โพธิรักษ์ โพธิกิจ | โลกาภิวัฒน์
2000 | เศรษฐศาสตร์บุญนิยม | ความรัก
๑๐ มิติ ฉบับชาดก
มติที่1 | มติที่2
| มติที่3 | มติที่4
| มติที่5 | มติที่6
| มติที่7 | มติที่8
| มติที่9 | มติที่10
พันธุนิยม / ปิตุปุตตนิยม
"พันธนิยม" เป็นความรักระหว่างสายโลหิต-พ่อ-แม่-ลูก ซึ่งขยายแวดวงกว้างขึ้นกว่ามิติแรกอีกนิด
คือไม่เห็นแก่ตัวเพียงแค่สองคน แต่ยังขยายปริมาณความรักออกไปถึงลูกด้วย
พ่อแม่ที่ดีจึงเป็นผู้เสียสละ ต้องเหน็ดเหนื่อยทุกข์ยากแสวงหาข้าวของเงินทอง
หรือแม้ความสุขอะไรต่ออะไรเอาไว้ให้แก่ลูก อย่างบริสุทธิ์ใจ โดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทนจากลูก
ส่วนลูกที่ประเสริฐก็จะต้องรู้จักตอบแทนบุญคุณของท่าน แสวงหาสิ่งดีต่างๆอันจะเป็นความสุขมอบให้แก่พ่อ
ให้แก่แม่
ก็เพราะให้รักให้คามอบอุ่นกันในแวดวงเล็กๆแค่นี้เอง ไม่เผื่อแผ่ออกไปสู่คนอื่นๆเลย
ความรักมิตินี้จึงยังคงคับแคบเห็นแก่ตัวอยู่อย่างชัดเจน
ตักกลชาดก
ในอดีตกาล เมื่อเพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติ อยู่ในนครพาราณสี
ณ บ้านตระกูลหนึ่งของชาวกาสี มีบุตรน้อยเพียงคนเดียวชื่อสวิฎฐกะ บำรุงเลี้ยงบิดามารดาอยู่
ต่อมาเมื่อมารดาล่วงลับไปแล้ว ก็บำรุงเลี้ยงดูบิดาสืบไป เขามักจะลุกขึ้นตั้งแต่เช้า
ทำการปฏิบัติบิดา จัดไม้สีฟันและน้ำบ้วนปากให้ หุงข้าวหาคู(ข้าวต้ม)
และทำอาหารให้ ตามสมควรกับทรัพย์ที่ตนได้มา จากการรับจ้างและการไถนา
ทำการเลี้ยงดูบิดาอยู่อย่างนี้ จนกระทั่งวันหนึ่งบิดาพูดกับเขาว่า
"ลูกรัก เจ้าคนเดียวต้องทำงานหนัก ทั้งภายในและภายนอกบ้าน พ่อจะต้องหาผู้หญิงสักคนมาให้เจ้า
นางจะได้แบ่งเบาภาระ ช่วยทำงานภายในบ้านให้แก่เจ้าบ้าง"
แต่บุตรชายกลับบอกบิดาว่า
"พ่อจ๋า ขึ้นชื่อว่าผู้หญิง เป็นสะใภ้มาสู่เรือนแล้ว ยากที่จะทำความสุขใจ
ให้เกิดขึ้นแก่ฉันและพ่อได้ ขอพ่ออย่าได้คิดเช่นนั้นเลย ฉันเองคนเดียวก็สามารถดูแล
เลี้ยงดูพ่อไปจนตลอดชีวิตได้ แล้วหากพ่อตายไปเมื่อใด เมื่อนั้นฉันก็จะได้ออกบวช"
หลังจากนั้นไม่นาน บิดาก็นำหญิงคนหนึ่งมาให้ ทั้งๆที่เขาไม่ต้องการเลย
นางเป็น"สะใภ้ใหม่" ที่มีอุปการะและเคารพยำเกรงต่อบิดาของสามีและสามีเป็นอย่างดี
ด้วยเหตุนี้สามีจึงมีจิตยินดีพอใจ ที่นางช่วยเหลือเอาใจใส่ต่อบิดาของตน
จึงมักนำของชอบใจต่างๆที่ได้มา มอบให้แก่นาง แต่นางกลับนำไปให้บิดาของสามีจนหมดสิ้น
อยู่ร่วมกันมาด้วยดีเช่นนี้ นานสักระยะหนึ่งแล้ว นางเริ่มมีนิสัย"สะใภ้เก่า"
จึงคิดว่า
"ผัวของเราได้ของอะไรมา ก็ไม่ได้ให้แก่พ่อผัวเลย นำมาให้แก่เราคนเดียวเท่านั้น
ชะรอย คงไม่มีความรักพ่อเป็นแน่ ฉะนั้นเราน่าจะใช้อุบาย ทำให้พ่อผัวเป็นที่เกลียดชังของผัวเรา
เขาจะได้ขับไล่พ่อไปเสียจากบ้านหลังนี้"
นับตั้งแต่นั้นมา ลูกสะใภ้ก็หาเหตุยั่วยุ ให้พ่อผัวโกรธอยู่เสมอ เช่น
เมื่อจะตักน้ำให้ ก็ให้น้ำเย็นเกินไปบ้าง ร้อนเกินไปบ้าง ทำอาหารเค็มจัดบ้าง
จืดไปบ้าง ดิบๆสุกๆบ้าง หุงข้าวให้แฉะบ้าง นางกระทำดังนี้บ่อยๆ เมื่อพ่อผัวโกรธต่อว่าขึ้น
นางก็จะเถียงด้วยคำหยาบเป็นประจำ ว่า
"ใครจะปรนนิบัติตาแก่ขี้บ่นเช่นนี้ได้"
แล้วแกล้งถ่มน้ำลาย ก่อการทะเลาะวิวาท จากนั้นจึงไปฟ้องสามีว่า
"ท่านจงดูการกระทำของพ่อ จู้จี้ ขี้บ่น ขี้โมโห ดุร้าย หยาบคาย หาเรื่องหาราวอยู่เรื่อย
ทั้งๆที่แก่เฒ่าจวนจะตายอยู่แล้ว โรคภัยก็เบียดเบียน ฉันสุดทนจริงๆ
จะไม่อยู่ร่วมบ้านหลังนี้กับพ่ออีกต่อไป ท่านต้องเอาพ่อไปป่าช้าในวันสองวันนี้ให้ได้
แล้วขุดหลุมฝังพ่อไว้ที่นั่นแหละ"
สวิฏฐกะโดนภรรยารบเร้าเช่นนี้ จึงกล่าวว่า
"นี่แหละหล่อน ขึ้นชื่อว่าการฆ่าคน เป็นบาปกรรมหนัก โดยเฉพาะคนนั้นเป็นพ่อของฉัน
ฉันจะฆ่าพ่อได้อย่างไรกัน"
นางทำเป็นโกรธ แล้วกล่าวว่า
"ท่านจะเลือกใครไว้ล่ะ นี่! อย่ากลัวไปเลย ฉันจะบอกวิธีการฆ่าพ่อให้แก่ท่านเอง"
"ไหน
หล่อนลองบอกอุบายมาให้ฉันฟังดูก่อนสิ"
นางดีใจที่สามีเริ่มสนใจ จึงรีบบอกว่า
"ในเวลาเช้ามืด ท่านจงไปที่พ่อนอนอยู่ ทำเสียงดังให้ผู้คนได้ยิน แล้วพูดว่า
พ่อจ๋า
ลูกหนี้ของพ่อที่อยู่บ้านโน้น หากฉันไปทวงเงินเพียงคนเดียว
ในยามที่พ่อตายไปแล้ว เขาคงไม่ยอมให้คืนแน่ ฉะนั้นพ่อต้องนั่งเกวียนไปกับฉันในเช้านี้แหละ"
เพื่อทวงเงินคืนมา หลังจากนั้นท่านก็จงเตรียมเกวียน แล้วนำเอาพ่อไปยังป่าช้า
ถึงที่นั่นจงขุดหลุมเตรียมไว้ แล้วแกล้งทำเป็นมีโจรปล้น ส่งเสียงดัง
จับพ่อลงจากเกวียน จัดการฝังไว้ที่ป่าช้านั้น แล้วค่อยกลับมาที่บ้านนี้"
สวิฏฐกะฟังแผนชั่วนั้นแล้ว เกิดความคิดที่ผิด(มิจฉาทิฏฐิ) ขึ้นว่า
"อุบายนี้เข้าทีดี"
จึงรับคำของภรรยา ตั้งใจทำตามแผนการนั้น แต่สวิฏฐกะ มีบุตรชายอยู่คนหนึ่ง
อายุได้ ๗ ขวบ เป็นเด็กเฉลียวฉลาดมีปัญญาดี บังเอิญอยู่ที่ตรงนั้น
ได้ยินได้ฟังอุบายชั่วร้ายของมารดารแล้ว ก็คิดขึ้นว่า
"แม่ของเรามีความคิดชั่ว ลามกหนอ ยั่วยุจะให้พ่อฆ่าปู่ให้ตาย เราจะไม่ยอมให้พ่อทำอย่างนั้นสำเร็จ"
แล้วจึงแอบไปนอนร่วมกับปู่
ครั้นถึงเวลาเช้ามืด สวิฏฐกะก็ดำเนินตามแผนทุกอย่าง แล้วเอาบิดาขึ้นนั่งเกวียน
ตอนนี้เองกุมารน้อยรีบฉวยโอกาสปีนขึ้นเกวียนไปด้วย ซึ่งสวิฏฐกะก็ไม่สามารถที่จะห้ามบุตรของตนไว้ได้
จึงจำต้องพาไปป่าช้าด้วย
เมื่อถึงป่าช้า ก็หลอกให้บิดาและบุตร พักอยู่บนเกวียนนั้นก่อน แล้วตนเองก็ลอบถือจอบไปขุดหลุม
ขณะกำลังขุดดินอยู่นั้นเอง ก็ปรากฏเสียงของบุตรชายดังขึ้นว่า
"พ่อจ๋า มันนก มันเทศ มันมือเสือ และผักทอดยอด ก็มิได้มีในที่นี้
พ่อต้องการอะไร จึงมาขุดหลุมอยู่คนเดียว ในป่าช้าเช่นนี้เล่า"
สวิฏฐกะสะดุ้งเฮือก อ้อมแอ้มตอบไปว่า
"ก็ปู่ของเจ้านั่นแหละ อายุมากแล้ว หย่อนกำลังความสามารถที่จะทำงานได้
ถูกความทุกข์ทรมานจากโรคภัยหลายอย่างเบียดเบียน วันนี้พ่อจึงคิดว่า
จะฝังปู่ของเจ้าเสียในหลุม เพราะพ่อไม่อยากเห็นปู่ของเจ้า ต้องมีชีวิตอยู่ด้วยความทุกข์ยากลำบากอีกต่อไป"
บุตรชายได้ฟังคำกล่าวของบิดาแล้ว ก็ฉวยเอาจอบมาถือไว้ลงมือช่วยขุดอีกหลุมหนึ่งใกล้ๆนั้น
บิดาจึงอดสงสัยไม่ได้ ต้องถามขึ้นว่า
"ลูกรัก
เจ้าจะขุดหลุมไปทำไมกัน"
"พ่อจ๋า
พ่อคิดหยาบช้าเลวทรามเช่นนั้นได้ จะกระทำบาปกรรมอย่างนั้นได้
เมื่อถึงเวลาที่พ่อแก่ตัวลง ลูกก็จะได้กระทำบาปกรรมเช่นนั้นกับพ่อบ้าง
ลูกจะทำตามธรรมเนียมของตระกูล จะอนุวัตรตามที่พ่อทำเอาไว้ โดยจะฝังพ่อทั้งเป็นในหลุมนี้บ้าง"
"นี่! เจ้าอย่าพูดกระทบกระเทียบขู่เข็ญพ่อ ด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย เจ้าเป็นลูกที่พ่อให้กำเนิดแท้ๆ
แต่กลับไม่คิดที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลตอบแทนแก่พ่อเลย"
เมื่อบิดาไม่พอใจ และรู้สึกน้อยใจ จึงตัดพ้อขึ้น แต่บุตรชายผู้เป็นบัณฑิต
ก็ยังคงกล่าวต่อไปอีกว่า
"พ่อจ๋า ที่จริงแล้ว ฉันนี่แหละเป็นผู้มีความเกื้อกูลช่วยเหลือแก่พ่อ
แต่เพราะฉันไม่กล้าพอ ที่จะห้ามพ่อผู้ทำบาปกรรมโดยตรงได้ จึงต้องพูดจากระทบกระเทียบเช่นนั้น
เพราะผู้ใดเป็นคนไม่มีศีล ไม่มีธรรม กระทำการเบียดเบียน ทำร้ายพ่อแม่
ผู้นั้นย่อมเข้าถึงความเดือดร้อนในภายหน้า ครั้นตายไปต้องเข้าถึงนรก
แต่ถ้าใครบำรุงเลี้ยงพ่อแม่ผู้แก่เฒ่า ด้วยข้าวและน้ำ ผู้นั้นย่อมได้รับความสุขในภายหน้า
ครั้นตายไปย่อมเข้าถึงสุคติ (ทางดำเนินที่ดี)"
ครั้นสวิฏฐกะได้ฟังคำเตือนเช่นนั้น ก็ได้สติดีคืนมา จึงกล่าวว่า
"ลูกเอ๋ย เจ้าได้ชื่อว่าเป็นผู้มีความเกื้อกูล ช่วยเหลือแก่พ่อจริงแล้ว
แต่เพราะพ่อโดนแม่ของเจ้าว่ากล่าวบ่อยๆ จึงได้กระทำกรรมชั่วอันหยาบช้าเช่นนี้"
บุตรชายเห็นว่า บิดายอมรับผิดแล้ว จึงแนะนำว่า
"ธรรมดาของผู้หญิง เมื่อเกิดโทสะขึ้น แล้วข่มใจไว้ ไม่ได้ จะทำชั่วบ่อยๆ
ฉะนั้นหญิงชั่วที่เป็นเมียของพ่อ เป็นแม่บังเกิดเกล้าของฉัน พ่อจงขับไล่ไปเสียจากบ้าน
เพราะแม่จะนำทุกข์อื่นๆมาให้พ่ออีกมาก"
สวิฏฐกะฟังบุตรชายผู้เป็นบัณฑิตกล่าวเช่นนั้นแล้ว ก็มีจิตยินดี จูงมือกันไปขึ้นเกวียน
แล้วเดินทางกลับบ้านด้วยกันทั้งหมด
ฝ่ายภรรยาใจหยาบ ก็หลงร่าเริงยินดีอยู่ว่า บิดาของสามีถูกกำจัดออกไปจากบ้านแล้ว
จึงทำการตกแต่งบ้าน เอาขี้วัวสดมาฉาบทาผนัง หุงข้าวปายาส(ข้าวหุงด้วยนมวัว)
เตรียมเอาไว้ แล้วเฝ้าคอยดูทางที่สามีจะกลับมา
แต่ครั้นเห็นพ่อของสามี สามี และลูกกลับมาพร้อมกันหมดทั้ง ๓ คน ก็โกรธจัด
ตะโกนด่าสามีออกไปว่า
"เจ้าคนโง่ พาพ่อของเจ้ากลับมาทำไมอีก"
สวิฏฐกะไม่ได้โต้ตอบอะไรเลย นำเกวียนไปเก็บเรียบร้อยแล้ว จึงพาบิดาและบุตรชายเข้าบ้าน
จากนั้นจึงกล่าวกับภรรยาว่า
"หญิงชั่ว เมื่อตะกี้นี้เจ้าพูดว่าอะไร"
แล้วลงมือทุบตีนางนั้นซะเต็มที่ เสร็จแล้วก็ตะเพิดว่า
"ตั้งแต่นี้ไป เจ้าอย่าเข้ามาอยู่ในบ้านหลังนี้ จงออกไป"
จากนั้นก็จับเท้าของนางลากออกไป เมื่อไล่ภรรยาไปแล้ว ก็มาช่วยอาบน้ำให้บิดากับบุตรชาย
แล้วค่อยอาบให้ตัวเองทีหลัง แล้วจึงพร้อมหน้ากินข้าวปายาสด้วยกันทั้ง
๓ คน
ต่อมาอีก ๒-๓ วัน หลังจากภรรยาใจบาป ถูกไล่ออกไปอยู่บ้านคนอื่น บุตรชายได้กล่าวกับบิดาว่า
"พ่อจ๋า แม่ของฉันคงยังไม่รู้สำนึกหรอก ด้วยการลงโทษเพียงแค่นี้ ฉะนั้นพ่อจงแกล้งปล่อยข่าวว่า
จะไปขอลูกสาวของลุงที่ตระกูลโน้น เพื่อมาปรนนิบัติพวกเรา จะได้ทำให้แม่เขินอาย
ไม่กล้าอยู่สู้หน้าชาวบ้านในที่อื่น"
สวิฏฐกะได้ทำตามคำบอกของบุตรชายทุกประการ ด้วยเหตุนี้ ข่าวจึงไปถึงหูของนางว่า
"ผัวของเธอไปบ้านโน้น เพื่อจะนำหญิงอื่นมาเป็นเมียคนใหม่แล้ว"
พอรู้ข่าวเข้าเท่านั้น นางก็สะดุ้งหวาดกลัวไปว่า จะหมดโอกาสกลับคืนไปสู่บ้านอีกแน่
จึงต้องลอบแอบไปหาบุตรชาย ถึงกับหมอบลงแทบเท้า แล้วอ้อนวอนว่า
"ลูกรัก เว้นเจ้าเสียแล้ว คนอื่นคงไม่มีใครเป็นที่พึ่งของแม่ได้อีกแล้ว
นับแต่นี้ไปแม่จะกลับใจ จะปฏิบัติดีต่อพ่อและปู่ของเจ้า ให้เสมือนกับเพิ่งมาเป็น"สะใภ้ใหม่"
ขอให้เจ้าจงช่วยแม่ได้กลับมาอยู่ในบ้านหลังนี้ด้วย"
บุตรชายผู้ฉลาดเห็นมารดาละมิจฉาทิฏฐิลงได้เช่นนั้น จึงกล่าวว่า
"ดีแล้วแม่ ถ้าแม่ไม่ทำเลวเช่นนั้นอีก ไม่ประมาท กลับตัวกลับใจทำดี
ฉันก็จะช่วยแม่"
แล้วจึงไปบอกกับบิดาของตนว่า
"พ่อจ๋า แม่ผู้มีใจบาปนั้น ถูกทรมานอย่างดีแล้ว ดังช้างพังที่ถูกนายควาญช้าง
ฝึกให้อยู่ในอำนาจได้แล้ว ขอให้พ่ออนุญาตแม่ ให้กลับมาอยู่บ้านหลังนี้เถิด"
สวิฏฐกะก็รับคำของบุตรชาย นางจึงได้มาขอขมาโทษ ต่อบิดาของสามีและสามี
แล้วประพฤติปฏิบัติตัวดีเรื่อยมา ตั้งแต่นั้นทั้งสองสามีภรรยา ก็เชื่อฟังคำสอนของบุตรชายผู้เป็นบัณฑิตเสมอ
ไม่ว่าจะเป็นการถือศีล หรือทำบุญให้ทานต่างๆ จวบจนตลอดชีวิตของคนทั้งสอง
พระบรมศาสดานำพระธรรมนี้มาแสดงจบแล้ว ก็ตรัสว่า
"กุมารน้อยผู้เป็นบัณฑิตในครั้งนั้น ได้มาเป็นเราตถาคตในบัดนี้เอง"
"ณวมพุทธ" ๒๙ เม.ย. ๒๕๓๗
(พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อ ๑๔๐๐, อรรถกถาแปลเล่ม ๕๙ หน้า ๘๖๕)
มติที่1 | มติที่2
| มติที่3 | มติที่4
| มติที่5 | มติที่6
| มติที่7 | มติที่8
| มติที่9 | มติที่10
|