page: 9/12

สารบัญ

 

ตักบาตร, อธิษฐาน, ชาติหน้า, ชู้รัก, ทาน [1] |

ผู้บรรลุอรหันต์คนแรก [2] |

คู่รัก, รักแล้วหย่า, ทำความดี, เกิดไม่ทุกข์, เพศหญิงชาย [3] |

สมาธิ, ความกังวล [4] |

ลูกสะใภ้กับแม่สามี, ถูกด่า [5] |

กรวดน้ำ, สวดมนต์อธิษฐาน [6] |

กลัวความตาย [7] |

หญิงจะบวชยังไง, ศาลพระภูมิ, พรหมลิขิต, สวรรค์ นรก ผี [8] |

ตกนรก [9] |

ทำใจให้สงบ, สนใจศาสนา [10]

มรรคผล [11]

ไม่เกิดอีก, บวชชี, วิธีหลุดพ้น [12]

ชีวิตนี้มีปัญหา... โพธิรักษ์    

ถาม[9] ปัญหา : ตั้งถามจากปัญหาที่ข้าพเจ้าได้ตั้งถามตอบแข่งขันกัน ในปัญหาต่อมาว่า

“ทำอย่างไร? จึงจะเชื่อแน่ได้ว่า เราจะไม่ตกนรกเป็นอันขาด และจะไม่ไปเกิด แม้ในโลกเบื้องต่ำอื่นๆ อย่างแน่นอนด้วย”

หลังจากพิจารณาคัดเลือกแล้ว ก็ได้ฉบับที่ตัดสินให้ชนะ เป็นของ…..

คุณเกียรติชัย จิรารัตน์วัฒนา ๒๑๗ ถนนพระราม ๑ อ.ปทุมวัน กรุงเทพฯ คำตอบมีดังนี้

“ทำอย่างไร? จึงจะเชื่อแน่ได้ว่า เราไม่ตกนรกเป็นอันขาด และจะไม่เกิด แม้ในโลกเบื้องต่ำอื่นๆ อย่างแน่นอนด้วย เป็นปัญหาที่ถกเถียงกันมาก บางคนก็กล่าวว่า ควรให้ทานเป็นทางที่จะให้พ้นทุกข์ บางคนก็ว่า รักษาศีล บางคนก็ว่าเจริญภาวนา ซึ่งข้อต่างๆ เหล่านี้ถูกต้อง ด้วยกันทั้งสิ้น แต่จะถูกต้องสมบูรณ์ที่สุดนั้น ต้องพร้อมกันทั้ง ๓ อย่าง เพราะจะเป็นเรื่องต่อกัน ให้ได้รับความสุขอย่างยิ่ง ดังพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า “นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง”

การที่จะให้ได้รับนิพพานความสุข หรือหมดความชั่ว ซึ่งจะไม่ไปตกในเบื้องต่ำนั้น เราต้องได้เป็น พระอริยบุคคลเสียก่อน จึงจะพ้นไปจากการเวียนว่ายตายเกิด และไม่ตกไปสู่เบื้องต่ำ การที่จะได้เป็นอริยบุคคลนั้น เราจำเป็นต้อง มีภูมิธรรมต่างๆ รองรับ ให้ใจได้บริสุทธิ์เสียก่อน จึงจะได้ การทำใจให้บริสุทธิ์นั้น มีอยู่เป็นขั้นๆ คือ ๑ ทาน ศีล สมาธิ ปัญญา

ทาน คือ การให้ แม้จะให้แก่สมณะ บุคคลยากจน ก็เป็นทานทั้งสิ้น ทานนั้นมีอานิสงส์มาก คือ เป็นการบำรุงพระศาสนา หรือช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ที่ตกทุกข์ได้ยาก ทำให้เรามีความสุขใจ ละความตระหนี่เหนียวแน่นซึ่งเป็นกิเลสลง ใจจะบริสุทธิ์ขึ้น เมื่อใจนึกถึงบุญกุศลที่เราสร้างลงไป ก็จะเป็นความปลื้มปีติ สั่งสมบุญกุศลในใจขึ้น

ศีล คือ การละเว้นจากการทำความชั่ว มีศีล ๕ ศีล ๘ เป็นต้น ซึ่งศีลแต่ละข้อนั้น จะเป็นเครื่องจำกัดบาป เมื่อเราทำทานแล้ว จะย่อมบริสุทธิ์ขึ้น เราก็ไม่อยากที่จะทำบาป เช่น ปาณาติบาต แต่จะกลับเมตตาปราณ ีต่อสัตว์นั้น ให้ได้รับความสุข ซึ่งจะทำให้ใจเรายกสูงขึ้นๆ ไปจากความชั่ว เมื่อเรารักษาศีลต่างๆ ให้ได้ครบแล้ว ทางแห่งความชั่ว ก็จะถูกปิดกั้นได้มากที่สุด

สมาธิ คือ การทำใจให้สงบ ในที่นี้หมายถึงสงบจากกิเลส ตามสภาวธรรมแล้ว จิตใจของคนธรรมดาเรานั้น ย่อมไหลไปสู่ที่ต่ำ คือความชั่วเสมอ ถ้าเราปล่อยให้ความชั่ว มันเข้ามา ก็จะทำให้จิตใจเศร้าหมองได้ การจะสกัดกั้นนั้น ต้องใช้สมาธิ คือ เพ่งในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง เวลาเข้าสมาธินั้น จิตใจจะแน่วแน่ จดจ่ออยู่ ปราศจากกิเลส เครื่องเศร้าหมองที่จะเข้ามาได้ เมื่อออกจากสมาธิ ก็ทำให้มีสติสัมปชัญญะ ละความชั่ว ที่จะแสดงออกได้มาก

ทาน ศีล สมาธิ นั้นก็คือ การทำใจให้บริสุทธิ์ ละกิเลสก็จริง แต่เป็นการละกิเลสอย่างหยาบ และอย่างกลาง ส่วนกิเลสอย่างละเอียดนั้น หาละได้ไม่ ซึ่งถ้าละได้แล้ว ก็จะได้เป็นพระอริยบุคคลขึ้นไป และจะเชื่อได้แน่ว่า เราจะไม่ตกนรกเป็นอันขาด และจะไม่ไปเกิด แม้ในโลกเบื้องต่ำ อย่างแน่นอน การที่จะให้เกิดปัญญาประหารกิเลสอย่างละเอียดนี้ พระพุทธเจ้าได้สอนไว้คือ การกำหนดสติปัฏฐาน ๔ หรือ วิปัสสนากรรมฐาน

วิปัสสนากรรมฐาน เป็นธรรมสูงสุดในพระพุทธศาสนา ซึ่งจะนำคนให้พ้นทุกข์ แต่การที่จะมีธรรมนี้ได้นั้น ก็ต้องอาศัย ทาน ศีล สมาธิ เป็นเครื่องรองรับ จึงจะเกิดปัญญาได้

การกำหนดสติปัฏฐาน ๔ นี้ คือ การมีสติ รู้รูปนาม การเกิดดับของรูปนาม จนญาณชั้นสูงๆ ขึ้นไป การที่จะรู้นั้น เราต้องกำหนดขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เช่น กำหนด พองหนอ ยุบหนอ การเดินจนกรม ให้รู้ทุกๆ อิริยาบถ ทำให้เกิดญาณปัญญา ชั้นสูง ขึ้นไปประหารกิเลส อย่างละเอียด คือ ความเห็นผิด หลงเดินไปในทางที่ผิด ความลังเลสงสัยนั้น พระพุทธ พระธรรม การเวียนว่ายตายเกิด กฎของกรรม เป็นต้น ซึ่งได้บรรลุถึงขั้นพระอริยบุคคลโสดาบัน ก็จะเชื่อแน่ได้ว่า จะไม่ไปเกิด ในเบื้องต่ำสุดอีก การเวียนว่ายตายเกิดจะย่นลง เหลือเพียง ๗ ชาติเป็นอย่างมาก

เราเชื่อได้แน่ว่าเราจะไม่ตกนรกเป็นอันขาด และจะไม่ไปเกิดแม้ในโลกเบื้องต่ำอื่นๆ เราต้องบำเพ็ญทาน ศีล สมาธิ ปัญญา (ภาวนา) ได้สมบูรณ์ จนกระทั่งได้บรรลุ พระโสดาบัน หรือ ญาณชั้นสูงๆ ขึ้นไป”

นั่นเป็นคำตอบของคุณเกียรติชัย ซึ่งตอบได้เนื้อความ และให้รายละเอียดถูกกว่า และมากกว่าเพื่อน แต่ก็มีข้อความเข้าใจที่ยังเพี้ยนๆ จากที่ข้าพเจ้าเข้าใจ อยู่หลายอัน หลายเรื่อง ซึ่งบางเรื่องก็เห็นที จะหยิบยกมาพูดกัน ในคราวนี้ไม่ไหว แต่คิดว่าต่อๆ ไปคงจะมีโอกาสได้หยิบมาคุยกันแน่ ข้อความแรก ก็คือ ที่ว่า

“สมาธิ คือ การทำใจให้สงบ”

แต่ก็ยังดีที่คุณเกียรติชัยก็ยังอุตส่าห์ต่อไปอีกนิดว่า “ในที่นี้หมายถึง สงบจากกิเลส”

ที่จริงเรื่องของภาษาพูด หรือภาษาเรียก ที่ตั้งคำเรียกขึ้นมาขานอารมณ์ ขานการกระทำ ขานความละเอียดลออ ของนามธรรมต่างๆ นี่มันก็ลำบาก ถ้ายังไม่ซาบซึ้งถึงจิตใจส่วนลึกแท้ๆ มันก็อาจจะรู้ได้อย่างหนึ่ง หรือแม้รู้ซาบซึ้งแท้ๆ แล้วก็ตาม ก็อาจจะบรรยาย หรือเรียกออกมา เป็นภาษาไม่ถูก ก็ได้อีกเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม เราก็พูดกันอธิบายกัน เท่าที่คิดว่า เราได้ทำประโยชน์

เรื่องคำว่า “สมาธิ” นี้ ข้าพเจ้าก็เลยขอถือโอกาสออกความเห็นเสียก่อน เนื่องจากคำๆ นี้ มีผู้ยังเข้าใจเพี้ยนๆ อยู่มากมาย แม้นักศึกษาธรรมะ ทางปริยัติ คือทางตำราอย่างเดียวบางท่าน หรือแม้นักศึกษาธรรมะทางปฏิบัติบางท่าน คือทางลงมือปฏิบัติจริงๆ ไม่ห่วงตำราก็ดี ข้าพเจ้าเห็นว่า ยังเข้าใจคำว่า “สมาธิ” ยังไม่แท้ คือเข้าใจไม่ตรงตัว

คำว่า “สมาธิ” โดยตัวหนังสือ จะแปลว่าอย่างไร และจะแยกศัพท์ ให้ละเอียดลงไป จนถึงกับนำคำ ๒–๓ คำ มารวมกันเป็นคำ “สมาธิ” ก็ตามที นั่นเป็นเนื้อของภาษา ที่จริงถ้าจะแยกมาอธิบายจริงๆ มันก็พอมีประโยชน์ แต่ข้าพเจ้าไม่ติดใจ ในเรื่องตีคารมภาษา ข้าพเจ้าชอบ จะให้ผู้ศึกษาธรรมะ ตีเนื้อแท้ของแต่ละสิ่ง ที่เราเอาภาษามาเรียกให้ถูกต้อง ถึงความแท้จริง มันจึงจะเป็นประโยชน์ที่เรียกว่า “สัมมา” ซึ่งโดยภาษา “สัมมา” ก็แปลว่า “โดยชอบ” แต่โดยเนื้อหา ก็ต้องหมายถึง “ที่ถูก ที่แท้ ที่ตรง ที่ควร และที่ชอบ”

ดังนั้น ถ้ายังไม่เข้าใจว่า “สมาธิ” ที่ถูก ที่แท้ ที่ตรง ที่ควร และที่ชอบได้ แน่นอน ก็เป็นเหตุให้ปฏิบัติ ให้ได้มาซึ่งธรรม หรือศึกษาธรรมไม่ถูก ไม่แท้ ไม่ตรง ไม่ควร และไม่ชอบ ไปมากเท่านั้น เพราะ “สมาธิ” คำนี้ เป็นหัวใจ ในการปฏิบัติธรรมอันหนึ่ง จะสังเกตได้ ในหลักธรรม ข้อสำคัญต่างๆ อันจะนำคนให้บรรลุ มรรคผลนั้น จะต้องมีตัว “สมาธิ” นี้ รวมอยู่ด้วยเสมอ แม้ในไตรสิกขา ในโพชฌงค์ ๗ ในอินทรีย์ ๕ หรือในองค์ ๘ ของอริยมรรค และที่สำคัญที่สุดก็ในองค์ ๘ ของอริยมรรคนั่นแหละสำคัญมาก เพราะท่านใช้คำว่า “สัมมาสมาธิ” ด้วย ถ้าใครปฏิบัติ “สมาธิ” ไม่ถึงขั้น “สัมมา” คือ ปฏิบัติสมาธิไม่นำไปในทางที่ถูก ที่แท้ ที่ตรง ที่ควร และ ที่ชอบ ก็แน่นอน ไม่มีทางให้ผลบำบัดทุกข์ แก่ผู้ปฏิบัติแน่ๆ

คำว่า “สมาธิ” มักจะเข้าใจกันลึกเกินกว่าเหตุเสมอ โดยพอเรียกว่า “ทำสมาธิ” ก็เข้าใจไปถึง การนั่งหลับตา ภาวนากรรมฐาน อะไรกันโน่นเลย แท้ที่จริง คำว่า “สมาธิ” นั้น คนทุกคนทำได้ และทำกันอยู่เป็นประจำเสมอ ในวันหนึ่งๆ “สมาธิ” เกิดกับบุคคลทุกคน วันละร้อยละพันหน ช่วงสั้นบ้างยาวบ้าง ตามแต่ใจของผู้นั้นปรารถนา และเท่าที่จะประคองสมาธิของตนไว้ได้ ถ้าใครไม่มีสมาธิเลย คนนั้นคือ คนทำอะไรก็ไม่ได้เลยในโลก ใครก็ตามจะทำอะไรที่ตัวยังไม่ถึงขั้น…. “เคยชิน” ละก็ จะต้องใช้ “สมาธิ” ก่อนทั้งนั้นจึงจะทำได้ ดังนั้น การจะทำอะไรก็ตาม ในวันหนึ่งๆ นั้น คนทำกิจเป็นร้อยเป็นพันอย่างนั่นแหละ ได้ใช้ “สมาธิ” ประกอบในสิ่งเหล่านั้นอยู่เสมอ โดยที่คนคนนั้น ก็ไม่ได้หลับตา ไม่ได้เปลี่ยนแปลงความปกติอะไรของตัวเองนักหนาเลย

และแม้เรามีจิตไปเอาใจใส่กับอะไรเข้านั่นแหละ คือเราไปมี “สมาธิ” กับสิ่งนั้น นานบ้าง เร็วบ้าง ก็คอยสังเกตดูเอาเอง จากตัวเองนั่นแหละ ถ้ามี “สมาธิ “ มั่นคงในขณะใด ก็จะรู้เรื่องที่ตนทำหรือเอาใจใส่ในขณะนั้นมาก หรือละเอียดชัดเจนดี ถ้า “สมาธิ” ไม่ดี ไม่ตั้งมั่น เราก็รู้เรื่องที่เราทำ หรือเอาใจใส่นั้นน้อย หรือไม่ชัดเจนเท่าที่ควร

ดังนั้น เท่าที่ลองแยกแยะมานี้ ก็คงพอจะเห็นว่า “สมาธิ” นั้น ไม่ใช่ของลึกเกินกว่าจะมีได้ ในบุคคลธรรมดาทุกคน ไม่ใช่ของใหญ่ จนฟังแล้ว กลัวจะเทียบกับ เราปุถุชนไม่ได้ ไม่ใช่ของสูงจนสุดเอื้อม แท้ที่จริงคือ ของธรรมดาๆ ที่ปุถุชนทุกคนก็มี และใช้อยู่ เป็นประจำอยู่แล้ว แต่ไม่รู้จักตัว “สมาธิ” เองต่างหาก และยังไม่มีความรู้ ที่จะปฏิบัติให้ได้ถึงขึ้น “สัมมาสมาธิ” ตามมรรควิธี ของพุทธกันเท่านั้น

หวังว่าคงพอจะรู้จักตัว “สมาธิ” กันบ้างแล้ว ถ้าใครพูดถึง “ทำสมาธิ” ละก็ อย่าไปนึกให้เลยเถิด ไปถึงนั่งหลับตา เพื่อเข้าฌานแบบฤาษีไปล่ะ ดังนั้น คำว่า “สัมมาสมาธิ” ในองค์ ๘ ของ “มรรค” นั้น จึงคือ “สมาธิ” ที่เราจะปฏิบัติกับชีวิตธรรมดา และใช้มันอยู่เป็นประจำ ทุกวี่ทุกวันนี่เอง ในขณะลืมตานี่แหละ แต่ต้องใช้ให้ถูก ให้ตรง ให้แท้ ให้ควร และ ให้ชอบ คือนำสมาธินั้น มาใช้ในทาง ที่จะเพ่งจะเล็ง ในทางกุศล หรือทางดีนั่นเป็นอย่างเบา และนำมาใช้ในทางที่จะเพ่งจะเล็ง ไปในทางที่จะตัดกิเลส สู่ความหลุดพ้น นั่นเป็นอย่างมาก หรืออย่างถูกต้อง แท้ที่สุด ก็เรียกว่าเรามี “สัมมาสมาธิ” แล้ว

แต่ถ้าเรามีสมาธิในการล้วงกระเป๋า หรือมีสมาธิในการยิงปืน เล็งใส่เบ้าตาคน ก็ไม่ใช่ “สัมมาสมาธิ” แน่ ทว่าก็เป็นการมี “สมาธิ” เหมือนกัน แต่เป็น “มิจฉาสมาธิ” คือ สมาธิที่ไม่ดี ไม่ถูก ไม่ตรง ไม่แท้ ไม่ควร และ ไม่ชอบ

ทีนี้ต่อไปอีกนิดคือ ผู้แปล “สมาธิ” ว่า ทำใจให้สงบนั้น มันก็พอจะถูก แต่ไม่ถูกต้องหมด เราลองเอาความหมายต่างๆ กันดูซิ

“สมาธิ” หมายความ หรือมีเนื้อหาว่าทำใจให้เป็นหนึ่งก็ได้ หรือปัดเรื่องราวต่างๆ ที่ใจไปข้องแวะออกให้เหลือน้อยลงๆ ก็ได้ ถ้าปัดออกไปให้หมด จนเหลือเรื่องราวอยู่กับใจ เพียงเรื่องเดียว เราก็จะรู้เรื่องราวนั้น ชัดเจนถ่องแท้ดี เรียกว่า “มีสมาธิกับเรื่องนั้น” ดังนี้จะทำอะไรกับเรื่องนั้น ก็ย่อมทำได้ดี เพราะไม่มีอะไรอื่นมากวนในจิตในใจเลย เราก็ทำเรื่องราวนั้น อย่างถูกอย่างต้อง อย่างใส อย่างโปร่ง อย่างเป็นเอกเทศ ด้วยตัวเรา ขณะลืมตานี่แหละ หรือถ้าผู้นั่งทำสมาธิ จะหลับตาก็เหมือนกัน มีลักษณะเช่นเดียวกันเพียงแต่อยู่ใน “กรรมฐาน” หรืออยู่ในฐานะที่กระทำแตกต่างกันเท่านั้น

ทีนี้ผู้ปัดเรื่องราวต่างๆ ที่ใจไปข้องแวะออกให้เหลือน้อยลงๆ ถ้าปัดออกไปได้มาก จนเหลือแต่ใจแท้ๆ ไม่มีเรื่องราวอะไร ที่ใจจะไปข้องแวะเลย เหลือแต่ใจรู้อยู่กับใจ นั่นก็เรียกว่า ถึงขั้นความสงบ เพราะหมดเรื่องต่างๆ แล้ว มีแต่ใจโดดเดี่ยว ถ้าเรียกเป็น ภาษาศัพท์หน่อย เมื่อใจสงบแล้วนี้ก็เรียกว่าถึงขั้น “สมถะ” คือ ความสงบ ใจก็เบาว่างดี ไม่มีอะไรวุ่นวาย เรียกว่า “สมถสมาธิ” ถ้าทำการนั่งหลับตานิ่ง เป็นกรรมฐาน หรือที่เราเข้าใจกันอยู่ว่า นั่งหลับตานิ่ง คือ กรรมฐาน ก็เรียกอันนั้นว่า “สมถกรรมฐาน” แต่โดยแท้จริง “กรรมฐาน” ก็ไม่ได้หมายถึง “นั่งหลับตานิ่ง” ตรงๆ เรื่องเดียวอีกน่ะแหละ กรรมฐาน คือ ฐานะที่กระทำ หรืออาการที่เป็นอยู่ ในขณะนั้น โดยทำอะไรอยู่ ก็ถือว่าอันนั้น อาการนั้นเป็น…ฐานะ หรือ เป็นตำแหน่ง จะอยู่ในการนั่งหลับตานิ่ง เป็นฐานะ ก็ถือว่ายึดเอาอาการนั้น เป็นฐานในการกระทำ หรือกำลังสนเข็ม ก็ยึดเอาอาการกำลังสนเข็มเป็นฐาน หรือกำลังฟังเทศน์ ก็เอาการฟังเป็นฐาน หรือเอากสิณใด กสิณหนึ่งเป็นฐาน เป็นต้น

ทีนี้ขอต่อไปอีกนิด ให้ถึงขั้นสุดท้ายเสียเลยว่า การทำ “สมาธิ” ถึงขั้น “วิปัสสนา” นั่น หมายถึงอย่างไร ก็เช่นเดียวกันนั่นเองคือ เข้าใจคำว่า “ทำสมาธิ” ให้ถูก ดังที่อธิบายมาแต่ต้น มิใช่เอาแต่นั่งหลับตาข่มจิต สะกดจิต เมื่อมีสมาธิแล้ว ก็เพ่งเล็งพิจารณา กรรมทั้ง ๓ (ธัมมวิจัย) ให้เห็นความถูกต้องให้ได้ หรือมีสมาธิแล้วก็เพ่งเล็งให้รู้แจ้งแทงตลอดในกิเลส อกุศล ทุจริตให้ชัด ให้เร็วให้ได้ หรือมีสมาธิ เพื่อพิจารณา และฆ่ากิเลส อกุศลทุจริต ให้บรรลุถึงซึ่ง ความหลุดพ้น เรียกว่า ทำวิปัสสนา ซึ่งก็เช่นเดียวกัน จะหลับตานั่งนิ่ง หรือจะทำอะไรอยู่เป็น “กรรมฐาน” ก็ได้ทั้งสิ้น

โดยหลักการก็คือ ทำสมาธินั้นคือทำใจให้มี “สติ” รู้ในกรรมกิริยาของเราให้ชัด ให้ทัน ทั้งกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม แล้วก็เพ่งพิจารณา หาเหตุผลความถูกต้อง ความบกพร่อง ตั้งแต่กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ตามศีลที่เราได้สมาทาน แล้วทำให้ถูก ให้เจริญขึ้นๆ ตามศีลที่เราถือนั้นๆ ให้ได้ไปทุกทีๆ ก็เรียกว่า ทำวิปัสสนา

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า สมาธิ ไม่ใช่ของลึกลับ ไม่ใช่ของใหญ่ ไม่ใช่ของสูงเกินเอื้อม ที่คนไปนึกคิด วาดไว้อย่างผิดๆ เพี้ยนๆ สมาธิเป็น แค่ขั้นปฐม หรือขั้นแรกที่จะยึด จะนำพาไปสู่การกระทำอื่น ที่ละเอียดกว่า หรือตรงเป้ากว่าเท่านั้น จึงอยากให้เข้าใจให้พอ อย่าไปยกฐานะของ “สมาธิ” ให้สูงเกินไปจนน่ากลัว เป็นของเกินเอื้อม ทั้งๆ ที่เรามี เราใช้อยู่เป็นประจำทุกคน ทุกวี่ทุกวัน เป็นแต่ว่า เรามีสมาธิ แล้วจะใช้สมาธิเป็น “บาทฐาน” เป็นที่นำพาไปสู่งานอะไรเท่านั้น ถ้าเป็นงานที่มนุษย์ธรรมดา พึงทำอยู่ ก็ทำได้ เมื่อมีสมาธิกับงานนั้น แน่ใจได้ว่า งานนั้นดีกว่า ที่ควรจะเป็นแน่นอน ถ้าเป็นงาน “สมถะ” หรืองานที่ต้องการความสงบใจ ก็ทำได้ ดังที่ข้าพเจ้า อธิบายมาแล้ว หรือจะเป็นงาน “วิปัสสนา” คือ งานที่ทำเพื่อให้เกิด ความเจริญที่แท้เป็น “สัมมา” ทั้ง คิด พูด การงาน อาชีพ ก็ทำได้ ดังที่ข้าพเจ้าอธิบายมาแล้วเช่นกัน

ซึ่งทั้งหมด ทั้ง “สมาธิ” “กรรมฐาน” “สมถะ” และ “วิปัสสนา” หรือจะแถมคำว่า “ภาวนา” อันหมายถึง “การทำให้มี” หรือ “ทำให้เป็น” เข้าไปอีกตัวหนึ่งก็ได้ ไม่มีอะไรหรือตัวไหนแปลว่า “การนั่งหลับตานิ่ง” เลยแม้แต่ตัวเดียว จึงสมควรอย่างยิ่ง ที่ผู้เป็นนักศึกษาธรรมะ ควรจะเข้าใจให้ตรง อย่าพลอยพูดให้เขว ไปกับผู้ไม่เคยศึกษา และไม่เคยรู้เรื่องเลย มันทำให้ผู้ยังไม่เคยศึกษาพาลเข้าใจผิด แล้วก็นึกกลัว การปฏิบัติธรรม หรือการปฏิบัติให้ได้มาซึ่งธรรม เพราะถ้าจะปฏิบัติให้ได้มาซึ่งธรรม จะต้องไป “นั่งหลับตานิ่ง” ละก็ คนธรรมดา เขาไม่ค่อยมีเวลา แต่ถ้าใครเข้าใจได้ว่าการปฏิบัติธรรม ก็คือการปฏิบัติ ตลอดระยะเวลาปกติ ที่เราเป็นอยู่นี้เอง เมื่อไร? ที่ไหน? ขณะทำอะไรก็ได้ คนมีงานหนัก งานมาก งานยุ่ง ยังไง ก็ปฏิบัติธรรมได้ โดยไม่ต้องปลีกเวลาเลย ไม่ต้องไปวัด ไม่ต้องเปลี่ยนตาราง เวลาทำงาน หรือ แยกเวลาการงานอะไรเลย ไม่เสียอะไร จากความเป็นธรรมดาปกติของเราเลย ในการปฏิบัติธรรม เพียงแต่ขอให้เข้าใจคำว่า “ปฏิบัติธรรม” ให้ถูก ให้แท้ ให้ตรง ให้ควร ให้ชอบ ให้เป็น “สัมมาทิฐิ” กันจริงๆ เท่านั้น ผลได้จะเกิดกับผู้ปฏิบัติทันที

พูดมาถึงขั้นนี้ ถ้าข้าพเจ้าไม่อธิบายคำว่า “การปฏิบัติธรรม” หรือ “การปฏิบัติให้ได้มาซึ่งธรรม” อย่างที่ข้าพเจ้ากล่าวถึง ก็เห็นจะไม่ดี จึงขอโอกาส ต่ออีกนิด การปฏิบัติธรรม อย่างที่ข้าพเจ้าว่านี้ ก็ไม่ได้ยากเย็นอะไรจริงๆ เพียงแต่ว่า เราหัดมี “สติ” เท่านั้น เราจะทำอะไรอยู่ก็ตาม เราหัดมี “สติ” กับการทำนั้น ทุกขณะ ทุกเวลา ถ้ามี “สติ” ได้ทุกขณะเมื่อใด เมื่อนั้นท่านก็เป็น “อรหันต์” เป็นจริงๆ ไม่ใช่ข้าพเจ้าพูดเล่น

“สติ” หมายถึงว่า ระลึกรู้ตัวอยู่เสมอ เมื่อมีการระลึกรู้ตัวอยู่เสมอว่า เรากำลังทำอะไร เราก็จะรู้ตัวเองดีว่า เรากำลังทำสิ่งที่ดีหรือชั่ว ถูกหรือผิด ถ้าไม่โกหกตัวเอง และไม่เข้าข้างตัวเองมากเกินไป เช่น เรากำลังสูบบุหรี่ คนที่ไม่เข้าข้างตัวเองก็จะรู้ได้ทันทีว่า เราสูบบุหรี่ คือเรากำลังทำไม่ดี เป็นของผิด ดังนี้เป็นต้น

คนธรรมดาจะต้องรับรู้ในอาการ หรือในสิ่งที่ตนกำลังกระทำอยู่ หรือกำลังจะกระทำ รู้แน่ๆ ตามภูมิเรา ว่าดีหรือชั่ว ถูกหรือผิด ดังนั้น ขณะที่เราทำอะไรอยู่ก็ตาม กายกรรม วจีกรรม แม้แต่คิด ก็ขอให้มี “สติ” คือ ระลึกรู้ให้ได้ว่า เรากำลังคิด พูด ทำอย่างไรอยู่ และวิจัยพิจารณาจริงๆ ให้ละเอียดขึ้นๆเสมอ ในกรรมทุกขณะ ถ้าระลึกรู้ได้ละก็ แน่นอนเราจะรู้ทันทีว่า เรื่องที่เรากำลังคิดนั้น มันดีหรือชั่ว มันถูกหรือผิด เป็นกิเลส เป็นตัณหา เป็นอุปาทาน หรือไม่ตามภูมิเรา ถ้ามันเป็นของไม่ดี เราก็ต้องพยายาม เลิกละให้ได้ หรืออย่างน้อย แม้ยังละไม่ได้หมด ก็ค่อยๆ ลดไปทีละมากที่สุด เท่าที่เราจะสามารถ เต็มความพยายามจริงๆ ขอให้มี “สติ” เถอะ เป็นใช้ได้ ขอให้ระลึกรู้ตัว ในทุกขณะ ให้ได้เถอะ แล้วพิจารณาหรือวิจัยกรรม วิจัยธรรมจริงๆ เจริญกุศลจริงๆ ละอกุศลแท้ๆ ตามที่เราสมาทาน จะค่อยๆ ดีขึ้นมาเรื่อยๆ ตามลำดับ

คอยถามตัวเองอยู่เสมอๆ เถอะว่าขณะนี้ เรากำลังคิดอะไร? กำลังพูดอะไร? กำลังลงมือทำอะไรอยู่? แม้แรกๆ เราจะไม่รู้เลยด้วยซ้ำ ว่ากิเลสเป็นอย่างไร? ตัณหาเป็นอย่างไร? และ อุปาทานเป็นอย่างไร? แต่ถ้าพยายามหัดมี “สติ” ไปเรื่อยๆ คือ มีการระลึกรู้ตัว ในทุกขณะให้ได้ และมีธรรมวิจัยในกรรมกิริยาจริงๆ อุตสาหะพากเพียรให้ได้ผลเสมอๆ มากบ้าง น้อยบ้าง คุณจะค่อยๆ รู้ไปเอง รู้จริงๆ รู้โดยไม่ต้อง ไปอ่านตำรับตำรา ไม่ต้องไปฟังเทศน์ที่ไหน จะค่อยๆ รู้จากง่ายไปหายาก จากตื้นไปหาลึก ค่อยๆ รู้ได้จริงๆ จนในโอกาสต่อไป คุณไปได้ยิน ได้ฟังใครเขาพูดเรื่องธรรมะคุณก็จะรู้กับเขา ไปหยิบหนังสือธรรมะอันไม่เคยอ่านเลยมาอ่าน ก็จะเข้าใจได้ และอยากอ่าน หนังสือธรรมะไปเอง

นั่นแหละ คือการ “ปฏิบัติธรรม” ทำที่ไหนก็ได้ เมื่อไหร่ก็ได้ ไม่นอกไปจาก ความเป็นปกติของคนเลย ถ้าคุณเริ่มลงมือ หัดระลึกรู้สึกตัว ในขณะนี้ ลองดูสักหน่อย ก่อนก็ได้ คุณจะรู้อะไรบ้าง คุณจะรู้ว่า คุณกำลังทำอะไร? มีประโยชน์ไหม? ดีหรือชั่ว คุณจะรู้จริงๆ รู้เอง รู้อย่างนี้เรียกว่า “รู้แจ้งเห็นจริง” มันจะค่อยๆ “รู้แจ้งเห็นจริง” ไปทีละน้อยๆ และจะมากเข้าๆ ถูกต้อง แท้จริงเข้าไปทุกทีๆ ลองหัดเถิด เป็นประโยชน์แท้ทีเดียว จะให้ดีเป็นระบบระเบียบ มีต่ำมีสูง มีต้นมีกลางมีปลาย ก็ตั้งศีลกำหนดขนาด มีความหมาย เท่าที่ตนจะเลิกได้ตามฐานะภูมิธรรมของตนๆ รับรองได้ว่าไม่เสียเวลา ไม่เป็นพิษเป็นภัย ในการครองชีวิตเลย เริ่มลงมือทำเมื่อใด ก็ได้เมื่อนั้น ทำครั้งเดียว ก็ได้นิดเดียว ได้จริงๆ ได้ไว้แล้ว ถ้าทำอีก ก็จะได้เพิ่มอีกนิด นึกขึ้นได้เมื่อไหร่ ก็จงทำเมื่อนั้น มันเผลอตัว นึกไม่ได้ ก็ปล่อยมันไป มันยังนึกไม่ได้นี่ ถ้านึกขึ้นมาได้อีกเมื่อไหร่ก็รีบทำ คือรีบระลึกรู้ และวิจัยธรรม แล้วก็ปรับตนให้ได้ มันก็จะได้มากขึ้นๆ ไปเอง คุณจะเห็นผล จากตัวเอง ใครทำให้คุณก็ไม่ได้ เพราะการ “รู้แจ้งเห็นจริง” มันรู้จากประสาทใจ ประสาทส่วนลึก ด้วยไม่มีรูป ไม่มีร่าง ให้จับต้องได้เลย แต่รับสัมผัสของจริง ส่งไปสู่ส่วนลึกของใจตัวเองโดยแท้เสมอๆ อธิบายเป็นภาษาอย่างไร ก็ไม่ละเอียดลออ ซาบซึ้งได้เท่า

ดังนั้น จงมา “ปฏิบัติธรรม” กันเถิด คุณทำก็คุณเป็นคนได้ ได้จริงๆ ได้ในทันทีที่ทำ ข้าพเจ้าไม่ได้อะไรกับคุณเลย คุณทำเอง คุณได้เอง และแม้ คุณได้มากแล้ว จะควักแบ่งให้ใครก็ไม่ได้ ถ้าคุณไม่ทำ คุณก็ไม่ได้อีกน่ะแหละ

ข้าพเจ้าแวะออกมาห่างคุณเกียรติชัยเสียไกล ด้วยเรื่อง “สมาธิ” เรื่องเดียว ที่จริงจะแวะออกไป ไกลกว่านี้ก็ได้ เพราะธรรมะนี้กว้างไกล ลึกซึ้งยิ่งนัก จะอธิบายให้ละเอียดลออ ปานใดก็ได้

ดังนั้น ก็ขอวกกลับมาพูดกับคุณเกียรติชัย อีกทีว่า ที่คุณอธิบายไว้ว่า “สมาธิ” คือการทำใจให้สงบ…” และที่ว่า “…เมื่อออกจากสมาธิ ก็ทำให้มี สติสัมปชัญญะ ละความชั่ว ที่จะแสดงออกได้มาก” จึงยังเพี้ยนๆ และคลุมเครืออยู่ ถ้าอ่านและพิจารณา ตามที่ข้าพเจ้า ได้แยกแยะอธิบาย มานี้อย่างละเอียด ก็จะเข้าใจได้ทันทีว่า จะละความชั่วอันเนื่องมาจาก “สมาธิ” หรือ ใช้ “สมาธิ” ปฏิบัติธรรม ได้โดยลำดับอย่างไร

ความชำนาญในการฝึกมีสติ และฝึกธัมมวิจัยในขณะที่นั่งนิ่งหลับตา กับขณะทำการงานด้วยนั้น มันมีสติ และธัมมวิจัยชำนาญต่างกัน แข็งแรงตั้งมั่น ต่างกันคนละลักษณะ

และอีกเรื่อง ที่คุณเกียรติชัยกล่าวถึง ในคำตอบนั้น คือเรื่องของกิเลส ที่บอกว่า “กิเลสอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด” นั้น ความจริง ดังข้าพเจ้า ได้กล่าวมาแล้วว่า ภาษาพูด หรือ ภาษาเรียก ที่ตั้งขึ้นมาขาน นามธรรมต่างๆ นี่ มันลำบากมากอยู่ การเรียกกิเลสว่ามีอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด มันก็พอได้ ซึ่งต้องรู้ต้องมีสัมผัส กับกิเลสนั้นๆ จริง กิเลสอย่างหยาบ ก็หมายถึง กิเลสที่เห็นชัด ออกฤทธิ์ออกเดช ออกมาแรงกล้า จนไม่ต้องใช้ความละเอียดสุขุมของจิตตรวจตราก็เห็นได้ รู้ได้ ก็เรียกมันว่า กิเลสอย่างหยาบก็ได้ หรือกิเลสหยาบ กิเลสหนา แต่ไม่ออกฤทธิ์ออกมา ทว่ามันถูกกดถูกข่มไว้ จนหนาจนหยาบ แต่ยังไม่แสดงตัวก็ได้ บางตัวนอนเนื่องเป็นอนุสัย แต่หยาบหนาอยู่ลึก ก็เป็นได้จริง ต้องเรียนต้องศึกษาพินิจพิจารณาให้มาก มีของจริง ที่เราได้สัมผัสจริง อย่างสุขุมลึกซึ้ง จึงจะรู้จะเห็น ตัวอาการของกิเลสได้ อย่างละเอียด

เพียงพูด เพียงอธิบายสู่กันฟัง มันก็พอจะเข้าใจกันได้ เรียกหยาบ กลาง ละเอียด ก็พยายามสื่อกัน แต่ที่จะถูกต้องกว่าก็คือ กิเลสนั้น มันต้องปฏิบัติพิสูจน์ รู้ตัวมันให้ได้ เช่น กิเลสตัวโลภะมันก็มีโลภะกิเลสตัวนั้น ลักษณะอาการอย่างนั้นๆ แต่มันแสดงอาการออกมากน้อย ดุร้ายรุนแรง หรือเบา ตามแต่ว่า ผู้ใดจะมีอยู่จริง ซึ่งต้องมี “สติ” มี “ปัญญา” รู้ทันตัวมันเท่านั้น ถ้ารู้ทันมันมาก และระงับได้มาก มีวิธีมีความสามารถ ทำให้ตัวกิเลส มันแสดงอาการก่อนลงได้ ในขณะปฏิบัติ มันก็น้อยลงๆ ไปเรื่อยๆ ตัวมันก็น้อยลงๆๆ ถ้าฆ่าตัวกิเลส ตัวใดได้ มันก็ตายสิ้น ไม่มีออกมาแสดงอาการอะไรอีกเลย

แต่นั่นแหละตัวกิเลสมันฆ่ายากเอาเสียด้วย กว่าจะทำให้เชื่อง จนเราบังคับให้มันดุมาก ดุน้อยได้ ก็แสนยากอยู่แล้ว ยิ่งจะให้เชื่อง ขนาดสั่งได้นี่ ก็ยิ่งยาก และยิ่งจะฆ่าให้ตายเลย ก็ยิ่งยากใหญ่ แต่มันก็จะต้องตาย เพราะเราเพียรพยายาม รู้เท่าทันมัน และฆ่ามัน หรือตัดสวาท ขาดจากมัน อย่าให้มันมาอยู่ ในห้องหัวใจ (จิต) เราให้ได้นั่นเอง จะเพราะเหตุอื่นไม่ได้ ใครทำให้ ก็ไม่ได้ ถ้าเราไม่ทำ ไม่เพียรพยายาม รู้จักตัวมัน และหัดบังคับมันให้ได้ มันก็ยิ่งจะดุร้าย เห่อเหิม เราก็ยิ่งจะถูกตัวกิเลส เป็นเจ้าของร่าง กลืนชีวิตเรา เหมือนเชื้อโรค แต่ร้ายแรงยิ่งกว่าเชื้อโรคหลายล้านเท่า

กิเลสตัวไหนที่เราทำให้ตนก้าวล่วงไปได้ โดยเราสามารถจับตัวมันได้ และจัดการฆ่ามันลงได้ หรือทำให้เราหลุดพ้น จากมันได้ ก็เรียกมันว่า “วีติกกมกิเลส” และกิเลสตัวไหน ที่เรากำลังรู้จักมัน เห็นหน้ามันอยู่ และพยายามจัดการมัน ซึ่งมันก็ยังครอบงำเราอยู่ ก็เรียกว่า “ปริยุฏฐานกิเลส” ส่วนกิเลสที่เรายัง ไม่มีญาณปัญญา รู้เท่าทันมัน หรือมันยังยิ่งใหญ่กว่าเรา จนทำให้เราหลง เป็นทาสมันอย่างไม่รู้ตัว หรือกิเลสที่ โบราณาจารย์เรียกว่า กิเลสนอนเนื่อง นั่นแหละ คือ “อนุสัยกิเลส” ดังนั้นจะเรียก กิเลสหยาบ กิเลสกลาง กิเลสละเอียด มันก็ต้องเข้าใจกันให้ดีๆ

เพราะฉะนั้น ผู้ใดนึกคิดได้ว่า ควรรีบป้องกัน ก็จงเร่งเรียนรู้ หาทางป้องกันเสีย อย่าให้เจ้าตัว “กิเลส” มาเป็นเจ้าของร่าง มาเป็นเจ้าบ้าน คือตัวเรา ได้เป็นอันขาด “กิเลส” มันไม่ใช่ญาติมิตร อันควรคบค้า อันใดเลย มันเป็นแขกเป็น “อาคันตุกะ” ดังที่พระพุทธองค์ ท่านตรัสเรียกมัน อย่าให้มันเข้าบ้านได้เลย แม้สักตัวได้ละก็ เป็นดีที่สุด แต่ว่ามันก็ลำบาก เพราะขึ้นชื่อว่า “ปุถุชน” ทุกคน ได้เผลอรับ “อาคันตุกะ” เข้าบ้านแล้วทั้งนั้น บางคนเลี้ยงดูมัน เหมือนญาติสนิท เสียด้วยซ้ำไป เจ้ากิเลสเลยกินนอน อยู่ในเรือนร่าง เหมือนเป็นเจ้าบ้านเลย เจ้าบ้านจริงจะไล่ ก็อ้าปากไม่ได้ เพราะเกรงใจ เลยปล่อยให้มัน ควบคุมร่างกายเราไปด้วย เหมือนมันเป็น เจ้าของร่างแท้ๆ ตัวหนึ่ง แท้ที่จริง ต้องรู้ให้ดี รู้ให้ได้ว่า “กิเลส” มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่เจ้าของร่างของเรา มันเป็นผู้อื่น ตัวมันไม่ใช่ตัวเรา มันเป็นแขกจร มันเข้าบ้านเราได้ เพราะเรายินดีต้อนรับมัน เข้ามาต่างหาก ถ้าเราไม่ยินดีรับมัน ถ้าเรารู้แท้ และมีกำลังชนะมันจริง มันจะไม่มีโอกาส เข้าบ้านเราเลย

และเจ้าตัวที่อยู่ในบ้านเราแล้ว โดยเราเผลอรับไว้ ก็ให้รีบเรียนรู้มันให้ได้ แล้วใจแข็ง ไล่มันออกไปให้ได้ อย่าให้มันอยู่ มันไม่ใช่เรา หรือแม้ญาติของเรา ก็ไม่ใช่ อย่าหลง ต้องขับมันออกไปเสีย หรือต้องฆ่ามันให้ตาย มันเป็นตัวเลว ตัวชั่วจริงๆ ถ้าเรายิ่งรักมันมาก มันก็ยิ่ง ออกฤทธิ์ ออกเดช แสดงความชั่ว ทำตัวเหมือนเจ้าบ้าน เจ้าของกายของใจ ออกมามากเท่านั้น ร่างนั้นก็เป็นร่างชั่ว บ้านนั้นก็เป็นบ้านชั่ว เพราะผู้อยู่ แสดงอาการชั่ว ออกมาให้ใครๆ เขารู้ เขาเห็น นั่นคือ เราผู้มีกิเลส อยู่ร่วมด้วยในร่าง

ถ้ามีแต่เรา โดยไม่มีเจ้าตัวกิเลสเราก็เป็นเราผู้วิเศษ เพราะโดยความจริงแท้นั้น “เรา” หรือ “จิตของมนุษย์” นั้น ไม่ใช่ตัวกิเลสหรอก เมื่อเป็น “เรา” อย่างบริสุทธิ์ ปราศจากกิเลส เราจะเป็น “คนดีผ่องใสงดงามโดยแท้” แต่โดยความไม่รู้ว่า “กิเลส” มันเป็นตัวชั่ว ตัวเลว ก็รับ “กิเลส” เข้าไปอยู่ร่วม “เรา” หรือเข้าไป “ผสมอยู่ในจิตของเราด้วย” เราจึงกลายเป็นคนชั่วคนเลว ไปตามด้วยเหตุนี้

ถ้าเรารู้ตัวเสียดังนี้ เราก็จะไม่มีวันรับเจ้า “แขกจร” เจ้าตัวกิเลสนี่ เข้าไปในบ้านเรา หรือเข้าไปสิงสู่ ในจิตใจเราอีก เป็นอันขาด ผู้ที่รู้ได้ดังนี้ และรู้ว่า ตัวกิเลสเลวร้าย ดังนี้จริง และมีความสามารถ ขจัดกิเลส ออกจากตนได้ ด้วยวิชชาของพระพุทธเจ้าแล้ว จนแข็งแรงจริง จะไม่ยอมรับ ตัวกิเลส เข้าบ้านต่อไปอีก เป็นอันขาด เพียงแต่จะพยายาม หาวิธีขับไล่เจ้าตัวกิเลส ที่มันสิงสู่อยู่ในบ้าน ออกไปให้หมดให้ได้ นั่นแหละ คือ พระอริยบุคคล คำว่า พระอริยบุคคลนั้น ก็มีขั้นต่ำสุด เรียกว่า พระโสดาบัน ขั้นสูงต่อไปก็เรียกว่า พระสกทาคามี หรือสกิทาคามี ชั้นสูงต่อไปอีก ก็เรียกว่า อนาคามี และขั้นสูงสุด เรียกว่า พระอรหันต์

คงจะเคยได้ยินพูดกันบ่อยๆ ว่า โสดาบัน บรรลุโสดาบัน พูดเล่นพูดหัว เย้าแหย่กันเล่น โดยเอาคำนี้ มาพูดบ่อยๆ ฉันไม่ใช่โสดาบัน เธอเป็นโสดาบัน อะไรทำนองนี้ และโดยแท้ก็คิดว่า เป็นชื่อเรียกเลิศลอย ที่จะไม่มีในคนจริง เป็นตำแหน่งที่ปุถุชน จะเป็นไม่ได้ พระพุทธองค์ ทรงยืนยัน แม้วาระสุดท้ายว่า “ถ้าแม้นมีผู้พึ่งเป็นอยู่โดยชอบไซร้ โลกจะไม่ว่างจาก พระอรหันต์” พระองค์ทรงรับรอง แม้ตำแหน่งชั้นสูง ถึงพระอรหันต์ ก็มีได้แน่ๆ ดังนั้น พระอริยบุคคล ขั้นต่ำรองลงไป ก็ต้องมีอยู่แน่นอน และมีจริงๆ

ข้าพเจ้าเคยได้พบ ได้โอภาปราศรัยกับท่านเหล่านั้น มาบ้างแล้วจริงๆ หรือแม้คุณเองก็เถอะ ก็คงจะเคยได้พูดจาปราศรัย กับพระอริยบุคคล มาบ้างแล้ว เป็นแต่ว่า คุณไม่ทราบ ว่าท่านเป็นพระอริยบุคคลเท่านั้น ดังนั้น ข้าพเจ้าก็ขอแนะ นิดหนึ่งไว้ เผื่อว่าคุณไปพบพระอริยบุคคลเข้า จะได้ทราบได้รู้ว่า อ้อ! นี่เราคุยกับพระอริยบุคคลนี่นา เอาง่ายๆ แค่สังเกต “พระโสดาบัน” ก่อนก็แล้วกัน

คำว่า “พระโสดาบันบุคคล” นี้ เป็นชื่อ เป็นตำแหน่ง ที่เรียกคนที่มีจิตใจเจริญ หรือ จิตสูงถึงขั้นขั้นหนึ่ง จะเป็นใครก็ได้ เป็นเด็กเป็นผู้ใหญ่ เป็นผู้หญิง เป็นผู้ชาย เป็นคนในร่างฆราวาส หรือคนครองเรือนธรรมดา หรือเป็นบรรพชิต สมณเพศ ได้ทั้งสิ้น มิใช่ว่าจะต้องหมายถึง “พระสงฆ์” อันเราถือว่า ผู้นุ่งเหลืองโกนหัว หรือบรรพชิต ถือศีล ๒๒๗ เท่านั้น

ดังนั้น พระโสดาบัน จึงเป็นคนธรรมดาๆ นี่แหละ ซึ่งก็มีอยู่มาก แม้เป็นผู้หญิงก็มีอยู่ และเป็นพระสงฆ์จริงๆ ด้วย ก็ยิ่งต้องมีอยู่แน่นอน

เราจะสังเกตได้อย่างไรว่า ใครเป็น “พระโสดาบัน” ก็สังเกตได้ ดังนี้ :-

คนผู้นั้นมองเห็นความสุขใด จะสูงสุดเท่านิพพานไม่มี และไม่เคลือบแคลง ในพระนิพพานเลย เชื่อในพระธรรม อันเป็นทางแห่งการปฏิบัติ ให้ไปถึงพระนิพพาน อย่างสนิทใจ จิตแน่วแน่ ในพระนิพพาน

จิตของท่าน ท่านรู้ตัวเองดีว่า โดยสัจจะโดยจริงแล้ว ท่านได้เพียรพยายาม ละเว้นชั่ว อย่างจริงใจ แม้นได้ทำชั่วลงไป บางครั้ง โดยอำนาจของกิเลส มันยังแรง แต่ในช่วงขณะนั้นก็รู้ตัว รู้ในจิตของตัวเองดีว่า ตัวเองได้ล่วงอกุศลไปแล้ว ในครั้งนี้ จะรู้สึกสะเทือนใจตัวเอง คือรู้ตามในการกระทำของตัวเอง ว่าได้ทำชั่วแล้วนั่นเอง เพราะโดยจิตนั้น จะทำดีให้ได้ ทุกขณะจิตเป็นปกติแล้ว แต่ว่ากิเลสยังแรง ยังรู้ไม่เท่าทัน เสียทีเดียว แต่บางวาระ ก็รู้เท่าทันได้ ดังนั้น ถ้าเราคอยสังเกต เห็นใครได้ “เป็นอยู่” ดังนี้อย่างแท้จริง ก็จงตั้งข้อสังเกตได้

มักจะทำอะไรๆ แปลกเป็นพิเศษ แตกต่างจากปุถุชนธรรมดาในด้านของจิตใจ และทำได้ โดยที่ท่านไม่ได้รู้สึกฝืน แต่อย่างไร เช่นว่า ของที่ปุถุชนเห็นว่า ต้องได้มาเป็นปกติ หรือต้องเอาเป็นปกติ หรือว่าต้องห่วงเป็นปกติ ต้องรับเป็นปกติ แต่ผู้เป็นโสดาบัน จะเห็นเป็นตรงกันข้าม เห็นโดยจริงใจด้วย คือความยึดถือ ในทุกสิ่งทุกอย่าง ที่มนุษย์ธรรมดาพึงยึด ว่าเป็น ว่ามี ว่าได้ ว่าเอามาทุกอย่าง น้อยลงแล้ว เห็น “อนิจจัง” หรือ เห็นความไม่เที่ยงแท้ได้แล้ว แต่ก่อนเคย “นิยม” (เที่ยง) บัดนี้ “ไม่นิยมตามโลกๆ” แล้ว

ละในกามตัณหา อันมี รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสทางกาย สัมผัสทางใจ ได้บ้างแล้ว เป็นบางส่วน ที่จริงเรื่องของกามตัณหา เป็นเรื่องใหญ่กว้างขวาง แต่ไม่ใช่เรื่องลึก หรือเรื่องยาก จะเห็นได้ว่า พระอริยบุคคลชั้นสูงละได้ ขาดสิ้นได้ ก่อนสำเร็จอรหันต์เสียอีก

ท่านผู้นั้น ท่านรู้ได้แล้วว่า การปฏิบัติอย่างไร เป็นไปเพื่อความหลุดพ้นที่แท้จริง การปฏิบัติอย่างใด ไม่เป็นไป เพื่อความหลุดพ้น มีทางปฏิบัติแน่ชัด ตามฐานะตน แน่วแน่ขั้นหนึ่ง ลัทธิ ประเพณี หรือพิธีการใดผิด คือไม่เป็นไปเพื่อ ประโยชน์แห่งความหลุดพ้นก็รู้ เรียกว่า รู้ทางเดินไปสู่นิพพาน ไม่หลงทางแน่ เป็นต้นว่า ถ้ายังมัวเดินช้า โดยเผลอใจแวะชมไม้ดอก ชมวิวชมโน่นนี่อยู่ ก็อาจจะ ๗ ชาติกว่าจะถึงนิพพาน แต่ถ้าคนผู้นั้น พากเพียรดี มีศรัทธาแรง ก็จะถึงในชาติเดียว คือชาติปัจจุบันนี้เอง

ถ้าพบผู้ใด “เป็นอยู่” ดังที่ว่านี้ ก็ให้คอยสังเกตให้ดี ถ้าเป็นอยู่ดังนี้ อย่างแท้แล้ว ท่านเป็นพระอริยบุคคลแน่ หรือแม้คุณเอง จะลองสำรวจ ตัวเองดูก็ได้ ถ้าเราเป็นดังนี้ โดยแท้จริง คือไม่หลงตัวแล้วละก็ คนผู้นั้นเป็น พระอริยบุคคลแล้ว อย่างต่ำก็ “พระโสดาบัน” และ เป็นผู้ที่พระพุทธองค์ ได้ตรัสแจ้งไว้ว่า

ผู้ปฏิบัติจนเป็นดังนี้ คือประกอบด้วยสัทธรรมความชอบ ดังกล่าวแล้วนี้ ก็จะพึงพยากรณ์ได้ด้วยตนไว้ “เป็นผู้เที่ยงต่อพระนิพพาน เป็นผู้มีอันจะได้ ตรัสรู้ในเบื้องหน้า” ดังนี้


  ชีวิตนี้มีปัญหา
 
page: 9/12
   Asoke Network Thailand

อ่านต่อ หน้า 10