[exit]

โพธิรักษ์ โพธิกิจ | โลกาภิวัฒน์ 2000 | เศรษฐศาสตร์บุญนิยม |  ความรัก ๑๐ มิติ ฉบับชาดก 

"ณวมพุทธ"  เรียบเรียง

มติที่1 | มติที่2 | มติที่3 | มติที่4 | มติที่5 | มติที่6 | มติที่7 | มติที่8 | มติที่9 | มติที่10

พุทธภูมินิยม / ธรรมนิยม

"พุทธภูมินิยม หรือ"ธรรมนิยม" เป็นความรักของพระโพธิสัตว์ หรือของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นความรักที่ไม่มีความรักเลย จึงเรียกความรักแบบนี้ว่า"ความรู้" หรือ "โพธิญาณ" หรือ "สัพพัญญู"

เป็นมหาความรักในมิติที่สูงยอด มีคุณค่าสูงเยี่ยมแก่มนุษย์และสัตว์โลก เพื่อโอบอุ้มช่วยโลกสู่สังคมพุทธภูมิอย่างเต็มกำลัง ด้วยการเสียสละอย่างดีสุดชีวิต ทั้งกายกรรม-วจีกรรม-มโนกรรม เพราะท่านไม่มีความเห็นแก่ตัวเลย

คิดแต่ว่าสิ่งไหนดี ถูกต้องเป็นประโยชน์ เหมาะสมกับกาลเวลา ท่านก็จะกระทำตามที่สมควรที่สุดนั้น ด้วยความบริสุทธิ์ใจอย่าง "ธรรมาธิปไตย"แท้ๆ โดยไม่ลำเอียงเข้าข้างบุคคลใดเลย แต่จะเข้าข้าง"ธรรม" เข้าข้างความถูกต้องตรงธรรม ให้ธรรมเจริญเหนือสิ่งใดทั้งปวงในโลก

หัตถิปาลชาดก

ในอดีตกาล มีพระราชาทรงพระนามว่า เอสุการี ครอบครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี โดยมีพราหมณ์ปุโรหิตผู้หนึ่งเป็นสหายรักกันมาตั้งแต่ยังเยาว์ ทั้งสองไม่มีโอรสและบุตรสืบสกุลเลย

วันหนึ่งขณะที่ทั้งสองกำลังอารมณ์ดีมีความสุขอยู่ ต่างก็ได้ปรึกษาหารือกัน โดยปุโรหิตเอ่ยขึ้นก่อนว่า

"ยศอันยิ่งใหญ่ของเราทั้งสองมีมาก แต่บุตรสืบสกุลนั้นไม่มีเลย เราจะทำอย่างไรกันดี"

พระเจ้าเอสุการีตรัสแสดงความคิดเห็นบ้างว่า

"สหายรัก เอาย่างนี้สิ หากภรรยาที่เรือนของท่านให้กำเนิดบุตรขึ้นมา เราจะให้บุตรของท่านได้ครอบครองราชสมบัติของเรา แต่ถ้าหากว่ามเหสีของเราให้กำเนิดโอรส โอรสของเราก็จะช่วยดูแลทรัพย์สมบัติของท่านด้วย"

ทั้งสองต่างตกลงกันและกันเอาไว้ดังนี้

วันหนึ่ง…ขณะที่พราหมณ์ปุโรหิต กำลังกลับบ้านส่วยของตน ได้ผ่านเข้าประตูเมืองทางทิศใต้ บังเอิญได้พบเห็นหญิงยากจนคนหนึ่ง ชื่อ พหุปุตติกะ นางมีลูกเจ็ดคนที่ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บเลย ลูกชายคนหนึ่งถือกระเบื้องภาชนะหุงต้ม คนหนึ่งก็คอยเดินตามหลัง คนหนึ่งก็เกาะนิ้วมือแม่เดินไป คนหนึ่งอยู่ที่สะเอวแม่ และอีกคนหนึ่งอยู่บนบ่าของแม่

ปุโรหิตเห็นดังนั้นจึงถามนางว่า

"แม่มหาจำเริญ พ่อของเด็กเหล่านี้อยู่ที่ไหนกัน แล้วไฉนจึงได้ลูกชายมากถึงเจ็ดคนเช่นนี้

นางพหุปุตติกะตอบว่า

พ่อของเด็กเหล่านี้ไม่ได้อยู่ประจำที่เจ้าข้า ส่วนการได้ลูกชายนั้น…"

นางชะงักคำพูด แล้วมองไปรอบๆตัว เพื่อแสวงหาคำตอบ พอดีแลเห็นต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่ง ขึ้นอยู่ใกล้ประตูเมือง จึงแสร้งตอบไปด้วยท่าทีหนักแน่นจริงจังว่า

"ข้าแต่นาย ดิฉันบวงสรวงเซ่นไหว้ บูชาต่อเทวดาที่สิงสถิตอยู่ที่ต้นไทรนี้เอง เทวดาจึงให้ลูกถึงเจ็ดคนแก่ดิฉัน"

ตอบเสร็จนางพหุปุตติกะก็เดินจากไปทันที ปุโรหิตจึงลงจากรถ เดินตรงไปยังต้นไทร สังเกตดูสักครู่ก็จับกิ่งไทรเขย่าอย่างแรง พลางพูดด้วยเสียงอันดังว่า

"เทวดาผู้เจริญ อะไรบ้างที่ท่านไม่ได้จากราชสำนัก ทุกๆปี พระราชาทรงสละราชทรัพย์พันกหาปณะ (๑,๐๐๐ บาท) ตรัสสั่งให้ทำพลีกรรมแก่ท่าน ท่านกลับไม่ให้โอรสแก่พระราชาเลย แต่หญิงยากจนคนนั้น มีบุญคุณช่วยเหลือเกื้อกูลอะไรแก่ท่าน ทำไมท่านจึงให้บุตรนางถึงเจ็ดคน ฉะนั้นถ้าหากท่านยังไม่ยอมให้โอรสแก่พระราชาของเรา จากนี้ไปอีกเจ็ดวัน เราจะใช้ให้คนมาโค่นต้นไทรนี้ลงทั้งราก แล้วสับให้เป็นท่อนๆเลยทีเดียว"

กล่าวแล้วปุโรหิตก็ขึ้นรถกลับไป และในวันรุ่งขึ้นปุโรหิตก็มายังต้นไทรนี้อีก ทั้งกล่าวข่มขู่ในทำนองเดิม ทำเช่นนี้ทุกวันจนถึงวันที่ ๖ ก็สำทับว่า

"ดูก่อนรุกขเทวดา เหลือเวลาอีกเพียงวันเดียวเท่านั้น ถ้าท่านยังไม่ยอมให้โอรสผู้ประเสริฐแก่พระราชาของเราละก็ พรุ่งนี้เราจะให้คนมาสำเร็จโทษท่าน"

ช่วงนั้นเอง ในเหล่าเทวดาผู้ถึงกาลจุติ มีเทพบุตร ๔ สหาย ผู้มีบุญอันควรเกิดในราชตระกูลปรากฏอยู่ แต่เทพบุตรทั้ง ๔ ไม่ปรารถนาที่จะกำเนิดในราชตระกูล จึงพากันไปเกิดในเรือนของปุโรหิต โดยตั้งจิตกันไว้ว่า

"เมื่อเกิดเป็นมนุษย์แล้ว จะละกามสมบัติออกบวช ตั้งแต่ยังมีวัยหนุ่มอยู่"

ฉะนั้นเทวดาจึงไปดลใจแก่ปุโรหิตให้รับรู้ ด้วยเหตุนี้ ต้นไทรนั้นจึงรอดพ้นจากการถูกตัดโค่นไปได้ ครั้นเทพบุตรผู้เป็นพี่ใหญ่ จุติมาบังเกิดในครรภ์ของนางพราหมณีภรรยาปุดรหิตแล้ว ก็มีชื่อว่าหัตถิปาลกุมาร เพราะปุโรหิตได้มอบให้นายควาญช้างรับเลี้ยงไว้ เพื่อป้องกันการออกบวชของกุมารนั่นเอง เมื่อหัตถิกุมารเจริญเติบโต เริ่มเดินได้นั้น เทพบุตรองค์ที่สองก็จุติมาบังเกิดในครรภ์ของนางพราหมณีอีก กุมารเกิดแล้วได้ชื่อว่า อัสสปาลกุมาร ฝากให้คนเลี้ยงม้าช่วยดูแลให้ เพื่อป้องกันกุมารออกบวช แล้วเมื่อบุตรคนที่สามเกิดก็ได้ชื่อว่า โคปาลกุมาร มีนายโคบาลเลี้ยงดูไว้ เพื่อป้องกันการออกบวช และบุตรคนที่สี่เกิดแล้วก็ได้ชื่อว่า อชปาลกุมาร มีคนเลี้ยงแพะช่วยเลี้ยงดูไว้

ครั้นกุมารทั้งสี่เมื่อเติบโตเจริญวัยเป็นหนุ่ม ได้มีรูปร่างสง่างามยิ่งนัก ช่วงนั้นปุโรหิตได้เชิญบรรดานักบวชทั้งหลายออกไปจากพระราชอาณาเขตหมด ในแคว้นกาสิกรัฐจึงไม่มีบรรพชิตเหลืออยู่แม้แต่รูปเดียว

เมื่อหัตถิปาลกุมารอายุครบ ๑๖ ปี พระราชาได้ปรึกษากับพราหมณ์ปุโตหิตว่า

"กุมารทั้ง ๔ เติบใหญ่แล้ว สมควรที่จะยกราชสมบัติให้ครอบครอง แต่เมื่ออภิเษกแล้ว หากว่ากุมารเหล่านี้ได้พบปะบรรพชิตเข้า ก็อาจจะพากันออกบวชเสีย ถ้าเป็นอย่างนั้น ชาวเมืองก็จะระส่ำระสายวุ่นวายไปหมด ฉะนั้นก่อนที่จะอภิเษกให้ เราทั้งสองต้องลงมือทดลองกุมารเหล่านี้ดูก่อน"

ทั้งสองจึงตกแต่งร่างกายปลอมแปลงเป็นฤาษี เที่ยวภิกขาจาร จนถึงประตูบ้านที่อยู่ของหัตถิปาลกุมาร เมื่อหัตถิปาลกุมารมีโอกาสได้พบเห็นฤาษีแล้ว ก็เกิดจิตปีติยินดี มีความเลื่อมใส ตรงเข้าไปใกล้ๆ ถวายนมัสการ แล้วเอ่ยปากถามว่า

"นานทีเดียว ข้าพเจ้าเพิ่งเคยพบเห็นผู้มีผิวพรรณผ่องใสดังเทพมุ่นชฎา ผู้ทรมานกิเลสดั่งเปือกตม เป็นฤาษีผู้ยินดีในคุณธรรม นุ่งห่มผ้าย้อมน้ำฝาด ผ้าคากรอง(ทำด้วยหญ้า) ปกปิดโดยรอบ ขอท่านผู้เจริญรับอาสนะ(ที่นั่ง) รับน้ำ รับผ้าเช็ดเท้า และรับน้ำมันทาเท้า ข้าพเจ้าขอต้อนรับท่านด้วยสิ่งของมีค่า โปรดได้กรุณารับของมีค่านี้ด้วยเถิด"

หัตถิปาลกุมารเชื้อเชิญฤาษีทั้งสอง ด้วยความเคารพศรัทธายิ่งนัก ปุโรหิตฤาษีจึงแกล้งถามว่า

"แน่ะพ่อหัตถิปาละ เจ้าสำคัญว่าเราทั้งสองเป็นใครกัน จึงกล่าวอย่างนี้"

หัตถิปาลกุมารจึงตอบว่า

"ข้าพเจ้าคิดว่า ท่านเป็นฤาษีผู้มาจากหิมวันตประเทศ"

ปุโรหิตจึงบอกความจริงว่า

"พ่อคุณ… พวกเราไม่ใช่ฤาษีจริงๆหรอก นี้คือพระราชาเอสุการี เราก็คือปุโรหิตผู้เป็นบิดาของเจ้าไง"

หัตถิปากุมารจึงเกิดความสงสัยขึ้นทันที เอ่ยถามว่า

"ทำไมต้องทำเช่นนี้ เพราะเหตุอันใดกันเล่า พระราชากับบิดาถึงต้องปลอมเป็นฤาษีด้วย"

ปุโรหิตเฉลยคำตอบว่า

"ก็เพื่อทดลองใจเจ้าว่า หากเจ้าพบเห็นพวกบรรพชิตถือศีลแล้วก็มิได้คิดออกบวช พวกเราก็จะอภิเษกเจ้าให้เสวยราชสมบัติ"

หัตถิปาลกุมารได้ฟังดังนั้น ก็รีบตอบว่า

"ข้าแต่บิดา ข้าพเจ้าไม่ต้องการราชสมบัติเลย ข้าพเจ้าต้องการที่จะบวชมากกว่า"

ปุโรหิตได้ยินดังนั้น ถึงกับลนลานกล่าวว่า

"ลูกรักเจ้าจงร่ำเรียนวิชา และจงแสวงหาทรัพย์ให้มาก จงปลูกฝังลูกหลานให้มั่นคงอยู่ในเรือน แล้วจงบริโภครูป รส กลิ่น เสียง อันบำเรอกามทั้งปวงก่อนเถิด กิจที่จะสงบระงับอยู่ในป่านั้น จะสำเร็จพระโยชน์ดีก็เมื่อยามแก่แล้ว ผู้ใดบวชในเวลาตอนนั้น ผู้นั้นพระอริยเจ้าย่อมสรรเสริญ"

หัตถิปาลกุมารฟังแล้ว ก็กล่าวแย้งบิดาว่า

"วิชาการต่างๆเป็นของไม่เที่ยงแท้ ลาภคือทรัพย์ก็ไม่เที่ยงแท้ ใครๆจะเอาการมีลูกหลานมาห้ามความแก่เฒ่าได้เล่า สัตบุรุษทั้งหลายล้วนสอนให้ปล่อยวางในกามคุณ ๕ เพราะความเกิดขึ้นแห่งผลกรรมใดๆนั้น ย่อมมีได้ตามกรรมของตน"

เมื่อพระราชาทรงสดับคำของหัตถิปาลกุมารแล้ว ก็ตรัสบ้างว่า

คำของเจ้าที่ว่า ความเกิดขึ้นแห่งผลกรรมใดๆนั้น ย่อมมีได้ตามกรรมของตน ช่างเป็นคำจริงแท้แน่นอน ฉะนั้นในเมื่อบิดามารดาของเจ้านี้ก็แก่เฒ่าแล้วหวังว่าเจ้าก็จะอยากอยู่จนแก่เฒ่าอายุ ๑๐๐ ปี ไม่มีโรคบ้าง ฉะนั้นเจ้าต้องช่วยเลี้ยงดูบิดามารดาของเจ้าก่อน"

หัตถิปาลกุมารฟังพระราชดำรัสแล้ว กราบทูลว่า

"ข้าแต่พระราชาผู้ประเสริฐ ความเป็นสหายกับความตาย ความมีไมตรีกับความแก่นั้น ไม่เคยมีกับผู้ใดเลย เพราะไม่มีผู้ใดที่ไม่แก่ ไม่มีผู้ใดที่ไม่ตาย ผู้นั้นแม้มีอายุยืน ๑๐๐ ปี ไม่มีโรคเบียดเบียนก็ได้ในบางคราวเท่านั้น อุปมาดังบุรุษเอาเรือมาจอดไว้ที่ท่าน้ำ รับคนฝั่งนี้นั่งถึงฝั่งโน้น แล้วรับคนฝั่งโน้นพามาถึงฝั่งนี้นั้นฉันใด ความแก่และความเจ็บป่วย ย่อมนำเอาชีวิตไปสู่อำนาจแห่งความตายอยู่เนืองๆฉันนั้น"

ก็ครั้นหัตถิปาลกุมารกล่าวแล้ว ก็หยุดสักครู่จึงกล่าวต่อ

"ขอเดชะพระมหาราชเจ้า ขอพระองค์ดำรงอยู่เป็นสุขเถิด ความแก่ ความเจ็บป่วย และความตาย ย่อมรุกรานเข้าใกล้ทุกคนตลอดเวลา ขอพระองค์อย่าได้ทรงประมาทมัวเมาเลย"

จบคำพูด หัตถิปาลกุมารถวายบังคมพระราชา และกราบลาบิดา แล้วพาบริวารของตนละทิ้งสมบัติในพระนครพาราณสี ด้วยตั้งใจว่า จะออกบวช อีกทั้งยังมีชาวเมืองส่วนหนึ่งติดตามหัตถิปาลกุมารไปด้วยคิดว่า

"ขึ้นชื่อว่าการออกบวชนั้น ช่างเป็นความดีอันน่างดงามยิ่งนัก"

รวมแล้วจึงมีผู้ตามไปกับหัตถิปาลกุมาร เป็นระยะทางยาวประมาณถึง ๑ โยชน์ (๑๖ ก.ม.) ทีเดียว

หัตถิปาลกุมารเมื่อไปถึงฝั่งแม่น้ำคงคา เพ่งดูสายน้ำแล้วตกลงใจว่า

"เราจะอยู่ ณ ที่นี้แหละ จะนั่งให้โอวาทแก่มหาชนทั้งหลายอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำคงคานี้

ในวันรุ่งขึ้น พระเจ้าเอสุการีกับพราหมณ์ปุโรหิตคิดกันว่า เมื่อหัตถิปาลกุมารไม่ต้องการสมบัติและคิดจะบวช ฉะนั้นคงต้องไปทดลองใจของอัสสปาลกุมารดูบ้าง ทั้งสองจึงตกแต่งแปลงร่างปลอมเป็นฤาษีกันอีก แล้วไปยังประตูเรือนของอัสสปาลกุมาร กระทำเช่นเดียวกันกับหัตถิปาลกุมารทุกอย่าง แล้วก็ได้รับคำตอบจากอัสสปาลกุมารว่า

"ข้าแต่ท่านบิดา ข้าพเจ้าไม่มุ่งหมายในราชสมบัติ ซึ่งเปรียบเสมือนก้อนน้ำลาย ที่พี่ชายของข้าพเจ้าบ้วนทิ้งแล้ว แม้จริงแท้ที่สัตว์ทั้งหลายผู้โง่เขลาเบาปัญญา ย่อมจะทิ้งกิเลสนั้นได้ยาก แต่ข้าพเจ้าก็จะละทิ้ง เพราะกามทั้งหลายเป็นดังเปือกตม ที่ก้าวลงไปแล้วทำให้จมลง เป็นที่ตั้งแห่งความตาย ฉะนั้นสัตว์ทั้งหลายผู้ข้องอยู่ในกาม จึงเป็นผู้มีจิตเลวทราม ย่อมข้ามถึงฝั่งไม่ได้เลย

แม้ในอดีตอัตภาพ(นิสัยใจคอ) ของข้าพระองค์ ก็ได้กระทำกรรมอันหยาบช้ามาก่อน ผลแห่งกรรมนั้นยึดข้าพระองค์ไว้มั่นดีแล้ว ข้าพระองค์จะพ้นไปจากผลแห่งกรรมนั้นไม่ได้เลย ดังนั้นข้าพระองค์จึงคิดจะปิดกั้นนิสัยใจคอนั้นอย่างรอบคอบ เพื่ออย่าได้กระทำกรรมอันหยาบช้าอีกเลย"

กล่าวจบอัสสปาลกุมารก็กราบลาบิดาและพระราชา แล้วพาผู้ที่อยากติดตามไปด้วย มีความยาวประมาณโยชน์หนึ่ง (๑๖ก.ม.) ไปยังที่พำนักของหัตถิปาลกุมาร

หัตถิปาลกุมารได้แสดงธรรมให้แก่อัสสปาลกุมารฟัง แล้วกล่าวว่า

"น้องรัก สมาคมนี้จะใหญ่ยิ่งกว่านี้อีกมากนัก พวกเราจะพำนักกันอยู่ในที่นี้ก่อน"

วันรุ่งขึ้น พระราชากับพราหมณ์ปุโรหิตก็ปลอมตัวเป็นฤาษีไปยังเรือนของโคปาลกุมาร ด้วยอุบายเหมือนเดิม แม้โคปาลกุมารก็ปฏิเสธราชสมบัติ และต้องการออกบวชเช่นพี่ชาย โดยกล่าวว่า

"ข้าแต่พระเจ้าเอสุการี ประโยชน์ของข้าพระองค์พินาศไปเสียแล้ว เหมือนผู้เลี้ยงโคไม่เห็นโคที่หายไปในป่าฉะนั้น ต่อเมื่อข้าพระองค์ได้เห็นทางแห่งบรรพชิตทั้งหลายแล้ว ไฉนจะไม่แสวงหาการออกบวชเล่า ข้าพระองค์เห็นทางที่พี่ชายทั้งสองได้กระทำไปแล้ว เหมือนคนพบรอยเท้าโคที่หายไป ฉะนั้นข้าพระองค์ก็จะไปตามทางนั้นเหมือนกัน"

พระราชาและปุโรหิตช่วยกันกล่าวขอร้องว่า

"พ่อโคปาลกุมาร รออีกสักวันสองวันก่อนเถิด ให้เราทั้งสองพอทำใจให้ใจเบาลงบ้าง แล้วเจ้าค่อยออกบวช"

แต่โคปาลกุมารกลับตอบว่า

"ผู้ใดกล่าวผัดเพี้ยนการงาน ที่ควรกระทำในวันนี้ ว่าควรทำในวันพรุ่งนี้ แล้วกล่าวการงานที่ควรกระทำในวันพรุ่งนี้ ว่าควรทำในวันถัดไป ผู้นั้นย่อมเสื่อมจากการงานนั้น

ฉะนั้น"กรรมดี" ควรทำในวันนี้ ไม่ควรผัดเพี้ยนว่า จะทำ"กรรมดี"ในวันพรุ่งนี้ ขึ้นชื่อว่า"กรรมดี"แล้ว ควรทำในวันนี้แหละ เพราะสิ่งใดเป็นอนาคต สิ่งนั้นยังไม่เกิดไม่มี จึงควรละความพอใจในอนาคตนั้นเสีย"

จากนั้นโคปาลกุมารกับบริวารอีกประมาณโยชน์หนึ่ง ก็เดินทางไปยังสำนักของพี่ชายทั้งสอง หัถติปาลกุมารจึงแสดงธรรมให้แก่โคปาลกุมารฟัง ณ ที่นั้นเอง

วันรุ่งขึ้น พระราชาและปุโรหิตยังคงปลอมเป็นฤาษี ไปยังเรือนของอชปาลกุมาร ในที่สุดแม้อชปาลกุมารก็ไม่ต้องการราชสมบัติ แต่ต้องการออกบวชเช่นกัน ปุโรหิตจึงกล่าววิงวอนว่า

"เจ้ายังอายุน้อยนัก ควรจะบวชในเวลาที่ถึงวัยอันสมควร ให้เราทั้งสองเลี้ยงดูอุ้มชูเจ้าก่อนเถิด"

อชปาลกุมารจึงกล่าวว่า

"ธรรมดาของสัตว์โลกทั้งหลาย ไม่มีนิมิตเครื่องหมายที่มือหรือที่เท้าของใครเลยว่า ผู้นี้จะตายในเวลาเด็ก ผู้นั้นจะตายในเวลาแก่เฒ่า ข้าพเจ้าเองก็ไม่รู้เวลาตายของตัวเอง เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจะบวชในตอนนี้แหละ

เพราะข้าพเจ้าเคยเห็นหญิงสาวรูปร่างหน้าตางดงาม มีดวงตาดังดอกการะเกด โดนความตายมาฉุดคร่าเอาชีวิตเธอไป ทั้งที่อยู่ในวัยรุ่นเท่านั้น ยังไม่ทันบริโภคสมบัติได้มากมายอะไรเลย แล้วยังมีชายหนุ่มสง่างาม ใบหน้าผ่องใสผิวพรรณน่าดูน่าชม แม้ชายหนุ่มเห็นปานนี้ ก็ไปสู่อำนาจของความตาย

ข้าพเจ้าจึงคิดละกามและบ้านเรือนเสีย แล้วจะออกบวช ได้โปรดกรุณาอนุญาตแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด"

อชปาลกุมารกล่าวอย่างนี้แล้ว ก็กล่าวต่อไปอีกว่า

"ขอท่านทั้งสองจงดำรงอยู่อย่างเป็นสุขเถิด ส่วนข้าพเจ้าผู้กำลังถูกความแก่-ความเจ็บ-ความตายรุกรานอยู่นี้ ขอกราบลาท่านทั้งสองไปก่อน"

จากนั้นอชปาลกุมาร ก็พาบริวารสักโยชน์หนึ่งไปสู่ฝั่งแม่น้ำคงคา หัตถิปาลกุมารจึงแสดงธรรมให้น้องชายฟัง

เช้า…วันรุ่งขึ้น พราหมณ์ปุโรหิตนั่งขบคิดอยู่ที่เรือนของตน ในที่สุดก็ตัดสินใจปรึกษากับนางพราหมณีว่า

"ดูก่อนแม่วาเสฏฐิ ต้นไม้จะถูกเรียกชื่อว่าต้นไม้ได้ ก็เพราะมีกิ่งและใบ ส่วนต้นไม้ที่ไม่มีกิ่งและใบนั้น ชาวโลกเขาเรียกว่า ตอไม้ ก็บัดนี้ลูกทั้ง ๔ ของเราออกบวชกันหมดแล้ว เราเป็นผู้ไม่มีบุตร เหลือกันอยู่ตามลำพัง เป็นเสมือนมนุษย์ตอไม้ ถึงเวลาแล้วที่แม้เราก็จะออกบวชเช่นกัน"

จากนั้นปุโรหิตจึงเรียกพราหมณ์หมื่นหกพันคนมาประชุมกันแล้วกล่าวว่า

"เราจะละทิ้งโลกียสุขอันเร่าร้อน จะไปบวชในสำนักของลูกชายเรา แล้วพวกท่านจะทำอย่างไรกันเล่า"

พราหมณ์เหล่านั้นตอบว่า

"ท่านอาจารย์ นรกนั้นเป็นของร้อนเฉพาะตัวท่านผู้เดียวก็หาไม่ แม้พวกเราก็จะบวชตามท่านด้วย"

เมื่อเป็นดังนั้น พราหมณ์ปุโรหิตจึงยกทรัพย์สมบัติทั้ง ๘๐ โกฏิ (๘๐๐ ล้าน) ให้แก่นางพราหมณีทั้งหมด แล้วพาพราหมณ์ทั้งหลาย มีแถวยาวประมาณโยชน์หนึ่ง ไปสู่ฝั่งแม่น้ำคงคา หัตถิปาลกุมารจึงแสดงธรรมให้แก่พราหมณ์ทั้งหลายฟัง

ต่อมาในวันรุ่งขึ้น… นางพราหมณีคิดว่า

"ลูกของเราตัดตาข่ายคือกามไปแล้ว ละทิ้งราชสมบัติออกบวช สามีของเราก็ทิ้งสมบัติ ๘๐ โกฏิ พร้อมตำแหน่งปุโรหิตออกบวช เหลืออยู่แต่เราผู้เดียวจะทำอะไรได้ ไฉนเราไม่ปฏิบัติตามลูกและสามีของเราเล่า"

เมื่อนางพราหมณีรู้แจ้งชัดอย่างนี้ จึงตกลงใจว่าจะออกบวช ดังนั้นจึงเรียกนางพราหมณีทั้งหลายมาบอกว่า

"เธอทั้งหลายเราจะออกบวชในสำนักของลูกชายเรา แล้วพวกเธอจะทำอย่างไรกันเล่า"

นางพราหมณีเหล่านั้นตอบว่า

"ข้าแต่แม่เจ้า ถ้าท่านออกบวช พวกข้าพเจ้าก็จะบวชด้วย"

นางพราหมณีจึงสละทรัพย์สมบัติทั้งหมด แจกจ่ายออกไป แล้วพาบริวารราวโยชน์หนึ่ง ไปยังฝั่งแม่น้ำคงคา หัตถิปาลกุมาร จึงแสดงธรรมให้ฟัง

วันรุ่งขึ้น…พระราชาเอสุการี ได้ตรัสถามถึงพราหมณ์ปุโรหิต ราชบุรุษจึงกราบทูลว่า

"ข้าแต่พระองค์ ท่านปุโรหิตและภรรยาได้ละทิ้งสมบัติทั้งหมด แล้วพาบริวารของตนไปยังสำนักของหัตถิปาลกุมารแล้ว พะยะค่ะ"

พระราชาทราบเรื่องทรงดำริว่า

"ทรัพย์สมบัติที่ไม่มีเจ้าของปกครอง สมควรตกเป็นสมบัติของเรา"

จึงตรัสสั่งให้ราชบุรุษไปขนเอาทรัพย์สมบัติ ที่เหลือจากเรือนของปุโรหิตมาเก็บไว้

เมื่อพระอัครมเหสีของพระราชาสดับข่าวนี้เข้า ทรงดำริขึ้นว่า

"พระราชสวามีของเรานี้ ช่างหลงใหลงมงายนัก ไยไปขนเอาทรัพย์สมบัติที่เป็นประดุจคบเพลิง เป็นประดุจก้อนน้ำลายที่เขาบ้วนทิ้งแล้ว เอามาบรรจุไว้ในพระคลังหลวง เราจะทำให้พระราชาได้สติ ละทิ้งสมบัติเหล่านั้นไปเสีย"

พระอัครมเหสีจึงรับสั่งให้คนไปขนเอาเนื้อวัวและเนื้อสุนัข มากองไว้ที่หน้าพระลานหลวง แล้วจึงขึงตาข่ายไว้โดยรอบ เมื่อบรรดานกแร้งพอเห็นเนื้อแต่ไกล ก็โผลงมาเพื่อจะกินเนื้อ หากแร้งตัวใดมีปัญญา ก็ได้คิดว่าเขาขึงตาข่ายดักไว้ ถ้ากินเนื้ออิ่มแล้วร่างกายหนัก จะไม่อาจบินออกไปได้ ดังนั้นจึงคายสำรอกเนื้อออกมา แล้วบินขึ้นได้ไม่ติดตาข่ายนั้น ส่วนแร้งตัวใดโง่เขลา พากันกินเนื้อเพลิดเพลินจนร่างกายหนัก ไม่อาจบินออกจากตาข่ายได้ ต้องติดอยู่กับตาข่ายนั้น ราชบุรุษก็จะจับแร้งเหล่านี้มาถวายพระอัครมเหสี พระนางจึงนำแร้งเหล่านี้ไปให้พระราชาทอดพระเนตร แล้วทูลว่า

"ขอเดชะ ขอเชิญพระองค์เสด็จไปทอดพระเนตรกิริยาของฝูงแร้ง ที่หน้าพระลานหลวงด้วยเถิด"

ขณะที่พระราชาทรงทอดพระเนตรอยู่นั้น พระอัครมเหสีกราบทูลว่า

"แร้งฝูงนี้ ตัวใดกินเนื้อแล้วยอมสำรอกออกเสีย ก็จะบินหลุดออกจากตาข่ายได้ แต่แร้งตัวใดกินเนื้อแล้วไม่ยอมสำรอกออกมา ก็จะบินติดอยู่ในตาข่าย ตกอยู่ในเงื้อมมือของหม่อมฉัน ข้าแต่พระองค์ พราหมณ์ได้คลายกามทั้งหลายออกทิ้งแล้ว ส่วนพระองค์กลับรับเอากามนั้นไว้บริโภคอีก ผู้ใดบริโภคสิ่งที่ผู้อื่นคายออกแล้ว เสมือนได้กลืนก้อนน้ำลายของผู้อื่น ไม่พึงได้รับคำสรรเสริญเลย"

พระราชาทรงสดับคำของพระนางแล้ว บังเกิดความสลดพระทัยยิ่งนัก ได้สติขึ้น จึงตรัสกับพระนางอย่างสำนึกผิดว่า

"เปรียบเสมือนผู้มีกำลัง ช่วยฉุดผู้ทุพพลภาพให้ขึ้นมาจากเปือกตมได้ฉันใด เธอก็ช่วยพยุงฉัน ให้ขึ้นมาจากกามได้ด้วยคำสุภาษิตฉันนั้น และฉันก็ละอายแก่ใจจริงๆ จึงคิดว่าฉันจะสละราชสมบัติออกบวชเสียในวันนี้ทีเดียว"

จึงรับสั่งเรียกอำมาตย์ทั้งหลายมาเฝ้า แล้วตรัสว่า

"เราจะไปบวชอยู่ในสำนักของหัตถิปาลกุมาร แล้วพวกเจ้าจะทำอย่างไร"

เหล่าอำมาตย์กราบทูลว่า

"ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายก็จะบวชติดตามพระองค์ไป พระเจ้าข้า"

ดังนั้นพระเจ้าเอสุการี จึงทรงละทิ้งราชสมบัติและรัฐสีมาถึง ๑๒ โยชน์ (๑๙๒ ก.ม.) โดยประกาศว่า

"ผู้ใดต้องการราชสมบัติ จงมาขึ้นครองราชย์เถิด"

แล้วเสด็จออกบรรพชา ดุจช้างตัวประเสริฐสลัดเครื่องผูกให้ขาดไปได้ และนำหมู่อำมาตย์ราชบริพารประมาณ ๓ โยชน์ (๔๘ ก.ม.) เสด็จไปยังฝั่งแม่น้ำคงคา หัตถิปาลกุมารจึงแสดงธรรมให้ฟัง

ต่อมาวันรุ่งขึ้น…ประชาชนที่เหลืออยู่ในพระนครประชุมกันแล้ว ได้พากันไปยังประตูพระราชวัง ขอเข้าเฝ้ากราบทูลต่อพระอัครมเหสีว่า

"ก็พระราชาผู้กล้าหาญประเสริฐสุด ทรงพอพระทัยในการบรรพชา ละรัฐสีมาไปแล้ว ขอพระนางเจ้าโปรดเป็นพระราชาแห่งข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พระนางเจ้าโปรดเสวยราชสมบัติเหมือนพระราชาเถิด"

พระอัครมเหสีทรงสดับถ้อยคำของมหาชนแล้ว ได้ตรัสว่า

"เมื่อพระราชาทรงเสด็จออกบรรพชาแล้ว แม้เราก็จะละกามทั้งหลายอันน่ารื่นรมย์ใจ เพราะเวลาย่อมล่วงเลยไป ราตรีย่อมผ่านไป ช่วงแห่งวัยย่อมละลำดับไป เราจะเป็นผู้เย็นใจก้าวล่วงความข้องในกามทั้งปวง เที่ยวไปในโลกแต่ผู้เดียว ไม่มีกามเป็นเพื่อนสอง"

ตรัสดังนี้แล้ว พระนางรับสั่งให้เรียกภรรยาอำมาตย์ทั้งหลายมาเฝ้า แล้วตรัสถามว่า

"เราจะออกบวช แล้วพวกเธอจะทำอย่างไรกัน"

เหล่าภรรยาอำมาตย์ทูลตอบว่า

"แม้พวกหม่อมฉันก็จะบวชตามเสด็จด้วยเพคะ"

พระอัครมเหสีจึงทรงรับสั่งให้จารึกพระสุพรรรณบัฏ(แผ่นทองคำจารึกพระราชสาสน์คำสั่ง) ว่า

"ขุมทรัพย์ใหญ่ฝังไว้ที่โน้นบ้าง ในที่นี้บ้าง ใครมีความต้องการ จงขนเอาทรัพย์ที่เราพระราชทานไว้แล้วนี้ไปเถิด"

แล้วผูกพระสุพรรณบัฏไว้ที่เสาต้นใหญ่ ให้พนักงานเปิดประตูพระคลังทอง และให้ตีกลองป่าวประกาศทั่วพระนคร จากนั้นพระนางทรงสละราชสมบัติ เสด็จไปสู่ฝั่งแม่น้ำคงคา

ขณะนั้นมหาชนพากันเดือดร้อนโกลาหล เพราะทั้งพระราชาและเทวีทรงสละราชสมบัติออกบวชหมด ประชาชนทั้งหลายจึงต่างพากันละทิ้งบ้านช่อง ทั้งคนจนและคนมั่งมีพากันจูงลูกหลานออกตามเสด็จพระเทวี บรรดาร้านรวงและตลาด จึงมีสิ่งของวางเกลื่อนกลาด แต่ไม่มีผู้ใดจะเหลียวกลับมาแลดูเลย พระนครถึงกลับกลายเป็นเมืองร้าง ปราศจากผู้คน ประชาชนติดตามพระเทวีไปยาวประมาณถึง ๓ โยชน์ (๔๘ ก.ม.) พอถึงแล้ว หัตถิปาลกุมารได้แสดงธรรมให้แก่ทั้งหมดได้รับฟังกัน จากนั้นจึงพามหาชนทั้งปวงมีประมาณถึง ๑๒ โยชน์ (๑๙๒ ก.ม.) บ่ายหน้าไปสู่หิมวันตประเทศ

นครอื่นๆในแคว้นกาสิกรัฐ ซึ่งอยู่ใกล้ๆนั้น ชาวเมืองพากันลือกระฉ่อนไปว่า

"หัตถิปาลกุมารพาผู้คน ๑๒ โยชน์ไปจากเมืองหมด จนทำให้นครพาราณสีถึงกับรกร้างว่างเปล่า นำมหาชนออกบวชมุ่งสู่หิมวันตประเทศ ฉะนั้นพวกเราจะอยู่ไปใยในเมืองนี้"

จึงต่างพากันออกบวชตาม จนประชาชนเพิ่มถึง ๓๐ โยชน์ (๔๘๐ ก.ม.) ในที่สุดหัตถิปาลกุมารก็พาผู้คนทั้งหลายมาจนถึงป่าหิมพานต์ แล้วพรรพชาเป็นฤาษี

หัตถิปาลฤาษีให้ช่วยกันจัดสร้างอาศรมขึ้นเป็นหมู่กลุ่ม โดยให้บรรดาหญิงแม่ลูกอ่อนและเด็กอยู่ตรงกลาง ถัดออกมาเป็นอาศรมของหญิงชรา ถัดออกมาอีกเป็นของหญิงวัยปานกลาง ส่วนชั้นนอกสุดเป็นอาศรมของเหล่าผู้ชายทั้งหมด

เมื่อเป็นดังนี้ พระราชาในแคว้นอื่นๆ อีก ๖ แคว้น พอได้ทราบข่าวว่า นครพาราณสีไร้พระราชาครองบัลลังก์แล้ว จึงต่างเสด็จมาดูความจริง ได้ทอดพระเนตรเห็นกองแก้วแหวนเงินทอง เครื่องประดับตกแต่งอันมีค่ามากมายเกลื่อนทั่ว จนต้องดำริขึ้นว่า

"เหตุไฉนหนอพระเจ้าเอสุการีทรงสละละทิ้งพระนคร ที่มีสมบัติมากมายเยี่ยงนี้ไปได้ แล้วทรงออกบวช ชะรอยการบรรพชานี้จะต้องเป็นสิ่งมีคุณค่าอันโอฬาร ยิ่งใหญ่กว่าสมบัติเหล่านี้เป็นแน่แท้"

พระราชาทั้งหลายจึงทรงสอบถามหนทาง แล้วเสด็จตามไปยังอาศรมของหัตถิปาลฤาษี ครั้นหัตถิปาลฤาษีทราบว่าพวกพระราชาเสด็จมาถึงแนวป่า จึงเดินออกไปต้อนรับ และแสดงธรรมให้พระราชาทั้งหลายฟัง พระราชาทั้งหมด ๖ พระองค์ล้วนมีจิตยินดีในการอกบวช พากันสละราชสมบัติเสด็จออกบรรพชาบ้าง อาศรมจึงกว้างไกลออกไป มีปริมาณฑลได้ถึง ๓๖ โยชน์ (๕๗๖ ก.ม.) เนืองแน่นไปด้วยมวลหมู่สังคมนักบวช

หากนักบวชรูปใดมีกามวิตกเกิด หัตถิปาลฤาษีก็จะแสดงธรรมให้ผู้นั้นพ้นทุกข์ไปได้ คำสั่งสอนต่างๆมากมายของหัตถิปาลฤาษี ทำให้มหาชนเป็นอันมากปราศจากทุคติ คือ ไม่ดำเนินชีวิตชั่ว ไม่ไปสู่นรกคือความเร่าร้อนใจ ไม่กำเนิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน คือ ความมืดมัวโง่เขลา ไม่กำเนิดเป็นเปรต คือความหิวกระหายไร้สุข และไม่กำเนิดเป็นอสุรกายคือความสะดุ้งหวาดกลัวภัย ด้วยประการฉะนี้

พระพุทธองค์จบชาดกนี้แล้ว ก็ทรงกล่าวให้รู้ชัดว่า

"ในครั้งนั้นพระเจ้าเอสุการีคือ พระเจ้าสุทโธทนะในบัดนี้ ปุโรหิตคือพระกัสสปในบัดนี้ ส่วนหัตถิปาลกุมารก็คือ เราตถาคตนั่นเอง"

ณวมพุทธ ๑๒ มิ.ย.๒๕๓๖ (พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อ ๒๒๔๕, อรรถกถาแปลเล่ม ๖๑ หน้า ๒๓๙)

มติที่1 | มติที่2 | มติที่3 | มติที่4 | มติที่5 | มติที่6 | มติที่7 | มติที่8 | มติที่9 | มติที่10

  Asoke Network Thailand