Index Page 1/2 Close

หน้าแรก >[04] กสิกรรม > คกร. > หลักสูตรสัจธรรมชีวิต

สารบัญ | โครงการ | ระเบียบการ | อุดมการณ์-ปรัชญา | หลักสูตร | เนื้อหา-กิจกรรม | ดำเนินการอบรม | ประเมินผล | กฎระเบียบพื้นฐาน | สื่อ วัสดุ อุปกรณ์ | แผน-คู่มือฝึกอบรม

เนื้อหา และกิจกรรม

เนื้อหาและกิจกรรม ของหลักสูตรสัจธรรมชีวิต แบ่งออกเป็น 7 หมวดกิจกรรม คือ
1. วิชาการ
2. ปฏิบัติ
3. สาระบันเทิงและนันทนาการ
4. สำนึกกตัญญู 5 ส.
5. บริหารจิต บริหารกาย
6. ร้อยดวงใจ
7. ประชุมคนสร้างชาติ

แต่ละหมวดกิจกรรม ได้กำหนดเนื้อหาสาระ ระยะเวลา วิทยากรผู้ให้การอบรม สื่อ อุปกรณ์ และคำอธิบาย ไว้ดังนี้

(ก.) กิจกรรมวิชาการ (ความรู้ ความเข้าใจ)

1. ปฐมนิเทศ

เวลา 90 นาที

เนื้อหา -แนะนำสถานที่ชุมชนศาลีอโศก พุทธสถานศาลีอโศก
-แนะนำคณะกรรมการชุมชน
-วัฒนธรรมชุมชนบุญนิยม 12 ประการ
-รหัสสัญญาณ คำเรียกขาน การกราบพระรัตนตรัย กราบสมณะ การไหว้
-ธรรมนูญสัจธรรมชีวิต
-อุดมการณ์และปรัชญาของศูนย์ฝึกอบรม
-ระเบียบการพักค้างในชุมชน
-อาหาร
-การแต่งกาย
-วัตถุประสงค์ของหลักสูตรสัจธรรมชีวิต
-การวัดผลประเมินผล
-กฎระเบียบพื้นฐาน 10 ข้อ

วิทยากร สมณะ, ผู้อำนวยการฝึกอบรม

สื่อ-อุปกรณ์ -โสตทัศนูปกรณ์ ...สื่อลำดับที่ 2 (1), (3), (4)
-คู่มือการฝึกอบรมหลักสูตรสัจธรรมชีวิต ...สื่อลำดับที่ 9
-โปรแกรมแนะนำศูนย์ฝึกอบรม หลักสูตรสัจธรรมชีวิต ...สื่อลำดับที่ 10

คำอธิบาย แนะนำชุมชนศาลีอโศก พุทธสถานศาลีอโศก เพื่อให้รู้จักประวัติความเป็นมา
ของชุมชน และพุทธสถานพอสังเขป และคุ้นเคยกับสถานที่ สร้างความเลื่อมใส
ศรัทธาในขั้นต้น แนะนำคณะกรรมการชุมชน เพื่อให้เกิดความคุ้นเคยกับบุคคล
เกิดความมั่นใจ และไว้วางใจ ตลอดเวลาที่อยู่พักอาศัย แนะนำวัฒนธรรมชุมชน
บุญนิยม 12 ประการ เพื่อให้รู้สำนึก ฝึกตน ลด ละ ขัดเกลา นำไปสู่ความ
ประพฤติที่ดีงาม เรียนรู้ รหัสสัญญาณเสียง ในการเรียกเข้าห้องเรียน รหัสเตรียม
ความพร้อม เพื่อให้การฝึกอบรมดำเนินไปตามที่กำหนดไว้ในตารางเวลา สร้าง
ความกระตือรือร้นให้แก่ผู้เข้ารับการอบรม อธิบายความหมายของคำเรียกขาน
คำว่า “สมณะ” “พุทธสถาน” “ปฏิบัติกร” “ผู้รับใช้” “คนของแผ่นดิน” “สำนึกดี”
“เจริญธรรม” เพื่อสื่อความหมายให้เข้าใจตรงกัน ระหว่างผู้จัดอบรม กับผู้เข้ารับ
การอบรม

อธิบาย ความหมายและวิธีปฏิบัติ ธรรมนูญสัจธรรมชีวิต อุดมการณ์และปรัชญา
ของศูนย์ฝึกอบรม เพื่อให้เกิดความชื่นชม เห็นคุณค่าของศีล และรู้สึกพึงพอใจ
ที่จะประพฤติตาม

แนะนำระเบียบการพักค้างในชุมชน การรับประทานอาหาร การแต่งกาย เพื่อให้
เกิดความเป็นระเบียบในการกิน อยู่ หลับนอน และการพักอาศัย

อธิบาย วัตถุประสงค์ของหลักสูตรสัจธรรมชีวิต การวัดผล การประเมินผล ของ
หลักสูตรนี้ ตลอดจนกฎระเบียบพื้นฐาน 10 ข้อ เพื่อให้เกิดสัมมาทิฏฐิ ในการ
แก้ปัญหาวิกฤติของชาติ (ปัญหาเกษตรกร ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง
ศาสนา การศึกษา และวัฒนธรรม) และมีกำลังใจพร้อมที่จะเข้ารับการฝึกอบรม

2. จุดประกาย

เวลา 90 นาที

เนื้อหา -ประวัติความเป็นมาของโครงการพักหนี้เกษตรกรรายย่อย 3 ปี
-วัตถุประสงค์ และเป้าหมายของโครงการ
-การประเมินผลหลังเสร็จสิ้นการฝึกอบรม

วิทยากร พิธีกร, เจ้าหน้าที่ ธกส.

สื่อ-อุปกรณ์ โสตทัศนูปกรณ์ ...สื่อลำดับที่ 2 (1)

คำอธิบาย อธิบายเกี่ยวกับ ประวัติความเป็นมาของโครงการพักหนี้เกษตรรายย่อย 3 ปี วัตถุประสงค์ และเป้าหมายของโครงการ และการประเมินผลหลังเสร็จสิ้นการฝึกอบรม ตามกำหนดระยะเวลา เพื่อให้ผู้เรียน เกิดความเข้าใจตรงกัน ในระเบียบปฏิบัติ และข้อกำหนดต่างๆ อันเป็นพันธสัญญาที่ต้องปฏิบัติระหว่าง ธกส. กับ เกษตรกรผู้เข้ารับการอบรม

3. ระบบนิเวศ

เวลา 90 นาที

เนื้อหา -ความหมายของระบบนิเวศ
-สมาชิกของระบบนิเวศ
-การสร้างระบบนิเวศ
-ลักษณะและคุณประโยชน์ของจุลินทรีย์ในพื้นที่ (ราใบไม้สีขาว หรือ IMO)
-วิธีทำน้ำหวานหมักจากพืชสดสีเขียว
-วิธีทำน้ำหวานหมักจากผลไม้
-วิธีทำหัวเชื้อดินจุลินทรีย์หมัก (ดิน IMO)
-วิธีนำน้ำหวานหมักและหัวเชื้อดินจุลินทรีย์ไปใช้

วิทยากร ปฏิบัติกร-นักวิชาการ

สื่อ-อุปกรณ์ -โสตทัศนูปกรณ์ ...สื่อลำดับที่ 2 (1)
-แผนภูมิระบบนิเวศ ...สื่อลำดับที่ 14 (1) (2) (3)
-วัสดุสำหรับการสาธิตปฏิบัติการ IMO ...สื่อลำดับที่ 15 – 18
-ความรู้พื้นฐานเรื่องจุลินทรีย์ โดย รศ.อาภรณ์ ภูมิพันนา ...สื่อลำดับที่ 19

คำอธิบาย อธิบายความหมายของระบบนิเวศ สมาชิกของระบบนิเวศ สาเหตุของการทำให้ระบบนิเวศสูญเสียไป เพื่อให้มองเห็นวิถีทางในการฟื้นฟูระบบนิเวศให้กลับคืนมาดีดังเดิม อภิปรายวิธีสร้างระบบนิเวศขึ้นมาใหม่ บรรยายวิธีฟื้นฟูระบบนิเวศอย่างถูกหลักวิชาการ คือ ลักษณะและคุณประโยชน์ของจุลินทรีย์ในพื้นที่ (ราใบไม้สีขาว) การทำน้ำหวานหมักจากพืชสดสีเขียว การทำน้ำหวานมหักจาก ผลไม้ การทำหัวเชื้อดินจุลินทรีย์หมัก (ดิน IMO) และการนำน้ำหวานหมักและ หัวเชื่อดินจุลินทรีย์ไปใช้ในพื้นที่กสิกรรม เพื่อให้เกิดความเข้าใจในขั้นตอนและกระบวนการในการลงมือปฏิบัติจริง

สาธิตการทำน้ำหวานหมักจากพืชสดสีเขียว การทำน้ำหวานหมักจากผลไม้ การทำหัวเชื้อดินจุลินทรีย์หมัก (ดิน IMO) เพื่อให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริงได้อย่างถูกต้อง

4. ขบวนการกู้ชาติ

เวลา 120 นาที

เนื้อหา -ปัญหาวิกฤติชาติในอดีตและปัจจุบัน
-พฤติกรรมการบริโภคของคนไทย
-หนี้ IMF
-กสิกรรมไร้สารพิษ แนวคิดกู้วิกฤติชาติ
-คนของแผ่นดิน คือ คนสร้างชาติ

วิทยากร ปฏิบัติกร-นักวิชาการ-นักการเมือง

สื่อ-อุปกรณ์ -โสตทัศนูปกรณ์...สื่อลำดับที่ 2 (1)
-แผนภูมิ, ภาพประกอบคำบรรยาย

คำอธิบาย บรรยายพื้นฐานชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย ด้านเศรษฐกิจสังคมเปรียบเทียบ
กับวิกฤติชาติในปัจบัน ยกตัวอย่างพฤติกรรมการบริโภคของคนไทย ที่เป็นเหตุให้
เป็นหนี้ต่างชาติ เพื่อให้เกิดจิตสำนึก เกิดความรักชาติ รักท้องถิ่น พร้อมที่จะร่วม
ใจปลดหนี้ต่างชาติ

อธิบายแนวคิดกู้วิกฤติชาติ จากหลายๆ สำนัก ซึ่งยังคงประสบความล้มเหลว
เพื่อให้เห็นแนวทางออกที่เหมาะสมกับประเทศไทย คือการทำกสิกรรมไร้สารพิษ
พร้อมทั้งบรรยายคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของชาวนา ในฐานะคนของแผ่นดิน
เพื่อให้ผู้เข้าอบรมเกิดความประทับใจ พร้อมที่จะละ เลิก อบายมุข มาเป็นคน
ขยัน ซื่อสัตย์ เสียสละ ให้เป็นมาตรฐานของชีวิตประจำวัน และรวมตัวกันในรูป ขององค์กร หรือสหกรณ์ ในการกอบกู้วิกฤติทาง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

5. รายการภาคค่ำ (เริ่ม 18.00 น. – 20.00 น.)

เวลา คาบละ 60 นาที (จำนวน 6 คาบ จัดกิจกรรม ครั้งละ 2 คาบติดต่อกัน)

เนื้อหา 1. เกิดมาทำไม (60 นาที)
2. ชีวิตมีคำตอบ (60 นาที)
3. พบสมณะ (60 นาที)
4. วิปัสสนาจอแก้ว (ดูกิจกรรมที่ 22 วิปัสสนาจอแก้ว)
เรื่อง 30 ปีแห่งการงาน (60 นาที)
เรื่อง สารคดีพัฒนาชุมชนเกาหลี (60 นาที)
เรื่อง ปอดถูกตัดเพราะอัดบุหรี่ (60 นาที)

วิทยากร สมณะ, ปฏิบัติกร, พิธีกร

สื่อ-อุปกรณ์ โสตทัศนูปกรณ์ ...สื่อลำดับที่ 2 (1)

คำอธิบาย (1) บรรยายธรรมโดยสมณะ เรื่อง เกิดมาทำไม เกี่ยวกับชีวิตของคนที่เกิดมา ในการแสวงหาที่สุดของชีวิต หรือความต้องการของชีวิตที่ได้เกิดมา เพื่อตอบปัญหาว่า “เกิดมาทำไม?” อันเป็นหนทางนำไปสู่ การขัดเกลากิเลส ทวนกระแสกิเลสไปสู่ความเป็นผู้หลุดพ้น ไม่เกี่ยวเกาะ กับ กิเลส ตัณหา อุปทาน และอัตตาทั้งปวง คงเหลือแต่ การงานเพื่อผู้อื่น เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความรู้ ความเข้าใจที่เป็นสัมมาทิฐิ ในการดำรงชีวิตที่ชอบธรรม และเชื่อในกฏแห่งกรรม

(2) ปฏิบัติกรตัวอย่าง บรรยายถึงภูมิหลังชีวิต ก่อนพบธรรมะ ที่ประสบปัญหา อันเกิดจากกิเลสเร้ารุม จนเกิดปัญหาวิกฤติของชีวิต ทำให้ชีวิตมีความเป็นอยู่ไม่ผาสุก เดือดเนื้อร้อนใจ เกิดความขัดสน โรคภัยเบียดเบียน อาชีพล้มเหลว ขาดทุน ประสบความทุกขเวทนายิ่งนัก แสวงหาคำตอบ ก็ไม่พบ ในที่สุดเมื่อพบธรรมะ จึงมองเห็นหนทางที่จะแก้ไขวิกฤตของชีวิตได้ เป็น ชีวิตหลังพบสัจธรรม มีประสบการณ์และความรู้ดีๆ มาเล่าสู่กันฟัง โดยเฉพาะการทำกสิกรรมธรรมชาติ จนบัดนี้สามารถ พึ่งตน จนเป็นที่พึ่งของคนอื่นได้ เป็นชีวิตที่มีคำตอบ เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดจิตสำนึก ที่จะฝึกตนให้เป็นคนโลกใหม่ เป็นคนมีศีล ขยัน เสียสละ อย่างมีปัญญา

(3) ผู้เรียนพบปะพูดคุย สนทนาธรรม กับ สมณะ สิกขมาตุ เป็นกลุ่ม เพื่อถามปัญหาธรรมะ

6. อาหารคือยา

เวลา 60 นาที

เนื้อหา -ก่อนพบธรรมะ
-กินอยู่อย่างทาส
-กินอยู่อย่างไท
-สุขอนามัยที่น่าทึ่ง
-เข้าถึงสัจธรรมชีวิต (คำตอบอยู่ที่ ข้าวกล้อง ถั่ว งา ผักพื้นบ้าน)

วิทยากร พิธีกร, และปฏิบัติกร (ที่เคยเจ็บป่วยจากการกินอาหารที่เป็นโทษ และบำบัด
รักษาจนหายป่วย ด้วยวิธีแก้ไขพฤติกรรมการกินอาหาร โดยเลือกกินอาหารที่มี
คุณสมบัติเป็นยา จนสุขภาพดี สมบูรณ์แข็งแรง)

สื่อ-อุปกรณ์ โสตทัศนูปกรณ์ ...สื่อลำดับที่ 2 (1)

คำอธิบาย ปฏิบัติกรตัวอย่าง บรรยายถึงภูมิหลังชีวิต ก่อนพบธรรมะ ที่ประสบปัญหา อันเกิดจากการ กิน อยู่ อย่างทาส ตามใจกิเลส โดยเฉพาะเรื่องการกิน อาหารอร่อย แต่เป็นพิษสะสมทุกวัน จนเกิดโรคภัยเบียดเบียน กลายเป็นมะเร็งร้ายในกระเพาะอาหาร และลำไส้ใหญ่ เข้าโรงพยาบาลผ่าตัดเกือบเอาชีวิตไม่รอด แต่เมื่อมาพบธรรมะ เลือกกินอาหารธรรมชาติ ไร้สารพิษ ต้านมะเร็ง จนประสบความสำเร็จ มะเร็งร้ายหายในที่สุด เพราะ กินอยู่อย่างไท ไม่เป็นทาสลิ้นอีกต่อไป ปัจจุบันแข็งแรงดี กลายเป็น สุขอนามัยที่น่าทึ่ง เพราะ เข้าถึงสัจธรรมชีวิต ด้วยการ กินข้าวกล้อง ถั่ว งา ผักพื้นบ้าน เป็นประจำ เพื่อให้ผู้เรียน เกิดจิตสำนึก ที่จะลด ละ เลิก การกินอาหารที่มีสารพิษปนเปื้อน หันมาปลูกผักไร้สารพิษกินเอง ในครัวเรือน

(ข.) กิจกรรมภาคปฏิบัติ

7. ปฏิญาณตน

เวลา 30 นาที

กิจกรรม -ปฏิญาณตน รักษาศีล 5
-ความหมายของศีล 5

วิทยากร สมณะ

สื่อ-อุปกรณ์ คำปฏิญาณตน รักษาศีล 5 ...สื่อลำดับที่ 11

คำอธิบาย ผู้เรียนกล่าวคำปฏิญาณตน รักษาศีล 5 ตามสมณะ พร้อมทั้งกฎระเบียบพื้นฐาน 10 ข้อ ให้ได้ ตลอดงานนี้ เพื่อสร้างสัมมาทิฏฐิ และกำหนดแนวปฏิบัติในระหว่างการฝึกอบรม ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

8. สวดมนต์ ทำวัตรเช้า

เวลา คาบละ 30 นาที (จำนวน 4 คาบ)

กิจกรรม -พิธีทำวัตรเช้า -สวดมนต์แปล
-การนั่ง ท่านั่ง -การกราบ

วิทยากร สมณะ

สื่อ-อุปกรณ์ บทสวดมนต์แปล ...สื่อลำดับที่ 12 (1) (2) (3) (4) (5) (6) (7) (8)

คำอธิบาย ผู้เรียนทุกคน เข้าศาลาฟังธรรมนั่งเป็นแถวประจำกลุ่มของตน พร้อมกันกับคนวัดทุกฐานะ (อาคันตุกะจร อาคันตุกะประจำ อารามิก อารามิกา ปะหญิง ปะชาย) ฝ่ายชายนั่งท่าเทพพนม ฝ่ายหญิงนั่งท่าเทพธิดา การกราบ ให้เรียงลำดับก่อนหลัง และแต่ละลำดับ กราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ 3 ครั้ง (กราบแต่ละครั้งนาน 5 วินาที) ดังนี้ สมณะกราบสมณะผู้เป็นประธาน, สามเณร และ สิกขมาตุ กราบสมณะ, นาค และ กรัก กราบสมณะ, ปะหญิง ปะชาย อารามิก อารามิกา อาคันตุกะ และผู้เรียน ตลอดจนฆราวาสทุกฐานะ กราบสมณะพร้อมกัน

ผู้ร่วมพิธีทำวัตรเช้าทุกคน ทุกฐานะ ทั้งนักบวชและฆราวาส นั่งหันหน้าไปทาง ทิศเดียวกัน (ทิศที่สมณะนั่ง) สมณะผู้เป็นประธาน นำกล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา ผู้ร่วมพิธีทุกคน ทุกฐานะ รับกล่าวพร้อมกัน พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นพระอรหันต์ ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์สิ้นเชิง ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง... ไปจนจบคำบูชาพระรัตนตรัย

ผู้ร่วมพิธีทำวัตรเช้าทุกคน ทุกฐานะ ทั้งนักบวชและฆราวาส เปลี่ยนท่านั่งเป็น ขัดสมาธิ หรือเทพธิดา หรือพับเพียบ สมณะผู้เป็นประธาน นำกล่าวบทปุพพภาคนมการ นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต ผู้ร่วมพิธีทุกคน ทุกฐานะ รับกล่าวพร้อมกัน ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น, อะระหะโต ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส, สัมมาสัมพุทธัสสะ ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง, ...(กล่าว 3 จบ) ไปจนจบบทปุพพภาคนมการ

สมณะผู้เป็นประธาน นำกล่าวบทไตรสรณคมน์ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ, ผู้ร่วมพิธีทุกคน ทุกฐานะ รับกล่าวพร้อมกัน ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง, ...(กล่าวซ้ำ ทุติยัมปิ...ตะติยัมปิ...) ไปจนจบบทไตรสรณคมน์

สมณะผู้เป็นประธาน นำกล่าวบทพุทธานุสสติ อิติปิ โส ภะคะวา, ผู้ร่วมพิธีทุกคน ทุกฐานะ รับกล่าวพร้อมกัน เพราะเหตุอย่างนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น, ...ไปจนจบบทพุทธานุสสติ ต่อด้วยบทธัมมานุสสติ และบทสังฆานุสสติ

สมณะผู้เป็นประธาน นำกล่าวบทชยปริต มหากรุณิโก นาโถ ผู้ร่วมพิธีทุกคน ทุกฐานะ รับกล่าวพร้อมกัน พระโลกนาถ ผู้ทรงพระกรุณาอันยิ่งใหญ่, ...ไปจนจบบทชยปริต

สมณะผู้เป็นประธาน นำกล่าวบทภวตุสัพ ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง, ผู้ร่วมพิธีทุกคน ทุกฐานะ รับกล่าวพร้อมกัน มงคลทั้งปวง, พึงเกิดขึ้น ...ไปจนจบบทภวตุสัพ เป็นอันเสร็จสิ้นการสวดมนต์ทำวัตรเช้า

เพื่อให้ผู้เรียนระลึกถึงธรรม ได้ดวงตาเห็นธรรม ขณะสวดมนต์ และเป็นการสร้างพุทธประเพณีของชาวพุทธ เกิดความสะอาด สว่าง สงบ ขึ้นในจิตใจในระหว่างทำพิธี

9. ฟังธรรม (ธรรมะก่อนรุ่งอรุณ, ธรรมะก่อนฉัน, พรก่อนจาก)

เวลา คาบละ 60 นาที (จำนวน 8 คาบ กิจกรรมละ 1 คาบ)

กิจกรรม ฟังธรรมหลังทำวัตรเช้า, ธรรมะก่อนฉัน, ตอบปัญหาธรรมะ และ พรก่อนจาก
-ธรรมะก่อนรุ่งอรุณ เรื่อง ชีวิตที่ปลอดหนี้
-ธรรมะก่อนรุ่งอรุณ เรื่อง ศีลนำสุขมาให้
-ธรรมะก่อนรุ่งอรุณ เรื่อง ปาฏิหาริย์ของการรวมพลัง
-ธรรมะก่อนรุ่งอรุณ เรื่อง ทางเลือกใหม่ใสหรือยัง
-ธรรมะก่อนรุ่งอรุณ เรื่อง ก้าวที่สองของชีวิต
-ธรรมะก่อนฉัน เรื่อง ชีวิตที่ปลอดภัย
-ธรรมะก่อนฉัน เรื่อง ศีลเด่น เป็นงาน ชาญชีวิต
-ตอบปัญหาธรรมะ
-พรก่อนจาก

วิทยากร สมณะ, นักเรียนสัมมาสิกขา (ผู้แสดงรีวิวประกอบเพลง)

สื่อ-อุปกรณ์ -โสตทัศนูปกรณ์ ...สื่อลำดับที่ 2 (1)

คำอธิบาย สมณะบรรยายธรรม เรื่อง ชีวิตที่ปลอดหนี้ หนี้ เป็น ภาระ ที่จะต้องชดใช้ ทั้งหนี้ทางวัตถุ เงินทอง และหนี้ทางธรรม หรือ หนี้กรรม หนี้เกิดจากพฤติกรรมที่ผิดศีล ดังนั้น ชีวิตที่ปลอดหนี้ หมายถึง พฤติกรรมการกิน อยู่ หลับนอน ที่ไม่ละเมิดศีล 5 เป็นอย่างต่ำ กล่าวคือ (1) นอกจากไม่ฆ่า ทำร้ายสัตว์แล้ว ยังต้องไม่เป็นผู้ที่เป็นเหตุแห่งการฆ่าหรือทำลายสัตว์เหล่านั้นด้วย จนเกิดเมตตาธรรมขึ้นในจิตใจจริงๆ (2) นอกจากไม่ลักทรัพย์ ไม่เอาเปรียบคนอื่นแล้ว ยังต้องเสียสละทรัพย์ เสียสละแรงงาน โดยรับค่าตอบแทนน้อยๆ หรือไม่รับเลย สรุปว่าเป็นผู้ “เสียเปรียบ” ให้ได้ จริงๆ (3) นอกจากไม่ประพฤตผิดภรรยา สามี ลูก หรือบุคคลที่มี ผู้ปกครอง หวงแหน แล้ว ยังต้องลด ละ เลิก กามคุณ และสังวรระวังกาย วาจา ใจ ที่จะไม่เปิดช่องทางให้ประพฤตผิดในกามทั้งหลาย (4) นอกจากไม่พูดปด พูดส่อเสียด พูดด่า พูดเพ้อเจ้อ แล้ว ยังต้องพูดแต่สิ่งที่เป็นสาระ เป็นธรรม (5) นอกจากจะไม่ดื่มสุรา สูบบุหรี่ หรือเสพของมึนเมา หรือบริโภคสิ่งมอมเมาทั้งหลายแล้ว เช่น อบายมุขทุกชนิด ยังต้องเป็นผู้มีสติ มีสมาธิ ที่มั่นคง ไม่หวั่นไหว รู้ ตื่น เบิกบาน เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ ความเข้าใจ ต้นเหตุแห่งการเป็นหนี้ และเห็นโทษภัยของความเป็นหนี้ จนเกิดจิตสำนึกที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิต จากเป็นคนไม่มีศีล กลายเป็นคนมีศีล

สมณะบรรยายธรรม เรื่อง ศีลนำสุขมาให้ ผู้มีศีลย่อมอยู่เป็นสุข อานิสงส์ของศีลที่เป็นกุศล คือ ทำให้มีโภคทรัพย์อันบริบูรณ์ (สีเลนะ โภคสัมปทา) ช่วยยกจิตวิญญาณให้สูงขึ้น และเมื่อตายจากโลกนี้ไปแล้ว จะไปสู่ภพภูมิที่ดี (สีเลนะ สุคติงยันติ) และเป็นเครื่องนำพาไปสู่ความพ้นทุกข์สิ้นเชิง (สีเลนะ นิพพุติงยันติ) เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความเลื่อมใส ศรัทธา และเชื่อมั่นว่า การรักษาศีลให้บริสุทธิ์นั้น เป็นวิถีทางนำสุขมาให้

สมณะบรรยายธรรม เรื่อง ปฏิหาริย์ของการรวมพลัง ผู้มีศีล เมื่อมาอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ก็เกิดพิธีกรรม เกิดพฤติกรรม และเกิดกิจกรรม จนก่อตัวเป็นเป็นรูปร่าง เกิดเป็นวัฒนธรรมชุมชนที่เป็นของตนเอง เรียกว่า วัฒนธรรมบุญนิยม เมื่อสมาชิกของกลุ่มเกิดความมั่นใจในความเป็นภราดรภาพ ก็ก่อตั้งเป็นชุมชน เกิดกิจการงานด้านต่างๆ คือ เศรษฐกิจ การค้า การศึกษา การสาธารณสุข การเมือง ซึ่งอยู่ภายใต้ระบบบุญนิยม ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง พึ่งตนเองได้ในทุกๆ ด้าน เพื่อให้ผู้เรียนรู้ และเข้าใจว่า การพัฒนาคนให้มีศีล 5 ลด ละอบายมุขนั้น เป็นสิ่งสำคัญที่สุด เมื่อคนดีรวมกลุ่มกัน ทำกิจกรรมเสียสละร่วมกัน จึงจะเกิดชุมชนชาวพุทธที่เข้มแข็ง พึ่งตนเองได้ และเป็นที่พึ่งของคนได้ด้วย

สมณะบรรยายธรรม เรื่อง ทางเลือกใหม่ใสหรือยัง ทางเลือกใหม่ หมายถึง การดำเนินชีวิตที่อยู่ในกรอบของศีล 5 ลด ละ อบายมุข กินมังสวิรัติ ประกอบสัมมาอาชีพ (อาชีพที่ไม่เข้าข่าย มิจฉาวณิชชา 5 ประการ) ทำกสิกรรมไร้สารพิษ หรือเกษตรอินทรีย์ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความรู้ ความเข้าใจ และเกิดความมั่นใจ ในแนวทางชีวิตใหม่

สมณะบรรยายธรรม เรื่อง ก้าวที่สองของชีวิต ก้าวแรกเป็นก้าวที่ผิดพลาด นำความเดือดเนื้อร้อนใจมาให้ เพราะเป็นหนทางที่ผิดศีลธรรม เต็มไปด้วยสารพิษ แต่เมื่อมาพบทางธรรม พร้อมหรือยังที่เดินไปบนเส้นทางทวนกระแสสายนี้ แม้จะเจ็บปวดบ้าง ก็เป็นเพราะกิเลสมันออกฤทธิ์ทำร้าย แต่ไม่ถึงกับทำให้เราตาย สุดท้ายเราไม่ให้อาหารมัน เท่ากับเราเป็นนายเหนือมัน ปัญญาก็จะเกิด ความผาสุก ก็จะตามมา นี่คือก้าวที่สองของชีวิต เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความปักใจมั่น กล้าที่จะทวนกระแส กล้าที่จะปฏิญญาณตน ลด ละ เลิก อบายมุข ถือศีล 5 ให้ได้ แม้จะกลับไปบ้านแล้ว

สมณะบรรยายธรรม เรื่อง ชีวิตที่ปลอดภัย ภัยของชีวิต ได้แก่ ภัยที่เกิดจากการละเมิดศีล ผลกรรมแห่งการทำผิดศีล 5 ข้อ ศีลที่เป็นกุศล จะส่งผลทำให้ชีวิตปลอดภัย ปลอดภัยจากโรค หรือมีโรคเบียดเบียนน้อย เพราะกินอาหารมังสวิรัติ ปลอดภัยจากการทำร้าย เพราะมีจิตเมตตา กรุณา ปลอดภัยจากโจร เพราะเป็นผู้มักน้อย สันโดษ ปลอดภัยจากการลอบประทุษร้ายทั้งทางกาย วาจา เพราะไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่เป็นผู้พูดปด พูดส่อเสียด พูดด่า พูดเพ้อเจ้อ ปลอดภัยจากอันตรายต่างๆ เพราะเป็นผู้มีสติสมบูรณ์ ไม่เป็นทาสของสิ่งเสพติดทั้งปวง มีของมึนเมา เป็นต้น เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความรู้ ความเข้าใจ เรื่องผลกรรมของการทำผิดศีล และอานิสงส์ของศีล และผู้เรียนสามารถวิเคราะห์พฤติกรรมที่ทำผิดศีลได้ด้วย

สมณะบรรยายธรรม เรื่อง ศีลเด่น เป็นงาน ชาญชีวิต ชีวิตที่มีศีล เป็นชีวิตที่ปลอดภัย ผู้ใดประพฤติอยู่ในศีลธรรม ในระดับ “ศีลเด่น” แล้วแสวงหางานที่ไม่เป็นโทษ (งานในระดับโลกุตระ) งานจะเป็นบทฝึกหัดให้เกิดการเรียนรู้ ทักษะวิชาชีพไปด้วย เรียนรู้การเอาชนะกิเลสไปด้วย เรียกว่า “เป็นงาน” ทำให้เกิดปัญญาฉลาดขึ้นในการเลือกเสพ คบคุ้น สิ่งที่อยู่รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นวัตถุธรรม นามธรรม ยั่วยุมอมเมาหรือไม่ก็ตาม จิตย่อมรู้เท่าทัน เกิดความมี ความเป็น “ชาญชีวิต” จนพึ่งตนเองได้ ไม่ตกเป็นทาสทางวัตถุธรรม และโลกธรรม เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความรู้ ความเข้าใจ ของการประพฤติปฏิบัติ ศีลเด่น เป็นงาน ชาญชีวิต นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้เมื่อกลับไปอยู่บ้าน

สมณะตอบปัญหาธรรมะ จากคำถามทุกคำถามที่มีผู้ถามตรง หรือถามด้วยกระดาษคำถาม เพื่อขจัดข้อสงสัย หรือปัญหาที่ผู้เรียนต้องการรู้ ทุกเรื่อง

สมณะให้พรแก่ผู้เรียน ก่อนจะเดินทางกลับบ้าน ด้วยการให้กำลังใจ แนวคิด แนวปฏิบัติในชีวิตประจำวัน การต่อสู้กับความรู้สึกเก่าๆ เมื่อกลับไปถึงบ้าน เคล็ดวิธีการเอาชนะกิเลส เพื่อให้ผู้เรียนรู้จักนำธรรมะ ความรู้ ทักษะ วิธีการต่างๆ ที่ได้เรียนรู้จากศูนย์ฝึกอบรม ไปปฏิบัติที่บ้านอย่างได้ผล

เมื่อสิ้นสุดเวลาฟังธรรม ถ้าเป็นธรรมก่อนรุ่งอรุณ ให้กราบลาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แบบเบญจางคประดิษฐ์ 3 ครั้ง เหมือนเมื่อตอนเริ่มทำพิธีทำวัตรเช้า ถ้าเป็นธรรมะก่อนฉัน หรือธรรมะในเวลาอื่นๆ ให้กราบลาพระธรรม แบบเบญจางคประดิษฐ์ 1 ครั้ง เพื่อให้ผู้เรียนรู้จักกตัญญู นอบน้อม และศรัทธาต่อคำสอน

10. สวดมนต์ – นั่งสมาธิ ก่อนนอน

เวลา คาบละ 30 นาที (จำนวน 4 คาบ)

กิจกรรม –สวดมนต์
–สมาธิพุทธ สมาธิฤาษี

วิทยากร สมณะ

สื่อ-อุปกรณ์ บทสวดมนต์แปล ...สื่อลำดับที่ 12 (1) (2) (3) (4) (5) (6) (8)

คำอธิบาย ผู้เรียนทุกคน เข้าศาลาฟังธรรมนั่งเป็นแถวประจำกลุ่มของตน พร้อมกันกับคนวัดทุกฐานะ การนั่ง การกราบ บทสวดมนต์ เหมือนกิจกรรมสวดมนต์ ทำวัตรเช้า เพื่อให้ผู้เรียนระลึกถึงธรรม ได้ดวงตาเห็นธรรม ในขณะสวดมนต์ และเป็นการสร้างพุทธประเพณีของชาวพุทธ เกิดความสะอาด สว่าง สงบ ขึ้นในจิตใจในระหว่างทำพิธี

แนะนำลักษณะ และคุณประโยชน์ของ สมาธิพุทธ กับ สมาธิฤาษี ตลอดจนวิธีฝึกสมาธิทั้งสองแบบ เพื่อให้ผู้เรียนเห็นความแตกต่างของสมาธิพุทธ กับสมาธิฤาษี แล้วเลือกเอาส่วนที่เป็นคุณประโยชน์มาใช้ให้ถูกกับกาละ

11. เรียนรู้ด้วยการกระทำ

เวลา คาบละ 120 นาที (จำนวน 3 คาบ เลือกวันละ 1 กิจกรรม ต่อ 1 คาบ)

กิจกรรม ปฏิบัติกิจกรรมในพื้นที่
1. สัมผัสแม่ธรณีที่ “สวนเบิกบุญ”
2. ปรับปรุงดินด้วยพืชสดคลุมดิน
3. ปรับปรุงดินด้วยน้ำหมักจุลินทรีย์ ปุ๋ยสะอาดไอเอ็มโอ และปลูกพืชคลุมดิน

วิทยากร ปฏิบัติกร, พี่เลี้ยง, นักวิชาการ

สื่อ-อุปกรณ์ เคียว, รถเข็น, เข่งใส่วัชพืช, จอบ, กรรไกรตัดหญ้า, มีดดายหญ้า,
น้ำหมักจุลินทรีย์, เครื่องฉีดพ่นน้ำหมัก, บัวรดน้ำ ...สื่อลำดับที่ 20
-เพลงงานหนักไม่เคยฆ่าคน ...สื่อลำดับที่ 36(2)

คำอธิบาย (1) สัมผัสแม่ธรณีที่ “สวนเบิกบุญ” ให้ผู้เรียนแต่ละกลุ่ม เลือกเครื่องมือสำหรับดายหญ้า และบัวรดน้ำ พร้อมด้วยน้ำหมักจุลินทรีย์ ลงปฏิบัติพื้นที่ที่จัดแบ่งไว้ให้ (สวนเบิกบุญ) ปฏิบัติกรบรรยายคุณค่าของพืชคลุมดิน หน้าที่ของจุลินทรีย์ และสาธิตวิธีคลุมหญ้า คลุมฟาง และรดด้วยน้ำหมักจุลินทรีย์ เพื่อปลูกฝังทัศนะใหม่ให้แก่ผู้เรียน ให้เห็นว่าวัชพืช ไม่ใช่ศัตรูของพืช แต่เป็นอาหารของพืช และเป็นวัสดุบำรุงดิน สามารถนำไปเป็นปุ๋ยพืชสดได้ โดยมีจุลินทรีย์เป็นตัวเร่ง

(2) ปรับปรุงดินด้วยพืชสด หมายถึง การนำพืชสดที่เก็บเกี่ยวไว้ ไปกองไว้ในพื้นที่ หรือโคนต้นไม้ยืนต้นที่ต้องการจะให้ปุ๋ย แล้วราดรดด้วยน้ำหมักจุลินทรีย์ หมัก ทิ้งไว้ 10 – 15 วัน เพื่อให้จุลินทรีย์ย่อยสลายพืชสดให้เป็นปุ๋ย

ให้ผู้เรียนแต่ละกลุ่มเลือกอุปกรณ์ เลือกพื้นที่ที่จะเก็บเกี่ยวพืชสด (หญ้า, พืชตระกูลถั่ว) ตามที่ศูนย์ฝึกอบรมจัดไว้ให้ ลงมือเก็บเกี่ยวพืชสดให้มากที่สุดมากองไว้ในบริเวณที่ตั้งกองปุ๋ย จากนั้นผู้เรียนแต่ละกลุ่มบอกสรรพคุณธาตุอาหารบำรุงดิน ที่มีอยู่ในพืชนั้น ก่อนราดรดด้วยน้ำหมักจุลินทรีย์ เพื่อฝึกทักษะในการทำปุ๋ยพืชสดจุลินทรีย์ในพื้นที่

(3) ปรับปรุงดินด้วยน้ำหมักจุลินทรีย์ ปุ๋ยสะอาดไอเอ็มโอ และปลูกพืชคลุมดิน ให้ผู้เรียนแต่ละกลุ่ม เตรียมอุปกรณ์ในการปรับปรุงดิน พร้อมด้วยน้ำหมัก
จุลินทรีย์ที่ผสมได้อัตราส่วนที่ถูกต้องแล้ว ปฏิบัติในพื้นที่ที่จัดแบ่งไว้ให้ ตามคำแนะนำของปฏิบัติกร และพี่เลี้ยง เพื่อทบทวนและเพิ่มทักษะความชำนาญ ในการใช้น้ำหมักจุลินทรีย์ ตลอดจนตระหนักในคุณค่าของพืชคลุมดิน

12. รับประทานอาหาร

เวลา คาบละ 30-60 นาที (จำนวน 9 คาบ)

กิจกรรม รับประทานอาหาร
-ตักอาหาร
-การลุก นั่ง นั่งดื่มน้ำ
-พิจารณาก่อนรับประทานอาหาร
-บทเรียนบนโต๊ะอาหาร (อาหารใจ อาหารกาย)

วิทยากร พิธีกร, นันทนากร, พี่เลี้ยง, เจ้าหน้าที่บริการอาหารและเครื่องดื่ม, แม่ครัว

สื่อ-อุปกรณ์ -โสตทัศนูปกรณ์ ...สื่อลำดับที่ 2
-ถาดและแก้วน้ำ ใส่อาหารประจำตัวผู้เรียนแต่ละคน ...สื่อลำดับที่ 8 (1)
-แผ่นพับ ตำรับอาหาร ตารางแสดงคุณค่า อาหารมังสวิรัติ ...สื่อลำดับที่ 21
-บทพิจารณาอาหาร ...สื่อลำดับที่ 13

คำอธิบาย ผู้เรียนลุกยืนเป็นแถว เดินไปตักอาหารที่โต๊ะอาหารที่จัดไว้ให้ แล้วกลับไปนั่งรอยังที่นั่งของตน พิธีกรแนะนำ รายการอาหารแต่ละมื้อ คุณค่าของอาหารในมื้อนั้น และแนะนำ วิธีล้างจานที่ถูกต้องตามวัฒนธรรมบุญนิยม ตลอดจนบอกเกณฑ์การวัดผลในการรับประทานอาหาร คือ กินให้หมด งดเสียงดัง ลุกนั่งก็สะอาด จากนั้น พิธีกรกล่าวนำพิจารณาอาหาร (หลังสมณะพิจารณาอภิณหปัจจเวกขณ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว) เพื่อจัดระเบียบการรับประทานอาหารของผู้เรียน และเพื่อให้ผู้เรียนเกิดความรู้ ความเข้าใจ และตระหนัก ในคุณค่าของอาหารมังสวิรัติ ตลอดจนให้ความสำคัญต่อชาวนา และพ่อครัวแม่ครัว

13. ล้างจาน ล้างใจ

เวลา คาบละ 30 นาที (จำนวน 9 คาบ)

กิจกรรม ล้างจาน
-แยกขยะเศษอาหาร
-เช็ดเศษกากอาหารที่ติดมากับภาชนะให้หมดจด ด้วยฟองน้ำ (ล้างจานชุดเล็ก)
-จุ่มภาชนะกะละมังแรก
-เริ่มล้างตั้งแต่กะละมังน้ำซักฟอก ใบที่ 2 และกะละมังน้ำเปล่า ใบที่
3 – 4 – 5 – 6 ตามลำดับ
-เช็ดถูภาชนะ นำไปเก็บในสถานที่จัดไว้ให้

วิทยากร เจ้าหน้าที่บริการ 5 ส., พี่เลี้ยง, เจ้าหน้าที่ประเมินผล

สื่อ-อุปกรณ์ ชุดอุปกรณ์ล้างจาน ...สื่อลำดับที่ 22

คำอธิบาย ผู้เรียนรับประทานอาหารเสร็จแล้ว ก่อนลุกไปล้าง ให้กราบลาพระสงฆ์ก่อน 1 ครั้ง ไปเข้าแถวรอล้างจานในสถานที่จัดไว้ให้ ล้างตามขั้นตอน แยกเศษอาหาร (ถ้ามี) ลงถังขยะ ใช้ฟองน้ำในถาด เช็ดคราบอาหารในจาน แล้วนำภาชนะไปจุ่มน้ำเปล่าที่กะละมังใบแรก (ใบใหญ่) ล้างในกะละมังน้ำซักใบที่ 2 แล้วล้างน้ำเปล่าในกะละมังใบที่ 3 – 4 – 5 – 6 ตามลำดับ เสร็จแล้วเช็ดภาชนะให้แห้ง และนำไปเก็บเข้าที่ เพื่อให้ผู้เรียน รู้จักวิธีล้างจาน เป็นการสร้างวัฒนธรรมใหม่ของชาวบุญนิยม

14. ฝึกงานสัมมาอาชีพ

เวลา คาบละ 120 นาที (จำนวน 2 คาบ วันละ 1 คาบ)

กิจกรรม ฝึกปฏิบัติงานสัมมาอาชีพ ตามฐานงานต่างๆ ดังนี้
1. ฐานงานเลือก ได้แก่ ฐานแปรรูปข้าว ฐานแปรรูปสมุนไพร ฐานเห็ด และ
ฐานแชมพู (1 คาบ) ผู้เรียน 1 คน ให้เลือกฝึกปฏิบัติได้ ไม่เกิน 2 ฐานงาน
2. ฐานงานบังคับ ได้แก่ ฐานอาหารมังสวิรัติ (1 คาบ) ผู้เรียนทุกคน ต้องเข้า
ฝึกปฏิบัติฐานงานนี้

วิทยากร พิธีกร, ปฏิบัติกร, พี่เลี้ยง, แม่ครัว, เจ้าหน้าที่ประเมิน

สื่อ-อุปกรณ์ เพลงงานคือชีวิต ...สื่อลำดับที่ 36 (3)
(1) อุปกรณ์ และสถานที่ ฝึกปฏิบัติแปรรูปข้าว ที่โรงครัว
...สื่อลำดับที่ 23 (1)

(2) อุปกรณ์ และสถานที่ ฝึกปฏิบัติแปรรูปสมุนไพร ที่โรงแปรรูปสมุนไพร
...สื่อลำดับที่ 24 (1)

(3) อุปกรณ์ และสถานที่ ฝึกปฏิบัติเพาะเห็ดนางฟ้า ที่โรงเห็ด
...สื่อลำดับที่ 25 (1)

(4) อุปกรณ์ และสถานที่ ฝึกปฏิบัติทำแชมพู ที่โรงแชมพู
...สื่อลำดับที่ 26 (1)

(5) อุปกรณ์ และสถานที่ ฝึกปฏิบัติประกอบอาหารมังสวิรัติ ที่โรงครัว
...สื่อลำดับที่ 21, 27 (1)

คำอธิบาย (1) การแปรรูปข้าว อธิบายและสาธิตวิธีทำปาท่องโก๋ เพื่อเรียนรู้ทักษะ วิธีการ และการประยุกต์ใช้ในโอกาสต่างๆ ... ดูขั้นตอนการทำ ตามสื่อลำดับที่ 23 (2)

(2) การแปรรูปสมุนไพร อธิบายและสาธิตวิธีทำ???????? เพื่อเรียนรู้ทักษะ วิธีการ และการประยุกต์ใช้ในครัวเรือน และในโอกาสต่างๆ ... ดูขั้นตอนการทำ ตามสื่อลำดับที่ 24 (2)

(3) การเพาะเห็ดนางฟ้า อธิบายและสาธิตวิธีเพาะเห็ดนางฟ้า เพื่อเรียนรู้ทักษะ วิธีการ และการประยุกต์ใช้ในครัวเรือน และเพื่อการค้า ... ดูขั้นตอนการทำ ตามสื่อลำดับที่ 25 (2)

(4) การทำแชมพู อธิบายและสาธิตวิธีทำแชมพู เพื่อเรียนรู้ทักษะ วิธีการ และการประยุกต์ใช้ในครัวเรือน และในโอกาสต่างๆ ... ดูขั้นตอนการทำ ตามสื่อลำดับที่ 26 (2)

(5) การประกอบอาหารมังสวิรัติ อธิบายและสาธิตวิธีปรุงอาหารมังสวิรัติ เพื่อเรียนรู้ทักษะ ขั้นตอน วิธีทำ และการประยุกต์วิธีการประกอบอาหารประเภทอื่นๆ ต่อไป ... ดูขั้นตอนการทำ ตามสื่อลำดับที่ 27 (2)

15. ปฏิบัติการ IMO

เวลา 120 นาที

กิจกรรม สาธิตและฝึกปฏิบัติ (ต่อจากระบบนิเวศ)
1. น้ำหวานหมักจากพืชสีเขียว
2. น้ำหวานหมักจากผลไม้
3. หัวเชื้อดินหมักจุลินทรีย์
4. น้ำหมักจุลินทรีย์

วิทยากร พิธีกร, ปฏิบัติกร, นักวิชาการ ด้านเกษตรอินทรีย์

สื่อ-อุปกรณ์ (1) อุปกรณ์การทำน้ำหวานหมักจากพืชสีเขียว ...สื่อลำดับที่ 15 (1)
(2) อุปกรณ์การทำน้ำหวานหมักจากผลไม้ ...สื่อลำดับที่ 16 (1)
(3) อุปกรณ์การทำหัวเชื้อดินหมักจุลินทรีย์ ...สื่อลำดับที่ 17 (1)
(4) อุปกรณ์การทำน้ำหมักจุลินทรีย์สำหรับฉีดพ่น ...สื่อลำดับที่ 18 (1)
(5) ความรู้พื้นฐานเรื่องจุลินทรีย์ โดย รศ.อาภรณ์ ภูมิพันนา ...สื่อลำดับที่ 19

คำอธิบาย (1) ปฏิบัติกร หรือ นักวิชาการด้านเกษตรอินทรีย์ บรรยายและสาธิต ขั้นตอน
การทำ น้ำหวานหมักจากพืชสดสีเขียว เพื่อให้ผู้เรียนนำไปฝึกปฏิบัติจริงตามฐานงานที่มอบหมาย ...ดูขั้นตอนการทำ ตามสื่อลำดับที่ 15 (2)

(2) ปฏิบัติกร หรือ นักวิชาการด้านเกษตรอินทรีย์ บรรยายและสาธิต ขั้นตอน
การทำ น้ำหวานหมักจากผลไม้ เพื่อให้ผู้เรียนนำไปฝึกปฏิบัติจริงตามฐานงานที่มอบหมาย ...ดูขั้นตอนการทำ ตามสื่อลำดับที่ 16 (2)

(3) ปฏิบัติกร หรือ นักวิชาการด้านเกษตรอินทรีย์ บรรยายและสาธิต ขั้นตอนในการทำ หัวเชื้อดินหมัก IMO เพื่อให้ผู้เรียนนำไปฝึกปฏิบัติจริงตามฐานงานที่มอบหมาย ...ดูขั้นตอนการทำ ตามสื่อลำดับที่ 17 (2)

(4) ปฏิบัติกร หรือ นักวิชาการด้านเกษตรอินทรีย์ บรรยายและสาธิต ขั้นตอนการผสม น้ำหมักจุลินทรีย์ IMO เพื่อให้ผู้เรียนนำไปใช้ในไร่นาสวนของตน ...ดูขั้นตอนการทำ ตามสื่อลำดับที่ 18 (2)

16. เพาะถั่วงอก

เวลา 30 นาที

กิจกรรม เพาะถั่วงอกในถังเพาะ
-การคัดเลือกเมล็ดถั่วสำหรับเพาะ
-การเตรียมวัสดุสำหรับเพาะ
-วิธีการเพาะถั่วงอก และการเก็บเกี่ยว
-คุณค่าทางโภชนาการ และคุณค่าทางยา

วิทยากร ปฏิบัติกร

สื่อ-อุปกรณ์ - ถังพลาสติกทึบพร้อมฝาปิด ขนาดปริมาตรความจุ 1 แกลลอน เจาะรูที่ก้นถัง
ด้วยสว่านเบอร์ 3.2 จำนวน 12 รู
- เมล็ดถั่วเขียวแห้งใหม่ หนัก 150 กรัม
- กะละมังสำหรับแช่เมล็ดถั่วเขียว
...สื่อลำดับที่ 28

คำอธิบาย อธิบายวิธีคัดเลือกเมล็ดถั่วสำหรับเพาะ การเตรียมถังพลาสติกสำหรับเพาะ วิธีการเพาะ การบำรุงดูแล ให้น้ำ การเก็บเกี่ยวผลผลิต คุณค่าทางโภชนาการ และคุณค่าทางยา เพื่อให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติ นำถั่วที่แช่น้ำค้างคืน ลงถังเพาะ ให้น้ำวันละ 3 ครั้ง เก็บในที่มืด แห้ง และสะอาด เป็นเวลา 3 วัน จะได้ถั่วงอกตามต้องการ นำไปประกอบอาหารได้

17. ค้นหากิจกรรมการพัฒนาตนเอง

เวลา 120 นาที

กิจกรรม 1. ระดมความคิด
-ปัญหาและอุปสรรค หรือความทุกข์ ที่ได้รับ
-ความคาดหวังก่อนเข้ารับการฝึกอบรม
-สิ่งที่ได้รับในระหว่างการฝึกอบรม
-สิ่งที่จะทำต่อไปหลังเสร็จสิ้นการฝึกอบรม (ตนเอง, ครอบครัว, ชุมชน)

2. ประเมินผล ศีลเด่น เป็นงาน ชาญชีวิต

วิทยากร พิธีกร, เจ้าหน้าที่ ธกส., ผู้อำนวยการศูนย์ฝึก

สื่อ-อุปกรณ์ โสตทัศนูปกรณ์ ...สื่อลำดับที่ 2 (1)
แผ่นกระดาษ ขนาด A0 กลุ่มละ 3 แผ่น พร้อมปากกาสีต่างๆ
แผ่นกระดานป้าย (บอร์ด) พร้อมกาวติดกระดาษ
แบบประเมินผลคนของแผ่นดิน หมายเลข 1 ...สื่อลำดับที่ 30
แบบประเมินผลคนของแผ่นดิน หมายเลข 3 ...สื่อลำดับที่ 32
แบบประเมินผลคนของแผ่นดิน หมายเลข 4 ...สื่อลำดับที่ 33
แบบประเมินผลคนของแผ่นดิน หมายเลข 6 ...สื่อลำดับที่ 35

คำอธิบาย กลุ่มผู้เรียนอภิปรายค้นหาปัญหาและอุปสรรค หรือความทุกข์ที่สมาชิกภายในกลุ่มได้รับ และหาทางออกไม่ได้ โดยอภิปรายในประเด็นด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านการศึกษา ด้านสุขภาพอนามัย และด้านจิตใจ (รายได้, ครอบครัว, การเรียน, ความเจ็บป่วย, กำลังใจ) เพื่อค้นหาความคาดหวังที่สมาชิกต้องการ เสร็จแล้วช่วยกันสรุปลงบนแผ่นกระดาษ ส่งตัวแทนออกไปรายงาน

กลุ่มผู้เรียนอภิปรายค้นหาสิ่งที่ได้รับในระหว่างการฝึกอบรม โดยอภิปรายในประเด็นด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านการศึกษาเรียนรู้ ด้านสุขภาพอนามัย และด้านจิตใจ กำลังใจ เพื่อสรุปสาระสำคัญลงบนแผ่นกระดาษ นำเสนอต่อที่ประชุม

กลุ่มผู้เรียนอภิปราย คิดค้น สรุป โครงการ กิจกรรม ที่จะทำ หลังสิ้นสุดการฝึก อบรมแล้ว ในประเด็น การสร้างอาชีพใหม่ (กสิกรรมไร้สารพิษ) การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม (ถือศีล 5 ละอบายมุข) การแสวงหาความรู้และทักษะในทางสัมมาอาชีพ อาหาร สุขอนามัย ตลอดจน ความเชื่อความศรัทธาในทางศาสนา เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาศักยภาพชีวิต ในด้าน ส่วนตัว ครอบครัว และชุมชน โดยจะมีการประสานงาน การติดตามผล และประเมินผลร่วมกัน ระหว่าง ศูนย์ฝึกอบรม กับ เจ้าหน้าที่ ธกส. และเกษตกรซึ่งเป็นคนของแผ่นดิน

ผู้เรียนแต่ละกลุ่ม เขียนสาระสำคัญของ โครงการ กิจกรรม ลงบนแผ่นกระดาษ แล้วรายงานให้ที่ประชุมทราบ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ ธกส. และผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรม สรุปเป็นแนวทางที่สอดคล้องกัน และปฏิบัติร่วมกันได้

สมณะอธิบายวัตถุประสงค์ในการวัดผล ประเมินผลคนของแผ่นดิน และวิธีการกรอกข้อมูลลงในแบบฟอร์มต่างๆ เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจและกรอกข้อความ ตอบแบบสอบถาม แบบประเมินผลต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง แล้วส่งคืนเจ้าหน้าที่ศูนย์ฝึก

(ค.) กิจกรรมสาระบันเทิงและนันทนาการ

... มีต่อ ...