ชีวิตนี้มีปัญหา... โพธิรักษ์
ถาม[11] ปัญหาตั้งถาม :ปัญหาที่ข้าพเจ้าตั้งออกไปตอบแข่งขันกัน
มีอีกปัญหาหนึ่ง
คำถามมีว่า :-
ท่านผู้รู้บางท่านเคยกล่าวแสดงไว้ว่า
คนที่มีกิเลสหนา จักไม่มีโอกาสบรรลุมรรคผล คนที่กิเลสบางเท่านั้นจึงจะมีโอกาสบรรลุมรรคผล
จริงหรือไม่ เพราะเหตุใด
จากจำนวนผู้ตอบมา มีผู้ตอบที่เรียกว่า ถูก คือตอบตรงคำถามข้อแรกที่ว่า
จริงหรือไม่? เป็นจำนวนน้อย ตอบไม่ถูกเป็นจำนวนมาก แต่กระนั้นก็ดีก็ยังพิจารณาคัดเอาผู้ชนะเลิศออกมายากเหลือเกิน
เมื่ออ่าน เพราะเหตุใด? ของแต่ละคนแล้ว ต่างก็ตอบมีส่วนถูกกันทั้งนั้น
แต่ไม่หมด มีคัดได้พอๆ กันอยู่ ๒ ราย อีกรายหนึ่งยกพระดำรัสเปรียบเทียบของพระพุทธองค์ขึ้นมากล่าวเลย
ก็ถูกอีกเหมือนกัน แต่ก็ยังไม่ตรง จึงตัดสินให้เป็นรอง ๒ ราย
นั้นไป
คำตอบรายที่ให้ชนะเลิศ ๒ ราย คือ
ของ คุณสุกล กิจเกียรติ ๑๒๖ โพลรังฤทธิ์
ต.ในเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี คำตอบมีว่า :-
ในปัญหาที่ว่า มีผู้รู้บางท่านแสดงไว้ว่า คนที่มีกิเลสหนักจักไม่มีโอกาสได้บรรลุมรรคผล
ผู้มีกิเลสบางเท่านั้นจึงมีโอกาสได้บรรลุมรรคผล ดังนี้ ผู้ถามต้องการทราบว่า
เป็นจริงหรือไม่? เพราะเหตุไร?
อันนี้ตามเนื้อความปัญหาเบื้องต้น อาจจะตีความหมายได้ ๒ ทาง
คือ ข้าพเจ้าอาจจะเขียนใหม่ว่า คนมีกิเลสหนาจักไม่ได้บรรลุมรรคผล
ผู้มีกิเลสบางเท่านั้นจะได้บรรลุมรรคผล ดังนี้ คือตัดคำว่าโอกาสออกเสียความหมายจะผิดจากเดิมหรือเปล่า
และผู้ออกปัญหาหรือผู้รู้คนนั้น มีความประสงค์ตามข้อความใหม่หรือเปล่า
ถึงจะอย่างไรก็ดี ข้าพเจ้าขอเกริ่นตามในปัญหาใหม่นี้เสียก่อน
คือ ถ้าผู้รู้คนนั้นมีความประสงค์ตามข้อความใหม่ (ปัญหาใหม่)
นั้น ข้าพเจ้าขอตอบว่าจริง คือเหตุผลมีอยู่ว่า ตามปัญหาใหม่นี้เพ่งเอาเฉพาะตอนบรรลุเลย
ไม่ต้องเกี่ยวข้องในอดีตของผู้บรรลุ
ตามตำนานแล้วเราจะเห็นว่า ผู้ใดได้บรรลุจะต้องเป็นผู้มีกิเลสบางเท่านั้น
คือบุคคลจะบรรลุทั้งที่กิเลสท่วมอยู่ย่อมไม่มี เช่น คนจนกับคนรวย
หรือให้ใกล้เคียงกับปัญหา ก็คือคนมีความจนมากจะไม่มีเงินซื้อรถยนต์
คนมีความจนน้อยจึงจะมีเงินซื้อรถยนต์ ดังนี้ก็จริง คืออย่าไปคิดเอาอนาคต
หรืออดีตของคนจนมาเทียบ ให้คิดเฉพาะวันซื้อรถ คนจนจะไม่ได้ซื้อรถเลย
และถ้าเผื่อว่าเขาเกิดมีเงินขึ้นมาทันที เขาได้ซื้อรถยนต์ขี่
เราจะแย้งว่า นี่เห็นไหมว่าคนจนจะไม่มีเงินซื้อรถ อันนี้เข้าใจผิด
ก็ในเมื่อเขามีเงินซื้อรถ เขาจะจนมาก่อนก็ตามที ในขณะเขาซื้อรถเราจะไม่เรียกเขาว่าคนจนเลย
เราจะเรียกเขาคนรวยทันที เพราะถ้ามีเงินเราก็พากันเรียกคนรวยเท่านั้น
ข้าพเจ้าจะขอยกตัวอย่างเปรียบให้แจ่มอีกว่า สมมุติให้ผู้กิเลสบางอยู่ทางซ้าย
คนกิเลสหนาอยู่ทางขวา นั่งฟังเทศน์ หรือ บำเพ็ญธรรมอยู่ด้วยกัน
พอคนทางซ้าย (มีกิเลสบาง) สำเร็จแล้ว คนทางขวา (มีกิเลสหนา)
ก็เริ่มบำเพ็ญต่อไป สมมุติว่าเขาใกล้จะบรรลุแล้วขณะนี้ และเต้นมาอยู่ทางซ้ายทันทีเพราะเขามีกิเลสบางแล้ว
ต่อนั้นเขาก็สำเร็จมรรคผล อันนี้แสดงให้เห็นว่า บุคคลจะอยู่ทางขวาตลอดไปจนได้สำเร็จไม่มี
เพราะมันอยู่ทางกิเลสหนาพอเขาบำเพ็ญไปกิเลสบางเข้า จึงเต้นมาทางซ้ายหาเพื่อนที่กิเลสบางด้วยกันต่อนั้น
ก็ได้บรรลุในทางซ้ายมือ อันนี้แสดงว่าผู้มีกิเลสบางเท่านั้นบรรลุมรรคผล
ผู้มีกิเลสหนาจะไม่บรรลุมรรคผล เป็นอันขาด
แต่ว่าปัญหาที่ท่านถามนั้น ไม่ได้ตัด โอกาส ออก คือ ผู้มีกิเลสบางเท่านั้นจะมีโอกาสบรรลุมรรคผล
และผู้มีกิเลสหนาจะไม่มีโอกาสบรรลุดังนี้
ตามปัญหาในหนังสือนั้น ข้าพเจ้าขอตอบว่า ไม่จริง มีเหตุผลอ้างว่าผู้กิเลสบางกับกิเลสหนา
ย่อมมาแต่ชาติอันเดียวกัน แต่เมื่อมันเกิดขึ้นมา มันตกไปคนละแห่ง
ผู้มีกิเลสบางก็อยู่ในสิ่งแวดล้อมอันสงบปราศจากมวลกิเลส แต่ผู้มีกิเลสหนาตกไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยกิเลส
กิเลสนี้ไม่ใช่มันเกิดมาแต่กำเนิด เพราะฉะนั้นผู้มีกิเลส และผู้ไม่มีกิเลส
จึงชื่อว่ามาจากที่อันเดียวกัน และกิเลสนั้นเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมต่างหาก
ต่อไปจะขออธิบายว่า จะได้บรรลุทั้งสองคน
ตัวอย่าง มีดโต้ ๒ ด้าม ด้ามที่ ๒ คมกริบ อีกด้ามหนึ่งไม่มีคมเลย
อันนี้แหละ มีดทั้งสองนี้ก็คือเหล็กเหมือนกัน มาจากบ่อเดียวกัน
แต่ถ้าเราลับทั้งสองด้ามมันก็คมทั้งสองด้าม อันนี้มันตกอยู่กับคนละเจ้าของ
เจ้าของไหนขยันลับมันก็คม ส่วนอีกเจ้าของหนึ่งถ้าไม่ขยันลับ
มันก็ไม่คม แต่มันมี โอกาส จะคม เพราะมันก็มีดเหมือนกัน และมาจากเหล็กเหมือนกัน
ฉะนั้นคนมีกิเลสหนา (มีดไม่มีคม) และคนกิเลสบาง (มีดที่คม) ก็เหมือนกัน
เพราะเรา (ธรรมะ) สามารถจะพอกบุคคลผู้มีกิเลสหนาให้บางได้ และในที่สุดก็ได้บรรลุเหมือนกัน
เช่นในครั้งพุทธกาล สาวกของพระพุทธเจ้ามาจากชาติไหนบ้างภาษา
ศาสนาไหนบ้าง เมื่อได้บำเพ็ญตามธรรมะ ได้บรรลุทั้งนั้น (เว้นผู้ไม่เชื่อ)
นี้เป็นอันยืนยันได้แล้วว่า ผู้มีกิเลสบาง และกิเลสหนาย่อมได้บรรลุเหมือนกัน
(เว้นไม่บำเพ็ญ) คือมี โอกาส จะได้บรรลุตามที่ข้าพเจ้ากล่าวมายืดยาวนี้ข้าพเจ้าถือเอาคำตอบหลัง
เพราะตอบตามปัญหาในหนังสือ ส่วนคำแรกเป็นปัญหาเกริ่นความคิดของผู้ตอบเอง
เพื่อล้อมไว้ บางทีผู้รู้คนนั้นอาจจะมีความประสงค์อย่างนั้น
๒. คุณนพพร เทพสิทธา ม.ศ.๓ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ที่อยู่ ๕๘ ซอยศุภราช ๑ ถนนพหลโยธิน กรุงเทพฯ คำตอบมีว่า
ที่ ท่านผู้รู้บางท่านเคยกล่าวแสดงไว้ว่า คนที่มีกิเลสหนา
จักไม่มีโอกาสบรรลุมรรคผล คนที่มีกิเลสบางเท่านั้นจึงจะมีโอกาสบรรลุมรรคผล
นั้น ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วย เพราะไม่จริงดังคำที่ท่านผู้นั้นกล่าวเลย
พระพุทธศาสนาถือว่า ทุกคนมีโอกาสที่จะบรรลุมรรคผลด้วยกันทั้งนั้น
พระพุทธองค์ก็ตรัสไว้ว่า พระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์มีไว้สำหรับทุกคน
เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายอันเดียวกัน คือ การพ้นทุกข์โดยสิ้นเชิง..
หรือ พระนิพพาน
คนที่จะสามารถบรรลุมรรคผลได้ ก็คือคนที่หมดกิเลสแล้วเท่านั้น
แต่บุคคลเหล่านั้นก็เคยมีกิเลสหนามาก่อนทั้งนั้น เพราะเขาบำเพ็ญความดีมีการอบรมทางจิตใจมาอย่างดี
และทำเรื่อยๆ ซึ่งก็เป็นการทำให้กิเลสของเขาค่อยๆ ลดลง เมื่อเขาได้บำเพ็ญจนถึงขั้นสุดยอด
หรือโลกุตรธรรมแล้ว เขาก็ย่อมที่จะหมดกิเลส บรรลุมรรคผลไปในที่สุด
แม้แต่พระพุทธองค์ ก็มีกิเลสหนามาก่อน แล้วทรงบำเพ็ญความดีมาเรื่อยๆ
นับเป็นแสนๆ ชาติทีเดียว (ตามนัยแห่งพระชาดก) ในที่สุดเมื่อถึงสิบชาติสุดท้าย
หรือ ที่เรียกว่า ทศชาติ นั้น พระองค์ทรงบำเพ็ญพระบารมี ๑๐ ประการ (ทศบารมี) อย่างแก่กล้า กล่าวคือ บำเพ็ญ ทาน ศีล
เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา และอุเบกขา
แล้วในชาติต่อมาซึ่งก็เป็นชาติสุดท้าย พระองค์ก็ได้บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้า
แล้วก็ทรงปรินิพพานไม่เกิดอีกต่อไป
มี วลี หนึ่งกล่าวไว้ว่า กิเลส คือ ปัญญา ปุถุชน คือ อรหันต์
ซึ่งหมายความว่า กิเลสนี่แหละเป็นสิ่งที่จะทำให้เราบรรลุ คือ
เมื่อเราพิจารณามัน รู้จักมันอย่างถ่องแท้ และก็หาวิธีทำลายมันจนหมดสิ้นไปจากจิตใจด้วยปัญญา
และคนเราทุกคนก็มีความเป็นอรหันต์อยู่แล้วในตัว เพียงแต่ยังไม่ปรากฏออกมาเท่านั้น
ตราบใดที่เราเห็นแจ้งในพระสัทธรรมบรรลุถึงจุดมุ่งหมายสุดท้าย
คือ นิโรธ หรือ การพ้นทุกข์ เมื่อนั้น ความเป็น อรหันต์ของเรา
ก็จะแสดงออกมารวมความได้ว่า ทุกคนมีโอกาสที่จะบรรลุมรรคผลได้ด้วยกันทั้งนั้น
เพียงแต่แตกต่างกันที่จะช้าหรือเร็วเท่านั้น ผู้ที่มีกิเลสหนาย่อมบรรลุช้า
ผู้ที่มีกิเลสบางก็ย่อมบรรลุได้เร็วกว่า แต่บางคนอาจจะมีมิจฉาทิฐิอยู่
ซึ่งก็เป็นการยากที่จะบรรลุ เพราะในเมื่อเขาเห็นผิดเสียแล้ว
การปฏิบัติตนให้พ้นทุกข์ก็เป็นยาก
สำหรับทางพ้นทุกข์นั้น ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ก็มีหลายทางเช่น
มรรค ๘ ไตรสิกขา (ศีล สมาธิ ปัญญา) สติปัฏฐาน ๔ ฯลฯ เป็นต้น
ไม่ว่าจะเป็นกิเลสหนาหรือบาง เมื่อได้ปฏิบัติไปอย่างถูกต้องที่สุดแล้ว
ก็ย่อมบรรลุมรรคผลด้วยกันทั้งนั้น
สำหรับในชีวิตประจำวันของเรา เราอาจจะบำเพ็ญความดีไปเรื่อยๆ
และตลอดเวลาได้ด้วย
ทำความดี เช่น เบญจธรรม พรหมวิหาร ๔
ละเว้นความชั่ว เช่น มีศีล ๕
ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ เช่น บำเพ็ญสมาธิ
ส่วนคำตอบรายที่ได้รางวัลรอง ๒ รายแรก
คนนี้คือ ของคุณคำพัน พันธุลา ๑๒๖ โพลรังฤทธิ์ อ.เมือง อุบลราชธานี
คำตอบ มีดังนี้
สำหรับคำตอบของผมมีดังนี้ ไม่จริง เพราะบุคคลผู้มีกิเลสหนานั้น
ก็อาจจะไม่ได้บรรลุธรรมได้เหมือนกัน ดังที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ได้ตรัสเปรียบเทียบไว้ว่า ไม้ที่เป็น เรานำไปแช่น้ำ แล้วนำมาสี
เพื่อจะให้เกิดไฟ ย่อมไม่สามารถที่จะทำให้เกิดไฟได้นี้ เปรียบเหมือนบุคคลที่มีกิเลสหนา
และยังคลุกคลีอยู่กับกิเลส ก็ไม่มีวันที่จะบรรลุถึงธรรมได้ ไม้ที่เป็น
แต่ทิ้งไว้กลางแดด นานเข้าก็อาจจะแห้ง และเมื่อเรานำมาเพื่อสีให้เกิดไฟ
ก็อาจจะเกิดไฟได้ ข้อนี้เปรียบเหมือนบุคคลที่มีกิเลสหนา แต่ไม่คลุกคลีอยู่กับกิเลสมุ่งแต่บำเพ็ญธรรม
ก็อาจจะ บรรลุธรรมได้ ไม้แห้ง และทิ้งไว้กลางแดดนำมาสีเพื่อให้เกิดไฟ
ก็ย่อมจะเกิดไฟขึ้นได้โดยง่าย ข้อนี้เปรียบเหมือนบุคคลที่กิเลสบางเบา
และอยู่ห่างไกลจากกิเลส มุ่งแต่ทำความเพียร ก็ย่อมจะบรรลุได้โดยไม่มีปัญหา
ฉันใดก็ดี ผู้ที่มีกิเลสหนาก็อาจจะมีโอกาสบรรลุได้เหมือนกัน
นั่นคือคำตอบของผู้ชนะทั้งสอง และรองชนะอีกหนึ่ง
ส่วนคำตอบที่ถูกต้องแท้จริงนั้น ข้าพเจ้าก็ขอนำพระพุทธดำรัสของพระบรมศาสดา
มาลงไว้ให้อ่านกันก่อน ดังนี้
บุคคลบางคนในโลกนี้ โดยปกติเป็นผู้มีราคะกล้า
ย่อมได้เสวยทุกข์โทมนัสอันเกิดแต่ราคะเนืองๆ บ้าง ผู้มีโทสะกล้าย่อมได้เสวยทุกข์โทมนัสอันเกิดแต่โทสะเนืองๆ
บ้าง ผู้มีโมหะกล้าย่อมได้เสวยทุกข์โทมนัส อันเกิดแต่โมหะเนืองๆ
บ้าง แต่อินทรีย์ ๕ ประการ ของบุคคลบางคนในโลก อันคือ ศรัทธา
วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ของเขา ปรากฏว่าแก่กล้า เขาย่อมบรรลุคุณวิเศษ
เพื่อความสิ้นอาสวะเร็วพลัน เพราะอินทรีย์ ๕ ประการนี้กล้า
บุคคลบางคนในโลกนี้ โดยปกติไม่เป็นคนมีราคะกล้า
ไม่เป็นคนมีโทสะกล้า ไม่เป็นคนมีโมหะกล้า ย่อมไม่ได้เสวยทุกข์
โทมนัส อันเกิดแต่ราคะ โทสะ โมหะ เนืองๆ แต่อินทรีย์ ๕ ประการของบุคคลบางคนในโลก
อันคือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ของเขาปรากฏว่าอ่อน เขาย่อมได้บรรลุคุณวิเศษ
เพื่อความสิ้นอาสวะช้า เพราะอินทรีย์ ๕ ประการนี้อ่อน
ก็จะเห็นได้ว่า คำตอบที่ถูกนั้นก็คือ ไม่จริง ดังที่ท่านผู้รู้ว่าไว้
ผู้มีกิเลสหนา หรือหยาบ หรือกล้า อะไรก็เรียกขานกันไปตามภาษามนุษย์
ขอให้เข้าใจถูกก็แล้วกันว่า กิเลสมีเป็นตัวของมันเอง ถ้าตัวใดมีอยู่ในใคร
ก็คือยังมีกิเลสตัวนั้นอยู่ เช่น มีตัวโทสะอยู่ ตัวโทสะ คือตัวที่มีฤทธิ์ในทางโกรธ
ถ้ามันอยู่ มันก็คงคอยออกฤทธิ์ในทางโกรธเท่านั้น จะออกฤทธิ์ในทางโลภหาได้ไม่
แต่จะออกฤทธิ์ได้แรงกล้าจนออกนอกหน้ามากมาย จนไม่มีความละอายได้หรือไม่
ก็อยู่ที่ตัวเจ้าของผู้มีตัวกิเลสเข้าไปร่วมสิงสู่อยู่ในใจ ไปร่วมปรุงแต่งจิตใจ
ถ้าเจ้าของมี สติ ดี และมีความเห็นถูกแท้ได้ ก็บังคับเจ้าตัวกิเลสนี้หรือปล่อยให้เจ้าตัวกิเลสนี้ออกฤทธิ์ออกเดชได้ไม่แรง
หรือไม่มากมาย หรือฆ่าทำลายกิเลสได้ แต่ถ้าเจ้าของไม่มี สติ
และ ยังมีความเห็นผิดอยู่ ก็แน่นอน กิเลสออกฤทธิ์ออกเดชได้แรงกล้ามากมายแน่ๆ
จึงสำคัญอยู่ที่ว่า ผู้นั้นจะมีอินทรีย์แก่กล้าแค่ใด จะมีความรู้ปฏิบัติเข้ามรรคหรือไม่
จะมีกิเลสกล้า กิเลสหนา หรือหยาบอะไร ก็เรียกสื่อกันไปพอรู้ความ
รู้ขนาด รู้ลักษณะเท่านั้น เพราะกิเลสมันไม่มีแท่งหนา มันไม่มีตัวบางมันไม่มีผิวหยาบ
ไม่มีเนื้อละเอียดอะไร ไม่เป็นตัวเป็นแท่งหรอก เพียงแต่ว่ามันมีมากมีน้อย
มันมีแรงมีเบาตามที่เป็นอยู่จริง ซึ่งล่วงพ้นได้หรือยัง? ถ้าปฏิบัติจนก้าวล่วงกิเลสนั้นได้
กิเลสนั้นก็เรียกว่า วีติกกมกิเลส ถ้ากิเลสตัวใดที่เรารู้ตัว
จับตัวมันได้แล้ว แต่มันยังครอบงำเราอยู่ เราก็กำลังพยายามจัดการกับมันอยู่และยังไม่สำเร็จเท่านั้น
จึงเรียกกิเลสนี้ว่า ปริยุฏฐานกิเลส หรือถ้ากิเลสใดที่เรายังไม่รู้เท่ารู้ทันมันซึ่งผู้รู้ผู้มีอภิญญาเขาอาจจะรู้เห็นว่าเรามีกิเลสนั้นๆ
อยู่แท้ๆ ก่อนเจ้าตัวเองแล้วด้วยซ้ำ แต่เราก็ยังไม่รู้มัน มันเหมือนเป็นตัวเราสนิทเลย
มันยิ่งใหญ่จนเราไม่รู้ (อวิชชา) ตัวมัน หรือเราก็ไม่รู้ตัวเราว่าเรามีกิเลสนั้นเอาจริงๆ
ก็เรียกกิเลสนี้ว่า อนุสัยกิเลส ดังที่ข้าพเจ้าเคยอธิบายมาแล้ว
และกิเลสก็ไม่ใช่ตัวตนของเรา หรือไม่ใช่ตัวจิตใจของเราแท้ๆ
มันเป็นแขกจร ซึ่งเข้ามาอาศัยสิงสู่อยู่ในจิตใจของเราเท่านั้น
ความจริงมันไม่มีสิทธิ์ ไม่ควรมามีอำนาจเหนือตัวเราเลย แต่ว่าเราไม่รู้ความจริง
ไม่ใจกล้าพอ ไม่แข็งแรงพอจะกำจัดมันด้วยกำลังกาย กำลังใจได้สักที
มันเลยเหมือนโจรอยู่อย่างนั้น ถ้าเราช่วยตัวเรา โดยศึกษาความจริงเรื่องนี้กันให้จริง
พิสูจน์ปฏิบัติกันจนเห็นจริง เห็นกิเลสเกิดจริง กิเลสตายจริง
และถ้าเรามีความเพียรที่จะมองหาตัวกิเลสให้พบ หาวิธีกำจัดเจ้าตัวนี้ออกไปจากเราเสีย
ก็จะช่วยให้เราได้พบสัจธรรมสำคัญนี้ได้
ข้อสำคัญคือ กิเลสตัวใหม่ ก็อย่าให้เข้า ตัวเก่า
ก็อย่าให้อยู่ |