เพลงจอมโจรบัณฑิต หมายเลข

“เปลือก” เป็นสิ่งเห็นได้ก่อน เห็นได้ง่าย
“ความรู้” ขั้นอ่าน ขั้นคิด ขั้นปริยัติ
ขั้นทฤษฎี นั้น ก็ เช่น “เปลือก”
คนรู้ คนเห็น “เปลือก”
จึงง่าย จึงมาก จึงเกลื่อนกล่น
และ จะสร้าง จะทำให้มาก ได้ง่าย ได้เร็ว

หากจะใช้ “ความมาก” เท่านั้น เป็นเครื่องตัดสิน
“เปลือก” ก็ต้องเป็นใหญ่
“เปลือก” ก็ต้องชนะ
“เปลือก” ก็ต้องดี
เพราะ “เปลือก” ย่อมมาก ย่อมดื่นดาษ ย่อมชัดง่าย
“เปลือก” ก็จะเป็นความถูกต้อง เป็นอำนาจ
ลักษณะดั่งนี้เอง เรียกว่า
โลกาธิปไตย
หรือ สังคมนิยม เปลือกๆ

ส่วนการเอาแต่ ความเห็น-ความรู้ ของตนของตัว
ไม่ยอมเอาเหตุเอาผลของคนอื่น
มาร่วมประกอบการตัดสิน
“ตน” ก็ต้องเป็นใหญ่
“ตน” ก็ต้องยืนกรานชนะ
“ตน” ก็ต้องยึดว่าดี
“ตน” ก็จะต้องเป็นความถูกต้อง เป็นอำนาจ
ลักษณะดั่งนี้เอง เรียกว่า
อัตตาธิปไตย หรือ เลือดเผด็จการสด ๆ

“แก่น” เป็นสิ่งเห็นได้ทีหลัง เห็นได้ยาก
“ความรู้”
ชนิดที่มีทั้งทฤษฎี มีทั้งการปฏิบัติ
จนได้ผลทางกายจริง
และ กระทั่งสูงสุด
ทั้งมีผลถึงขั้น “จิตเป็น” ได้จริงแล้ว
นั่นคือ ผู้ที่รู้ทั้งเปลือก ทั้งเป็นได้ เป็นลำดับ
แล้วทะลุถึงแก่นใน
คนรู้ คนเห็น “ของจริง”
ทั้งเปลือก และทะลุถึงแก่น
จึงมียาก จึงมีได้น้อย
และ จะสร้าง จะทำให้มาก ได้ยาก
ต้องพากเพียร ต้องอุตสาหะ
ผู้รู้ ผู้เห็น ผู้เป็นได้ ทั้งเปลือก
และทะลุถึงแก่น ชื่อว่า “บัณฑิตแท้”

 

ดังนั้น การตัดสินที่ดีที่สุด
จึงต้องใช้หมู่ หรือ ใช้สภาที่มี “แก่น”
เป็นหลัก เป็นสำคัญ
คือ ในหมู่นั้น หรือ สภานั้น
ต้องมี “บัณฑิตแท้”
ร่วมด้วยเพียงพอ
ยิ่งเป็น “บัณฑิตแท้” มาก
ยิ่งดีมาก ยิ่งมีมาก ยิ่งจริงมาก
“แก่น” ก็จะมีฤทธิคุณ มีบุญญาภินิหาร
“แก่น” ก็จะชนะ
“แก่น” ก็จะนำพาให้เกิด ความถูกต้องขึ้นในโลก
จึงเป็นอำนาจ

ลักษณะดั่งนี้เอง เรียกว่า
ธรรมาธิปไตย
หรือ สันติภาพแท้
สภาใดไร้แก่น หรือ ไร้บัณฑิตแท้
แม้จะตัดสินอะไร มตินั้นก็ไม่ถูกต้อง
ดีไม่ได้ ได้ไม่ดี จริงไม่ถึงที่สุด
พระพุทธองค์ จึงตรัสว่า
“สภาใดไร้บัณฑิต (แก่น) มิใช่สภา”


 

ผู้ที่ใช้แค่พลังมวลหมู่ชนที่เป็น “เปลือก”
หรือ ผู้สร้าง “มวลประชา”
ด้วยการระดม สะสมเพียง “ฉาบความรู้”
แม้จะมากปานใดๆ
แล้วนำมาเป็นมติตัดสิน
จึงเป็นเพียง “โลกาธิปไตย”
(ประชาธิปไตยไร้แก่น สังคมนิยมเปลือกๆ)
ส่วนผู้ที่ไม่ฟังเสียงผู้อื่น
ยึดยืนอยู่แต่ความเห็น ความรู้ของตน
ต่อให้คนที่มีฤทธิ์ มีแรง มีอำนาจ
แต่มีดีแค่ขั้น “เปลือก”
ก็เป็นเพียง “อัตตาธิปไตย”
(หรือจะเป็น “หมู่น้อยๆ” ก็คือ เผด็จการ ในรูปแบบต่างๆ)

ผู้มีปัญญาสุจริต มีความฉลาดกุศล
จะเข้าใจแก่น จะเห็นบัณฑิตแท้

จะเอา “ความรู้” ของบัณฑิตแท้บ้าง บัณฑิตรองบ้าง
เป็นหลัก เป็นแกนนำ
เป็นเครื่องตัดสินชี้ขาด เป็นที่สุด
จึงเป็น “ธรรมาธิปไตย” เที่ยงแท้

ผู้มีปัญญาทุจริต มีความฉลาดเฉโก
จะไม่เห็นแก่น จะเข้าใจ “บัณฑิตแท้” ผิดด้วยซ้ำ

ป่วยการกล่าวไปไย ที่เขาจะรู้จะเห็น “บัณฑิตรองๆ” ได้ชัด
ดังนั้น เขาจะไม่มีแก่น ไม่มีบัณฑิตถึงแก่น
ถ้ายิ่งหลงตนใหญ่คนเดียว
ก็จะไม่พึ่งแม้เปลือกอื่น ไม่เอามวลกันเลย
ทำอะไร ก็จะไม่คำนึงถึงคนอื่น ไม่เผื่อผู้อื่น
อยู่ที่ใด ก็ไม่มีหมู่ ไม่มีกลุ่ม
ไม่มีสังคมที่อบอุ่น แน่นแฟ้นได้
เป็น “อัตตาธิปไตย” ไปตลอดกาลนาน

แต่ถ้าใครเป็นผู้มีปัญญาทุจริต มีความฉลาดเฉโก
ที่เอาเปลือกอื่น และเอาหมู่เอามวลด้วย
ก็จะพยายามหาหมู่หาเปลือก ที่ตนพึงดิ้นรนสะสม
หรือบังคับเอาได้ ก็จะกลายเป็น หมู่ที่มีแต่เปลือก
จะสะสมมวลมาก ได้ง่ายๆ
เป็นหมู่ชนเปลือกๆ เป็นสังคมนิยมเฟื่องๆ
เป็น ประชาธิปไตยฟ่ามๆ
ไม่มีเนื้อ-ไม่มีแก่น-ไม่มีสันติภาพแท้

แล้วก็พากันอยู่อย่างโลกีย์ๆ
ไปตามประสา “โลกาธิปไตย”
ซึ่งไม่ใช่ “ประชาธิปไตย หรือ สังคมนิยม”
ที่ดีสม วิเศษแท้
เพราะเพียงเป็น มวลประชาที่ไร้แก่น
ไม่แน่นผนึกกันเอง ด้วยสมัครใจ
ยังเป็นสังคมนิยมที่ มีเชิงกดขี่ บังคับ
เข่นฆ่า ล่าพรรค ล่าพวก ล่าอาณาจักร

ยังไม่เป็นสังคมที่มี “ธรรมาธิปไตย” ที่ดีถึงขีดแท้
ที่เสียสละจริง ที่จะไม่อิงไม่แอบโลกธรรม
ยังไม่อยู่กันอย่างพอใจแล้ว ในกฎในวินัย

ด้วยปัญญาตนเอง สมัครใจเองจริง
ชนิดเรียกได้ว่า “อิสรเสรีนิยมแท้”
ที่ไม่มีความลำบากใจ ในหมู่ผู้อยู่ร่วม
แม้จะมีความลำบากใด ก็ตนเองนั่นเอง
ที่ยินดีเต็มใจ ในความลำบากนั้น
เพราะ เพื่อความดี - ความเจริญ
อันเห็นด้วยญาณปัญญา ของตนเองอยู่ชัดๆ

 

หาก “คน” หรือ “สังคม” ใด
ยังบกพร่อง ยังไม่สมบูรณ์ ดังกล่าวมานี้
นั่นคือ ยังมีความเป็น “จอมโจรบัณฑิต”
แฝงปนอยู่ อย่างง่ายดาย

มากบ้าง กลางบ้าง น้อยบ้าง
ตามที่ยังมีจริง เป็นจริง โดยสัจจะ
ที่มีอยู่ ใน“คน” ใน“สังคม” ๒ ประเภท
ทั้งประเภท อัตตาธิปไตย และ โลกาธิปไตย

ซึ่งนับวันจะมากขึ้นๆ เป็นมิคสัญญี อย่างแน่นอน
ถ้าแม้น ไม่พากันสร้าง “แก่น” กันให้ได้
หรือ ไม่อุตสาหะสร้าง “ธรรมาธิปไตย” ขึ้นมา
ให้เป็นจริงให้ได้แท้ ใน“คน” ใน“สังคม”

๑๘ สิงหาคม ๒๕๒๕

  

ห ม า ย เ ล ข

เลือก
เพลง
หมายเลข

[1]


[2]


[3]


[4]


[5]


[6]


[7]


[8]


[9]


[10]