ชีวิตนี้มีปัญหา...
โพธิรักษ์
ถาม[2] ปัญหา : นอกจากจะตอบปัญหาแล้ว
ข้าพเจ้าก็ได้ตั้งปัญหา ถามให้ตอบแข่งขันกันมา ดังปัญหาแรกนั้น มีว่าดังนี้
ใครตอบได้บ้างเอ่ยว่า ผู้บรรลุอรหันต์คนแรกที่สุดใน
พระพุทธศาสนา และเป็นคนธรรมดา ๆ สามัญนี่เอง คือได้สำเร็จเป็นอรหันต์
ในร่างคนธรรมดาๆ สามัญนี้เอง ไม่ใช่ภิกษุ มีนามว่ากระไร?
ใครตอบได้ถูก บรรยายข้อความคำตอบได้ดีกว่า มีรายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลผู้นั้นได้แจ่มแจ้งกว่าเพื่อน
จะเป็นผู้ชนะ
ประมวลคำตอบแล้ว มีตอบถูกกันมากพอใช้ ซึ่งแสดงว่ามีผู้สนใจในธรรมะอยู่มากไม่ใช่เล่น
และสำหรับผู้ที่ตอบไม่ถูกนั้น ข้าพเจ้าลองรวบรวมคำตอบออกมาดู
ก็ได้ดังนี้
ผู้ตอบว่า โกณทัญญะ นั้นมีมากที่สุด มากรองลงมาก็ตอบว่า พาหิยทารุจิริยะ
และนางวิสาขา กับ องคุลีมาล นอกจานั้นก็มีประปราย เช่นตอบว่าเป็น
เจ้าชายสิทธัตถะ ก็มี สุภัททปริพาชก ก็มี พระเจ้าสุทโธทนะ
ก็มี นอกนั้นก็มี ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ บ้าง พระอานนท์ บ้าง
อนาถบิณฑิกคฤหบดี บ้าง ตะปุสัต และ กัสสปะ ก็มี แม้ตอบว่าพระเจ้ากรุงธนบุรี
ก็มี แต่ที่ข้าพเจ้าทึ่งก็คือ มีอยู่รายหนึ่งตอบว่า เสถียรโพธินันทะ
ที่จริง นามท่านที่ได้กล่าวมานี้ เป็นผู้ที่น่ารู้จักแทบทั้งนั้น
ว่างๆ ถ้าโอกาสมี น่าจะได้นำมาเล่าสู่กันฟังถึงความดีของท่านเหล่านี้
หรือประวัติของท่านเหล่านี้ นามของท่านทั้งหมด นอกจาก พระเจ้ากรุงธนบุรี
กับ เสถียร โพธินันทะ เป็นนามที่มาแต่กาลยุคเก่าแก่พุทธสมัยทั้งนั้น
มี ตะปุสัต กับ กัสสปะ เท่านั้น ที่ข้าพเจ้าสงสัยว่าผู้ตอบคงจะจำมาผิด
เพราะผู้ตอบอ้างว่าเป็นสองพาณิชเสียด้วย ความจริง ๒ พาณิช ที่ว่านี้คือ
ตะปุสสะ กับ ภัลลิกะ ผู้ได้เกี่ยวข้องกับพระพุทธองค์ก่อนออกจาริกเผยแพร่พระธรรม
ส่วนอีกสองนามนั้น เป็นบุคคลสมัยเร็วๆ นี้เอง คือ พระเจ้ากรุงธนบุรี
และ เสถียร โพธินันทะ โดยเฉพาะ เสถียร โพธินันทะ ก็เป็นผู้ที่น่าศึกษาผู้หนึ่ง
เพราะมีชีวิตเกี่ยวกับธรรมะตลอดชีวิตของท่านผู้นี้ ซึ่งสิ้นชีพไปจากพวกเราเมื่อปลายปี
พ.ศ.๒๕๐๕
คำตอบที่ได้รับคัดเลือกแล้วให้เป็นฉบับที่ชนะ
ได้แก่ของ คุณสุจิตรา ศุขเทวา ๑๒๕ ตรอกจันทน์ ยานนาวา พระนคร
มีดังนี้
ผู้ที่บรรลุอรหันต์คนแรกที่สุดในพระพุทธศาสนา และเป็นคนธรรมดาๆ
สามัญนี้เอง คือได้สำเร็จเป็นอรหันต์ในร่างของคนธรรมดาๆ ไม่ใช่ภิกษุ
มีนามว่า ยสกุลบุตร อรหันตสาวกองค์ที่ ๖ ของพระพุทธเจ้าประวัติย่อของท่านมีดังนี้คือ
นามเดิมท่านชื่อ ยสะ หรือยสกุลบุตร เป็นบุตรของเศรษฐีในเมืองพาราณสี
บิดาได้สร้างเรือนให้อยู่ ๓ หลัง หลังละฤดู คือ ฤดูร้อนหลังหนึ่ง
ฤดูฝนหลังหนึ่ง และฤดูหนาวหลังหนึ่ง สมัยนั้นเป็นฤดูฝน ในคืนวันหนึ่ง
ท่านนอนไม่หลับจึงลุกขึ้นมา เห็นบรรดาสาวใช้ผู้ปรนนิบัติพัดวีนอนหลับ
มีลักษณะวิกลวิการต่างๆ บางนางมีผ้าถลก บางนางมีเขฬะ (คือน้ำลายไหล)
บางนางสยายผม บางนางเปิงมาง (เครื่องดนตรี) ตกอยู่ที่หน้าอก
เมื่อเห็นแล้วเกิดความคิดเห็นว่าเหมือนป่าช้า เกิดความสังเวชสลดใจจึงได้เปล่งอุทานวาจาออกมาว่า
ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ
คว้ารองเท้าสวมใส่เดินออกจากไป มุ่งหน้าไปทางป่าอิสิปตนมฤคทายวันไปได้พบพระศาสดากำลังจงกรมอยู่
ศาสดาจึงเปล่งวาจาต้อนรับว่า
ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง เชิญท่านมาที่นี่เถิด ตถาคตจะแสดงธรรมให้ฟัง
แล้วท่านเข้าไปกราบนมัสการถวายความเคารพ แล้วนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ตั้งใจรับรสพระธรรม พระศาสดาทราบด้วยญาณว่า ยสะมีอุปนิสัยควรแก่มรรคผลนิพพาน
ในเบื้องต้นจึงประทาน อนุปุพพิกถา เทศนาที่แสดงไปตามลำดับ
อุปนิสัยจิตใจของสัตว์ คือกล่าวถึง ทาน ศีล สัคค กามาทีนพ เนกขัมมะ
และจบลงด้วยอริยสัจธรรม ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
ยสะส่งกระแสจิตไปตาม เมื่อจบธรรมเทศนาท่านก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล
เป็นพระอริยบุคคลในพระศาสนา
และต่อมาท่านได้ฟังเทศนากัณฑ์นี้ (คือเรื่องเดียวกันนี้) อีกเป็นคำรบสอง
โดยที่พระศาสดาทรงแสดงให้บิดาของท่าน (ยสะ) ฟัง ท่านฟังอยู่ในที่นั้นส่งกระแสจิตไปตาม
เมื่อพระศาสดาเทศน์จบ จิตท่านก็ไม่ยึดมั่นด้วยอุปาทานพ้นจากอาสวะกิเลส
คือเป็นพระอรหันตบุคคล ทั้งยังเป็นฆราวาสอยู่ แต่ต่อมาภายหลังจึงขอบวชกับพระศาสดา
พระองค์จึงทรงประทานด้วยวาจาว่า
เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด
(ไม่มีคำว่า เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์ เพราะว่าท่านสำเร็จอรหันต์ก่อนบวช
คือสำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งที่ยังเป็นฆราวาสอยู่)
ก็สำเร็จเป็นภิกษุด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา เพราะเหตุว่า ฆราวาสที่ได้บรรลุ
หรือ สำเร็จเป็นอรหันตบุคคล จะต้องบวชในเร็ววัน เพราะถ้าไม่เช่นนั้นจะมีอายุยืนอยู่ได้ไม่เกิน
๗ วัน เพราะคุณธรรมของพระอรหันต์นั้นสูง ไม่เหมาะสมกับเพศของฆราวาสวิสัยที่จะรองรับคุณธรรมอันสูงนั้นได้
จึงต้องรีบบวช ท่านบวชแล้วได้ช่วยพระศาสดาทำกิจพระศาสนาเป็นกำลังอันสำคัญยิ่ง
เพราะปรากฏว่าเมื่อท่านได้บวชมาแล้ว เป็นเหตุให้สหายของท่าน
๔ คน คือ วิมล สุพาหุ ปุณณชิ ควัมปติ ได้เกิดศรัทธาเลื่อมใสบวชตามท่านเป็นกำลังของพระศาสนา
ช่วยพระศาสดาทำกิจศาสนาเป็นอย่างดี มีประโยชน์มาก และสหายของท่านไม่ปรากฏชื่ออีก
๕๐ คน ก็เห็นดีที่ท่านยสะได้บวชมีศรัทธาออกบวชตามท่าน และได้สำเร็จพระอรหันต์ทั้งหมด
ทั้ง ๕๔ ท่าน นับว่าได้เป็นกำลังสำคัญยิ่ง ท่านเข้ามาสู่พระศาสนาเพียงคนเดียว
ทำให้พระศาสดามีสาวกเพิ่มขึ้น ๕๔ องค์ รวมตัวท่านยสะด้วย ก็เป็น
๕๕ องค์ นับทั้งปัญจวัคคีย์ภิกษุ อีก ๕ รูป คือ อัญญาโกณฑัญญะ
วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ อัสสชิ ก็รวมเป็นพระอรหันตสาวกเกิดขึ้นในโลกสมัยนั้น
๖๐ องค์
พระศาสดาเห็นเป็นโอกาสเหมาะ จึงส่งพระสาวกจำนวน ๖๐ รูป ออกเผยแพร่พระศาสนาเป็นครั้งแรก
มีพระยสะกุลบุตรอยู่ในจำนวนนั้นด้วย และได้ผลสมความมุ่งหมายเป็นที่น่าพอใจ
ปรากฏว่าผู้มีศรัทธาเลื่อมใสมาบวชกันมาก ท่านช่วยพระศาสดาทำกิจพระศาสนา
จนสิ้นอายุขัยก็ปรินิพพาน
นั่นเป็นสำนวนตอบที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะ ที่จริงประวัติพระยสะถ้าเล่าละเอียดก็ยาวกว่านี้
ดังนั้นผู้ที่ไม่ทราบประวัติละเอียดของพระยสะมาก่อนเมื่อมาอ่านเท่านี้
อาจจะสะดุดใจสงสัยอะไรต่ออะไรได้บ้างหลายตอนหลายอย่าง แต่ก็ขอยืนยันว่าพระยสะเป็นพระอรหันต์เจ้าองค์หนึ่งจริง
มีเกี่ยวข้องมากับพระพุทธประวัติ เพราะเป็นพระอรหันต์สาวกองค์สำคัญองค์หนึ่ง
ที่มีคุณกับการศาสนาพุทธมาก ท่านเป็นผู้ได้สดับธรรมจากพระพุทธศาสดาเพียง
๒ ครั้งเท่านั้น ก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ โดยเวลาผ่านไปไม่กี่ชั่วโมง
และพระธรรมเทศนาที่พระยสะได้ฟังทั้ง ๒ ครั้งนั้น ก็เป็นเรื่องเดียวกันเสียด้วย
คือ ตอนแรกที่พระพุทธองค์เทศนาให้พระยสะฟังก็เป็นอนุปุพพิกถา
กับอริยสัจ พอพระยสะฟังจบ ก็แจ้งในธรรมบรรลุเป็นพระโสดาบัน และครั้งที่
๒ พระพุทธองค์เทศนาให้บิดาของพระยสะฟัง ก็เป็นอนุปุพพิกถา กับ
อริยสัจสี่อีกเช่นกัน หัวข้อเดิมเรื่องเดิม ซึ่งขณะนั้นพระยสะผู้ซึ่งได้บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้ว
ก็ยังนั่งอยู่ที่เดิมฟังเทศนาในหัวข้อเดิมไปอีกครั้งหนึ่ง ทั้งๆ
ที่พระพุทธองค์ไม่ได้เจาะจงเทศนาให้พระยสะฟัง เจาะจงเทศนาให้บิดาของพระยสะฟังต่างหาก
แต่เมื่อพระยสะน้อมใจ เพ่งพิจารณาพระธรรมเทศนานั้นตามไป แม้จะเป็นเรื่องเก่าที่ได้ฟังแล้ว
แต่ก็มีอานิสงส์ หรือให้คุณประโยชน์ซ้ำเพิ่มเติมเข้าไปอีก จนพอพระพุทธองค์เทศนาจบ
ยสะก็ถึงซึ่งอรหัตผล บรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ทันที นี่เป็นข้อประจักษ์แจ้งว่า
พระธรรมนั้นไม่ใช่ว่าผู้ศึกษาแล้วในข้อใด จะยึดถือว่าแจ้งแล้วในข้อนั้นไม่ได้
พระธรรมนี้ลึกซึ้งมาก ต้องอ่านแล้วอ่านอีก ฟังแล้วฟังอีก นำมาตรึกตรองแล้วตรึกตรองอีก
นำมาพิจารณาเพ่งประกอบการปฏิบัติแล้วๆเล่าๆ ซ้ำซากมากมาย จึงจะให้ผลออกมามาก
ออกมาตรง ออกมาถึงที่สุด
ความจริงธรรมะมีมากมายก่ายกองเกินจะนับเรื่องนับหัวข้อหวาดไหว
แต่จุดแท้ของธรรมะมีจุดเดียวเท่านั้น ไม่ไปไหน ไม่มีมาก มีจุดจบ
มีจุดหมดสิ้น และจุดหนึ่งจุดเดียวเท่านั้นจริงๆ คือ พ้นจากทุกข์
หรือบรรลุอรหันต์
และมีคนสงสัยว่า ทำไมพระยสะฟังเทศน์เพียง ๒ กัณฑ์เท่านั้นบรรลุอรหันต์แล้ว
เป็นไปได้ยังไง เป็นไปได้ และไม่ใช่ว่าพระยสะจะเป็นผู้ใช้เวลาน้อยที่สุดในการฟังธรรม
ปฏิบัติธรรม แล้วก็ได้บรรลุอรหันต์ ที่จริงมีคนที่ฟังธรรมจากพระพุทธองค์แล้วก็บรรลุอรหันต์เร็วกว่าพระยสะก็มีอีก
คือ ท่านพาหิยทารุจิริยะ ซึ่งเป็นผู้เพียงฟังธรรมสั้นๆ และน้อมจิตตามพระธรรมเทศนาจบนิดเดียว
ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ จนได้รับยกย่องสรรเสริญจากพระพุทธองค์ว่า
ท่านเป็นผู้เลิศกว่าพระภิกษุทั้งหลายในด้านผู้ตรัสรู้ได้เร็วพลัน
เรื่องเหล่านี้อาจจะเป็นเรื่องเข้าใจยากสำหรับปุถุชนธรรมดา
และอาจคิดเห็นทางเป็นไปได้ยากยิ่ง แต่สำหรับผู้รู้แจ้งในธรรมมามากแล้ว
จะเห็นว่าเรื่องเป็นไปได้ เป็นเรื่องที่มีเหตุ มีผล อีกมากมาย
ถ้าจะเล่าจะแยกแยะออกมาก็ยืดยาว ถ้าใครข้องใจในข้อใดเกี่ยวกับเรื่องที่ผ่านมานี้
ก็ค่อยเขียนจดหมายไปถามข้อสงสัยหรือข้อติดใจนั้นกับข้าพเจ้าใหม่
เป็นเฉพาะหัวข้อไป
อีกเรื่องหนึ่งที่คุณสุจิตราบรรยายมาว่า ฆราวาสที่ได้บรรลุหรือสำเร็จเป็นอรหันตบุคคล
จะต้องรีบบวชในเร็ววัน เพราะถ้าไม่เช่นนั้น จะมีอายุยืนอยู่ได้อย่างมากไม่เกิน
๗ วัน เรื่องนี้ข้าพเจ้าเองก็เคยเชื่อเช่นนั้น แต่เดี๋ยวนี้คิดว่าจะไม่จริงมากกว่า
ผู้ที่บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว แม้นว่ามีความพร้อมในสัมมาอาชีวะ
คือ มีความพร้อมที่จะดำรงชีพอยู่ได้โดยไม่ต้องเดือดร้อนและเป็นภัยแก่ตนทั้งผู้อื่น
เนื่องจากสิ่งแวดล้อมส่งเสริมให้อยู่ได้แล้วละก้อ จะต้องอยู่ได้นานกว่าที่เข้าใจกันแน่ๆ
ดังเช่น ขอยกตัวอย่าง พระพุทธบิดา ซึ่งพระองค์ได้บรรลุพระอรหันต์ก่อนจะสิ้นพระชนม์
หรือก่อนจะปรินิพพาน ๗ วัน แต่ถ้าพระพุทธบิดา (พระเจ้าสุทโธทนะ)
จะยังไม่สิ้นพระชนม์เพราะเหตุว่ามีพระโรคหนัก ยังคงมีพระวรกายสมบูรณ์
ไม่มีโรคาภัยแล้วละก้อ ในสภาพพระพุทธบิดา ข้าพเจ้าเชื่อแน่ว่า
พระพุทธบิดาก็จะยังทรงพระชนม์อยู่ได้ โดยประทับอยู่ ณ พระราชตำหนักส่วนพระองค์นั่นแหละ
เรื่องปัจจัยข้อ ที่อยู่ ก็คงจะเป็นไปได้ และเรื่องปัจจัยข้อ
อาหาร ก็มีผู้นำมาถวายได้ ในลักษณะไม่ผิดทำนองคลองธรรม และเรื่องปัจจัยอื่นก็ไม่มีปัญหา
ดังนั้น ท่านจะทรงพระชนม์อยู่ได้เกิน ๗ วันแน่ๆ แต่เพราะตัวอย่างในพระพุทธประวัติมีเพียงเท่านี้
จึงไปเข้าใจเอาว่าผู้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว จะมีชีวิตอยู่ในเพศฆราวาสได้ไม่เกิน
๗ วัน ซึ่งไม่น่าจะเป็น
ดังนั้น เพียงแต่พระอรหันต์นั้นจะไม่อยู่ในฆราวาสวิสัย หรือไม่ครองชีวิตแบบฆราวาสเท่านั้น
ท่านก็ครองชีวิตอยู่สมกับคุณธรรม และวิสัยที่ควรจะเป็นไปของท่าน
เป็นแต่ว่าท่านไม่ได้นุ่งเหลืองห่มจีวร ไม่โกนหัว และไม่นำตัวเข้าไปประกาศเป็นทางการกับหมู่สงฆ์
เพื่อแจ้งเปลี่ยนเพศเป็นเพศบรรพชิตเท่านั้น แต่แท้ที่จริง ท่านเป็น
สมณะ แล้ว ความเหมาะควรทุกทางท่านรู้ ท่านแจ้งเองแล้วว่าท่านจะปฏิบัติตนอย่างไร
ก็เมื่อจิตท่านเป็นถึงพระอรหันต์โดยแท้จริงแล้ว ไม่ต้องห่วงว่าท่านจะเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยประการทั้งปวงไม่ได้
โดยไม่จำเป็นต้องเอากฎ เอาวินัย หรือเอาแบบอย่างอะไรมาให้ท่านเลย
แต่ว่านั่นแหละ เมื่อเป็นพุทธสาวก บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว
ก็ควรจะเข้าสู่กลุ่มผู้ควรอยู่ ต้องเป็นผู้เห็นแก่ธรรมแก่วินัย
ท่านจะเป็นตัวอย่างของผู้ทรงศีล ทรงธรรม ทรงวินัย
สมัยพระพุทธองค์ เมื่อคนลงบวชแล้วเป็น พระสงฆ์ พระสงฆ์นั้นบริสุทธิ์
และเป็นพระสงฆ์ที่เที่ยงแท้อยู่ในทำนองคลองธรรม ควรแก่การเคารพกราบไหว้
และเอาเป็นแบบอย่างได้ ยึดเป็นที่พึ่งได้จริงๆ แม้จะมี พระสงฆ์
ที่ไม่น่าเคารพอยู่บ้างก็น้อยเต็มที จึงควรจะเข้าสู่ตำแหน่ง
ผู้ควรบูชา ครบด้วยรูปและนามด้วยเหตุดังนี้
ดังนั้นเหตุผลที่ว่า เมื่อได้บรรลุแล้วจะต้องบวช ถ้าไม่บวชจะอยู่ได้ไม่เกิน
๗ วัน จะต้องปรินิพพานนั้น จึงไม่น่าจะเป็นเรื่องจริง จริงอยู่ที่ว่า
ท่านผู้บรรลุอรหันต์นั้นจะต้องทนต่อวิสัยของฆราวาส เพราะโลกียวิสัย
กับโลกุตรวิสัย มันคนละเรื่องกัน เปรียบเหมือนเราเกลียดเหล้า
เกลียดคนกินเหล้า แต่ถ้าเราต้องอยู่หรือต้องประจัญกับคนกินเหล้าอยู่
เราก็อยู่ในภาวะรำคาญ ไม่ชอบใจอยู่ในภาวะทน อยู่ในภาวะทุกข์
อยู่ในภาวะทรมาน ก็เป็นของแน่ แต่ถ้าเราเป็นคนธรรมดา เราก็มีทุกข์
และเป็นทุกข์ เพราะเหตุต้องทนคนขี้เหล้าคนนั้น แต่ถ้าท่านเป็นพระอรหันต์
ท่านมีวิธีหนีทุกข์ ท่านปิดประตูที่จะให้ทุกข์เข้าไปในตัวท่าน
ท่านก็อยู่ได้ดีกว่าเราคนธรรมดามากมายนัก ดังนั้น อย่าเอาความรู้สึกของคนธรรมดาไปวัด
ไปเทียบกับท่านเลย เป็น วิสัย ที่เราจะคำนวณโดยเดาเอายังไม่ได้เป็นอันขาด
|