เม็ดทราย ๒๕

บทเพลงเพื่อ สันติสุขแห่งหัวใจ

ชีวิตคืออะไร
อะไรหนอที่จะเป็นสิ่งสาระ
สำคัญสุดแสนแห่งเอกภพ
หากมิใช่ คำว่า "ชีวิต"
ด้วยมีแต่ชีวิต ที่จะเป็นผู้รับรู้
ความเป็นไป แห่งสรรพสิ่ง
ด้วยมีแต่ชีวิตที่จะเป็นพยาน
แห่งการเปลี่ยนแปลง ของสิ่งทั้งหลาย

ชีวิต อุบัติขึ้น
รับรู้ ปรับปรุง และแก้ไข
ดีขึ้น ดีขึ้น
สืบทอดมรดก แห่งความรู้
ผ่านจิตวิญญาณ ดวงแล้วดวงเล่า
นับแสนแสน นับล้านล้านปี อย่างไม่มีจบสิ้น
เพื่อหมายทะยานเข้าถึง แก่นแท้แห่งมายา
เจาะผ่านมายา เพื่อแทรกตัว สู่สัจธรรม
หล่อหลอมเป็นหนึ่งเดียว
อันเป็นการสิ้นสุด แห่งการเดินทาง

ฝั่งแห่งวัฏสงสาร ได้ถึงแล้ว
ฝั่งแห่งวังวน ได้พ้นแล้ว
เราคือสัจธรรม และสัจธรรมก็คือเรา
พินัยกรรมแห่งการพัฒนา
ยังคงสืบทอด ผ่านชีวิตต่อชีวิต

จากสัตว์ชั้นต่ำ เซลล์เล็กเล็ก
สูงขึ้นมาเป็น สัตว์ชั้นสูง
และสุดท้าย ก็คือมนุษย์
ผู้รับมรดกแห่งความรู้ ทั้งมวลของชีวิต
เป็นผู้หักด่านสุดท้าย
ที่จะเข้าถึงฝั่งแห่ง ทะเลทุกข์
ได้แต่เพียงผู้เดียว

ทุกชีวิตจึงฝากความหวัง
ฝากชัยชนะให้แก่พวกเขา
ภายหลังการทดลองถูกผิด
ที่ยาวนานยิ่งกว่า จำนวนหยดน้ำ
ในมหาสมุทร ทุก ๆ แห่งร่วมรวมกัน

เลือดเนื้อกระดูกเอ็น
ถูกพลีเพื่อการทดลอง สูงยิ่งกว่าภูเขาใด ในเอกภพ
โอ ! ชีวิตทั้งหลาย
นับว่าได้เสียสละ มามากแล้ว
มรดกชิ้นนี้ ใครหนอ จะให้ราคาเหมาะสม

แต่ทว่า...
พยับแดดก็คือพยับแดด
หยดน้ำค้างยามเช้า ก็คือ หยดน้ำค้างยามเช้า
ทุกสิ่งทุกอย่างนั้น ไม่เที่ยง
มันปรวนแปร ไปตามครรลอง
ท่ามกลางชีวิตทั้งหลาย
ที่มุมานะบากบั่นเอาชัย

กลับมีบางชีวิต ที่กบฎต่อเผ่าพันธุ์
หันหลังเดินกลับ
ฝ่าคลื่นชีวิตทั้งหลาย อย่างเยาะเย้ย
ด้วยสำคัญตนว่า ประเสริฐ สูงกว่า และฉลาดกว่า
ท่ามกลางเสียงทักท้วง อย่างใจหาย
เขากลับถ่มน้ำลาย ด้วยรอยยิ้มพราวพร่าง
พลางสลับออกซ้าย ออกขวา อย่างอหังการ

"เรานี่แหละอัจฉริยะ
มันสมองก้อนใหญ่ เฉียบคม
ทุกครั้งที่เราคิด
นั่นแหละ ใช่แล้ว
ทุกครั้งที่เราพูด
นั่นแหละ ถูกต้องที่สุด"

เปลวแดดและสายลม
ท่ามกลางทะเลทราย อันเวิ้งว้าง
เริ่มทำให้บางชีวิต ฟั่นเฟือน
สำคัญตนว่า มีมงกุฎอยู่เหนือศีรษะ
โดยเชื่อมั่นความคิดเห็น ของตนเองเป็นใหญ่

ชีวิตแห่งการเดินทาง เขามักจะยิ้ม
"ใครหนอที่จะมีความรู้ มากกว่าเรา
เรานี่แหละ ราชบัณฑิตขนานแท้"
น่าสงสารและน่าเห็นใจ
ด้วยตลอดเส้นทาง เต็มไปด้วยกับดัก
แห่งพญามาร อันหอมหวาน
ยากนักที่จะรอดพ้น

ความทุกข์ ความเจ็บปวด
ได้หล่อหลอมให้ชีวิต แข็งแกร่งยิ่งกว่าภูผา
แต่ขณะเดียวกัน
มันก็ได้ทำให้บางชีวิต หวีดหวาด
ตื่นตระหนก ขวัญผวา สุดจะทน
หัวใจของเขา หยิ่งทะนง และเปราะบาง
เปราะบางเกินกว่า ใครจะเข้าไป ขัดเกลาเขาได้
ขันติธรรม จึงแคระแกร็น
นับว่ามีแต่จะเตี้ยเล็ก
การกลบเกลื่อนอำพราง
จึงดารดาษ ประดุจหนอนในถังส้วม
โผล่หัวชูสลอน ไต่ยั้วไต่เยี้ย
ออกมาจากกาย
ออกมาจากวจี
ออกมาจากมโน
ยากนัก ยากนัก
ยากนักที่จะกล่าวโทษชี้แนะ
ยากนักที่จะกล่าวเตือนชี้ติง

โอหนอ...สุดสงสาร
เขาทนไม่ได้ที่จะรับรู้ ถึงความบกพร่อง แห่งสิ่งนั้น
เพียงเสียงทักแห่งธาตุรู้ ในตัวเขา
ก็นับว่าพอเพียงแล้ว ที่จะต้องจัดการประหาร
ประหารธาตุรู้ ธาตุปัญญาแห่งตน
โอ! อะไรหนอ จะน่าเศร้าใจยิ่งกว่านี้

หนาว... หัวใจของเขากำลังหนาว
แต่เขาไม่รู้ และไม่ยอมรู้
เขาไม่รู้จักอหังการ
เพราะนับวัน เขาจะเป็น ตัวอหังการบริสุทธิ์

เขาจะเริ่มคำนึง ถึงศักดิ์ศรี
ศักดิ์ศรีซึ่งมีค่า ดุจนางโลมแก่แก่คนหนึ่ง
แววตาของเขา แอบชำเลือง
สำคัญแต่ว่า ทุกคนเจตนาร้าย

เสียงท้วงติง
เขาปากแข็ง ไม่ยอมรับ
ทุกครั้งที่ได้ยิน
กลับทำให้เขายิ่งกราดเกรี้ยว
ลมหายใจของเขาสั้น
หน้าของเขาเชิด
ตาของเขาพร่า-หลอน
เห็นทุกคนถือแต่อาวุธ
หวังจะฟาดฟัน - ถากถาง

เห็นทุกคนคือคนเจ้าเล่ห์ เพทุบาย
จนสุดท้าย แม้แต่เสียงเมตตา
แห่งองค์สมเด็จ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
แม้แต่เสียงเมตตา จากท่านหมู่สงฆ์
กลับจะกลายเป็น เสียงเสียดแทงหู น่ารำคาญ

โลกหนอโลก เศร้าหนอ !
โลกหนอโลก ชังหนอ!
ดอกไม้บาน ได้หายลับไปแล้ว จากหัวใจ
ความแช่มชื่น ติดปีกบินหนี ขึ้นสู่ท้องฟ้า
กระไรหนอ วินาทีเดียว ก็ยังไม่รู้จักยอมแพ้
กระไรหนอ ช่างยึดมั่นถือมั่น
ฆ่าได้ หยามไม่ได้
หักได้ งอไม่ได้

ไฟนรกแลบเลีย ร้อน! ร้อน! ท่ามกลาง เปลวปะทุสนั่นไหว
เอ็นเนื้อ ปูดโปน เต้นระริก เขายังคงยืนหยัด ความถูกต้อง อย่างเด็ดเดี่ยว
ปฏิเสธความหวังดี จากทุกผู้ ดึงบรรพบุรุษแห่งความดื้อ ขึ้นต่อต้าน

โอหนอชีวิต ! ไยจึงมาแหลกลาญด้วยทิฐิ
ไหนว่า จะมาเป็นเม็ดทราย ในท้องสมุทร
ไหนว่า จะมาเป็นดอกหญ้า เล็กเล็กในกลางทุ่ง

กลัวนักหรือ กับความเจ็บปวด ก็ความเจ็บปวดมิใช่หรือ ที่จะหล่อหลอม ให้เป็นขุนเขาทะมึน เสียดฟ้า ที่จะไม่หวั่นไหว ต่อสิ่งใดใด ในใต้หล้า

กลัวนักหรือ กับเกียรติยศ -ศักดิ์ศรี ที่จะสูญเสีย
ก็เพราะสิ่งนี้ใช่ไหม ที่ทำให้เรา ตาเบิกโพลง แม้ขณะหลับ
พลิกตัวทุกครั้ง ประดุจเข็มแหลม ที่มาแทง

กลัวนักหรือ กับการพ่ายแพ้ ก็เพราะสิ่งนี้ใช่ไหม
ที่ทำให้เราต้อง สร้างเกราะคุ้มกัน อย่างเหน็ดเหนื่อย
และสุดท้าย เราก็แกะมัน ออกมาไม่ได้ จนยากที่ใคร จะเห็นใบหน้า อย่างแท้จริง
มาเถิดธรรมิกชนทั้งหลาย ตราบใดดวงอาทิตย์ ยังมีขึ้นและตก ยังไม่สาย เกินกว่าจะแก้ อย่าให้บรรพชน ผู้พลีชีวิต สืบทอดมรดก ต้องสูญเปล่า

อย่าให้เขาตราหน้า ว่าเป็นผู้ทรยศ ตระบัดสัตย์ แห่งการเดินทาง ข้ามฝั่งโอฆสงสาร

ดูโน่นซิ ! ท่ามกลางชีวิตที่พ่ายแพ้ แต่กลับมีรอยยิ้ม เจือจางระเรื่อ
ยังมีที่ว่าง รอการกลับมา แห่งผู้สำนึกอีกมากมาย

ดูโน่นซิ! บนท้องธารที่คลาคล่ำ ด้วยเม็ดทราย เม็ดเล็กเล็ก
ยังมีช่องว่าง อีกนับอนันต์ ที่รอคอย ผู้สลัดความอหังการ อย่างสงบ
ดูโน่นซิ ! ดูรอยยิ้มของ พระพุทธองค์ อย่างเอ็นดู ทรงแย้มสรวล ให้กับลูกลูก ของพระองค์ ผู้กระทำผิดแล้ว กลับทำคืนเสียได้ นี้แลคือ ความเจริญในวินัย ของอริยะ
ต่างโอบอุ้ม ประคองกันเดินสู่ เอกายนมัคโค อย่างสำรวม อย่างนอบน้อม ถ่อมตน ที่...ทำกิจการใด ด้วยความพร้อมพรั่ง พร้อมเพรียง
ด้วยมติแห่งหมู่สงฆ์ ด้วยการยอมรับแห่งคณะ
เขายิ้มทุกครั้ง ที่มีคนเอายา มาชโลมแผล แสบ กัดฟันแน่น แต่ก็ยิ้มได้
เพราะเขารู้ว่า มีแต่คนข้างเคียงเท่านั้น ที่จะช่วยรักษา แผลเรื้อรังของเขาได้
มิฉะนั้น แล้วสักวัน ธรณีอาจเปิดกว้าง สูบชีวิตของเขา ให้จมหายวับ

มาซิ มาดูรอยยิ้มของ พระพุทธองค์ ผู้ให้อภัย แก่เหล่าสรรพสัตว์ ตลอดทั่วจักรวาล ทุกข์นั้นไม่มีใครทำให้ เจ็บนั้นไม่มีใครทำเจ็บ
นอกจากตัวเราแห่งเรา เท่านั้นจริงจริง

ลืมตาขึ้นเถิด ปัดฝ้าเมฆหมอก ออกจากดวงใจ อย่าสำคัญตน เลิศกว่าผู้อื่น ตราบใดที่เรายังคง วนเวียนอยู่ในนรก แห่งอารมณ์ ยังเป็นทาสแห่งกาม แห่งโลกธรรมนานา อย่ามั่นใจเลยว่า การตัดสิน เหตุการณ์ของเรา จะถูกต้อง
ว่าทุกคนนั้น ร้ายกับเรา... ไม่เข้าใจเรา
แต่สิ่งที่เราเรียกร้องนั้นแหละ จงประคองน้อมกลับ มอบให้แก่ผู้อื่น
ขอปฏิญญาณตน เป็นผู้ให้ แทนการร้องขอ นี้แลคือกิจหนึ่ง แห่งนักรบ ผู้ปรารถนา เข็นกงล้อธรรมจักร ให้เกริกไกร

สกรรจ์ ขันติธรรม
๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๒๕


 

อัศจรรย์จริงหนอ

ในกาลครั้งหนึ่ง นานมาแล้ว
มีชายผู้หนึ่ง มีลูกอยู่หลายคน
แต่ลูกลูกทะเลาะ ไม่สามัคคี กลมเกลียวกัน
อยู่มาวันหนึ่ง ชายผู้นั้นจึงเรียก ลูกๆ ทุกคนมาพบ
พร้อมกับมอบกิ่งไม้ ให้ลองหักดู คนละอัน
ทุกคนก็สามารถ หักกิ่งไม้เหล่านั้นได้ โดยง่าย
ชายผู้นั้นจึงเอากิ่งไม้ ขนาดและจำนวน เท่าเดิม
มามัดรวมกันเข้า แล้วส่งให้ลูกทุกคน ลองหักดูใหม่
คราวนี้ ผลปรากฏว่า ไม่มีใครสามารถ หักกิ่งไม้เหล่านั้น ได้เลยสักคน
ในที่สุดลูกทุกคน ก็สามารถเข้าใจ ความหมายของ ความสามัคคีได้
นิทานเรื่องนี้ เป็นเรื่องเก่า ที่เล่ากันมานาน จนฟังดูเป็นเรื่อง ธรรมดาผิวเผิน
แต่จะมีสักกี่คน ที่สามารถเห็น ความไม่ธรรมดา ในความธรรมดา อันนี้ได้

ผ่านไปแล้ว งานโรงทานมังสวิรัติ และในงานนี้ ก็คงมีหลายคน ที่ได้สัมผัส
กับความไม่ธรรมดา ในความธรรมดา ดังกล่าว และก็คงเป็น ความไม่ธรรมดา ยิ่งขึ้นอีก ในเมื่อความสามัคคีนั้น เป็นไปเพื่อ ความเสียสละ เป็นไปเพื่อ วัตถุทาน เพื่ออภัยทาน และเพื่อธรรมทาน
ไม่ใช่เป็นความสามัคคี เพื่อหวังผลประโยชน์ ตอบแทน
เพื่อชื่อเสียง ลาภ สักการะ เกียรติยศ เสียงสรรเสริญ
หรือเพื่อความมีหน้า มีตาในสังคม

อั ศ จ ร ร ย์ จ ริ ง ห น อ
ที่แม้จะเหนื่อยอ่อนเมื่อยล้า
แต่ก็รู้สึกแกล้วกล้ามีพลัง
ที่แม้จะมีการกระทบกระทั่ง น่าอึดอัดขัดใจ
แต่ก็มีการเย็นยิ้ม ให้อภัย ไม่ถือสา
ที่แม้อากาศ จะร้อนอบอ้าว เหงื่อไหล
แต่ก็ไม่รู้สึกทุกข์ร้อน เย็นสบาย
อั ศ จ ร ร ย์ จ ริ ง ห น อ
ที่มนุษย์ ซึ่งมีความยึดมั่นถือตัว
และแตกต่างกันในชาติ ชั้น วรรณะ ยศ ศักดิ์ ฐานะทางสังคม
จากทิศต่างต่าง ทั้งสี่
ครั้นเข้ามารวมกัน ในหมู่กลุ่มแห่ง ความเป็นพุทธบริษัท ณ ที่นี้
ก็สามารถทอดทิ้ง ชาติ ชั้น วรรณะ ยศ ศักดิ์ ฐานะ ที่เคยยึดถือ มาแต่เดิม
ร่วมกิน อยู่ ทำงาน แต่งเนื้อแต่งตัว กลมกลืนเป็นเอกภาพ อันหนึ่งอันเดียวกัน
เสมือนแม่น้ำ จากทิศต่างต่าง ที่ไหลมารวมลง ในท้องทะเลใหญ่
ได้ทอดทิ้ง รูป สี กลิ่น รสเดิม เพื่อรวมกันเข้า เป็นเอกภาพ หนึ่งเดียว
ในความเป็นท้องสมุทร กว้างไพศาล ฉะนั้น

๒๑ ส.
๕ ธันวาคม ๒๕๒๕


 

แด่..หัวใจที่ไม่เชื่อมั่นในตน
หลายหลายคนบ่นพ้อ
ยุคอโศกร่วงหล่น ไยจึงช่างยาวนาน
หวาดกลัว...หวาดกลัว
เมื่อไหร่หนอ ฤดูกาลจะสิ้นสุด
อยู่กับความหนาว อันแสนทรมานสาหัส
ยังง่ายเสียกว่า ดูใบอโศกร่วงหล่น

พริ้ว ! พริ้ว !
ใบอโศกพริ้ว
เจ็บปวดจริงหนอ
แต่นั่นแหละ
ทน...ทนไปเถอะ
ความอดทน แม้จะขมขื่น
แต่ผลของมัน กลับหอมหวาน
ดังนั้น
ขอให้ทนต่อไป... ต่อไป
ต่อไปจนกว่า ฤดูใบไม้ผลิ จะมาถึง
โอหนอ!
ก็ฤดูใบไม้ผลิไหนเล่า จะสดชื่น หอมหวานไปกว่า ฤดูกาลในตัวเรา

สวรรค์ นรก นิพพาน มิได้อยู่ไกลสุดกู่ ล้วนอยู่ในตัวเราทั้งสิ้น
พุทธศาสนา ก็มีเพียงแค่นี้แหละ และมีแต่เราเท่านั้น ที่จะเป็นผู้สร้าง

เสียดาย...เสียดาย เราจะไม่มีเสียดายอีกต่อไป เพราะสุดท้ายนั้น
ศาสนาพุทธเรา ก็ย่อมหมดสิ้น เมื่อกลียุคเข้าครอบคลุม

แต่ทว่า... หากเพียงหัวใจตั้งมั่น ไม่ระทดท้อ ไม่หวั่นไหว ต่อให้สรรพสิ่ง แตกสลาย แปรผัน
ต่อให้กายขันธ์แตกดับ ไม่มีเสียหรอก หัวใจจะยังมั่นคง
เปี่ยมใจ ที่รักจะสืบสาน ศาสนชีวี ให้ยืนยาวต่อๆ ไป ไม่มีที่สิ้นสุด

ทุกอย่างคือ บทเรียนล้ำค่า ที่จะต้องศึกษาซึมซาบ เข้าสู่จิตวิญญาณแห่งตน
แต่ละใบที่ร่วงหล่น ล้วนเป็นประสบการณ์ อันล้ำค่า ที่อนุชนรุ่นหลัง จะฉวยไว้เป็นประโยชน์

สวรรค์ นรก นิพพาน พุทธศาสนา นั่นก็คือ จิตวิญญาณ ของเราทั้งสิ้น
ยิ่งบริสุทธิ์ สมบูรณ์เพียงใด ก็ยิ่งต้องอาศัย ความผิดพลาด ทั้งของตน และของผู้อื่น เป็นครู

อย่าเลย...อย่าเลย อย่าดูถูก จิตวิญญาณแห่งเรา ว่าต่ำกว่าของผู้อื่น
อย่าเลย...อย่าเลย อย่าดูถูก จิตวิญญาณของผู้อื่น ว่าต่ำกว่าเรา

จริง ! ปัญญานั้น ย่อมมีมากน้อย ไม่เท่ากัน โจรบัณฑิตในโลก
ต่างก็มีปัญญา มากมายพะเรอเกวียน
แต่หัวใจที่อดทน ไม่ยอมสยบ ต่ออำนาจ โลกีย์นั้นเล่า
คือหัวใจที่เลิศกว่า ปัญญาใดใด แต่ใครล่ะ ที่จะมีหัวใจอันเลิศ ?

รอคอย...รอคอย... กาลเวลาเท่านั้น ที่จะพิสูจน์สัจธรรม ของใครก็ของมัน
อันจะวัด เปรียบเทียบกัน ไม่ได้ง่ายจริงๆ

พระอานนท์แสดงธรรม ให้ภิกษุทั้งหลาย เป็นอรหันต์ อยู่มากมายในอดีต
แต่เมื่อพระพุทธองค์ จะทรงปรินิพพาน ท่านก็ยังแอบร้องไห้ สะอึกสะอื้น
เพราะคำสอนนั้น... อาจจะถูกต้อง แต่คนสอน ยังเป็นไม่ได้ ก็ย่อมมีอยู่

เราจึงต้อง แยกบุคคลให้ออก แยกธรรมะให้เห็น เพราะพูดเก่ง กับพูดดีนั้น อยู่กันคนละฝั่งถนน
จงยึดธรรมะให้มั่น แทนการติดใจพิเศษ พิเศษในบุคคล
แปลก... แปลกแต่จริง!
ทั้งๆ ที่มีพ่อท่าน ทั้งๆ ที่มีหมู่สงฆ์ อีกมากมาย
เพียงดอกอโศก ร่วงหล่นเสียบางดอก กลับสามารถ ฉุดกระชากศรัทธา
บดขยี้มลาย กลายเป็นผุยผง ยอมสลัด ดอกอโศกดีๆ ทั้งหลาย อย่างไม่มี เยื่อใยอาวรณ์ ศรัทธาความดี หรือศรัทธาแค่บุคคล รู้ไหม ?

สังเวชนะท่าน สุดท้าย... อิตถีภาวะนั้นแหละ ที่แอบมาล้วงตับ กินไส้
จนวางปล่อย -ปลดทุกข์นั้นมิได้ แต่จิตของผู้ชาย -ปุริสสภาโวนั้น
ย่อมมีน้ำใจ เป็นนักกีฬา รู้แพ้-รู้ชนะกัน ตามกฎ ตามกติกา
เพื่อศึกษาเป็นบทเรียน แล้วก็จบกัน
รุ่นพี่หากแพ้ แพ้ได้แพ้ไป รุ่นน้อง ต่างจะต้องฝึกทน เพื่อหมายเอาชัยให้ได้
อย่าเลย... อย่าเลยนะ แพ้แล้วร้องไห้ พร้อมกับขอลาตาย เพื่อประชดป่าช้า
ไม่มีน้ำตา จากป่าช้าที่ไหนหรอก ให้เธอเห็น

อ้าอโศก...! มหา'ลัยชีวิตแห่งนี้ เพราะโลกใกล้สู่กลียุค คะแนนสอบเข้า ซึ่งต้องตั้งไว้สูง สำหรับ การสอบคัดเลือกผ่านเข้า ผู้บรรลุนั้น เปรียบเสมือน เขาโคกับขนโค

ผู้หวังจะสอบผ่าน จึงต้องมั่นใจแน่แท้ กับจิตของตน อย่างเดียว ไม่เฉไฉ

แต่การตกล่วงของขนโค ย่อมมาก และเห็นได้ง่ายกว่า เขาโคธรรมดา
จึงมีแต่จิต จิตที่เป็นของเราเท่านั้น ที่จะยืนหยัดยืนยัน สิ่งอันถูกต้อง สืบต่อไปได้ อย่างไม่มีสิ้นสุด
บาปของใคร บุญของมัน ใครจะสั่งสมบาป สร้างนรกใส่ตัวใส่ตน
ก็ย่อมเป็นสิทธิของเขา เพราะดีเพราะชั่วนั้น ต่างทำให้กันไม่ได้...ไม่ได้
แต่ที่สำคัญ จิตวิญญาณของเรา อย่าไปลงนรก ร่วมกับเขา เท่านั้นเอง
อย่าประหารตน อย่าทำลายตนย่อยยับ สิ้นศรัทธาศาสนา -หมู่กลุ่ม
ความตายเพียงขนโค ไยยอมทิ้งเขาโคหมดสิ้น

ตื่นเถิด! เธอผู้เป็นสัตบุรุษ ผู้มีหัวใจปฏิโสต เธอจะต้องศึกษาทุกๆ ชีวิต
ที่ผ่านเข้าสู่ ระบบโคจรของเธอ ด้วยหัวใจ ที่ซื่อบริสุทธิ์ รับรู้แต่เพียง สิ่งที่เกิดขึ้น
ล้วนเป็นบทปฏิบัติ ขัดเกลากิเลส อย่างเดียว
ไม่มีเขา - ไม่มีเรา มีแต่เรากับทุกข์ อันเกิดจากกิเลส ที่จะต้องพิจารณา ฟาดฟัน
ล้างล้างล้างล้าง ต่อไป ต่อไป และต่อไป

มหาสมุทร ย่อมซัดซากศพขึ้นสู่ฝั่ง ฉันใด ธรรมวินัยที่บริสุทธิ์ ก็ย่อมขจัดขัดเกลา มลทินทั้งหลาย ให้ร่วงหล่นออกไป ฉันนั้น

ทุกสิ่งทุกอย่าง ย่อมเกิดตามความเป็นจริง ทำจริง เอาจริง เป็นจริง มีจริง ที่ตัวเราให้ได้จริง แล้วความไม่จริงต่างๆ ความเศร้าหมอง ฝุ่นธุลี ก็จะหมดปัญหา สูญสลายไป จากหัวใจ ฤดูใบไม้ผลิ อันอบอุ่นตระการ จากไหนเล่า จะชื่นใจยิ่งกว่า เกิดบานอยู่ในใจเรา

อย่าเชียวนะ...อย่าเลย อย่าไปฝากความหวัง ไว้กับสวนดอกไม้ ของผู้อื่น
แม้แต่กายเนื้อ กายหนัง จอมโลกนาถยังตรัส ไม่ให้ยึดถือ ยกเว้นธรรมะ !
มิเช่นนั้นแล้ว เราก็จะกลายเป็น พระอานนท์ ที่ต้องไปแอบร้องไห้ ในภายหลัง

เพียรเถิด จงพากเพียรต่อไปลูกเรา อย่าให้ความตายของผู้อื่น มาข่มขืน ย่ำยี วิญญาณเรา ความตายเป็นเรื่องของคนอื่น แต่ความเกิดจะต้องเป็น นั่นคือ เรื่องของเรา
เพียรเถิดลูก... พ่อท่านยังคงอยู่ ณ ที่นั้น
ยิ้มคอยให้กำลังใจ แก่พวกเรา อยู่ต่อไป

บานชื่น เย็นอุรา



โลกนี้มีแต่ทุกข์
แต่ทุกข์นั้นถูกบดบัง กลบเกลื่อนโดยเร็ว
จึงดูเหมือนสุข...สุข และเมื่อยิ่งหลงสุข
ชีวิตก็ย่อม ยิ่งมหาอ่อนแอ... สุดเศร้า
และเป็นชีวิตที่ดีดดิ้น อย่างตายทั้งเป็น... อย่างเร่าร้อน
ทำอย่างไรหนอ ที่จะพ้นจากวังวน แห่งตายทั้งเป็น
ใช่แล้วต้อง " ต า ย ก่ อ น ต า ย ! "
แล้วทำอย่างไรหนอ ที่จะตายก่อนตาย
ใช่ ใช่ "ตายเป็นตาย !"

ใต้ร่มอโศก


สารอโศก "ตายเป็นตาย" ฉบับที่ ๗ ปีที่ ๓(๖) กุมภาพันธ์ ๒๕๒๖

หน้า ๒๕

เม็ดทราย หน้า 22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 | 28 |