Index Page 1/1 Index Page Close

หน้าแรก >[04] กสิกรรม > คกร. > หลักสูตรสัจธรรมชีวิต

สารบัญ | โครงการ | ระเบียบการ | อุดมการณ์-ปรัชญา | หลักสูตร | เนื้อหา-กิจกรรม | ดำเนินการอบรม | ประเมินผล | กฎระเบียบพื้นฐาน | สื่อ วัสดุ อุปกรณ์ | แผน-คู่มือฝึกอบรม

[2] ระเบียบการในการเข้าฝึกอบรม

1. การรับสมัคร และลงทะเบียน

1.1 สมัครเข้ารับการอบรมเป็นหมู่คณะ รุ่นละ ไม่น้อยกว่า 15 คน และไม่มากกว่า 100 คน (กรณีขอเข้ารับการอบรมน้อยกว่า 15 คน ให้เป็นการศึกษาและดูงาน ตามอัธยาศรัย โดยผู้เข้ารับการศึกษาและดูงาน ยังต้องปฏิบัติตามระเบียบการนี้อย่างเคร่งครัด)

1.2 ผู้เข้ารับการอบรม ลงเวลาทุกวัน

2. ธรรมนูญสัจธรรมชีวิต จะเป็นแม่บทหลักในการจัดการฝึกอบรมทุกหลักสูตรของศูนย์ฝึกอบรม พุทธสถานศาลีอโศก

ธรรมนูญสัจธรรมชีวิต

สัจจะ คือ ดี ถูกต้อง เป็นประโยชน์ ทำให้พ้นทุกข์ได้ เป็นสิ่งที่เป็นไปได้จริง และท้าทายให้พิสูจน์ได้ ไม่จำกัดกาล ไม่จำกัดสถานที่ ธรรมะ คือสิ่งที่ทรงไว้ซึ่งคุณแห่งความดีงาม บทบัญญัติพื้นฐานในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ทรงไว้ซึ่งคุณแห่งความดีงาม และมีผลเจริญตรงตามสัจจะ เป็นผู้ รู้สำนึก ฝึกตน ขนขวาย หมายมุ่งพัฒนา มีอานิสงส์สัมบูรณ์ ต้องมี ศีล เรียนรู้ศีลที่เป็นกุศล

เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจพึ่งตน ชุมชนเข้มแข็ง ประชาชนมีธรรมะ ประเทศมีอิสระเอกราช ผู้เข้าอบรมทุกคน ต้องรักษาศีล 5 อย่างเคร่งครัด ได้แก่

ข้อ 1. ปาณาติปาตา เวรมณี เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วงด้วยเจตนา และเจริญเมตตาธรรม ให้ยิ่งขึ้นทางกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม

ข้อ 2. อทินนาทานา เวรมณี เว้นขาดจากการลักทรัพย์ ด้วยอาการแห่งขโมย ต่อสิ่งของอันเป็นที่รักและหวงแหนของบุคคลอื่น และฝึกเป็นผู้เสียสละยิ่งๆ ขึ้น

ข้อ 3. กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี เว้นขาดจากการละเมิดผิด ต่อบุคคลอันเป็นที่รักที่หวงแหน ของบุคคลอื่น มีกามสังวร ระมัดระวังกาย วาจา และใจ มิให้ส่อไปในทางไม่งาม

ข้อ 4. มุสาวาทา เวรมณี เว้นขาดจากการพูดเท็จ ส่อเสียด คำหยาบ เพ้อเจ้อ ฝึกเป็นผู้มีสติต่อการใช้คำพูดอยู่เสมอ จะพูดแต่สิ่งอันเป็นสาระและสัจจะ

ข้อ 5. สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี เว้นขาดจากสิ่งเสพติดทุกชนิด เป็นผู้ที่กระทำตนให้เป็นผู้รู้ ตื่น เบิกบานอยู่เสมอ

3. การเตรียมอุปกรณ์ในการพักค้างระหว่างฝึกอบรม

ให้ผู้เข้ารับการอบรมเตรียม หรือจัดหา ผ้าห่ม และเครื่องใช้ส่วนตัว เช่น ไฟฉาย นาฬิกา สมุดบันทึก ยารักษาโรคประจำตัว ชุดออกกำลังกาย ชุดฝึกงานกสิกรรม

ควรเก็บของมีค่าไว้กับตัว ห้ามใช้สารเคมี สารพิษ ที่เป็นอันตรายแก่ชีวิต ห้ามพกอาวุธ หรือศาตราใดๆ ในเขตชุมชน และในระหว่างฝึกอบรม

4. การพักค้างคืน

ผู้เข้ารับการอบรม จะต้องพักค้างคืนในชุมชน และเข้าร่วมรายการอบรมทุกรายการ จึงจะทำให้การอบรมบรรลุวัตถุประสงค์ กรณีพักในบ้านพักที่จัดไว้ให้ ต้องรักษาวัฒนธรรมชุมชนอย่างเคร่งครัด

หากผู้เข้ารับการอบรมนำเครื่องนอนมาเอง อนุญาตให้หาสถานที่พักเอง ภายในขอบเขตหรือบริเวณที่จัดไว้ให้ ชายให้พักในเขตชาย หญิงให้พักในเขตหญิง

ในเวลาวิกาล (หลังเวลา 18.00 น. ถึง 06.00 น. ของวันถัดไป) ชายไม่พึงเข้าไปในเขตที่พักหญิง และเขตสิกขมาตุ หญิงไม่พึงเข้าไปในเขตที่พักชาย และเขตสมณะ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากสมณะ

5. อาหาร

5.1 ให้ผู้เข้ารับการอบรมทุกคน รับประทานอาหารมังสวิรัติ ภายในขอบเขตที่จัดไว้ให้ ห้ามดื่มสุรา ของมึนเมาทุกชนิด และห้ามสูบบุหรี่ โดยเด็ดขาด เพื่อการอบรมขัดเกลา และเพื่อสุขภาพของผู้เข้าอบรมทุกคน

5.2 ผู้เข้ารับการอบรมทุกคน ล้างภาชนะที่ใส่อาหารเอง ให้ถูกวิธีตามขั้นตอน

6. การแต่งกาย

6.1 เสื้อผ้าที่ใช้ ควรให้เรียบง่ายและสวมสบาย แบบและสีสุภาพ ไม่ควรสวมใส่เสื้อผ้ารัดรูปหรือโปร่งบาง หรือเสื้อไม่มีแขน ห้ามนุ่งกางเกงขาสั้นทั้งชายและหญิง

6.2 ผู้เข้ารับการอบรม จะต้องถอดรองเท้า ระหว่างพักอยู่ในชุมชน และในช่วงเวลาการอบรม

7. วัฒนธรรมชุมชนบุญนิยม

ผู้ที่เข้ามาพักในชุมชน และชาวชุมชน พึงปฏิบัติตนให้เป็นผู้มีวัฒนธรรมดังนี้

7.1 รับประทานอาหารมังสวิรัติ ข้าวกล้อง ถั่ว งา ผักพื้นบ้าน ผักไร้สารพิษ และผลไม้ตามฤดูกาล และกำหนดกาลเวลาในการรับประทาน เช่น มื้อเดียว สองมื้อ หรือสามมื้อ ตามฐานะของตน

7.2 แยกขยะเปียก ขยะแห้ง ขยะมลพิษ และขยะเวียนใหม่ (recycle) เพื่อสร้างสำนึกกตัญญู 5 ส. ได้แก่ สะสาง สะดวก สะอาด สุขลักษณะ และ สร้างนิสัย

7.3 ล้างภาชนะใส่อาหารด้วยตนเอง ตามวิธีการและขั้นตอน “ล้างจาน ได้ล้างใจ”

7.4 นั่งดื่มน้ำ การดื่มน้ำแช่เย็น เป็นการบั่นทอนพลังงานของร่างกาย

7.5 สวมเสื้อผ้า ด้วยสีและรูปแบบเรียบง่าย ปกปิดมิดชิด และไม่สวมรองเท้า

7.6 บริเวณที่เป็นพุทธสถาน และชุมชนที่ถือศีล 8 ในเวลาวิกาล ฝ่ายชาย ฝ่ายหญิงไม่พึงล้ำเข้าไปในเขตที่ไม่ใช่เขตของฝ่ายตน

7.7 กราบและนมัสการสมณะด้วยอาการสงบ น่าเลื่อมใส และนอบน้อมด้วยใจ ผู้ให้พึงไหว้ผู้รับ และเคารพกันด้วยธรรมะ ผู้มีคุณธรรมสูงกว่า ย่อมได้รับความเชื่อถือสูงกว่า

7.8 ทุกวัน ชาวชุมชน พึงแสดงเครื่องหมายความเป็นพี่น้องกัน ด้วยการไหว้ และทักทายด้วยคำว่า “เจริญธรรม” หรือ “สำนึกดี”

7.9 อนุญาตให้ชาวชุมชนดูโทรทัศน์ ที่ส่วนกลางจัดไว้ให้ และเป็นรายการที่ผ่านการตรวจสอบแล้วว่า ไม่มอมเมา และไม่พาให้ละเมิดศีล ห้ามชาวชุมชนมีเครื่องรับโทรทัศน์ไว้ดูเป็นการส่วนตัว

7.10 อาบน้ำวันละ 1 ครั้ง ห้ามมีตู้เย็น และเครื่องซักรีด เพื่อเป็นการประหยัดการใช้น้ำ และไฟฟ้า และเป็นบทฝึกหัด ลด ละ ขัดเกลา มิให้อยู่สบายตามใจกิเลสจนเกินไป ตามหลักการที่ว่า “กิน อยู่ อย่างสบาย อกุศล (บาป เวร) ยิ่งเจริญ กิน อยู่ อย่างลำบาก กุศลธรรม (บุญ บารมี) เจริญยิ่ง”

7.11 ตื่นนอนแต่เช้า สวดมนต์ ฟังธรรม ประกอบสัมมาอาชีพ ตามหลัก ทฤษฎีกำไร ขาดทุนของอาริยชนแท้ ละเว้น มิจฉาอาชีวะ 5 และ มิจฉาวิณิชชา 5

7.12 การแอบนอนกลางวัน เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ เพราะเป็นอาการของคนเกียจคร้าน เว้นแต่เจ็บป่วย หรือสูงอายุ เพื่อรักษาสุขภาพให้ยืนยาว พึงเข้านอนแต่หัวค่ำ

[3] อุดมการณ์ และปรัชญาของศูนย์ฝึกอบรม

... มีต่อ ...