page: 1/12

สารบัญ

ตักบาตร, อธิษฐาน, ชาติหน้า, ชู้รัก, ทาน [1] |

ผู้บรรลุอรหันต์คนแรก [2] |

คู่รัก, รักแล้วหย่า, ทำความดี, เกิดไม่ทุกข์, เพศหญิงชาย [3] |

สมาธิ, ความกังวล [4] |

ลูกสะใภ้กับแม่สามี, ถูกด่า [5] |

กรวดน้ำ, สวดมนต์อธิษฐาน [6] |

กลัวความตาย [7] |

หญิงจะบวชยังไง, ศาลพระภูมิ, พรหมลิขิต, สวรรค์ นรก ผี [8] |

ตกนรก [9] |

ทำใจให้สงบ, สนใจศาสนา [10] |

มรรคผล [11] |

ไม่เกิดอีก, บวชชี, วิธีหลุดพ้น [12] |

 ชีวิตนี้มีปัญหา... โพธิรักษ์  

ถาม[1] คำถามจาก คุณรุ่งอรุณ แซ่ตั้ง 29/4 ถ.ศรีภูวนาถ อ.หาดใหญ่ สงขลา

๑. หนูอยากทราบว่าคนที่ตักบาตรตอนเช้า (ทุกวัน) ตักแล้วไม่เคยยกมือไหว้พระ นอกจากองค์ที่มีอายุมากแล้วเท่านั้น อยากทราบว่า เกิดชาติหน้าจะเป็นอย่างไรคะ?

ผู้ที่ใส่บาตรแล้วไม่ยอมยกมือไหว้พระคนนี้ (จะใช่ตัวหนูเองหรือเปล่าก็ไม่ทราบ) รู้สึกว่าจะเป็นผู้มีจิตใจ ถ้าเรียกอย่างสามัญก็ว่า “ถือดี” คือ เลือกไหว้แต่เฉพาะพระที่มีอายุมากแล้ว โดยที่ในใจของคนผู้นี้ก็คงจะคิดเอาว่าการจะเคารพพระนั้น ต้องพระที่มีอายุมากจึงจะควรเคารพ การคิดเห็นดังนั้นเป็นการคิดเห็นที่ผิด

ถ้าเราจะเคารพพระ เราก็ควรเคารพ “พระสงฆ์” ทุกรูป เพราะ “พระสงฆ์” คือ ผู้ที่มีบุญคุณล้นเหลือ ในฐานะที่เป็นผู้สืบต่อศาสนาพุทธ และเป็น “ยานวิเศษ” หรือ “พาหนะวิเศษ” บรรทุก “พระธรรม” ของ “พระพุทธองค์” ให้มาจนถึงเราในปัจจุบันนี้ได้ ซึ่งถ้าไม่มี “พระสงฆ์” เสียแล้ว “พระธรรม” ของ “พระพุทธองค์” ก็คงสูญหายหมดสิ้นไปจากโลก และศาสนาพุทธก็คงจะหมดลงด้วย เราก็จะไม่มีโอกาสได้รู้จักเลยว่าโลกนี้ มี “พระพุทธ” ผู้เป็นองค์ตรัสรู้ดี รู้ชอบแล้ว ด้วยพระองค์เอง แล้วก็ได้ประทานหลักการต่างๆ ที่พระองค์ได้ตรัสรู้นั้นไว้เป็น “พระธรรม” ให้เราได้เรียนและปฏิบัติตาม ดังนั้น “พระสงฆ์” จึงสำคัญดังนี้ และมีพระคุณล้นเหลือ ดังนี้

“พระไตรรัตน์” จึงจะขาดเสียสิ่งหนึ่งสิ่งใดมิได้ ย่อมต้องอาศัยซึ่งกันและกันจึงจะอยู่ครบ ศาสนาจึงจะดำรงอยู่ได้ ถ้าเรามีความรู้สึกเคารพนับถือ “พระพุทธ” เท่าใด เราก็ควรจะรู้สึกเคารพ “พระธรรม” และ”พระสงฆ์” ด้วยเท่าๆกันดังนี้

ส่วนการเลือกเคารพพระสงฆ์แต่เฉพาะองค์ที่มีอายุมาก ก็เป็นการเข้าใจผิดเช่นกัน เพราะผู้เลือกเคารพนั้น คงจะหมายใจเลือกเคารพเฉพาะพระผู้ที่น่าเคารพ โดยการวัดเอาความชราหรือวัยวุฒิเป็นสิ่งวัด ซึ่งเราก็จะรู้ไม่ได้เลยว่าเราได้วัดแล้วโดยถูกต้องจริงหรือเปล่า เพราะพระชราบางองค์เพิ่งบวชก็มี บางองค์หนุ่ม แต่บวชนานสิบๆ พรรษาแล้วก็มี และยิ่งจะวัดโดยเข้าใจเอาเองว่า พระอายุมากคือผู้ได้ปฏิบัติธรรมมากแล้ว หรือเป็นผู้ได้บรรลุซึ่งธรรมมามากแล้ว ก็ยิ่งจะวัดได้ยากใหญ่ เพราะผู้จะวัดได้หรือทราบได้ ก็คือผู้ได้เรียนรู้และปฏิบัติมาจนเพียงพอที่จะสามารถอ่านคุณธรรมด้วยกันออกเท่านั้น ปุถุชนธรรมดาหาอาจสามารถเอาตัวเองไปวัดท่านได้ไม่

แต่อย่างไรก็ตาม การเลือกเฟ้นในลักษณะใดดังได้ยกขึ้นมาพูดนี้ก็ไม่ถูกทั้งสิ้น เป็นการเข้าใจผิดทั้งหมด คือมีความถือดีที่ผิด พระท่านเรียกว่า“มิจฉาทิฐิ” ดังนั้นจึงไม่ควรจะทำเลย และไม่ควรจะมีในจิตใจด้วยเป็นอันขาด

เราทำบุญทำกุศลตักบาตรนั้นเป็นการกระทำ “กายกรรม” ที่ดี เราก็ควรจะมี “ใจดี” คล้อยตามไปด้วย โดยไม่คิดอกุศลใดๆ ทั้งสิ้น จึงจะเป็นกุศลหรือเป็นบุญที่บริบูรณ์เรียกว่า แม้ “มโนกรรม” คือการคิดก็ควรจะคิดให้เป็นกุศล เป็นบุญให้เหมือนๆ กัน จึงจะได้บุญมาก และบริสุทธิ์ผุดผ่อง

อยากทราบว่า ตายแล้วชาติหน้าจะเป็นอย่างไร? นั้น

ตอบ โดยเดาหรือคาดเอาไม่ถูกต้องได้เป็นอันขาด เพราะกรรมที่ผู้ตักบาตรคนนั้นกระทำมีมากมาย เป็นเหตุเป็นปัจจัยจะส่งให้ไปเกิดรับผลกรรม ดังนั้น ด้วยเหตุแค่ไม่ไหว้พระบางรูปเท่านี้ จะให้ทำนายว่าชาติหน้าจะเป็นอย่างไรนั้น ทำนายไม่ได้ แต่ถ้าสมมุติว่ายกเอากรรมเฉพาะข้อเดียวนี้มา คือเลือกเคารพแต่พระอายุมากอย่างเดียว มาเป็นข้อทำนาย ก็อาจจะพอบอกได้ว่า ชาติหน้าก็จะไม่สมประกอบในบางสิ่งบางอย่าง

๒. เวลาตักบาตรแล้วยกมือไหว้ จะต้องอธิษฐานว่าอย่างไรคะ ส่วนมากหนูไหว้เฉย ๆ ไม่มีคำอธิษฐาน อยากทราบว่าบุญที่ทำไว้จะได้รับเวลาตายหรือเปล่าคะ ?

เวลาตักบาตรแล้วยกมือไหว้ ถ้าเราอธิษฐานขอให้เป็นของเราเถิดในชาติหน้า เราก็จะไม่ได้อะไรเลย เพราะเท่ากับเราหวงของนั้นไว้อยู่กับตัวดังเดิม ไม่ได้ให้ใคร ของนั้นก็ไม่ได้ไปไหน แม้เราจะทำการให้โดยตักบาตรไปจริง ๆ ก็ตาม แต่ก็เท่ากับไม่ได้ให้ของนั้นแก่ใครไป ของนั้นเรายังหวงไว้อยู่จงเข้าใจให้ดีในเหตุผลข้อหนึ่งว่า การบริจาคทานด้วยการทำบุญหรือทำทานก็ตาม คือการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ตามหลักของพุทธศาสนา ผลแท้ของการปฏิบัตินั้น คือการสละออกซึ่งโลภะ การเผื่อแผ่ การไม่หวงไว้ การไม่ยึดเอาอะไรไว้ ดังนั้น ถ้าจะให้ดีก็ควรจะตั้งจิตอธิษฐานว่า บุญกุศลนี้ ขอให้เจริญด้วยบุญบารมี หรือกุศลบารมีเทอญ แล้วก็ทำจิตใจให้ผ่องใส เหมือนเรากำลังร้อน มีเหงื่อไคลเหนียวเต็มตัว ได้อาบน้ำชำระกายล้างเหงื่อไคลนั้นออกไปแล้วส่วนหนึ่ง เราก็จะรู้สึกสบายกาย ใจ การทำบุญหรือทำทานครั้งใดก็ควรจะให้มีความรู้สึกดังนี้จึงจะถูก อย่าไปคิดหวังผล อย่าไปผูกพันอยู่กับการให้นั้น ๆ เลย มันเหมือนเราคอยทวงเอาบุญเอาคุณ การที่มีคนคอยทวงบุญคุณเรายังไม่ค่อยชอบเลย

ดังนั้นข้อถามที่ว่า บุญที่ทำไว้จะได้รับเวลาตายหรือเปล่า จึงไม่ควรคำนึงนึกถึง แต่ถ้าจะให้ตอบ ก็ขอบอกได้ว่า สมมุติว่าเราเอาหมึกขีดลงไปบนกระดาษขาวแผ่นหนึ่ง เป็นรูปสวยๆ กระดาษขาวแผ่นนั้นก็จะมีรูปสวยนั้นติดอยู่ แม้เราจะทำกระดาษแผ่นนั้นตกหายไปคนอื่นเก็บกระดาษแผ่นนั้นได้ เขาก็จะได้กระดาษขาวที่มีรูปนั้นไปด้วยหรือเปล่าล่ะ และถ้ากระดาษนั้นมีโอกาสกลับคืนมาหาเรา รูปนั้นจะติดกลับมาหาเราหรือเปล่า การทำอะไรลงไป ก็เปรียบได้ดังนี้ทั้งนั้น ลงขึ้นชื่อว่าทำแล้วเป็นผลดี ผลดีก็ติดอยู่ และรูปสวยนั้นมันก็เป็นฝีมือของเราวันยังค่ำ ใครจะมาแย่ง หรือมาโกงว่าคนนั้นคนนี้ทำ ไม่ได้เป็นอันขาด เพราะจะกลบเกลื่อนคดโกงกันยังไง โดยความแท้จริง รูปสวยรูปนั้นก็เกิดจากฝีมือเราโดยแท้จริง แต่ถ้าเราทำชั่ว หรือเขียนรูปลามกลงไป รูปนั้นก็คงติดอยู่เช่นกัน และก็ปฏิเสธอีกไม่ได้ว่าเราเขียน เพราะความจริงเราทำรูปนั้น จะตกไปถึงไหน ๆ ก็ขึ้นชื่อว่าเราทำอยู่นั่นเอง

๓. หนูอยากทราบว่า น้องที่ถีบหน้าพี่บาปไหมคะ ถ้าบาปชาติหน้าจะเกิดเป็นอะไรคะ ?

น้องที่ถีบหน้าพี่ได้นั้น น้องคนนี้ได้ชื่อว่าเป็นคนบาปทั้งกาย และบาปทั้งใจ เพราะธรรมดาน้องต้องเคารพพี่ นี่เป็นเรื่องของการนับถือทางใจ โดยปกติ แม้จะโกรธแค้นอย่างไรก็ไม่ควรจะยกเอาเท้าอันต่ำมาถีบหน้าอันสูงของผู้เป็นพี่เป็นอันขาด แม้คนอื่นที่ไม่ใช่พี่น้องของตัว การถีบหน้าคนอื่นก็บาปทางกายอยู่อย่างมากแล้ว เพราะตนได้แสดงอาการอันหยาบคายออกไปซ้ำทำร้ายร่างกายบุคคลของอีกคนหนึ่ง ดังนั้น ยิ่งถีบหน้าผู้เป็นพี่อันเป็นสายโลหิตที่ควรจะรักและเคารพยิ่งกว่า ก็ยิ่งบาปมากมายยิ่งกว่าการถีบหน้าคนอื่นอันไม่ใช่พี่

ถามว่า ชาติหน้าจะเกิดเป็นอะไร? ก็คงตอบยากอีกเช่นเคย แต่ถ้าจะให้ตอบโดยถือหลักเดิม ก็พอตอบได้ว่า น้องผู้นี้ ประพฤติการณ์ดังนี้ ถ้าไม่แก้ไขตัวเองโดยปฏิบัติกรรมดีแก้ไขกรรมชั่วอันนี้ในชาตินี้แล้ว ก็น่าจะไปเกิดเป็นสัตว์นรกหรือเดรัจฉาน แต่ถ้าได้เกิดเป็นคนอีก ก็คงจะเป็นคนพิการหรือไม่สมประกอบ คือ อาจจะเท้าลีบหรือเท้าโตเท่าช้าง หรือไม่ก็เน่าเฟะจนเดินลำบาก เป็นทุกขเวทนาแน่ๆ

๔. การที่ตีเด็กมาก ๆ ด้วยอารมณ์โมโหนั้น จะมีบาปติดตัวไปในชาติหน้าหรือเปล่าคะ ?

มีแน่ ๆ ตราบเท่าที่ยังไม่ทิ้งอารมณ์โมโหตราบใด บาปก็ยังจะตามจองล้างจองผลาญกันไปทุกชาติ การทำอะไรก็ตาม แม้แต่การสร้างอารมณ์โมโห อันพระเรียกว่า “โทสะ” นั้น ใส่ตัวมากๆ เข้า มันก็จะพอกพูนเป็นคนที่เต็มไปด้วยความโมโหติดตัวไปชาติหน้าแน่ ถ้าเราอยากใจดี เราก็ต้องหัดทำใจดีใส่ตัวไว้ให้มาก ชาติหน้าก็จะเป็นคนใจดี

บาปนั้นก็คืออกุศลกรรม พูดอย่างมนุษย์ธรรมดาภาษาไทย ๆ ก็หมายความว่า ความไม่ดีทั้งปวงที่ได้ทำลงไป ดังนั้น ถ้าทำไม่ดีไว้ก็เป็นบาปแน่ๆถ้าทำดีไว้ ก็เป็นบุญแน่ๆ แม้แต่คิดในทางดีอยู่ตลอดเวลา ก็เรียกว่าเป็นการทำบุญ เป็นการสร้างบุญแล้ว คือเราได้กระทำกรรมในทางกุศลกรรม หรือทำกรรมดีอยู่ตลอดเวลา กรรมในทางความคิดหรือแม้แต่เราคิดนี้ พระท่านเรียกว่า “มโนกรรม” ดังนั้น หนูควรหัดทำดีไว้ แม้แต่คิด

อย่าเข้าใจว่าเพียงแต่คิด คนไม่รู้ไม่เห็นนี้จะไม่บาป ถ้าหนูเพียงแต่คิดอยากตบหน้าคนที่หนูเกลียดในใจ เท่านั้นแหละ หนูก็ได้ก่อ “มโนกรรม” ในทางชั่วแล้ว เป็นบาปติดตัวหนูแล้ว เป็นบาปติดตัวหนูแล้ว เป็นทันทีที่ได้คิดขึ้นมานั่นเอง ถ้ายิ่งคิดอย่างนี้บ่อยๆ หนูก็จะมีบาปมากขึ้นๆ อันเนื่องมาจากคิดไม่ดีหรือคิดเป็นบาปนี่เองแหละ ดังนั้น จงระวังให้หมด แม้กาย แม้วาจา และแม้ความคิด (คือใจ) ถ้าพยายามให้การกระทำทางกายดี ทางวาจาดี และทางใจก็ดีแล้วชาติหน้าเราจะมีของดีเหล่านี้ติดตัวไป

๕. การที่เรารักผู้ชายหลายคน แต่ไม่สมหวังสักคน เป็นเพราะอะไรคะ และที่เรารักผู้ชายที่มีลูกมีเมียแล้ว จะบาปไหมคะ แต่เราไม่เคยยุ่งกันแบบชู้สาวเลย เพียงแต่ผู้หญิงเอาอกเอาใจผู้ชายเท่านั้น คือมีอะไรก็เอาไป ให้ผู้ชายทาน แบบนี้จะบาปไหมคะ ?

การรักผู้ชายหลายคน แต่ไม่สมหวังสักคน ก็เพราะเราไปรักให้มันมาก มันก็เปรอะเลอะเทอะไปหมด ความแน่นอนก็ไม่มี ใครเขาจะสนใจไยดีคนไม่แน่นอนล่ะ และยิ่งไปรักคนที่มีลูกมีเมียแล้ว ยิ่งเลอะเทอะกันใหญ่ ผิดทำนองคลองธรรมเอามากมายเลย บาปหนักหนาทีเดียว ก็ได้บอกแล้วว่า “กรรม” นั้น ไม่ได้มีแต่ “กายกรรม” นั้น แม้เพียง “คิด” ก็เป็น “กรรม”

ดังนั้น แค่ไปแอบรักคนที่เขามีลูกมีเมียแล้ว ก็ได้ทำ “กรรม” ไม่ดีแล้ว อย่าว่าแต่ไปยุ่งกันหรือไม่ยุ่งเลย หนูไปเห็นใครเขาเป็นอย่างนี้ล่ะ ต้องช่วยบอกเขาที อย่าให้เขาก่อบาปเลย ตกนรกนะ! ตกทั้งเป็น ๆ นี่แหละ ถ้าหนูบอกไม่ได้ก็เอาคำตอบที่ข้าพเจ้าตอบในหนังสือนี้แหละไปให้เขาอ่าน เขาจะได้รู้ว่าการไปรักคนมีลูกมีเมียนั้น มันบาปขั้นตกนรกหมกไหม้ทีเดียว อย่าคิดทำเป็นอันขาด

๖. คนที่ไม่ชอบทำทานให้กับคนขอทานนั้น เกิดชาติหน้า จะเป็นอย่างไรคะ และคนที่รักลูกไม่เท่ากันนั้น เป็นเพราะอะไร ทั้ง ๆ ที่ใจก็อยากจะรักให้เท่ากันทุกคน แต่ก็ต้องรักอีกคน มากกว่าใคร ๆ ทุกคน อยากทราบว่าเป็นเพราะอะไรคะ ?

คนที่ไม่ชอบทำทานให้กับคนขอทานนั้น เกิดชาติหน้าก็จะเป็นคนยากแค้นทุคติเข็ญใจ ที่จริงการกระทำอะไรก็ตามขึ้นอยู่กับจิตใจที่ได้ฝึก ถ้าเรารู้ตัวว่าเราไม่ชอบให้ทานกับคนขอทาน เราก็พยายามหัดให้ แล้วก็คิดให้ถูกว่าการให้นี้ เราให้เพื่อเป็นการฝึกหัดตัวเราเอง ให้รู้จักเป็นคนเผื่อแผ่โอบอ้อมอารี เห็นใจผู้ตกทุกข์ได้ยากกว่า เราเองยังชอบคนที่มีใจเผื่อแผ่โอบอ้อมอารี แต่ต้องใช้ปัญญาพิจารณาเลือกให้แก่คนที่สมควรให้ อย่าให้แก่คนที่ไม่สมควร

ดังนั้น การที่เราจะหัดตัวเองให้เป็นคนที่มีใจเผื่อแผ่ โอบอ้อมอารีนั้นเป็นการกระทำที่ดี ที่ถูก โลกสรรเสริญ พระพุทธเจ้าก็สรรเสริญด้วย ฉะนั้นก็ต้องหัดคิดหัดฝึกในทางที่ดี การกระทำใดๆ ก็ตาม เกิดมาจากการหัดการฝึกทั้งนั้น ลองคิดดูให้ดี แม้แต่การขยับแขนขยับขาหัดมาฝึกมาทั้งนั้น ตั้งแต่เกิดมาจนโต ดังนั้นหากเราอยากได้อะไร เราก็หัดเอา อยากได้ความเป็นคนมีน้ำใจเผื่อแผ่โอบอ้อมอารี ก็หัดเอา

ถ้าเรายังไม่เคยให้ทานเลย เราก็ยังไม่ได้หัดกระทำการให้ทานนั้นเลย

การกระทำ คือ “กรรม” เรายังไม่เคยทำการให้ทานเลย ก็คือ เรายังไม่ได้ “ก่อกรรม” การให้ทานนั้นเลยในชีวิต แต่ถ้าเราเริ่มลงมือให้ทานเมื่อไรนั่นคือ เราเริ่มหัดละ และ คือได้มี “กรรมอันเป็นการให้ทาน” เกิดขึ้นแล้ว

ถ้าเราหัดต่อไป เป็นครั้งที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ เรื่อยๆ ไป ก็จะเกิดเป็น “ความเคยชิน”

ถ้าหัดให้มากเข้าๆ “ความเคยชิน” ก็จะพอกพูนในตัวเป็น “นิสัย”

เมื่อหัดต่อไปอีก ไม่หยุดยั้งในสิ่งเก่าก็คือ หัดทำการให้ทานนี้นั่นแหละ การกระทำอันฝังลงในตัวเราเป็น “นิสัย” ก็จะกลับกลายเป็น “สันดาน” ประจำตัวเรา

และถ้าเราไม่ยอมหยุดในการกระทำนี้ เรายังทำต่อไปอีก ทำไปเรื่อยหรืออยากจะเรียกการ “ก่อกรรม” นี้ ให้ทับทวีไปเรื่อย ๆ ไม่มีหยุดนี้ว่า “สั่งสมสันดาน” “สันดาน” แบบนี้นั้นก็จะฝังลงไปในตัวหนาแน่นเข้า จนกลับกลายเป็นขั้น “ออกฤทธิ์ออกเดช” ในตัวทีเดียว ซึ่งที่ถูกแล้วจะเรียกสิ่งที่ฝังลงในตัวเรานี้ ถ้าเป็นกุศลกรรม หรือกรรมดีก็จะต้องเรียกว่าเป็น “บารมี”

ถ้าหากถึงขั้นที่เราสร้างกรรมใส่ตัวในเรื่องใดก็ตามไว้มากมายจนเรียกได้ว่า เรามีกรรมนั้นในตัวถึงขั้น “ออกฤทธิ์ออกเดช” หรือ “บารมี” แล้ว สิ่งนี้ก็จะแสดงตัวหรือแสดงผลออกมาอย่างโจ่งแจ้ง ช่วยเรา คือเราจะไม่ยากในการจะทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้หรือสิ่งนี้อีกเลย

ลองอ่านทบทวนกฎแห่งความจริง ที่ข้าพเจ้าได้อธิบายให้ฟังนั้นให้ดี คนทุกคนเป็นอย่างนี้จริงๆ แม้แต่การหัดจับช้อนตักข้าวใส่ปากตัวเองก็เหมือนกันได้พยายามหัดมาก่อนทั้งสิ้น จนเมื่อโตมาแล้ว การจับช้อนตักข้าวใส่ปากนั้นได้เก่งกล้าสามารถเกินกว่าขั้น “ออกฤทธิ์ออกเดช” หรือขั้น “บารมี” แล้ว เพราะได้ฝึกได้หัดมานาน ดังนั้น บัดนี้เราจะจับช้อนตักข้าวใส่ปาก จึงเป็นสิ่งที่ไม่ยากเลย ไม่ต้องช่วยด้วยแรงจิต ไม่ต้องประคับประคองแต่อย่างใด ไม่ต้องฝืนแต่อย่างใด เรียกว่ามันแสดงผลเองได้ โดยเราแทบไม่ต้องเอาความคิดไปใส่กับการจับช้อนตักข้าวใส่ปากเลย มันช่วยตัวเองได้ทันทีอย่างดียิ่ง

เรื่องอื่น ๆ จะเล็กน้อยหรือใหญ่โตใด ๆ จะเป็นเรื่องเลว เรื่องชั่ว หรือเรื่องดี ก็ในทำนองเดียวกันทั้งหมด เป็นหลักเกณฑ์แห่งความแท้จริง ลองอ่านดูให้ละเอียดแล้วติดตามให้ดี ดังนั้น เมื่อเรารู้ว่าเราไม่ชอบทำทาน เราก็พยายามหัดทำทานบ่อยๆ เข้า เราก็จะ “เคยชิน” และแล้วเราก็จะมี “นิสัย” เป็นคนชอบให้ไปเอง และนิสัยนั้นจะติดตัวเราไปจนชาติหน้า ถ้าเราฝึกไปอีกก็จะเป็น “บารมี” แต่ถ้าเราไม่หัดทำหัดรู้จักให้ทาน เราก็จะกลายเป็นคนไม่มี “บารมี” ในด้านให้ทานเลย เราย่อมจะไม่มีผล “บารมี” นั้นช่วย ก็จะกลายเป็นคนคับแค้นใจเป็นคนทุกข์เข็ญ

และการรักลูกไม่เท่ากัน ทั้งๆ ใจอยากจะรักให้เท่าทุกคน แต่จะต้องรักอีกคนมากกว่านั้น ก็เพราะใจเราลำเอียงเอง อาจจะด้วยเหตุหลายอย่างมาประกอบกันเข้า ทำให้เราไปมอบความรักให้กับลูกอีกคนหนึ่งเป็นพิเศษ ลูกคนนั้นอาจจะทำอะไรต่ออะไรต้องใจเรา หรือคนนั้นอาจจะมีเหตุแวดล้อมอื่นๆ ที่เป็นข้อผูกพันทางใจเป็นพิเศษให้เราต้องรักมาก คิดดูให้ดีละเอียดลออ จะเห็นได้ว่าต้องมีเหตุชักจูงแน่ๆ เราจึงรักลูกคนนั้นมากกว่าใครๆ ซึ่งก็ไม่ถูกต้องเลยในการเป็นแม่ จะต้องให้ความรักความอบอุ่นให้เท่าๆ กันทุกคน จึงจะถูก ลูกทุกคนเป็นผลกรรมของเราทั้งสิ้น เราก็ต้องรับเอามา และเผื่อแผ่สิ่งที่เราควรจะเผื่อแผ่ให้ ให้เท่าๆ กันทุกคน ทางที่ดีแล้วละก้อ ไม่ควรจะมีลูกให้มาก เพราะมันเป็นผลกรรมที่เราต้องรับเป็นภาระ นั่นคือเหตุแห่งทุกข์ข้อใหญ่ข้อหนึ่งที่ถูกที่ควรที่สุด ก็คือไม่มีลูกเลยสักคนละก้อเป็นทางที่ถูกที่สุด ดีที่สุด ขอให้ทำให้ได้ก็แล้วกัน ข้อสำคัญคนทำไม่ค่อยได้เท่านั้น

วันนี้ตอบคำถามของคุณรุ่งอรุณได้คนเดียว หวังว่าคงจะพอเข้าใจ ถ้าข้อใดหรือความใดยังไม่เข้าใจ หรือผู้อ่านผู้ใดอ่านแล้วยังไม่กระจ่างในตอนใด ก็หยิบยกมาถามใหม่ได้อีก หรืออ่านแล้วมีข้อสงสัยเพิ่มมาใหม่ ก็ถามได้เช่นกัน ความเข้าใจเป็นทางนำไปสู่ความสุข หรือเป็นทางนำไปให้พ้นทุกข์ ยิ่งเข้าใจในทางที่ถูกเท่าใด ก็ยิ่งพ้นทุกข์มากเท่านั้น


  ชีวิตนี้มีปัญหา
 
page: 1/12
   Asoke Network Thailand

อ่านต่อหน้า 2 ชีวิตนี้มีปัญหา