Index Page 1/1 Index Page Close

หน้าแรก >[04] กสิกรรม > คกร. > หลักสูตรสัจธรรมชีวิต

สารบัญ | โครงการ | ระเบียบการ | อุดมการณ์-ปรัชญา | หลักสูตร | เนื้อหา-กิจกรรม | ดำเนินการอบรม | ประเมินผล | กฎระเบียบพื้นฐาน | สื่อ วัสดุ อุปกรณ์ | แผน-คู่มือฝึกอบรม

การดำเนินการอบรม

1. บุคลากร

บุคลากรการฝึกอบรม ต้องมี คุณสมบัติ รู้หน้าที่ มีทักษะ ในการใช้ครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่บุคคลต่อไปนี้

1.1 ประธานศูนย์ฝึกอบรม สมณะ เป็นประธานศูนย์ฝึกอบรมโดยธรรมสัจจะ ทำหน้าที่ให้โอวาท คำสั่งสอน ขัดเกลาจิตใจ ปรุงแต่งธรรมะให้สมควรแก่กาละ และบุคคล จนเกิดการพัฒนาเปลี่ยนแปลงพิฤติกรรมไปสู่ดียิ่งๆ ขึ้น เสนอแต่งตั้งผู้อำนวยการฝึกอบรม ตลอดจนตัดสินและยุติปัญหา ข้อขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้น

1.2 ผู้อำนวยการฝึกอบรม เป็นผู้มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี เป็นผู้มีปกติอ่อนน้อม มีวิสัยทัศน์ที่ดี มีทักษะในการบริหารงานบุคคล งานธุรการ และงานวิชาการ มีความรอบรู้ รวดเร็ว เรียบร้อย ขยัน อดทน เสียสละ รู้จักหน่วยงาน องค์กรภายในชุมชนเป็นอย่างดี ทำหน้าที่ อำนวยความสะดวก ดูแล และ สั่งการ ให้กิจกรรมการฝึกอบรม ดำเนินไปให้เสร็จสิ้นตามวัตถุประสงค์ เป็นผู้อนุมัติค่าใช้จ่ายที่จำเป็นและเร่งด่วน ตลอดจนเป็นผู้ดำเนินการประชุมสรุปและประเมินผลกิจกรรมการฝึกอบรม

การติดต่อราชการ ติดต่อบุคคลภายนอก เชิญปฏิบัติกรภายนอก เชิญนักวิชาการ สำรวจความเรียบร้อยทั่วไป เป็นภารกิจของผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรม (ผอ.ศูนย์ฝึก)

1.3 เจ้าหน้าที่ธุรการ ทำหน้าที่พิมพ์หนังสือนำส่ง เก็บรักษาหนังสือรับ เป็นเลขานุการในการประชุมสรุปและประเมินผล แล้วสรุปสำนวนส่งให้เจ้าหน้าที่ประเมินผล

เครื่องมือ-อุปกรณ์: เครื่องพิมพ์ สมุดบันทึก ตู้เก็บเอกสาร

1.4 ผู้ประสานงาน เป็นผู้ที่รู้รายละเอียด และวิธีการในการดำเนินกิจกรรมแต่ละรายการได้เป็นอย่างดี ทำหน้าที่ กำกับ ติดตาม ให้กิจกรรมแต่ละรายการ ดำเนินไปตามตารางเวลาการฝึกอบรม หรือแจ้งการแก้ไข เปลี่ยนแปลงตารางเวลา หรือ กิจกรรม ให้เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยทราบ

เครื่องมือ-อุปกรณ์: วิทยุติดตามตัว และโทรโข่ง

1.5 พิธีกร เป็นผู้ควบคุมและจัดลำดับกิจกรรมแต่ละกิจกรรม ให้ดำเนินไปตามกำหนดเวลาในตารางฝึกอบรม ทำหน้าที่กล่าว แนะนำ เปิดรายการ ปิดรายการ ทำหน้าที่เป็นโฆษกของงานฝึกอบรม และคอยประสานงานกับปฏิบัติกร หรือนักแสดง ให้อยู่ในขอบเขต บทบาท และกำหนดเวลา ที่เชิญมาในคราวนั้น

เครื่องมือ-อุปกรณ์: ไมโครโฟน นาฬิกาจับเวลา นกหวีด

1.6 นันทนากร เป็นผู้กล่าว แนะนำ เปิดและปิดรายการกิจกรรมสาระบันเทิง-นันทนาการ และคอยประสานงานรับช่วงต่อจากพิธีกร ให้กิจกรรมดำเนินไปตามลำดับอย่างต่อเนื่องและราบรื่น

เครื่องมือ-อุปกรณ์: ไมโครโฟน นาฬิกาจับเวลา และนกหวีด

1.7 ปฏิบัติกร หรือ ผู้แสดง เป็นผู้ที่มีความรู้ ความชำนาญ ความสามารถ เฉพาะทาง ทำหน้าที่เป็นองค์ปาฐก หรือนักแสดง ปฏิบัติกรรับเชิญ จะทราบบทบาท ขอบเขต ฐานะ และระยะเวลาในการบรรยายคราวนั้น จากเอกสารคู่มือ (scripts) ที่ทางศูนย์ฝึกอบรมจัดไว้ให้ล่วงหน้า ส่วน ปฏิบัติกรในพื้นที่ คือ ผู้ที่อยู่ประจำฐานงานต่างๆ ทำหน้าที่ให้คำบรรยาย สาธิต แนะนำ และตอบข้อซักถาม แก่ผู้เข้ารับการอบรม

เครื่องมือ-อุปกรณ์: เอกสารคู่มือการฝึกอบรม (สำหรับปฏิบัติกรรับเชิญแต่ละคน) วัสดุอุปกรณ์ประจำฐานงาน วัสดุสำหรับฝึกหัด โรงฝึกงาน ห้องฝึกงาน (สำหรับปฏิบัติกรในพื้นที่)

1.8 พี่เลี้ยง เป็นชาวชุมชน หรือญาติธรรมที่อาสาเข้ามาทำหน้าที่นี้ เป็นผู้มีศีลเคร่ง มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี และประพฤติตนเป็นตัวอย่างที่ดีในการรักษากฏระเบียบ และวัฒนธรรมชุมชน คอยให้ความช่วยเหลือ คำแนะนำให้ผู้เข้ารับการอบรมที่อยู่ในความดูแล ประพฤติตนอยู่ในระเบียบวินัย กฎระเบียบ และวัฒนธรรมชุมชน พี่เลี้ยงพึงเป็นผู้ตื่นก่อน นอนทีหลัง เป็นผู้มีปฏิสันถารก่อนเสมอ ตลอดจนคอยชักจูงให้ผู้เข้ารับการอบรมสนใจในบทเรียนของตน เพื่อมิให้เสียสมมุติ พี่เลี้ยงไม่พึงสอนสอดแทรกในระหว่างที่ปฏิบัติกรกำลังแสดงหรือบรรยาย

เครื่องมือ-อุปกรณ์: เครื่องนอน ของใช้ส่วนตัว เช่น ภาชนะใส่อาหาร ไฟฉาย สมุดบันทึก

1.9 ผู้เข้ารับการอบรม ชาวเกษตรกร ผู้ตั้งใจที่จะมาฝึกลดละ ขัดเกลา พร้อมที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตจากที่ยังไม่เคยมีศีล มาเป็นผู้มีศีล มีสัมมาทิฎฐิ มีสัมมาอาชีพ นั่นคือมาเป็นผู้ที่รู้ซึ้งและเข้าใจในสัจธรรมชีวิต

เครื่องมือ-อุปกรณ์: เครื่องนอน ของใช้ส่วนตัว แฟ้มเอกสาร ไฟฉาย ถาดหลุมใส่อาหาร

1.10 ผู้กำกับเวที ทำหน้าที่ตกแต่งเวที จัดเวที ให้สอดคล้องกับกิจกรรมแต่ละรายการ โดยประสานงานกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิคแสงเสียง พิธีกร และปฏับัติกร เพื่อให้กิจกรรมดำเนินไปอย่างราบรื่น

เครื่องมือ-อุปกรณ์: โต๊ะ เตียง ม่าน กระถางดอกไม้ ชุดรับแขก โต๊ะพิธิกร และอุปกรณ์ตกแต่งเวทีอื่นๆ

1.11 เจ้าหน้าที่เทคนิคแสง เสียง และโสตทัศนูปกรณ์ ทำหน้าที่ให้บริการขยายเสียง จัดสถานที่ฝึกอบรมให้มีแสงสว่างเพียงพอ ร่วมกับผู้กำกับเวทีในการจัดทำเทคนิคแสงเสียงบนเวที อำนวยความสะดวกและให้บริการ เครื่องมือโสตทัศนูปกรณ์ สื่อคอมพิวเตอร์ ประสานงานกับพิธีกร ปฏิบัติกร
ผู้แสดง และผู้กำกับเวที เพื่อให้กิจกรรมดำเนินไปอย่างราบรื่น

เครื่องมือ-อุปกรณ์: ห้องควบคุม (Master Control Room) และชุดเครื่องขยายเสียง สายเคเบิลไฟฟ้า ปลั๊ก หลอดไฟฟ้า สายสัญญาณเสียง ไมค์โครโฟน ชุดไมค์โฟนไร้สาย (Wireless Microphone) เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องเล่นวิดีทัศน์ (Video Player) เครื่องฉายภาพข้ามศีรษะ (Overhead) หรือเครื่องฉายภาพวิดิโอ (Video Projector) เครื่องฉายภาพดิจิตอล (LCD Projector) พร้อมจอรับภาพ เครื่องคอมพิวเตอร์ (Desktop PC Computer)

1.12 เจ้าหน้าที่ศิลปกรรม เป็นที่ปรึกษาด้านการออกแบบเวที ศิลปะการแสดง ให้ความร่วมมือกับผู้กำกับเวที เสนอความเห็น ด้านการออกแบบ การแสดงหน้าเวที ประเมินผลการแสดงออกทางศิลปะทุกกิจกรรม (มุมมอง แสง สี เสียงประกอบ และอารมณ์) จัดทำป้ายโฆษณา เชิญชวน

1.13 เจ้าหน้าที่บันทึกภาพ มีความสามารถใช้กล้องถ่ายภาพนิ่ง กล้องถ่ายภาพดิจิตอล กล้องถ่ายภาพวิดีโอ ได้เป็นอย่างดี รู้จักใช้เทคนิคการถ่ายภาพเคลื่อนไหว และภาพนิ่ง มีทักษะในการใช้จัดองค์ประกอบของภาพ มุมกล้อง แสง สี เสียง อารมณ์ ทำหน้าที่บันทึกภาพเหตุการณ์กิจกรรมการฝึกอบรม ตลอดหลักสูตร ภาพที่บันทึกต้องบันทึกข้อความวันเวลาลงไปในภาพด้วย

-ภาพวิดีโอ เก็บและรักษาเทปต้นฉบับ หรือส่งเทปให้ฝ่ายตัดต่อภาพ

-ภาพดิจิตอล ต้องจัดเก็บด้วยความละเอียดไม่น้อยกว่า 1280x1024 pixel คัดเลือกภาพ ลบภาพเสียทิ้งไป แบ่งหมวดหมู่ภาพ จัดลำดับภาพ เปลี่ยนชื่อภาพ (ตามรหัสที่ฝ่ายธรรมภาพกำหนด) ตกแต่งภาพ สร้างแฟ้มข้อมูลสมุดภาพ (Photo Album) พร้อมด้วยคำบรรยาย สมุดภาพต้องมีภาพดัชนี (Index Thumbnail) ไว้สำหรับค้นหาด้วย ทั้งในรูปของแฟ้มข้อมูลคอมพิวเตอร์ และแฟ้มข้อมูลเอกสาร ทำการสำรองข้อมูลลงในแผ่นซีดีรอม จำนวน 2 ชุด ส่งให้ฝ่ายธรรมภาพ 1 ชุด อีกชุดหนึ่งเก็บไว้

-ภาพถ่าย คัดแยกภาพเก็บไว้ในสมุดภาพ คัดแยกภาพที่น่าสนใจแล้วทำการสแกนภาพ จัดเก็บแฟ้มข้อมูล ให้กระทำเช่นเดียวกับภาพดิจิตอล เก็บรักษาฟิล์มไว้ในที่ปลอดภัย

เครื่องมือ-อุปกรณ์: กล้องถ่ายภาพวิดีโอ (Video Camera) กล้องถ่ายภาพนิ่ง (Camera) กล้องถ่ายภาพดิจิตอล (Digital Camera) ตลับเทปบันทึกภาพ โคมไฟสำหรับถ่ายภาพวิดีโอ ขาตั้งกล้อง ไฟแฟรช

1.14 นักวิชาการ ทำหน้าที่ให้คำแนะนำด้านวิชาการ เป็นปฏิบัติกรในสาขาที่ตนเองถนัด ให้บริการการค้นหา และตอบข้อซักถามเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงตามหลักวิชาการ นักวิชาการในพื้นที่ ต้องมีอย่างน้อย 1 คน นักวิชาการรับเชิญ มีได้ไม่จำกัดจำนวน นักวิชาการในพื้นที่ เป็นผู้นำเสนอต่อผู้อำนวยการฝึกอบรม เพื่อจัดให้มี เอกสารประกอบการอบรม ที่จะแจกให้แก่ผู้เข้ารับการอบรมทุกคน

1.15 เจ้าหน้าที่พัสดุและการเงิน ทำหน้าที่ลงทะเบียนพัสดุของศูนย์ฝึกอบรม รายงานสภาพจริงและจำนวน ของพัสดุตามระยะเวลาที่กำหนด ทำงบบัญชี นำเสนอรายรับ รายจ่าย ทะเบียนพัสดุ ต่อ
ผู้อำนวยการฝึกอบรม และตามที่ประชุมร้องขอ จัดทำโครงการด้านงบประมาณ เพื่อเสนอต่อที่ประชุม
จ่ายวัสดุอุปกรณ์ ตามใบเบิก

เครื่องมือ-อุปกรณ์: ทะเบียนพัสดุ บัญชีงบดุล รายงานพัสดุและการเงินประจำเดือน

1.16 เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์-ติดต่อสอบถาม ทำหน้าที่ประกาศข่าวเสียงตามสาย ให้บริการติดต่อ-สอบถาม เป็นสื่อกลางในการติดต่อ ประสานงาน กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ด้วยวิทยุสื่อสาร

เครื่องมือ-อุปกรณ์: เครื่องรับโทรศัพท์ วิทยุสื่อสาร (ว.) เสียงตามสาย โทรโข่ง

1.17 เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (สทร.) ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยในบริเวณ
พุทธสถาน และชุมชน รายงานเหตุการณ์ให้ผู้อำนวยการฝึกอบรมทราบเป็นระยะ แจ้งเหตุด่วน เหตุร้าย
ต่อผู้เกี่ยวข้อง ตลอดจนผลัดเปลี่ยนกันอยู่เวรยาม

เครื่องมือ-อุปกรณ์: วิทยุสื่อสาร ไฟฉาย รถจักรยาน

1.18 เจ้าหน้าที่บริการ 5 ส. บริการ 5 ส. เป็นการให้บริการจัดระเบียบสถานที่ (สะสาง) จัดระเบียบสิ่งของ (สะดวก) กำจัดความสกปรก (สะอาด) จัดระเบียบสุขอนามัย (สุขลักษณะ) และสร้างวัฒนธรรมที่ดี (สร้างนิสัย) เจ้าหน้าที่บริการ 5 ส. มีภาระกิจหลายด้าน ได้แก่

-จัดเตรียมสถานที่ เตรียมอุปกรณ์ล้างจาน ล้างแก้วน้ำ สาธิต แนะนำ และอำนวยความสะดวก ในการแยกขยะ ล้างจาน ล้างแก้วน้ำ ให้ถูกวิธีตามขั้นตอน แก่ผู้เข้ารับการอบรม

-ประเมินผล ให้คะแนน การจัดระเบียบสถานที่และบริเวณบ้านพัก การจัดระเบียบสิ่งของในบ้านพัก ความสะอาดของบ้านพักและบริเวณ ความสะอาดของร่างกายและการแต่งกาย (กิจกรรมสำนึกกตัญญู 5 ส.) ทำหน้าที่ประกาศผลการให้คะแนนกิจกรรมสำนึกกตัญญู 5 ส.

-เตรียม จัดหา ผลัดเปลี่ยน อุปกรณ์ ภาชนะ น้ำ น้ำยาซักล้าง

-ดูแลห้องน้ำ ห้องส้วม ของศูนย์ฝึกอบรม ให้สะอาดพร้อมใช้

-ปัด กวาด เช็ด ถู พื้นศาลาศูนย์ฝึก ถนน ทางเดิน ภายในศูนย์ฝึก

เครื่องมือ-อุปกรณ์: ที่ล้างจาน ที่ล้างแก้วน้ำ ถังใส่ขยะแยกประเภทขยะ วัสดุอุปกรณ์ซักล้าง ผ้าเช็ด ไม้กวาด ไม้ถูพื้น ที่ตักผงขยะ รถเข็น

1.19 เจ้าหน้าที่เอกสารและสิ่งพิมพ์ ทำหน้าที่พิมพ์เอกสาร ทำสำเนาเอกสาร เย็บเล่ม เข้าเล่ม เก็บรักษาเอกสารต้นฉบับ ปรับปรุงแก้ไขข้อมูลในเอกสารเก่า ตามที่นักวิชาการแนะนำ สร้างเอกสารใหม่ตามคำสั่งของผู้อำนวยการฝึกอบรม

เครื่องมือ-อุปกรณ์: เครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องสำเนาเอกสาร (Copy Printer) เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องเย็บกระดาษ เครื่องเข้าเล่ม แท่นตัดกระดาษ กระดาษขนาดต่างๆ ตู้เก็บเอกสาร แฟ้มใส่เอกสาร

1.20 เจ้าหน้าที่ต้อนรับและลงทะเบียน ทำหน้าที่รับลงทะเบียน ให้ผู้เข้ารับการอบรมกรอกทะเบียนประวัติตามแบบฟอร์ม เตรียมสมุดลงเวลา อำนวยความสะดวกในการลงเวลาเข้าอบรม แจกเอกสารแก่ผู้เข้ารับการอบรม ให้คำแนะนำในการกรอกข้อมูลในแบบฟอร์มต่างๆ

เครื่องมือ-อุปกรณ์: สมุดรับลงทะเบียน สมุดลงเวลาอบรม เอกสารสำหรับแจกผู้เข้ารับการอบรม แบบฟอร์มต่างๆ แบบประเมินผลกิจกรรม

1.21 ผู้จัดการที่พัก มีหน้าที่จัดหา จัดสรรที่พัก บ้านพัก ให้เพียงพอ กับจำนวนผู้เข้ารับการอบรม เบิกจ่าย อุปกรณ์ เครื่องนอน ประจำบ้านพัก ตลอดจนบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน

1.22 ผู้จัดการของที่ระลึก มีหน้าที่เบิกจ่ายของ และบรรจุหีบห่อ สำหรับแจกให้ปฏิบัติกรรับเชิญ และเป็นของฝากสำหรับผู้เข้ารับการอบรม ตลอดจนอาคันตุกะรับเชิญ

1.23 แม่ครัว ได้แก่ชาวชุมชน หรือญาติธรรมที่อาสาเข้ามาทำหน้าที่นี้ มีหน้าที่ เตรียม จัดหาวัตถุดิบประกอบอาหาร ปรุงอาหาร แยกอาหาร เพื่อให้เจ้าหน้าที่บริการอาหารมารับไปบริการต่อ เก็บ ถนอมอาหาร กำหนดปริมาณอาหาร ประเภทอาหาร ในแต่ละวันให้เหมาะสม

เครื่องมือ-อุปกรณ์: โรงครัว วัตถุดิบประกอบอาหาร ภาชนะประกอบอาหาร พาหนะไปซื้ออาหาร

1.24 เจ้าหน้าที่บริการอาหารและเครื่องดื่ม ทำหน้าที่จัดแถวอาหาร จัดโต๊ะอาหาร บริการอาหาร เก็บอาหารเหลือเข้าโรงครัว บริการน้ำเต้าหู้ น้ำดื่ม น้ำดื่มสมุนไพร ตลอดจนล้างภาชนะอาหารของโครงครัว

เครื่องมือ-อุปกรณ์: โรงครัว ที่ล้างจาน ที่ล้างแก้วน้ำ โต๊ะอาหาร ถาดอาหารสำหรับผู้เข้ารับการอบรม แก้วน้ำ ภาชนะใส่อาหาร รถเข็นอาหาร

1.25 เจ้าหน้าที่พยาบาล เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการวินิจฉัยอาการเจ็บป่วยขั้นต้นได้ ทำการปฐมพยาบาลผู้ป่วยได้ รู้และเข้าใจสรรพคุณยารักษาโรคแผนปัจจุบัน และยาสมุนไพร ทำหน้าที่ปฐมพยาบาลผู้ป่วย จัดยาให้ผู้ป่วย เพื่อการบำบัด รักษา และป้องกันความเจ็บป่วยพื้นฐาน

เครื่องมือ-อุปกรณ์: ศาลาสุขภาพ เวชภัณฑ์ยา ยาสามัญประจำบ้าน ยาสมุนไพร เตียง
ผู้ป่วย เครื่องมืออำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วย รถเข็นผู้ป่วย รถพยาบาลฉุกเฉิน

1.26 เจ้าหน้าที่ ธกส. เป็นผู้ประสานงานฝ่ายราชการ คัดเลือกเกษตรกรที่จะเข้ารับการอบรมในแต่ละรุ่น

1.27 เจ้าหน้าที่ประเมินผล ทำหน้าที่บันทึกเหตุการณ์ บันทึกการสังเกต ประเมินผลตามแบบประเมินสัจธรรมชีวิต แล้วรายงานให้ผู้อำนวยการฝึกอบรมทราบ ร่วมกับผู้อำนวยการฝึกอบรม เจ้าหน้าที่พัสดุและการเงิน เจ้าหน้าที่บริการ 5 ส. ตลอดจนเจ้าหน้าที่ฝ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการจัดทำรายงานสรุปผลการฝึกอบรม เมื่อการอบรมเสร็จสิ้นลงในแต่ละคราว

เครื่องมือ-อุปกรณ์: แบบประเมินผลสัจธรรมชีวิต แบบประเมินผลคนของแผ่นดิน แบบประเมินผลกิจกรรมสำนึกกตัญญู 5 ส.

1.28 เจ้าหน้าที่ข้อมูล เป็นผู้ที่มีความสามารถ ในการจัดการฐานข้อมูลด้วยคอมพิวเตอร์ ทำหน้าที่ เก็บ รักษา และ แก้ไขปรับปรุง ข้อมูลสถานะภาพของผู้เข้ารับการอบมในแต่ละรุ่น ตลอดจนเรียกดูข้อมูลเก่าได้ เพื่อการติดตามผลประเมินผลในอนาคต

เครื่องมือ-อุปกรณ์: เครื่องคอมพิวเตอร์ พร้อมด้วยโปรแกรมจัดการฐานข้อมูล

ให้บุคคลากรแต่ละฝ่าย ตาม ข้อ 1.4 – 1.28 ข้างต้น จัดหาทีมงานของฝ่ายตน แล้วแต่งตั้งผู้มีความสามารถคนหนึ่ง เป็นหัวหน้างาน และร่วมกันรับผิดชอบปฏิบัติภาระกิจให้เสร็จสิ้น ขณะเดียวกันก็ให้สมาชิกในทีมงาน เรียนรู้งานไปด้วย เพื่อเพิ่มทักษะและประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ และเป็นการแบ่งเบาภาระหน้าที่ของกันและกันได้

2. เทคนิคและวิธีการฝึกอบรม ที่จะนำไปใช้ในกิจกรรมต่างๆ ให้เป็นหน้าที่ของ พิธีกร ปฏิบัติกร ผู้แสดง เลือกนำไปใช้ตามความเหมาะสม

2.1 การบรรยาย
-ขั้นเตรียม กำหนดวัตถุประสงค์ เนื้อหา สื่อ
-ขั้นดำเนินการ อธิบายตามลำดับเนื้อหา โดยใช้สื่อประกอบ ซักถาม พูดซ้ำ
-ขั้นสรุป สรุปเป็นความคิดรวบยอด หรือทฤษฎี ลงมือปฏิบัติ

2.2 การอภิปราย
-รูปแบบการอภิปราย
แบบกลุ่มย่อย กลุ่มละ 4-10 คน แต่ละกลุ่มแยกย้ายกันไปค้นคว้า และอภิปรายตามหัวข้อ และสรุปความคิดเห็นเพื่อนำมาเสนอกลุ่มใหญ่
แบบนำเสนอรายงาน ประกอบด้วยกลุ่มผู้อภิปราย และกลุ่มผู้ฟัง โดยมีประธานทำหน้าที่เชิญให้คณะผู้อภิปรายร่วมกันพูด หรือเสนอข้อคิดเห็นตามระเบียบวาระ เมื่อคณะผู้อภิปรายพูดจบแล้ว ประธานจะสรุปเรื่องและสาระที่เสนอไปแล้ว จากนั้นก็เปิดโอกาสให้ผู้ฟังซักถามได้
แบบสนทนาถาม-ตอบ ประกอบด้วยผู้ถาม 1 คน ผู้ตอบ 1 – 3 คน ใช้สถานที่ที่ผู้ฟังเห็นหน้าผู้ร่วมสนทนาได้ชัดเจน เป็นการสนทนาผลัดกันถามผลัดกันตอบ ฝ่ายถามจะเป็นผู้สรุปปิดรายการ
แบบระดมพลังสมอง ได้แก่การประชุมอภิปรายแบบกลุ่มย่อย แต่มุ่งให้สมาชิกทุกคนร่วมกันเสนอความเห็น โดยไม่มีการตัดสินว่าความคิดของใครผิด แล้วรวบรวมความคิดเห็นเป็นข้อๆ เพื่อเสนอให้สมาชิกทั้งหมดตัดสินอีกครั้งหนึ่ง

-ขั้นเตรียม ตั้งหัวข้อ เลือกรูปแบบการอภิปราย กำหนดสถานที่ อุปกรณ์ ผู้ฟัง ข้อซักถาม -ขั้นดำเนินการ บอกหัวเรื่อง หลักเกณฑ์การอภิปราย ดำเนินการไปตามขั้นตอน -ขั้นสรุป โดยผู้แทนกลุ่ม หรือผู้ดำเนินการอภิปราย เพื่อกำหนดมาตรฐาน หรือสร้างกฎเกณฑ์ใหม่

2.3 การสัมภาษณ์

-ขั้นเตรียม กำหนดระยะเวลา จุดมุ่งหมาย คำถาม นัดหมายล่วงหน้า -ขั้นดำเนินการ สัมภาษณ์ตามคำถามที่เตรียมไว้ และบันทึก -ขั้นสรุป จัดทำรายงานสรุปสาระ และความเห็น ที่ได้รับ

2.4 การสาธิต

-ขั้นเตรียม กำหนดระยะเวลา จุดมุ่งหมาย ขอบเขตเนื้อหากิจกรรม อุปกรณ์ เอกสาร

-ขั้นดำเนินการ อธิบาย สาธิต ทดลอง เปิดโอกาสให้ซักถาม

-ขั้นสรุป เพื่อกำหนดเป็นมาตรฐาน หรือเป็นกฏเกณฑ์

2.5 การแสดงบทบาทสมมุติ คือ การแสดงพฤติกรรมของบุคคลอื่น ที่ถูกกำหนดให้อยู่ในสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง โดยให้ผู้แสดง แสดงพฤติกรรมตามอารมณ์ ความรู้สึก และเหตุผลในสถานการณ์นั้นๆ

-ขั้นเตรียม กำหนดวัตถุประสงค์ คัดเลือกผู้แสดง ผู้แสดงศึกษาบทบาท และฝึกซ้อมก่อนแสดงจริง กำหนดหรือคัดเลือกผู้สังเกตการณ์ คอยบันทึกเหตุการณ์ระหว่างมีการแสดง

-ขั้นดำเนินการ แสดงตามบท บันทึกเหตุการณ์

-ขั้นสรุป ความคิดรวบยอด กำหนดเป็นมาตรฐาน

2.6 การแสดงละคร คือ การแสดงตามเรื่องราวที่กำหนดไว้แล้ว โดยกำหนดพฤติกรรม อารมณ์ ความรู้สึก คำพูด ให้ผู้แสดง แสดงไปตามบทบาทที่กำหนดไว้ ละคร แบ่งออกเป็น 5 ประเภท คือ

ละครใบ้ คือการแสดง โดยใช้ท่าทางส่วนต่างๆ ของร่างกาย แทนคำพูด หรือสัญลักษณ์ของ
ตัวละครนั้น ไม่มีคำพูด การสนนา อาจมีการบรรยายประกอบท่าทางนั้นได้เท่าที่จำเป็น

ละครสั้น คือการแสดงที่จัดขึ้นอย่างไม่เป็นทางการ ไม่มีการจัดเวที หรือจัดตกแต่งเครื่องแต่งกายของตัวละคร อาจมีการซักซ้อมการแสดงบ้าง แต่ไม่จริงจัง ส่วนมากจะให้แสดงทันที

ละครล้อเลียน คือการแสดงเสียดสี เพื่อให้เกิดเจตคติ หรือค่านิยมใหม่ที่ถูกต้อง

ละครเลียนแบบ คือการแสดงเลียนแบบท่าทาง หรือบทบาทของบุคคล หรือสิ่งของ เพื่อให้ผู้ชมเกิดการเรียนรู้ ในลักษณะท่าทาง หรือกลไกการทำงานของบุคคลหรือสิ่งของนั้นๆ

การแสดงละครที่ไม่มีการเตรียมมาก่อน คือการแสดงที่กำหนดบทบาทของตัวละครให้ แต่คำพูด บทสนทนา และอารมณ์ ให้เป็นไปตามจิตนาการของผู้แสดง

-ขั้นเตรียม กำหนดชื่อเรื่อง โครงเรื่อง เป้าหมาย เขียนบท กำหนดฉาก เทคนิคเสียงประกอบ อุปกรณ์ คัดเลือกผู้แสดง ศึกษาบท และฝึกซ้อม

-ขั้นดำเนินการ จัดฉาก เทคนิคเสียง อุปกรณ์ ให้เหมาะกับเรื่อง แสดงตามบท จบแล้ว อภิปรายแสดงความคิดเห็น ในแง่ของศิลปะ และผู้แสดง การดำเนินเรื่อง

-ขั้นสรุป วิเคราะห์ว่าละครมีส่วนส่งเสริมศีลธรรมข้อใด หรือมีส่วนทำลายศีลธรรมข้อใด สรุปเป็นมาตรฐาน และกำหนดหลักเกณฑ์

2.7 การสร้างเจตคติและค่านิยม

-ขั้นเตรียม กำหนดประเด็นปัญหาจากข่าว เหตุการณ์ พฤติกรรม ที่พบเห็น

-ขั้นดำเนินการ วิเคราะห์ผลดี ผลเสีย ถูก ผิด คุณ โทษ บาป บุญ โดยใช้หลักของศีล 5 มาเป็นบรรทัดฐาน แล้วสร้างทางเลือก โดยสรุปแนวคิดที่เป็นฝ่ายกุศลธรรม (ฝ่ายดี) ตามหลักนิยามความจริง 5 ประการ คือ ดี ถูก เป็นประโยชน์ ทำให้พ้นทุกข์ เป็นไปได้จริง ฝ่ายใดกล่าวเป็นธรรม ทำเป็นธรรม คือดี ถูกต้อง ไม่ผิดศีล เป็นประโยชน์ แก้ปัญหาได้ และเป็นไปได้จริง ฝ่ายนั้นเป็นธรรม ฝ่ายใดกล่าวไม่เป็นธรรม ทำเป็นอธรรม คือ ชั่ว ผิดศีล และขัดต่อหลักศาสนธรรม ให้โทษต่อคนหมู่มาก แก้ปัญหาไม่ได้ และเป็นสิ่งที่ไม่จริง ฝ่ายนั้นไม่เป็นธรรม ฝ่ายเป็นธรรมย่อมได้รับการคุ้มครอง ฝ่ายไม่เป็นธรรมย่อมได้รับโทษ

-ขั้นสรุป เลือกกระทำตามฝ่ายกุศล ส่วนฝ่ายอกุศลให้หลีกเว้นไปเสีย บันทึกผลการตัดสินลงสมุดบันทึกประจำวัน

2.8 การตัดสินใจแบบวิปัสสนา

-ขั้นเตรียม เตรียมแบบบันทึก

พฤติกรรม
ที่เลือก
สรรแล้ว

สาระ
สำคัญ

การตัดสินใจแบบวิปัสสนา

ระดับคุณภาพ

ระดับปัญหา

ระดับ
คุณค่า

ดี
ถูกต้อง
เป็น
ประโยชน์
แก้ปัญหา
ได้
เป็นไป
ได้จริง
เกิดบ่อย
รุนแรง
สังคม
เสียหาย
แก้ไข
ง่าย

รู้อะไร

                     

คิดอะไร

                     

พูดอะไร

                     

ทำอะไร

                     

ระดับคุณภาพ และระดับปัญหาให้ทำเครื่องหมายถูกในช่องว่าง
ระดับคุณค่า ให้ใส่ตัวเลขแสดงระดับคุณค่า 0, 1, 2, 3, 4

สรุปความคิดเป็น มาตรฐานใหม่ หรือกำหนดหลักเกณฑ์ใหม่ .........................................................................................................................

-ขั้นดำเนินการ กำหนดประเด็นปัญหาจากผัสสะต่างๆ เช่น ข่าว เหตุการณ์ พฤติกรรม
ที่พบเห็น แล้วบันทึกพฤติกรรมของตน “รู้อะไร” “คิดอะไร” “พูดอะไร” และ “ทำอะไร” พร้อมประเมินผลความรู้ ความคิด คำพูด และการกระทำของตน ตามเกณฑ์คุณภาพ และปัญหา ตามที่เป็นจริง

-ขั้นสรุป ความคิดเห็น ตั้งเกณฑ์มาตรฐาน หรือกฎเกณฑ์ใหม่ โดยใช้เกณฑ์ระดับคุณค่าเป็นข้อมูลในการตัดสิน

การประเมินผล

... มีต่อ ...