เม็ดทราย ๒๒

โ ล ก อ ะ ไ ร ห น อ
โลกที่เราไปพบนี่คือโลกอะไรหนอ ?
โลกของคนดี ??
เขาดี.. เขาได้ดี..แล้วยังไม่พอ
ยังมาคอยว่ากล่าวความชั่ว ในผู้คนทั้งหลาย
เพื่อที่ให้คนเหล่านั้น ละเว้นความชั่ว
และเป็นคนดีอย่างเขาบ้าง
โลกนี้คือโลกอะไรหนอ ?

ทำไมเขาจึงเสียสละ
ถ้าเขาจะสบาย เขาก็อยู่ได้อย่างสบาย
แต่เขาก็มาลำบากเพื่อผู้อื่น
แม้ผู้ที่เขาหวังดี จะโกรธ จะเกลียดเขา
แต่เขาก็ยอมเป็นผู้ถูกเกลียดชัง

หากเขาไปอยู่ป่า เขาก็อยู่อย่างสบาย
แต่เขาก็ไม่อยู่
เขากลับมาอยู่ในขุมนรก
และฝ่าคมหอก,ดาบ
พยายามดึงคนที่พอมีดวงตาสว่าง
ให้มาเป็นคนดีอย่างเขา
เขาไม่ได้อะไรตอบแทน
แต่เขาก็สู้สละแรงกาย,ใจ เพื่อผู้อื่น
"เขา" คือคนเช่นไรหนอ ?
เรายังมีความเห็นแก่ตัว
เรายังเกลียดยังโกรธที่ถูกชี้ความชั่ว
ที่มีอยู่ในตัวเรา

แต่เขาก็สู้อุตส่าห์หวังดี
แม้เราจะแสดงความก้าวร้าว ตอบต่อ
แต่เขาก็กลับเบิกบาน เบิกบาน
เขาคือ มนุษย์โลกไหนหนอ ?

โลกนี้คือโลกอะไรหนอ ?
โลกที่มีแต่การให้และให้
โลกที่มีการชี้โทษชี้ภัยของความชั่ว
โลกที่มีแต่ความจริงใจ
โลกนี้คือโลกอะไรหนอ ?

กบจำศีล



ละทิ้งเล่ห์เหลี่ยมฉ้อฉลเสีย
ก็จะเป็นประโยชน์แก่ราษฎรร้อยเท่า
เลิกการแสร้งทำเป็นเมตตา กับการกระทำที่ฉาบฉวยเสีย
ราษฎรก็จะคืนวิสัยกตัญญู และความกรุณาที่เคยมีอยู่
เลิกล้มกลอุบายและผลประโยชน์ ในการค้าเสีย
จะไม่มีใครคิดกระทำโจรกรรม
ทั้งสามสิ่งนี้ เป็นสิ่งที่หลอกลวงราษฎร
ซึ่งนำมาใช้ในการปกครองไม่ได้
การที่จะให้ราษฎร ปฏิบัติตามคำสั่ง
ต้องแสดงให้ราษฎร แสดงความบริสุทธิ์ของตน
รักษาความเป็นธรรมชาติ อย่างง่ายๆ
ไม่เห็นแก่ตัว และตัดความโลภออกเสีย

ปรัชญา / ๒๖ สิงหา



คนที่คิดจะเป็นคนดีคนเจริญ
ขออย่าได้กลัวต่อความลำบาก
แต่จงกลัวต่อความสบายให้มาก
ความลำบากยากเข็ญไม่เคยทำลายคน
ความลำบากยากเข็ญ เป็นสิ่งประเสริฐแท้
ความลำบากนี้เป็นศัตรู
แล้วกลายเป็นมิตรในภายหลัง
ส่วนความสบายนั้นเป็นมิตรก่อน
แล้วกลายเป็นศัตรูภายหลัง
จงคบแต่สิ่งที่เป็นมิตรดีกว่า
อย่าคบสิ่งที่เป็นศัตรูของตนเลย

ปัญญานันทภิกขุ


การปกครองของอริยบุคคล
ต้องให้ราษฎรมีจิตใจสะอาด
มีความอิ่มหนำสำราญ
มีความมักน้อย
มีร่างกายแข็งแรง
ให้ราษฎรไม่มีความฉลาด ในทางฉ้อโกง
ไม่มีความคิดที่จะกระทำโจรกรรม
ดังนี้ แม้คนที่คิดว่าตนเป็นคนฉลาด
ก็ไม่กล้าก่อเรื่องยุ่งยาก

ปรัชญา / ๒๖ สิงหา

 

กฎหมายยิ่งมาก ราษฎรยิ่งยากจน
ฝ่ายปกครองมีเล่ห์เหลี่ยมมากขึ้น บ้านเมืองยิ่งยุ่งยาก
ฝ่ายปกครองยิ่งมีชั้นเชิงมาก เรื่องทุจริตก็ยิ่งมาก
กฎหมายยิ่งเข้มงวด โจรผู้ร้ายยิ่งชุกชุม
ฉะนั้น อริยบุคคลจึงกล่าวว่า
เมื่อเราไม่กระทำ(การปกครอง) ราษฎร
ราษฎรจะต้องปรับปรุงตนเอง
เราชอบสงบ ราษฎรจะเดินตามระเบียบเอง
เราไม่รบกวน ราษฎรก็จะร่ำรวย
เราไม่มีความต้องการอะไร
ราษฎรก็ยิ่งซื่อสัตย์สุจริตขึ้น

ปรัชญา / ๒๖ สิงหา


 

ชีวิตคือต้นธารของทุกสิ่ง
เป็นความจริงมินิ่งอยู่กับที่
ความผันแปรของกระแสแห่งชีวี
ย่อมจะมีหมุนเวียนเปลี่ยนร่ำไป
วันใหม่ที่หมุนเวียนมาถึง
เป็นวันซึ่งควรจะยิ่งสดใส
จงกล้าที่จะฝ่าที่คลื่นลมไป
สู่สิ่งใหม่ที่ดียิ่งกว่าเดิม
พจนา อำนาจเกษ


เมื่อธรรมยาตราเข้าสู่ห้วงหทัยใด
หทัยนั้นย่อมบรรเจิดเกษมไร้ธุลีโศกเริง
สะอาดพร่าง สว่างใส สงบเย็น สุภาพแท้
ทรงภาวะแห่งผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน นิรันดร์กาล
เมื่อธรรมยาตราเข้าสู่ถิ่นแดนแคว้นใด
ถิ่นนั้น แดนนั้น แคว้นนั้น
ย่อมอภิวัฒนาสถาพร รุ่งเรือง ไพบูลย์
สนิทสัมพันธ์ด้วยสันติ ภราดร ไร้เทียมทาน

ชาวอโศก



เ ด็ ก

สังคมนี้ มีส่วน ที่ยวนยั่ว
ให้เด็กชั่ว ก่อกรรม กระทำเข็ญ
เมื่อสังคม โทรมทรุด สุดลำเค็ญ
เด็กจึงเป็น ปัญหา น่าหนักใจ
หนังอาฆาต เข่นฆ่า ฉายดาษดื่น
เด็กชมชื่น จำติด เป็นนิสัย
เรื่องของเล่น เกมพนัน ล้วนจัญไร
เด็กหลงใหล เล่นเพลิน ผลาญเงินตรา
เรื่องลามก รกเมือง เฟื่องภาพโป๊
แฟชั่นโชว์ โค้งเว้า เร้าตัณหา
โรงเรียนชิด ติดกับ ไนท์คลับบาร์
เด็กไม่บ้า ตามผู้ใหญ่ ก็ใจเย็น

นิรนาม


 

ส ต รี

สตรี คือที่รวมของความเลิศที่น่ากลัว
บุรุษผู้ประมาทย่อมถูกทำลายลง
ด้วยความเลิศของหญิง
เพราะเธอกลั่นมาจาก
ความเย้ายวนของดอกไม้
ความหวานหอมของน้ำผึ้ง
ความอ้อนแอ้นของใบอ้อ
ความคดงอของเถาไม้เลื้อย
ความเกาะเกี่ยวของเถาวัลย์
ความไหวหวั่นของสกุณี
ความใจเสาะของกระต่าย
ความดุร้ายของพยัคฆ์
ความจิบจ้อของนกกระจอก
ความครวญครางของนกเขา
ความกลมเกลาของจันทรา
ความโอ่อ่าของยูงทอง
ความเยือกเย็นของหิมะ
ความอบอุ่นของไฟฟอน
ความเนียนนุ่มแห่งขนอ่อนของวิหค
ความแข็งแกร่งของเหล็กเพชร
ความออเซาะของสายหมอก
ความกลิ้งกลอกของน้ำบนใบบัว
และความน่ากลัวของอสรพิษ
ด้วยความเลิศของสตรีดังกล่าวนี้
บุรุษผู้ไม่ประมาท จึงต้องระมัดระวังยิ่ง

อันมายาของสตรีนั้น
หยั่งได้ยากยิ่งกว่ารอยของปลา ที่แหวกว่ายไปในน้ำ
บุรุษผู้ตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์
ย่อมมีสติรู้อยู่เสมอว่า
การคลุกคลีกับมาตุคามนั้น
เหมือนการอยู่ท่ามกลาง หมู่อสรพิษ
และฝูงพยัคฆา
พระโยคาวจรผู้ประมาท
ย่อมจักถึงความย่อยยับ
ด้วยความเลิศของเธอ

ระวี เย็นธรรม



อ โ ศ ก ส ลั ด ใ บ

ท่ามกลางความมืดมิด เหน็บหนาวยามค่ำคืน
และแสงแดดแผดกล้า ยามเที่ยงวัน
บนผืนแผ่นดินอันแห้งแล้งของยุคสมัย
สายน้ำแห่งความอารี เหือดแห้งลงทุกขณะ
ผู้คนไร้ชีวิตชีวา...
และพืชพันธุ์ไม้ก็อับเฉา แคระแกร็น
ด้วยความพากเพียรอุตสาหะ ของคนกลุ่มหนึ่ง
ผู้เปี่ยมไปด้วยพลังแห่งความรัก และเมตตา
ปรารถนาจะปลูกฝังความดีงาม ให้เกิดขึ้นในโลก
ความถูกต้อง -ความมีชีวิต -ความสดใส
เขาจึงช่วยกันพลิกพื้นผืนดิน
เพื่อเพาะพาน "ต้นไม้แห่งความหวัง"
ให้เติบใหญ่ยืนยงเป็นร่มเงา แก่มวลสรรพสัตว์
อาศัยความปรารถนาดี เป็นกำลังใจ
ศรัทธาเป็นเมล็ดพืช
วิริยะเป็นพลังเพียร
พวกเขารดน้ำ-พรวนดิน
แก้ไข-ปรับปรุง สภาพแวดล้อม
จนวันหนึ่ง...
ความสำเร็จก็เดินทางมาถึง
ต้น"อโศก"เกิดแล้ว..
หยั่งราก -ผลิดอก -ออกใบ
ความมีชีวิตเกิดแล้ว..
บนแผ่นดิน ที่เคยแห้งแล้งนัก

เหมือนดอกหญ้าสีม่วง ระเหิดระหง
ที่พาดพันและมีชีวิตอยู่ได้ บนรั้วลวดหนาม
แลความแข็งกระด้าง... แหลมคม... ก้าวร้าว...
ให้กลับอ่อนโยน... งดงาม
ด้วยความสัตย์ซื่อ บริสุทธิ์ และจริงใจ

อโศกเติบโตรวดเร็ว
มีแก่น มีแกน แข็งแรง
แผ่ขยายกิ่งก้าน ไปทั่วสารทิศ
ท่ามกลางความชื่นชมยินดี ของผู้เห็นคุณค่า
และความริษยาของพันธุ์ไม้อื่น ที่ด้อยกว่า
เมื่อเห็นอโศก ชูยอดเรียวสวย
แต่สิ่งหนึ่งซึ่งคือสัจธรรม ก็เกิดขึ้นเสมอ
มันเกิดขึ้นและเป็นไป อย่างน่าปวดร้าว

...ยามอโศกต้องสลัดใบ
...ยามดอกอโศก ต้องร่วงหล่น
ไม่ว่าจะด้วยกฎเกณฑ์ ของธรรมชาติ
หรือจากฤทธิ์แรงของอธรรม
จนแม้กระทั่งความไม่จริงใจ...
ของบางดอก บางใบ ที่สำคัญว่าเป็นอโศก
ทั้งทั้งที่...ไม่ใช่!!!
หลายคนเจ็บปวด เมื่อพบความเปลี่ยนแปลง
หลายคนสะเทือนใจ กับความไม่แน่นอน
เสียใจ...เสียดาย...เสียขวัญ
เพราะไม่ทันได้เตรียมใจรับ
ไม่หมั่นพิจารณา กฎของไตรลักษณ์

"ทุกสิ่งล้วนอนิจจัง
ไม่มีอะไรจะไม่แปรเปลี่ยน
ไม่มีอะไรจะไม่พลัดพราก
แม้สิ่งนั้นจะเป็นสิ่งที่ดี ที่สุดของชีวิต"

ใครเล่าจะสามารถห้ามดอกไม้ มิให้เหี่ยวเฉา
แม้จะสุดแสนเสียดาย
"ห้ามน้ำไม่ไหล... ห้ามไฟมิให้มีควัน
ห้ามอาทิตย์.. ห้ามดวงจันทร์
หยุดแค่นั้น ค่อยห้ามดวงใจ"

กระทั่งดวงดาว ก็ยังต้องร่วงจากฟากฟ้า
แม้จะสูงส่งออกปานนั้น
และด้วยหัวใจที่ยอมรับ ในเหตุผล
เราควรขอบคุณสัจจะ ที่ปรากฏ
ขอบคุณเวลาที่เป็นเครื่องพิสูจน์ อันแสนดี
ขอบคุณบุคคลที่ลงทุนทั้งชีวิต เพื่อเป็นตัวอย่าง
และขอบคุณ ต่อทุกสิ่งที่เกิดขึ้น
ไม่ว่ามันจะเลวร้าย... น่าหวาดหวั่นสักเพียงใด
เพราะทั้งหมดนั้นคือ
สิ่งที่จะหล่อหลอม ให้หัวใจแข็งแกร่งขึ้น มั่นคงขึ้น
ให้มันเจ็บปวด เสียแต่วันนี้
เพื่อที่จะไม่เจ็บปวด อีกต่อไป

และถึงอย่างไร...
อโศกก็ยังคงความยิ่งใหญ่ ด้วยแก่นแท้
ไม่ว่าฤดูกาลไหนไหน
แดดจะร้อน..ลมจะแรง.. พายุฝนจะกระหน่ำ..
อโศกก็จะยืนต้น ท้าทายบนปฐพี
หยั่งรากฝังลึกลง บนดวงใจ
และผลิบานอยู่เสมอ... ชั่วนิรันดร์

อิสรา


 

ชิ ง สี ด า

เมื่อจะชิง "สีดา" กลับคืนจากเหล่ายักษ์
องค์รามจะต้องเข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว และกล้าหาญ
เมื่อเราจะชิง ธรรม กลับสู่มวลมนุษย์
จะต้องเชื่อมั่น และเชื่อมั่นในธรรม
ไม่หวั่นไหวต่อคำกล่าว ของผู้อื่น
ไม่พรั่นพรึงต่อคำ สบประมาท หรือเสียดสี
มีนักรบที่หนีทัพในอดีต มิใช่น้อย
ที่ทนต่อหอกปาก ที่จ้วงจาบไม่ได้
เขาจึงยอมทิ้งธรรม เพียงเพื่อยุติการโจมตี
เขาขี้ขลาดเกินไป
เพราะเขาทนไม่ได้ แม้เพียงแค่คำตำหนิ
กระนี้แหละคือ ความอ่อนแอ ที่สุดเศร้า
ที่พ่ายแพ้อย่างหมดรูป
สีดา...เธอไม่มีวันตาย ด้วยมือมาร
แต่ความท้อแท้ แห่งองค์รามนี่แหละ
ที่จะฆ่าเธอ !


ทางสายเอก หรือ เอกายนมัคโค
เป็นทางสำหรับ ผู้นอบน้อมถ่อมตน
ที่รู้ว่าตัวยังไม่รู้อีกมาก
ที่รู้ว่าตัวยังบกพร่องอีกเยอะ
ทุกลมหายใจ คือการเตือนสติ
พร้อมที่จะฟัง ความคิดเห็นผู้อื่น อย่างเคารพ
ยอมรับคำติติง โดยดุษณี อย่างไม่คิดแก้ตัว
ทุกครั้งที่ถูกติ- ถูกวิจารณ์ในทางลบ
ขอบคุณ..ขอบคุณ
สำนึกในบุญคุณ แห่งกระจกเงา ทุกขณะ
ขอบคุณอีกครั้ง
เราจะไม่ลืมบุญคุณ ของเธอเลย

ใต้ร่มอโศก
สารอโศก ฉบับรามบูชา ปีที่ ๓ (๖) ฉบับที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๒๕


ชี วิ ต ป ร ะ เ ส ริ ฐ

อันชีวิตประเสริฐจะเกิดได้
มีปัจจัยสามประการเป็นฐานเสริม
คือหนึ่งต้องขยันมั่นคงเดิม
ไม่เคลิบเคลิ้มเกียจคร้าน งานนอก-ใน

งานนอกคือประโยชน์ท่าน ประสานร่วม
เพื่อส่วนรวมเป็นกำลัง อย่างเลื่อมใส
งานในคือประโยชน์ตน ไม่จนใจ
ไม่หลงใหลโลกธรรม ประจำวัน

สองสร้างสรรสิ่งดี ที่นำผล
ให้ชุมชนชื่นบาน สมานฉันท์
ช่วยให้ลดความฟุ้งเฟ้อ เห่อเหิมกัน
ไม่โมหันก่อปัญญา ศรัทธามี

ประโยชน์สูง-ประหยัดสุด เป็นจุดหมาย
สิ่งอบายไม่เกี่ยวข้อง ให้หมองศรี
ยิ่งมักน้อย สันโดษไว้ ได้เป็นดี
เป็นเศรษฐีแห่งธรรม ค้ำจุนชน

สามสร้างมิตร สร้างเพื่อน สร้างสหาย
ก่อขยายสัมพันธ์ มั่นกุศล
ให้คงอยู่คู่หล้า คู่สากล
เชื่อมตัวตน-ตัวท่าน ประสานกัน

ต่างเอื้อเฟื้อช่วยเหลือ เกื้อกูลกิจ
ไม่มีจิตโลภ โกรธ หลง ธรรมคงมั่น
รู้มิตรดี สหายดี เพื่อนดีนั้น
เป็นที่สุดพรหมจรรย์ ไม่ผันแปร
อานันทะ
๑๘ กันยายน ๒๕๒๕


 

ฟากฟ้าที่กว้างไกล
มิได้เป็นของนกตัวใด
เช่นกัน...
ที่ผืนดิน และ แผ่นน้ำสีคราม
ก็มิได้เป็นของมนุษย์ และส่ำสัตว์ตนใด
สรรพชีวิตและมนุษยชาติ
ต่างเกิดมาด้วย ความเปลือยเปล่า
มนุษย์ก็น่าจะดำรงอยู่ และจากไป
พร้อมกับ ความเปลือยเหล่านั้น

ทำไมเราจะต้องถือครอง
ในธรรมชาติ ชีวิต และความรัก
เพื่อไว้เป็นสมบัติของเรา เพียงผู้เดียว
ลมหายใจกับการมีชีวิต อันพิสุทธิ์นี้
ก็น่าจะเป็นสิ่งซึ่ง พอเพียงแล้ว มิใช่หรือ
สำหรับชีวิตของเรา แต่ละคน

อนัตตา


ชีวีแห่งธรรม คือหมู่ คือมวล คือการผนึกประสาน
ทุกคนต่างยินดี ที่จะเป็นผู้ยุติที่ตน
มองตน มองตน และมองตน
มากกว่าการติเตียน เพ่งโทษแต่ผู้อื่น
ธรรมชีวี จึงมีสามัคคีเป็นแก่นแกน
อโศกจะแตกหัก มิใช่เพราะคนชั่วย่ำยี
แต่เพราะคนที่สูงกว่า ดูถูกคนที่ต่ำกว่า อย่างชิงชัง
ทั้งดูหมิ่น ทั้งปรามาส
บุคคลเช่นนี้ซิ จึงคือผู้บ่อนทำลาย อย่างแท้จริง
ที่เป็นผู้กระทำ ความแตกแยกให้เกิดขึ้น
ด้วยเหตุแม้ดี แต่ขาดขันติธรรม
ล้างที่ใจ พิจารณาที่ใจ
และอย่าลืม อดทน อดทน อดทน
อันเป็นยาประสานหมู่กลุ่ม ที่ดีสุดยอดในปฐพี
ใต้ร่มอโศก



สารอโศก ธรรมชีวี ปีที่ ๓(๖) ฉบับที่ ๒ กันยายน ๒๕๒๕

หน้า ๒๒

เม็ดทราย หน้า 19 | 20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25