ปล่อยวางอย่างพุทธ
ทางปฏิบัติอันเอก คือ "มรรค มีองค์ ๘" ที่พระพุทธเจ้า ตรัสยืนยันว่า
เป็น "ทางเดียวเท่านั้น ไม่มีทางอื่น" (เอเสวมัคโค นัตถัญโญ)
ที่ต้องศึกษา อย่างสำคัญ สูตรสำคัญที่จะรู้จัก "มรรค องค์ ๘"
ได้ดียิ่งก็คือ "มหาจัตตารีสกสูตร" พระไตรปิฎก เล่ม ๑๔ ตั้งแต่ข้อ
๒๕๒ ถึงข้อ ๒๘๑ นอกจากนั้น ก็มีข้อธรรมอื่นๆ อีกมากมาย ที่จะต้องศึกษา นำมาใช้ประกอบ
มิใช่ใครก็ได้ แค่ "รู้ภาษา" ขั้นสูงว่า "อะไรๆก็มิใช่ตัวเราของเรา"
แล้วก็จะถือว่า ผู้นั้นคือ ผู้มีธรรมะขั้นสูง ก็มีตัวอย่าง คนผู้
"รู้" ธรรมะขั้นสูง พูดได้ราวกับ ผู้สิ้นกิเลสแล้ว แต่ "กาม"
ก็ยังมี ติดนั่นติดนี่ แม้แค่ "รสอร่อย" (อัสสาทะ) ทางตา,หู,จมูก, ลิ้น,
กาย,ใจ ก็ยังกินยังใช้ แบบติดยึด จนปล่อยวางไม่ได้ จางคลายไม่เป็น
ก็ระวังๆกันบ้าง... ปุถุชนผู้ไม่รู้ ไม่ได้สดับ ไม่ได้เห็นพระอาริยะ
ไม่ฉลาดในธรรม ของพระอาริยะ ไม่ได้รับแนะนำใน ธรรมของพระอาริยะ
ไม่ได้เห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาดในธรรม ของสัตบุรุษ ย่อมถูกหลอกได้
เพราะกำหนดหมายอะไร ก็ยังติด ยังยึด ยังหลง เพราะมิใช่จะหลุดพ้น โลกียะ
ด้วยคาถาง่ายๆ หรือภาษาสูงๆ เพียงไม่กี่คำ
มีชาวพุทธมากมายที่หลงผิด ขั้นตอนของ "การปล่อยวาง"
นี้กัน โดยคิดว่า การปล่อยวาง "ตัวตน" นั้น คือ ใครก็ได้ ที่พอเข้าใจ ความหมายคำว่า
"ปล่อยวาง" ได้ซาบซึ้งดีแล้ว ก็จะเป็นผู้ปล่อยวาง กันได้ทันที
แล้วนับว่า เป็นการปฏิบัติ ขั้นสุดยอดแห่งพุทธธรรม ได้เลยทีเดียว
ทั้งๆที่ใน "จิต" ของตนขณะนั้น ก็ยังเต็มไปด้วย กิเลสหยาบด้วยซ้ำ
ยังไม่ได้ปฏิบัติ ลดละกิเลส ตามขั้นตอน เบื้องต้น... ท่ามกลาง...
บั้นปลาย จนสามารถลดละกิเลสให้จางคลาย กระทั่งสะอาด ไปตามลำดับๆ เสียก่อน
พอรู้ภาษาบัญญัติ เรื่องการปล่อยวาง เข้าใจดี ก็จะทำการ "ปล่อยวาง"
โดยปฏิบัติแค่ทำ ลืมๆ ทิ้งๆ ปล่อยๆ วางๆไป แบบง่ายๆ แล้วตนก็
"ลืม" หรือ "ทิ้ง" เรื่องนั้น ทุกข์นั้นๆลงได้ ก็จะรู้สึกโล่งใจ สบายใจ
แค่นั้นก็เข้าใจว่า นี่แหละคือ การปล่อยวาง ที่ทำให้ "จิตว่างจากกิเลส"
หมดเกลี้ยง เป็น "จิตว่าง" ได้แล้ว นี่คือ
ความหลงผิดขั้นตอน ที่มีกันแพร่หลาย
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีประโยชน์ หรือผิดไปเสีย ทีเดียว
การปฏิบัติหัด "ปล่อยวาง" อย่างนี้ ก็เป็น"สมถะ" ที่ใช้คาถา
คำว่า "ไม่ยึดมั่นถือมั่น" นั่นแหละ เหมือนกับบางสำนัก ที่ใช้
คาถาคำว่า "ยุบหนอ พองหนอ" นั่นเอง หรือคาถาอื่นๆ ก็มีอีกเยอะแยะ มันก็เกิดวางว่าง โปร่งโล่งใจ ลงไปได้จริง ก็ทำให้ผ่อนคลายความทุกข์
สั่งสมผล "สมถะ" ได้ด้วย ไม่เสียหาย อาจจะได้ผล ทาง "วิปัสสนา"
บ้างนิดๆหน่อยๆ ถ้าคนผู้นั้น เข้าใจเรื่องนี้อย่าง "สัมมาทิฏฐิ"
จริง แต่ถ้าเข้าใจผิด (มิจฉาทิฏฐิ) ดังที่ได้อธิบายถึง ผ่านมานั้น
ก็จะทำให้ "หลงผิด" ไปว่า "ผลสมถะ" ที่ได้นี้
คือ "ผลวิปัสสนา" มันก็จะพาล พาให้ผิดกันต่อๆไป
หนักเข้าก็จะกลายเป็น "ศาสนาที่หลง มุ่งเอาสมถะเป็นผล"
โดยนึกว่านั่นคือ "วิปัสสนา" ดังที่ชาวพุทธ ทุกวันนี้ทั้งหลาย ได้พากันหลงผิด
กันไปแล้ว มากกว่ามาก จนกระทั่ง ปฏิบัติ "ไตรสิกขา" หรือปฏิบัติให้ได้
"สัมมาสมาธิ" ด้วย "มรรค ๗ องค์" ไม่เป็น จึงพากัน ปฏิบัติแต่
"มิจฉาสมาธิ" ซึ่งเป็น "สมาธิ" ของฤาษีชีไพร ที่รู้กันแพร่หลายมา
เก่าแก่ ก่อนพระพุทธเจ้า อุบัติในโลกด้วยซ้ำ เมื่อ "สมาธิ" เป็น
"มิจฉา" ผลก็ต้องได้ "มิจฉาญาณ - มิจฉาวิมุติ" ตามที่ตนปฏิบัติ
"สมาธิ" มาผิดแน่ๆ ซึ่งมีเกลื่อนกล่น ตลาดศาสนาพุทธ ในปัจจุบันนี้
ดังที่เห็นๆกันอยู่ เต็มสังคม "จิต" สะอาดแท้ จึงไม่มีจริง ให้สังคม
ใครทำ "การปล่อยวาง" แบบใช้คาถาคำว่า "ไม่ยึดมั่นถือมั่น"
เป็นยากลางบ้าน หรือหลงว่า เป็นยาขนานเดียว ที่จะพาบรรลุได้
ทะลุไปหมด ทั้งเบื้องต้น..ท่ามกลาง..บั้นปลาย ก็ยัง "มิจฉาทิฏฐิ"
หรือยังเข้าใจผิด อย่างถนัด เพราะนั่นมันเพียง เป็นการปฏิบัติ
ที่จัดอยู่ในภาค "เบื้องต้น" เท่านั้น มิใช่การปฏิบัติของภาค
"เบื้องปลายท้ายสุด" ที่จะปล่อยวาง "ตัวตน" อันบริสุทธิ์สะอาด
ปราศจาก อาสวะแล้ว ดังที่เราได้อธิบาย จนมาถึง "มิติที่ ๑๐"
นี้
การปฏิบัติที่ "สัมมาทิฏฐิ" นั้นจะต้องปฏิบัติตามทฤษฎี
"มรรค มีองค์ ๘" หรือ "โพธิปักขิยธรรม ๓๗" จะต้องมีการพิจารณา
"กาย-เวทนา-จิต-ธรรม" และจะต้องมี "การปล่อยวาง "กันไปตามลำดับๆ
จนกระทั่ง รู้จริงเห็นแจ้ง "จิต..เจตสิก..รูป..นิพพาน" ด้วย "วิชชา
๙" หรือด้วย "วิปัสสนาญาณ" แท้ๆ มิใช่จะรู้เห็นกันอยู่แค่ลวกๆ
ว่า ปล่อยได้แล้ว วางได้แล้ว จิตโปร่งโล่งใส ว่างแล้วๆ แล้วก็หลงเข้าใจไปว่า
นี่คือ "การปล่อยวาง" นัยเดียวกัน แบบเดียวกัน ตัวเดียวกันกับ
"การปล่อยวาง" ขั้นสูงปลายสุด ของการปล่อยวาง "ตัวตน" ในขั้น
"ความรัก มิติที่ ๙ ที่ ๑๐"
นั่น...เป็นการหลงผิดถนัด เพราะ..นั่นเป็นเพียงขั้น "สมถะ"
วิธีที่จัดอยู่ในภาค "เบื้องต้น" หรือ "ปฐมภาค" แค่นั้นเอง
สำหรับ "การปล่อยวาง"
ในขั้นที่เรากำลังกล่าวมาถึง "มิติ ที่ ๙ ที่ ๑๐" นี้ เป็นการปล่อยวาง ขั้นสูงสุดของ
"อนาคามีภูมิ" สู่ความเป็น "อรหันตภูมิ" กันเชียวนะ "จิต" ของท่านที่ กำลังกล่าวถึงนี้
สะอาดจากกิเลส อุปกิเลส จนสิ้นอาสวะ บริบูรณ์แล้ว "จิตสะอาด"
หรือ "ตัวตน" ที่ว่านี้บริสุทธิ์แล้ว แต่ยัง "ทำใจในใจ"
(มนสิการ) ยังไม่สำเร็จขั้นสุด
หรือทำ "ความไม่ยึดมั่นถือมั่น" ว่า "ตัวตน" นั้นไม่ใช่เรา ให้แก่
"ใจ" ตนเอง ยังไม่สำเร็จ เป็นขั้นสุดท้าย เท่านั้นเอง
"ความจริงของจิตวิญญาณขั้นสูง" (ปรมัตถสัจจะ) ดังนี้แล ที่ชี้ชัดว่า
ยัง "โลภ" เป็นตน (อัตตา) เป็นของตน
(อัตตนียา) อยู่แท้ จึงนับเป็น
"คุณค่า" ขั้น "ปรมัตถ์" ที่มีค่าตามระดับ ต่ำ-กลาง-สูง...
ชนิดที่ ๑ มีค่า "เป็นหนี้บาป"
ชนิดที่ ๒ "ไร้ค่า" และ
ชนิดที่ ๓ "หาค่าบมิได้"
ชนิดที่ ๑. "ค่า" ที่ยังไม่มี "คุณ"
จึงติดลบ ตกเป็นไร้คุณค่า แถมเป็นหนี้เวรหนี้กรรม ที่ชื่อว่า
"วิบากบาป" เอาด้วย เพราะตน "ไม่ได้ให้"
แม้รูปนอกจะ "ให้" จะเกื้อกูลเผื่อแผ่ แต่ในใจยังมีการโลภจัด เอาเปรียบ
"กิเลส"ยังแรงจัด ใน"มโนกรรม"
ยังโลภเอาเกินกว่า "ค่า" ที่ตนได้ให้ออกไป ยังต้องการคืนมา ให้แก่ตนอยู่แท้
มีวิธีคิดวิธีทำที่ "ตนเองได้เปรียบเกินค่า" หรือเกิน "ทุน"
ที่ตนลงไป ตามปรมัตถสัจจะ ถือว่าทุจริตด้วยซ้ำ ก็เท่ากับ ตนผลาญพร่า "ค่าแห่งคุณงามความดี" ที่ชื่อว่า
เป็น "ประโยชน์แก่คนอื่น หรือ เสียสละ" นั้นไป ตนทำลาย"คุณค่า" เองลงไปในตนเอง เพราะจริงๆนั้น "ตนไม่ได้เสียสละ ตนบำเรอกิเลสของตน ต่างหาก"
ซึ่ง "กิเลส" แบบนี้แหละ ที่มันเป็นตัวทำลายในคน ให้ตกต่ำ
และทำร้ายสังคม อยู่อย่างสาหัส เพราะยังยึด
"เอาเปรียบมาให้ตน" ไม่เคยหยุดยั้ง ยังเอา "มูลค่า" กลับคืนมาให้ตน จนเกิน"คุณค่า"ของตน ไปมากๆล้นๆ ดังนั้น ตามสัจธรรม.. จึงเป็นกรรมไม่สุจริต
เมื่อเอาเกินมาเช่นนั้น ส่วนที่ได้มา
"เกินทุน" หรือส่วนที่เรียกว่า "กำไร" จึงเท่ากับ "เป็นหนี้"
วิธีคิดแบบ "ทุนนิยม" นัยนี้ ส่วนที่เป็น "กำไร" ทั้งหลายทั้งปวง
จึง "เป็นหนี้บาป" โดยแท้
ชนิดที่ ๒ "คุณค่า" ที่ถูกลบ เพราะกอบโกยมาไว้เป็น
"ของตัวของตน" กล่าวคือ เมื่อยึดเป็นของตัวของตน มันก็ยังไม่สละออก หมดจริงแท้
แม้จะไม่เอาเปรียบใคร ส่วนที่เป็นของตน สุจริตแท้ก็ตาม เพราะยังยึดเป็น
"ของตัวของตน" (อัตตนียา) แล้วตนก็เสพ ก็เสวย เป็นรสสุข จากความเป็น
"ของของตน" ไปจนหมดสิ้น ไม่เหลือ จึงกลายเป็น
"ไร้คุณค่า" เป็น "ไม่มีค่า" แก่ใครๆ แม้จะไม่เอาเปรียบใครๆแล้ว
สุจริตดีแล้ว แต่ "ไม่ได้ให้แก่ใคร" เพราะยึดเอาเป็น "ของตัวของตน"
อยู่เต็มๆค่า จึง "ไร้ค่า" โดยแท้
ชนิดที่ ๓ แม้จะสละส่วนที่หอบหวงเป็น
"ของตัวของตน" ออกไปหมดแล้ว
หากยังสำคัญ "ตัวตน" ว่า "เป็นเรา" ยังปล่อยวาง
"ตัวตน" (อัตตา) ที่สะอาดแล้วนี้
ด้วยญาณ อย่างละเอียดลึกซึ้ง ไม่ได้ ก็จะยังมี ส่วนหลงเป็น "ตัวตน"
(อัตตา) "คุณค่า" จึงถูกเก็บกักไว้เป็น
"ตัวตน" อยู่ส่วนหนึ่ง ก็ยังถือว่า สละออกหมด แต่ยังไม่เป็นอันติมะ
เพราะยังมี "ตัวตน" ที่ยังแฝงเสพ แฝงเสวยรสในตน หรือยังเหลือ
"ตน" อยู่เท่านั้นเอง ถ้าปล่อยวาง "ตัวตน" ขั้นนี้ได้ ก็ถือว่า
"วิมุติ" สมบูรณ์
"คุณค่า" การสละจึงยังไม่ออกไปอย่าง
"หมดตัวหมดตน" ชนิดสะอาดหมดจดจริง แม้เป็น "นิพพาน" แล้ว ก็ต้องทำใจ
"วางนิพพาน" อีก ให้เป็นที่สุด จึงจะเป็นผู้ "หาค่าบมิได้" เพราะมีค่ามาก
จนประมาณมิได้
ความรู้ของ "อาริยชน" ที่ล้ำลึกตามที่กล่าวนี้ เป็น"คุณค่า"
แห่งคุณงามความดี ที่สะอาดบริสุทธิ์ มี"คุณค่า" ซ้อนอยู่ในสัจจะ
ของความลึกซึ้งนั้น ซึ่งส่วนที่ลึกถึงขั้น นามธรรม ละเอียดมากๆ
ก็ไม่สามารถ จะหยิบมาแสดง เป็นรูปธรรมได้ แม้แต่จะกล่าวถึง ก็แสนยาก
อาจสามารถพูดถึงได้ จนละเอียดปานนี้ ก็ดีนักหนาแล้ว
และสำหรับ "อาริยชน" ที่มุ่งมั่นสร้างคุณงาม ความดี ตามภูมิของตน
และตั้งใจเสียสละ ให้ได้มากขึ้นๆ เท่าที่สามารถนั้น ก็จะนับเอา
"การได้ปรับกรรมกิริยา กายวาจาใจ ของตน
ให้เก่งขึ้น สุภาพขึ้น ดีขึ้น ตามที่ตนมีภูมิปัญญา ในส่วนที่เป็นโลกียกุศล"
ว่า เป็น "ประโยชน์ตน" นี้อีก ๑ ตามนัยที่
"กัลยาณปุถุชน" เข้าใจ และกระทำกันอยู่ อาริยชนก็ทำด้วย เช่นเดียวกัน
จึงมี "โลกีย-กุศล" ด้วย ทว่าตามนัยะแห่ง
"ปรมัตถ์" หรือคุณลักษณะของ "โลกุตระ" เท่านั้นที่ อาริยชน มีพิเศษไปกว่าที่
"กัลยาณปุถุชน" มี
"อาริยชน" สามารถอุตสาหะวิริยะ สร้างคุณงาม ความดี ที่เป็น
"โลกียกุศล" ได้เหมือนกันกับ "กัลยาณปุถุชน" ทว่าอาริยชน บางท่าน อาจจะไม่เก่งกาจ
สามารถ สร้างคุณงามความดี ทางโลกียะ ได้มากมายหลากหลาย เท่า "กัลยาณปุถุชน"
บางท่าน ก็เป็นได้ และเป็นจริง อยู่เยอะแยะ แต่ที่ "อาริยชน"
นับว่าเป็น "อาริยชน" นั้น ก็เพราะมี
"ญาณ ๗" ที่เป็นอาริยะ (อริยัง) เป็นโลกุตระ (โลกุตตรัง) ซึ่งเรื่องของอาริยะ
หรือโลกุตระนี้ ไม่ใช่เรื่องธรรมดา สามัญทั่วไป ในระดับปุถุชน
(อสาธารณัง ปุถุชฺชเนหิ) จึงไม่รู้ (อวิชชา) และเดาเอาไม่ได้
นี้นับเป็น ข้อแตกต่าง พิเศษสำคัญ ที่พระพุทธเจ้า ตรัสยืนยันไว้
อาริยชน..เป็นผู้ มีญาณหยั่งรู้
ว่าสภาวะความเป็น "ตัวตน" ที่เรียกว่า
"อัตตา" นั้น คือ "สภาวะอะไร" เริ่มตั้งแต่รู้จัก "อัตตา" ระดับสักกายะ ซึ่งหมายถึง ตัวตนเบื้องต้น ได้แก่ "ความยึดเอาสิ่งที่ตน หลงติด
หลงยึด อยู่ขณะนี้" (สักกายะ) หรือ "ความประชุมของ อุปาทาน
ที่ตนหลงอยู่ ชนิดที่ควรละได้ ก่อนอื่น" (สักกายะ)
หรือ "ความเห็นว่า เป็นตัวตน ในเบื้องต้น ที่ขณะนี้ควรรู้ และควรละ ก่อนอื่น"
(สักกายะ) แล้วสามารถลด "สักกายะ" นั้นๆลงได้ [นับว่า
"พ้นสักกายทิฏฐิ".. พ้นสังโยชน์ข้อที่ ๑]
และรู้แจ้งเห็นจริง เพราะสิ้นสงสัย ในความเป็น
"พระพุทธ" ว่า คืออย่างไรแท้ๆ และ "พระธรรม" คือไฉนจริงๆ หรือ
"พระสงฆ์" ที่พระพุทธเจ้า ทรงรับรองว่า เป็น "สาวกสังโฆ" ของพระองค์
อันได้แก่ "คู่แห่งบุรุษ ๔ -อาริยบุคคล ๘" มีสภาพเช่นไร [นับว่า
"พ้นวิจิกิจฉา" ..พ้นสังโยชน์ที่ ๒)
และสามารถปฏิบัติศีล ประพฤติพรตนั้นๆ จนถึงขั้น บรรลุมรรคผล ได้จริง
เพราะปฏิบัติ อย่างพากเพียร เอาจริงเอาจัง มิใช่ แค่ลูบๆคลำๆ
หรือแค่จับๆจดๆ [นับว่า "พ้นสีลัพพตปรามาส" อันเป็นการ
"พ้นสังโยชน์" ข้อที่ ๓]
ดังนั้น เมื่อ "อาริยชน" ปฏิบัติจนสามารถบรรลุ สูงขึ้นๆ พ้นสังโยชน์ต่างๆอีก
ซึ่ง "สังโยชน์" นั้นมีถึง ๑๐ ข้อ ที่จะใช้ตรวจ "สภาวะกิเลส -ตัณหา -อุปาทาน"
ได้หมดจด หากอาริยชนผู้ใด ปฏิบัติจนพ้นสังโยชน์ ถึงขั้นสุด คือ
"พ้นสังโยชน์ทั้ง ๑๐" สมบูรณ์ เรียกว่า สำเร็จเป็น "อรหันต์" อันคือ "อมตชน"
ก็เป็นอันถือว่า จบครบ "ประโยชน์ตน"
สมบูรณ์ ซึ่งเท่ากับ สิ้นสุด กิจตนแล้ว ดังที่ได้อธิบายมาแล้วใน
"ความรัก มิติที่ ๘-๙ "
ต่อจากนั้น จึงเป็น "ความรัก มิติที่
๑๐" อันเป็น "ความรักที่ไม่มีความรัก เพื่อตัวเพื่อตน"
หรือที่เรียกสั้นๆ ชวนงงว่า ความรักที่
"ไม่มีความรัก" นั่นเอง หรือคือผู้ทำงานให้แก่โลก แก่สังคมอยู่
ด้วย "โลกุตรปัญญา" ซึ่งเป็น "ความรู้ขั้นพิเศษ" ของ "อมตชน"
และเพราะผู้เป็น "อมตชน" ทำงานเสียสละ ด้วย "ความไม่มีตัวตน"
แล้วจริง จึงมี "คุณค่า"
สมบูรณ์ในตัว เพราะเป็น
"ความรักอันเป็น ความปรารถนาให้" แต่ถ่ายเดียว ไม่เหลือมีแม้ส่วน
"แอบเสพแฝงเสพ" ใดๆ อย่างซื่อสัตย์บริสุทธิ์ นี่คือ "วิภวตัณหาระดับอมตชน"
ซึ่งจะเกิดผล เป็นความชำนาญ เป็นทักษะ สมรรถนะ เพราะทำงาน ช่วยมนุษยชาติ
"รื้อขนสัตว์" ไปตามความเป็นจริง ประพฤติจริง ของภูมิระดับ พระโพธิสัตว์
ความรัก มิติที่ ๑๐ นี้ จึงเป็นความรักของ พระโพธิสัตว์
ระดับ "อรหันต์" ขึ้นไป หรือ ความรัก ของพระปัจเจก สัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นไป
ถึงความรัก ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โน่นทีเดียว
ที่จริงแล้ว ความเป็น "พระโพธิสัตว์" นั้น นับตั้งแต่ "โพธิสัตว์"
ระดับที่มีภูมิ ตรัสรู้สัจธรรม ของพระพุทธเจ้าขั้น "โสดาบัน"
ขึ้นไป ก็ได้แล้ว ซึ่งเป็นผู้มี ความตรัสรู้จริง ระดับหนึ่ง
เป็นอาริยชน หากตั้งจิต "โพธิสัตว์" และบำเพ็ญธรรม ความเป็นโพธิสัตว์
ก็ย่อมทำได้ ตามฐานะ แต่ยังไม่นับว่า เป็นผู้มี "ความรัก
มิติที่ ๑๐" ได้สมบูรณ์ เพียงมี "ความรักมิติที่ ๘-๙"
ตามที่มีภูมิจริง ของตนๆ เท่านั้น
ส่วนผู้แค่ตั้งจิตปรารถนา เป็นโพธิสัตว์ หรือปรารถนา "พุทธภูมิ"
หรือผู้ตั้งจิต ปรารถนาบำเพ็ญ เพื่อความตรัสรู้ เป็นพระพุทธเจ้า ในเบื้องหน้า
แต่ยังไม่มีภูมิตรัสรู้ แม้แค่ระดับอาริยภูมิใดๆ สักขั้นเลย
ก็เป็นเพียง สัตว์ผู้ยังไม่มี "โพธิ" หรือยังไม่มี "ภูมิตรัสรู้"
ใดๆ เป็นแค่ผู้อยากได้ "โพธิ" (ความตรัสรู้) แต่ยังไม่มี "โพธิ"
[อยากได้ "ความตรัสรู้" แต่ยังไม่มี "ความตรัสรู้" ยังไม่มี
"โพธิ" สักขั้น] หรือผู้ยังไม่หยั่งลง สู่ภูมิโพธิสัตว์ สักขั้นเดียว
เรียก "พระโพธิสัตว์" ยังไม่ได้ เรียกได้แค่ว่า ผู้ตั้งจิตปรารถนา จะเป็น
"พระโพธิสัตว์" หรือผู้แค่ปรารถนา และกำลังประพฤติ ให้ได้ตรัสรู้
เป็นพระพุทธเจ้า ในอนาคต แต่ยังไม่บรรลุตรัสรู้ อาริยธรรมสักขั้น
เป็น "โพธิสัตว์ สมมุติ" หรือ "โพธิสัตว์" แต่เพียงชื่อ เหมือน
"สงฆ์สมมุติ" ที่ยังไม่ใช่ "อาริยสงฆ์" นั่นเอง นัยเดียวกัน
ผู้มี "ความรัก" ขั้นมิติที่ ๑๐ นี้
จึงเป็นความรักที่เรียกว่า "พุทธภูมินิยม"
หรือ "โพธิสัตวภูมินิยม" เป็นความรัก
ของผู้อยู่ในฐานะ "อมตชน" ขึ้นไป |