เม็ดทราย ๒๔

วิถีแห่งกลปรานี

การแสวงหาความจริง...
ความหมายของความจริงนั้น
มีทั้งความจริงทางคดีโลก
มีทั้งความจริงทางคดีธรรม
คดีโลกนั้นก็คือ...
ความสุขของโลก ที่เขาประกอบไปด้วย
ลาภ ยศ สรรเสริญ และความเสพย์สม แห่งโลกียสุข

ผู้ที่เข้าใจแจ่มแจ้ง ในเหตุผลความจริง
และซาบซึ้ง ในรสของโลกียสุข ว่าคืออะไร
ซาบซึ้งในการมีลาภ มียศ มีสรรเสริญ ว่าคืออะไร
และเป็นคนพอแล้ว
เป็นคนที่ไม่เอาอีกแล้ว
เห็นความไม่ตื่นเต้น
ไม่ต้องหลงใหลในลาภ ในยศ ในสรรเสริญ
ในการเสพย์สมโลกียสุข
ว่าเป็นความสุข ที่สงบยิ่งกว่า

ผู้ที่เห็นในความสุข ที่สงบยิ่งกว่านั้นแหละ
คือผู้ที่เข้าใจ ในคดีธรรม
เป็นผู้ที่เห็นจริง ของตนเอง
พอใจในความสุข อันสงบ
ที่เรียกว่า "วูปสโมสุข" นั้น
ด้วยตนเอง อย่างแน่จริง...แน่ใจ
จึงหยุดความลนลาน
หยุดการแสวงหา ในโลกธรรม
หรือในความจริง ของโลกได้
และจะเป็นคนที่ ไม่วิ่งหาอีก

นอกจากไม่วิ่งหาอีกแล้ว
พระพุทธเจ้าของเรา ผู้เป็นปราชญ์เอก
ยังเป็นผู้ที่มี พระจิตวิญญาณ
อันเมตตา กรุณาสูงส่ง
สอนให้ผู้ที่ไม่ติดโลกนั้น ยังช่วยโลก
ยังเกื้อกูลและเอ็นดู คนที่เขาติดโลกนั้นอยู่
และจะมีจิตปัญญา
มีวิธีการ... มีความสามารถ
ที่จะช่วยเหลือ ให้คนเหล่านั้น
รู้แจ้งในการหลงโลก
แล้วลดราในเรื่องแย่งโลก
ให้เดินทาง เข้ามาสู่โลกุตระ
มาสู่คดีธรรม... มาสู่ความสงบ
อันเป็นความสุข อันแสนวิเศษนี้
ให้ได้อีกด้วย
ชีวิตที่เหลือ
ของผู้ไม่ติด ความสุขของโลก
ไม่ติดความจริงของโลกแล้ว
ได้ความจริงของธรรมะแล้ว
จึงเป็นชีวิตที่เอ็นดู คนของโลก
ช่วยเหลือเกื้อกูล คนของโลก
ให้มาเป็นอย่างเราบ้าง

เพราะฉะนั้น...
งานของคนที่ทิ้งคดีโลก
ทิ้งความสุขของโลกแล้ว
จึงเป็นงานที่ช่วยคนของโลก โดยตรง...โดยแท้จริง

สิ่งนี้เป็นคุณค่า
เพราะผู้ที่ทำนั้น ไม่ได้ทำเอามาเสพย์
ไม่ว่าจะเป็นโลกียสุข
ไม่ว่าจะเป็นเพื่อ หลงสรรเสริญ
หรือเพื่อหลงลาภ หลงยศ
ทำอย่างไรให้เขารู้... ให้เขาได้อย่างแท้จริง

ความจริงอันนี้
จึงไม่ใช่เป็นเรื่อง ของการกอบโกย
จึงไม่ใช่เรื่องของตัว ของตน
เป็นเรื่องเสียสละ
เป็นเรื่องไม่เอาเปรียบ
เป็นเรื่องไม่เอา
เป็นเรื่องให้
เป็นเรื่องของการสร้างสรร
เป็นเรื่องของการให้
เป็นเรื่องของจิตบริสุทธิ์

"นี้คือจิตอันสูงสุดของศาสนา"
ที่ปราชญ์เอก ไม่ว่าปราชญ์ชั้นใดใด
ก็เห็น...ก็รู้
และนำพามนุษย์ มาสู่จุดนี้ทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้น...
คุณค่าของจิตที่เรียกว่า จิตสูงสุด
จะเรียกว่า จิตพระเจ้า
จะเรียกว่า จิตพระพรหม
จะเรียกว่า จิตเทวดาชั้นสูง ขนาดไหนก็ตาม
ก็คือ จิตเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
ที่ช่วยสร้างสรรให้แก่โลก... ช่วยมนุษยโลก

และก็สร้างเพื่อให้เขา
ไม่ใช่เพื่อเราเลย
จิตบริสุทธิ์อย่างนั้นจริงๆ
ไม่เสพย์ ไม่คลุกเคล้า ไม่คลุกคลี
จิตสะอาด...จิตล่อน
จิตอย่างนี้เป็นจิตสูงสุด

ผู้ที่มีได้แล้วจริง... หมดปัญหา
และมีชีวิตอยู่อย่างไม่สงสัย
จะเป็นผู้อนุเคราะห์โลก
จะเป็นผู้เกื้อกูลโลก
เป็นผู้ถึงความจริง ในทางธรรมอันสูงสุด
และมีชีวิตอยู่ อย่างเบิกบาน แจ่มใส
เป็นผู้สร้าง...ผู้ให้
เป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ ตราบตาย

พระโพธิรักษ์
๑๓ ธันวาคม ๒๕๒๕


 

ท า ง ส อ ง แ พร่ ง

ชีวิตคือการเดินทาง
แต่ทางเดินนั้น มีให้เลือก มิใช่หนึ่งเดียว
แต่ละเส้นทาง รอคอยการตัดสินใจ
ชะตาชีวิต ไม่มีใครบังอาจบงการ
นอกจากตัวเรา ผู้เป็นเจ้าของชีวิต
ชีวิตภายใต้อุ้งมือแห่งเรา
จะถอยหรือสู้
จะสู่มืดหรือสว่าง
ใครหนอลิขิต ถ้ามิใช่เรา
ผู้เป็นแท่งก้อนแห่งชีวิต แท่งนี้

หากเพชรพลอย คืออัญมณีของมนุษย์
มนุษย์ก็คือ อัญมณีที่แท้ของโลก
ที่สักวัน จะต้องถูกขุดขึ้นมา
ขัดเจียรส่องแสง ให้แวววับ
ท่ามกลางความปรวนแปร แห่งวิถีชีวิต
ท่ามกลางการเรียนรู้สารพัด
ที่ปราศจาก ทางเลือกสัมมาทิฐิ
อัญมณีแห่งมนุษย์
ถูกแดดถูกลม
ถูกน้ำถูกฝน
ถูกฝุ่นธุลีกระทบกระแทก
ย่อมเปรอะเปื้อน
ย่อมหมองมัว สกปรก
หนาแน่นด้วยคราบฝุ่น ตะกอน
และบางชีวิต ด้วยเห็นทุกข์ แห่งสิ่งห่อหุ้ม
ได้ปลุกสำนึกแห่งชาตินักรบ

เด็ดเดี่ยวมั่นคง
เริ่มขัด เริ่มถู เริ่มกระเทาะ
ด้วยอาศัยพาหะ แห่งการงาน

แวววับ แวววับ ชีวิตที่รับการขัดเกลา
รับการขัดถูจากบทบาท กิจกรรมทั้งปวง
จึงเริ่มเปล่งแสง ผ่องอำไพแพรวพราว
ลอยเด่นขึ้นสู่เมฆา
แต่บ้าง บางชีวิต
แม้อาจจริงใจ ก็อาจพลาด ผิดพลั้ง
กะประมาณหนักข้อ
ผลจึงเลยเปลือกฝุ่นนอกนอก
กระทบเนื้อแก่นแรงเกิน แรงเกิน
เกิดความเจ็บปวด ยากแท้สุดจะทน
บ้างจึ่งหลุดมือกระทบพื้น
มึนงง ปวดหัวชั่วขณะ
หมดสามารถยังกิจต่อ ให้ลุล่วง
จำต้องหยุดพักกลางทาง ก็มีไม่น้อย
ท่ามกลางเสียงเย้ยหยัน เหยียดหมิ่น
"เห็นไหม เห็นไหม อยู่สงบ ไม่ชอบ
มัวแต่ ทำ ทำ ทำ วุ่นวาย จึงเป็นเช่นนี้
สมน้ำหน้าเหล่านักรบ กัมมรามตาแท้หนอ"
พูดพลาง ต่างวางมือเลิกทำ เลิกหัด
พอใจเสพรสแห่งความวิเวก สงัดหนอ
"สุขอื่นเสมอความสงบ เป็นไม่มี
สุขแล้ว สุขแล้ว
อยู่ไปวันวัน ชีวิตเราอิ่มเอม..."

ใจหนอ รักจะขัดฟอก สิ่งสกปรก
แต่ก็กลัว พลาดพลั้งหลุดไหล
ความหวาดกลัว จึงจำต้องยุติกิจงาน
จับตัวเอง แช่แข็งสุดขั้วโลก
ปล่อยให้ความเย็น บุกประชิด ครอบคลุม
เมื่อสกปรก แข็งตัวเสียแล้ว
ทุกข์นั้นจะเกิดได้ แต่หนใด
อย่าเลย อย่าได้รบกวนขุดคุ้ย สิ่งไม่ดีออกมา
นี้คือทางชีวิตอีกวิถีหนึ่ง
ที่เดินหันข้างให้ กับการขัดฟอกเช็ดถู
เมื่อหมดกรรม ไม่มีอันทำ
ความผิดพลาด จะเกิดได้อย่างไร
ชีวิตแห่งอัญมณีเหล่านี้
จึงยิ้ม ยิ้มอย่างภูมิใจ ที่ตัวเอง ไม่เคยผิดพลาด
ไม่เคยทำสิ่งมีค่าตกหล่น

ณ บัดนี้
ทางเดินแห่งชีวิต สองเส้นทาง
ได้บังเกิดขึ้นให้ตัดสิน
ใครใคร่เดิน - เดิน
ใครใคร่หยุด - หยุด
ระหว่างชีวิต ที่ไม่เคยผิดพลาด
ไม่เคยชะล้าง
กับชีวิตที่บางครั้ง ก็ผิดพลาด
แต่ก็ได้ลงมือขัดเจียน ให้แก่ตัวเองแล้วจริง

ณ บัดนี้
ทางเดินแห่งมรรคา สองสาย
ได้ผลุดเดิน ให้ตัดสินใจ
จะหยุดยั้งเจียระไน
ผัดวันประกันพรุ่ง
หรือจะลงมือเสียแต่ ขณะนี้... ชาตินี้

ชีวิต
ใครรู้บ้างไหม
ว่าโอกาสที่จะได้พบ สัจธรรม
ยากยิ่งเสียกว่า การงมเข็ม ในมหาสมุทร

ชีวิต
ใครรู้บ้างไหม
ว่าโอกาสที่จะพบกับ สัมมาสมาธินั้น
กี่กัปกี่กัลป์ กว่าจะหลุด เกิดพานพบ
เพียงแค่การเกิด ได้เป็นมนุษย ชาติหนึ่งนั้น
พระพุทธองค์ตรัส ยากนัก ยากนัก
ยิ่งได้พบสัจธรรม
ยิ่งได้ปฏิบัติลดละ
ประจัญฝ่า คลื่นกิเลสตัณหา
รู้ล้ม รู้แพ้
เพื่อชัยชนะอันเป็นที่สุด แห่งเป้าหมาย
นี่ซิยากกว่า หลายแสน หลายล้านเท่านัก

ตัดสินใจเสียแต่ชาตินี้
ว่าจะเลือกมรรคา สู่ดวงดารา ด้วยวิธีใด
แช่แข็งก้อนปฏิกูล สกปรก
อย่าได้รบกวน การหลับของมัน
หรือขุดคุ้ยสำรอกออกให้สิ้นเกลี้ยง
แน่นอน กลิ่นใหม่ใหม่ ก็ย่อมเหม็นฉุนเฉียว เป็นธรรมดา

ตัดสินเสียแต่ชาตินี้
อย่าพึงหวังว่า จะมีชาติอื่นอื่น อีกต่อไป
ระหว่าง ความสงบแสนเย็น
หนาเหนอะด้วยมวลก้อน และคราบไคลแห่งปฏิกูล
ท่วมท้นด้วยคราบไคล แห่งชีวิตสารพัด
ที่ถูกปิดล้อมสกัดกั้น
ถ่วงทิ้งใต้ก้นบึ้ง แห่งวิญญาณ
กับชีวิตที่อาจหาญ
ทุกข์บ้างก็เป็นธรรมดา ของการขัดเกลา
อาศัยการงานเป็นสื่อพา
เป็นสื่อล่อขัดล้างดวงใจ
ที่บางครั้ง ก็อาจพลาดเผลอ ตกหล่น
อันเป็นธรรมดา แห่งผู้มีการงาน
แต่นั่น บัดนี้ เขาได้ล้างแล้ว ขัดแล้ว
แม้จะตกหลุม ลงบ่อ เท้าแพลง
แต่ก็ได้ลงมือ กระทำแล้วจริง

เลือกเถิดทางชีวิต
ใครที่ใคร่ทำ - ทำ
ใครที่ใคร่หยุด - หยุด
เพราะทุกคน ต่างก็เป็นผู้ลิขิต ชีวิตของตน

อสูรสัมมา
๓ ธันวาคม ๒๕๒๕

สารอโศก ฉบับ กลปรานี ปีที่ ๓(๖) ฉบับที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๒๕


 

ขัดกะลาขัดกิเลส

มาฟังธรรมที่พุทธสถานแล้วทานข้าว
เห็นญาติธรรมเราใช้กะลาใส่อาหาร
มีกระจาดใส่ผลไม้ใช้แทนจาน
ดูน่ากินน่าทานของไทยไทย

อีกทั้งช้อนและถ้วยกะลาดูน่าใช้
เป็นของไทยตั้งแต่ครั้งย่ายังสาว
ทำจวักตักอาหารทั้งหวานคาว
ที่พวกเราเพิ่งเห็นค่ากะลาไทย

เมื่อก่อนนี้ไม่เคยคิดซักนิดว่า
มันมีค่ามีราคาที่ตรงไหน
เพราะเห็นมันเกลื่อนกลาดดาดาษไป
มาคิดได้เมื่อพ่อบอกออกแรงแรง
พ่อบอกว่าของนี้ผู้ดีใช้
พวกเป็นไพร่อย่าหวัง มันพังแน่
เพราะพวกนี้กิริยาไม่น่าแล
ของดีแท้ต้องคู่กับผู้ดี

ฉันอยากเป็นผู้ดีตามพ่อว่า
จึงมาหัดใช้กะลาตามเพื่อนเขา
ตั้งแต่ซื้อแล้วมาขูดมาขัดเกลา
ทำเบาเบากลัวจะพังคอยยั้งมือ

นี่เพียงแค่ขัดกะลายังว่ายาก
ขัดกิเลสจะลำบากซักแค่ไหน
มันไปหลงติดตัวแต่ครั้งใด
ไม่เคยใส่ใจตามถามมันเลย

เคยแต่คิดว่าสิ่งนั้นฉันต้องได้
ความอยากใคร่เต็มตัวทั้งหัวหู
ไม่เคยคิดที่จะพรากจากมันดู
ไปหลงชูเชิดว่ามันสวรรค์จริง

จึงมาหัดตัดกิเลสเหตุเศร้าหมอง
มัดยึดครองเรานี่ดั่งผีสิง
ถ้าดึงไม่หยุดฉุดไม่ออก บอกตามจริง
ผีคงวิ่งยิ้มร่านำหน้าเรา

ฉันเริ่มมาขัดกิเลสนี่สองปีกว่า
เพียรทำมาล้มบ้างบางเขลา
รู้ไม่ทันมันจึงลากกระชากเอา
ต้องตามเฝ้าคอยดูต่อสู้มัน

ถึงตอนนี้ฉันชนะละบางอย่าง
สบายบ้างในชีวิตจิตของฉัน
คงต้องสู้ไปอย่างนี้ทุกวี่วัน
กว่าชีพฉันจะถมจมแผ่นดิน

นิยตา


 

เ กิ ด ม า ท ำ ไ ม

ชีวิตมีอยู่ชั่วครู่เดียว
บัดเดี๋ยวก็ดับลับหาย
เกิด แก่ เจ็บ ตาย
ดูคล้ายหยดน้ำค้าง กลางแสงตะวัน

หลงใหลอะไรนักหรือ
ยึดถือสิ่งใดใครนั่น
ดิ้นรนไขว่คว้าสารพัน
เสกสรรพอกเพิ่มเสริมอัตตา
วุ่นวายว่ายวนหลงกล "กาม"
หอบหามหวงแหนแน่นหนา
ไม่อิ่ม ไม่พอ ท้ออุรา

โอ้หนอ...เกิดมาทำไม?
เกิดมาเป็นทาสโลกีย์
เกิดมาเป็นหนี้ใครที่ไหน
กี่กัปกัลป์จึงจะหมดการชดใช้
อีกเมื่อไรจึงจะพ้นการทนทุกข์

อิสรเสรีอยู่ที่ไหน
ถ้าไม่ใช่อยู่ที่ใจมีสุข
อยู่เหนือ "โลกธรรม" กระหน่ำรุก
โศกหรือสุขรู้เห็นตามเป็นจริง

ชีวิตมีอยู่ชั่วครู่เดียว
บัดเดี๋ยวก็สลายทั้งชายหญิง
วันคืนผ่านไปไม่ประวิง
ทุกสิ่งอนิจจังทั้งนั้น
เกิดแล้วเป็นมนุษย์ ประเสริฐสุด
หากเลือกทางสร้างสรร

ผิด-ชอบ ดี-ชั่ว พัวพัน
ต้องฝ่าฟันให้ถึงซึ่งหลักชัย
หลักชัยคือโลกุตระ
อิสระ บริสุทธิ์ผุดผ่องใส
เหนือทุกข์เหนือโศก เหนือโลกใดใด
เบิกบาน-แจ่มใส มีชีวิตชีวา

ตื่นเถิดฟ้าสางสว่างแล้ว
นั่นดวงแก้วส่องทางอยู่ข้างหน้า
ตะวันธรรมทอแสงแห่งศรัทธา
ชี้มรรคาสดใสให้ชีวิต
อิสรา



เพียงชาตินี้เท่านั้น
ที่จะมีโอกาสขึ้นรถด่วน ขบวนสุดท้าย
เมื่อประสบธรรม... จงเพียร
อย่าได้หลงกับดักที่ดารดาษ
ด้วยสีสันที่ตระการ ข้างทาง
อัสสาทะของโลก หรือรสอร่อยแห่งโลกีย์
พาเธอจมปลัก ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
เหลียวมองกลับไปดูซิ
มีอะไรเล่า นอกจากความว่างเปล่า
เธอรู้ไหม ว่าได้หลงมาแล้ว
กี่ชาติ... กี่โกฏิชาติ

อย่าเอาชีวิตมาผลาญพร่า
อย่าเอาชีวิตมาประมาท
เพราะเหตุว่า
เธอจะมีโอกาสชาตินี้
เพียงชาติเดียวเท่านั้น... จริงๆ

ใต้ร่มอโศก


สารอโศก ฉบับ สันติอโศก '๒๖ ปีที่ ๓(๖) ฉบับที่ ๖ มกราคม ๒๕๒๖

หน้า ๒๔

เม็ดทราย หน้า | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 |