ชีวิตนี้มีปัญหา... โพธิรักษ์
ถาม[7] ปัญหา : ต่อไปนี้เป็นปัญหาที่ข้าพเจ้าได้ตั้งออกไปให้ตอบแข่งขันกันมาอีกปัญหาหนึ่ง
ปัญหามีว่า
ความตายนั้นเป็นของธรรมดาที่ทุกคนทราบดีอยู่แล้ว
แต่ถึงกระนั้น คนเราก็ไม่วายที่จะหวาดกลัวความตาย เพราะอะไรเอ่ย?
สิ่งอันใดเป็นเหตุ ?
คุณ สวลี กลิ่นดำรงค์ ๘๘๙ สาธุประดิษฐ์
ยานนาวา เขียนมาดังนี้ :-
มนุษย์ทุกคนทราบดีว่า ความตายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
แต่มนุษย์ก็หวาดกลัวความตาย สิ่งที่เป็นเหตุของความหวาดกลัวนั้น
คือจิตใจที่ผูกพันอยู่กับสังขาร และสภาพที่เป็นอยู่ เช่น คนมีทรัพย์สมบัติก็ไม่อยากละสภาพความเป็นอยู่ของตนไป
เพราะห่วงทรัพย์สมบัติที่มีอยู่
ส่วนคนที่ตกอยู่ในความทุกข์ มีสภาพความเป็นอยู่ที่ยากแค้น แล้วพยายามที่จะฆ่าตัวตายนั้น
จะไม่ผูกพันอยู่กับสภาพและสังขารของตน อยากจะตายให้พ้นสภาพความเป็นอยู่ของตน
คนชนิดหลังนี้ที่จริงก็กลัวตาย แต่ก็อยากตาย เพราะหวังว่าตายแล้วจะมีการเกิดอีก
และจะไม่เป็นดังที่เคยเป็นมาแล้ว เมื่อเกิดใหม่อาจจะมีความสุขขึ้นก็ได้
สิ่งที่เป็นเหตุของความหวาดกลัวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ไม่รู้ว่าตายแล้วไปไหน
? จิตวิญญาณมีจริงหรือไม่? สิ่งเหล่านี้อาจเป็นเพียงความเชื่อก็ได้
เพราะยังไม่มีการยอมรับในทางวิทยาศาสตร์ แต่ก็อยู่ในระยะที่กำลังหาข้อพิสูจน์กันอยู่
คนที่ทำความดีในขณะที่มีชีวิตอยู่ ก็หวังให้นรก สวรรค์ มีจริง
ภพหน้ามีจริง เพื่อที่ตนจะได้มีความสุขในภพนั้น ส่วนคนที่ทำความชั่วเอาไว้
เป็นที่แน่นอนว่า ไม่ต้องการให้นรกมีจริง เพราะถ้ามีจริง เขาจะต้องรับกรรมที่เขาก่อเอาไว้
ความหวาดกลัวในความตาย บางครั้งทำให้คนเรากลัวบาปกลัวกรรมที่ตนก่อไว้จะตามสนองเมื่อตนตายไปแล้ว
แต่ความหวาดกลัวความตาย บางครั้งก็ทำให้คนเห็นโลกไม่มีความสุขเท่าที่ควร
เห็นโลกในแง่ที่ไม่น่าอยู่
ท่านปราชญ์ เบอร์เทรน รัสเซลล์ เคยเปรียบเทียบเอาไว้ว่า ชีวิตมนุษย์เปรียบเหมือนสายน้ำ
ในครั้งแรกเป็นเพียงสายน้ำเล็กๆ แคบๆ แล้วค่อยกว้างออก ไหลเซาะไปตามที่ต่างๆ
จนในที่สุดก็จะบรรลุถึงทะเลอันกว้างใหญ่ ทะเลซึ่งเป็นที่รวมของสายน้ำทุกๆ
สาย และสายน้ำนั้นละสภาพจากความเป็นสายน้ำ แล้วมารวมกันเป็นผืนน้ำอันกว้างใหญ่
ซึ่งเปรียบแล้วก็เหมือนชีวิตมนุษย์ที่ดำเนินไปจนพบกับจุดที่ทุกๆ
คนต้องไปถึง จุดนั้นคือความตายที่ทุกคนเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น
ทุกคนจึงควรมองชีวิตของตนในแง่นี้ ความตายจึงจะไม่เป็นสิ่งที่น่าหวาดกลัว
ถึงแม้เราจะตายไปแล้ว ก็ยังมีคนอื่นๆ อีกมากมาย ที่จะทำหน้าที่ของเราต่อไป
นั่นเป็นคำตอบของคุณสวลี
โดยพระพุทธดำรัสแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เนื้อความที่ว่า เพราะอะไรคนจึงหวาดกลัวความตาย
ก็มีอยู่ว่า
๑. เพราะพอใจรักใคร่ในกาม
บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความกำหนัดยินดี ชอบใจ รักใคร่
กระหาย เร่าร้อน มีตัณหาในกามทั้งหลาย ยังไม่หมดสิ้น ครั้นโรคาพาธเจ็บไข้หนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องผู้นั้นเข้า
ผู้นั้นก็มีความวิตกอย่างนี้ว่า กามทั้งหลายซึ่งเป็นของรัก
จะละเราไปเสีย แลเราก็จักละกามทั้งหลายซึ่งเป็นที่รักไปหนอ
ดังนั้น เขาย่อมเศร้าโศกลำบากพิไรตีอกคร่ำครวญ บุคคลนี้แลย่อมกลัวต่อความตาย
ถึงความสะดุ้งต่อความตาย
๒. เพราะพอใจรักใคร่ในกาย
บุคคลบางคนในโลกนี้ มีความกำหนัดยินดี พอใจรักใคร่ในกาย ครั้นโรคาพาธหนักอย่างใดอย่างหนึ่ง
ถูกต้องผู้นั้นเข้า เขาก็มีความวิตกอย่างนี้ว่า กายซึ่งเป็นของน่ารักจักละเราไปเสีย
แลเราก็จักละกายซึ่งเป็นของน่ารักไปหนอ ดังนั้น เขาย่อมเศร้าโศกลำบากพิไรตีอกคร่ำครวญ
บุคคลนี้แลย่อมกลัวต่อความตาย ถึงความสะดุ้งต่อความตาย
๓. เพราะกลัวในกรรม
บุคคลบางคนในโลกนี้ มีกรรมงามดีไม่ได้ทำไว้แล้ว มีกุศลไม่ได้ทำไว้แล้ว
มีกรรมซึ่งจะเป็นที่พึ่งของคนขลาด ไม่ได้ทำไว้แล้ว มีบาปได้ทำไว้แล้ว
มีกรรมของคนละโมบได้ทำไว้แล้ว มีกรรมหยาบได้ทำไว้แล้ว ครั้นโรคาพาธเจ็บไข้หนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องเขา
ผู้นั้นมีความวิตกอย่างนี้ว่า กรรมงามดีเราไม่ได้ทำไว้แล้ว
กรรมเป็นบาปเราได้ทำไว้แล้ว คติที่เป็นที่ไปของสัตว์ทั้งหลาย
ผู้มีกุศลไม่ได้ทำไว้แล้ว มีกรรมเป็นบาปอันได้ทำไว้แล้ว มีประมาณเพียงใด
ตัวเราจะละโลกนี้ไปสู่คติมีประมาณเท่านั้น ดังนี้ ย่อมโศกเศร้าลำบากพิไรตีอกคร่ำครวญ
ถึงความสะดุ้งต่อความตาย
๔. เพราะยังมีความเคลือบแคลงในพระสัทธรรม
บุคคลบางคนในโลกนี้ มีความเคลือบแคลง สงสัยถึงความไม่แน่ใจในพระสัทธรรม
ครั้นโรคาพาธไข้เจ็บหนักถูกต้องเข้า ผู้นั้นก็มีความวิตกอย่างนี้ว่า
เราเป็นผู้มีความเคลือบแคลง สงสัยถึงความไม่แน่ใจในพระสัทธรรมแล้ว
ดังนี้ เขาย่อมโศกเศร้าลำบากพิไรตีอกคร่ำครวญ บุคคลนั้นแล กลัวต่อความตายสะดุ้งต่อความตาย
ข้าพเจ้าคิดว่า เมื่ออ่านคำตอบของคุณสวลีแล้ว และอ่านพระพุทธดำรัสอีกครั้ง
ก็คงจะพอเข้าใจ สำหรับผู้ไม่เคยอ่านสำนวนออกจะเป็นภาษาพระอยู่ก็คงจะเข้าใจยากสักหน่อย
เพื่อความเข้าใจอย่างแท้จริง ข้าพเจ้าขอขยายความอีกนิด
ในข้อที่ ๑ นั้น กาม ก็คือ ความกำหนัดยินดี ชอบใจ รักใคร่
กระหาย เร่าร้อน และมีตัณหา ในรูปสวยรูปโก้ รูปเร้ารึงใจในรสอร่อย
รสซาบซึ้งใจในกลิ่นหอม กลิ่นชื่น กลิ่นซ่านใจ ในเสียงดี เสียงเพราะ
เสียงซาบซึ้งรัดรึงใจในสัมผัสเสียดสีทางกายกับของที่ต้องอารมณ์
สัมผัสความนุ่มนิ่มความเย็นชื่นใจความซาบซ่านสะท้านรสทางกายทุกอย่าง
ในการรับรู้สึกกระทบอารมณ์ทางใจ ไม่ว่าเป็นทางความชอบ ชัง ความชื่นดูด
ความชังผลัก ทั้งหยาบ กลาง ละเอียด เป็นรสแห่งกาม โกรธ จนถึงอรูปราคะทั้งสิ้น
ในข้อ ๒-๓ คงพอเข้าใจง่ายขอผ่าน
ในข้อ ๔ ก็คือ ยังมีความไม่แน่ใจ ไม่เชื่อสนิทในพระธรรมทั้งมวลที่พระพุทธองค์ตรัสไว้
เมื่อไม่เชื่อสนิทใจจริงๆ ก็ย่อมฝ่าฝืน และไม่ปฏิบัติตามเป็นต้นว่า
พระธรรมบอกว่า อย่าฆ่าสัตว์นะ บาปตกนรก ก็ไม่เชื่อแท้ว่านรกจะมีจริง
จะเป็นบาปจริง ทั้งๆ ที่เคยได้ฟังมานักหนาว่านรกนั้นน่ากลัว
น่าเกลียดสุดประมาณ แต่ก็ยังไม่เชื่อสนิทใจ ก็ยังคงฆ่าสัตว์อยู่ได้
ยุงตัวเล็กๆ ซึ่งแค่เราไล่ เราปัด มันก็ไป ก็ยังไม่ไล่เสียนี่
ยังอุตส่าห์ฆ่ามันให้เป็นบาป ดังนี้เป็นต้น
ถ้าใครเชื่อในพระสัทธรรม (ธรรมอันดีจริงแล้ว) อย่างสนิทใจจริงๆ
เหมือนเชื่อสนิทว่าไฟมันร้อน ถ้าไปจับมันเข้ามันจะไหม้มือเป็นทุกข์
คนไม่กล้าจับไฟ และไม่ยอมให้ไฟแตะส่วนใดของร่างกาย แม้เพียงนิดหน่อยก็ไม่ยอมเพราะเชื่อสนิทใจจริงๆ
ว่าไฟไหม้แล้วมันเป็นทุกข์ ความชั่วทั้งหลายก็เช่นกัน มันให้ผลเป็นบาปเป็นทุกข์
แต่คนไม่เชื่อสนิทใจ จึงยังทำความชั่วอยู่ ยังกล้าแตะ ต้องบาปอยู่
ทั้งๆ ที่มันจะให้ผลอื่นไม่ได้เลย บาปมันต้องให้ผลเป็นทุกข์
คนก็ไม่เชื่อ ไม่กลัว ถ้าเชื่ออย่างเห็นชัดเจนแท้จริงแล้ว เขาจะไม่กล้าแตะต้องบาปเลยไม่กล้าจริงๆ
เหมือนไม่กล้าแตะต้องไฟ และเหตุที่ยังไม่เชื่อสนิทก็เพราะอวิชชาความไม่รู้จริงแท้
ความหลงผิดซึ่งบดบังจิตอยู่
ข้าพเจ้าขอรับรองว่า พระพุทธองค์ไม่ได้ตรัสคำสอนไว้เล่นๆ หรือหลอกๆ
หรือลวงๆ บาปหรือความชั่วทั้งมวลมันเหมือนไฟจริงๆ ให้ผลเป็นทุกข์อย่าแตะต้องมันเลย
เรากลัวไฟอย่างไร ควรกลัวบาปหรือกลัวความชั่วให้ได้อย่างนั้น
ถ้าเราไม่เชื่อแม้พระพุทธองค์แล้ว แต่เรายังมีกะจิตกะใจไปเชื่อคนอื่น
ซึ่งเป็นคนธรรมดาบอกสอนเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็ยังเชื่อเขาได้
คนนั้นก็เป็นคนโง่ หรือเป็นคนไร้สำนึกถึงขนาดจริงๆ ใช่หรือไม่
ลองคิดดูดีๆ
และตัวบาป หรือตัวความชั่ว ก็มีอยู่หลายระดับเหลือเกิน จะเรียกว่ามีตั้งแต่หยาบไปหาละเอียด
หรือ หนักไปหาเบาก็ได้ เช่น การฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ หรือ คดโกงอะไรต่างๆ
นี่เรียกว่า บาป หรือความชั่ว ใครๆ ก็รู้ มองเห็นแจ้งในใจได้ทันที
ขั้นละเอียดลงมาก็มีอีกมากมายหลายชั้น จนขนาดพูดส่อเสียดก็ว่าชั่วเป็นบาป
จนละเอียดลงมา แม้พูดไม่สุภาพก็เป็นชั่วเป็นบาป และแม้ละเอียดลงมาอีก
เพียงคิดอยากมีเกียรติมีชื่อเสียง ก็เป็นชั่วเป็นบาป และแม้ดูหนังดูละครมอมเมาที่เป็นข้าศึกแก่กุศลก็เป็นบาปเป็นชั่ว
และแม้ที่สุด การเห็นว่าตัวตนเที่ยงแท้หลงยึดถือความดีเป็นของตนทั้งๆ
ที่เราทำดีจริงแท้ๆ แต่ถือตัวหลงดีนั้นอยู่ก็เป็นบาปเป็นชั่ว
เป็นสิ่งที่ไม่ดีไม่งามตามขั้นตามระดับ ที่ต้องควรละให้ขาดจากจิตวิญญาณให้ได้เป็นขั้นเป็นตอนของแต่ละฐานะให้ถูกต้อง
ก็ลองทำความเข้าใจดู ถ้าใครเข้าใจได้ว่า แม้เราประพฤติเพลิดเพลินเอร็ดอร่อยกับการดูหนัง
ดูละครอย่างไม่รู้ควรรู้ดี ก็เป็นการทำชั่วทำบาป ควรจะละขาดจากการดูหนังดูละครที่ไม่เหมาะไม่ควรนั้นๆ
และเมื่อละได้แล้วเกิดความสุขจริงๆ ไม่ใช่ยังเป็นทุกข์อยู่เพราะไม่ได้ดูละคร
และหากเห็นได้ว่า แม้หัวเราะ (ผิดขนาด-ผิดสารูป-ผิดกาละเทศะ)
ก็เป็นบาป เห็นจริงๆ ซาบซึ้งในใจแท้จริงๆ และตัวเองก็ได้พยายามละเว้นจากการหัวเราะนั้นๆ
เว้นจากชั่วนี้ บาปนี้ อยู่จริงๆ ก็จงรู้ตัวเถิดว่า ผู้นั้นเป็นพระอริยบุคคลแล้ว
เป็นจริงๆ ไม่ใช่พูดเล่น แม้จะละเว้นยังไม่ขาดเสียทีเดียว แต่ถ้าเผลอหัวเราะผิดสารูปออกมาเมื่อใด
ก็รู้ตัวว่าเราแตะต้องบาปเข้าแล้วหนอ ก็รู้สึกเสียใจในตนเองอยู่
นี่เรียกว่าผู้นี้มีจิตละเอียดมากแล้ว เห็นความแท้จริงได้มากแล้ว
เป็นพระอริยบุคคล ขั้นอย่างน้อยๆ ก็โสดาบันขึ้นไป
|