[4] หลักสูตรสัจธรรมชีวิต
หลักการ และความเป็นมาของหลักสูตรสัจธรรมชีวิต
สัจธรรมชีวิต หรือชีวิตที่เป็นสัจจะ หมายถึง
ชีวิตที่ทรงไว้ซึ่งคุณแห่งความดีงาม และคุณแห่งความดีงามนั้น ต้องเป็นสิ่งสากล
ที่ไม่ว่า ณ เวลาใด สถานที่ใด ก็ย่อม ดี ถูกต้อง และให้ประโยชน์เสมอ แล้วยังท้าท้ายให้พิสูจน์ได้ด้วย
และต้องเป็นไปได้จริง องค์ประกอบของชีวิต ประกอบด้วย กรรม และ กาละ
ที่ดำเนินไป ชีวิตใดทำกรรมดี สะสมกรรมดี (ทำดีหลายๆ ครั้ง) ย่อมต้องได้ดี
ชีวิตก็อยู่ผาสุก ในทางตรงข้าม หากทำกรรมชั่ว สะสมกรรมชั่ว (ทำชั่วหลายๆ
ครั้ง) ย่อมต้องได้ชั่ว ชีวิตก็อยู่อย่างลำบากยากเข็ญ คนที่ไม่ทำกรรมใดๆ
เลย ไม่มี หรือจะเรียกว่าเป็นคนไม่มีค่าเลยก็ว่าได้
คนที่อยู่ร่วมกันเป็นสังคม ย่อมต้องมีระบบ
มีกฎเกณฑ์ มีอาชีพ มีการศึกษา มีวัฒนธรรม มีรูปแบบการปกครอง ทุกคนที่เกิดมา
จะมีกิเลสติดตัวมาด้วย คนที่ยังตกอยู่ภายใต้อำนาจการครอบงำของกิเลส ต้องกิน
สูบ ดื่ม เสพ ถูกหลอกล่อ ให้บริโภคตามแต่กิเลสจะบัญชา จนกลายเป็นคนบริโภคนิยม-ทุนนิยม
เมื่อเป็นเช่นนี้ ไม่เพียงแต่ทรัพยากรของโลกถูกผลาญพร่า ทำลายไปเท่านั้น
ยังคงทิ้งขยะ และมลพิษ ไว้เป็นโทษเป็นภัยแก่โลกอีกด้วย ในเมื่อปัญหาอยู่ที่
คน การแก้ปัญหา ก็ต้องแก้ที่คนก่อน มิใช่แก้ไขที่ระบบก่อน เพราะ คน
เป็นผู้สร้าง ระบบ เพื่อให้ระบบเป็นผู้ควบคุมคน ถ้าคนดี ก็จะสร้างระบบดี
คนเลวก็จะสร้างระบบเลว ระบบที่ดี จะส่งเสริมให้คนดีทำดีได้สะดวก ในขณะเดียวกัน
ก็จะป้องกันมิให้คนเลว ทำเลวได้สะดวก ในทางกลับกัน ถ้าระบบเลว ก็จะปิดกั้นให้คนดีทำดียาก
แต่กลับจะส่งเสริมคนเลวให้ทำเลวมากขึ้น สะดวกขึ้น
ด้วยเหตุนี้ การแก้ไขปัญหาต่างๆ จึงต้องแก้ที่
คน เพราะคนคือที่มาของปัญหาทุกปัญหา เครื่องมือที่จะแก้ไขนิสัยของคนได้ดีที่สุดก็คือ
การศึกษาบุญนิยม และ สัมมาอาชีพ การจัดการศึกษาที่จะทำให้คนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมชั่ว
ไปสู่ดี หรือ ลด ล้างกิเลสที่ติดตัว ต้องมีศาสนาเป็นรากฐาน โดยสร้างสัมมาทิฎฐิ
(ความเข้าใจที่ถูกต้องถูกธรรม)ให้เกิดขึ้นก่อน แล้วจะได้ความพากเพียรที่มีพลัง
พร้อมด้วยสติที่มั่นคง นี่เป็นทางสายหลัก ที่จะคอยประคับคองให้ผู้คน เลือกที่จะเรียนรู้
และเลือกประกอบอาชีพที่สัมมา เกิดเป็นผลที่เจริญยิ่งๆ ขึ้น นี่คือกระบวนการ
สร้างคน เพื่อให้คนไปสร้างชาติต่อไป
แต่ในความเป็นจริง ชาวเกษตรกรไทย เริ่มต้นผิดทางตั้งแต่แรก
เชื่อว่าค่าของคน อยู่ที่ต้องมีวัตถุเงินทอง และความร่ำรวย เป็นตัววัด
จึงเสาะแสวงหาสิ่งเหล่านั้นมาบำรุงบำเรอตน ตราบเท่าที่แรงมี ปัญญามี เป็นช่องทางของการเอารัดเอาเปรียบที่ซับซ้อน
เป็นการ สร้างวัฒนธรรมทาส ในรูปแบบใหม่ ที่ผู้ตกเป็นทาสแล้ว ไม่สามารถปลดเปลื้องภาระทาสนี้ได้
กล่าวคือ เมื่อเกษตรกรต้องการผลผลิตเพิ่ม จะได้นำไปแลกกับสิ่งที่เรียกว่า
มายา (วัตถุ เงิน และความร่ำรวย) จึงต้องหันเข้าหาสิ่งปรุงแต่งธรรมชาติ
บีบคั้นเอาความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดิน กลายเป็นคนไม่รู้ค่าของแผ่นดิน ทำลายวงจรและวัฒนธรรมของความเป็น
แม่ คือ ทำลายแม่ธรณี (แผ่นดิน) ทำลายแม่คงคา (น้ำ) ทำลายแม่โพสพ (พืชพันธุ์
ธัญญาหาร) ด้วยการใช้สารเคมีสารพิษอย่างบ้าคลั่ง จนธรรมชาติเสียสมดุลย์
และที่สุดก็ทำลายตัวเอง ปัญหาต่างๆ ก็เพิ่มพูนเป็นทวี ชาวบัดนี้ เกษตกรเริ่มเห็นทุกข์
เห็นโทษภัยของการใช้สารเคมีแล้ว จนทำให้เกิดความคิดว่าถึงเวลาแล้วต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไข
ด้วยเหตุปัจจัยดังกล่าว หลักศาสนาเท่านั้น ที่จะช่วยขัดเกลา เปลี่ยนความเชื่อ
เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเสียใหม่ สร้างพฤติกรรมของการประกอบอาชีพให้ถูกธรรม
ต้องปลดแอกวัฒนธรรมทาสนี้ให้ได้
หลักสูตรสัจธรรมชีวิต มุ่งเน้นให้ผู้เข้ารับการอบรม
เชื่อว่าคุณค่าของชีวิตที่ดีนั้น ต้องเป็นคนดีมีศีล ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์
เสียสละ พอมีพอกิน พึ่งตนเองได้ รู้เท่าทันการโฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งตรงตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ที่ให้คนไทยสลัดความคิดเดิมๆ จากเคยพึ่งพาคนอื่น พึ่งการตลาดทุนนิยม กินมากใช้มาก
หันมาเป็นคนพออยู่พอกิน พอใจในสิ่งที่ตนมี ยินดีในสิ่งที่ตนได้ รวมตัวกันช่วยเหลือกันในรูปของสหกรณ์
ไม่ต้องพึ่งนายทุนทำให้สูญเสีย เงินทอง ไร่นา และทรัพยากร โดยไม่จำเป็นเลย
และนี่คือวิถีไทยที่จะกอบกู้ชาติได้อย่างยั่งยืน พึ่งตน จนเป็นที่พึ่งของคนอื่นได้
วัตถุประสงค์
1. เพื่อสร้างสัมมาทิฏฐิ ในการดำเนินชีวิต
ตามหลักอริยมรรคมีองค์ 8 แก่ผู้เข้ารับการอบรม
2. เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมเกิดจิตสำนึก
ฝึกตน ลด ละ เลิก อบายมุข เกิดเมตตาธรรม ยินดีน้อมรับวัฒนธรรมบุญนิยม
และวัฒนธรรมชุมชนที่ดี ที่พึ่งตนเองได้ ในการกิน อยู่ หลับนอน ขยัน สร้างสรร
การงาน ซื่อสัตย์ และเสียสละ
3. เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรม มีทักษะในการสร้างอาชีพจาก
กสิกรรมธรรมชาติ ลด ละ เลิก การใช้สารเคมีในไร่นา หันไปใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ในพื้นที่เพื่อการปรับปรุงดิน
ปรับปรุงพืช เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน เพิ่มผลผลิต เพิ่มคุณภาพ และเพิ่มรายได้อย่างยั่งยืน
4. เพื่อฟื้นฟูวัฒนธรรมการพึ่งตนเอง
วัฒนธรรมการลงแขก และวัฒนธรรมพออยู่พอกิน อันเป็นวิถีชีวิตของความเป็นไทย
ให้กลับคืนมา
ความคิดรวบยอด
1. สัจธรรมชีวิต
ชีวิต คือ การเกิดมาเพื่อหัดกระทำ ผู้ทำดี ฝึกดี หัดดี ก็จะได้ดีไป
ผู้กระทำชั่ว ฝึกแต่ตามใจกิเลส หัดแต่สิ่งไปสู่ทางต่ำ ก็จะได้แต่ชั่ว ได้แต่กิเลส
ได้แต่ความต่ำไป
แม้ภายนอกของผู้นั้น จะมีเงินร่ำรวย จะมียศล้นฟ้า
จะมีความงามสุดโลก จะมีเสียงไพเราะสุดใจ หรือจะมียอดสมบัติใดๆ อีกก็ตาม
ที่ไม่ใช่คุณสมบัติแห่งมโนธรรม ก็จะไม่ใช่ความดี สูง แท้ ที่ชีวิตพึงได้รับเลย
(สมณะโพธิรักษ์ 20 ธ.ค. 2519)
2. ผลกรรมแห่งการผิดศีล และ อานิสงส์ของศีลที่เป็นกุศล
ผลกรรมแห่งการฆ่ามนุษย์และสัตว์ อย่างเบาที่สุดแก่ผู้ที่มาเกิดเป็นมนุษย์
คือ เป็นผู้มีอายุน้อย
ผลกรรมแห่งการลักทรัพย์ อย่างเบาที่สุดแก่ผู้ที่มาเกิดเป็นมนุษย์
คือ ความพินาศแห่งสมบัติ
ผลกรรมแห่งการประพฤติผิดในกาม อย่างเบาที่สุดแก่ผู้ที่มาเกิดเป็นมนุษย์
คือ มีศรัตรูและถูกปองร้าย
ผลกรรมแห่งการพูดเท็จ อย่างเบาที่สุดแก่ผู้ที่มาเกิดเป็นมนุษย์
คือ ถูกกล่าวตู่ด้วยคำไม่จริง
ผลกรรมแห่งการพูดส่อเสียด อย่างเบาที่สุดแก่ผู้ที่มาเกิดเป็นมนุษย์
คือ มีการแตกจากมิตร
ผลกรรมแห่งการพูดคำหยาบ อย่างเบาที่สุดแก่ผู้ที่มาเกิดเป็นมนุษย์
คือ อยู่กับเสียงที่ไม่น่าพอใจ
ผลกรรมแห่งการพูดเพ้อเจ้อ อย่างเบาที่สุดแก่ผู้ที่มาเกิดเป็นมนุษย์
คือ ได้รับคำที่ไม่ควรเชื่อถือ
ผลกรรมแห่งการเสพของมึนเมาให้โทษ อย่างเบาที่สุดแก่ผู้ที่มาเกิดเป็นมนุษย์
คือ ความเป็นบ้า
(จากพระไตรปิฎก ภาษาไทย ฉบับหลวง เล่มที่
23)
อานิสงส์ของศีลที่เป็นกุศล คือ ทำให้มีโภคทรัพย์อันบริบูรณ์
(สีเลนะ โภคสัมปทา) ช่วยยกจิตวิญญาณให้สูงขึ้น และเมื่อตายจากโลกนี้ไปแล้ว
จะไปสู่ภพภูมิที่ดี (สีเลนะ สุคติงยันติ) และเป็นเครื่องนำพาไปสู่ความพ้นทุกข์สิ้นเชิง
(สีเลนะ นิพพุติงยันติ)
3. สิทธิ หน้าที่ และเสรีภาพ ของการเมืองบุญนิยม
สิทธิ คือ ทุกข์ ที่มนุษย์ทุกคนย่อมได้รับตราบเท่าที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์
หน้าที่ คือ รู้ทุกข์ (สมุทัย) และเป็นหน้าที่ของมนุษย์ทุกคน ที่ต้องทำทุกข์นั้นให้สิ้นไป
(มรรค)
เสรีภาพ คือ ไม่เป็นทาสทุกข์ ทาสวัตถุ ทาสกาม ทาสโลกธรรม และทาสอัตตาใดๆ
(นิโรธ-นิพพาน) ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ควรทำให้ได้ไม่ว่าจะเกิดมากี่ภพกี่ชาติก็ตาม
สิทธิ หน้าที่ และเสรีภาพ ของการเมืองทุนนิยม
สิทธิ คือ วัตถุ เงิน และอำนาจ อันเป็นของมายา
ที่มนุษย์ผู้โง่เขลา แสวงหา แย่งชิง อยากได้ อยากมี อยากเป็น
หน้าที่ คือ กักตุน หอบหวง ปกป้อง วัตถุ เงิน และอำนาจ นั้นไว้ให้นาน
ให้ได้มากที่สุด เท่าที่แรงมี หรือเท่าที่ยังมีลมหายใจอยู่
เสรีภาพ คือ สุขหลอกๆ ที่ได้เสพวัตถุ กาม อัตตา แม้เหน็ดเหนื่อยก็ยอมทนเป็นทาสทุกข์
ทาสวัตถุ ทาสกาม ทาสโลกธรรม และทาสอัตตา จึงท่องไปในนรก วนเวียนไม่จนสิ้นไปทุกภาพทุกชาติ
4. ธรรมะกับอำนาจ
ใช้ ธรรม เป็น อำนาจ คือ ธรรมาธิปไตย (บุญนิยม)
ใช้ อำนาจ เป็น ธรรม คือ อัตตาธิปไตย (สังคมนิยม)
ใช้ อธรรม เป็น อำนาจ คือ โลกาธิปไตย (ประชาธิปไตย)
ใช้อำนาจ อย่างไร้ธรรม คือ เผด็จการ (ทุนนิยม)
5. ปัจจัยทำให้คนดี คนชั่ว ได้แก่
สิ่งแวดล้อม ความพร้อมของเหตุการณ์ และสันดานเดิม
6. มิจฉาอาชีวะ 5 ประการ อาชีพที่ชาวพุทธไม่พึงกระทำ
กุหนา (การโกง)
ลปนา (การล่อลวง)
เนมิตตกตา (การตลบตะแลง)
นิปเปสิกตา (การยอมมอบตนในทางผิด)
ลาเภนะ ลาภัง นิชิคิงสนตา (การเอาลาภแลกลาภ)
7. มิจฉาวณิชชา 5 ประการ การค้าขายที่ชาวพุทธไม่พึงกระทำ
สัตถวณิชชา (การค้าขายศาสตราอาวุธ)
สัตตวิณิชชา (การค้าขายสัตว์เป็น)
มังสวณิชชา (การค้าขายสัตว์ตาย เนื้อสัตว์)
มัชชวณิชชา (การค้าขายน้ำเมา และของมอมเมา)
วิสวณิชชา (การค้าขายยาพิษ และสิ่งที่เป็นพิษ)
8. วรรณะ 9 ประการ ลักษณะชาวชุมชนบุญนิยม
เลี้ยงง่าย (สุภระ)
บำรุงง่าย (สุโปสะ)
มักน้อย (อัปปิจฉะ)
ใจพอ สันโดษ (สันตุฎฐิ)
ขัดเกลา (สัลเลขะ)
มีศีลเคร่ง (ธูตะ)
มีอาการที่น่าเลื่อมใส (ปสาทิกะ)
ไม่สะสม (อปจยะ)
ยอดขยัน (วิริยารัมภะ)
9. ระบบนิเวศ และราใบไม้สีขาว
สมาชิกของระบบนิเวศ ได้แก่ ต้นไม้ หรือผู้ผลิต
คนและสัตว์ หรือผู้บริโภค และจุลินทรีย์ หรือกลุ่มผู้ย่อยสลาย จุลินทรีย์
มีหน้าที่ย่อยสลายเศษพิษ อินทรีย์วัตถุทุกชนิด แล้วปลดปล่อยธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับพืชสะสมลงไปในดิน
จุลินทรีย์ที่เราสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการทำกสิกรรมไร้สารพิษ คือ ราใบไม้สีขาว
(IMO) ราใบไม้สีขาว สามารถนำมาหมักทำเป็น อาหารให้แก่พืชไร่ นา สวน ได้
คือ หัวเชื้อดินหมักราใบไม้สีขาว น้ำหวานหมักจากพืชสดสีเขียว น้ำหวานหมักจากผลไม้
ซีรัมของจุลินทรีย์ในกรดน้ำนม กรดอะมิโนจากเศษปลาสด และ ธาตุอาหารสมุนไพร
ป้องกันโรคและแมลงศัตรูพืช
ธรรมชาติของราใบไม้สีขาว คือชอบของสะอาด
และไม่ชอบที่ชื้นแฉะ และสารเคมี
สร้างระบบนิเวศ ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์เหมือนเดิม
มี 2 ขั้นตอน คือ การจัดการดิน และการจัดการพืช
10. กสิกรรมธรรมชาติ หมายถึง กิจกรรมที่ครอบคลุมถึงสิ่งต่อไปนี้
ระบบนิเวศของดิน น้ำ พืช สัตว์ อากาศ และสิ่งมีชีวิต
จุลินทรีย์ในพื้นที่ ตัวช่วยในการทำน้ำหมักชีวภาพ ปุ๋ยพืชสด เพื่อการปรับปรุงดิน
และพืช
การนำปุ๋ยคอกไปใช้ในพื้นที่
ถั่ว เพื่อการปรับปรุงดินเป็นหลัก ผลผลิตเป็นผลพลอยได้
นาธรรมชาติ ต้องไม่ไถ ไม่ปราบวัชพืช ไม่ใช้สารเคมี ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง
และไม่ใช้ปุ๋ยเคมี
ผักพื้นบ้าน และสวนป่า
ปลูกผักไร้สารพิษ
11. ประเภทของขยะ
ขยะเทียม (ของที่ยังดีๆ อยู่) นำมาใช้ใหม่ได้
หรือขายได้ หรือนำไปแลกเปลี่ยนได้ (reuse)
ขยะทิ้ง (ของเก่า หรือของที่ชำรุดแล้ว)
นำมาซ่อมแซมได้ (repair)
ขยะแท้ (ของชำรุดเสียหาย ใช้ไม่ได้แล้ว)
นำมาหลอม หรือดัดแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นได้ (recycle)
ขยะโทษ หรือขยะพิษ (ของที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
ชีวิต และสิ่งแวดล้อม) ต้องกำจัดอย่างถูกวิธี (reject)
ขยะธรรม (ของใหม่ ของมีค่า มีราคา เช่น
เพชร เงิน ซึ่งมันมากเกินจำเป็นสำหรับตน แต่จำเป็นสำหรับผู้อื่น) นำไปบริจาคให้แก่ผู้ที่ต้องการ
(return) ขยะประเภทนี้ มักไม่มีใครจะนำไปทิ้งในถังแยกขยะ นอกเสียจากคนผู้นั้นเห็นจริงแท้ว่า
ที่ตนนั้นมีขยะประเภทนี้ไว้ ยังหวง ยังยึดมันอยู่ แต่ถึงเวลาที่จะต้องทิ้ง
ก็จะนำไปบริจาคให้แก่ผู้ต้องการต่อไป หรือบริจาคให้แก่องค์กรการกุศล และเมื่อบริจาคออกไปแล้ว
ก็สร้างความเบากายเบาใจให้แก่ผู้นั้น
ขยะวิญญาณ (กิเลสในระดับ ทุกสภาพ) ให้รีบกำจัดออกจากใจโดยทันที
(retire) ถ้าขืนปล่อยมันไว้ มันจะโตและมีพลัง ทำอันตรายต่อความดีงามของผู้นั้นได้
ขยะประเภทนี้มีกันทุกคน แม้ในขณะทำการแยก และกำจัดขยะจริงๆ นี้อยู่
12. สำนึกกตัญญู 5 ส. คือ สะสาง
สะดวก สะอาด สุขลักษณะ สร้างนิสัย
13. ระบบบุญนิยม หมายถึง กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งต่อไปนี้
-ทฤษฎีกำไรขาดทุนของอาริยชนแท้
คือ ได้มา เป็นบาป คือขาดทุน เสียไป เป็นบุญ คือกำไร
-อุดมการณ์ของบุญนิยม คือ ขยัน กล้าจน
ทนเสียดที หนีสะสม นิยมสร้างสรร สวรรค์นิพพาน
-กำไรอาริยะ 4 ระดับ คือ ขายต่ำกว่าราคาตลาด
ขายเท่าทุน ขายต่ำกว่าทุน ให้ฟรี
-หลักการ 5 ข้อ ของการค้าขายในระบบบุญนิยม
คือ ขายถูก ไม่ฉวยโอกาส ขยันอุตสาหะ ประณีตประหยัด และซื่อสัตย์สุจริต
-ละเว้นการประกอบมิจฉาชีพ 5 ประการ (มิจฉาอาชีว
5) คือ การโกง ล่อลวง ตลบตะแลง ยอมมอบตนในทางผิด และเอาลาภแลกลาภ
-ละเว้นการค้าขายของต้องห้าม 5 ประการ
(มิจฉาวณิชชา 5) คือ สัตว์เป็น สัตว์ตาย อาวุธ ยาพิษ และของมึนเมา
14. วิปัสสนาจอแก้ว หมายถึงการสร้างภูมิปัญญา
สมาธิ จากการดูวิดีโอ และโทรทัศน์ ให้เกิดผล 4 ประการ คือ
เกิดอริยญาณ
ทำการปฏิบัติ
อัดพลังกุศล
ฝึกฝนโลกวิทู เพิ่มพหูสูต
15. ยอดนักรบบุญนิยม คือ เราจะทำในสิ่งที่บุคคลอื่นทำได้ยาก
เราจะอดทนในสิ่งที่บุคคลอื่นอดทนได้ยาก เราจะเอาชนะในสิ่งที่บุคคลอื่นเอาชนะได้ยาก
เราจะเสียสละในสิ่งที่บุคคลอื่นเสียสละได้ยาก
เนื้อหา และกิจกรรม
... มีต่อ ...