพืช เพื่อป้องกันการปนเปื้อน)
- มีด และเขียง สำหรับหั่น
- ตาชั่ง
- อ่างคลุกพืช
- กระดาษสะอาด และเชือก สำหรับปิดปากไห
- หินล้างสะอาด ขนาดปากไห หรือ ถุงพลาสติกสำหรับใส่น้ำ เป็นน้ำหนักทับปากไห และ หนังยางสำหรับรัดถุงพลาสติกที่ใส่น้ำเป็นน้ำหนักทับปากไห

(2) วิธีทำน้ำหวานหมักจากพืชสีเขียว

พืชสดสีเขียว หมายถึง พืชสีเขียวทุกชนิดที่กินได้

น้ำหวานจากพืช หมายถึง น้ำเลี้ยงของพืชที่อยู่ในท่อส่งอาหารของพืช น้ำหวานของพืชใดก็จะเป็นอาหารธรรมชาติที่ดีที่สุดของพืชชนิดนั้น เช่นน้ำหวานจากข้าวโพดก็จะให้ธาตุอาหารที่ดีที่สุดสำหรับต้นข้าวโพด หรือน้ำหวานหมักจากอ้อยก็จะให้ธาตุอาหารที่ดีที่สุดสำหรับต้นอ้อย

แต่จะมีพืชบางชนิดที่ให้ธาตุอาหารที่มีประโยชน์ต่อพืชอื่นๆโดยทั่วไปได้ดี เช่นผักบุ้ง หยวกกล้วย หน่อไม้ เป็นต้น พืชที่ดีคือพืชที่มีช่วงความยาวระหว่างข้อภายในกิ่งยาว และควรเป็นพืชโตเร็ว เพราะพืชที่โตเร็วมีพลังธรรมชาติที่จะสร้างพลังชีวิตได้มากและเร็ว

ขั้นตอนในการทำน้ำหวานหมักจากพืชสดสีเขียว

1. เก็บเกี่ยวพืชที่ต้องการทำน้ำหวานหมัก ในเวลาก่อนพระอาทิตย์ขึ้น ไม่ต้องล้าง เพราะไม่ต้องการให้จุลินทรีย์ที่อยู่บนใบพืชถูกชะล้างออกไป ถ้าเปียกฝนผึ่งในร่มให้หมาดก่อน เปียกน้ำค้างไม่เป็นไร เพราะน้ำค้างเป็นน้ำสำหรับราใบไม้สีขาวที่เราต้องการนำมาเพาะเลี้ยง และน้ำค้างจะมีธาตุอาหารที่ดีสำหรับพืชด้วย ที่ใบพืชจะมีน้ำหวานของพืชซึมติดอยู่ที่ปลายท่ออาหาร โดยธรรมชาติ ราใบไม้สีขาวจะไปเกาะกินน้ำเลี้ยงที่ซึมอยู่บนใบไม้ จากกระบวนการนี้ จะได้ราใบไม้สีขาวเป็นผลพลอยได้อยู่ในน้ำหวานหมักจากพืชสดสีเขียว

2. ตัดพืชเป็นท่อนๆ ยาวประมาณ 3 - 5 ซ.ม. สำหรับหยวก ตัดมาใช้ทั้งต้น ตัดให้สูงกว่าพื้นดินประมาณ 30 ซ.ม. ไม่ต้องลอกกาบ เพียงแต่เฉือนกาบที่แห้ง หรือกาบที่เน่าเสียออกทิ้ง ไม่ต้องล้าง ระหว่างที่วางพักไว้ก่อนหั่น วางลำต้นในแนวราบ ในที่สะอาด อย่าตั้งลำต้น เพราะจะทำให้สูญเสียน้ำหวานในลำต้นซึ่งจะไหลออกมา วิธีหั่นหยวก ซอยโคนให้เป็นแฉก ๆ กว้างประมาณ 1.5 ซ.ม. แล้วหั่นเฉียงตามขวางอีกครั้ง ให้หยวกแต่ละชิ้นยาวประมาณ 3 - 4 ซ.ม. การหั่นหน่อไม้ก็เช่นเดียวกัน อย่าล้างพืชก่อนหั่น

3. ชั่งน้ำหนักพืชที่ตัดแล้ว เพื่อกำหนดสัดส่วนของน้ำตาลทรายแดงที่จะใช้ผสม ในการทำ
น้ำหวานหมักจากพืชสดสีเขียว ให้ใช้น้ำตาลครึ่งหนึ่งของน้ำหนักพืชสด แบ่งน้ำตาลออกเป็น
6 ส่วน ใช้น้ำตาล 2 ส่วน คลุกอ่างแรก อีก 2 ส่วน ใช้คลุกอ่างที่สอง และ 2 ส่วนที่เหลือ ใช้โรยปิดหน้าพืช การแบ่งคลุก 2 อ่าง ก็เพื่อให้พืชทุกส่วนมีโอกาสถ่ายเทน้ำหวานได้เต็มที่ และในระหว่างคลุกเคล้าพืชกับน้ำตาล จะเป็นโอกาสให้ราใบไม้สีขาวในอากาศเข้ามาเพิ่มด้วย (แต่ถ้าบริเวณ
ดังกล่าว มีจุลินทรีย์อื่นๆ เข้าไปปนเปื้อน จะทำให้น้ำหมักที่ได้ไม่สมบูรณ์ ถ้าทำใต้ต้นไม้ใหญ่ได้จะดีที่สุด)

4. ถ้ามีเกลือสินเธาว์ จะใช้ผสมในส่วนของน้ำตาลได้ ในสัดส่วนเดิม คือ ให้เกลือผสมน้ำตาลมีน้ำหนักเท่ากับครึ่งหนึ่งของน้ำหนักพืช เช่น พืช 6 กิโลกรัม ปกติต้องใช้น้ำตาล 3 กิโลกรัม ถ้าเป็นเกลือผสมน้ำตาล ก็ต้องเป็น 3 กิโลกรัม เช่นกัน ควรใช้เกลือน้อยกว่าน้ำตาล จึงเป็นน้ำตาล 2 กิโลกรัม และเกลือ 1 กิโลกรัม เกลือสินเธาว์มีธาตุอาหารสำหรับพืชมาก จะทำให้น้ำหวานหมักมีธาตุอาหารสำหรับพืชเพิ่มขึ้น และน้ำหวานก็จะมีมากขึ้น

5. แบ่งพืชที่หั่น และชั่งแล้ว ออกเป็น 2 ส่วน เอาพืชส่วนที่หนึ่งใส่อ่าง โรยน้ำตาลทรายแดงผงลงบนพืช
ครั้งแรกไม่ต้องมากนัก แล้วใช้มือทั้งสองกอบพลิกพืช โรยน้ำตาลไปเรื่อยๆ คลุกเคล้ากับน้ำตาลผงที่โรยให้
เข้ากัน จนน้ำตาลหมด ในระหว่างการคลุก ควรระมัดระวัง อย่าให้พืชช้ำ แล้วค่อยๆ เอามือทั้งสองกอบพืชใส่
ไหที่เตรียมไว้ เกลี่ยให้เรียบเสมอ ใช้ปลายนิ้ว 4 นิ้ว ทั้ง 2 มือ กดเบาๆ ให้ทุกกอบที่ใส่ลงไปแน่น อย่าให้มีช่องอากาศ ระหว่างเศษพืช

6. โรยน้ำตาลผงกองที่สอง ลงบนพืชส่วนที่เหลือในอ่างใบที่สอง ถ้าน้ำตาลเป็นก้อนควรตีให้แหลก หมักพืชส่วนที่สองที่คลุกเคล้าน้ำตาลแล้ว ทิ้งไว้ในอ่าง 2 ชั่วโมง เอากระดาษสะอาดปิดคลุมปากอ่างไว้ อย่าให้แมลงวันตอม

7. หลัง 2 ชั่วโมงแล้ว ค่อยๆ กอบพืชจากอ่างคลุก เติมลงไปในไหใบเดิม จนพืชหมดอ่าง ให้ทับบนส่วนแรกที่ใส่ไว้แล้ว กดพืชให้แน่น จากนั้นใส่น้ำตาลที่เหลือปิดหน้าพืชให้ทึบ เอาผ้าสะอาดชุบน้ำหมาดๆ เช็ดขอบปากไห และบริเวณรอบๆ ไห ให้สะอาด อย่าให้มีคราบน้ำตาลติดเพราะมดจะขึ้น ใช้กระดาษสะอาดปิดปากไหทิ้งไว้ 3 ชั่วโมง ในระหว่าง 3 ชั่วโมงนี้ พืชจะยุบตัวโดยธรรม-ชาติ ถ้าน้ำหวานออกมากและพืชยุบตัวลงเหลือประมาณ 2/3 ของไห ให้เอากระดาษสะอาดปิดปากไห และผูกเชือกได้เลย

8. สำหรับพืชที่น้ำออกน้อย ควรเอาถุงพลาสติกใส่น้ำ ผูกปากให้แน่น (ระวังอย่าให้น้ำซึม รั่ว ไหลออกมาเป็นอันขาด หรือจะใช้ก้อนหินที่สะอาด และแห้ง จะปลอดภัยกว่า) วางทับหน้าพืชเพื่อเพิ่มน้ำหนักกดทับ เสร็จแล้ว ทำความสะอาดภายนอกไหอีกครั้ง ให้หมดคราบน้ำตาล ทิ้งไว้ 1 คืน จึงเอาน้ำหนักที่ทับไว้ออก

9. ใส่พืชที่คละเคล้าแล้ว ลงไปในไห ปริมาณ 2/3 ของไห ให้มีที่ว่างประมาณ 1/3 ที่ปากไห เพื่อให้จุลินทรีย์หายใจ เอากระดาษสะอาดปิดปากไห (ควรใช้กระดาษเกลี้ยง ไม่เปื้อนสีเปื้อนหมึก) ก่อนจะผูกปากไห ต้องจัดกระดาษที่จะปิดปากให้ตึงเรียบ แล้วเอายางหรือเชือกรัดปากไห เขียนชื่อพืช วันเวลาที่ทำปิดไว้กันลืม

10. ไหที่ใส่พืชสำหรับหมัก ต้องวางไว้ในร่ม ใต้ชายคา อย่าให้ถูกฝน ถ้าใช้โถแก้วใส ต้องหาผ้าหรือกระดาษหุ้มปิดรอบนอกให้ทึบ อย่าให้แสงแดดลอด ผ่านเข้าได้

11. พืชส่วนใหญ่จะใช้เวลา 10-14 วัน เพื่อเกิดการหมักที่สมบูรณ์ ช่วง 4 - 5 วันแรกจะเป็นเพียงน้ำหวาน การหมักยังไม่สมบูรณ์ เมื่อสมบูรณ์แล้วจะมีกลิ่นหอมหวาน และพืชจะกลายเป็นสีเหลืองจางๆ เพราะธาตุสีเขียว (คลอโรฟีลล์) ถ่ายเทออกมาอยู่ในของเหลวแล้ว

12. เมื่อครบกำหนด เปิดกระดาษออก ใช้สายยางปั๊มด้วยมือ ดูดน้ำหวานหมักออกใส่ขวดแก้วสีทึบ ปริมาณ 2/3 ของปริมาตรขวด (อย่าใส่เต็มขวด เพราะจุลินทรีย์จะไม่มีอากาศหายใจ) ปิดฝาให้แน่น ห้ามใส่ในภาชนะที่เป็นโลหะ หรือขวดพลาสติก เพราะจะเกิดเคมีที่เป็นอันตรายต่อ จุลินทรีย์ ถ้าไม่มีตู้เย็น ให้เก็บไว้ในที่ร่ม

การนำไปใช้ ให้เทแบ่งจากขวด สังเกตถ้าน้ำหวานหมักยังมีกลิ่นหอมคล้ายๆ กลิ่นน้ำผึ้งจางๆ แสดงว่าน้ำหมักยังมีคุณภาพดีอยู่ แต่ถ้ากลิ่นของน้ำหวานหมักเปลี่ยนเป็นกลิ่นเปรี้ยวหรือแอลกอฮอล์ ให้เติมน้ำตาลลงไป 1/3 ของปริมาณน้ำหมักที่เหลือ เพื่อเป็นอาหารของจุลินทรีย์ ถ้าเก็บไว้นานเกินไป จะเกิดกลิ่น เหม็น บูด เน่า หรือกลิ่นอื่น แสดงว่าน้ำหมักในขวดนั้นเสียแล้ว ไม่ควรนำไปใช้

น้ำหวานหมักจากพืชสดสีเขียว ที่ได้จากกระบวนการหมักข้างต้น จะมีความเข้มข้นมาก ก่อนใช้ ต้องผสมน้ำในอัตราส่วน 1 : 500 แล้วนำไปรดพืชผักตามต้องการ

พืชที่เหมาะจะนำมาใช้เป็นแหล่งผลิตน้ำหวานหมัก มีอยู่ 3 ตระกูล คือ ตระกูลหญ้า ตระกูลถั่ว และตระกูลผัก ซึ่งจะให้ธาตุอาหารที่เหมาะสมตามความต้องการของพืชทุกชนิด สำหรับประเทศไทย แนะนำให้ใช้ ผักบุ้ง หยวกกล้วยทั้งต้น และหน่อไม้ทั้งหน่อ ไม่ลอกกาบ ไม่ล้างน้ำ นอกจากนี้น้ำหวานหมักจากพืชสดสีเขียว ยังเป็นส่วนประกอบในการทำหัวเชื้อดินหมักจุลินทรีย์อีกด้วย

16. การทำน้ำหวานหมักจากผลไม้ – น้ำแม่ (เอกสารข้อความ)

(1) อุปกรณ์การทำน้ำหวานหมักจากผลไม้

ใช้อุปกรณ์เหมือนวิธีทำน้ำหวานหมักจากพืชสดสีเขียว แต่สัดส่วนระหว่างน้ำตาลอ้อยผง
กับผลไม้ เป็น 1 : 1

(2) วิธีทำน้ำหวานหมักจากผลไม้

น้ำหวานหมักจากผลไม้ ไม่ใช่น้ำผลไม้ที่คั้นจากผลไม้ ไม่ใช้เศษผลไม้จากการสับไม่ว่าเนื้อหรือเปลือก ผลไม้ที่จะนำไปใช้ ให้ใช้ทั้งผล สด ไม่มีรอยฟกช้ำ ห้ามปอกเปลือก มีวิธีทำดังนี้

1. ผลไม้สุก หวาน (อย่าให้มีรอยดำ ช้ำ) ใช้ทั้งผล ไม่ต้องล้าง ไม่ต้องปอกเปลือก ถ้าผลใหญ่ เช่น ขนุน ให้ฝานตามขวางทั้งเปลือก หนาไม่เกินแว่นละ 3 ซ.ม. เลือกชิ้นแรกลงให้พอดีกับก้นไห 1 ชิ้น ถ้าเป็นผลไม้ลูกเล็ก เช่น กล้วย ให้เรียงผลไม้ให้แน่นเต็มพื้นที่ก้นไห

2. โรยน้ำตาลทรายแดง (น้ำอ้อยผง) กลบหน้าผลไม้ให้เต็มเป็นชั้น

3. วางผลไม้ที่ฝานเป็นวงแว่นหรือผลไม้ลูกเล็ก ใส่ให้เต็มพื้นที่นอนราบอีกชั้นหนึ่ง โรยน้ำตาลทรายแดงกลบหน้าผลไม้ชั้นใหม่ให้เต็มอีก

4. ทำไปเรื่อยๆ จนเรียงผลไม้ได้ 2 / 3 ของไห ใช้น้ำตาลปิดหน้าผลไม้ปากไหให้หนาทึบเพื่อป้องกันอากาศ ไม่ต้องทิ้งให้ยุบตัวเหมือนกับพืชสดสีเขียว

5. เอากระดาษสะอาดปิดคลุมปากไห ขึงให้ตึง เอาเชือกผูกให้แน่น เมื่อการหมักได้ที่สมบูรณ์ จะมีกลิ่นหอมหวาน และจะเห็นว่า ผลไม้เหี่ยวๆ ลอยขึ้นมา หรือ ถ้าการหมักสมบูรณ์แล้ว จะเห็นเพียงของเหลวข้นเป็นก้อนๆ อยู่ก้นไห

น้ำหวานหมักจากผลไม้นี้ ใช้ฉีดบำรุงเพิ่มอาหารให้พืช ต้องผสมน้ำ 1 : 500 เพื่อให้เจือจาง นอกจากนี้ ยังใช้ประกอบการทำหัวเชื้อดินหมักจุลินทรีย์ และใช้เป็นน้ำหวานล่อแมลงที่จะทำอันตรายพืชได้ด้วย

17. การทำหัวเชื้อดินหมักจุลินทรีย์ (เอกสารข้อความ)

(1) อุปกรณ์การทำหัวเชื้อดินหมักจุลินทรีย์

ขั้นตอนที่ 1 เก็บเชื้อราใบไม้สีขาวในพื้นที่ ใช้อุปกรณ์ดังนี้
- กล่องไม้สี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด 10 ลูกบาศก์เซนติเมตร
- ข้าวเจ้าขัดขาวหุงสุก ค่อนข้างแห้ง ไม่เปียกแฉะ
- กระดาษสะอาดสำหรับคลุมกล่องไม้
- เชือกผูกกระดาษปิดปากกล่องไม้
- ผ้าพลาสติกสำหรับคลุมกองใบไม้กันฝน
- ก้อนหินทับผ้าพลาสติก
- ตาข่ายลาดคลุมกองใบไม้กันหนู (ถ้ามี )
- ทัพพีตักข้าว

ขั้นตอนที่ 2 การทำหัวเชื้อจุลินทรีย์หมัก IMO จากราใบไม้สีขาว ใช้อุปกรณ์ดังนี้
- เชื้อราใบไม้สีขาว เก็บจากขั้นที่ 1
- น้ำตาลทรายแดง (น้ำตาลธรรมชาติผงไม่ฟอกสี) เช่น จากน้ำอ้อย
- น้ำหวานหมักจากพืชสดสีเขียว และ หรือน้ำหวานหมักจากผลไม้

ขั้นตอนที่ 3 การทำหัวเชื้อดินจุลินทรีย์หมัก ใช้อุปกรณ์ดังนี้
- หัวเชื้อราใบไม้สีขาว จากขั้นที่ 2
- น้ำหวานหมักจากพืชสดสีเขียว หรือจากผลไม้
- รำละเอียด
- ละอองข้าว แป้งข้าวเจ้า แป้งสาลี แป้งข้าวโพด หรือแป้งอื่นๆ
- น้ำสะอาด
- ภาชนะสำหรับคลุก
- เสื่อฟาง และกระสอบปอ สำหรับคลุมกองดิน
- ลังพลาสติก ที่มีช่องอากาศมากๆ
- เสื่อหรือผ้าพลาสติกรองกอง (ถ้ามี)

ขั้นตอนที่ 4 การทำดินจุลินทรีย์หมัก (ดิน IMO) ใช้วัสดุดังนี้
- หัวเชื้อดินหมัก จากขั้นที่ 3
- ส่วนผสมที่เป็นอินทรีย์วัตถุแห้ง ชิ้นเล็กๆ
- เสื่อฟา และถังพลาสติกที่มีรูมากๆ
- ดินในพื้นที่เพาะปลูก
- น้ำหวานหมัก จากพืชสดสีเขียว จากผลไม้ จากจั่นมะพร้าว
- ปูนขาว หรือปูนมาล

(2) วิธีทำหัวเชื้อดินหมักจุลินทรีย์

ขั้นที่ 1 การเก็บเชื้อราใบไม้สีขาวในพื้นที่ (Leaf Mold)

วิธีที่ 1 เก็บเชื้อราใบไม้ในพื้นที่ จากกองใบไม้ใต้ต้นไม้ใหญ่ ด้วยการใช้ข้าวสุกล่อ มีวิธีทำดังนี้

1. ใช้ทัพพีซุยข้าวให้ร่วน อย่าให้เป็นก้อน อย่าให้มือถูกข้าว

2. ใช้ทัพพีตักข้าว (ห้ามใช้มือเป็นอันขาด) เกลี่ยหลวมๆ ให้หน้าข้าวเรียบอย่าให้มีหลุมมีบ่อ (ไม่เช่นนั้น ราดำจะมาแซกแซง) ใส่ข้าวให้สูงประมาณ 2/3 ของกล่อง ต้องเหลือที่สำหรับอากาศให้ จุลินทรีย์หายใจ อย่ากดข้าวจนแน่น ราใบไม้สีขาวของเราจะหายใจไม่ออกและจะตาย

3. เอากระดาษสะอาด ขึงให้ตึง คลุมปากกล่อง

4. เอาเชือกมัดกระดาษปิดปากกล่อง

5. นำกล่องข้าวไปที่โคนต้นไม้ที่มีราใบไม้สีขาวอาศัยอยู่ในกองใบไม้ จะมีมากใต้กอไผ่ เลือก ต้นไม้ที่ห่างไกลจากความสกปรก เศษขยะ เศษอาหาร มูลสัตว์ หรือ มลพิษทั้งหลาย

6. แหวกกองใบไม้ ลึกประมาณ 2 / 3 ของกล่อง เมื่อวางกล่องลงแล้ว ให้ส่วนบนของกล่อง โผล่ขึ้นเหนือกองใบไม้ประมาณ 1/3

7. กอบใบไม้คลุมกล่องข้าวสุก

8. เอาผ้าพลาสติกคลุมกองใบไม้ทั้งกองกันน้ำและฝน ใช้ก้อนหินทับชายผ้าทั้ง 4 มุม

9. โกยใบไม้คลุมทับผ้าพลาสติกอีกชั้นหนึ่ง

10. ใช้ลาดตาข่ายคลุมทับเพื่อป้องกันหนู

11. ทิ้งไว้ 3 วัน เมื่อได้ที่ จะเห็นใยราสีขาวขึ้นฟูอยู่เต็มหน้าข้าว ถ้าเกิน 3 วัน จะมีจุลินทรีย์อื่นๆ มาแซกแซงปนเปื้อน ใช้ไม่ได้

วิธีเก็บราใบไม้ตามขั้นตอนที่กล่าวมานั้น อาจจะจำเป็นสำหรับสภาพแวดล้อมบางแห่ง ถ้าสภาพดีเชื้อราอุดม อาจจะไม่จำเป็นต้องกอบใบไม้คลุมกล่อง หรืออาจจะข้ามขั้นตอนบางขั้นได้ จะให้ดีควรทดลองทำหลายๆ รูปแบบ และศึกษาวิธีที่ดีที่สุดของเราเอง ภายในพื้นที่ของเราในสภาวะอากาศและฤดูกาลต่างๆ กัน ใต้ต้นไม้หลายๆ ต้น ให้กระจายในส่วนต่างๆ ของพื้นที่

การศึกษาควรเตรียมข้าวไว้หลายๆ กล่องในแต่ละครั้ง เพื่อศึกษาเปรียบเทียบ และคัดเลือกเอากล่องที่ดีที่สุดมาใช้ทำหัวเชื้อ

วิธีที่ 2 เก็บเชื้อราใบไม้จากกอข้าว หลังการเก็บเกี่ยว มีวิธีทำดังนี้

1. นำกล่องข้าวสุก (เหมือนวิธีที่ 1) เข้าไปในท้องนา
2. คว่ำกล่องข้าวลงครอบตอซังข้าวที่เพิ่งเก็บเกี่ยว
3. เอาผ้าพลาสติกคลุมกล่องข้าว เอาหินทับให้มั่น
4. เอาลวดตาข่ายคลุมผ้าพลาสติกอีกชั้นหนึ่ง เพื่อป้องกันหนู
5. ทิ้งไว้ 2 - 3 วัน เราจะได้น้ำหวานจากต้นข้าวพร้อมๆ กับราใบไม้สีขาวในกอข้าว

วิธีที่ 3 เก็บเชื้อราใบไม้จากใบไม้แห้งที่มีราใบไม้อาศัยอยู่ มีวิธีทำดังนี้

1. สำรวจดูในกองใบไม้ ใต้ต้นไม้ใหญ่ ในป่าใกล้ๆ บ้าน
2. เก็บใบไม้จากกองที่มีเชื้อราใบไม้สีขาว ประมาณ 4 - 5 ถ้วย

การเก็บเชื้อราใบไม้ตามแบบวิธีนี้ บางครั้งอาจพบอุปสรรคมากจากฝน จากน้ำค้าง จากฉี่ หรือการคุ้ยเขี่ยของหนู เมื่อมีน้ำหรือความชุ่มชื้นมากเกินไป ราใบไม้สีขาวจะตาย ผลที่ได้คือ ขุยฟูสีเทา ดำ

เพื่อป้องกันการรุกรานจากราอื่นๆ ที่ไม่ต้องการ ให้รวบรวมใบไม้แห้งที่มีราใบไม้สีขาวอาศัยอยู่ เช่น จากกองใบไม้ใต้กอไผ่ มาใส่อ่างก้นลึกไม่เกิน 15 นิ้ว ก่อนที่จะเอากล่องข้าวที่เตรียมไว้ ใส่ลงไป ต้องแหวกใบไม้ตรงกลางอ่าง ออกไปไว้ข้างๆ เอากล่องข้าวใส่ตรงที่แหวกไว้ แล้วเอาใบไม้ที่แหวกออกคลุมทับกล่องข้าวอีกที เอาอ่างไปวางไว้ในที่ร่มในบ้านอย่าให้ถูกแดด ป้องกันอย่าให้สัตว์เลี้ยงหรือเด็กไปฉี่รด จะได้ราใบไม้สีขาวที่ขาวสะอาด คุณภาพดีเยี่ยม

ขั้นที่ 2 การทำหัวเชื้อจุลินทรีย์หมัก (IMO) จากราใบไม้สีขาว

วิธีที่ 1 การทำหัวเชื้อจุลินทรีย์หมักจากเชื้อราใบไม้ ที่เก็บด้วยข้าวสุก

1. นำข้าวสุกที่มีเชื้อราใบไม้สีขาว มาขยำกับน้ำตาลทรายแดงในไหดินเผาเคลือบ หรือขวดแก้วสีทึบปากกว้าง ถ้าเป็นแก้วใส ใช้ผ้าหรือกระดาษหุ้มคลุมอย่าให้แสงแดดส่องเข้าไป ใช้น้ำตาลหนัก 1/3 ของน้ำหนักข้าว

2. เอากระดาษสะอาดปิด หมักทิ้งไว้ 1 สัปดาห์ จะได้ของเหลวข้นสีแดง ในนั้นจะมีจุลินทรีย์กลุ่มราใบไม้สีขาวเติบโตอยู่

วิธีที่ 2 การทำหัวเชื้อจุลินทรีย์หมักจากเชื้อราใบไม้สีขาว ที่เก็บจากใบไม้ในป่า

1. ใช้น้ำอุ่น 2 ลิตร (ต้องเป็นน้ำต้มเดือดเพื่อฆ่าเชื้อโรคแล้วทิ้งไว้ให้เย็น ไม่ใช่น้ำร้อนผสมน้ำเย็นจนอุ่น) ผสมกับน้ำหวานหมักจากพืชสดสีเขียว และหรือ น้ำหวานหมักจากผลไม้ อัตราส่วนความเข้มข้น 1 : 500

2. ผสมข้าวสุกหนึ่งถ้วยลงไปในน้ำ ในข้อ 1 ใช้ไม้สะอาดคนให้เข้ากัน

3. ใส่ใบไม้ที่มีราใบไม้สีขาวที่เก็บมา 4 - 5 ถ้วยลงไป

4. ใช้ไม้ (ห้ามใช้มือเด็ดขาด) คนให้เข้ากันทิ้งไว้ 1 วัน

หัวเชื้อนี้เก็บไว้ได้นาน โดยการใช้น้ำตาลทรายแดงผงแห้ง น้ำหนักเท่ากับของเหลวหัวเชื้อโรยปิดหน้าให้ทึบ เพื่อหยุดการทำงานของจุลินทรีย์ เก็บไว้ในภาชนะทึบแสง เช่น ไหดินเผา วางไว้ในที่
ร่มเย็น อย่าให้ถูกแดด

ขั้นที่ 3 การทำหัวเชื้อดินจุลินทรีย์หมัก (หัวเชื้อดิน IMO)

1. นำหัวเชื้อราใบไม้สีขาวที่หมักแล้วมาคลุกรำละเอียด ผสมแป้งลงไปด้วยอัตราความเหลวประมาณ 65% หมายความว่า เมื่อกำส่วนผสมในมือ แล้วเอานิ้วหัวแม่มือบี้ ส่วนผสมจะแปรรูปไปตามแรงกด ไม่แตกและไม่เละจนผิดรูป ถ้าเหลวเกินไปให้เติมแป้งหรือรำ แต่ถ้าแตกเพราะแห้งเกินไปให้เติมน้ำผสมน้ำหวานหมักคลุก
ต่ออีก

2. น้ำที่นำมาเป็นส่วนผสม ต้องผสมนำหวานหมักจากพืชสดสีเขียว และหรือน้ำหวานหมักจากผลไม้ ใน
สัดส่วนน้ำหวานหมัก 1 ส่วน ต่อน้ำ 1,000 ส่วน ก่อนนำไปใช้คลุกรำ

3. เอากระสอบปอหรือเสื่อฟางคลุม หมักไว้อีก 7 - 10 วัน

4. จะได้หัวเชื้อดินจุลินทรีย์หมักเก็บไว้ใช้ได้เป็นปี ควรเก็บใส่ตะกร้าหรือลังพลาสติกที่มีรูมากๆ เพื่อให้อากาศถ่ายเท เก็บในที่ร่ม อย่าให้ถูกแดด ถูกน้ำ

ขั้นที่ 4 การทำดินจุลินทรีย์หมัก (ดิน IMO)

(ก) การใช้หัวเชื้อดินหมัก

1. ก่อนใช้ให้นำหัวเชื้อดินจุลินทรีย์หมัก 1 ส่วน ไปคลุกเคล้ากับอินทรียวัตถุแห้ง ที่ตัดเป็นท่อนสั้นๆ ไม่เกิน 3
ซม. 10 ส่วน เอาเสื่อฟางคลุมทิ้งไว้ 1 สัปดาห์แล้วนำไปเก็บไว้ในถังพลาสติกที่มีรูมากๆ ไม่ต้องคลุมเพื่อให้ความร้อนถ่ายเท ทิ้งไว้อีก 20 วัน จะได้ดินดินหมักที่สมบูรณ์ มีทั้งธาตุอาหารของพืช และมีทั้งราใบไม้สีขาว ช่วยย่อยสลายอินทรียวัตถุ เป็นอาหารให้พืช

อินทรีย์วัตถุที่นำไปคลุกนี้ ถ้ารดด้วยน้ำต้มถั่วก่อนจะคลุกก็จะดีมาก ถ้าจะใช้มูลสัตว์หรือมูลคนต้องฆ่าเชื้อให้ดี ใช้ความร้อนไม่ต่ำกว่า 250 องศา ที่มีคนพูดว่าฆ่าเชื้อในกองหมักนั้นเป็นไปไม่ได้เพราะจุลินทรีย์ทนความร้อนได้ไม่เกิน 65 องศาเซลเซียส จุลินทรีย์จะตายก่อนเชื้อโรคตาย ต้องฆ่าเชื้อด้วยความร้อนสูงให้หมด ก่อนนำมาคลุกเคล้ากับหัวเชื้อดินหมักจุลินทรีย์

2. เมื่อจะใช้ดินหมักจุลินทรีย์ให้เอาดินในพื้นที่เพาะปลูก น้ำหนักเท่ากับหัวเชื้อดินหมักคลุกเคล้าให้เข้ากัน
ทำเป็นกอง เอาฟางคลุมไว้ดังเดิมทิ้งไว้อีก 3 วัน จึงนำไปโรยในนา เพื่อเตรียมดินก่อนการเพาะปลูกประมาณ
7 - 10 วัน

(ข) การใช้ดินหมัก และน้ำหวานหมักในนาข้าว

3. ก่อนปลูกข้าว ทั้งนาดำและนาหว่าน 15 วัน ให้ใส่ดินหมักจุลินทรีย์ IMO ในดินเป็นการเตรียมดินและเตรียมแปลง

4. ช่วงเติบโต สำหรับนาหว่าน เมื่อต้นข้าวมีใบ 3 ใบ ให้ใช้น้ำหวานหมักจากพืชตระกูลถั่ว ผสมกับน้ำหวานหมักจากผักบุ้ง ผสมน้ำความเข้มข้น 1:500 ในนา 1 ไร่ ใช้ปริมาณประมาณ 160 ลิตร

5. ช่วงเติบโต สำหรับนาดำ หลังจากปักดำได้ 5 - 7 วันให้ฉีดน้ำหวานหมักจากพืชตระกูลถั่ว ผสมกับน้ำหวานหมักจากผักบุ้ง ผสมน้ำ ในอัตราความเข้มข้น 1 : 500 ในนา 1 ไร่ใช้ปริมาณประมาณ 160 ลิตร

6. ช่วงข้าวตั้งท้อง ใช้น้ำหวานหมักจากพืช ผสมกับน้ำหวานหมักจากมะพร้าว (คือน้ำหวานจากจั่นมะพร้าว รองน้ำหวานจากจั่นแล้วทิ้งไว้ 2 วัน จะได้น้ำหวานหมักจากมะพร้าว) นำไปฉีดพ่น โดยใช้สูตรผสม น้ำหวานหมักจากพืชสดสีเชียว 0.2 ลิตร และ น้ำหวานหมักจากมะพร้าว 0.2 ลิตร ผสมกันแล้วใช้น้ำ 100 ลิตร ผสม
ให้เจือจาง ฉีดพ่น ในอัตรา 160 ลิตรต่อไร่

7. ช่วงข้าวออกรวง ใช้ปูนขาว หรือปูนมาล ปริมาณ 250 กรัม ผสมน้ำ 2 ลิตรคนให้เข้ากัน ต้มจนเดือดทิ้งไว้ให้เย็น ปูนจะตกตะกอน ให้ช้อนเอาน้ำปูนใสที่อยู่ข้างบน เทลงผสมกับส่วนผสมของน้ำหวานหมักจากพืชและจากมะพร้าว (อัตราส่วนเดิม) ฉีดพ่นให้ต้นข้าว ในอัตรา 160 ลิตรต่อไร่

การจัดกิจกรรม ปฏิบัติการ IMO ให้แบ่งผู้เรียนออกเป็น 3 กลุ่ม เข้าประจำฐานฝึกปฏิบัติงาน คือ ฐานฝึกทำน้ำหวานมักจากพืชสีเขียว ฐานฝึกทำน้ำหวานหมักจากผลไม้ และฐานฝึกทำหัวเชื้อดินหมักจุลินทรีย์ โดยมีพี่เลี้ยง และปฏิบัติกร คอยให้คำแนะนำ และติดตามผล ประเมินผล

18. การทำน้ำหมักจุลินทรีย์ (เอกสารข้อความ)

(1) อุปกรณ์การทำน้ำหมักจุลินทรีย์

- น้ำหวานหมักจากพืชสดสีเขียว
- น้ำหวานหมักจากผลไม้

(2) วิธีผสมน้ำหมักจุลินทรีย์ เพื่อนำไปฉีดพ่น

การใช้น้ำหวานหมักจากพืชสดสีเขียว (น้ำแม่) กับน้ำหวานหมักจากผลไม้ (น้ำพ่อ)

พืชทุกชนิดจะแบ่งระยะการเติบโต ออกเป็น 3 ช่วงใหญ่ๆ ในแต่ละช่วงความต้องการธาตุอาหารจะแตกต่างกัน เกษตรกรอาจจะมีหลักพิจารณาในการทำได้ง่ายๆ ดังนี้

-ช่วงเติบโต ใช้น้ำแม่ 9 ส่วน กับน้ำพ่อ 1 ส่วน ผสมน้ำเจือจาง 1 : 500 ฉีดรด
-ช่วงตั้งท้อง ใช้น้ำแม่ 5 ส่วน กับน้ำพ่อ 5 ส่วน ผสมน้ำเจือจาง 1 : 500 ฉีดรด
-ช่วงผลสุก ใช้น้ำแม่ 1 ส่วน กับน้ำพ่อ 9 ส่วน ผสมน้ำเจือจาง 1 : 500 ฉีดรด

19. ความรู้พื้นฐาน เรื่องจุลินทรีย์ (เอกสารข้อความ)

จุลินทรีย์ คืออะไร

จุลินทรีย์หมายรวมถึงสิ่งมีชีวิตทั้งหมด ที่เป็นหนึ่งในสามกลุ่มสมาชิกของระบบนิเวศ
(คือ กลุ่มผู้ผลิต 1 = ต้นไม้, กลุ่มผู้บริโภค 1 = คนและสัตว์, กลุ่มผู้ย่อยสลาย 1 = จุลินทรีย์)

จุลินทรีย์มีหน้าที่อะไรในระบบบนิเวศ

จุลินทรีย์จะช่วยทำความสะอาดระบบนิเวศ ไม่ให้มีเศษกากของเหลือกินเน่าเสีย ตกค้างอยู่นานเกินสมควร เป็นการสร้างสมดุลในวงจรธรรมชาติ ที่ผู้ผลิต คือ ต้นไม้ผลิตขึ้นมาให้คนหรือสัตว์ใช้ในการดำรงชีวิต

จุลินทรีย์มีบทบาทอะไรในการเพาะปลูก

จุลินทรีย์มีหน้าที่ย่อยสลายเศษซากพืช อินทรียวัตถุทุกชนิด จนเล็กละเอียดและสามารถปลดปล่อยธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับพืชลงสะสมในดิน ซึ่งน้ำจะเป็นตัวละลายให้ธาตุอาหารเหล่านั้นอยู่ในสภาพที่รากต้นไม้จะดูดขึ้นไปเป็นอาหารได้

จุลินทรีย์พื้นบ้านคืออะไร

โดยทั่วไป จุลินทรีย์พื้นบ้านจะหมายถึงจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในขอบเขตของระบบนิเวศนั้น ๆ ไม่ได้นำเข้ามาจากภายนอกระบบ ภายนอกท้องถิ่น ภายนอกเมือง ภายนอกประเทศ หรือภายนอกภูมิภาคโลกนั้น ๆ เรียกเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า Indigenous Micro Organisms

จุลินทรีย์ที่เรียกกันว่า ไอ เอ็ม โอ (IMO) หมายถึงอะไร

ไอ เอ็ม โอ (IMO) เป็นชื่อเฉพาะที่สมาคมเกษตรธรรมชาติแห่งประเทศเกาหลี ใช้เรียกราใบไม้สีขาว ซึ่งเป็น
จุลินทรีย์กลุ่มเล็ก ๆ ในกลุ่มราเมือก (Leaf Mold) ที่อาศัยอยู่ภายในขอบเขตพื้นที่เพาะปลูก เป็นสายพันธุ์ที่
จะใช้ประโยชน์ในการทำการกสิกรรมไร้สารพิษได้ดี มีคุณภาพมาก

พบจุลินทรีย์กลุ่มราใบไม้สีขาวได้ที่ไหน

เราจะพบราใบไม้สีขาวได้ทั่วไป โดยเฉพาะในที่ที่มีต้นไม้ใหญ่ เช่น ต้นทองหลาง ขี้เหล็ก จามจุรี แค กระถิน มะค่า มะรุม พฤกษ์ ฯลฯ ซึ่งเป็นพืชตระกูลถั่ว (Leguminoceae) หรือพืชตรึงไนโตรเจน (Nitrogen Fixing Trees NFT) หรือ ในกอไผ่ กอข้าว กออ้อย กอหญ้าแฝก ฯลฯ ซึ่งเป็นพืชตระกูลหญ้า หรือ ใต้ต้นไม้ตระกูลอื่น ๆ เช่น กอกล้วย กอเตย เป็นต้น

ในป่า หรือในดงไม้ ที่มีใบไม้ร่วงหล่นปกคลุมดิน ก็จะมีราใบไม้สีขาวนี้มากมาย เกษตรกรชาวไทยนิยมเก็บ
ใบจามจุรี (ดินก้ามปู) ใบไผ่ ((ดินขุยไผ่) ฟาง แม้กระทั่งใบไม้ในป่า ฯลฯ มาบำรุงดินในแปลงเพาะปลูกตั้งแต่โบราณแล้ว

ลักษณะนิสัยของราใบไม้สีขาวเป็นอย่างไร

ราใบไม้สีขาวอยู่ในกลุ่มราเมือกที่ต้องการออกซีเจน ต้องการที่แห้ง โปร่ง อากาศถ่ายเทได้ เมื่อถูกฝนถูกน้ำจะตาย และเนื่องจากชอบกินน้ำหวานสดจากพืช จึงมักจะเกาะอยู่ตามใบพืชเขียว หรือ ตามผิวของผลไม้สุกหวาน เพื่อกินน้ำหวานที่ซึมออกมา ส่วนน้ำนั้นราใบไม้สีขาวจะกินน้ำค้าง

ราใบไม้สีขาวทนความร้อนได้ไม่เกิน 60 องศาเซลเซียส จึงอยู่ไม่ได้ในที่ที่เกษตรกรเผาไร่นา ในที่ที่ไม่มีต้นไม้ หรือวัตถุคลุมดินก็จะตาย เพราะไม่มีอาหารกิน ในที่อับชื้น เปียกแฉะ ราใบไม้สีขาวก็จะอยู่ไม่ได้ ในที่ที่ไม่มีออกซิเจน เช่น ในกองขยะ ในถังส้วม ในน้ำเน่า ราใบไม้สีขาวจะอยู่ไม่ได้เพราะจะขาดอากาศหายใจ ในที่ที่คนใช้สารเคมีสังเคราะห์ ราใบไม้สีขาวจะอยู่ไม่ได้เช่นกัน

ในท้องไร่ท้องนา ในสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ไม่มีราใบไม้สีขาวเลยหรือ

ในแปลงเกษตรโล่ง โล้น มีแต่พืชชนิดเดียวที่เห็นอยู่ โดยทั่วไปนั้น ไม่มีราใบไม้สีขาวเลย แต่คนเราก็สามารถใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านฃ่วยเร่งการฟื้นตัวของราใบไม้สีขาว รวมทั้งนำมาเพาะเลี้ยงได้

ถ้าไม่มีแล้วจะหาได้อย่างไร

ในระยะแรกที่เรายังไม่มีราใบไม้สีขาวในพื้นที่ของเรา เราก็ต้องสร้างสิ่งที่เขาชอบไว้ล่อให้เขาเข้ามาอยู่กับเรา เช่น หว่านถั่วเขียวในพื้นที่สัก 1 ตารางเมตร ราใบไม้สีขาวก็จะมากินน้ำหวาน และ สูดออกซีเจนที่ใบถั่ว เมื่อใบร่วง ราใบไม้สีขาวก็ร่วงหล่นลงดิน จะไปสร้างบ้านอยู่อาศัย มีลูกมีหลานอยู่ในกองใบไม้ใต้ต้นนั่นเอง แต่ถ้าหากถูกสารเคมีสังเคราะห์พ่นใส่ ก็จะตายหมด

การเพาะเลี้ยงราใบไม้สีขาว ทำได้อย่างไร

การเก็บราใบไม้สีขาวจากธรรมชาติ มาเพาะเลี้ยงเพื่อเพิ่มปริมาณและคุณภาพนั้น ทำได้ง่าย ด้วยภูมิปัญญา
พื้นบ้าน เกษตรกรทุกคนทำได้ เช่นเอาข้าวสุกแห้ง ๆ ไปวางล่อ ราใบไม้สีขาวก็จะมากินอย่างที่เราเคยเห็นปุย
ขาวๆ บนข้าวที่เราวางทิ้งไว้ แต่ถ้าข้าวแฉะหรือเปียกน้ำ เราจะไม่เห็นราใบไม้สีขาว แต่จะเห็นราสีอื่น เช่น
สีเหลือง ชมภู ฟ้า เขียว หรือดำ เป็นต้น สีต่าง ๆ นี้เป็นสีของราสายพันธุ์ที่ชอบความชื้นแฉะ ชอบของบูดเน่าเสีย และส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่ไม่ต้องการออกซีเจน ไม่ใช่ราใบไม้สีขาวของเรา ดังนั้นถ้ามาปนเปื้อนมากก็ต้อง
ทิ้งไป เพราะมันไม่ใช่ตัวที่เราต้องการใช้

จะป้องกันการปนเปื้อนจากสสาาายพันธุ์อื่น ๆ ได้อย่างไร

การเก็บราใบไม้สีขาวมาใช้หรือมาเพาะเลี้ยงเพื่อเพิ่มปริมาณและความแข็งแรงนั้น เป็นเทคโนโลยีเฉพาะของสมาคมเกษตรธรรมชาติแห่งประเทศเกาหลี (Korean Natural Farming Association) ซึ่งคุณ ฮาน คิว โช เป็น
ผู้ก่อตั้ง และเป็นประธานคนปัจจุบัน คุณโช มาประเทศไทยตามคำเชิญของกรมวิชาการเกษตร และ ได้มาถ่ายทอดเทคโนโลยีพื้นบ้านนี้ให้กับข้าราชการกระทรวงเกษตร และเกษตรกรที่อำเภอวารินชำราบ ต่ออีก 6 วัน โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ

เทคโนโลยีดังกล่าวพัฒนาจากภูมิปัญญาพื้นบ้านของชาวเกาหลี ในการดำรงชีวิตที่กลมกลืนกับธรรมชาติ จึงน่าจะเหมาะสมกับคนเอเซียมากกว่าเทคโนโลยีการผลิตที่เกิดจากวิชาการตะวันตก หรือเทคโนโลยี่เพื่อการค้ากำไรตามระบบทุนนิยมตะวันตก

ปัจจัยการเกษตรเกี่ยวกับจุลินทรีย์ในพื้นที่ มีอะไรบ้าง

สมาคมเกษตรธรรมชาติแห่งประเทศเกาหลี ได้ใช้ และ ถ่ายทอดภูมิปัญญาพื้นบ้านด้านปัจจัยการเกษตร ไว้
6 เรื่องใหญ่ ซึ่งนับว่าเป็นกระบวนการเพาะปลูกครบวงจรที่ยั่งยืน โดยไม่ต้องใช้สารเคมีสังเคราะห์ใดๆ เลย
ที่สำคัญ คือ

1. หัวเชื้อดินหมักราใบไม้สีขาว ได้มาจากกระบวนการเพาะเลี้ยงและหมักหัวเชื้อราใบไม้สีขาว เป็นเวลาประมาณ 3 สัปดาห์ ก็ใช้โรยบนแปลงเพาะปลูกแทนปุ๋ยได้เลย

2. น้ำหวานหมักจากพืชสดสีเขียว ได้จากกระบวนการหมัก ใบ กิ่ง ก้าน ของพืชสด เขียว ในพื้นที่ เพื่อเพาะเลี้ยงราใบไม้สีขาว ที่เกาะกินอาหารอยู่ตามธรรมชาติบนใบพืช พร้อมๆกับการถ่ายเทน้ำเลี้ยงในท่ออาหารของพืช นำกลับไปใช้เป็นอาหารสำเร็จรูปให้พืช

3. น้ำหวานหมักจากผลไม้ ซึ่งใช้ผลไม้สด สุก หวาน ทั้งผล ไม่ปอกเปลือก ไม่ล้าง เพื่อเพาะเลี้ยงราใบไม้สีขาวที่เกาะกินน้ำหวานอยู่ที่ผิวของผลไม้ พร้อม ๆ ไปกับการถ่ายเทน้ำเลี้ยงในท่ออาหารของพืช นำกลับไปใช้เป็นอาหารสำเร็จรูปให้พืช

4. ซีรัมของจุลินทรีย์ในกรดน้ำนม ซึ่งคือสารธรรมชาติ ที่ได้จากกระบวนการหมักจุลินทรีย์จาก อากาศ ในน้ำซาวข้าวเพาะเลี้ยงด้วยน้ำนมสด

5. กรดอามิโนจากเศษปลาสด ได้จากระบวนการหมักเศษปลาสด ส่วนที่คนไม่กินแล้ว เช่น ก้าง ใหญ่ ครีบ หัว หาง เป้นต้น

6. ธาตุอาหารสมุนไพร ป้องกันโรคและแมลงศัตรูพืช

กระบวนการหมักของสมาคมเกษตรธรรมชาติแห่งประเทศเกาหลี มีหลักการอย่างไร

การหมักเป็นกระบวนการพลังธรรมชาติ ที่ใช้อินทรียวัตถุจากธรรมชาติภายในพื้นที่ การถ่ายเทน้ำเลี้ยงจากภายในพืชเป็นระบบธรรมชาติระหว่างของเหลวที่มีความเข้มข้นต่างกัน (Osmosis) กระบวนการทั้งหมด ใช้ของสะอาด สด แห้ง ไม่มีความเปียก แฉะ ชื้น หมักกับน้ำตาลผง แห้ง จากธรรมชาติ โดยไม่มีการฟอกสี ทั้งนี้เพราะราใบไม้สีขาวจะไม่อยู่ในที่เปียก ชื้น แฉะ หรือมีน้ำ ดังนั้น ในกระบวนการหมักจึงจะผสมน้ำหรือของเหลวอื่นใด รวมทั้งส่วนผสมของสารสังเคราะห์ใด ๆ ไม่ได้เลย

ชิ้นส่วนของผลไม้สด เศษส่วนของพืชผักผลไม้ที่เน่าเสีย น้ำผลไม้ หรือผลไม้ที่ปอกเปลือกแล้ว ก็ใช้ไม่ได้ เพราะเป็นระบบนิเวศที่เปียกแฉะ ไม่เหมาะต่อการดำรงชีวิตของจุลินทรีย์ที่ต้องการความแห้งและออกซีเจนอย่างราใบไม้สีขาว

ทำไมจึงมีน้ำหมักสารพัดสูตรที่อบรม สั่งสอน แจกจ่าย รวมทั้งวางขายกันอยู่มากมาย

1. เนื่องจากผู้ถ่ายทอดไม่เข้าใจ หลักการ และวัตถุประสงค์ ของการทำน้ำหวานหมักอย่างชัดเจน

2. เนื่องจากผู้ถ่ายทอดไม่สนใจศึกษาเรื่องระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิต ไม่มีสำนึกในการสร้างที่กินที่อยู่ ที่เหมาะสมในการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตแต่ละสายพันธุ์

3. เนื่องจากผู้ถ่ายทอดมักจะมักง่าย และเสริมความมักง่ายในใจเกษตรกรเพิ่มด้วย (เช่น สอนว่าใช้อะไรก็ได้) ทำให้ผู้ผลิตและผู้ใช้ ขาดความเข้าใจ ขาดเป้าหมาย สักแต่ว่าใช้โดยไม่รู้ว่าจะเกิดผลเสียในระยะยาว ที่อาจจะร้ายแรงกว่าสารเคมีก็ได้

4. เนื่องจากผู้ถ่ายทอดมักจะเสริมความมักได้ให้เกษตรกร เช่น แนะนำให้ใส่น้ำเพื่อเพิ่มปริมาณ แนะนำให้นำไปใช้ก่อนเวลาอันควร หรือ แนะนำให้ใช้สารสังเคราะห์แทนสารธรรมชาติ โดยไม่คำนึงถึงพิษภัยที่จะเกิดขึ้นกับจุลินทรีย์ เพียงเพราะราคาถูกกว่า

5. เนื่องจากขาดมาตรฐานการผลิต ขาดการศึกษาวิเคราะห์ และการทดสอบอย่างถูกต้อง รวมทั้งขาดการใส่ใจในเรื่องสารพิษปนเปื้อนและสารพิษตกค้าง

6. เนื่องจากผู้ถ่ายทอดไม่ให้ข้อมูลชัดเจน เกี่ยวกับวัตถุดิบที่จะนำไปหมัก และผลที่จะเกิดจากกระบวนการหมักนั้น

เช่น ถ้าใช้ของเน่าเสีย เศษกากอาหารบูดเน่า มูลสัตว์และมูลคน จุลินทรีย์ที่จะกินของเหล่านั้นก็จะมาอยู่มากิน ซึ่งจะเป็นกลุ่มผู้ย่อยสลายของเน่าเสีย จุลินทรีย์ที่ไม่กินของเหล่านั้น จะไม่มากินมาอยู่ ก็จะได้เลี้ยงแต่สายพันธุ์ที่เหมาะสมจะนำไปช่วยเร่งการกำจัดขยะ เร่งการกำจัดสิ่งปฏิกูล กำจัดน้ำเน่า ซึ่งไม่ใช่สายพันธุ์ที่ควรนำมาใช้กับดินกับพืช

เช่น แม้จะใช้พืชสดเขียว หรือผลไม้สด แต่ถ้าใส่ของเหลวอื่นลงไป ไม่ว่าจะเป็นน้ำ เป็นกากน้ำตาล ราใบไม้สีขาว ก็จะอยู่ไม่ได้ เพราะเป็นระบบนิเวศที่เปียกแฉะ ยิ่งน้ำท่วมด้วยแล้ว ราใบไม้สีขาวก็จะตายหมด เป็นการสังหารหมู่อย่างเลือดเย็นยิ่ง

พืชที่มีบทบาทเป็นทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่

พืชตระกูลที่ให้สารอาหารประเภท ไนโตรเจน ได้แก่

1. พืชตระกูลถั่วระดับล่าง อายุสั้น เช่น ถั่วเขียว, ถั่วเหลือง, ถั่วดำ, ถั่วแดง, ถั่วพุ่ม, ชะพลู

2. พืชตระกูลถั่วระดับกลาง อายุ 2 - 3 ปี เช่น มะแฮะ, ชะอม, กระถิน, โสน

3. พืชตระกูลถั่ว หรือพืชตรึงไนโตรเจนอายุมากกว่า 5 ปี เช่น มะรุม, แค, ฝรั่ง ก้ามปู (จามจุรี), ทองหลาง, ขี้เหล็ก, มะขาม, กระถินเทพา, จาน, หางนกยูง

พืชตระกูลที่ให้สารอาหารประเภท แคลเซียม, โปตัสเซียม ได้แก่พืชตระกูลหญ้า เช่น ข้าว, ข้าวโพด, ไผ่,
ตะใค้ร, หญ้าแฝก, กก, (วัชพืชหญ้าต่างๆ)

พืชตระกูลที่ให้สารอาหารประเภท ฟอสฟอรัส, แคลเซียม ได้แก่ พืชตระกูลงา เช่น ชะพลู, คะน้า, ใบยอ, ผักขม, ถั่วพู, ผักเบี้ย

จะศึกษาเรื่องราใบไม้สีขาวเพิ่มเติมได้ที่ไหน

1. จากหนังสือ น้องหนูฟื้นฟูแผ่นดิน โดย ภรณ์ ภูมิพันนา
2. จากหนังสือ Korean Natural Farming โดย Han Kyo Cho และ Atsushi Koyama

รองศาสตราจารย์ อาภรณ์ ภูมิพันนา
เครือข่ายวนเกษตรไร้สารพิษ เรียบเรียง เมื่อ 20 กันยายน 2544

...มีต่อ...